แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

วาด รวี แถลงลาออก กก.พานแว่นฟ้า แฉพฤติกรรมแก๊งค์นักเขียน

ที่มา ประชาไท


คำแถลงขอลาออกจากการเป็นกรรมการ วรรณกรรมแห่งรัฐสภาและจะไม่เป็นกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมใด ๆ อีกตลอดชีวิตของวาด รวี  พร้อมคำชี้แจงเรื่องพฤติการณ์ของแก๊งสมาคมนักเขียนและผู้ร่วมขบวนการ


การเข้าเป็นกรรมการพานแว่นฟ้า ปี 2556
ผมเข้ามาเป็นกรรมการพานแว่นฟ้า ปี 2556 ด้วยการติดต่อจาก อี๊ด อิสระนาวี หรือ ไม้หนึ่ง ก. กุนที ซึ่งเสนอชื่อผมต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในฐานะนักเขียนผู้ทรง คุณวุฒิด้านวรรณกรรม

การร่วมงานกับสมาคมนักเขียนในคณะกรรมการพานแว่นฟ้า ปี 2556
คณะกรรมการพานแว่นฟ้า ปี 2556 ในส่วนที่ไม่ใช่ข้าราชการประกอบด้วย ผู้ที่เสนอชื่อโดยสมาคมนักเขียน สื่อมวลชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่สำนักงานเลขาธิการแต่งตั้งเข้ามา ฝ่ายสมาคมนักเขียนและผู้ที่เป็นเครือข่ายใกล้ชิดกับสมาคมนักเขียนประกอบด้วย ตำแหน่งรองประธานคือ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และนายเจน สงสมพันธุ์  ตำแหน่งกรรมการประกอบด้วย นางชมัยภร แสงกระจ่าง, นายยุทธ โตอติเทพย์, นายบูรพา อารัมภีร, นายเฉลิมศักดิ์ แหงมงาม, นายสาโรจน์ มณีรัตน์, นางกนกวลี กันไทยราษฎร์, นายจิตติ หนูสุข, นายพินิจ นิลรัตน์, นายธาดา เกิดมงคล, นางนรีภพ จิระโพธิ์, นายยูร กมลเสรีรัตน์, นางสาวมณฑา ศิริปุณย์, นายเอกรัตน์ จิตร์มั่นเพียร รวม 15 คน
ขณะที่นักเขียนในปีกแดง ประกอบด้วย ผู้ที่เป็นกรรมการอยู่แต่เดิมแล้ว 2 คน คือ นายวัฒน์ วรรยางกูร และนายอี๊ด อิสรนาวี และผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าไปใหม่คือ นายวรพจน์ พันธุ์พงศ์, นายรวี สิริอิสสระนันท์, นายทองธัช เทพารักษ์  รวม 3 คน รวมทั้งหมดเป็น 5 คน
กลุ่มที่เหลือคือฝ่ายกลาง ๆ ซึ่งหมายถึงสื่อมวลชนที่มีความสัมพันธ์อันดีกับสมาคมนักเขียน แต่ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเขียนปีกแดงไม่ได้แสดงความรังเกียจหรือมี อคติ ประกอบด้วย นายบุญเลิศ คชายุทธเดช, นายนิรันศักดิ์ บุญจันทร์ และนายจักรกฤษณ์ สิริริน รวมทั้งหมด 3 คน
ที่เหลือเป็นข้าราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งส่วนใหญ่ทำหน้าที่ตั้งประเด็น ดำเนินการประชุม และธุรการ โดยที่ไม่เข้ามาแสดงความคิดเห็นทางวรรณกรรมใด ๆ
ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับฝ่ายสมาคมนักเขียน นำโดยนายเจน นายพินิจ นายจิตติ และนายเนาวรัตน์ เป็นลักษณะโต้แย้งความคิดกัน โดยประเด็นโต้แย้งแบ่งได้เป็น 3 เรื่องหลัก ๆ คือ
ผมเสนอว่า ในการพิจารณาผลงานที่เข้าประกวด โดยพื้นฐานแล้ว ต้องไม่แย้งกับฐานความชอบธรรมของรัฐสภา เช่น บทกวีที่สนับสนุนการรัฐประหารอย่างชัดเจน ต่อให้เขียนได้อย่างมีทักษะเพียงใด ก็ย่อมจะต้องไม่ใช่บทกวีที่ดีซึ่งสมควรจะได้รับรางวัลจากรัฐสภา เพราะเป็นการทำลายฐานที่มาของความชอบธรรมของตัวเอง ซึ่งฝ่ายสมาคมนักเขียน นำโดยนายเจน สงสมพันธุ์ ไม่เห็นด้วย
ผมเสนอว่า กรรมการที่พิจารณาผลงานจะต้องไม่เป็นกรรมการรางวัลอื่น ๆ ที่ถือเป็นรางวัลใหญ่ เช่น รางวัลซีไรต์ หรือรางวัลเซเว่นเป็นต้น เพราะจะทำให้เกิดการผูกขาดรสนิยมของรางวัลโดยคนกลุ่มเดียว คณะกรรมการฝ่ายสมาคมนักเขียนนำโดยนายเจน นายพินิจ และนายจิตติแสดงความอึดอัดและไม่เห็นด้วย โดยนายเจนและนายพินิจพยายามจะขอให้อนุโลมเพราะตั้งมาแล้วเพื่อจะอ่าน
ผมได้นำเสนอแผนงานเพื่อยกระดับรางวัลพานแว่นฟ้าตามโจทย์ที่ฝ่ายสำนักงาน เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้แจ้งความจำนงต่อคณะกรรมการฯ ว่า ปีนี้ครบ 12 ปี และเป็นวาระเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงอยากจะยกระดับรางวัล ฝ่ายสมาคมนักเขียนนำโดยนายเจนมีท่าทีเกี่ยงงอน ไม่ต้องการยกระดับ นายพินิจและนายจิตติไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะเรื่องการเพิ่มเงินรางวัล ด้วยเหตุผลว่า จะทำให้นักเขียนทำงานด้วยความโลภ ประเด็นนี้ต่อมาทำให้เกิดการปะทะคารมกันภายหลัง เมื่อเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์เข้าร่วมประชุม (แรก ๆ เนาวรัตน์ขาดประชุม) และแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มเงินรางวัล แต่แสดงความเห็นว่าควรเอาเงินไปให้นักเขียนเกียรติยศมากกว่า พร้อมตั้งข้อสังเกตเรื่องกิเลศ ผมโต้แย้งว่า งานวรรณกรรมที่ดีไม่อาจเกิดจากกิเลศได้ ถ้าเขียนด้วยกิเลศก็จะไม่มีทางได้เงิน ให้กรรมการหยุดกิเลศของตัวเองเป็นกรรมการเพียงรางวัลเดียวให้ได้เสียก่อน เถิดจึงจะไปห่วงกิเลศของนักเขียน เข้าใจว่าประเด็นนี้ทำให้ฝ่ายสมาคมโดยนายเจน นายพินิจ นายเนาวรัตน์ เป็นต้น เห็นว่าเป็นท่าทีที่ไม่น่าพึงพอใจ และทำให้เกิดการกล่าวขวัญถึงความก้าวร้าวของผมในภายหลัง

เสนอแก้ไขกติกาบทกวีครั้งแรก
การโต้แย้งแลกเปลี่ยนความคิดก็ดำเนินต่อไป โดยที่ผมพยายามจะผลักดันการยกระดับให้ลุล่วง ด้วยการแก้ไขเกณฑ์การประกวดทั้งหมดใหม่ให้มีความเป็นสากลมากกว่าเดิม โดยผมเสนอร่าง “กติกาใหม่” ที่มาจากการนำเกณฑ์การประกวดของรางวัล BBC ของอังกฤษขึ้นมาเทียบเคียง กรรมการที่อยู่ฝ่ายสมาคมนักเขียนมีทั้งส่วนที่คัดค้านและสนับสนุนผม แล้วแต่ประเด็นของการโต้แย้ง เป็นการถกเถียงที่ทุกคนมีความเป็นอิสระทางความคิดพอสมควร หลักเกณฑ์และกติกาในร่างใหม่ที่ผมเสนอ “ผ่าน” เพียงบางข้อ ผมพยายามเสนอให้แก้กติกาบทกวีที่กำหนดไว้ ฉันทลักษณ์ 6 – 12 บท กลอนเปล่า 2 หน้า เปลี่ยนมาเป็น “งานเขียนประเภทบทกวีความยาวไม่เกิน 2 หน้า” โดยไม่แยกฉันทลักษณ์กับกลอนเปล่า แต่กรรมการฝ่ายสมาคมนักเขียนไม่ยินยอม ผมไม่สามารถหาเสียงสนับสนุนเพียงพอที่จะแก้กติกาข้อนี้ได้

“วิมล ไทรนิ่มนวล” กับการปั้นน้ำเป็นตัว
รางวัลพานแว่นฟ้าเป็นประเด็นในเฟซบุ๊กครั้งแรก โดยนายวิมลไทรนิ่มนวล เปิดประเด็นกล่าวหาว่า
“โดยนักเขียนซีไรต์ ได้นำเสนอเรื่องของ “นักเขียนแดง” กลุ่มหนึ่งที่กำลังกดดันให้รางวัลพานแว่นฟ้าเพิ่มเงินรางวัลเป็น 1,000,000 บาท เพื่อแจกนักเขียนแดงด้วยกัน เพราะกรรมการรางวัลนี้ก็เป็นคนเสื้อแดงด้วยกันทั้งนั้น และยังตั้งข้อสงสัยอีกว่า วรรณกรรมพานแว่นฟ้าจะกลายเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” หรือไม่”
นายวิมลเปิดประเด็นเรื่องนี้อยู่หลายวัน และต่อมาเว็บไซต์หนังสือพิมพ์แนวหน้า (และอีกหลายเว็บไซต์) เอาไปรายงานต่อตามรูปนี้ เป็นต้น


นายวิมลปั้นเรื่องขึ้นมาว่า เงินรางวัล 1 ล้านบาท ทั้งที่ตอนนั้นได้ประชุมกันไปเสร็จสิ้นและสรุปแล้วว่าเงินรางวัลชนะเลิศคือ 1 แสนบาท และมีการประกาศออกไปแล้ว ดังที่มีผู้เข้ามาทักท้วงนายวิมลพร้อมทั้งแนบลิงก์ประกาศ ตามภาพนี้

“เรียนพี่วิมลคะ เงินรางวัลยอดเยี่ยมหนึ่งแสนบาทนะคะ ไม่ใช่หนึ่งล้านอ่าค่ะ”

นายวิมลนอกจากไม่ขอโทษ ไม่แก้ข่าว แล้ว ยังทำการปั้นน้ำเป็นตัวและกล่าวหาในประเด็น “แจกนักเขียนแดงด้วยกัน เพราะกรรมการรางวัลนี้ก็เป็นคนเสื้อแดงด้วยกันทั้งนั้น” ต่อ ทั้งที่ข้อเท็จจริงขณะนั้น คณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ปี 2556 ก็คือสมาคมนักเขียนเป็นหลักดังที่ได้กล่าวไปแล้ว และผมได้นำเอกสารคำสั่งแต่งตั้งไปชี้แจงไว้ที่เว็บไทยโพเอ็ท คืออันนี้


มีข้อสังเกตคือนายวิมลเริ่มปั้นข่าวขึ้นในวันเดียวกับที่นักข่าวหญิงคน หนึ่งมาสัมภาษณ์ผมไปลงหนังสือพิมพ์เนชั่นสุดสัปดาห์ ตอนที่สัมภาษณ์นั้นเป็นตอนกลางวัน เมื่อผมกลับมาถึงบ้านในตอนเย็น เปิดคอมพิวเตอร์จึงเพิ่งเห็นว่านายวิมลกำลังปั้นข่าวเท็จเรื่องเงิน 1 ล้าน และเรื่องคณะกรรมการเป็นนักเขียนแดง ผมโทรไปหานักข่าวหญิงคนนั้น เพราะเพิ่งให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรางวัลทั้งหมดไป เพราะอยากจะทราบความเห็นของเธอต่อประเด็นที่นายวิมลปั้นเรื่องขึ้น เพราะเธอย่อมรู้ว่าเป็นความเท็จ เธอตอบผมกลับมาว่า “เราเอาเนื้อหาสาระดีกว่าไหม หรือว่าพี่จะเพิ่มอะไร” ผมตอบไปในเชิงตั้งคำถามว่า เห็น บก. ของเธอ ชอบเล่นประเด็นเสื้อแดงรับเงิน เธอตอบกลับมาด้วยเสียงซีเรียสว่า “พี่จะตรวจข่าวก่อนไหม” ผมตอบกลับไปว่า “ไม่ละ ก็เอาตามเนื้อหาสาระอย่างที่บอกดีกว่า” ขณะนั้นเป็นต้นอาทิตย์ที่วิมลเพิ่งเริ่มเปิดเรื่องโกหก และปลายอาทิตย์เนชั่นสุดสัปดาห์ที่มีบทสัมภาษณ์ลงก็วางแผง คือฉบับนี้

ในบทสัมภาษณ์นี้มีคำพูดของผมขึ้นหัวตัวใหญ่ว่า “1 ล้าน ก็ให้ได้ ถ้าบทกวีและเรื่องสั้นนั้นดีจริง ๆ” ส่วนตัวผมเองเมื่ออ่านบทสัมภาษณ์แล้ว ไม่ติดใจอะไรทั้งสิ้น ผมเห็นว่านักข่าวหญิงคนนั้นทำหน้าที่ของเธอโดยสุจริตเป็นอย่างดีแล้ว บทสัมภาษณ์ก็ถูกต้องทุกอย่าง ส่วนพาดหัวล้อกระแสเป็นเรื่องธรรมชาติของสื่อที่ต้อง “ขายของ” ซึ่งผมเข้าใจดีอยู่แล้ว ดังนั้น ที่เล่ามานี้ไม่ได้ติดใจอะไรบทสัมภาษณ์นี้หรือเนชั่นสุดสุปดาห์ทั้งสิ้น
เพียงแต่ “บังเอิญ” ว่าวิมล ซึ่งเปิดประเด็นเรื่องเงิน 1 ล้าน ก่อนบทสัมภาษณ์ของผมเผยแพร่ห่างกันเกือบอาทิตย์ คือ วิมลเปิดประเด็นต้นสัปดาห์ บทสัมภาษณ์ผมที่มีคำว่า 1 ล้านลงเนชั่นปลายสัปดาห์ คือวันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม ผมจึงสงสัยว่า วิมลปั้นเรื่อง 1 ล้านนี้ขึ้นมาเองหรือเอามาจากไหน? เนื่องจาก ในที่ประชุมไม่มีการพูดถึงตัวเลขหนึ่งล้านเลย ตัวเลขที่เถียงกันคือ ผมเสนอว่าไม่ควรต่ำกว่า 200,000 นายพินิจยืนยันว่าต้องไม่เกิน 70,000 ไปสรุปได้ที่ 100,000 ซึ่งมาจากการพยายามรอมชอมของฝ่ายข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และที่ปรึกษา
แต่ประเด็นสำคัญที่สุดในกรณีของวิมล ไทรนิ่มนวลก็คือ ในขณะที่นายวิมลกำลังปั้นเรื่องเท็จนี้ ขณะนั้น กรรมการฝ่ายสมาคมนักเขียนยังคงเป็นกรรมการพานแว่นฟ้าอยู่ และทราบข้อเท็จจริงเป็นอย่างดีว่าสิ่งที่นายวิมลกล่าวเรื่องเงิน 1 ล้าน, เรื่องกรรมการส่วนใหญ่เป็นแดง, และเรื่อง “รับเงิน” ล้วนเป็นเรื่องเท็จ แต่ไม่มีใครออกมายืนยันข้อเท็จจริงแม้แต่คนเดียว นอกจากผมที่นำเอกสารมาชี้แจงไว้ที่เว็บไซต์ไทยโพเอ็ทในกระทู้ http://www.thaipoetsociety.com/index.php?topic=4371.0

สาเหตุที่แท้จริงของการถอนตัวของสมาคมนักเขียน: คำสารภาพระหว่างบรรทัดจากปากคำของ จิตติ หนูสุข
การถอนตัวออกของสมาคมนักเขียนเกิดขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคม วันเดียวกับที่เนชั่นสุดสัปดาห์ฉบับที่มีบทสัมภาษณ์ผมลงตีพิมพ์ และตลอดเวลาเกือบ 5 วันก่อนหน้านั้นนายวิมลปั้นเรื่องเท็จ เรื่องเงิน และเรื่องกรรมการแดง ไม่ได้หยุด โดยมีสื่ออย่าง “แนวหน้า” และประเภทเดียวกันคอยรับลูก
ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ขณะนั้นคือ สมาคมนักเขียนได้ถอนตัวออกจากคณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ปี 2556 ในช่วงเวลาที่ คณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ปี 2556 กำลังถูกโจมตีด้วยข้อกล่าวหาอันเป็นเท็จทั้งสิ้นและสมาคมนักเขียนทราบดีอยู่ แก่ใจ
คำถามคือ ทำไมแทนที่กรรมการจากสมาคมนักเขียนจะแก้ความเข้าใจผิด ๆ เรื่องปั้นน้ำของนายวิมล ไทรนิ่มนวล ในฐานะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า กลับทำสิ่งที่ตรงกันข้าม คือ ถอนตัวออกแทน?
บทสัมภาษณ์จิตติ หนูสุขในเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 พฤษภาคม (หรือสองอาทิตย์หลังการถอนตัว) มีคำตอบ

นี่คือปากคำส่วนแรกของจิตติ

นายจิตติกล่าวว่า “เดิมทีสมาคมตั้งใจจะไปเสนอ “ปรับปรุงแก้ไข” มติที่ไม่เห็นด้วย จะคุยกันอย่างอะลุ้มอะล่วย แต่ก็อาจจะต้องลงมติเอาเสียงข้างมากตัดสินถ้ามันจำเป็น แต่พอถึงเย็นวันที่ 2 ต่อเนื่องเช้าวันที่ 3 ปรึกษากันเห็นว่าสถานการณ์ชักตึงเครียดมากขึ้น ก็คิดว่า ถึงสมาคมอยู่ต่อไป ก็คงไม่มีราบรื่น ดีไม่ดีอาจถึงขั้นทะเลาะกันรุนแรง”
ประเด็นคือ วันที่ 2 ต่อเนื่องวันที่ 3 นั้น สถานการณ์อะไรที่ตึงเครียด?
ในเมื่อเกณฑ์รางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย ปี 2556 พิจารณาจบสิ้นไปแล้ว ประชุมจบหมดทุกอย่างแล้ว และประกาศออกไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน ตามข่าวนี้

ซึ่งข่าวนี้ก็คืออันเดียวกับที่มีคนลิงก์ไปให้วิมลดูตอนที่เขาปั้นเรื่อง 1 ล้าน ตัดรูปมาให้ดูอีกที

และอีกหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การประชุมของคณะกรรมการพานแว่นฟ้าปี 2556 ผ่อนคลายแล้ว เพราะคุยกันเรื่องเกณฑ์จบแล้ว และประกาศไปแล้วตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน ไม่มีอะไรจะมาเถียงกันแล้ว (เพราะสรุปแล้ว ประชุมเรื่องนี้จบแล้ว เกณฑ์จึงประกาศออกไปได้) ก็คือ บทสัมภาษณ์ผมเมื่อต้นอาทิตย์ (และไปลงเนชั่นสุดในปลายอาทิตย์)

“เวลานี้แบ่งคณะทำงานและเลือกประธานเรียบร้อยแล้ว โดยมีวาด รวีเป็นประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองบทกวี, เจน สงสมพันธุ์ เป็นอนุกรรมการกรั่นกรองเรื่องสั้น, ทองธัช เทพารักษ์ เป็นประธานอนุกรรมการคัดเลือกบทกวี และวัฒน์ วรรลยางกูร เป็นประธานอนุกรรมการคัดเลือกเรื่องสั้น”
(บทเรียบเรียงนำบทสัมภาษณ์)

ตรงนี้มีประเด็นนิดหน่อยว่า ทำไม ปีกแดง ถึงได้ประธานถึงสามคน (ผม, วัฒน์, ทองธัช) สถานการณ์ก็คือ วันที่เลือกประธานแต่ละคณะนั้น เจน, เนาวรัตน์, ชมัยภรณ์ หรือเรียกว่าบรรดา “ผู้ใหญ่” ทั้งหลายของสมาคมนักเขียนไม่ได้มา แต่พินิจ, จิตติ, บูรพา มา และคนของฝ่ายสมาคมฯ ก็ยังเยอะกว่าปีกแดงอยู่มาก ตอนนั้นที่น่าประหลาดก็คือ พอผมเสนอชื่อวัฒน์เป็นประธานคัดเลือกเรื่องสั้น กนกวลีก็เสนอชื่อผมเป็นประธาน (ไม่ได้ระบุชุด) ขณะที่ผมก็กำลังจะเสนอทองธัชเป็นประธานคัดเลือกบทกวี ทางนั้นเงียบ ผมก็งงว่าทำไมเขาไม่เสนอใครมาแข่ง พอผมเสนอทองธัชเขาหันมองหน้ากันแล้วก็เงียบเหมือนไม่รู้จะเอายังไง พินิจเสนอเจน พี่วัฒน์ทักและให้ผมพูด ผมก็ยืนยันหลักการว่าประธานต้องไม่เป็นกรรมการรางวัลซีไรต์หรือเซเว่น พินิจต่อรองขออนุโลมผมก็บอกว่าอนุโลมเป็นกรรมการได้ แต่ก็ไม่ควรเป็นประธานอยู่ดี แต่สุดท้ายก็ยอมให้เจนเป็นประธาน ชื่อประธานก็เลยออกมาแปลก ๆ แบบที่เห็น
ผมมาทราบภายหลังว่า เขาอยากให้บูรพาเป็นประธานบทกวี และไม่เห็นด้วยกับตำแหน่งทองธัช  จริง ๆ ผมเสนอทองธัชไปก็ไม่คิดว่าเขาจะเอา คือคิดว่าเขาคงเสนอใครมาเปรียบ แล้วก็ดูคุณสมบัติกัน ก็ปรากฏเขาไม่เสนอ ชื่อก็เลยออกมาแปลก ๆ อย่างนี้ แต่สาเหตุหลักที่เนารัตน์, ชมัยพร ไม่ได้เป็นประธานก็คือเพราะเป็นกรรมการรางวัลอื่นอยู่ ส่วนเจนก็ยอมให้คนหนึ่งในฐานะนายกสมาคม (จริง ๆ วันนั้นถ้าเขาเสนอบูรพามาแทนทองธัชผมก็อาจจะไม่ค้านอะไร หรือถึงค้านเสียงก็สู้พวกเขาไม่ได้อยู่แล้ว ก็นึกงง ๆ อยู่หลังประชุม)
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศตอนนั้นมันไม่ได้มีการ “โต้เถียง” หรือมีอะไรที่ “ตึงเครียด” แล้ว เพราะกำหนดเกณฑ์เสร็จแล้ว เลือกประธานจบแล้ว ตามบรรยากาศถามตอบในบทสัมภาษณ์ผมในเนชั่นตรงส่วนนี้

“ตอนนี้ก็คลี่คลายขึ้นเยอะ คิดว่าเราเถียงกันหนัก เถียงกันเยอะ แต่ถึงที่สุดแล้วจะเป็นผลดีต่อส่วนรวม”
เพราะฉะนั้น ที่จิตติบอกว่า “เดิมทีสมาคมตั้งใจจะไปเสนอ “ปรับปรุงแก้ไข” มติที่ไม่เห็นด้วย จะคุยกันอย่างอะลุ้มอะล่วย แต่ก็อาจจะต้องลงมติเอาเสียงข้างมากตัดสินถ้ามันจำเป็น แต่พอถึงเย็นวันที่ 2 ต่อเนื่องเช้าวันที่ 3 ปรึกษากันเห็นว่าสถานการณ์ชักตึงเครียดมากขึ้น ก็คิดว่า ถึงสมาคมอยู่ต่อไป ก็คงไม่มีราบรื่น ดีไม่ดีอาจถึงขั้นทะเลาะกันรุนแรง”
ที่ว่าสถานการณ์ “ตึงเครียด” มีเรื่องเดียวเท่านั้นคือกรณีวิมลที่กำลังปั้นเรื่องเท็จใส่ร้ายคณะกรรมการ เรื่อง 1 ล้านและ “แดงรับเงิน” และขอให้สังเกตตรงประโยคก่อนหน้าที่บอกว่า “เดิมทีสมาคมตั้งใจจะไปเสนอ “ปรับปรุงแก้ไข” มติที่ไม่เห็นด้วย” ที่บอกว่า มติที่ไม่เห็นด้วย คืออะไร? ในเมื่อเกณฑ์เสร็จและประกาศไปตั้งแต่ 25 แล้ว ระหว่างวันที่ 25 ถึงวันที่ 3 จะมีมติอะไรที่ไม่เห็นด้วย?
ก็มีอยู่เรื่องเดียวคือเรื่อง “ผลการเลือกประธานอนุฯ แต่ละชุด”
จริง ๆ ก่อนหน้าวันที่ 3 ผมโทรไปคุยกับพินิจ เพราะรู้สึกกิลตี้นิด ๆ ที่ฝ่ายแดงเอาตำแหน่งประธานไปตั้ง 3 คน ก็เลยโทรไปคุยเพราะอยากรู้ว่าจริง ๆ แล้วเขาไม่พอใจไหมหรือเขาอยากให้เป็นอย่างไร ก็คุยกันในลักษณะประนีประนอม และเขาก็สื่อให้ผมเข้าใจว่า “ควรให้บูรพาเป็นประธานคัดเลือกบทกวี” ซึ่งผมเองก็รับทราบ และตั้งใจว่าในการประชุมวันที่ 3 ผมจะสละสิทธิ์ประธาน ให้ทองธัชมาเป็นแทนผม (เพราะจริง ๆ แล้วผมไม่อยากคัดบทกวีด้วยเพราะไม่พอใจเกณฑ์) และให้บูรพามาเป็นแทนทองธัช แต่ก็ปรากฏว่าสมาคมนักเขียนมาถึงก็แถลงแล้วก็วอล์กเอาท์ออกไปเลยแบบสายฟ้า ฟาด
สาเหตุหลัก ๆ ที่ผมสรุปว่าทำไมสมาคมนักเขียนจึงลาออกไปก็คือ
ไม่พอใจการเลือกตำแหน่งประธาน
ไม่พอใจที่ผมเสนอว่า ไม่ควรเป็นกรรมการรางวัลซีไรต์และเซเว่นด้วย
หลบกระแส “แดงรับเงิน” ที่วิมลกำลังปลุกระดมในเฟซบุ๊ก (มองในแง่ดี-อย่างเบาที่สุดแล้ว, ถ้ามองในแง่ร้ายก็คือ บงการ-มีส่วน-เล่นการเมือง โดยใช้วิมล)

สำหรับผมแล้ว หัวขบวนของแก๊งสมาคมนักเขียนเหล่านี้ ไม่มีค่า ไม่มีเกียรติ และไม่มีศักดิ์ศรีพอที่จะผมจะฟังเสียง เพราะ
ไม่มีความรับผิดชอบ ในเวลาที่มีคนปั้นเรื่องเท็จใส่ร้ายคณะกรรมการฯ ในฐานะกรรมการ ทำไมแทนที่คุณจะชี้แจงข้อเท็จจริงกับนิ่งดูดาย?  และท้ายที่สุดก็ตีตัวออกหาก ทั้ง ๆ ที่ถ้าชี้แจงเรื่องก็น่าจะจบและรางวัลไม่ถูกป้ายสีอย่างเสียหาย?
ใจแคบ มักมาก บ้าตำแหน่ง (กะอีแค่ไม่ได้เป็น “ประธาน” แค่รางวัลเดียว ทำไมยอมไม่ได้ ทั้งที่ตัวเองและพวกพ้องผูกขาดอยู่แทบทุกรางวัล)
ไม่มีศรัทธาในงานวรรณกรรม (กลัวว่าเพิ่มเงินรางวัลไปแล้วจะมอมเมากิเลศนักเขียน ถามง่าย ๆ ว่า วรรณกรรมที่ดีมันเกิดจากกิเลศได้ด้วยเหรอ? เวลาเฮมิงเวย์เขียน Old man and the sea นี่มันเขียนดีเพราะตอนเขียนมันฝันถึงโนเบลอยู่ใช่ไหม? เวลากนกพงศ์เขียนแผ่นดินอื่นนี่ฝันถึงซีไรต์น้ำลายยืดอยู่ก็เลยเขียนออกมา ได้ใช่ไหม?)
ไม่มีมรรยาท (เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์แรก ๆ แทบไม่เข้าประชุมเลย พอมาถึงจะมารื้อสิ่งที่ที่ประชุมลงมติไปแล้วตรงโน้นตรงนี้ – เขาเถียงกันมาแทบเป็นแทบตาย)
ไม่มีความจริงใจต่อการยกระดับรางวัล

ข้อสันนิษฐานเหล่านี้ขอให้ดู “ระหว่างบรรทัด” ในบทสัมภาษณ์จิตติ หนูสุข เช่น

“ผมไม่เคยรู้สึกเลยว่านี่คือการยกระดับ ผมเห็นว่าบางทีคุณอาจจะกำลังทำลายรางวัลที่มันเดินมาดี ๆ อยู่แล้ว ให้มันพินาศอัปปางลงด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อย่างการแปลเผยแพร่ ผมไม่แน่ใจนักว่า มันจะเป็นการประจานความย่ำแย่ไม่น่าดูของเราให้เพื่อนบ้านหรือชาวโลกเขารับ รู้หรือไม่...”

“คุณไม่ให้เกียรติเขาเลย คุณดึงดันเอากรรมการผู้ใหญ่ที่สมาคมเชิญท่านมาช่วยอ่าน คิดเองเออเองกับพวกไม่กี่คนอย่างมีอคติ เอาท่านไปแขวนไว้เป็นกรรมการชั้นบน ไม่ต้องมาอ่าน”

(“ท่าน” ในที่นี้ก็คงหมายถึงบรรดาเนาวรัตน์, ชมัยพร, เจน ที่ผูกขาดเกือบทุกรางวัลอยู่แล้ว และบางคนผูกขาดมาเป็นเวลาหลายสิบปี)

บทบาทของศิริวร แก้วกาญจน์ในฐานะผู้พิทักษ์หลักเกณฑ์ความถูกต้อง
จริง ๆ บทบาทของศิริวรที่ผ่านมาเกี่ยวกับพานแว่นฟ้าก็เป็นที่รู้กัน และก็ไม่มีอะไรให้พูดมากนัก แต่บังเอิญช่วงที่วิมลกำลังโกหกปั้นเรื่องเกี่ยวกับพานแว่นฟ้าก็มีผู้มาเท้า ความกรณีศิริวรไว้พอสังเขป ดังนี้

“บทกวีสองชิ้นนี้เป็นของศิริวรเพราะเขาใช้นามปากกาต่างกันในการส่งเข้า ประกวด การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกติกาของการประกวด เขาจึงไม่แสดงตัวในวันรับรางวัล ความลับดังกล่าวถูกปิดเงียบ จนเมื่อปี พ.ศ.2551 ศิริวรได้พิมพ์บทกวีชุดใหม่ชื่อ “ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง” โดยมีบทกวีที่ได้รับรางวัลทั้งสองชิ้นรวมอยู่ด้วย พร้อมเขียนหมายเหตุพาดพิงถึงรางวัลพานแว่นฟ้าไว้ด้วย ศิริวรจงใจพิสูจน์บางอย่าง และการจงใจนี้นำไปสู่การฝ่าฝืนกฎ แต่น่าแปลกที่กลับไม่เกิดปฏิกิริยาใด ๆ ในแวดวงวรรณกรรมเลย นับเป็นรอยด่างพร้อยอีกครั้งที่กรรมการตัดสินรางวัลถูกท้าทาย”

เสนอแก้ไขข้อกำหนดบทกวีครั้งที่สอง
เมื่อแต่งตั้ง คณะกรรมการวรรณกรรมแห่งรัฐสภา ซึ่งมีภารกิจหลักคือ “ตั้งรางวัลใหม่” และภารกิจเสริมคือ ดำเนินพานแว่นฟ้าต่อให้เสร็จ ในการประชุมครั้งแรก ผมนัดแนะกับซะการีย์ยาเพื่อเสนอให้ที่ประชุมแก้ข้อกำหนดของบทกวี โดยผมเป็นคนพูดเปิดประเด็นขึ้นในที่ประชุมว่า เกณฑ์นี้อาจจะมีปัญหา และผมไม่รับ เพราะแบ่งแยกฉันทลักษณ์ไว้ 6 – 12 บท ในขณะที่กลอนเปล่า 2 หน้าซึ่งผมและซะการีย์ยาเห็นพ้องกันว่าลักลั่นและขัดแย้งกันเอง จึงเสนอให้ที่ประชุมแก้เป็นเกณฑ์เดียวโดยใช้จำนวนหน้ากำหนด แต่ตอนนั้นเกณฑ์เดิมได้ถูกประกาศไปแล้ว (ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน) และคนก็ส่งกันเข้ามาเป็นจำนวนมากแล้ว จำได้ว่าที่ประชุมมีใครสักคนถามผมว่า แก้เกณฑ์ไปแล้วคนที่ส่งมาแล้วจะทำอย่างไร และผมตอบกลับไปว่า ก็ให้สิทธิ์ส่งเข้ามาใหม่ถ้าอยากจะเปลี่ยนชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่ส่ายหน้า และเห็นว่า ขืนทำตามที่ว่ามันจะยุ่งเหยิงพอสมควร โดยเฉพาะงานเอกสาร มันดูแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเปลี่ยนเกณฑ์ตอนนั้นใหม่ จึงเห็นกันว่าส่วนไหนที่มีปัญหาให้เป็นสิทธิของคณะกรรมการชุดกลั่นกรองในการ ใช้ดุลยพินิจแล้วกัน (มันมีเกณฑ์อื่นอีกที่มีการพูดถึงด้วย)

การตัดสินใจของผมในกรณีเกี่ยวกับบทกวีเรื่องเบี้ย
ผมแทบไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับการดำเนินไปของการพิจารณาบทกวีเลย ผมเป็นกรรมการคณะกรรมการวรรณกรรมแห่งรัฐสภา และมีหน้าที่ตามตำแหน่ง 2 ตำแหน่งคือ รองประธานอนุกรรมการวางโครงสร้างยกระดับการประกวดวรรณกรรมระดับชาติและระดับ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรองประธานอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องสั้น ลำพังแค่อ่านเรื่องสั้น ทำหน้าที่ของตนในสองส่วนนี้ก็กินเวลาจนเบียดบังงานและชีวิตส่วนตัวของตนเอง ไปมากพอแล้ว งานล้นมือจนไม่มีเวลาสนใจเรื่องการพิจารณาของฝ่ายบทกวีแม้แต่น้อย
ผมรับทราบราว 1 หรือสองอาทิตย์ก่อนประชุมครั้งสุดท้ายที่จะประกาศรางวัลชนะเลิศว่าชุดที่พิจารณาบทกวีไม่สามารถตัดสินเองได้
คือโดย “กติกา” แล้ว สิทธิ์ในการตัดสินที่ 1 และที่ 2 เป็นของที่ประชุมใหญ่ แต่โดยประเพณีแล้ว คนตัดสินก็คือกรรมการคัดเลือก เสนอชื่อที่ควรจะได้เข้ามา เพราะที่ประชุมใหญ่นั้นไม่มีเวลาอ่าน และไม่ได้อ่านทั้งหมดจึงไม่มีทางรู้ว่าชิ้นไหนควรได้ แต่บังเอิญบทกวีมีปัญหาตัดสินไม่ลงกัน 3 ชิ้น ซึ่งผมก็ทราบ ๆ มาก่อน ว่าเขาจะให้ที่ประชุมใหญ่ “ช่วย” อ่านด้วยเพื่ออภิปรายให้ “แตก” จริง ๆ ว่าชิ้นไหนดีกว่า ตัวผมแทบไม่มีอารมณ์และเวลาเลย  แต่ก็หาเวลาอ่านจนได้  ซึ่งก็ตัดสินได้ไม่ยากว่าจะตัดเรื่องใดออก เพราะอีกบทอ่อนกว่าค่อนข้างชัด จึงเหลือ 2 เรื่อง (ทุกคนอ่านมาแล้วเห็นตรงกัน) คือเรื่อง เบี้ย กับเรื่อง ความตายของนกฟินิกส์ ซึ่งตัดสินใจยากมาก เพราะชิ้นหนึ่งเป็นกลอนเปล่า อีกชิ้นเป็นกลอนแปด และผมก็ชอบทั้งคู่ คือมันมีดีกันไปคนละแบบ ชิ้นเบี้ยผมชอบความดิบแบบบ้าน ๆ เทิ่ง ๆ ไม่สละสลวยแต่กินใจ ตรงประเด็น และสื่อแทนเสียงของคนจำนวนหนึ่งได้แม่นยำ ส่วนนกฟินิกส์นั้นคมที่ความเปรียบ สุดท้ายก่อนเข้าประชุมผมยังลังเล แต่ค่อนข้างเอียงไปทางเบี้ย
แต่เมื่อเข้าประชุมแล้ว กรรมการท่านต่าง ๆ ก็เริ่มอภิปรายข้อดีข้อเสียของแต่ละบท ซึ่งคู่ชิงก็คือ เบี้ย กับ นกฟินิกส์ ตามคาด ก็อภิปรายกันจนมีผู้อภิปรายข้อด้อยของเบี้ยว่า ผิดฉันทลักษณ์และจำนวนบทเกิน ผมก็เพิ่งรู้ ณ นาทีนั้นว่าเบี้ยมีจำนวนบทเกิน และกรรมการในที่ประชุมใหญ่ก็เช่นกัน เพราะไม่มีใครสนใจข้อกำหนดนี้ เนื่องจากยกให้เป็นดุลยพินิจของชุดกลั่นกรองไปแล้ว ซึ่งทางชุดกลั่นกรองก็แจ้งให้ทราบตอนนั้นว่า ได้เห็นแล้วว่าบทเกินแต่ใช้ดุลพินิจ “อนุโลม” เข้ามาตามที่ประชุมใหญ่ให้สิทธิ์ในตอนแรก และรายงานเพิ่มเติมว่ามีลักษณะเกินหรือขาดอีกกี่ชิ้นและใช้ดุลยพินิจอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นผิดข้อกำหนดเป็นเรื่องใหญ่ จึงถกเถียงกันว่าจะอนุโลมเรื่องเบี้ยหรือไม่เป็นประเด็นหลัก
ผมอภิปรายไม่เห็นด้วยกับการให้เบี้ยได้รางวัลที่ 1 และที่ 2 และชี้ว่านี่เป็นการผิดเกณฑ์กำหนดที่ประกาศไปแล้ว ไม่สามารถให้ได้ แต่ที่ประชุมอภิปรายกันว่าได้ให้สิทธิ์อนุโลมคณะกลั่นกรองไปแล้ว แล้วคณะกลั่นกรองก็ใช้สิทธิ์พิจารณามาแล้ว เมื่อมาถึงขั้นนี้จะเอาเรื่องผิดเกณฑ์มาพิจารณาอีกไม่ได้ เพราะถือว่าผ่านไปแล้ว ถ้าจะเอาเรื่องผิดเกณฑ์มาพิจารณาก็ต้องพิจารณาให้ตอลด คือให้โมฆะไปเลย คือเอาออกไปให้ตกไปเลย ซึ่งก็เป็นที่ถกเถียงกันอย่างเคร่งเครียด และในที่สุดต้องออกเสียงด้วยการโหวต
ผมมีเวลานั่งคิดไม่ถึง 30 นาทีนับจากเวลาที่ทราบว่าเบี้ยผิดข้อกำหนดในการตัดสินใจว่าจะโหวตให้โมฆะ หรือจะอนุโลม ซึ่งก็มีการอภิปรายเรื่องความลักลั่นของเกณฑ์กันอย่างกว้างขวาง และในที่สุดผมก็ยกมือให้ “อนุโลม” ซึ่งเบี้ยก็ได้รับการอนุโลมจากเสียงส่วนใหญ่
แต่หลังจากโหวตอนุโลมไปแล้ว ผมรู้สึกติดค้างอย่างยิ่ง เพราะทราบดีว่าการละเมิดข้อกำหนดในลักษณะนี้จะกระทบสิทธิ์ของผู้ส่งประกวดคน อื่น ๆ และกระทบความน่าเชื่อถือของกรรมการ เพราะเป็นข้อกำหนดที่ประกาศให้ทราบไปแล้ว ผมติดค้างประเด็นนี้ และตัดสินใจงดออกเสียงเมื่อต้องโหวตว่าเบี้ยหรือนกฟินิกส์ใครจะได้ที่ 1
หลังจากวันนั้นผมนอนไม่หลับไปหลายคืน ผมไม่แน่ใจว่าตนเองทำถูกหรือไม่ แต่หลังจากนอนคิดและถามใจตัวเองมาจนแน่ใจแล้ว ให้ย้อนเวลากลับไปได้อีกครั้ง ผมก็เลือกที่จะอนุโลมอยู่ดี เพราะการบังคับใช้เกณฑ์นี้เป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่ามันแย่ต่อกวีนิพนธ์โดย ภาพรวมมากกว่าการยอมอนุโลมเกณฑ์ แม้จะรู้ดีและยืนยันกับที่ประชุมเองว่า เบี้ยไม่ควรได้รับรางวัลเพราะผิดเกณฑ์ แต่เมื่อต้องยกมือมือผมก็ยกอนุโลมอยู่ดี คือผมไม่สามารถฝืนใจตัวเองบังคับใช้เกณฑ์บังคับฉันทลักษณ์ 6 – 12 บท ในขณะที่กลอนเปล่า 2 หน้าได้ มันไม่เพียงไม่มีเหตุผล แต่มันยังเป็นการทำให้กวีนิพนธ์เป็นเรื่องหลอกลวง การสร้างงานกวีจะต้องถูกกำหนดด้วยแบบแผนแบบเด็กที่ยังไม่โต อีกทั้งยังแบ่งแยกกลอนเปล่ากับฉันทลักษณ์ในลักษณะกีดกัน ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้สึกว่าการกำหนดเกณฑ์แบบนี้มันคือการทำลายสำนึกต่อกวีนิพนธ์ ของผมและต่อความเป็นวรรณกรรมทั้งหมดให้สิ้นศักดิ์ศรีหมดความเคารพในตัวเอง กลายเป็นผู้ใช้ทักษะเขียนตามแบบฝึกหัด
ดังนั้นผมจึงยืนยันว่า ให้กลับไปตัดสินอีกร้อยครั้ง พันครั้ง ผมก็ยอมทำ “ผิด” คือ “อนุโลม” ข้อกำหนดนี้ เพื่อจะไม่ทำผิด “ยิ่งกว่า” คือยอมปล่อยให้ข้อกำหนดนี้ข่มขืนจิตสำนึกต่องานวรรณกรรมของตนและต่อเพื่อน ร่วมอาชีพด้วยการยอมทำตามมัน
ผมขอแสดงความรับผิดชอบต่อความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับผู้ส่งประกวดงานบทกวี ทุกคน ไม่ใช่ต่อสมาคมนักเขียนและเหล่าบุ๊กคลปลิ้นปล้อนกลิ้งกลอกหอกหักเหล่านั้น
ผมขอลาออกจากคณะกรรมการวรรณกรรมแห่งรัฐสภา และจะพิจารณาตัวเอง ด้วยการไม่เป็นกรรมการตัดสินวรรณกรรมใด ๆ อีกตลอดชั่วชีวิตนี้ และขอยืนยันว่า ไม่ว่าท่านจะเรียกร้องอย่างไร ก็ไม่มีวันทำให้ผมยอมเปลี่ยนการตัดสินใจให้เบี้ยเป็นโมฆะเพราะเกณฑ์อัปรีย์ นี้ได้เป็นอันขาด
วาด รวี / 24-9-2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น