แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

รัฐชาติ(แบบไทยๆ) และขบวนการไอติมกู้ชาติ

ที่มา ประชาไท


“พ่อเอ้ย แม่เอ้ย ประเทศไทยเย็นๆมาแล้วจ้า” ประโยคนี้น่าจะเป็นคำโฆษณาของคนขายไอติมคนหนึ่งที่นำมา “เร่ขาย” ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเกือบเดือน ผมเองก็ไม่แน่ใจว่ามีรสชาติอะไรให้เลือกบ้าง แต่คงเดาได้ไม่ยากว่ามีกี่รส มีกี่สี มีกลิ่นอะไร แล้วที่สำคัญ ก็มีคนกลุ่มหนึ่งรุมซื้อไอติมจากคนขายไอติม เอาไปกินกันด้วยนะครับ กินคนเดียวไม่พอยังป่าวประกาศให้คนอื่นๆไปหาซื้อมากินกันด้วย ประมาณว่า “รสชาติที่คุ้นเคย” ได้หวนกลับมาอีกรอบ มีไอติมที่หวานเย็น รสอร่อย แช่แข็งกันมาแล้ว

อย่างที่เราเห็นข่าวกันในระยะนี้ ขบวนการไอติม.. เอ้ย องค์กรพิทักษ์สยาม  มีความเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมที่สนามม้านางเลิ้ง การเชิญชวนให้ “ชาวไทย”[1] ออกมาร่วมชุมนุมทางการเมือง เพื่อขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (ของนักการเมือง พรรคการเมือง นายทุนการเมืองสามานย์ทั้งหลายแหล่) ขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิดของทักษิณ ขับไล่ตระกูลชินวัตรออกนอกประเทศ ต้องการล้มรัฐบาลที่กำลังคอรัปชั่น ไม่สนใจปากท้องประชาชน เอาแต่หาทางล้างผิดให้ทักษิณ โดยเชิดชูอุดมการณ์อันแสนภาคภูมิใจว่าต้องการปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่กำลังถูก “จาบจ้วงล่วงละเมิด อาฆาต มาดร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเป็นขบวนการ โดยนักการเมือง นักวิชาการ สื่อ และมวลชนแนวร่วมของรัฐบาล”[2] และมีการนำเสนอโมเดลทางออกของประเทศไทยอันแสนก้าวหน้าว่ามาร่วม “แช่แข็งประเทศไทย 5 ปี”[3] กันเถอะพี่น้องเอ้ยยย   

ผมฟังแล้วก็หนาวจริงๆครับ บรื๋ออออ

การขายไอติม..เอ้ย (^^”) การเสนอขายโมเดลทางวออกของประเทศไทยและการตอกย้ำอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ขององค์กรพิทักษ์สยามนั้นก็ยังวนๆเวียนๆอยู่ในตรรกะเหตุผลเดิมๆ มีรสชาติเดิมๆที่เคยกินกันมาเนิ่นนาน เพียงแต่ครั้งนี้เสธ.อ้ายแกประกาศชัดเจนว่ามันเย็นนะ เพราะแช่แข็งมาแล้วจ้า
 
จินตนาการว่าด้วย “ความเป็นชาติ-ความเป็นรัฐ” (Imagined Nation-State)

ก็อย่างที่บอกไปแหละครับ คำว่า “ชาติ รักชาติ กู้ชาติ” หรืออะไรก็แล้วแต่ที่องค์กรพิทักษ์สยามนำมาอธิบายอะไรต่อมิอะไรให้วุ่นวาย เพื่อแสดงออกทางอุดมการณ์ให้คนอื่นเห็นว่า “พวกฉันรักชาตินะ” มันไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย ที่สำคัญ การจินตนาการความเป็น รัฐ-ชาติ ของพวกเขาเหล่านั้นหมายถึง “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” มากกว่าเรื่องอื่นๆ และผมคิดว่าในจินตนาการของเขา อะไรก็ไม่สำคัญเท่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่กำลัง “ถูกจาบจ้วง ล่วงละเมิด” โดยนักการเมืองผู้ชั่วช้าเลวทราม โดยตระกูลนักการเมืองที่ชั่วร้าย โดยการเลือกตั้งที่แสนชั่วร้าย โดยพวกเสื้อแดงที่แสนชั่วร้าย โดยนักวิชาการที่ชั่วร้าย โดยประชาชนที่ชั่วร้าย

ก่อนจะไปพูดถึงขบวนการไอติมกู้ชาติ ผมขอกระแดะพูดอะไรที่มันเป็นวิชาการกับเขาบ้างนะครับ (จะได้ดูดีมีชาติตระกูล เป็นชนชั้นกลาง ดูมีการศึกษากับเขาบ้าง เพราะชีวิตจริงของผมแลมันดูโง่  จน เจ็บ หาข้าวกินฟรีตามวงประชุมไปวันๆ คริคริ) หากพูดถึงคำว่า รัฐชาติ (Nation State) ที่พวกเราหลายๆคนต่างร่ำเรียนกันมา ท่องจำกันไปสอบแทบเป็นแทบตาย ว่า รัฐชาติ ประกอบด้วยดินแดน ประชากร อำนาจอธิปไตย มีรัฐบาล โน่น นี่ นั่น ฯลฯ มันมีความหมายว่าอะไรกันแน่ในทางอุดมการณ์และวัฒนธรรม ?

หากคิดถึงคำว่า รัฐชาติ ในมุมมองของนักมานุษยวิทยาการเมือง ผมคิดว่า concept เรื่องความเป็น รัฐชาติ คงไม่ได้ตีความในมุมมองทางรัฐศาสตร์อย่างเดียวเพียวๆแน่ คำว่า รัฐชาติ ในทางมานุษยวิทยาการเมืองมีอะไรที่น่าสนใจมากครับ คือว่าในวงการมานุษยวิทยา (Political Anthropology) เขามองรัฐว่าคือชุดอุดมการณ์ชุดหนึ่ง คือมายาคติ คือจินตนาการของชุมชนการเมืองหนึ่งที่สร้างความเป็น รัฐชาติ ขึ้นมา เช่นในงานมนุษยวิทยาการเมืองโบร่ำโบราณที่ชื่อว่า “African Political System” ของ Fortes และ Evans-Pritchard[4] ซึ่งมีนักวิชาการรุ่นใหญ่คนหนึ่งที่ชื่อว่า Radcliff-Brown เขียนคำนำให้หนังสือเล่มนี้ เขาบอกว่า รัฐ คือมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นเองโดยจินตนาการของคนในชุมชนการเมือง รัฐ มันถูกสมมุติขึ้นมา มันไม่มีอยู่จริง พูดง่ายๆ รัฐ คืออะไรก็ไม่รู้แต่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเอง (พูดให้แรงอีกนิดหนึ่งก็คือถูกตอแหลขึ้นมา) แล้วก็มีนักวิชาการคนอื่นๆมาร่วมแจมในแนวคิดนี้ด้วย เช่น Philip Abrams ในงานเขียน “Notes on the Difficulty of Studying the State”[5] หรือ Pierre Bourdieu “Rethinking the State : Genesis and Structure of Bureaucratic Field”[6] เขาพูดว่า รัฐ คือมายาที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเอาไว้ปิดบังอำนาจและปฎิบัติการเชิงอำนาจของ กลุ่มอำนาจทางการเมือง เราจะไม่มีวันเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเบื้องหลังของรัฐคืออะไรเพราะถูก รัฐ บังตาเอาซะมิด มองอะไรไม่เห็น เมื่อมองไม่เห็น คนที่อยู่เบื้องหลังรัฐก็จะสามารถทำอะไรก็ได้ในทางการเมือง (เช่น การบริหารอำนาจ การใช้อำนาจที่ “มองไม่เห็น” ปฎิบัติการทางการเมืองที่ลับ ลวง พราง เป็นต้น)  

คนที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากคือ’เด็จพ่อ Clifford Geertz และนักวิชาการอีกคนคือ Stuart Hall เริ่มจาก’เด็จพ่อ Geertz ก่อน[7] Geertz มองว่า รัฐ คือกลุ่มก้อนมายาคติชุดหนึ่ง คือ “เวทีการแสดง” อะไรบางอย่าง มีคนมาเล่นละครให้ดู มีการแสดงของรัฐ เป็นบทละครที่มุ่งเน้นให้คนดูเชื่อในสิ่งที่ รัฐ บอก เป็นเวทีที่เน้นย้ำเรื่องอุดมการณ์แห่งรัฐ ตอกย้ำ ผลิตซ้ำวาทกรรมของ รัฐ ไปเรื่อยๆให้คนดู “เชื่อ” ตามจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางสังคมและการเมืองไป ดังนั้น สิ่งที่ รัฐ ทำงานก็คือการแสดง การผลิตซ้ำชุดอุดมการณ์ตามที่ต้องการ ผลิตกระแสวัฒนธรรม ความเชื่อ ให้คนใน รัฐ คล้อยตามให้หมด หลังจากนั้น รัฐ ก็จะแสดงบทบาทความเป็นเจ้าของอาณาบริเวณทางการเมืองโดยใช้กลไกกฎหมาย ระเบียบราชการต่างๆมาบังคับคน มาตีกรอบให้คิดตามให้หมด (แบบว่า “ไม่รักก็ติดคุกนะ” ทำนองนี้) ฉะนั้น สิ่งที่ Geerzt บอกพวกเราเอาไว้ก็คือ รัฐ และการสร้าง รัฐชาติ คือกระบวนการที่เป็นการแสดง เป็นมายาคติ เป็นชุดอุดมการณ์ เป็นจินตนาการของใครซักคนที่มีอำนาจอยู่เบื้องหลัง รัฐ นั้น ที่ต้องการให้คนใน รัฐ เชื่อตามๆกันหมดอย่างไม่ต้องตั้งคำถามอะไรต่อ รัฐ มาก[8]

ส่วน Stuart Hall ใน  “Popular culture and the State”[9] บอกว่าเวลาพวกชนชั้นนำจะหาทางปกครองชาวบ้านและชาวเมืองทั้งหลายผ่านกลไกการ ปกครองต่างๆ (ระบบราชการ) สิ่งที่จะทำให้การปกครองราบรื่นไม่มีปัญหา ชนชั้นนำก็จะต้อง “หล่อหลอมทางวัฒนธรรม” ให้ได้ซะก่อน หมายถึง รัฐ จะต้องสร้างค่านิยมตามที่ตนเองต้องการให้เกิดขึ้นให้ได้ จะต้อง “หลอมรวมวัฒนธรรมของชาติ” ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ทำยังไงก็ได้อย่าให้ประชาชนตั้งคำถามกับค่านิยมและวัฒนธรรมที่ รัฐ สร้างขึ้นมา และ รัฐ จะต้องทำให้คนส่วนมากนิยมชมชอบ (Popularity) (ถ้าสมมุติว่า รัฐ ลงแข่งขันเดอะว๊อยซ์ รัฐ ก็จะหาทางทำให้คนดูทางบ้านโหวตตัวเองเยอะๆ เพราะจะได้เป็นที่นิยม) ดังนั้น ถ้ามองตามในสิ่งที่ Hall บอกเอาไว้ รัฐ ก็คือ “ภาพตัวแทน” ทางอำนาจของพวกชนชั้นปกครอง ที่คอยจ้องหาทางใส่ยา “กล่อมประสาท” ให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนทั้งหลายมอง รัฐ เป็นเทวดา เป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ มอง รัฐ ว่าเป็นสิ่งที่ปลูกฝังอุดมการณ์และวัฒนธรรมที่ดีที่สุด และต้องไม่ผิดไปจากที่ รัฐ บอกเอาไว้

อีกคนหนึ่งที่ผมจะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ อาจารย์ เบน ของพวกเราครับ (Benedict Anderson) อาจารย์เบนของใครหลายๆคนผลิตงานชิ้นหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการศึกษา รัฐ พอสมควร คือ “Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism”[10] งานชิ้นนี้ว่าด้วยเรื่องชาตินิยม การสร้างความเป็นชาตินิยม และนำเรื่องชาตินิยมมาเป็นเครื่องมือในการหลอมรวมทุกคนเข้ามาสู่ “ชุมชนในจินตนาการเดียวกัน” อาจารย์เบนบอกว่าชาตินิยมคืออุดมการณ์ที่สำคัญชนิดหนึ่งที่เอาไว้ใช้ในการส ร้าง รัฐชาติ ของประเทศต่างๆ และมันมีลักษณะแพร่กระจายส่งต่อออกไปได้กว้างขวาง แต่ด้านลบของมันก็มีครับ การสร้างชาติด้วยอุดมการณ์ชาตินิยม ในบางครั้ง มันได้สร้างจินตนาการเรื่องความรักชาติ-ไม่รักชาติขึ้นมาด้วย หมายถึงการสร้างมิตร สร้างศัตรู ที่วางอยู่บนพื้นฐานของการนิยามความเป็นชาติ หมายถึงถ้าใครคิดแตกต่างไปจากคำนิยามเรื่องชาติภายในชุมชนการเมืองหนึ่งๆ ก็จะถูกมองว่าเป็นศัตรู(ของชาติ) เป็นสิ่งแปลกปลอม เป็นสิ่งที่สมควรถูกกำจัดออกไปจาก “พื้นที่รัฐชาติ” ที่ “รักชาติ” ทั้งหลายอาศัยอยู่
 
 จินตนาการ “ความเป็นชาติ-ความเป็นรัฐ” ของเหล่าขบวนการไอติมกู้ชาติ
 
ผมได้พูดถึงมุมมองของนักมานุษยวิทยาการเมืองว่าด้วยเรื่อง รัฐชาติ กันไปบ้างแล้วพอหอมปากหอมคอ คราวนี้เมื่อหันมองกลับมาดูขบวนการไอติมกู้ชาติของเราก็พบว่ามีอะไรน่ารักๆ เยอะครับ

อันดับแรกสุดเลย เรื่องอุดมการณ์ความเป็น “ชาติ” ของเหล่าขบวนการไอติมกู้ชาติชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”  ซึ่งในความเป็นจริงทางสังคม อุดมการณ์ชุดนี้มันถูกสร้างโดย รัฐ ไทยแน่ๆ[11] ฉะนั้น ถ้าหากเรามองว่าการเคลื่อนไหวของขบวนการไอติมกู้ชาติจะมีพลังได้ก็จะต้องได้ รับการสนับสนุนเชิงอุดมการณ์และวัฒนธรรมจากสังคมไทย ซึ่งปัญหาของมันอยู่ที่ ในขณะนี้สังคมไทยยังรู้สึกรู้สาอะไรกับคำว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เหมือนสมัยก่อนอยู่อีกหรือเปล่า ? เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมามันได้ทำลายฐานคติชาตินิยมแบบนี้ ไปพอสมควร[12] คำถามอีกประการคือ จากการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ของฝ่ายตรงข้ามขบวนการไอติมกู้ชาติได้สร้าง พื้นที่ทางอุดมการณ์และวัฒนธรรมขึ้นมาได้บ้างแล้วหรือไม่อย่างไร ? ผมมองเรื่องนี้จากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุด  อุดมการณ์เรื่องเสรีประชาธิปไตยก็ได้ถูกนำเสนออย่างเข้มข้นในห้วงเวลาที่ ผ่านมาควบคู่ไปกับการต่อสู้ทางการเมืองของคนเสื้อแดง ผมเข้าใจว่ามีคนไม่น้อย “ซื้อ” อุดมการณ์นี้พอสมควร   

จินตนาการต่อมาของเหล่าขบวนการไอติมกู้ชาติ คือจินตนาการเรื่อง “ศัตรูของชาติ” ศัตรูของชาติครั้งนี้ก็คือ “ทักษิณแอนเดอะแก้งค์” ดูจากแถลงการณ์และคำพูดโดยรวมๆบนเวทีที่สนามม้านางเลิ้งก็ได้ครับ ไม่เห็นจะมีอะไรเลยนอกจากทักษิณๆๆๆๆ (รวมไปถึงพวกเครือข่ายทักษิณทั้งหลายทั้งปวง) ศัตรูของชาติคือตระกูลชินวัตร ถ้าอยากให้ประเทศชาติมีความปึกแผ่น มั่นคง มีความรักสามัคคี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว อยากให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่สวยงาม มีโลกสวยงาม มีนกน้อยบินไปบินมา คนชนบทจูงวัว จูงควาย คนเมืองมีความพอเพียง จะต้องขับไล่ตระกูลชินวัตรออกจากประเทศไทยเท่านั้น รัฐบาลจะต้องล้ม นักการเมืองจะต้องพินาศ พรรคการเมืองจะต้องหายไป การเลือกตั้งโสโครกต้องกำจัดทิ้ง ประชาธิปไตยคือสิ่งแปลกปลอมจากฝรั่ง เราต้องการชาติไทยกลับคืนมา ไชโย !!

โอ้ววว  จินตนาการบรรเจิดที่ซู้ดดด

นอกจากนี้ จินตนาการความเป็นศัตรูของชาติยังถูกผูกติดกับ “ความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์” หากใครมายุ่งวุ่นวาย มาวิพากษ์วิจารณ์ อ้าย..อี ผู้นั้นมันไม่ใช่คนไทย คนเสื้อแดงมันด่าเจ้านาย พรรคเพื่อไทยมันคิดล้มเจ้า พวกทักษิณและคณะมันคิดล้มเจ้า คนที่อ่านข้อมูลเชิงลบทุกคนมันคิดทำลายสถาบัน มันทั้งหลาย “ไม่ใช่คนไทย” เป็นศัตรูของคนไทย ต้องถูกกำจัด เอ้า พี่น้องเอ้ย เอารถถังออกมาเร็วๆหน่อยคร๊าบบบ มาล้างประเทศหน่อยยยย

ดังนั้น จินตนาการเรื่องความเป็น รัฐชาติ ของเหล่าพี่น้องผองเพื่อนในขบวนการไอติมกู้ชาติ จึงวนเวียนๆอยู่กับมายาคติเหล่านี้ มายาคติที่ รัฐ สร้างขึ้นเพื่อทำให้คนในสังคมกลายเป็น “องครักษ์พิทักษ์อุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” เมื่อใดก็ตามที่เกิดขบวนการชาตินิยม(แบบไทยๆ) คนหลายๆคนในสังคมไทยก็จะพร้อมใจออกมาลุยถั่วอย่างถึงลูกถึงคน และพร้อมที่จะสนับสนุนเงินทองสิ่งของต่างๆ ยอมไปเดินตากแดดเปรี้ยงๆกลางสนามหลวง ในสนามม้า บนถนนราชดำเนิน จะให้ทำอะไรก็ทำ เพราะว่าต้องการกำจัดศัตรูของชาติ  จะได้เป็นเกียรติ เป็นศรีแก่วงศ์ตระกูลเพราะได้ชื่อว่ามาขับไล่เสนียดจัญไรออกจากแผ่นดิน (ออกจากแผ่นดินอันแสนจะศักดิ์สิทธิ์)

รัฐชาติ ในความหมายของเหล่าผู้เสพไอติมกู้ชาติ จึงเป็นการนิยามคำว่ารัฐชาติแบบไทยๆ ไท้ย...ไทย นิยามวนเวียนอยู่ไม่กี่เรื่อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มองศัตรูของชาติในมิติแบนราบเพียงแค่นักการเมืองชั่ว นายทุนสามานย์ ไม่ไว้วางใจระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง รังเกียจรัฐสภา ตีหัวหมาด่าแม่เจ๊กเฉพาะคนเสื้อแดง นิยามความเป็น รัฐชาติ ของขบวนการไอติมต้องเป็นคำนิยามที่ถูก “แช่แข็ง” หยุดอยู่กับที่ ต้องไม่เปลี่ยนแปลง เพราะของเดิมก็ดีอยู่แล้วพวกเมิงจะเอาอะไรกันอีก (วะ) 

ดังนั้น ใครคิดจะมาเปลี่ยนแปลงคำนิยาม รัฐชาติ แบบนี้ก็จะต้องถูก “แช่แข็งประเทศไทย” ซะเลย จบเรื่องจบราว ...
          
หนาวจุงเบยยยย 
           
 
 

[1] คำว่าชาวไทยน่าจะมีความหมายว่าคนไทยทั่วๆไปที่เห็นด้วยและอยากเข้าร่วม แต่ในเชิงปรากฎการณ์แล้ว กลุ่มคนไทยที่ดูจะ “กระตือรือร้น” เป็นพิเศษที่จะเข้าร่วม (และเข้าร่วมไปแล้ว) อาทิเช่น กองทัพธรรม, คนเสื้อเหลืองในกรุงเทพฯ, กลุ่มเสื้อหลากสี, กลุ่มแฟนๆทีวีช่องบลูสกาย รวมไปถึงกลุ่มคนไทยอย่าง เครือข่ายชาวนาภาคกลาง,  กลุ่มเยาวชนพิทักษ์สยาม เป็นต้น (ที่มา : โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ “ผ่ามวลชนพิทักษ์สยาม ต่างที่มาแต่เป้าเดียวกัน” ออนไลน์ครั้งแรกวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555, http://www.posttoday.com) นอกจากนี้  องค์กรพิทักษ์สยามยังได้ให้ข้อมูลว่ามีคนไทยกลุ่มอื่นๆที่อยากเข้าร่วมเพิ่ม อีก ไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายสมัชชาเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศ, สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทุกสหภาพ, .กลุ่มแนวร่วมกลุ่มปฏิรูปที่ดินทั่วประเทศ, กลุ่มแนวร่วมคนไทยรักชาติรักษาแผ่นดิน ซึ่งองค์กรพิทักษ์สยามกล่าวว่ากลุ่มนี้มีการลงทะเบียนชัดเจน มีตัวตนจริงตามบัตรประชาชนจำนวน 500,000 คน , กลุ่มคนจากการติดต่อทางเครือข่ายโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค และกลุ่มคนที่เป็นผู้เข้าชุมนุมโดยอิสระที่ไม่เคยชุมนุมที่ไหนมาก่อน (ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ “โฆษกองค์การพิทักษ์สยามฟุ้งม๊อบล้มรัฐบาลปู 24 พย. ถึง 500,000 คนแน่” ออนไลน์ครั้งแรก 15 พฤศจิกายน 2555, http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNMU1qazJNelF3T1E9PQ==&subcatid=
[2]  ดูข้อมูลเพิ่มเติมในคำแถลงการณ์ของ องค์กรพิทักษ์สยาม ฉบับที่ 1/2555 ว่าด้วยการจัดตั้งขบวนการภาคีเครือข่ายพิทักษ์สยามทุกจังหวัด มีเผยแพร่ออนไลน์ใน http://webboard.serithai.net/
[3]  วาทกรรมแช่แข็งประเทศไทยมาจากเวปข่าวโพสต์ทูเดย์ออนไลน์เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2555, รายงานข่าวโดยคุณ ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย และคุณชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์ (ที่มา : โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ “โมเดลเสธอ้าย แช่แข็งประเทศไทย 5 ปี”, 28 ตุลาคม 2555 http://www.posttoday.com) จากบางส่วนของคำสัมภาษณ์ว่า “ผู้ถาม: แช่แข็งประเทศไทย ? เสธอ้ายตอบว่า : ถูก...หยุดและให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้” หลังจากการเผยแพร่ของเวปข่าวโพสต์ทูเดย์ไม่กี่วัน วาทกรรมแช่แข็งประเทศไทยก็ถูกนำไป “ล้อเลียน” , “เสียดสี” อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์โดยเฉพาะเฟสบุ๊ก จนภายหลังโฆษกขององค์กรพิทักษ์สยาม (พล.อ.อ.วัชระ ฤทธาคนี) ได้ออกมาชี้แจงว่าไม่ได้ต้องการแช่แข็งประเทศไทย สื่อมวลชนและฝ่ายตรงข้ามตีความกันไปเอง (ดูได้ใน ไทยรัฐออนไลน์ “ยากตรงฝืนธรรมชาติ”, 16 พฤศจิกายน 2555, http://www.thairath.co.th/column/pol/wikroh/306455
[4] Fortes, M.; Evans-Pritchard, E.E. (1940). African Political Systems. (London: Oxford University Press). 1940.
[5] Philip Abrams, “Notes on the Difficulty of Studying the State” in Journal of Historical Sociology, 1:1 (March 1988): 58-89.
[6] Pierre Bourdieu, “Rethinking the State: Genesis and Structure of Bureaucratic Field” in Sociological Theory, 12:1 (March 1994): 1-18.
[7] ถ้าใครยังไม่รู้จัก Geertz ให้ลองไปอ่านงานของ ไชยยันต์ ไชยพร เรื่อง “ข้อวิพากษ์ทฤษฎีการเมืองกระแสหลักของ คลิฟฟอร์ด เกียทส์” (ไชยยันต์ ไชยพร, ข้อวิพากษ์ทฤษฎีการเมืองกระแสหลักของ คลิฟฟอร์ด เกียทส์, กรุงเทพฯ:โอเพ่นบุ๊ก, 2551.) เพื่อทำความรู้จักกับเสด็จพ่อ Geertz ในทางมานุษยวิทยาการเมืองได้ครับ
[8] Clifford Geerzt, Negara: The Theatre State in 19th Century Bali, (NJ: Princeton University Press). 1980.
                                [9] Stuart Hall, ‘Popular Culture and the State’ in Mercer et al. (eds.) Popular Culture and Social Relations. (Oxford: Open University Press). 1986.
[10] Benedict Anderson, Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism. (London: Verso). 1991. เวอร์ชั่นภาษาไทยก็มีครับ, เบน แอนเดอร์สัน (แปลโดย กษิณ ชืพเป็นสุข และคณะ), ชุมชนจินตกรรม : บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม, กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำรามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 2552. โดยเฉพาะบทที่ว่าด้วยลัทธิชาตนิยมทางการ   
[11] บางคนบอกว่าถูกสร้างมาตั้งแต่ ร.6 บางคนบอกว่าถูกสร้างมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม อุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถือได้ว่าเป็นอุดมการณ์ของรัฐไทยมานานแล้ว และจะเป็นอุดมการณ์ที่เป็นของทางการ(และราชการ)ต่อไปในสังคมไทยหรือไม่ก็ ต้องต้องติดตามเอฟพิโสดต่อไป
[12] ถึงแม้จะไม่ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐาน แต่ก็บอบช้ำไม่น้อย ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น