แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

รู้จักนักวิชาการปริศนา "วีรพัฒน์ ปริยวงศ์" ข้อหา "อยากดัง" กับภูมิคุ้มกัน "แอ๊บแบ๊ว"

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

รายงานพิเศษ
จากโลกออนไลน์สู่สื่อหลัก นักวิชาการปริศนา "วีรพัฒน์ ปริยวงศ์" ข้อหา "อยากดัง" กับภูมิคุ้มกัน "แอ๊บแบ๊ว"


ชื่อของ "วีรพัฒน์ ปริยวงศ์" นักกฎหมายอิสระหน้าละอ่อน เริ่มปรากฏบนพื้นที่สื่อจากออนไลน์ กระเถิบสู่พื้นที่กระดาษและรายการวิเคราะห์การเมืองในสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม

สปอตไลต์วงวิชาการเริ่มชำเลืองสาดส่องมายังนักกฎหมายหนุ่มวัยที่ยังไม่ถึง 30 ปี

หนุ่มคนนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ถึงมักเกาะติดทั้งพูด เขียน วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นร้อนๆ ในสังคมแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องของกฎกติกามวยสากลของไอบ้า นาซ่า แก้ไขรัฐธรรมนูญ ปัญหาจำนำข้าว ไปจนถึงการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี โดยผ่านทั้งช่องทางเฟซบุ๊กเพจที่อัพเดตข่าวความคืบหน้าและให้มุมมองไว้แทบทุกขั้นตอนขนาดนี้

ชื่อของวีรพัฒน์จึงกลายเป็นจำเลยของคนบางกลุ่มในข้อหา"อยากดัง"

"ผมเรียนจบคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกียรตินิยมอันดับ 1 จากนั้นได้ทุนฟุลไบรต์ เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดจบกฎหมายมหาชน วิทยานิพนธ์เกียรตินิยม"

หลังเรียนจบเข้าทำงานเป็นนักกฎหมายที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ดูแลคดีที่ต้องไปขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ จากนั้นตัดสินใจกลับมาประเทศไทยระยะหนึ่ง จนช่วงที่จะไปทำงานใหม่ที่อังกฤษ เมืองไทยประสบปัญหาน้ำท่วมจึงยกเลิกงานตัดสินใจอยู่ดูแลพ่อแม่แทน และนำเขาเข้าสู่เส้นทางนักกฎหมายอิสระผ่านโลกออนไลน์จนเข้าสู่สื่อกระแสหลัก

นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ของวีรพัฒน์ความเป็นมนุษย์ออนไลน์เริ่มตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตจุฬาฯที่มักส่งข้อเขียนไปโพสไว้ในเว็บไซต์ส่วนความ "เซลฟ์" หรือมั่นใจในตัวเอง มาจากสมัยเรียนที่เป็นนักโต้วาทีมหาวิทยาลัย และเป็นนักว่าความในศาลจำลองมหาวิทยาลัย เป็นประธานที่ประชุมวิชาการของนิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัย

จุดที่ "วีรพัฒน์" กระโจนเข้าสู่บทบาทนักกฎหมาย-นักวิชาการอิสระเต็มตัว หลังจากคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์

"ผมรับไม่ได้กับคำตัดสิน เลยส่งบทความจากปารีส แล้วมติชนลงให้ ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันพอจะมีคุณค่า พอเขียนบทความสื่อก็ตอบรับทั้งกระดาษ และสถานีโทรทัศน์ เลยคิดว่า ถ้าอยู่เมืองไทยแล้วมีคนเห็นประโยชน์ที่เราทำ ทำไมเราต้องไปทำประโยชน์ให้แต่ฝรั่งด้วย"

นอกจากสวมหมวกครอบบทบาทนักกฎหมายอิสระที่แสดงความเห็นผ่านสื่อหมวกอีกหนึ่ง ใบของวีรพัฒน์คือประกอบวิชาชีพกฎหมายให้คำปรึกษากฎหมายแก่บริษัทนักลงทุน หรือมีคดีความในศาลปกครองที่เป็นคดีที่น่าสนใจ เขาจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยร่างคำฟ้อง คำให้การ ส่วนเวลานอกเหนือการทำงานถูกนำไปใช้ในสิ่งที่รัก คือ งานวิชาการอิสระผ่านบทความออนไลน์และสื่อต่างๆ

คำถามคาใจที่ไม่ถามไม่ได้ คือแล้วทำไมแสดงทัศนะทางกฎหมายได้ทุกเรื่อง หรืออยากดัง?

"ผมเป็นคนหนึ่งที่เรียนกฎหมายมา แล้วอยากแสดงความเห็นในเรื่องที่ผมเรียนมา แต่ไม่เห็นหรือว่าผมพร้อมที่จะถูกคนด่า และพร้อมจะให้มุมมองแล้วให้สังคมไปเถียงกันต่อ คือ สิ่งที่ทำก็มีคนชื่นชมบ้าง แต่มันก็มีความริษยา หมั่นไส้"

"ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ที่ออกมาแสดงความเห็น โดยเฉพาะคนที่ยังอายุน้อย และไม่ได้มีตำแหน่งลาภยศ ไม่ได้เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัย ไม่ได้เป็นท่านรองอธิบดี แล้วออกมาแสดงความเห็นทำให้คนที่อยู่ในวงวิชาการบางคนอึดอัดที่จะเห็นคนที่เด็กว่าตัวเอง ไม่ได้เป็นอาจารย์ประจำ แล้วทำไมมาพูดแสดงความเห็นผ่านสื่อ"

"ผมก็รู้ว่าจะคิดแบบ เฮ้ย...หมอนี่รู้จริงเหรอ ไปออกรายการทีวีรู้จริงเหรอ ลักษณะแบบนี้ไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะต่อคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่เป็นปัญหาต่อทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศไทย คือเราแยกไม่ออกว่าอะไรที่ควรจะสนับสนุน กับอะไรที่ควรตักเตือนคัดค้าน"

วีรพัฒน์ ให้ความเห็นว่าการแสดงทัศนะทางกฎหมายในหลายประเด็นตั้งแต่ จำนำข้าว 3 จี แก้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นประเด็นว่า "เขารู้ทุกเรื่อง" แต่มีคอนเซ็ปต์เดียวเท่านั้นคือพูดในหลัก "กฎหมายมหาชน"

"ผมไม่พูดเรื่องเศรษฐศาสตร์ว่าข้าวดีไม่ดี ผมไม่พูดเรื่องมือถือว่าคลื่นเขาแบ่งยังไง ผมไม่รู้ และจะบอกนักข่าวทุกครั้งว่าอย่ามาถามผม ผมตอบไม่ได้ ผมจะตอบเฉพาะแก่นกฎหมายที่เรียนมา คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายระหว่างประเทศ แต่คนที่เป็นนักวิชาการอยู่ในมหาวิทยาลัยจะบอกว่า โอ๊ย...ทำไมคุณไปออกอย่างนี้ มากมาย"

สิ่งเหล่านี้เองที่ "วีรพัฒน์" บอกว่าต้องคิดใหม่

"สื่อโซเชี่ยลมีเดียมันเกิดขึ้นมา มันเป็นโอกาสทำให้ประชาธิปไตยมันเคลื่อนไปได้ มันทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่าย แล้วนักวิชาการคือแหล่งข้อมูล ถ้าคุณติดว่า ต้องไปกราบไหว้เชิญถึงจะมา ต้องทำงานวิจัย 500 หน้าถึงจะทำ แต่การเขียนความเห็นทางวิชาการ 2-3 หน้าที่เข้าใจง่ายๆ ไม่ทำ ผมว่าคุณต้องคิดใหม่"

แล้วรูปแบบนักวิชาการ นักกฎหมายอิสระในฝันเป็นอย่างไร?


"นักวิชาการต่างประเทศ อย่างอเมริกานิยมเขียนบทความรายวัน คล้ายๆ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตอนผมอยู่ฮาวาร์ด อาจารย์เขาไม่นั่งทำวิจัยกันเป็นเดือน แล้วเขียน 500 หน้า แต่เขาเขียนบทความ 2-3 แผ่นลงหนังสือพิมพ์ อาทิตย์ละครั้งสองครั้ง เพราะนั่นคือการขับเคลื่อนสังคมที่ดีที่สุด สื่อสารให้เข้าใจง่าย และต้องทันสมัย ไม่ใช่เรื่องนี้เขาเลิกเถียงกันไปนานแล้ว แต่คุณยังนั่งทำวิจัยถามว่าประชาชนนั่งอ่านทั้ง 500 หน้าไหม"

ยึดโมเดลนี้จึงอธิบายได้ว่า ทำไมจึงเห็นบทความและการแสดงทัศนะของ "วีรพัฒน์" ถี่ยิบ

"ผมใช้เวลาเขียนบทความลงเฟซบุ๊ก ลงอะไรที่อ่านสั้นๆ ง่ายๆ แต่มีสาระแน่น ผมอยากให้นักวิชาการท่านที่พอจะทำได้ทำบทบาทนี้มากขึ้น แทนที่คุณจะไปเขียนตำราไปเขียนวารสาร เขียนงานวิจัยให้กับรัฐ คุณมาเขียนสัก 2 แผ่น ลงสื่อช่วยกันคิดประเด็นที่ขับเคลื่อนสังคม แต่เมืองไทยนักวิชาการด้านกฎหมายไม่ค่อยมีออกมา มีบ้างก็ต้องรอประเด็นบิ๊กๆ เหมือนกับตัวเองแบบ...ต้องคู่ควร แต่ประเด็นรายวันไม่คู่ควรหรือ ต้องแบบรัฐประหารแล้ว ตัวเองต้องออกมา แต่ผมมองว่ากฎหมายอยู่ทุกที่ทุกมุม ดังนั้น นาซ่า ค้าข้าว โอลิมปิก ไอบ้า ผมเขียนเลย" (หัวเราะ)

อธิบายตัวเองในข้อหา "อยากดัง" แล้ว วีรพัฒน์ยังมีข้อหาอีกอย่างคือ เขาเป็น "เสื้อแดง"?

"คนบอกว่าผมเป็นเสื้อแดง เอาเป็นว่าหลายเรื่อง แนวทางของผมอาจไปตรงกับพรรคเพื่อไทย อันนี้ไม่ปฏิเสธเพราะมันมาในยุคสมัยที่ต้องการต่อสู้กับผลพวงของรัฐประหาร ซึ่งพรรคเพื่อไทยอาจจะอาศัยการต่อสู้นี้เป็นฐานเสียงเขา แต่เขาอาจอยากต่อสู้โดยความเป็นจริงก็ได้ นี่ผมไม่ทราบต้องดูกันต่อไป แล้ววันไหนที่พรรคเพื่อไทยเลิกต่อสู้กับรัฐประหาร ผมคงต้องไปต่อสู้กับเพื่อไทย" (หัวเราะ)

ดูเหมือนกระโจนเข้าสู่ประเด็นสาธารณะให้สังคมได้ถกเถียงประเด็นของเขามาระยะหนึ่งจนทำให้มีวัคซีนที่เรียกว่า"ภูมิคุ้มกันแอ๊บแบ๊ว"?

"การถูกจัดกลุ่มนั้นไม่มีปัญหาเป็นเรื่องปกติและคุณต้องทำใจไว้ด้วยถ้าคุณจะมาพูดเรื่องสาธารณะอย่าเป็นคนแอ๊บแบ๊ว คือ โดนคนวิจารณ์หน่อยไม่ได้ เมื่อคุณเป็นผู้ที่ต้องวิจารณ์คนอื่น แล้วทำไมคุณจะให้คนอื่นวิจารณ์คุณไม่ได้ แต่นักวิชาการที่ไม่วิจารณ์คนอื่น แต่ไปนินทาเสียดสีอย่างนี้เลิกเถอะ เพราะไม่ใช่ว่าคุณกำลังทำตัวเองให้น่าสงสารอย่างเดียว แต่คุณไปเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้ลูกศิษย์คุณด้วย แล้วลูกศิษย์คุณจะซึมซับเป็นวัฏจักรวงจรอุบาทว์ต่อไป"

นี่คือบางตัวตนของนักกฎหมายรุ่นใหม่ งานนี้ไม่ว่าอยากจะดัง หรือเป็นพรสวรรค์ในพรแสวง ต้องดูกันยาวๆ เพราะสุภาษิตจีน ที่บอกไว้ว่า "หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน" นั้นเป็นจริงเสมอ


ที่มา มติชนรายสัปดาห์



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น