อนุสนธิจากบทความของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง “เปลี่ยนประเทศไทยด้วยการรับจำนำข้าว” ในมติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 ผู้
เขียนทั้งสองคนขอให้ข้อเท็จจริงทั้งจากตัวเลขของหน่วยงานราชการ
และจากการวิจัยของผู้เขียน
เราทั้งสองเชื่อว่าการมีข้อเท็จจริงที่ถูกต้องจะนำไปสู่การกำหนดนโยบาย
สาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อชาวนาส่วนใหญ่
ประชาชนผู้เสียภาษีและภาคธุรกิจส่วนใหญ่
เรายังไม่กล้าหาญพอจะเสนอนโยบายที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยแบบ
อาจารย์นิธิ
เพราะหากข้อเสนอให้เปลี่ยนประเทศเกิดผิดพลาดและสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อ
ประเทศ เราไม่มีปัญญาและทรัพยากรพอจะแบกรับความเสียหายดังกล่าว
ก่อนอื่นขอชี้แจงจุดยืนส่วนตัวก่อนว่า เราทั้งสองต้องการให้มีนโนบายข้าวที่ประโยชน์ตกกับชาวนา “ทุกคน”
โดยเฉพาะชาวนาที่ยากจนจริงๆ โดยไม่สร้างความเสียหายใหญ่โตกับคนอื่นๆ
ในสังคม หรือถ้าเกิดต้นทุนต่อผู้เสียภาษีก็ต้องหาหนทางจำกัดต้นทุนดังกล่าว
เราเคารพกระบวนการทางการเมืองของระบบประชาธิปไตย
ในเรื่องการใช้คะแนนเสียงเลือกตั้งกำหนดนโยบาย
แต่เราต้องการประชาธิปไตยที่ดี
บทความของ อ.นิธิ มีหลายประเด็น แต่เราขอตอบเพียง 3
ประเด็น คือ
เรื่องแรกเป็นเรื่องข้อมูลอาจารย์นิธิข้องใจฝ่ายคัดค้านโครงการจำนำข้าวที่
ระบุว่าเงินจากโครงการจำนำข้าวไม่ตกถึงมือชาวนาเล็กที่ยากจน
เรื่องที่สองเกี่ยวข้องกับการให้รัฐเข้ามาแทรกแซงตลาดข้าวแทนกลไกตลาด
อาจารย์นิธิเห็นว่าการขาดทุนจากโครงการจำนำเป็นเรื่องเล็กน้อย
เพราะรัฐบาลตั้งใจขาดทุน
เพื่อปฏิรูปสังคมอ.นิธิจึงเสนอให้รัฐบาลต้องวางแผนระบายข้าวให้ดี
โดยการระบายข้าวตามจังหวะเพื่อรักษาตลาดข้าวไทย
และจำกัดการขาดทุนให้น้อยที่สุด รวมทั้งการเสนอให้รัฐบาลลงทุนเพิ่มมูลค่า
เช่น การแพคเกจจิ๊ง เป็นต้น เรื่องสุดท้ายซึ่งเป็นประเด็นหลัก คือ
อาจารย์นิธิเชื่อว่าโครงการรับจำนำข้าวมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการ
เมืองให้ชาวนาเพื่อการเปลี่ยนประเทศไทย
ประเด็นแรก
อาจารย์นิธิโต้แย้งผู้คัดค้านโครงการจำนำเรื่องที่ผู้คัดค้านโครงการจำนำ
เห็นว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่จากโครงการจำนำ
คือชาวนาฐานะปานกลางขึ้นไป กับโรงสี...โดยระบุว่า “ความเห็นนี้ไม่ได้มาจากการวิจัย แต่เป็นการประมาณการเท่านั้น”
ข้อมูลที่เราสองคนนำเสนอต่อสาธารณชนว่าผู้ได้ประโยชน์
ส่วนใหญ่ เป็นชาวนาปานกลางขึ้นไปกับโรงสี
มาจากข้อมูลจริงที่ได้จากหน่วยงานของรัฐและจากการวิจัย
ไม่ใช่การประมาณการอย่างเลื่อนลอยอันที่จริงการวิจัยก็ต้องอาศัยการประมาณ
การจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่
ข้อมูลชุดแรกในรูปที่ 1-ก และ 1-ข
มาจากผลการจ่ายเงินซื้อข้าวภายใต้โครงการรับจำนำของธนาคารเพื่อการเกษตรฯ
(ธกส.) โดยแยกแยะเงินจำนำที่ชาวนาได้รับจากการขายข้าวให้รัฐบาล
ตามวงเงินขายข้าวของชาวนาแต่ละราย ก็ปรากฏชัดเจนว่า
ชาวนารายเล็กที่มียอดขายข้าวไม่เกิน 2 แสนบาท (หรือขายข้าวเปลือกเจ้า 14
ตัน หรือขายข้าวหอมมะลิไม่ถึง 10 ตัน) มีจำนวนถึง 3.45 แสนราย
(ข้อมูลจำนำข้าวนาปรัง ณ วันที่ 16 กรกฏาคม 2555 ซึ่งค่อนข้างเก่า)
ได้เงินรวมกัน 32,636 ล้านบาท หรือร้อยละ 33
ของยอดเงินที่ชาวนาทุกคนได้รับจากการขายข้าวนาปรังให้รัฐบาล
ส่วนชาวนาปานกลางและรวยที่มีวงเงินขายข้าวตั้งแต่ 2
แสนบาทขึ้นไปซึ่งมีจำนวน 2.69 แสนราย กลับมียอดเงินขายข้าวสูงกว่ามากถึง
109,197 ล้านบาท
แต่นอกจากชาวนาที่ขายข้าวให้รัฐบาลโดยตรงแล้ว
ชาวนาที่ไม่ได้เข้าโครงการจำนำ
แต่ขายข้าวให้โรงสีก็ได้รับอานิสงค์จากการที่โครงการจำนำทำให้ราคาข้าว
เปลือกในตลาดสูงขึ้น เราจึงต้องคำนวณหาประโยชน์ทั้งสองส่วน
โชคดีที่สำนักงานสถิติแห่งชาติมีการสำรวจรายได้รายจ่ายของครัวเรือนโดย
ละเอียด และมีข้อมูลผลผลิตข้าวที่ครัวเรือนเกษตรกรเก็บเกี่ยวได้
รวมทั้งการบริโภคและการขายข้าว
เราจะสมมติว่าครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมดขายข้าวทั้งหมดที่ผลิตได้ให้รัฐบาลใน
ราคา 15,000 บาท (ซึ่งสูงกว่าราคาที่ชาวนาขายให้โรงสี)
แล้วซื้อข้าวสาร(ราคาถูก) บริโภค ผลปรากฏว่าชาวนายากจน (คือ
ชาวนาที่อยู่ในครัวเรือน 30% ที่มีรายได้ต่ำสุด)
ได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาระหว่าง ราคาจำนำ
กับราคาตลาดก่อนมีการจำนำเป็นสัดส่วนเพียง 18%
ชาวนาร่ำรวย(ซึ่งอยู่ในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด
30%ของครัวเรือนทั้งประเทศ) ได้ประโยชน์ 39% และชาวนาปานกลางได้ส่วนแบ่ง
42% (รูปที่
2)โปรดสังเกตว่าการแบ่งกลุ่มรายได้ของชาวนาเราใช้รายได้ของครัวเรือนไทยทั่ว
ประเทศ ไม่ใช่เฉพาะครัวเรือนชาวนา
อาจารย์ยังเข้าใจผิดว่าโรงสีไม่ได้กำไรอะไร
เพราะรัฐบาลจ่ายค่าจ้างสี 500 บาทค่ากระสอบและค่ารถซึ่งเป็นอัตราที่เท่าทุน
หรือบางโรงอาจจะบอกว่าขาดทุน
แต่อาจารย์คงไม่ทราบว่ารัฐบาลกำหนดอัตราสีแปรสภาพที่ใจดีกับโรงสีมาก
ปรกติการสีข้าวเปลือกเจ้า 1 ตันจะได้ต้นข้าว 500 กิโลกรัม
และผลผลิตอื่น(ปลายข้าว+รำข้าว) อีก 160 กิโลกรัม
แต่รัฐบาลกำหนดอัตราส่งมอบต้นข้าวขาว 5% เพียง 450 กิโลกรัม
โรงสีจึงได้รับแจกข้าวสาร (หรือกำไรพิเศษ) จากการร่วมโครงการเกือบ 50
กิโลกรัมต่อข้าวเปลือก 1 ตัน[1] หรือประมาณ 15,750 ล้านบาท (หรือ 825 บาทต่อตันข้าวเปลือก[2])
กำไรนี้ผู้เขียนยังไม่ได้ไปรวมถึงส่วนค่าจ้างของโรงสี 21,382 ล้านบาท
จึงไม่น่าแปลกใจที่มีโรงสีจำนวนมากอยากเข้าโครงการ
และลงทุนขยายกำลังการผลิตนอกจากนี้ยังมีพ่อค้าบางรายที่สามารถซื้อข้าวจาก
รัฐในราคาถูกกว่าราคาประมูลโดยการรับจ้างทำข้าวถุงให้รัฐ
หรืออาศัยนายหน้าที่มีอิทธิพลทางการเมือง
เรากำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อประมาณการกำไรดังกล่าวซึ่งล้วนมาจากเงินภาษีอากร
จากประชาชน
สำหรับประเด็นที่สองของอาจารย์นิธิที่ว่า
การขาดทุนจากโครงการจำนำข้าวเป็นเงินเล็กน้อย และเป็นการขาดทุนโดยตั้งใจ
เพราะฉะนั้นจึงสามารถบริหารจัดการได้ เราขอแยกเป็น 3
เรื่อง คือ (ก) เราเห็นว่าการขาดทุน(ซึ่งไม่น่าจะต่ำกว่า1.73 แสนล้านบาท)
ไม่ใช่เรื่องเล็กเพราะเงินมีต้นทุนเสียโอกาส
ขณะนี้ปรากฏข้อเท็จจริงแล้วว่าโครงการจำนำข้าวเริ่มเกิดผลกระทบทางการคลัง
ต่อโครงการสำคัญอื่นๆที่เป็นนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ เช่นงบประมาณของโครงการ
30 บาทรักษาทุกโรคถูกจำกัดไว้เท่าเดิมใน 3 ปีข้างหน้า
ส่วนอีกสองเรื่องขอให้หาอ่านจากเว็บไซต์ทีดีอาร์ไอ ได้แก่ (ข)
ความเห็นที่ว่าโครงการจำนำด้วยราคาสูง เป็นการปฏิรูปสังคม
ชาวนาจะนำเงินขาดทุนไปลงทุนสร้างเนื้อสร้างตัว
เป็นเพียงการคาดเดาของอาจารย์นิธิ
อาจารย์เองก็บอกว่าชาวนาได้ปรับตัวแก้ปัญหาความจนโดยการออกไปทำงานนอกภาค
เกษตร
แต่ขณะนี้การจำนำกำลังดึงดูดแรงงานที่อยู่นอกภาคเกษตรให้กลับเข้ามาทำนา
ยิ่งกว่านั้นโครงการนี้จะเลิกยาก
ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินสงเคราะห์ชาวนาและโรงสีที่มีฐานะซึ่งจะก่อภาระการคลัง
หนักขึ้น แต่รัฐกลับละเลยชาวนายากจน (ค)
อาจารย์นิธิเสนอให้รัฐบาลต้องวางแผนระบายข้าวให้ดีเพื่อให้ขาดทุนน้อยที่สุด
ในบทความฉบับยาว
เราได้เปรียบเทียบผลงานการระบายข้าวของรัฐบาลที่เป็นระบบพรรคพวก และล้มเหลว
กับกระบวนการผลิตและการค้าข้าวซึ่งควบคุมด้วยกลไกตลาด
ที่ชักนำให้เกิดวิวัฒนาการมาจากการเรียนรู้ร่วมกันของชาวนาและผู้ประกอบการ
หลายฝ่าย จึงมีพลังเหนือกลไกรัฐ
(ก) ขาดทุนเป็นเรื่องเล็กน้อย:อาจารย์
นิธิอ้างตัวเลขของนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่ง ที่ระบุว่าการขาดทุนไม่เกิน
50,000 ล้านบาท แต่ดูเหมือนอาจารย์คงไม่ค่อยเชื่อตัวเลขนี้
จึงเพิ่มตัวเลขขาดทุนให้อีกเท่าตัว กลายเป็น 100,000 ล้านบาท
แล้วบอกว่าขาดทุนแค่นี้ไม่เป็นไร เพราะเรามีงบแผ่นดินปีละหลายล้านล้านบาท
เพราะถ้าหากช่วยแล้ว
ชาวนานำเงินดังกล่าวไปสร้างเนื้อสร้างตัวก็จะเป็นผลดีต่อชาวนาในระยะยาว
ประเด็นหลังนี้เป็นการคาดคะเนของอาจารย์นิธิ
ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลวิเคราะห์ในภายหลัง
แต่ประเด็นสำคัญกว่า คือ เงินขาดทุนจำนวน 1 แสนล้านบาทไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อย[3]
อย่างที่อาจารย์คิด
เพราะเงินก้อนนี้มีต้นทุนเสียโอกาสที่กระทบต่อการทำนโยบายอื่นที่สำคัญของ
รัฐบาลชุดนี้
ขณะนี้ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าการใช้เงินจำนวนมากในโครงการจำนำข้าวเริ่มเกิด
ผลกระทบทางการคลังต่อโครงการสำคัญอื่นๆ เช่นงบประมาณของโครงการ 30
บาทรักษาทุกโรคถูกจำกัดไว้เท่าเดิมใน 3 ปีข้างหน้า
เม็ดเงินงบประมาณแท้จริงที่ใช้รักษาพยาบาล จะลดลงตามภาวะเงินเฟ้อ
ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งปริมาณและคุณภาพของบริการรักษาโรคของประชาชนทั้ง
ประเทศ
ผู้ที่สนับสนุนแนวคิดของอาจารย์นิธิอาจแย้งว่าถ้าชาวนาเอาเงินไปสร้างเนื้อ
สร้างตัวได้สำเร็จโดยทำงานนอกภาคเกษตร (ดูประเด็นนี้เพิ่มเติมข้างล่าง)
ก็คุ้มค่า แต่นั่นเป็นเพียงการคาดเดา
นอกจากนั้นเงินกู้ที่นำมาใช้ในการจำนำอย่างไม่จำกัดจำนวน
เริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในโครงการเงินกู้อื่นๆของรัฐบาลแล้ว
ในปีงบประมาณ 2555/56
รัฐบาลจะมีภาระค้ำประกันหนี้จากโครงการจำนำพืชผลเกษตรเป็นจำนวน 3.17
แสนล้านบาท หรือ 66% ของการค้ำประกันหนี้สาธารณะและการให้กู้ต่อเป็นเงินบาท[4]
ทำให้รัฐบาลมีวงเงินที่จะค้ำประกันการก่อหนี้สาธารณะเพื่อนำไปใช้ในโครงการ
อื่นๆ ตามนโยบายของรัฐบาลเพียง 34% เช่น
โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจำนวน 2.7 ล้านๆบาท เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป คือ
เงินขาดทุนจากการจำนำข้าวมีต้นทุนเสียโอกาส
ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจารย์นิธิมีความเข้าใจมากกว่านักเศรษฐศาสตร์บางคนเสีย
อีก ถ้าจำไม่ผิดอาจารย์เคยเขียนอธิบายเรื่องนี้ไว้ในอดีต
ยิ่งกว่านั้นเงินกู้ที่รัฐบาลนำมาใช้ในโครงการจำนำ
ยังเป็นเงินนอกงบประมาณที่อยู่นอกเหนือกระบวนการพิจารณางบประมาณประจำปีของ
รัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย
(ข) การปฏิรูปสังคมชาวนา:
เราเห็นด้วยกับบทวิเคราะห์ของอาจารย์นิธิเรื่องชีวิตของชาวนาไทยว่าปัจจุบัน
ชาวนาได้หลุดออกไปเป็นแรงงานประเภทต่างๆซึ่งเป็นปรากฏการณ์ปกติที่เกิดขึ้น
ในการพัฒนาของทุกประเทศ
ข้อมูลการสำรวจรายได้-รายจ่ายครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติก็ยืนยันว่า
ครอบครัวชาวนามีรายได้ที่หลากหลายทั้งจากการส่งลูกหลานไปทำงานนอกภาคเกษตร
และทำงานเกษตรอื่นๆที่มีรายได้สูงกว่าการทำนา
(ดูข้อมูลเรื่องการอบรมผู้สื่อข่าว ในเว็บไซต์ของทีดีอาร์ไอ 22 พย. 2555)
ขณะเดียวกันผลผลิตข้าวกลับเพิ่มมากขึ้นจากการที่ชาวนาหาทางเพิ่มผลผลิตต่อ
ไร่ ทำให้ไทยมีผลผลิตข้าวเหลือส่งออกมากขึ้นมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
แต่เราขอตั้งข้อสงสัยกับความเห็นที่ว่าอาจเป็นไปได้ที่ชาวนาจะนำเงินขายข้าวในราคาจำนำ 15,000 บาทไปทำอาชีพอื่นๆมากกว่าการทำนา
ตรงกันข้าม
การกำหนดราคาจำนำข้าว15,000บาทกำลังดึงดูดแรงงานที่อยู่นอกภาคเกษตรให้กลับ
เข้ามาทำนา รวมทั้งการเปลี่ยนพื้นที่เกษตรที่ใช้ปลูกพืชชนิดอื่น
มาปลูกข้าวแทนเพราะปลูกข้าวได้รายรับมากกว่า
ถ้าเช่นนั้นเงินสงเคราะห์ชาวนาก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย
กลุ่มชาวนาที่มีฐานะก็จะกดดันไม่ให้รัฐบาลเลิกโครงการรับจำนำ
(จนกว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แล้วเราต้องไปกู้เงินไอเอ็มเอฟ
และถูกบังคับให้ตัดรายจ่ายแบบที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540-41
และเพิ่งเกิดขึ้นในกรีก)
ทำไมเราถึงต้องเอาเงินจำนวนมหาศาลไปโอบอุ้มพ่อค้าและชาวนาที่มีฐานะ
แต่ละเลยไม่เหลียวแลชาวนายากจน (แม้คำนี้จะมีปัญหานิยามก็ตาม)
ที่ไม่สามารถปรับตัวออกจากความยากจนของภาคเกษตร
(ซึ่งเราประมาณการจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติว่ามีจำนวนประมาณ 1
ล้านครัวเรือนในปี
2554โดยนับครัวเรือนชาวนาที่มีรายได้อยู่ในกลุ่มครัวเรือน 20
%ที่มีรายได้ต่ำที่สุด)
(ค) ข้อเสนอให้รัฐเข้ามาแทรกแซงตลาดข้าวแทนกลไกตลาด โดยการวางแผนระบายข้าวให้ขาดทุนน้อยที่สุด[5]:ก่อน
อื่นเราขอเปิดเผยว่าเรามีอคติต่อการแทรกแซงของรัฐที่เกิดขึ้นจากการคิดไปทำ
ไปของผู้กำหนดนโยบายไม่กี่คน เราทั้งสองไม่ได้หลงคลั่งไคล้ในกลไกตลาด
แต่เราไว้ใจกลไกตลาดที่วิวัฒนาการมาจากการเรียนรู้ร่วมกันของชาวนาและผู้
ประกอบการหลายฝ่ายจะมีพลังเหนือกลไกรัฐ
ก่อนที่จะมีการจำนำข้าวทุกเม็ด
กระบวนการผลิตและการค้าข้าวของไทยถูกกำหนดโดยกลไกตลาด
จนช่วยให้ประเทศไทยสามารถผลิตข้าวที่มีคุณภาพสูงที่สุด
แถมยังมีผลผลิตส่วนเกินส่งออกไปเลี้ยงพลเมืองทั่วโลก รวมทั้งประเทศที่ยากจน
ทุกคนที่อยู่ในกระบวนการผลิตและค้าข้าวมีบทบาทในการปรับปรุงและควบคุมคุณภาพ
ข้าว และได้รับผลตอบแทนเป็นสัดส่วนกับต้นทุนและหยาดเหงื่อแรงงานของตน
ชาวนาพยายามลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลิตภาพการผลิตไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือก
พันธุ์ข้าวที่ดี การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
มีการรวมกลุ่มเพื่อหาหนทางการใช้ปุ๋ยสั่งตัดที่เกิดประสิทธิภาพ
การรวมกลุ่มเพื่อผลิตข้าวอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีเกษตร
และผลิตพันธุ์ข้าวคุณภาพที่รายได้ราคาดี ฯลฯ
แต่การจำนำข้าวกำลังทำลายกระบวนการเหล่านี้
บัดนี้ชาวนาพยายามเพิ่มผลผลิตข้าวให้มากที่สุดโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพข้าว
มีการเพิ่มรอบการผลิตโดยการหาเมล็ดพันธุ์อายุสั้น (เป็นข้าวคุณภาพต่ำ)
มีการใช้ปุ๋ยใช้ยาฆ่าแมลงเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตกำลังพุ่งขึ้นตามราคาจำนำ
15,000 บาท ราคาจำนำจึงเป็นตัวกำหนดต้นทุนการผลิต
และต้นทุนคงไม่ลดลงเมื่ออุปสงค์สมดุลกับอุปทานอย่างที่อาจารย์นิธิให้ความ
เห็น
ภายใต้กลไกตลาดที่ต้องแข่งขันกันโรงสีมีการปรับปรุง
ประสิทธิภาพการสีข้าวให้สูงขึ้น
โดยการเลือกซื้อข้าวเปลือกที่มีคุณภาพ(ทำให้ชาวนาต้องผลิตข้าวคุณภาพ)
สร้างไซโลอบข้าวแทนเกษตรกรที่ไม่มีพื้นที่ตากข้าวเปลือก
ลงทุนในเครื่องสีข้าวที่มีประสิทธิภาพ พื้นที่ใดที่มีข้าวมาก
ก็จะมีโรงสีเข้ามาแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งโรงสีเพิ่ม
หรือเข้าไปเปิดจุดรับซื้อ ก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเต็มที่
ทำให้เกษตรกรไม่ถูกกดราคา โรงสีที่อยู่รอดจึงต้องมีประสิทธิภาพสูง
มีฝีมือในการคัดเลือกข้าวและความสามารถในการเก็งกำไรราคาข้าว
แต่การจำนำลดแรงกดดันจากการแข่งขันให้กับโรงสี
โรงสีกลายมาเป็น “ลูกจ้าง”
ของรัฐบาลที่ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าค่าตอบแทนจากการแข่งขัน
การจำกัดจำนวนโรงสีทำให้โรงสีมีอำนาจผูกขาดเหนือเกษตรกร ในช่วงนี้
ชาวนาในภาคอีสานกำลังเกี่ยวข้าว
แต่ปรากฏว่าชาวนาจำนวนมากกลับต้องยอมขายข้าวหอมมะลิให้โรงสีในราคา
14,000-15,000 บาทต่อตัน แทนที่จะขายให้รัฐบาลในราคา 20,000 บาท
เพราะนอกจากจะมีโรงสีในโครงการเป็นจำนวนน้อยแล้ว ถ้าชาวนาขายข้าวให้รัฐบาล
ชาวนายังต้องรอรับใบประทวนจากโรงสีนานถึง 10-14 วัน
เพราะมีกระบวนการเตะถ่วงในการออกในประทวน
ยิ่งกว่านั้นโรงสีในภาคอื่นที่ต้องการข้ามเขตไปซื้อข้าวในอีสานยังถูกโรงสี
ท้องถิ่นรวมหัวกีดกันไม่ให้จังหวัดออกใบอนุญาติ
ลงท้ายโรงสีในภาคอื่นก็ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่เพื่อได้ใบอนุญาติ
ข้ามเขต
ผิดกับในระบบตลาดที่โรงสีสามารถข้ามเขตไปแข่งแย่งซื้อข้าวในพื้นที่ใดก็ได้
การจำนำกำลังส่งเสริมการวิ่งเต้นและสร้างอำนาจผูกขาดให้กับกลุ่มโรงสีกลาย
ป็นกลุ่มล๊อบบี้ที่มีพลังทางการเมืองมากขึ้น
แต่ทำลายโรงสีชุมชนและวิสาหกิจชุมชนที่รัฐบาลเพียงพยายามสนับสนุนมานานด้วย
นโยบายเอสเอ็มแอล ตัวอย่างเช่น โรงสีชุมชนในตำบลเจดีย์หัก
จังหวัดราชบุรีที่เคยมีชาวบ้านนำข้าวมาสีเดือนละ 100 ตัน
ตอนนี้มีข้าวสีเพียง 10 ตันต่อเดือนวิสาหกิจชุมชนของกลุ่มที่ผลิตพันธุ์ข้าว
และสร้างผลิตภัณฑ์ข้าวงอก รวมทั้งจัดให้มีสวัสดิการชุมชนกำลังล่มสลาย
เราทราบว่ามีโรงสีชุมชนจำนวนมากทั่วประเทศ แต่เรายังไม่มีสถิติที่ชัดเจน
ในกระบวนการค้าตามระบบตลาด
พ่อค้าส่งออกไทยสร้างขีดความสามารถในการส่งออกข้าวจนไทยกลายเป็นผู้ส่งออก
ข้าวรายใหญ่ที่สุด และเป็นข้าวที่มีคุณภาพดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิ
หรือข้าวนึ่งที่ได้ราคาสูงกว่าข้าวขาวธรรมดา
(ทั้งๆที่ใช้ข้าวเปลือกชนิดเดียวกัน)
พ่อค้าแต่ละรายมีความชำนาญในตลาดข้าวแต่ละประเภท (เช่น ข้าวนึ่ง ข้าวหอม)
และแต่ละประเทศ (เช่น บางบริษัทเก่งส่งออกไปมาเลเซีย
ขณะที่อีกบริษัทถนัดส่งข้าวไปอิหร่านหรือไนจีเรีย)
ความชำนาญนี้มาจากการเรียนรู้มานานนับปี แต่รัฐบาล (โดยเฉพาะคุณทักษิณ)
เชื่อว่าจะสามารถควบคุมผูกขาดตลาดส่งออกได้
ทว่าผลการระบายข้าวของรัฐตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมา
แสดงว่ารัฐสามารถระบายข้าวทั้งในและนอกประเทศแค่1.46 ล้านตัน
(ตามคำพูดของนายกรัฐมนตรีในรายการยิ่งลักษณ์พบประชาชนเมื่อต้นเดือนตุลาคม
2555) ทั้งๆที่รัฐบาลมีข้าวสารอยู่ในมือถึง 13 ล้านตัน ผลก็คือ
ตัวเลขการส่งออกข้าวของไทยตั้งแต่มีการจำนำข้าวในเดือนตุลาคม 2554
ถึงสิ้นกันยายน 2555 มีเพียง 6.7 ล้านตัน ลดลงจาก 12.13 ล้านตัน
ในช่วงตุลาคม 2553- กันยายน 2554 (ก่อนการจำนำข้าว)
(ดูรายละเอียดในเอกสารการอบรมผู้สื่อข่าวเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2555
ในเวปไซต์ของทีดีอาร์ไอ)
อันที่จริงประวัติความพยายามผูกขาดการส่งออกข้าวล้มเหลว
มาตั้งแต่สมัยคุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี บริษัทเพรสซิเด้นท์อะกริฯ
สามารถประมูลข้าวของรัฐ 2 ครั้ง รวมกว่า 2 ล้านตัน
แต่บริษัทกลับประสบปัญหาไม่สามารถส่งออกได้ทั้งๆที่มีการขอแก้สัญญาหลังการ
ประมูลจนทำให้วุฒิสภาต้องตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวนและตีพิมพ์รายงานออกมา
ต่อมาบริษัทนี้ประสบปัญหาไม่สามารถชำระหนี้แก่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง
ในเวลาต่อมาผู้บริหารของบริษัทนี้หันมาตั้งบริษัทใหม่และได้สัญญาขายข้าวให้
อินโดนีเซีย
แต่หนังสือพิมพ์รายงานว่ารัฐบาลอินโดนีเซียไม่ยอมรับข้าวบางส่วน
เพราะปัญหาด้านคุณภาพ นี่คือ เหตุผลที่เวลานี้
เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มเปลี่ยนท่าทีหันมาขอความร่วมมือจากสมาคมผู้ส่งออกข้าว
ไทยในการส่งออกข้าวหอมมะลิ ขณะที่สมาคมฯขอเจรจาส่งออกข้าวหอมเพียง 2 แสนตัน
เจ้าหน้าที่รัฐบางคนกลับให้ข่าวว่าจะมีการส่งออกข้าวหอมมะลิแบบ ex-factory
7 แสนตัน คำถามคือ ส่วนต่างนี้รัฐจะมอบให้ใคร
หลักเกณฑ์การขายจะเป็นอย่างไร
ดูเหมือนกระทรวงพาณิชย์ยังละเลยมิได้ประกาศหลักเกณฑ์นี้ให้ประชาชนได้รับ
ทราบทั้งๆที่คณะรัฐมนตรีมีความเห็นชอบกับข้อเสนอของรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง
ตามหนังสือเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2555
ขณะเดียวกันกลับปรากฏข้อเท็จจริงบางอย่างว่ามีพ่อค้าบาง
รายสามารถซื้อข้าวของรัฐบาลได้ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด
จนกลายมาเป็นคู่แข่งรายใหม่ในตลาดค้าส่งข้าวสารถุงในประเทศ
แต่เป็นคู่แข่งที่มีต้นทุนข้าวต่ำกว่าพ่อค้าที่ไม่มีเส้นสายการเมือง
นอกจากนั้นยังปรากฏว่าทุกวันนี้มีการส่งออกข้าวนึ่ง
เช่นในช่วงเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง ระหว่างเดือนเมษายน ถึงกันยายน 2555
ไทยสามารถส่งออกข้าวนึ่งจำนวน 1.06 ล้านตัน โดยหลักการแล้ว
ไทยจะต้องไม่มีข้าวนึ่งส่งออก เพราะรัฐบาลซื้อข้าวเปลือกนาปรังทั้งหมด
(14.8 ล้านตัน) สั่งสีแปรสภาพเป็นข้าวสารภายใน 7 วันและส่งเข้าโกดังกลาง
แต่ข้าวนึ่งจะต้องนำข้าวเปลือกมานึ่งก่อน คำถาม คือ
มีนายหน้าที่มีอิทธิพลคนใดที่สามารถสั่งให้โรงสีในโครงการจำนำส่งข้าวเปลือก
ในโครงการจำนำไปให้โรงสีของผู้ส่งออก ถ้ารัฐขายข้าวเปลือกให้ผู้ส่งออก
ทำไมจึงจึงไม่ปรากฏในตัวเลขการระบายข้าวของรัฐ ทำไมนายกรัฐมนตรีจึงไม่ทราบ
เพราะตัวเลขการระบายข้าว 1.46
ล้านตันที่ท่านแถลงในรายการนายกฯพบประชาชนไม่มีข้อมูลการขายข้าวเปลือกจำนวน
มาก ถ้ามีการขายข้าวเปลือก ได้เงินเท่าไร เงินอยู่ที่ไหน
รัฐบาลจ่ายค่าจ้างสีข้าวให้โรงสีที่แอบส่งข้าวเปลือกไปให้ผู้ส่งออกข้าว
หนึ่งหรือเปล่า และมีข้าวสารในโกดังกลางหรือเปล่า หรือมีแต่ลมอยู่ในโกดัง
ฯลฯ
ระบบค้าขายข้าวของรัฐบาลทุกวันนี้กำลังกลายเป็นระบบพรรค
พวกที่อาศัยอิทธิพลทางการเมือง มีการร่วมกันปิดบังข้อมูลมิให้คนอื่นรู้
ฉะนั้นข้อเสนอของอาจารย์นิธิให้รัฐบาลวางแผนระบายข้าวเพื่อให้ขาดทุนน้อยที่
สุด คงไม่มีวันเกิดขึ้นจริง
ประเด็นเล็กๆ อีกประเด็นหนึ่ง คือ
อาจารย์นิธิเสนอให้รัฐลงทุนเพิ่มมูลค่า เช่นการแพคเกจจิ้ง
ไปจนถึงผ่านกระบวนการรักษาคุณภาพให้คงทน
เท่ากับโครงการรับจำนำช่วยเปิดตลาดข้าวระดับสูงไปพร้อมกันโดยร่วมมือกับผู้
ส่งออกเอกชน
การเพิ่มมูลค่า การแพคเกจจิ๊ง การเปิดตลาดข้าวระดับสูง
เป็นเรื่องที่ภาคเอกชนไทยทำกันมานานแล้วและประสบความสำเร็จมาก
จนข้าวไทยมีคุณภาพสูงสุด และได้รับการยอมรับทั่วโลก
หากท่านผู้อ่านเคยร่วมงานแสดงการค้าข้าวระหว่างประเทศ
หรือเคยเดินดูข้าวที่ขายคนมีเงินในห้างพารากอน
ก็จะเห็นการบรรจุหีบห่อข้าวไทยที่ดูแล้วนึกว่ามาจากต่างประเทศ ตรงกันข้าม
ถุงข้าวธงฟ้าเทียบไม่ได้กับถุงข้าวหงษ์ทอง
ยิ่งกว่านั้นการจำนำกำลังทำลายตลาดข้าวคุณภาพของไทย
รัฐรับจำนำข้าวหอมมะลิมาเก็บไว้ในโกดังนานเป็นปี
แค่เก็บข้าวหอมไว้นานสามเดือน สารระเหยความหอมก็หมดไป
ขณะนี้บริษัทส่งออกข้าวที่เก่งที่สุดของไทยเกือบทุกราย
(ที่เก่งเรื่องเพิ่มมูลค่า และทำแพคเกจจิ๊ง)
กำลังผันตัวเองไปทำธุรกิจค้าข้าวที่เขมร และประเทศเพื่อนบ้าน
เพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า และกำไรมากกว่าการทำธุรกิจในประเทศ
หากรัฐยังคงจำนำข้าวต่อไปอีก 1-2 ปี แล้วเลิกโครงการ
พ่อค้าเหล่านี้คงไม่หวนกลับมาทำธุรกิจในประเทศอีก
โครงการจำนำข้าวจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย
จากระบบการค้าขายที่อาศัยการแข่งขันบนความสามารถ ไปเป็นตลาดของพรรคพวก
ขณะเดียวกันชาวนากำลังเร่งผลิตข้าวคุณภาพต่ำเป็นจำนวนมากที่สุด
โดยอาศัยสารเคมีการเกษตรที่จะทำลายระบบนิเวศเกษตรเรากำลังสร้างกลุ่มโรงสี
ที่มีพลังต่อรองทางการเมือง
แต่ทำลายกลุ่มเกษตรกรที่รัฐเพียรพยายามสนับสนุนมาเป็นเวลานานระบบการผลิตและ
การค้าข้าวที่ดีที่สุดจะหมดไป
นี่หรือครับ การเปลี่ยนประเทศไทย
ประเด็นที่สามซึ่งเป็นประเด็นหลักในบท
ความของอาจารย์นิธิ คือ
อาจารย์เชื่อว่าโครงการรับจำนำข้าวจะมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการ
เมืองให้ชาวนาเพื่อการเปลี่ยนประเทศไทย
งานวิจัยหลายชิ้นที่พยายามพยากรณ์ความต้องการข้าวในตลาด
ต่างๆ ต่างก็มีข้อสรุปเหมือนกันว่า
ปริมาณการบริโภคข้าวต่อหัวในเอเซียมีแนวโน้มลดลง
เนื่องจากรายได้ของคนเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
แต่เงินที่ใช้ในการซื้อข้าวมิได้ลดลงตาม ซึ่งชี้ให้เห็นว่า
คนเอเชียเริ่มต้องการบริโภคข้าวที่มีคุณภาพสูงขึ้น
ในเรื่องนี้ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดี
การบริโภคข้าวหอมมะลิในประเทศได้พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก
ขณะที่ปริมาณการบริโภคข้าวโดยทั่วไปสูงขึ้นในอัตราที่ต่ำ
เพราะประชากรไทยเพิ่มขึ้นน้อย และการบริโภคข้าวต่อหัวลดลง
ในเมื่ออนาคตจะเป็นเช่นนี้
ย่อมหมายความว่ายุทธศาสตร์ที่ฉลาดสำหรับประเทศไทยจึงน่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่
สนับสนุนการผลิตข้าวคุณภาพดีทั้งสำหรับตลาดภายในและตลาดต่างประเทศ
ความจริงแล้ว
กระบวนการผลิตและค้าข้าวของไทยได้ประสบความสำเร็จในการยกระดับคุณภาพข้าวมา
และจากชื่อเสียงของข้าวไทย
ตลาดต่างประเทศก็พร้อมที่จะให้ข้าวไทยได้ราคาสูงกว่าข้าวของประเทศอื่นๆ
แต่นโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดในปีที่ผ่านมากำลังคุกคามชื่อเสียงของข้าวไทยใน
ตลาดต่างประเทศ (และแม้กระทั่งในประเทศ) ทั้งนี้
เพราะชื่อเสียงและคุณภาพข้าวไทยมิได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ
แต่จากกระบวนการผลิตและค้าข้าวไทยที่ชาวนา โรงสี
และพ่อค้าส่งออกได้ร่วมกันสร้างมาแต่อดีต
และที่อาศัยกลไกตลาดเป็นเครื่องมือ
กระบวนการดังกล่าวนี้มีความละเอียดอ่อนพอสมควร สามารถแยกแยะเกรดข้าวต่างๆ
เช่นสามารถแยกแยะแม้กระทั่งข้าวหอมมะลิจากจังหวัดต่างๆ ได้
กระบวนการดังกล่าวกำลังถูกกวาดล้างออกไปโดยนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดซึ่งหยาบ
กว่า ด้วยเหตุนี้
ชาวนาไทยจึงเริ่มหันไปปลูกข้าวที่เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ
ยิ่งถ้าดูในตลาดต่างประเทศแล้วความล้มเหลวของรัฐบาลในการระบายข้าว
รวมทั้งข้าวหอมมะลินั้นเป็นประจักษ์พยานอย่างชัดเจนว่าต่อไปนี้ชื่อเสียงของ
ข้าวไทยนั้นจะเป็นเรื่องอดีต
ตราบใดที่การรับจำนำข้าวทุกเมล็ดจะยังเป็นนโยบายของรัฐบาลไทย
ที่เราให้ความสำคัญแก่ประเด็นนี้ ซึ่งดูเผินๆ
แล้วดูจะเป็นประเด็นไม่ใหญ่นัก เมื่อเทียบกับ
“อะไรที่มีความสำคัญสุดยอดในการเปลี่ยนประเทศไทย”
ที่อาจารย์นิธิเห็นในนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน
ที่อาจารย์นิธิให้ความสำคัญก็คือการสร้าง
“ความเข้มแข็งทางการเมืองให้แก่ชาวนา”
เราไม่ปฏิเสธคำพยากรณ์ของอาจารย์นิธิว่า
“หากดำเนินนโยบายนี้ต่อไปอีกสักสองสามปี
จะไม่มีรัฐบาลไหนกล้าเลิกโครงการนี้เป็นอันขาด” แต่เรามีคำถามว่า
ถ้าความเข้มแข็งทางการเมืองของชาวนาตั้งอยู่บนความอ่อนแอของเศรษฐกิจการผลิต
และค้าสินค้าที่มีความสำคัญสูงสำหรับประเทศชาติ
จะมิหมายความว่าอุตสาหกรรมข้าวโดยรวม (ไม่ว่าจะเป็นชาวนาร่ำรวย หรือ
ชาวนาที่ “ยากจน” โรงสี และพ่อค้าที่มีเส้นสายการเมือง)
จะต้องพึ่งเงินสงเคราะห์จากรัฐบาลอยู่ร่ำไปอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกาและยุโรป
หรือ??? (อนึ่ง
นโยบายอุ้มภาคเกษตรในประเทศเหล่านี้ได้ทำให้พื้นที่การเกษตรตกอยู่ในมือของ
นักลงทุนที่ร่ำรวยมากๆ ที่มารวบซื้อที่ดินจากเกษตรกรเดิมๆ
เพื่อตักตวงเงินอุดหนุนจากรัฐบาล
ความเข้มแข็งทางการเมืองของเกษตรกรในประเทศเหล่านี้มาจากนักลงทุนที่มารวบ
ซื้อที่ดินเกษตรกรรม
ขณะนี้ก็ปรากฏหลักฐานว่ามีบริษัทยักษ์ใหญ่ไทยบางแห่งได้กว้านซื้อที่ดินการ
เกษตรเป็นจำนวนมาก)
“ความเข้มแข็งทางการเมืองของชาวนา”
ที่เราเห็นในบทส่งท้ายของอาจารย์นิธินั้น
เราก็เห็นว่าเกิดจากการที่ชาวนาใช้อำนาจหย่อนบัตรในการเลือกตั้ง
เลือกพรรคการเมืองที่สัญญาว่าจะให้ผลทันทีต่อตน
ข้อนี้เป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยแบบประชานิยมที่กำลังเป็นชุดนโยบาย
มาตรฐานของทุกพรรคการเมืองในปัจจุบัน เสน่ห์ของประชาธิปไตยแบบนี้
คือทำให้เกิดนโยบายที่บรรลุผลทันตาเห็น
เราไม่ปฏิเสธว่าชาวนาเกือบทุกคนได้ราคาข้าวตามที่รัฐบาลสัญญาไว้
แต่ที่เราวิตกมากก็คือ ผลเสียต่างๆ
ที่เกิดขึ้นจากนโยบายนี้ทั้งแก่อุตสาหกรรมข้าวและสภาพการเงินการคลังของ
รัฐบาล จะมิได้รับการกล่าวถึง
เพราะมิได้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่รัฐบาลสัญญาไว้
ยิ่งถ้าเป็นเรื่องระยะยาวหรือเป็นเรื่องของกลไก “หลังจอ” แล้ว
ก็จะถูกกลบโดยเสียงไชโยในความสำเร็จ กว่าผลเสียต่างๆ จะปรากฏ
ประชาชนจะไม่สามารถเชื่อมโยงผลเสียกับนโยบายที่ผิดพลาดตั้งแต่ต้นได้
กระบวนการเรียนรู้ที่สังคมโดยรวมควรจะได้ก็จะไม่เกิดขึ้น
สิ่งที่เราพยายามยกเรื่องเหล่านี้มาวิพากษ์วิจารณ์ก็ด้วยความเป็นห่วงในจุด
บอดของประชาธิปไตยแบบประชานิยมที่กำลังเป็นแนวนโยบายของทุกรัฐบาลในประเทศ
ไทย และเป็นห่วงอนาคตข้าวไทย ประชาธิปไตยที่ดี
ไม่ใช่แค่ประชาธิปไตยที่กินได้เท่านั้น
แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยที่มีความรับผิดต่อความเสียหายที่จะเป็นผลพวงตามมา
ตลอดสาย
------------------------------------------
รูปที่ 1-ก มูลค่าเงินจำนำข้าว และจำนวนชาวนาในโครงการจำนำ
จำแนกตามวงเงินจำนำต่อราย นาปี 2554/55 (16 กรกฏาคม2555)
จำแนกตามวงเงินจำนำต่อราย นาปี 2554/55 (16 กรกฏาคม2555)
รูปที่ 1-ข มูลค่าเงินจำนำข้าว และจำนวนชาวนาในโครงการจำนำ
จำแนกตามวงเงินจำนำต่อราย นาปรัง 2555 (16 กรกฏาคม 2555)
จำแนกตามวงเงินจำนำต่อราย นาปรัง 2555 (16 กรกฏาคม 2555)
รูปที่ 2 ส่วนแบ่งผลประโยชน์จากการจำนำข้าวของครัวเรือนชาวนา 3 กลุ่ม
หมายเหตุ: (1)
การจัดชั้นความจน-ความรวยอาศัยรายได้ของครัวเรือนทั่วประเทศที่รวมครัวเรือน
ชาวนา: (2) ครัวเรือนยากจนคือครัวเรือน 30% ที่มีรายได้ต่ำสุด
ครัวเรือนร่ำรวยคือครัวเรือน 30% ที่มีรายได้สูงสุด ที่เหลือตรงกลาง 40%
เป็นครัวเรือนรายได้ปานกลาง
ที่มา:คำนวณจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ “การสำรวจรายได้-รายจ่ายครัวเรือน”.
ตารางที่ 1 รายจ่าย-ประมาณการรายรับและขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวรอบ 2554/55
รายการ (ล้านบาท) |
ปี 2554/55 |
นาปรัง 2555 |
รวม 2 รอบ |
จากปริมาณข้าวเปลือก ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2555 (ล้านตัน) |
6.95 |
14.08 |
21.03 |
คิดเป็นข้าวสารที่ส่งมอบเข้าโกดังของรัฐบาล (ล้านตัน) |
4.23 |
8.71 |
12.93 |
1. เงินกู้ |
118,594 |
207,163 |
325,757 |
1.1 เงินกู้ ธกส. |
90,000 |
0 |
90,000 |
1.2 เงินกู้สถาบันการเงินอื่น |
28,594 |
207,163 |
235,757 |
2. ดอกเบี้ย |
6,491 |
7,487 |
13,978 |
2.1 เงินกู้ ธกส. |
5,869 |
0 |
5,869 |
2.2 เงินกู้สถาบันการเงินอื่น |
622 |
7,487 |
8,109 |
3. ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน |
19,783 |
38,721 |
58,505 |
ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อตัน (บาท/ตันข้าวเปลือก) |
2,846 |
2,750 |
2,782 |
3.1 ค่าดำเนินงานของกรมส่งเสริมการเกษตร |
306 |
38 |
344 |
3.2 ค่าดำเนินงานของ ธกส. |
1,235 |
2,158 |
3,393 |
3.3 ค่าดำเนินงานของ อคส. และ อตก. |
2,369 |
4,368 |
6,736 |
3.4 ค่าดำเนินงานของโรงสี |
6,989 |
14,392 |
21,382 |
3.5 ค่าดำเนินงานของกรมการค้าภายใน |
498 |
0 |
498 |
3.6 ค่าเสื่อมคุณภาพจากการเก็บรักษาข้าวสาร |
4,982 |
4,983 |
4,984 |
4. รวมรายจ่าย (1+2+3) |
144,868 |
253,372 |
398,240 |
5. รายรับจากการขายข้าวทั้งหมดของโครงการ |
89,354 |
135,983 |
225,338 |
6. ขาดทุน |
-55,514 |
-117,388 |
-172,902 |
ขาดทุนต่อตัน (บาท/ตันข้าวเปลือก) |
-7,987 |
-8,337 |
-8,222 |
[1] กำไรส่วนเกินจากต้นข้าวนี้ต้องหักด้วยมูลค่าของปลายข้าวที่ได้น้อยลงก่อน
[2]ตัว
เลข 825
บาทต่อตันข้าวเปลือกใกล้เคียงกับการคำนวณผลต่างของกำไรของโรงสีที่เข้า
โครงการจำนำ กับกำไรจากการทำธุรกิจโรงสีตามปรกติ
ข้อมูลนี้ประมาณการจากการสัมภาษณ์โรงสีที่มีประสิทธิภาพ
[3]
การคำนวณของเราโดยอาศัยหลักเศรษฐศาสตร์ พบว่า การขาดทุนของรัฐบาลอาจสูงถึง
1.729 แสนล้านบาทต่อปี
ตัวเลขนี้คำนวนโดยสมมติว่ารัฐบาลขาวข้าวได้หมดในสิ้นปี 2556
ตามการคาดคะเนของกระทรวงพานิชย์
และขายข้าวขาวได้ในราคาสูงกว่าเวียดนามตันละ $30
ส่วนข้าวหอมมะลิขายได้ในราคาเท่ากับที่รัฐประมูลขายได้เมื่อเดือนกันยายน
2555 (ดูรายละเอียดการคำนวณในตารางที่ 1)
ถ้ารัฐไม่สามารถขายข้าวได้หมดในปีหน้า
การขาดทุนจะเพิ่มขึ้นอีกจากภาระดอกเบี้ย ค่าเก็บรักษาและข้าวเสื่อมคุณภาพ
[4]
พรบ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548
กำหนดกรอบวงเงินการค้ำประกันและการให้กู้ต่อและการให้กู้ต่อเป็นบาทไม่เกิน
ร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
[5]โปรดสังเกตว่าอาจารย์นิธิมีความเห็นต่างจากคุณทักษิณที่ต้องการเก็บสต๊อกข้าวไว้เก็งกำไรอาจารย์จึงขอแค่ให้รัฐขาดทุนน้อยที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น