แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ยุทธการล่าปีศาจสรยุทธ..ในความเสื่อมของสถาบันสื่อ

ที่มา Thai E-News




สถาบัน สื่อถึงจุดเสื่อมสุด จาก 6 ปีที่ตะแบง เอียงข้าง ละทิ้งหลักการ จนบัดนี้สังคมไทยยังไม่ได้ “เช็กบิล” ชำระกระทงความกับสถาบันสื่อเลย และสื่อจำนวนไม่น้อยก็ยังไม่ละความพยายามที่จะสนับสนุนอำนาจนอกระบบ ให้กลับมาล้มล้างประชาธิปไตยอีกครั้ง
โดย ใบตองแห้ง
ที่มา mediainsideout


ยุทธการไล่ล่า สรยุทธ สุทัศนะจินดา น่าจะแป่วไปแล้ว แม้มีเซอร์ไพรส์ที่เลขา ก.ล.ต.ออกหนังสือเวียนถึงผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่ง” ขอความร่วมมือ” ให้พิจารณาอย่างรอบคอบและใช้ความระมัดระวังในการทำธุรกิจกับบุคคลที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายทุจริตคอร์รัปชัน
ขอบคุณภาพจาก springnewstv
โดยยกตัวอย่างกรณี ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดบริษัทไร่ส้ม จำกัด  และสรยุทธ  ฐานสนับสนุนพนักงาน          อสมท.กระทำความผิด และอ้างสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติว่า แม้ยังไม่มีบทสรุปทางกฎหมาย แต่ในแง่การประกอบวิชาชีพถือว่าไม่เหมาะสม มีการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดจรรยาบรรณแล้ว
ซึ่งก็มีนัย “ขอความร่วมมือ” ช่อง 3 ไม่ให้ทำธุรกิจกับไร่ส้มนั่นเอง แต่ไม่ใช่คำเตือนหรือคำสั่งที่ชัดเจน
เป็นเซอร์ไพรส์! เพราะนึกไม่ถึงว่า ก.ล.ต.เข้มงวดจริยธรรมถึงเพียงนี้ นับแต่นี้ ประเทศไทยคงใสสะอาด ถ้า ก.ล.ต.ปัดกวาดทุจริตอย่างจริงจัง โบรกเกอร์ นักปั่นหุ้น นักลงทุนสีเทา คงหวาดผวา และถ้ายึดตามหนังสือ  ก.ล.ต. บริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ ผู้เกี่ยวข้องกับตลาดทุน คงต้องงดทำธุรกิจกับผู้ถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอร์รัปชันทุกราย (เอ๊ะ แล้วพวกที่ลงโฆษณา ASTV ของสนธิ ลิ้ม ผู้ถูกศาลตัดสินจำคุก 85 ปี จะว่าไง)
เซอร์ไพรส์อีกอย่างคือ ก.ล.ต.ให้เกียรติองค์กรวิชาชีพสื่อ อย่างสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จนกระโดดเข้ามาร่วมยุทธการไล่ล่า แต่คิดอีกทีก็ไม่แปลก เพราะ ก.ล.ต.หลงเข้าไปอยู่ในภาคีเครือข่ายต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งบิ๊กๆ ในวงธุรกิจ ประมนต์ สุธีร์วงศ์, คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม  ประธานและรองประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น, ม.ล.ผกาแก้ว บุญเลี้ยง กรรมการกำกับตลาดทุน ก็ช่วยขย่มสรยุทธ แต่หน้าม้านเมื่อเขย่าไม่ร่วง
ก่อนหน้า ก.ล.ต. มีไม่รู้กี่ ส.ที่สนับสนุนสภาการหนังสือพิมพ์ และสมาคมนักข่าว สมเกียรติ อ่อนวิมล, เสรี วงษ์มณฑา, สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, สังศิต พิริยะรังสรรค์, สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ฯลฯ ไปกระทั่ง     สมจิตต์ ช่อง 7 แต่โค่น ส.ระยุทธ ไม่ลง
แหม มันน่าเอาเสธอ้ายกับ ‘สงค์ สุ่น มาด้วยนะเออ เผื่อทำรัฐประหารสำเร็จ จะได้สั่งถอดรายการสรยุทธเอาใจสถาบันสื่อ
เพราะถ้าไม่มีรัฐประหาร ก็สงสัยจะทำอะไร “เรื่องเล่าเช้านี้” ไม่ได้ อย่าว่าอื่นไกลเลย 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีข่าวจะ เอากระพรวนไปผูกคอแมว เอ๊ย จะถอนโฆษณารายการสรยุทธ ก็มีแค่ “แหล่งข่าว” ออกมาเผยว่าได้แก่ ปูนใหญ่, ไทยพาณิชย์ โตโยต้า, โตชิบ้า ไม่ยักมีใครกล้าตั้งโต๊ะแถลงข่าว ดับเครื่องชน ด้วยท่าทีวีระอาจหาญซักราย
พูดอย่างนี้ไม่ใช่เข้าข้าง “คนโกง” เย้ยหยัน “คนดี” เพราะแม้สรยุทธยังไม่ถูกศาลตัดสิน แต่พฤติกรรมที่ ป.ป.ช.ชี้มูลก็เป็นมลทิน พ่อค้าข่าวอย่างสรยุทธไม่ควรได้รับการยกย่องว่า “ยืนเด่นโดยท้าทาย” ซึ่งมาจากเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา หมายถึงผู้มีอุดมการณ์แน่วแน่
เพียงแต่ผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องดิ้นกระแด่วกันหนักหนา ราวกับว่าถ้าสรยุทธยังเล่าข่าวอยู่ ในช่อง 3 ได้จะทำให้โลกแตกสลาย ทำไมสมาคมนักข่าว สภาการหนังสือพิมพ์ จะต้องตั้งตัวเป็น “ศาลสื่อ” ซึ่งพอตัดสินให้ “ฆ่ามัน” แล้วมันไม่ยอมตาย ก็ทุรนทุราย ไล่ล่า ตีโพยตีพายว่าสังคมเสื่อมทราม เห็นดีเห็นงามกับการทุจริตคอร์รัปชั่น (เหลือแต่พวกเราเท่านั้นที่ศีลธรรมสูงส่ง-ฮา)
ไปๆ มาๆ สรยุทธกลายเป็น “ปีศาจ” ที่ต้องโค่นล้มให้ได้ น้องๆ ล้มระบอบทักษิณ หรือล้มประมูล 3G        ให้ความสำคัญกันมากไปหรือเปล่า จนต้องเอาแพ้เอาชนะ ถ้าแพ้ขึ้นมาจะเอาหน้าไว้ไหนละเออ
คนดูเรื่องเล่า ไม่ใช่ดูศาสดา
ขอบคุณภาพจาก mthai
การที่คนยังดูสรยุทธอยู่ ทั้งที่ ปปช.ชี้มูลความผิดว่าสนับสนุนให้พนักงาน อสมท.ยักยอกค่าโฆษณาส่วนเกิน 138 ล้าน ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรเลย และไม่ใช่เรื่องที่ต้องตีอกชกหัวว่าสังคมทราม ยอมรับคนโกง
คนดูสรยุทธเพราะเล่าข่าวได้สนุก ไม่ได้เห็นสรยุทธเป็นศาสดา สรยุทธไม่ได้เป็น “นักสัมภาษณ์ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและตั้งคำถามบุคคล สาธารณะ” อย่างที่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เรียกอีกแล้ว นั่นมันอดีต ปัจจุบันสรยุทธเป็นเซเลบส์ แม้ยังไม่พ้นจากสื่อเสียทีเดียว มาตรฐานสื่อกับมาตรฐานเซเลบส์ต่างกันนะครับ เซเลบส์จะตกสวรรค์ต่อเมื่อทำท้องไม่รับ เมาแล้วขับ เบ่งใส่ตำรวจ อะไรทำนองนั้น (ฮา)
คนดูสรยุทธเพราะรู้จักเล่าเรื่อง จับจุดขายในประเด็นข่าว ทำให้เป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ ดูรายการแบบนี้ไม่จำเป็นต้องตั้งนโมก่อน 3 จบ ไม่จำเป็นต้องยกย่องเชื่อถือพิธีกร สำคัญที่ความสามารถในการนำเสนอ พูดง่ายๆ ว่าสรยุทธก็เหมือนไทยรัฐทางทีวี จุดขายของไทยรัฐไม่ใช่จุดยืนมั่นคงเที่ยงตรง แต่คุณไม่อ่านไทยรัฐไม่ได้ เพราะรสชาติครบครันตั้งแต่ข่าวชาวบ้าน ข่าวดาราเอากัน ไปถึงข่าวเจาะการเมือง
โปรดสังเกตว่าคนนั่งข้างสรยุทธคือ โก๊ะตี๋ ไม่ใช่สุทธิชัย หยุ่น นะคะ-ราบบบ พูดอีกอย่างถ้าสุทธิชัย หยุ่น ไปทำผิดอย่างนี้บ้าง ก็เอวัง แต่คนดูไม่ได้มองสรยุทธอย่างนั้
แล้วก็อย่างที่ผมเขียนลงเฟซบุค ปปช.ไม่ได้ชี้มูลความผิดสรยุทธในฐานะสื่อ แต่ผิดในฐานะนักธุรกิจสื่อ ซึ่งต่างกัน ถ้าสรยุทธถูกชี้มูลความผิดว่ารับเงินมาพูดเชียร์ หรือพูดให้เกลียดใคร แบบนั้นกระทบแน่ แต่ในสถานการณ์การเมืองเลือกข้าง 6 ปีผ่านมา ต้องยอมรับว่าสื่อที่มีมลทินอย่างสรยุทธวางตัวได้ดีกว่าองค์กรวิชาชีพสื่อด้วยซ้ำ
และเมื่อ ปปช.ชี้มูล สรยุทธก็ “เล่นเป็น” คือรีบบอกว่าคืนเงินไปแล้ว ไม่แถ ไม่ดื้อด้าน ไม่เอาเวลาในรายการมาแก้ตัว หรือตั้งป้อมด่าสมาคมนักข่าวฯ สภาการหนังสือพิมพ์ พูดอย่างเดียวว่าจะไปสู้คดีในศาล
ถามว่าสรยุทธเสื่อมไหม รอดูไปอาจเห็นผล เพราะสรยุทธเริ่มมีข้อจำกัดในการเสนอข่าว เช่น เสนอข่าว ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดใครไม่ได้ เสนอข่าวทุจริตคอร์รัปชั่นไม่เต็มปากเพราะจะย้อนมาเข้าตัว    สัมภาษณ์กล้านรงค์ จันทิก ก็ไม่ได้ จะไปไล่ซักนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต ก็ไม่ได้ สรยุทธยังต้องระวังตัวใน การเสนอข่าวด้านลบของปูนใหญ่  ไทยพาณิชย์  โตโยต้า  โตชิบ้า 4 บริษัทที่อ้างว่าจะถอนโฆษณา เพราะจะถูกมองว่าตีเมืองขึ้น ฯลฯ แต่ถ้าสรยุทธสัมภาษณ์แม่ตั๊ก บงกช หรือเสี่ยบุญชัย ก็แล้วไป
ฉะนั้นจริงๆ แล้วสรยุทธก็เสียเครดิต เพียงแต่ยังกระทบรายการเล่าข่าวไม่มาก มันเป็นการรณรงค์ที่ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ตั้งเป้า “ล้มยักษ์” ให้ได้ดังใจ
สิ่งที่ผมไม่อยากเห็นคือถ้ายุทธการนี้ล้มเหลว (อยู่แล้ว ฮา) ผู้รณรงค์จะหันมาโทษสังคมไทยไร้ศีลธรรมยอมรับคอร์รัปชัน เพราะผมเชื่อว่าคนดูเขามีวิจารณญาณ ก็รายการมันดูสนุก ไม่ได้แปลว่าต้องเชื่อสรยุทธทุกอย่าง ไอ้พวกโฆษณาแฝง โปรโมชั่น ใครก็รู้หรอกน่า เพราะทำกันทุกรายการ
ฉะนั้นถ้าล้มเหลว ก็ควรทบทวนบทบาทขององค์กรวิชาชีพสื่อเองด้วย ว่ามีปัญหาตรงไหนหรือเปล่า
เกลียดเพราะโกงจริงหรือ
การรณรงค์บอยคอตต์สรยุทธ ถูกแย้งว่าทีสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกศาลตัดสินจำคุก 85  ปีคดีฐานรับรองเอกสารเท็จให้บริษัทตัวเองกู้แบงก์กรุงไทย ทำไมไม่บอยคอตต์บ้าง นั่นศาลตัดสินแล้วนะ
นี่ยังแค่ปปช.ชี้มูล
เท่านั้นก็ไปไม่เป็นแล้ว ผู้บริหารองค์กรวิชาชีพสื่อให้สัมภาษณ์รายการวิทยุทำนองว่า สนธิไม่ใช่สื่อ สนธิเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองไปแล้ว (ฮาไม่ออก)
ตัดประเด็นเลือกข้างทางการเมืองอ อกก่อน อันที่จริง สรยุทธก็ไม่ใช่เหลืองไม่ใช่แดง โดนด่าทั้งสองข้างด้วยซ้ำ แต่รู้กันว่า “กรรมกรข่าวพันล้าน” เป็นที่หมั่นไส้ในแวดวงนักข่าว โทษฐานเอาข่าวคนอื่นมาเล่า เขาทำข่าวเจาะข่าวกันเหนื่อยยาก ตัวเองแค่เอามาปรุงรสออกทีวี ขายสีสันอย่างฉาบฉวย แม่-รวยได้รวยเอา ตาร้อนผ่าวโว้ย!
น้ำท่วมก็เอาของที่ประชาชนบริจาคมาติดตราช่อง 3 แจกชาวบ้าน ไปถึงไหน ก็ถือไมค์รายงานข่าว ตรงนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนมาช่วยเลยครับ-ค่ะ เวลล์ ก็น้ำท่วมทั่วประเทศ รัฐบาลไหนไม่ว่าอภิสิทธิ์หรือยิ่งลักษณ์ก็ช่วยได้ไม่ทั่วถึง ช่อง 3 ฉวยโอกาสไปเจาะจุด “หาเสียง” ขโมยซีน ทำเกินหน้าที่สื่อ ฯลฯ
อันที่จริงความหมั่นไส้นี้ทั้งมีเหตุผลและไม่มีเหตุผล ที่มีเหตุผลคือมันสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมทุนบริโภค นิยม ระหว่างสื่อหนังสือพิมพ์กับทีวี ระหว่างผู้ผลิตกับผู้นำเข้าตลาด ระหว่างการทำงานด้านเนื้อหาสาระ กับการขายความบันเทิง โดยเฉพาะสังคมไทย ใครฉวยโอกาสสร้างแบรนด์ครองตลาดได้ เงินทองก็ไหลมาเทมา
แต่ด้านที่ไม่มีเหตุผลคือ จะไปโทษสรยุทธ์คนเดียวไม่ได้ เพราะรายการเล่าข่าวมีมาตั้งแต่สมัยหญิงไทยไขข่าว จะไปทวงค่าลิขสิทธิ์อะไรก็ไม่ได้ เพราะหนังสือพิมพ์ลงข่าวไปแล้ว เว็บไซต์ขึ้นข่าวไปแล้ว ถือเป็นสาธารณะ ใครจะเอาไปเล่าตอนเช้า ตอนดึก ก็เป็นสิทธิ เพียงแต่ถ้าเป็น “ข่าวเดี่ยว” ก็ควรมีมารยาทบอกที่มา
แบบเดียวกับผมเขียนเรื่องสรยุทธลงเฟซบุคแล้วมติชนเอาไปรวมพาดหัว “ยืนเด่นโดยท้าทาย” นั่นแหละ ผมไม่รู้เห็นด้วยซักหน่อย แต่เมื่อโพสต์แล้วก็เป็นสาธารณะ
สรยุทธมาถูกที่ ถูกจังหวะ รู้จักนำเสนอข่าวทีวีให้มีสีสัน เรียกความสนใจ จากที่คนไทยไม่ค่อยดูข่าวทีวี (ดูแต่ข่าวพระราชสำนัก ฮิฮิ) กลายเป็นพลาดไม่ได้ต้องดู “เรื่องเล่าเช้านี้” “เรื่องเด่นเย็นนี้” จะมีอะไรมาเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ ใช้เวลาไม่กี่ปี สรยุทธก็รวยเอาๆ น่าจะรวยกว่าสุทธิชัย หยุ่น และรวยกว่านักข่าวทั่วประเทศรวมกัน ด้วยระบบของช่อง 3 ที่หาค่าโฆษณามาแบ่งครึ่ง
โถ นักข่าวจะมีตังค์ที่ไหนครับ นักข่าวใหม่เพิ่งได้เงินเดือนหมื่น เพราะนโยบาย 15,000 นี่เอง ระดับสูงสุด เงินเดือนบรรณาธิการค่ายโพสต์ ค่ายเนชั่น สูงกว่าฉบับอื่นยังแค่แสนต้นๆ สรยุทธพูดประโยคเดียว ออกอากาศนาทีเดียว ก็ได้แล้ว ถามว่าไม่น่าริษยาหรือ
อารมณ์ริษยารวม หมู่ มีก่อน ปปช.ชี้มูลนานแล้ว แต่มันเข้ามากระฟัดกระเฟียดเป็น “แรงเงา” อยู่ในการเคลื่อนไหวหรือเปล่า ก็ควรทบทวนดู นักวิชาการบางคนออกทีวี ดันไปด่าสรยุทธเรื่องเล่าข่าว ไม่ใช่แค่ “โกง”
ประเด็นนี้จึงมีคำถามได้ว่า เหตุใด องค์กรวิชาชีพสื่อไม่กล้าแตะบางเรื่องที่จะกระทบคนในวงการ ซึ่งมีสายสัมพันธ์ถึงกันหมด เช่นที่จอม เพชรประดับ เผยว่ามีนักข่าวหลายกระทรวงตั้งบริษัทของตัวเอง ทำไมสำนักข่าวอิศราไม่ตามเจาะล่ะ ก็รู้กันอยู่ ไม่ต้องรอจอมพูด เปล่า ไม่ใช่นักข่าวเหล่านั้นมีสายสัมพันธ์กับสำนักข่าวอิศรา แต่ถ้าลองแตะสิ ก็จะกระทบชิ่งไปถึงต้นสังกัด ถึงหัวหน้าข่าว บรรณาธิการข่าว ซึ่งสมาคมนักข่าวยังไม่พร้อมเผชิญศึกหนักขนาดนั้น
ไม่เหมือนการเล่นงานสรยุทธ ซึ่งสื่อเกลียดกันทั่วหน้า
คนดีจริงหรือ
ขอพูดสั้นๆว่า สื่อและผู้มีชื่อเสียงที่ไล่ขย่มสรยุทธ ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้มีประวัติโปร่งใส พิสูจน์ตนเองในวิชาชีพ
แต่บางคนโผล่ หน้าออกมา คนในวงการด้วยกันร้องยี้ หน้าอย่างนี้นะ มาจับสรยุทธ ถ้าสรยุทธผิดจริง ก็เป็น “โจรจับขโมย” คือสรยุทธเป็นขโมย แต่คนจับนี่โจรชัดๆ
ช่วยคัดกรองกัน หน่อยได้ไหม แม้จะรู้ว่างาน “สหบาทา” เอ๊ย ผ้าป่าสามัคคี ไม่สามารถห้ามใครได้ แต่ตัวแทนองค์กรสื่อก็ควรจะหลบๆ คนที่รู้แก่ใจ การขยายวงมากไปไม่ใช่เรื่องดี เช่นที่พรรคประชาธิปัตย์เอาเรื่องสรยุทธเข้ากรรมาธิการ ให้วัชระ เพชรทอง มาสอบสรยุทธเนี่ยนะ ฮาไม่ออก
อีกเรื่องที่ตลกคือ การรณรงค์บอยคอตต์สรยุทธ เดินไปพร้อมกับความพยายามล้มประมูล 3G สำนักข่าวอิศราถล่มอยู่ 2 เรื่องนี้ ในขณะที่หนุน อ.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เรื่อง 3G อ.สมเกียรติก็ช่วยให้สัมภาษณ์ประณามสรยุทธ (ต่างตอบแทน ฮา)
ดูยังไงก็ไม่พ้นกลุ่มก้อนเดียวกันคือ “คนดีมีศีลธรรม” ที่เคยสนับสนุนรัฐประหารตุลาการภิวัตน์
พูดอย่างนี้ไม่ใช่แบ่งขั้วเลือกข้าง แต่มันกลายเป็นปัญหา เพราะรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ได้ทำให้ “ศีลธรรมเสื่อม” เนื่องจากอ้างศีลธรรมไปล้มล้างประชาธิปไตย จำกัดสิทธิเสรีภาพ เมื่อคนกลุ่มเดิมหน้าเดิมออกมาเรียกร้องศีลธรรมจรรยา แม้ไม่ใช่การเมืองเรื่องสี ก็มีปัญหาว่าควรจะยอมรับสนับสนุนบทบาทพวกเขาไหม
องค์กรศักดิ์สิทธิ์?
ผมไม่เห็นด้วยกับพาดหัว “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” ของมติชน ซึ่งถูกมองว่ามติชน “ล้างแค้น” ที่สภาการหนังสือพิมพ์เคยสอบสวนอีเมล์สินบนแล้วสรุปว่าเสนอข่าวเอนเอียงเป็นประโยชน์แก่พรรคเพื่อไทย จนค่ายมติชนถอนยวงลาออก
อันที่จริง การสวนกระแสของมติชน ปะปนกันอยู่ระหว่างฉวยโอกาสล้างแค้น กับปฏิเสธอำนาจที่เคยเล่นงานพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรม แต่น่าเสียดายที่มติชนไม่แยกแยะให้ดี จนกลายเป็นปกป้องสรยุทธ และมองสรยุทธว่า “หัวอกเดียวกัน” ทั้งที่ควรแยกแยะเรื่องเฉพาะตัวสร ยุทธ กับการปฏิเสธ “ขั้วอำนาจใหม่” ความพยายามตั้งตัวเป็น “ตุลาการภิวัตน์แห่งวงการสื่อ” ของสมาคมนักข่าว และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
เรื่องมติชนต้อง พูดให้ชัดเจนว่า มติชนเอียงข้าง ถึงวันนี้ยิ่งเห็นชัดว่าเอียง แม้ผมไม่ปฏิเสธการเลือกข้าง เพราะถึงที่สุดต้องเลือกระหว่างประชาธิปไตยกับรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ แต่ทุกวันนี้ มติชนเอียงจนไม่แยกแยะระหว่างการปกป้องประชาธิปไตยกับการปกป้องรัฐบาล มติชนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลน้อยมากถ้าใช้ทัศนะนักประชาธิปไตยให้คะแนนรัฐบาล 6-7 มติชนให้ 9 หรือ 9.5 เสมอ
เพียงแต่การสอบสวนของสภาการหนังสือ พิมพ์ มีลักษณะทึกทัก ปักใจ ไร้มาตรฐาน 2 มาตรฐาน โยงทุกอย่างเพื่อจับผิดมติชน ตามที่ตั้งธงไว้ก่อน ทั้งที่อีกหลายฉบับก็เอนเอียง เลือกข้าง ปลุกความเกลียดชัง ไร้สติ ไร้เหตุผลยิ่งกว่ามติชนมา 6 ปี   มติชนเลือกข้างแต่ก็ยังถ่วงน้ำหนัก  เหมือนที่พยายามนับรูปยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์ ปรากฏว่าเท่ากัน คณะอนุกรรมการชุดหมอวิชัย โชควิวัฒน์ ยังอุตส่าห์บอกว่าลงภาพอภิสิทธิ์ให้ดูแย่ (โถ ราศีคนจะแพ้)
ผมเห็นว่ามติชนเอียง แต่ผมไม่ยอมรับอำนาจตรวจสอบของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นตัวแทนสื่อข้างมากที่เอียงยิ่งกว่า แล้วก็จ้องเล่นงานมติชนที่เอียงคนละด้านกับตัวเอง
ฉะนั้นเมื่อเกิดกรณีสรยุทธ ในขณะที่สรยุทธมีมลทิน ก็เห็นภาพอีกด้านว่า สมาคมนักข่าว สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กำลังพยายามเปลี่ยนตัวเองจากสมาคมแจกทุนการศึกษา หรือออกคำแถลงเป็นครั้งคราวเมื่อสื่อถูกคุกคาม ให้กลายเป็น “ขั้วอำนาจใหม่” ในวงการสื่อ ซึ่งมีทั้งทุนและเครือข่าย
สถาบันอิศราได้รับเงินสนับสนุนจาก สสส.และเงินบริจาคภาคธุรกิจปีละร่วม 20 ล้านบาท เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้สมาคมนักข่าว และสภาการหนังสือพิมพ์  มีสำนักข่าวของตัวเอง มีนักวิชาการให้ท้าย
เชื่อมข้อมูล ป.ป.ช. ทีดีอาร์ไอ จับมือภาคธุรกิจตั้งภาคีต่อต้านคอร์รัปชั่น จัดงานเปิดบูธที่เซ็นทรัลเวิลด์ ฯลฯ จากนั้นก็มารณรงค์ “สรยุทธออกไป”
อันที่จริงมันควรเป็นบทบาทที่น่าชื่นชม ถ้าไม่ใช่เพราะ 6 ปีที่ผ่านมา สถาบันสื่อเอียงข้างไปทางตรงข้ามประชาธิปไตย จนเสื่อม ที่พูดนี้ไม่ได้หมายถึงตัวบุคคล ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์,  ชวรงค์ ลิมป์ปัทมาปาณี หรือจักร์กฤษ เพิ่มพูล ฯลฯ เพราะไม่ว่าเปลี่ยนใครมา องค์กรวิชาชีพสื่อก็เป็นตัวแทนของสื่อกระแสหลักกลุ่มที่เกลียดชัง “ระบอบทักษิณ” และเลือกข้างรัฐประหารตุลาการภิวัตน์อยู่ดี
บทบาทเช่นนี้จึงไม่น่าไว้วางใจ “ขั้วอำนาจใหม่” นี้เป็นที่น่าจับตา มากกว่าจะผลีผลามสนับสนุน
ผมจึงไม่เห็นด้วยกับภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ที่เขียนไว้ในบทความ “ใครยังคงยืนเด่นและถูกท้าทาย” ว่ากรณีสรยุทธท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ของสมาคมวิชาชีพสื่อทั้งหลาย
“ถ้า ไม่มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ ก็สุ่มเสี่ยงต่อการดับไป ตัวสมาคมและที่ตั้ง อีกทั้งนายก อุปนายกทั้งหลายคงไม่ดับสูญไป แต่สมาคมที่มารวมตัวกันเพื่อให้มีอำนาจในทางสังคมนั้น ลงว่าไม่มีอำนาจไปบังคับใคร กระทั่งคนในสังกัดวิชาชีพตนเองได้ ก็ยากที่จะคงความศักดิ์สิทธิ์ของสมาคมต่อไป”
ผมไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีหรือคง “ความศักดิ์สิทธิ์” ขององค์กรวิชาชีพสื่อ ในเมื่อความศักดิ์สิทธิ์นั้นถูกทำลายไปแล้ว นับแต่สถาบันสื่อสนับสนุนรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ ไม่ยึดหลักการประชาธิปไตย ซึ่งควรจะถือเป็นจรรยาบรรณข้อแรกของวิชาชีพ สื่อเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ด้วยระบอบประชาธิปไตย ด้วยหลักการสิทธิเสรีภาพ สื่อจึงมีหน้าที่ปกป้องประชาธิปไตย จรรยาบรรณข้อนี้สำคัญพอๆ กับการรับสินบนพ่อค้านักการเมือง คือคุณอาจจะซื่อสัตย์ ไม่ได้รับเงินใคร แต่เชียร์รัฐประหารตุลาการภิวัตน์สุดลิ่มทิ่มประตู แถ ตะแบง ทิ้งหลักการ ทำทุกอย่างเพื่อระบอบประชาธิปไตยแบบอำมาตย์ คุณก็สูญเสียความเป็นสื่อไปแล้วเช่นกัน
ถ้ายืมคำพูด อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ก็ต้องบอกว่า สื่อที่เชียร์รัฐประหารต้องปาราชิกพอๆ กับไอ้หนุ่มรถไถ (แต่ไอ้หนุ่มรถไถก็หิ้วกระเป๋าเดินตามบิ๊กทหารไปแถวสุวรรณภูมิเหมือนกัน-ฮา)
ผมยิ่งไม่เห็น ด้วยกับการมี “อำนาจบังคับ” ซึ่งสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม (อนุกรรมการ ปปช.นะนั่น) เรียกร้องว่า อาชีพสื่อควรมีใบประกอบวิชาชีพ แบบแพทย์ ทนายความ
นี่ยิ่งไปไกล ยิ่งกว่าการเลือกข้าง ต่อให้สถานการณ์ปกติก็เป็นไปไม่ได้ ที่จะให้มีองค์กรหนึ่งใดมามีอำนาจบังคับ มาเป็นผู้ออกใบอนุญาต หรือถอนใบอนุญาตการทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย ต่อให้เป็นองค์กรของสื่อด้วยกันเองก็เถอะ
คุณไม่ใช่สมาคมพระเครื่องนะครับ จะได้ผูกขาดชี้เป็นชี้ตายว่าพระองค์ไหนของแท้ของเทียม
คุณอยากรณรงค์ อะไรก็รณรงค์ไป ถ้ามุ่งมั่นตั้งใจจริง สังคมก็จะสนับสนุน หรือถ้าสังคมยังไม่พร้อม ก็อดทนรอ แต่อย่าอ้างความศักดิ์สิทธิ์ อย่าเรียกร้องอำนาจบังคับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตัวเองเคยปัดเป๋ ซวนเซมาแล้ว จะมาอ้างศีลธรรมจรรยาสถาปนาตัวเองบังคับคนอื่น ไม่มีใครวางใจได้สนิทหรอกครับ
แม้แต่การไปร่วมกลุ่มธุรกิจสร้างภาคี ต่อต้านคอร์รัปชั่น ก็เป็นประเด็นที่น่าจับตา น่ากังขา ว่ากลุ่มธุรกิจเหล่านี้มี Agenda หรือไม่ ต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างจริงใจ หรือเป็นพวก “รวยแล้วมีธรรมาภิบาล” แบบตัวเองก็เติบโตมาจากการมีเส้นสาย อภิสิทธิ์ ผูกขาด กีดกันคู่แข่ง เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค แต่ตอนนี้เป็นยักษ์ใหญ่มั่นคงแล้วก็ใช้งบ CSR โฆษณาจริยธรรมเพื่อสร้างภาพและหักภาษีอีกต่างหาก
สถาบันสื่อถึง จุดเสื่อมสุด จาก 6 ปีที่ตะแบง เอียงข้าง ละทิ้งหลักการ จนบัดนี้สังคมไทยยังไม่ได้ “เช็กบิล” ชำระกระทงความกับสถาบันสื่อเลย และสื่อจำนวนไม่น้อยก็ยังไม่ละความพยายามที่จะสนับสนุนอำนาจนอกระบบ ให้กลับมาล้มล้างประชาธิปไตยอีกครั้ง
ฉะนั้นการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันสื่อ จึงต้องผ่านขั้นตอนที่ฟอกล้าง ทำลายล้าง บดขยี้ ซากเดิมให้ย่อยยับก่อนแล้วค่อยสร้างสิ่งใหม่ ไม่ใช่ยังไม่ยอมรับผิด แล้วจะไปสร้างความศักดิ์สิทธิ์เดินหน้าไล่จับคนอื่น
แบบว่าถ้าจะมีการออกใบอนุญาต ถอนใบอนุญาต ก็ต้องเช็กบิลย้อนหลังว่าใครบ้างใช้วิชาชีพบิดเบือนหลักการ เข้าข้างรัฐประหารอย่างดื้อด้านตาใส แล้วแจกใบแดงเป็นรายๆ ไป กล้าทำอย่างนี้ไหมละครับ
เอ้า หรืออย่างน้อยในระหว่างไล่ล่าสรยุทธ ก็ออกแถลงการณ์ประณามม็อบเสธอ้าย ว่าการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา ลาออก แล้วไม่ต้องเลือกตั้งใหม่ ใช้คณะผู้บริหารแบบรัฐประหารมาแช่แข็งประเทศ 5 ปี ถือเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มระบอบประชาธิปไตยอันเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพประชาชน รวมทั้งสิทธิเสรีภาพสื่อ กล้าทำไหมครับ
นี่ต่างหากคือความท้าทายต่อสถาบันสื่อ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น