แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ช่วงชิงคนตรงกลาง

ที่มา Voice TV


ใบตองแห้ง Baitonghaeng

ใบตองแห้ง Baitonghaeng

VoiceTV Staff

Bio

คอลัมนิสต์อิสระ


บารัก โอบามา กำลังจะมาเยือนไทย หลังเอาชนะ มิตต์ รอมนีย์ ในการเลือกตั้งที่เป็นแบบอย่างแก่ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก

ที่ไหนได้ ประเทศไทยกลับจะมีการชุมนุมโค่นล้มรัฐบาล โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้ง ให้มีการปกครองประเทศโดยคณะบุคคลแบบรัฐประหาร แช่แข็งประเทศย้อนยุค “อ้ายเอจ” ซัก 5 ปี

นี่แหละคนไทย ทำอะไรไม่แพ้ชาติใดในโลก จึงไม่ต้องสนใจโลก ประเทศนี้คนที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยกลับเป็นคนที่มีการศึกษาต่ำกว่า ปริญญาตรี ขณะที่คนจบปริญญาโท ปริญญาเอก หรือจบจากอเมริกา ยุโรป กลับเชื่อว่าประชาธิปไตยใช้ไม่ได้ แสดงความล้มเหลวของระบบการศึกษา ประเทศนี้มีกวี ศิลปิน ที่มีความคิดสร้างสรรค์จนเป็น Idol ของสังคม แต่เชื่อว่าถ้าบ้านเมืองยังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ป่านนี้เราคงมีโทรศัพท์ 6G ใช้ไปแล้ว

คิดแบบนี้จึงไม่แปลก ถ้าจะมีคนหลักแสนมาใช้สิทธิชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตยเพื่อเรียกหารัฐประหาร เพราะการปลุกกระแสสุดขั้วสุดโต่ง 6 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างเสียงข้างน้อยที่คลุ้มคลั่ง เอาตัวเองเป็นใหญ่ แพ้ไม่ได้ เอาชนะโดยไม่เลือกวิธีการ ซึ่งยังมีจำนวนพอเพียง ที่จะยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ได้อีกหลายครั้ง

เรื่องอุบาทว์คือบ้านนี้เมืองนี้ถ้าใครร่าง “ผังล้มประชาธิปไตย” กลับไม่มีความผิด แต่แค่ “ผังล้มเจ้า” ที่เต้าขึ้น ก็เอาคนเข้าคุกได้

ขณะที่พรรคการเมืองฝ่ายค้าน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งเช่นกัน กลับไม่ยอมประณามผู้เรียกหารัฐประหาร แสดงท่าทีให้ท้ายด้วยซ้ำ

สื่อ ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องประชาธิปไตย เป็นหลักประกันของสิทธิเสรีภาพ แทนที่จะตักเตือนห้ามปราม กลับส่งเสียงเชียร์หน้าตาเฉย ขาดอย่างเดียวคือยังไม่ได้ลงโฆษณาเชิญชวรคนไปม็อบให้ฟรีๆ

รัฐประหารเป็นไปได้?

ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องรัฐประหาร เพราะมันตกยุค ไม่มีใครยอมรับ เอแบคโพลล์สำรวจออกมามีคนอยากให้รัฐประหารแค่ 2.7% ในขณะที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และกำลังจะก้าวกระโดดครั้งใหญ่เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค

กระนั้นก็มีคนเตือนว่าแม้ไม่มีเงื่อนไข ภววิสัยไม่เอื้อ แต่อัตวิสัยของ “ชนชั้นนำ” จะทำซะอย่าง ใครจะทำไม

ชนชั้นนำที่มีเวลาเหลือน้อย ตระหนักว่า “ธรรมชาติ” ไม่ได้อยู่ข้างตน นี่อาจเป็นเฮือกสุดท้าย หรือรองสุดท้าย ถ้าล้มรัฐบาลไม่ได้ ปล่อยให้สังคมไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยปกติ พรรคเพื่อไทยก็จะครองอำนาจไปอีกอย่างน้อย 7 ปี

ไม่อย่างนั้นเราคงไม่เห็นประสงค์ สุ่นศิริ หอบสังขารขึ้นเวที แสดงว่ามีความพยายามจริง

ลองไล่เรียงดู มีวิธีไหนล้มรัฐบาลได้ หนึ่ง จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 271 ถ้า ปปช.ชี้มูล นายกฯ จะปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้จนกว่าวุฒิสภาลงมติ แม้การถอดถอนต้องใช้เสียง 3 ใน 5 แต่พวกเจ้าถ้อยหมอความก็จะออกมาตีรวนสร้างความปั่นป่วนว่ารัฐมนตรีทำหน้าที่ ไม่ได้ทั้งคณะ เกิดสุญญากาศอำนาจ

แต่วิธีนี้ก็อาจไม่ทันใจม็อบที่ออกมากดดัน

สอง ถ้าเอาแบบใจร้อนใจเร็ว ล้มรัฐบาลให้ได้ภายในวันที่ 4 ธ.ค.อย่างที่ร่ำลือกัน ก็ไม่มีทางอื่นนอกจากรัฐประหาร แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่ไม่มีเงื่อนไข จะสร้างเงื่อนไขได้อย่างไร ยังมองไม่เห็น

ถ้าจะรัฐประหารก็ต้องให้เกิดเหตุการณ์แบบพฤษภา 53 คือต้องให้มีคนตาย ต้องยั่วยุให้รัฐบาลปราบ ถ้ามาชุมนุมสนามม้าโดยสันติ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ จริงตามที่โฆษกองค์การพิทักษ์สยามพูด ก็ไม่มีทางล้มรัฐบาลได้

การจุดชนวนรัฐประหาร ต้องรุนแรงยิ่งกว่ายึดทำเนียบยึดสนามบิน อาจต้องเผาสถานที่ราชการ โดยอ้างว่าไม่ใช่ม็อบ เป็นมือที่สาม อาจจะมี “ชายชุดดำ” ยิงเอ็ม 79 ใส่ม็อบ หรือยิงทั่วเมือง หรือเกิดการสังหารบุคคลในรัฐบาล แกนนำเสื้อแดง เสื้อเหลือง

คำถามคือม็อบองค์การพิทักษ์สยาม สามารถพัฒนาไปสู่ความรุนแรงได้หรือไม่ แกนนำองค์การพิทักษ์สยามไม่ใช่แกนนำพันธมิตร แม้มีสันติอโศกเป็นกำลังหลัก แต่ความเป็นระบบในการสั่งการ ดูแลควบคุม ความรัดกุม ตลอดจนสังขาร ทำให้องค์การพิทักษ์สยามต่างจากพันธมิตรคือ หนึ่ง ไม่สามารถต่อสู้ยืดเยื้อยึดทำเนียบ 193 วัน ต้องมาเร็วไปเร็ว ต้องบรรลุผลอย่างรวดเร็ว สอง มั่วกว่า ไม่สามารถเดินตามยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของแกนนำอย่างพร้อมเพรียง (แต่ก็บานปลายได้ง่าย)

ม็อบจะปะทุความรุนแรงต้องมีลำดับอารมณ์ แม้คนมาร่วมจะเกลียดทักษิณเกลียดยิ่งลักษณ์แค่ไหน ก็ใช่ว่ามาถึงแล้วจะสร้างความรุนแรงได้ทันที ต้องมีการสร้างเงื่อนไข เช่น ออกมาเดิน แล้วฉวยโอกาสยึดทำเนียบ สร้างสถานการณ์ปะทะจากคนส่วนน้อย

ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้ต้องระดมคนมากกว่าคราวที่แล้ว 3-4 เท่า และต้องมีมือไม้พร้อมสร้างสถานการณ์

ข้ามไปดูรัฐประหาร อาจมีหลายสูตร สูตรแรกคือ รัฐประหารย้อนยุคน้ำแข็ง “อ้ายเอซ” ปิดประเทศ 5 ปี ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ กวาดจับ-เข่นฆ่า แกนนำพรรคเพื่อไทย เสื้อแดง นักประชาธิปไตย แต่จะทำให้ประเทศเสียหายรุนแรง นานาชาติไม่ยอมรับ เศรษฐกิจพังพินาศ ตลาดหุ้นดิ่งเหว

สูตรนี้ชนชั้นนำก็รู้ว่าไปไม่รอด แต่อาจใช้เพียง 2-3 เดือนเท่านั้น โดยสรุปบทเรียนจากหลัง 6 ตุลา 2519 ที่รัฐบาลหอยจะปิดประเทศ 12 ปี แต่อยู่ได้แค่ปีเดียวก็โดน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ทำรัฐประหารล้มอีกครั้ง

ชนชั้นนำถนัดอยู่แล้วกับการเลี้ยงนก 2 ตัว ปล่อยเหยี่ยวก่อนแล้วค่อยปล่อยนกพิราบ แล้วก็ได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญ ปัญหาคือคนรู้ทันหมดแล้ว ใครจะยอมพลีตัวเป็นเหยี่ยว และจะตบตาประชาชนได้หรือ

รัฐประหารสูตรสอง อาจเป็นรัฐประหารเงียบ เช่นเมื่อเกิดความรุนแรง รัฐบาลควบคุมม็อบไม่ได้ กองทัพก็ประกาศกฎอัยการศึก อ้างว่าเพื่อรักษาความสงบ ไม่ได้ล้มรัฐบาล สั่งสลายม็อบ จับเสธอ้าย ‘สงค์ สุ่น หมอตุลย์ ฯลฯ เข้าคุก ขณะเดียวกันก็ “เชิญ” นายกรัฐมนตรีไปหารือกับผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง อาทิเช่น อานันท์ ปันยารชุน, หมอประเวศ วะสี, อ.คณิต ณ นคร หาทางออกให้กับประเทศ ตั้งคณะ “คนกลาง” ขึ้นมาปกครองชั่วคราว ระหว่างหาทางออกแก้ไขความขัดแย้ง ประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

สูตรนี้คนไม่รู้อิโหน่อิเหน่อาจจะถูกหลอกได้ แต่จะมีคนแบบนั้นซักเท่าไหร่ ประชาชนไม่ได้กินแกลบ

มองสถานการณ์ทั้งหมดแล้ว รัฐประหารเป็นไปได้ยาก แต่ประมาทไม่ได้ เพราะมีคนพยายามจะทำ อย่างน้อยก็ต้องการล้มรัฐบาล ไม่ว่ารัฐประหารสูตร 1 สูตร 2 หรือใช้ ปปช. ซึ่งอาจใช้เวลาหน่อย โดยยังมีหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญอีกครั้งคือเมื่อศาลโลกตัดสินคดีปราสาทพระ วิหารในปีหน้า ซึ่งสามารถจุดชนวนคลั่งชาติขึ้นอีก

ม็อบองค์การพิทักษ์สยามจึงเป็นไปได้ทั้งการชิมลาง ทำอะไรไม่ได้ก็เลิก หรือปูทางไปสู่การล้มรัฐบาลจริง ถ้าเห็นว่ามีช่องทาง ขณะที่ชนชั้นนำก็สงวนท่าที พร้อมเหยียบเรือสองแคม

นี่ขึ้นกับการรับมือของรัฐบาลด้วย

โดดเดี่ยวม็อบ
รับกติกาตรวจสอบ

รัฐบาลต้องเผชิญศึก 2 ด้าน หรือ 3 ด้าน คือในสภา มีทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน และการอภิปรายของวุฒิสภา ส่วนนอกสภาก็มีม็อบเรียกหารัฐประหาร

มองผิวเผินเหมือนรัฐบาลถูกโดดเดี่ยว มีแต่มวลชนเสื้อแดงสนับสนุน แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะรัฐบาลยังมี “กระแสรักความสงบ” สนับสนุน อยู่ที่จะบริหารกระแสนี้อย่างไร

เวลาพูดถึงการแบ่งขั้วในสังคมไทย หลายคนคิดว่าผู้คนเลือกข้างกันไปหมดแล้ว ไม่มีใครอยู่ตรงกลาง แต่ความจริงไม่ใช่ มีคนตรงกลางเสมอ ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ห่างๆ แต่เลือกเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ หรือคนที่ไม่ผูกติดกับขั้วใดแต่พร้อมจะสนับสนุนไปเป็นเรื่องๆ

ถึงอย่างไร ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็ต้องคำนึงถึงคนตรงกลาง ต่อให้ไม่มีคนตรงกลางเลย ก็ต้องตั้งตุ๊กตาเสมือนว่ามี แล้วทำการเคลื่อนไหวอย่างมีเหตุผล มีประโยชน์ รู้ประมาณ

ถ้าประเมินคนตรงกลางในวันนี้ ก็คือกระแสรักสงบ ที่อาจเห็นว่ารัฐบาลก็ไม่ได้ทำงานดีนัก มีอะไรแย่ๆ หลายอย่าง แต่ประชาธิปัตย์ก็ไม่ดีไปกว่ากัน รัฐประหารยิ่งถอยหลังลงคลอง ฉะนั้นใครที่คิดรัฐประหารบ้าไปแล้ว ปล่อยให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบริหารไปก่อนดีกว่า จะได้ทำมาหากินสงบๆ สักพัก อย่ามาก่อม็อบสร้างความรุนแรงอะไรตอนนี้เลย

ฉะนั้นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลคือจะเอากระแสคนตรงกลางนี้มาปิดล้อมโดดเดี่ยวม็อบ ได้อย่างไร ไม่ใช่คิดแต่จะเอาเสื้อแดงเข้าสู้ ซึ่งจะทำให้คนตรงกลางเห็นว่ารุนแรงพอกัน กลายเป็นเรื่องของสองสี ชาวบ้านไม่เกี่ยว

รัฐบาลจะต้องทำให้เห็นว่า นี่ไม่ใช่เรื่องรัฐบาลทะเลาะกับฝ่ายค้านและม็อบ แต่การเรียกร้องรัฐประหาร และการก่อม็อบที่น่าวิตกว่าจะรุนแรงนั้น คุกคามต่อความสงบ ต่อวิถีชีวิตของผู้คนทั้งสังคม แล้วทำอย่างไรให้ผู้คนหลากหลายออกมาคัดค้านประณามพวก “อ้ายเอซ”

พูดอีกอย่างคือต้องศึกษาเอาอย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่สามารถโน้มน้าวกระแสรัก สงบให้ “ออกใบอนุญาตฆ่า” มวลชนเสื้อแดงนั่นเอง แม้เงื่อนไขบางประการต่างกัน เช่น กระแสผู้ดีชาวกรุงเกลียดชังมวลชนเสื้อแดงที่มองเป็น “คนชั้นต่ำ” อยู่แล้ว ทั้งยังมีสื่อ นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชนเลือกข้าง ช่วยโหมกระแสสนับสนุน

แต่ตอนนั้นมวลชนเสื้อแดงยังเพียงเรียกร้องให้ยุบสภาเท่านั้น ไม่ได้เรียกร้องให้แช่แข็งประเทศ ขณะที่ม็อบองค์การพิทักษ์สยามสุดโต่งนอกโลก ยากที่ผู้คนทั่วไปจะยอมรับได้ ถ้าไม่ใช่สลิ่มหรือเหลืองสุดขั้ว

ถ้ารัฐบาลทำได้สำเร็จ นอกจากป้องกันรัฐประหารแล้ว ยังจะโดดเดี่ยวพวกสุดขั้วสุดโต่ง “ฆ่าทางการเมือง” ให้ลงหลุมไปด้วยกัน ไม่เว้นแม้พรรคประชาธิปัตย์

รัฐบาลจะต้องแยกแยะท่าทีต่อฝ่ายค้านและม็อบ นั่นคือแสดงท่าทีน้อมรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นกระบวนการตรวจสอบตามวิถีทางรัฐสภา แต่ไม่ยอมรับ ประณาม และโดดเดี่ยวการชุมนุมเรียกร้องรัฐประหาร

แน่นอน อาจมองได้ว่า ปชป.กับเสธอ้ายรู้กัน มวลชนเป็นหมื่นๆ จะมาจากไหนถ้าไม่ใช่มวลชน ปชป.เพราะพวกพันธมิตรเหลือแค่หยิบมือ แต่รัฐบาลก็ต้องแยกแยะระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ กับการชุมนุม

ในทางหนึ่งรัฐบาลต้องรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างมีสปิริต อย่าพยายามล้มการอภิปราย เช่นที่ยกเรื่องอภิสิทธิ์หนีทหาร ถูกปลด ถูกถอดยศ มาเล่น “เกมการเมือง” ซึ่งจะทำให้คนตรงกลางเบื่อหน่ายเปล่าๆ และจะกลายเป็น “ฟอก” อภิสิทธิ์ทั้งที่ผิดจริง น่าเสียดายที่พรรคเพื่อไทยสายตาสั้น ไม่มีใครห้ามปรามกัน

แทนที่จะเข้าชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติอภิสิทธิ์ ไปเข้าชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งระงับการเรียกร้อง “แช่แข็งประเทศ” ของเสธอ้าย ตามมาตรา 68 ไม่ดีกว่าหรือครับ จะได้ 2 เด้ง ให้ชาวบ้านตั้งแง่ศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่า 2 มาตรฐานหรือเปล่า

ในการอภิปราย สมมติพรรคประชาธิปัตย์สวมบทช่างทาสียุคสุดท้าย ให้ร้ายป้ายสีอย่างไม่มียางอาย (อาจจะมีเรื่องชายชุดดำโผล่มาด้วย เพื่อปลุกความเกลียดชัง) พรรคเพื่อไทยจะรับมืออย่างไร ประท้วงให้วุ่นวายไปหมด ให้ผู้คนเบื่อหน่ายปิดทีวีหนี บอกว่ารัฐสภานี้เฮงซวยทั้งสองฝ่าย หรือจะตอบโต้อย่างมีเหตุผล หาวิธีอย่างไรให้ประชาชนเห็นใจนายกรัฐมนตรี ว่าถูกโจมตีอย่างไม่เป็นธรรม

รัฐบาลต้องยืนยันว่ายินดีให้ตรวจสอบด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ประท้วงพร่ำเพรื่อตราบใดที่ฝ่ายค้านไม่ชกใต้เข็มขัด ขณะที่ยืนยันว่าประชาชนมีสิทธิชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ มีสิทธิเรียกร้องให้ยุบสภา ลาออก แต่ไม่ใช่ไล่รัฐบาลแล้วไม่มีการเลือกตั้ง ผู้นำการเคลื่อนไหวเช่นนั้นต้องถูกประณามและควรมีความผิด

รัฐบาลควรจี้พรรคประชาธิปัตย์ให้ประกาศชัดเจนว่าไม่สนับสนุนม็อบเรียกหารัฐ ประหาร สมมติเช่น เสนอให้รัฐสภาลงมติประณามผู้ที่คิดแช่แข็งประเทศไทย หรือขอมติเพื่อให้เลขาธิการรัฐสภาไปแจ้งความดำเนินคดี ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ร่วมลงมติ ก็ไม่มีคำตอบให้ประชาชนที่เลือกเข้ามา เป็นนักการเมืองจากการเลือกตั้ง ไปสนับสนุนม็อบไม่เลือกตั้งได้อย่างไร

ถ้าโดดเดี่ยวม็อบสำเร็จ และทำให้สาธารณชนเห็นว่าประชาธิปัตย์หนุนม็อบ เล่นการเมืองทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะ ก็จะถีบส่งลงหลุมไปด้วยกัน

ใครบัญชาการ

ปัญหาของรัฐบาลคือใครจะเป็นผู้สั่งการรับมือการชุมนุม เท่าที่เห็นตอนนี้คือ เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งใช้ท่าทีแข็งกร้าว มากกว่าจะดึงกระแสรักสงบมาหนุนรัฐบาล

อย่าลืมว่าท่าทีที่กร้าวเกินไป หรือใช้การตอบโต้ทางการเมืองวันต่อวัน เท่ากับทำให้กลายเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับม็อบ รัฐบาลกับฝ่ายค้าน

ถ้าย้อนกลับไปดูการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามครั้งแรก ผู้ที่เบรกเสธอ้ายจนหัวทิ่ม ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นเอแบคโพลล์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลทักษิณตั้งแต่ยุคไทยรักไทย แต่ครั้งนี้เอแบคโพลล์สำรวจความเห็นประชาชนมายันว่า 97.3% ไม่ต้องการรัฐประหาร นี่คือกระแสคนตรงกลางที่มีพลัง มากกว่าม็อบเสื้อแดง มากกว่าการที่รัฐบาลสั่งจังหวัดต่างๆ ทำป้ายเชียร์

ผู้รับผิดชอบดูแลการชุมนุม จะต้องเป็นผู้ที่มีบุคลิกหนักแน่น มั่นคง ไม่แข็งกร้าว ไม่อ่อนแอ ไม่ปากมาก รับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปวันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง นาทีต่อนาที อย่างมีสติ ไม่ลนลาน ไม่ร้อนรุ่ม ต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าจะไม่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ต้องฉับไวใช้การตัดสินใจที่เหมาะสม สามารถใช้คำพูดชี้แจงประชาชนให้เชื่อมั่นการตัดสินใจ

ซึ่งมองอย่างไร ก็ไม่ใช่เฉลิม ที่มีความสามารถในการใช้วาทะตอบโต้ยั่วยุฝ่ายค้านในสภามากกว่า

แล้วก็ไม่ใช่จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีมหาดไทยผู้มีบุคลิกหยวนยอมอย่างเดียว ยืนยิ้มแหยๆ อยู่กลางม็อบกำนันผู้ใหญ่บ้าน ไม่เห็นความเข้มแข็ง ไม่สร้างความเชื่อมั่น

ส่วนที่เหลือยังมองไม่เห็นใครเพราะไม่ใช่รัฐมนตรีที่อยู่ในสายความมั่นคง

รัฐบาลนี้มีปัญหาการตัดสินใจในภาวะฉุกละหุก เหมือนเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ ที่ไปเอา พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก มาถูกน้ำท่วมตาย เพราะไม่มีความสามารถในการบริหารสถานการณ์ อำนาจตัดสินใจก็ไม่เป็นเอกภาพ ใครต่อใครในพรรค ร่วมด้วยช่วยกันวุ่นไปหมด

ถ้ารับมือม็อบแบบน้ำท่วม ก็อันตราย เพราะอาจไม่สามารถควบคุมเหตุบานปลายแบบที่ฝ่ายตรงข้ามต้องการ ตรงนี้แหละน่าห่วง เพียงแต่สถานการณ์อาจไม่เกิดขึ้น ถ้าม็อบ “อ้ายเอซ” ถูกกระแสสังคมต่อต้านจนฝ่อไปก่อน ทำได้แค่มาร้องเพลงในสนามม้าแล้วกลับบ้านใครบ้านมัน แบบนั้นก็ถือเป็นความพ่ายแพ้อีกครั้งของพวกสุดขั้วสุดโต่งที่จะฝ่อและท้อไป เอง

                                                                                    ใบตองแห้ง
                                                                                    15 พ.ย.55
..............................

15 พฤศจิกายน 2555 เวลา 18:02 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น