แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สุรพศ ทวีศักดิ์: ค้านท์ ขงจื้อ พุทธ กับประเด็น ‘จริยศาสตร์ไร้หัวใจ’

ที่มา ประชาไท


ขอเริ่มด้วยประเด็นที่ผมแลกเปลี่ยนกับอาจารย์สมภาร พรมทา ทางอีเมลดังต่อไปนี้ (ตัดบางข้อความออกเพื่อความกระชับ)
พอดีอ่านวารสารปัญญาฉบับล่าสุด (ดูเหมือนอาจารย์สมภารจะพูดในเชิงเทียบเคียงกับนิทเช่ และฮิตเลอร์ด้วย โปรดดู http://www.stc.arts.chula.ac.th/WisdomMag/Wisdom%20Magazine%20volume%203%20nunber%202rar) เห็นอาจารย์พูดผ่านๆ ว่า "จริยศาสตร์ค้านท์ไร้หัวใจ" อะไรประมาณนี้ จึงอยากลองแย้งอาจารย์ดูดังที่ผมโพสต์ในเฟซบุ๊กให้คนอื่นมาแลกเปลี่ยนกัน เล่นๆ ดังนี้ครับ
จริยศาสตร์ค้านท์คือ "จริยศาสตร์ที่ไร้หัวใจ" (?)

บางคนบอกว่า จริยศาสตร์ของค้านท์เป็นจริยศาสตร์ที่ไร้หัวใจเพราะปฏิเสธว่าการกระทำจาก อารมณ์ความรู้สึก เช่น การกระทำตามความรักความเมตตา ไม่ถือเป็น "ความดีทางศีลธรรม"การกระทำที่ถือเป็นความดีตามหลักจริยศาสตร์ของค้านท์ต้อง เป็นการกระทำจากการใช้ "เหตุผลบริสุทธิ์" (pure reason) เท่านั้น คำถามคือการกระทำตาม "เหตุผล" เป็นการกระทำที่ไร้หัวใจจริงหรือ? (ถ้ายกตัวอย่างมาแย้งได้เพียง 1 ตัวอย่าง ข้อตัดสินว่าจริยศาสตร์ค้านท์ไร้หัวใจ ย่อมเป็นข้อตัดสินที่ผิด)

ตัวอย่าง เช่น นายขาวเป็นอาจารย์สอนปรัชญา เขารู้ว่าการเรียนปรัชญาหางานยาก บังเอิญว่านายขาวมีลูกชายเรียนเก่ง เขารักลูกมาก ด้วยความรักนั้นเขาหมายมั่นปั้นมือจะให้ลูกสอบเรียนแพทย์ให้ได้ แต่บังเอิญอีกว่าลูกอยากเรียนปรัชญาไม่อยากเรียนแพทย์ นายขาวบอกว่า "ลูกต้องเชื่อพ่อนะ พ่อรักลูกมาก อยากให้มีอนาคตที่ดี ลูกต้องไม่เรียนปรัชญา ต้องเรียนแพทย์เท่านั้น"

กรณีเช่นนี้ค้านท์จะ บอกว่า "แม้พ่อจะรักลูกอย่างเหลือล้น ปรารถนาดีต่อลูกอย่างเหลือล้น แต่ด้วยความรักความหวังดีนั้นหาได้ทำให้การบังคับลูกมีความหมายเป็นความดี ทางศีลธรรมไม่ เพราะความดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรักความปรารถนาดี แต่ขึ้นอยู่กับการใช้เหตุผล" และค้านท์จะแนะนำว่า พ่อต้องใช้เหตุผลต่อลูก หมายถึงต้องฝืนเอาชนะความต้องการให้ลูกเรียนแพทย์ แล้วเคารพ "ความเป็นมนุษย์" ของลูก คือเคารพการใช้เหตุผลและเสรีภาพที่จะเลือกทางชีวิตตนเองของูลก ปล่อยให้ลูกตัดสินใจด้วยตนเอง

เหตุผลที่ค้านท์แนะนำเช่นนี้ เพราะการที่พ่ออ้างความรักความหวังดีเพื่อบังคับลูกให้เรียนแพทย์ตามที่ตน ต้องการนั้นเป็นการใช้ลูกเป็น "เครื่องมือ" เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตนเอง (อยากให้ลูกเป็นหมอ แต่ลูกไม่อยากเป็น) ฉะนั้น การกระทำตามอารมณ์ความรู้สึกคือ "ความรัก" จึงเป็นการไม่เคารพความเป็นมนุษย์ในฐานะที่มีเป้าหมายในตัวเอง จึงเป็นการกระทำที่ไม่ใช่ความดีทางศีลธรรม

แต่การเคารพการใช้เหตุผล และเสรีภาพการตัดสินใจของลูก (แม้จะฝืนความปรารถนาของตนเอง) เป็นการเคารพความเป็นมนุษย์ของลูก จึงเป็นการกระทำตามเหตุผล และเป็นไปตามกฎจริยธรรมที่ว่า 1)
ทำให้เป็นกฎสากลได้ และ 2) ไม่ใช้เพื่อนมนุษย์เป็นเครื่องมือ
คำถามคือ กรณีทำตามความรักความหวังดีด้วยการบังคับให้ลูกเรียนในสิ่งที่ตนไม่อยาก เรียน กับกรณีฝืนเอาชนะความรักความหวังดีนั้นแล้วเคารพการตัดสินใจอย่างอิสระของ ลูก อย่างไหนที่แสดงความเป็นคนมี "หัวใจ" กันแน่? นี่แสดงว่า "ความมีหัวใจ" มีอยู่แล้วอย่างชัดเจนใน "หลักการทางจริยธรรม" คือหลัก "เคารพความเป็นมนุษย์ที่มีจุดหมายในตัวเอง ไม่ใช้เพื่อนมนุษย์เป็นเครื่องมือ" ใช่หรือไม่?

อาจารย์สมภาร ตอบมาว่า
ดีครับอาจารย์ที่เอาไปคิดต่อ ไม่ทราบว่าคนอื่นๆ ท่านจะคิดเห็นว่าอย่างไร บางทีเรื่องคานต์อาจขึ้นกับตัวอย่าง เช่น ลูกเป็นตำรวจ เห็นพ่อทำผิดกฎหมาย จะทำอย่างไร คานต์น่าจะบอกว่า ก็ต้องทำตามกฎหมาย คนก็จะมองว่า ลูกที่ทำได้เช่นนี้จะต้องอยู่เหนืออารมณ์ความรู้สึกในเรื่องความเป็นพ่อลูก ซึ่งบางคนอาจเห็นว่าลูกทำถูกแล้ว แต่ขงจื๊อคิดอีกอย่าง ขงจื๊อคิดว่าความผูกพันซึ่งแสดงออกเป็นความรู้สึกระหว่างพ่อลูกใหญ่กว่า หน้าที่ ดังนั้นข้อแนะนำของขงจื๊อคือ ลูกต้องไม่ดำเนินการทางกฎหมายกับพ่อ แต่หากรู้สึกผิดที่ไม่ทำหน้าที่ก็อาจชดเชยด้วยการลาออกจากการเป็นตำรวจ ผมคิดว่าข้อเสนอของสองคนนี้ต่างกัน ขงจื๊อสอนจริยธรรมแบบอิงกับอารมณ์ คำถามผมคือ พุทธศาสนาเราเห็นด้วยกับใครระหว่างสองคนนี้ ฝากไปโพสต์ต่อด้วยนะครับ

อีกอย่าง เรื่องพ่อหวังดีกับลูกนั้นก็ยังเป็นปัญหาอยู่ว่า หากหวังดีในแง่คิดเอาอนาคตของลูกเป็นตัวตั้งก็อาจไม่เข้าข่ายปฏิบัติต่อลูก ในฐานะเครื่องมือ เพราะเครื่องมือหมายถึงสำหรับสนองตอบตนเอง ไม่ใช่ผู้อื่น

ผมตอบกลับไปว่า
ผมยังติดใจบางประเด็นอยู่ครับ (อาจารย์จะตอบหรือไม่ก็ได้)

1. จริยศาสตร์ขงจื้ออิงอยู่กับอารมณ์ ปัญหาที่ตามมาคือถ้าเอาความถูกต้องทางศีลธรรมวางอยู่บนฐานของอารมณ์ ความชัดเจนหรือความแน่นอนจะอยู่ตรงไหน ตัวอย่างที่ขงจื้อแนะนำว่า ตร.ไม่ควรจับพ่อที่ทำผิดกฎหมาย ย่อมอธิบายความเสมอภาคทางศีลธรรมไม่ได้ เพราะสถานะเป็นพ่อจึงควรได้รับสิทธิพิเศษเป็นเหตุยกเว้นไม่ถูก ตร.ที่เป็นลูกจับหรือ หรือทำไม ตร.ที่เป็นลูกจึงจะยืนยันความเสมอภาคทางกฎหมาย และยืนยันความรับผิดชอบของอาชญากรต่อการกระทำของตนเองกับพ่อของเขาอย่างเท่า เทียมกับที่เขาต้องยืนยันต่ออาชญากรอื่นๆ ไม่ได้

ถ้าในกรณีที่ลูก เห็นพ่อทำผิดร้ายแรง เช่นฆ่าคน ลูกต้องไม่จับหรือ (หรือแม้ไม่ได้เป็น ตร.จะต้องไม่แจ้ง ตร.หรือ) หรือถ้าพ่อมีกิ๊กเกิดทะเลาะรุนแรงกับแม่ ระงับอารมณ์ไม่อยู่ฆ่าแม่ตาย ลูกจะชั่งน้ำหนักอย่างไร ความรู้สึกเป็นพ่อเป็นลูกกับความรู้สึกเป็นแม่เป็นลูกอันไหนใหญ่กว่า ต้องจับพ่อในฐานะอาชญากรฆ่าแม่ไหม ถ้าจับ จับด้วยเหตุผลใด ไม่จับ จะอ้างเหตุผลใด

2. ที่ค้านท์แนะนำให้ลูกที่เป็น ตร.ต้องจับอาชญากรที่เป็นพ่อ เพราะเขาถือว่าความถูกต้องทางศีลธรรมต้องอยู่บนฐานของเหตุผล และเมื่อใช้เหตุผลแล้วย่อมยอมรับหลักความเสมอภาคทางศีลธรรม และในเมื่อลูกที่เป็น ตร.มีหน้ารักษาหลักการนี้ จะยกเว้นไม่ดำเนินการกับอาชญากรที่เป็นพ่อไม่ได้ แม้เขาจะเห็นโดย "ส่วนตัว" ว่าความรู้สึกเป็นพ่อลูกสำคัญเหนืออื่นใด และมีความเจ็บปวดมากเพียงใดกับการจับพ่อตัวเอง มันหมายความว่าเขายังมีหัวใจอยู่คือหัวใจที่เจ็บปวด กับหัวใจที่มีสำนึกในความถูกต้อง (good will)และเขาต้องฝืนความเจ็บปวดเลือกทำตามสำนึกในความถูกต้อง นี่คือหัวใจที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมไม่ใช่หรือ? (ผมคิดว่าจริยศาสตร์ของค้านท์มีพลังสนับสนุนการต่อสู้กับความกลัว ความเจ็บปวดอื่นๆ เช่นในทางการเมือง เพื่อยืนยันหลักการที่ถูกต้อง)

อาจารย์สมภาร ตอบมาว่า
ด้วยความยินดีครับ เรื่องนี้น่าคิด แรกที่อ่านขงจื๊อเรื่องนี้ ผมมีปฏิกิริยาไม่ค่อยดี แต่เมื่อค่อยๆศึกษาอย่างพยายามที่จะเข้าใจ ทำให้ผมเห็นว่า ที่สุดแล้ว มนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคลก็ต้องเลือกที่จะคิดจากมุมใดมุมหนึ่งเสมอเพื่อแก้ ปัญหาทางจริยธรรมที่ตนประสบ ขงจื๊อคิดว่าปัญหาจริยธรรมในชีวิตคนจำนวนหนึ่งคล้ายกัน คือคิดโดยไม่ต้องใช้อารมณ์ได้ แต่บางเรื่องซึ่งเกี่ยวข้องกับคนหรือสิ่งที่เรารู้จัก ตรงนี้แหละครับจะมีปัญหา ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวนั้นขงจื๊อยกมาเป็นตัวอย่างของปัญหาจริยธรรมแบบ นี้ ซึ่งเราต้องเลือกว่าจะเอาสังคมหรือพ่อของเรา ถ้าเลือกสังคม เราก็ต้องปฏิบัติต่อพ่อของเราไม่ต่างจากคนอื่น แต่ถ้าเลือกพ่อ เราก็ต้องไม่ทำอย่างนั้น

จริยศาสตร์แบบขงจื๊อนี้ผมคิดว่าน่าจะมาจาก การที่ขงจื๊อเป็นนักคิดในแนวหนึ่ง ที่ผมขอเรียกว่าไม่ได้คิดจากเหตุผลล้วนๆ เหมือนพวก Analytic Philosophers เช่นคานต์ มิลล์ รัสเซลล์ เป็นต้น ขงจื๊อน่าจะมีความคิดบางอย่างคล้ายพวกศิลปิน (ผมเองก็เป็นอย่างนั้น) คือเห็นว่าการเผชิญหน้าปัญหาทางจริยธรรมโดยใช้เหตุผลล้วนๆนั้นยังไม่ช่วยให้ เราแก้ปัญหาได้เด็ดขาดหมดจดหรอก มันจะเหลืออะไรค้างคาในใจเสมอ ดูเปาบุ้นจิ้นเป็นตัวอย่างก็ได้ หลังตัดสินบางคดี เปาบุ้นจิ้นนอนไม่หลับ แหงนหน้ามองท้องฟ้า แล้วตะโกนว่า ทำไมฟ้าโหดร้ายอย่างนี้ ที่เปาบุ้นจิ้นนอนไม่หลับก็เพราะ (๑) เหตุผลทำให้ต้องตัดสินเช่นนั้น แต่ (๒) คนที่เปาบุ้นจิ้นรักต้องเจ็บปวดเพราะการตัดสินนั้น เช่นประหารลูกชายครอบครัวหนึ่งที่เปาบุ้นจิ้นรู้จักสนิทสนม เคยมีบุญคุญต่อเปาบุ้นจิ้นมา แล้วท่านเปาก็รู้ว่าผู้เป็นแม่อาจจะต้องขาดใจตายเมื่อทราบว่าลูกถูกประหาร ทั้งที่รู้ว่าลูกเลว เปาบุ้นจิ้นคิดถึงผู้หญิงคนนี้ จึงนอนไม่หลับ

ผม คิดว่าการทำงานของเปาบุ้นจิ้นคล้ายคานต์ แต่เห็นไหมครับ คนที่ถือกฎหรือหน้าที่เคร่งครัดก็อาจจะมีทุกข์แบบนี้ ผมเข้าใจว่านิทเช่และคานต์นั้นน่าจะมองเห็นเรื่องนี้ จึงพยายามหาทางออก แล้วผมก็เชื่อด้วยว่า การอ่านพระพุทธศาสนานั่นแหละที่เป็นสิ่งจุดประกายความคิดให้คนเหล่านี้เห็น ทางออก ด้วยการเสนอว่า คนดีจริงๆต้องใจแข็ง อย่าให้อารมณ์ครอบงำได้

ทำ อย่างไรเราจึงจะได้คนดีแบบนั้น คานต์เสนอว่าต้องมาจากการศึกษา ผมส่งหนังสือมาให้อาจารย์อ่านเล่มหนึ่ง ในนั้นคานต์พูดว่าเราต้องฝึกอบรมเยาวชนของเราให้คุ้นกับการทำตามหน้าที่หรือ เหตุผลจนเป็นนิสัย อ่านแล้วผมก็คิดไปในทางว่า ที่สุดคานต์อาจกำลังหาทางสร้างหุ่นยนต์ทางจริยธรรมขั้นสูงที่หากได้คนแบบนี้ มาทำงานแทนเปาบุ้นจิ้น เขาจะนอนหลับเสมอ หลังตัดสินคดี

เห็น ไหมครับว่า เอาเข้าจริงเรื่องนี้ก็ไม่ง่าย ผมเข้าใจขงจื๊อ แต่ก็ไม่คิดว่าทางออกที่ท่านผู้นี้เสนอจะใช้ได้ผล แต่ก็รับว่า ที่ขงจื๊อเสนอว่า เรามีหน้าที่ต่อคนในครอบครัวมากกว่าโลกนั้นน่าคิด พระพุทธเจ้าบางครั้งก็ใช้หลักนี้ จึงทรงปฏิบัติต่อญาติหรือคนที่ทรงรู้จักดีกว่าคนอื่น ต่างไปจากคนอื่นในทางพระวินัย (เช่นเขาเคยนับถือศาสนาอื่น ต่อมาเปลี่ยนมารับพุทธศาสนา ก็รับบวชเลย ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบโดยคณะสงฆ์ยาวนาน ทำนองทรงรับรองว่ารู้จักคนเหล่านี้)

ที่ สุดคนดีแบบขงจื๊อก็อาจนอนไม่หลับในบางลักษณะ นึกถึงท่านเปาก็ได้ สมมติท่านเห็นแก่แม่คนผู้นั้น ก็เลยไม่ประหารลูกเขา คราวนี้ท่านก็อาจนอนไม่หลับเมื่อมานึกว่า คนก่อนๆที่ท่านประหารไปหลายคนว่าโดยคุณสมบัติก็ไม่ต่างจากคนนี้ แต่คนนี้ไม่ตายเพียงเพราะว่าท่านเปารู้จักครอบครัวเขา แล้วอย่างนี้จะนอนหลับอย่างไร

สรุป เวลานี้ผมเลือกคานต์ เพราะแม้จะนอนไม่หลับแบบคานต์ ก็พออธิบายให้แก่ตนเองได้บ้าง แต่แบบขงจื๊อ ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร

ที่ จริงผมว่าอาจารย์น่าจะเขียนเรื่องนี้ลงประชาไทนะครับ อาจจะเริ่มด้วยเรื่องที่เราคุยกันก่อน อาจตัดอีเมลที่เราเขียนถึงกันให้คนอ่านเห็นก่อน จากนั้นอาจารย์ก็ลุยต่อเลย
ผมมีสองประเด็นที่จะพูดต่อ คือ ประเด็นความมีหัวใจของจริยศาสตร์แบบค้านท์ อยู่ที่ “เจตนาดี” หรือ good will และอยู่ที่หลักการทางจริยธรรมที่ค้านท์เสนอ กับประเด็นพุทธศาสนาเห็นด้วยกับค้านท์หรือขงจื้อ
ประเด็นแรก เวลาเราพูดถึง “ความมีหัวใจ” หากหมายเพียงว่าเป็นการทำตามอารมณ์ความรู้สึก ความรัก ความปรารถนาดี ความพึงพอใจ หรือทำตามเงื่อนไขความผูกพันส่วนบุคคล จริยศาตร์ของค้านท์ก็ไร้หัวใจในความหมายนี้ แต่ถ้าความมีหัวใจหมายรวมถึงการมี “สำนึกในความถูกต้อง” สำนึกในการทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ หรือสำนึกในการทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อความถูกต้อง ผมคิดว่าเจตนาดีหรือ good will  ในจริยศาสตร์ของค้านท์คือสำนึกที่ว่านี้ และสำนึกดังกล่าวนี้เองที่ทำให้เรามี “ความกล้าหาญทางจริยธรรม” (moral courage) และความกล้าหาญทางจริยธรรมนี่เองที่แสดงถึงความมีหัวใจเสียสละ หรือหัวใจที่ยอมเจ็บปวดเพื่อยืนยันความถูกต้องที่อิงหลักความยุติธรรมบนความ เสมอภาค
ค้านท์ยอมรับว่า ในโลกของความเป็นจริงหรือโลกปรากฏการณ์ (phenomenon) มนุษย์มีแรงโน้มต่างๆ (inclinations) ที่จะทำตามอารมณ์ความรู้สึก สัญชาตญาณที่เป็นกลไกตามกฎธรรมชาติ ทำตามเงื่อนไขที่จะให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ รวมทั้งทำตามอิทธิพลของรัฐ ศาสนา จารีตประเพณี ฯลฯ ภาพความจริงของโลกตามที่ปรากฏคือโลกที่เป็นไปตามกลไกของกฎความเห็นสาเหตุและ ผลหรือเงื่อนไขต่างๆ ตามทัศนะแบบเหตุวิสัย (determinism) ค้านท์เห็นว่าเมื่อเราทำตามแรงโน้มต่างๆ ในโลกปรากฏการณ์เราย่อมไม่มีเสรีภาพ และการกระทำตามแรงโน้มต่างๆ ที่เป็นกลไกเช่นนั้นย่อมไม่ใช่การกระทำที่มีค่าเป็นความดีทางศีลธรรม แต่ในโลกของศีลธรรมคือโลกของเสรีภาพและเหตุผล คือเมื่อเราจะตัดสินใจเลือกการกระทำที่ถูกต้องทางศีลธรรม เราต้องมี “เสรีภาพ” จากแรงโน้มต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งหมายถึงมีเจตจำนงอิสระ (free will) ที่มีอำนาจกำหนดตนเอง (autonomy) ให้ทำตามเหตุผลปฏิบัติ (practical reason) ที่สร้างหลักการทางศีลธรรม (maxims) ของตนเองขึ้นมาในความหมายว่าเป็นหลักการสากลที่ใช้กับทุกคนได้อย่างเสมอภาค และเป็นหลักการที่ปฏิบัติต่อมนุษย์ในฐานะมีจุดหมายในตัวเอง ไม่ใช้มนุษย์ (ตนเองและคนอื่น) เป็นเครื่องมือ
ฉะนั้น แม้จะเป็นจริงว่าเรามีอารมณ์ความรู้สึก และมีแนวโน้มจะทำตามอารมณ์ความรู้สึกอยู่เสมอ แต่ค้านท์เชื่อว่ามนุษย์เราสามารถฝืนเอาชนะอารมณ์ความรู้สึกได้ คือสามารถมีเสรีภาพที่จะกำหนดตัวเองให้ทำตามเหตุผลได้ และมีแต่การทำตามเหตุผลเท่านั้นการตัดสินถูก ผิดทางศีลธรรมจึงเที่ยงตรง
ผมคิดว่า ความมีหัวใจในจริยศาสตร์ของค้านท์ย่อมอยู่ที่ตัวหลักการทางศีลธรรมที่ (1) ทำให้เป็นกฎสากล (ยุติธรรม/เสมอภาค) ได้ และ (2) หลักการเคารพศักดิ์ศรีของเป็นมนุษย์ (ไม่ใช้มนุษย์เป็นเครื่องมือ) นี่เอง และอยู่ที่ good will หรือสำนึกในการกระทำสิ่งที่ถูกต้อง หรือทำตาม “หน้าที่” ตามหลักการทั้งสองนั้นด้วย
ซึ่งหมายความว่าไม่ใช่การทำตาม “หน้าที่” ทุกอย่างจะเป็นความถูกต้องทางศีลธรรมเสมอไป หน้าที่ซึ่งถือเป็นความถูกต้องทางศีลธรรมต้องเป็นไปตามหลักการทางศีลธรรมสอง ประการนี้เท่านั้น หากเป็นหน้าที่ซึ่งขัดแย้งกับหลักการสองข้อนี้ย่อมไม่ใช่ความถูกต้องทาง ศีลธรรม (เช่น การกระทำที่ไร้หัวใจแบบฮิตเลอร์ไม่ใช่การทำตาม “หน้าที่” บนหลักการทางศีลธรรมที่ค้านท์เสนอ เป็นต้น)
ทำไมค้านท์จึงเสนอว่า เวลาเราตัดสินใจเลือกการกระทำทางศีลธรรมต้องใช้เหตุผลเหนืออารมณ์ความรู้สึก ก็เพราะค้านท์ต้องการความแน่นอน ความเป็นสากลของการกระทำที่ถูต้องทางศีลธรรมที่อยู่บนความยุติธรรม ความเสมอภาค ความเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ ซึ่งการทำตามเหตุผลเหนืออารมณ์ดังกล่าวเป็นไปได้เมื่อเราทำตามจิตสำนึกในการ ทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อความถูกต้อง เหมือนผู้พิพากษาผู้ซึ่งมีสำนึกปกป้องความยุติธรรมต้องทำตามเหตุผลเหนือ อารมณ์ความรู้สึกหรืออิทธิพลใดๆ ในกรณีเช่นนี้เราไม่อาจมองว่าผู้พิพากษาไร้หัวใจ หรือเป็น “หุ่นยนต์ทางศีลธรรม” การทำตามเหตุผลเหนืออารมณ์ความรู้สึก หรือการทำตามจิตสำนึกในความถูกต้องเพื่อความถูกต้อง จิตสำนึกทำหน้าที่เพื่อหน้าที่บนหลักการสากลที่ยึดความเสมอภาคและการเคารพ ศักดิ์ศรีของมนุษย์ ย่อมไม่ใช่หุ่นยนต์ทางศีลธรรมเช่นกัน
ประเด็นที่สอง ผมคิดว่าสาระสำคัญของหลักจริยศาสตร์พุทธ ศาสนาน่าจะโน้มเอียงมาทางค้านท์มากกว่าขงจื้อ เช่น แม้ว่าพุทธศาสนาจะสอนเรื่องศีลธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลพ่อ แม่ ลูก ครู ศิษย์ เป็นต้น และในบางกรณีพุทธศาสนาจะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเป็นพิเศษ (เช่นตัวอย่างการอนุญาตให้ญาติที่เคยนับถือศาสนาอื่นมาก่อนบวชเป็นกรณีพิเศษ ที่ อ.สมภารยกมา) แต่โดยทั่วไปพุทธศาสนาถือว่าความถูกต้องสำคัญกว่า ไม่เช่นนั้นเจ้าชายสิทธัตถะคงไม่ละทิ้งครอบครัวและขบถต่อความต้องการของพ่อ หากไม่เห็นว่าเป้าหมายที่ถูกต้อง (โพธิญาณ) สำคัญกว่าความรู้สึกผูกพันส่วนบุคคล และในศีลธรรมทางสังคมพุทธศาสนาก็ยืนยัน “ความถูกต้องเป็นใหญ่” (ธรรมาธิปไตย) ซึ่งหมายความว่า ความถูกต้องเป็นหน้าที่ที่ต้องทำเหนือเงื่อนไขอื่นๆ เช่น อารมณ์ความรู้สึก อำนาจ ผลประโยชน์ และ ฯลฯ
ที่ต่างจากค้านท์คือพุทธศาสนายอมรับการกระทำตามอารมณ์ความรู้สึกด้านบวก ว่าเป็นความดีทางศีลธรรม เช่น ทำด้วยความรัก ความเมตตากรุณา หรือเห็นว่าความเมตตากรุณาควรบ่มเพาะให้งอกงาม แต่ถึงที่สุดแล้ว การใช้คุณธรรมส่วนที่เป็นอารมณ์ความรู้สึกด้านบวกต่างๆ นั้น ก็ต้องใช้บนพื้นฐานของปัญญาที่ถือความถูกต้องเป็นใหญ่ ฉะนั้น ในกรณีที่ต้องเลือกระหว่างอารมณ์ความรู้สึกกับความถูกต้อง เช่น ตำรวจที่เป็นลูกควรจับพ่อที่เป็นอาชญากรหรือไม่ ผมเข้าใจว่าพุทธศาสนาจะเห็นด้วยกับคำแนะนำแบบค้านท์มากกว่าที่จะเห็นด้วยกับ คำแนะนำแบบขงจื้อ
อีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากป้าหมายทางจริยศาสตร์พุทธศาสนามุ่งอิสรภาพด้านใน ฉะนั้น พุทธศาสนาจึงเสนอให้ฝึกกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยความไม่ยินดียินร้าย (หรือที่ท่านพุทธทาสบอกว่า “ทำด้วยจิตว่าง” จากความรู้สึกว่ามีตัวกู ของกู น่าจะคล้ายการศึกษาที่ฝึกการใช้เหตุผลเหนืออารมณ์ตามความคิดของค้านท์ที่ อ.สมภารอ้างถึง) ซึ่งหมายถึงการกระทำด้วยปัญญานั่นเอง และคุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งของอริยบุคคลคือเป็นผู้รับรู้โลกธรรมด้วยความ ไม่ยินดียินร้าย และเป็นผู้กระทำสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญา บางครั้งอาจทำให้มองได้ว่าวิธีฝึกฝนแบบนี้เหมือนการทำตัวเองให้เป็น “หุ่นยนต์ทางศีลธรรม”
แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนพุทธศาสนาจะเห็นว่า อารมณ์ความรู้สึกด้านบวก เช่นความเมตตากรุณาไปด้วยกันได้กับปัญญา คือยิ่งปัญญางอกงาม ความรัก ความเมตตาต่อเพื่อมนุษย์และสรรพสัตว์อย่างปราศจากอคติยิ่งงอกงามตามไปด้วย ทว่าเมื่อใช้เมตตากรุณาก็ต้องใช้บนฐานของปัญญา อย่างที่พุทธะมีกรุณาต่อสรรพสัตว์เสมอกัน แต่เมื่อต้องวินิจฉัยถูกผิดทางศีลธรรมก็ต้องใช้ปัญญานำทางเสมอ
อันที่จริงศีลธรรมบนฐานของอารมณ์ความรู้สึกอาจดูมีเหตุผลเมื่อใช้กับความ สัมพันธ์ส่วนบุคคล เช่น พ่อ แม่ ลูก เพื่อน หรือเกี่ยวกับการเลือกใช้ชีวิตส่วนตัวของปัจเจกบุคคลที่จะตัดสินใจเลือกตาม ความพึงพอใจและรับผิดชอบตัวเอง แต่เมื่อนำมาใช้ในเรื่องทางสังคมจะมีปัญหามาก (ดังเช่น อ.สมภารยกตัวอย่าง และในที่สุดหากเป็นเรื่องสังคมก็ต้องเลือกค้านท์)
ตัวอย่างเช่น ในบ้านเรา “หลักศีลธรรมทางสังคม” ที่อิงอยู่กับอารมณ์ความรู้สึก “รักในหลวง” ที่ปลูกฝังหลักการทางศีลธรรมแบบเงื่อนไขว่า “ถ้ารักในหลวงก็ต้องจงรักภักดี และทำดีเพื่อในหลวง” หรือหลักศีลธรรมแบบพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ถือว่า “การทำดี การเป็นคนดีขึ้นอยู่กับความจงรักภักดี กตัญญูต่อแผ่นดิน ใช้หนี้แผ่นดิน” ในที่สุดหลักการศีลธรรมบนฐานของอารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้ก็อาจกลายเป็น “หลักศีลธรรมเผด็จการ” ที่ไร้หัวใจที่เคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของมนุษย์ยิ่งกว่าหลักศีลธรรมที่อยู่บนฐานของเหตุผล เพราะเป็นหลักศีลธรรมที่ “บล็อก” ไม่ให้มนุษย์มีเสรีภาพในการเลือกด้านตรงข้าม คนที่ถูกบล็อกให้อยู่ภายใต้หลักศีลธรรมดังกล่าวนี้จึงอาจเป็นยิ่งกว่า “หุ่นยนต์ทางศีลธรรม” เสียอีก คือยังเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตเป็นๆ อยู่ แต่เป็นเพียง “มนุษย์เครื่องมือ” สำหรับค้ำยันความมั่นคงสถาพรของชนชั้นผู้มีอำนาจที่ตนมีหน้าที่ต้องจงรัก ภักดีเท่านั้น
ที่สำคัญหลักศีลธรรมที่อยู่บนฐานของอารมณ์ความรู้สึกดังกล่าว มันก็ขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นปกครองที่จะวางมาตรฐานตัดสินถูก ผิดทางศีลธรรมของของสังคม ซึ่งแน่นอนว่า หลักการทางศีลธรรมเช่นนี้ไม่มีทางใส่ใจเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์มากไปกว่าการปกป้องสถานะอำนาจของชนชั้นปกครองเอง
ฉะนั้น เมื่อเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ไม่ได้รับการเคารพ ความจริง ความเป็นธรรมก็ไม่ได้รับการเคารพด้วย เราจึงอยู่กับความหลอกลวง (ดราม่า) มากกว่าความจริง อยู่กับความไร้เหตุผลมากกว่าความมีเหตุผล อยู่อย่างคุ้นชินกับความอยุติธรรมจนรู้สึกเย็นชากับการสังหารหมู่กลางเมือง และอยู่กับการหลอกตัวเองว่ามี “เสรีภาพ” จนไม่เห็นคุณค่าหรือกระทั่งต่อต้านการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ดังผู้ประสงค์ยืนยันความเป็น “ประชาชน” หรือความเป็น “เสรีชน” ของตนเองต้องถูกฆ่าครั้งแล้วครั้งเล่า โดยผู้ฆ่าและผู้สั่งฆ่ายังลอยนวลเสมอมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น