แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

The Taste of Money: กังนัมกลลวง รสรักเงินร้อนรุมเร้า แรงงานแรงเงา แผดเผาชนชั้นสังคม

ที่มา ประชาไท





******บทความนี้มีการเปิดเผยรายละเอียดบางส่วนของภาพยนต์เรื่อง The taste of money :ประชาไท ******

ขอดูบัตรประชาชนด้วยค่ะ
คือคำขอของพนักงานขายตั๋วหนัง เมื่อผู้เขียนแจ้งความจำนงจะเข้าไปชิม The Taste of Money (ติดเรท +20) หนังเรื่องที่เจ็ดของผู้กำกับ อิม ซัง ซู เจ้าของผลงานหนังวิจารณ์สังคมและการเมืองอันเผ็ดร้อน อย่างเรื่อง The President's Last Bang ที่ฉายเมื่อหกเจ็ดปีที่แล้ว อันเป็นเรื่องนายพล ปาร์ก จุง ฮี ประธานาธิบดีคนที่สามของเกาหลีใต้ผู้ปกครองประเทศมายาวนานถึง 18 ปี ถูกลอบสังหารโดย นาย คิม แจ ยู ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2522 ผู้เขียนรู้สึกทึ่งที่ได้รู้โดยบังเอิญว่า ปาร์ก จุง ฮีและประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ของฟิลิปปินส์ นั้นเกิดปีเดียวกัน เดือนเดียวกัน คือกันยายน ปี พ.ศ. 2460 อายุห่างกันแค่ไม่กี่วัน เพราะทั้งคู่เหมือนกันตรงที่ด้านหนึ่งนั้นเป็นที่เคารพบูชาเรื่องการพัฒนา ประเทศในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในประมาณช่วงต้นทศวรรษที่ 60 ถึงราวต้นทศวรรษที่ 80 แต่อีกด้านหนึ่งนั้น เป็นจอมเผด็จการที่ละโมบและบ้าอำนาจ และเหมือนกันที่ลูกหลานทายาททางชีวภาพและการเมืองก็ยังคงมีบทบาทหรือพยายาม มีบทบาทในแวดวงมายาการเมืองกันโกลาหลจนถึงทุกวันนี้

ผู้เขียนได้ข่าว มาว่าปีแรกที่ฉายหนังเรื่อง The President's Last Bang เมื่อปี 2548 ก็โดน “Bang” และ “Ban” เซนเซอร์ยับจริงๆ เพราะผู้กำกับอันร้อนแรงของเราได้เสนอภาพลบของประธานาธิบดีที่วาทกรรมชาติ นิยมสร้างรัศมีทำให้แตะต้องมิได้ แต่เกาหลีใต้ก็น่าชม (แม้เป็นคำชมที่ชมได้ไม่เต็มปากอยู่ดี) ตรงที่ว่าปีถัดมาศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการตัดทอนตัดฉาก และเสนอให้บริษัทหนังจ่ายเงินทดแทนให้ครอบครัวของประธานาธิบดีที่ “โอปป้าซัง ซู”ไปเปิดกรุ เผาเรื่อง เป็นเงินหนึ่งร้อยล้านวอน หรือ หนึ่งแสนห้าพันดอลล่าร์สหรัฐ เท่านั้นเอง แต่ผู้กำกับก็บ่ยั่น เรื่องใหม่นี้แรงพอกันในเรื่องเนื้อหา ฉากเซ็กซ์และความรุนแรง แรงฤทธิ์ถึงขั้นได้รับเชิญไปฉายงานเทศกาลเมืองคานส์ปีนี้เลยทีเดียว และแม้คะแนนจะตกเป็นที่โหล่ในบรรดาหนังทุกเรื่องที่เข้าชิงรางวัลอภินิหาร ใบไม้ทองคำ Palme d'Or ผู้กำกับยังมีฤทธิ์แรงพอที่จะบอกว่าที่ไม่ชนะรางวัลน่ะเป็นความล้มแหลวของ เขา และเพราะคนที่ไม่ใช่คนเกาหลีไม่เก๊ทหนังที่สื่อถึงความเป็นเกาหลี

โอปป้าซังซูสไตล์ จริงๆ

ส่งบัตรประชาชนให้ดู
ส่งเงินจากกระเป๋าตังค์แฟบๆ เพื่อแลกเปลี่ยนรสชาติของ “เงิน” ที่กำลังจะได้ลิ้มลองในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า สายตาเหลือบไปเห็นโปรโมชั่นสุดพิเศษ ใช้บัตรเครดิตใบนั้นใบนี้ได้ลดค่าหนัง อีกใบได้สะสมแต้ม เดินไปรอหน้าโรงหนัง เห็นแถวมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ท่านๆ ที่พกบัตรหลายใบ ทั้งบัตรแทนเงิน เติมเงิน ลดเงิน คู่รักชายหญิงหลายคู่เดินคล้องแขนเตรียมเข้าโรงหนังแต่เป็นโรงข้างเคียงทั้ง สิ้น ผีแวมไพร์ทไวไลท์และประเด็นเรื่องคบชู้ของดารานำ ดูจะเรียกแต้มบัตรและดูดสูดเอาเงินของผู้ชมได้มากกว่าเรื่องที่มีชื่อเรื่อง และเนื้อหาเกี่ยวกับเงินโดยตรง เพราะพอเดินเข้าไปในโรงหนังหมายเลขที่พิมพ์กำกับบนตั๋ว ก็เห็นว่ามีคนในโรงประมาณห้าคน รวมตัวผู้เขียนแล้วด้วย เป็นการตอกย้ำความจริงของชีวิตอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้ในช่วงระยะ ยี่สิบเก้าปีที่ได้เกิดมาใช้ชีวิตบนโลกนี้  สิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราคิด มักจะไม่ค่อยตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นจริงๆ สักเท่าไหร่นัก

และข้อความจริงที่ว่าเปลือกนอกมักไม่แมทช์เปลือกใน
ก็เป็นธีมของหนังเรื่อง The Taste of Money เปิดเรื่องมา ตัวเอกของเรา คือ ยองจัก กำลังหอบเงินใส่กระเป๋าเดินทางตามคำสั่งของเจ้านายคือ ท่านประธานยูน ซึ่งเมื่อหลายปีมาแล้วได้แต่งงานกับภรรยาที่รวยมากเพียงเพื่อเงินและเพื่อ อัพสถานภาพตัวเอง เงินในกระเป๋าเดินทางที่ว่านั้นได้เดินทางไปกับทั้งสองไปยังจุดหมายคือ อัยการคนหนึ่ง เหตุผลต้นตอของการขนเงินก็คือเพื่ออุดอัยการ ให้ลูกชายของท่านประธานพ้นผิดเรื่องหลบ หลีก เลี่ยงภาษี อัยการบ่นอุบว่าเงินจะทำให้เขาตกอยู่ในที่นั่งลำบากแต่ก็รับไปอยู่ดี

เมื่อ ฉากตัดกลับไปบ้านท่านประธานเจ้าสำราญ เราได้เห็นการปอกเปลือกครอบครัวคนรวยไฮโซของเกาหลีใต้ ที่คงไม่ต่างอะไรกับของไทยมากมาย (มั้ง) ผ่านสายตาของยองจักผู้ใสซื่อ ทำงานเพื่อครอบครัวนี้มาตั้งสืบปี ไม่เคยปริปากบ่นหรือ “สอดใส่” ปึกเงินในกระเป๋าเสื้อนอกของตัวเอง เขารู้หน้าที่และเป็นที่ไว้ใจของทุกคนในบ้าน เรื่องทุกอย่างดูจะโอเค เรียกได้ว่า รสรักเงินร้อนรุมเร้า ดีมานด์มาบรรจบกับ ซัพพลาย (อันเป็นประโยคที่ผู้เขียนได้ยินเพื่อนในกลุ่มวิจารณ์การแต่งงานของดาราหน้า เด็กกับเจ้าสัวที่หน้าไม่เด็ก… แล้วมันติดหูเหมือนทำนองเพลงกังนัมสไตล์)

จน กระทั่ง… วันหนึ่งเขาดันไปเห็นท่านประธานเล่นรักกับเอวา ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงของหลานท่านประธานเองและเป็นคนรับใช้คนหนึ่งของบ้าน พี่เลี้ยงคนนี้เป็นชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เหมือนประธานาธิบดีมาร์กอส ที่ไม่เหมือนมาร์กอสคือเธอมีลูกเล็กๆ สองคนที่รออยู่ที่ประเทศบ้านเกิด รอให้เธอส่งเงินที่ได้จากการรับใช้และใช้รุกใช้รับเพื่อซื้อข้าวและเก็บเงิน เพื่อชีวิตที่ดีในวันข้างหน้า อันเป็นเรื่องราวของแรงงานฟิลิปปินส์ทั่วโลก หลายคนอุบด่าว่าเป็นพิษของมาร์กอสและรองเท้าเป็นล้านคู่ของอีเมลด้าผู้เป็น ภริยา (ชื่อของเธอไม่ใช่ เมลด้า แต่คือ อีเมลด้า ผู้เขียนมิอาจเอื้อมหยาบคายถึงขั้น.ใช้คำขึ้นต้นพิเศษ “อี” กับคนในชนชั้นนั้น)  ยองจักผู้ซื่อสัตย์เห็นเข้าก็ปิดปากเงียบ เรื่องไปแตกก็เมื่อท่า “น้ำแตก” คือเมื่อภรรยาของท่านประธานไปเห็นการเล่นรักครั้งถัดมาผ่านจอซีซีทีวีที่เธอ แอบติดตั้งเข้า โลกแตกทันที

ด้วยความเหงา เศร้า ภรรยาวัยดึกไปมีสัมพันธ์สวาทกับหนุ่มยองจักเสียเลย เรียกได้ว่าเป็นการข่มขืนชนิดที่ ริชาร์ด เมอร์ด็อก มิตต์ รอมนีย์ และผองเพื่อนผู้น่ารักคู่ฟัดสิทธิสตรี หงายหลังไม่รู้จะนิยามคำว่า “ข่มขืน” อย่างไรเลย หากยองจักท้องขึ้นมา คงต้องมองว่าเป็นการสมยอม เพราะค่ายนี้เขาว่าไว้ว่าผู้หญิงที่ถูกข่มขืนตั้งท้องไม่ได้บ้าง เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า(จ้าวโลก)บ้าง การข่มขืนเป็นเรื่องที่โอเค ยอมให้ทำแท้งก็ไม่ได้บ้าง เอาล่ะ พอละ เราทนฟังบุชและคนค่ายนี้มานานหลายปี พวกที่คิดว่าจะต้องทนโอบามา ทำไมจะทนเหมือนกันไม่ได้เล่า เอาเป็นว่าสมัยที่สองนี้ยองจักคงทำแท้งได้แม้ว่าคนรวยจะรวยน้อยลง อ้าว ไม่สิ เรื่องเลยเถิดไปใหญ่ เมื่อประธานเกิดประกาศกับที่บ้าน ต่อหน้าภรรยา ลูกชายและลูกสาว ที่แอบปิ๊งยองจัก ว่าตกหลุมรักกับเอวาและวอนให้ครอบครัวปล่อยเขาไปใช้ชีวิตกับเธอ ภรรยาถึงกับเครียดและแค้น ส่งข้อความไปหาอัยการทำทุกทางไม่ให้สามีเดินทางออกนอกประเทศ ริบเงินริบทอง แล้วทำทีว่าเป็นนางเอก เรียกหญิงชั่วชายชู้ให้มานั่งจิบชาคุยกันดีๆ ที่บ้าน
ผล: เอวาจู่ๆ ก็จมน้ำในสระว่ายน้ำตาย
เหมือนในเมืองไทยที่จู่ๆ มีคนถูกยิงตายในผับที่เผอิญมีลูกนักการเมืองนั่งกินกับแกล้มอยู่ ภรรยาว่าไม่รู้ไม่เห็นไม่ผิดอะไรทั้งสิ้น แต่ยองจักและลูกสาวแน่ใจทีเดียวล่ะว่าภรรยานี่แหละตัวดี กำจัดคนเป็นว่าเล่นเหมือนกำจัดแมลงวัน ท่านประธานเสียใจ เสียสติ ฆ่าตัวตายในที่สุด ยองจักเริ่มจิตหลุด เริ่มเอาปึกเงินในห้องเซฟของครอบครัวเจ้านายสอดใส่ให้ครบตามรูกระเป๋าตามตัว รสของเงินนั้นร้อนรุ่มสุมไฟเผา เขารู้สึกผิดบาปที่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวต้นเหตุการตายของคน บริสุทธิ์ ก็เลยเอาปึกเงินทั้งหมดสอดใส่เข้าไปในหีบศพของเอวา และเดินทางพร้อมหีบศพไปยังฟิลิปปินส์ ลูกสาวของท่านประธานเมื่อเสียพ่อแล้ว ก็ยังต้องมาเสียใจอีกรอบเมื่อยองจักสารภาพว่าได้นอนกับแม่ของเธอมาแล้ว แต่เพราะความรักที่ร้อนรุ่มสุมไฟเผา เธอได้ตามยองจักมาฟิลิปปินส์ด้วย

ฉาก ที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจคือฉากบนเครื่องบิน ลูกสาวหันไปมองยองจักด้วยความเห็นใจ พร้อมบอกว่ารู้นะรู้ว่ามันเป็นการข่มขืน ยองจักไม่ใช่ชายคนแรกที่เป็นเหยื่อแม่เธอ ทำให้ฝ่ายชายฟังแล้วเกิดกำหนัด จูงมือพาเธอเข้าห้องน้ำบนเครื่องบินเพื่อซ่อมแซมและเสริมสร้างวาทกรรมความ เป็นจ้าว(เจ้า) โลกรวมทั้งศักดิ์ศรีที่ได้สึกหรอไป ท่ามกลางความตกตะลึงพรึงเพริดของผู้โดยสารและแอร์สายการบินที่มองตาโตเท่า ไข่ห่าน ผู้เขียนตาโตเท่าไข่นกกระจอกเทศไปด้วยทีเดียว เพราะเรื่องนี้แม้จะวิจารณ์สังคมบูชาเงินอันโสมม แต่เรื่องนี้กลับไม่ผ่านเรื่องการท้าทายวาทกรรมอำนาจชายเป็นใหญ่อันโสมม จริงอยู่ที่ตัวละครผู้หญิงที่สุดแสนจะแบนราบนาบดิน ไร้มิติและเป็นของเล่นของผู้ชายนั้นอาจจะเป็นตัวสะท้อนสังคมของเรา แต่มันน่าจะมีการตั้งคำถามท้าทายการนำเสนอประเด็นเรื่องผู้หญิงให้มากกว่า นี้ หรือว่ามันมีแต่ฝังอยู่ลึกภายใน???

แรงเงาแรงงานต่างด้าว
มุตา มุนิน มุสา ถอยไปค่ะ เพราะเรื่องนี้แรงกว่าแรงเงาตรงที่ “เมีย ผ.อ.” เวอร์ชั่นเกาหลีเนี่ย เล่นรักกับวีกิจเพื่อแก้แค้นสามี แถมยังสั่งฆ่ามุตา/มุนิน/มุสา ได้สำเร็จ ยังไม่พอค่ะ ยังส่งแรงเงาพยาบาททำให้สามีฆ่าตัวตายได้อีก ขอถอนคำพูดค่ะที่ว่าเรื่องนี้ไม่เป็นเฟมินิสต์ แต่คำว่า “เฟมินิสต์” สมัยนี้ใช้จนเกร่อและเกลื่อนเหลือที่จะทน “วูแมนทัช” ถูกแปลและแปลงความหมายจนไม่รู้แล้วว่ามันแปลว่าอะไรกันแน่ เอาเป็นว่ามุตา มุนิน มุสา กลับถูกแปรสภาพมาเป็นเอวา แม่บ้านชาวฟิลิปปินส์ที่จมน้ำตายอย่างลึกลับ ตายไปนานแล้ว ถูกชิปกลับบ้านมั้งโลงก็ยังมีฉากลืมตามองเงินรอบตัวที่ยองจักสอดเข้าไปให้ เพื่อเป็นการไถ่บาปพร้อมกรีดร้อง แน่นอน ผู้กำกับของเรากำลังจะเล่าเรื่องผีเช่นกัน เล่าเรื่องผีผ้าห่มไม่พอ เขายังเล่าเรื่องผีแรงงานต่างด้าว ผีหัวหน้าใหญ่แห่งทุนนิยมและชนชั้นสังคมชนิดที่ว่าไม่คิดจะเผาผีเลยทีเดียว

แผดเผาชนชั้นสังคม
หากเราคิดเล่นๆ ท่านประธานก็คือชนชั้นกลางที่ตะเกียกตะกายขึ้นมาเป็นไฮโซโดยการแต่งงานจับคน ที่รวยกว่า ภรรยาคือชนชั้นสูงมีเงินใช้เงินอย่างบ้าคลั่งโดยที่ไม่รู้สึกรู้สมอะไร ยองจักซึ่งเป็นคนมีการศึกษาคือตัวแทนชนชั้นกลาง ตัวแทนมนุษย์เงินเดือนที่หลับหูหลับตาทำงานให้คนชนชั้นท่านประธานและภรรยา โดยไม่ตั้งคำถามเท่าไหร่นัก ชนชั้นกลางนี้แหละตัวดี ถูกล้างสมองได้ง่ายมาก ดังที่ Pierre Bourdieu นักคิดชาวฝรั่งเศส ได้กล่าวไว้ว่าเรามักจะตกเป็นเหยื่อของวาทกรรมอำนาจโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ เราผ่าน “Rites of Institution” หรือ “Rites of Passage” ซึ่งก็คือพิธีกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อจรรโลงและคงอำนาจของสถาบันต่างๆ
อนึ่ง เมื่อเห็นคำว่า “พิธีกรรม” แล้วก็อย่าไพล่ไปนึกถึงการเต้นรำรอบกองไฟเสียเพียงอย่างเดียว เพราะมันมีความหมายที่กว้างกว่านั้น การผ่านพิธีกรรมอันเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันนั้นหมายถึงการผ่านการกระทำอะไร บางอย่างที่จัดวางระเบียบความคิดของเราให้เป็นไปในทางที่คงอำนาจและจรรโลง อำนาจของชนชั้นนำในสังคม ที่ทำให้เราคิดเห็นว่าการไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันทางสังคมนั้นเป็นเรื่อง ธรรมชาติ เหมือนเรื่องสิว ยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวคือเรื่องคำนำหน้าจากการศึกษา การเขียนวิทยานิพนธ์เพื่อจบปริญญาเอกอัพสถานะเป็น ดอกเตอร์ นั้นเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่เมื่อผ่านแล้ว ก็จะได้คำนำหน้าที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต เหมือนสิวหัวช้างที่ไม่เป็นธรรมชาติ เพราะสิวที่เป็นธรรมชาติ เฉกเช่นสรรพสิ่งทั้งหลาย มีเกิดก็ต้องมีดับ แม้มือตก งานวิชาการของ“ดอกเตอร์เซมเบ้” กลับกลายเป็นห่วยแตกเพียงใด การลดระดับความสามารถนั้นจะไม่กระทบคำนำหน้าและสถานะของ “ดอกเตอร์เซมเบ้” แม้เพียงสักนิดเพราะสังคมนี้เป็นสังคมที่ตัดสินกันด้วยคำขึ้นต้น รูปลักษณ์ และทรัพย์สิน
ส่วนคำว่า “สถาบัน” หมายรวมถึงบริษัทธุรกิจและครอบครัวต่างๆ ด้วย (กรุณาอย่าใช้คำนี้ในเชิงของการเมืองร่วมสมัยแต่เพียงนัยยะเดียว) ไม่ว่าจะเป็นสถาบันของตระกูลท่านประธานในหนังเรื่อง The Taste of Money สถาบันการทหาร หรือ สถาบันการศึกษา หากจะยกตัวอย่างสิ่งแทน ก็ขอให้นึกถึงกำใลหยกสีเชียว (ดูแล้วแสบตา) ที่สมาชิกครอบครัวและพนักงานของตระกูลเจ้าในละครเรื่อง “กี่เพ้า” ต้องใส่กันทุกคน และต่างมองว่าเรื่องการได้รับเข้ามาอาศัยอยู่หรือทำงานในบ้านตระกูลเจ้านั้น เป็นตัวบ่งชี้อัตลักษณ์และความหมายของชีวิตทั้งชีวิต เรียกได้ว่าร้องห่มร้องไห้จะเป็นจะตายอเมื่อถูกริบกำไลหยก เช่นเดียวกับที่ทหารถูกถอดยศ หรือ นักเรียนนักศึกษาถูกสั่งเพิกถอนสถานภาพนักเรียนนักศึกษา ที่สามารถทำให้คนเหล่านี้คิดปลิดชีพตัวเองเพราะคิดว่าเมื่อไม่ได้อยู่ใน สถาบันแล้วชีวิตไร้ความหมาย เป็นต้น
เอวาคือชนชั้นแรงงานที่ปากกัดตีนถีบ เป็นผลของเศรษฐกิจและการเมืองภายในที่ล้มเหลว ต้องจากบ้านไปเป็นแรงงานต่างด้าวส่งเงินมาเลี้ยงดูลูกและคนในประเทศบ้านเกิด เป็นพวก Subaltern หรือ กลุ่มคนที่ถูกกดขี่ ไม่มีปากมีเสียงในโครงสร้างสังคม และครั้นจะมีปากมีเสียงขึ้นมา ก็เป็นประเด็นชวนคิดอีกว่าจะเปล่งเสียงเรียกร้องสิทธิอะไรจริงๆ ได้มั้ย ฤาเป็นได้แค่กระบอกเสียงของผู้ทรงอำนาจที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง คำถามที่ว่า Subaltern พูดได้มั้ย Gayatri Chakravorty Spivak นักคิดชาวอินเดีย (ที่โด่งดังในหมู่นักเรียนไทยและนักเรียนเทศในสังกัดของผู้เขียน ในฐานะที่เป็นนักคิดที่เขียนหนังสืออ่านยากมาก และในฐานะคนที่แปล Derrida… ไม่ธรรมดา อ๊ะอ้า ไม่ธรรมดา) ว่าไว้ว่า “ไม่ได้นะคะ” เพราะระบบภาษาและระบบความคิดที่จะใช้เป็นฐานในการเปล่งเสียงร้องนั้น เป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมอำนาจชนชั้นนำมานานแสนนาน เอวาต้องเล่นไปตามกระแสทุนนิยม แม้จะไม่ได้รักท่านประธานสุดหัวจิตหัวใจ หรือ แม้เกลียดภรรยาท่านประธานเข้ากระดูกดำ เธอก็ทำอะไรไม่ได้ พูดอะไรไม่ได้ เพราะระบบสังคมคือระบบที่ตั้งบนฐานของเงิน บนฐานของความไม่เสมอภาคทั้งทางเพศและทางอำนาจ เธอจึงจำต้องก้มหน้าทำงานเพื่อส่งเงินเลี้ยงดูลูกต่อไปจนตายไปข้างหนึ่ง ในหนังเราจะเห็นว่ายองจักนั้นลุกขึ้นมามีปากมีเสียงกับครอบครัว ท้าทายระบบอำนาจชนชั้น จากภายในของระบบนั้นๆ เช่นเดียวกับที่ประวัติศาสตร์การปฏิวัติทางการเมืองนั้นมักก่อกำเนิดหรือ ดำเนินการโดยมีชนชั้นกลางผู้มีการศึกษา หรือแม้กระทั่งชนชั้นนำที่คุ้นเคยเป็นส่วนหนึ่งของระบบโครงสร้างอำนาจ เป็นแกนนำทั้งสิ้น

ตกลงเอวาตายหรือเปล่าอะ ทำไมลืมตาและกรีดร้องตอนหลัง
คือคำถามที่ผู้เขียนได้ยินเมื่อก้าวเดินออกจากโรงหนัง เสียงนั้นเป็นเสียงผู้หญิง ดังมากจากร่างที่เดินคล้องแขนแฟนหนุ่มซึ่งตอบกลับมาว่า

เป็นผี ฟื้นคืนชีพ ไม่รู้เหมือนกันอะ
ซึ่งทำให้ผู้เขียนอยากจะถามพวกเขาจริงๆ ว่า ตกลงนี่เราเพิ่งดูผีดูดเลือดทไวไลท์ หรืออะไรกันแน่คะ
นึกถึงเอวาที่ตายไปแล้วก็กลายเป็นผีที่ลืมตาหันมาหลอกคนดูที่ใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรสะสมส่วนลดแลกกับตั๋วหนังในวันนี้
ดูสิดู หรือเอวากำลังถลึงตา ตามหลอกหลอนชนชั้นกลาง—ยอดมนุษย์เงินเดือนที่ยังไม่ “เก๊ท” หรือไม่อยาก “เก๊ท” กังนัมกลลวงของสังคมชนชั้น ทั้งหลาย???


แหล่งภาพ: https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEi4Hwt-6pV6hCGQQnbrB6BnCZAkAl6qUuKT3wYsMJCJvOCuykfAoei6iHjyhI5nhFULKsSleb0K_e4uZu8vuukQ024ePKatYEb903IIYS8kD4jBKrkwqvjZkTDvfWpfYSYj8Ynn8cdJIsew/s1600/The+Taste+of+Money+.jpg

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น