อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เผย น้ำท่วม 7จังหวัด จนท.เร่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ
อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า
ฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัย 7
จังหวัด ได้แก่ ตาก น่าน สกลนคร กาญจนบุรี เชียงราย พะเยา และปราจีนบุรี
ดังนี้
ตาก
ระดับน้ำในแม่น้ำเมยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทำให้น้ำล้นสปิลเวย์ไหลเข้าท่วมในพื้นที่เทศบาลนครแม่สอด อำเภอแม่สอด รวม 9
ตำบล โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนจอกจอ ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 2 เมตร
ส่วนพื้นที่อื่นระดับน้ำสูง 50 - 100 เซนติเมตร
อีกทั้งได้เกิดดินทรุดตัวและสไลด์ปิดทับเส้นทางบ้านขุนห้วยแม่สอด
ตำบลพระธาตุผาแดง รถไม่สามารถสัญจรผ่านได้
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเปิดเส้นทางแล้ว
น่าน
เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 4 อำเภอ 9 ตำบล ได้แก่
อำเภอท่าวังผา อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง และอำเภอสองแคว ประชาชนเดือดร้อน
1,011 ครัวเรือน
สกลนคร
เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 3 อำเภอ 17 ตำบล ได้แก่
อำเภอพังโคน อำเภอบ้านม่วง และอำเภอโพนนาแก้ว ประชาชนเดือดร้อน 14,568
ครัวเรือน
กาญจนบุรี
น้ำป่าซัดสะพานไม้ข้ามแม่น้ำซองกาเลีย (สะพานอุตตมานุสรณ์หรือสะพานมอญ)
ขาดเป็นระยะทางประมาณ 70 เมตร
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกประกาศห้ามใช้สะพาน
พร้อมเร่งดำเนินการซ่อมแซมสะพานโดยด่วนแล้ว
เชียงราย น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเทิง อำเภอเวียงแก่น และ อำเภอเวียงเชียงรุ้ง
พะเยา
เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในอำเภอเชียงคำ รวม 6 ตำบล 62 หมู่บ้าน
ประชาชนเดือดร้อน 2,603 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตจากการถูกต้นไม้ล้มทับ 1
ราย
ปราจีนบุรี
น้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไหลหลากเข้าท่วมในอำเภอเมืองปราจีนบุรี
และถนนสุวรรณศร สาย 33 ปราจีนบุรี - ประจันตคาม บ้านขอนขว้าง
ระหว่างหมู่ที่ 10 และ 13
ทั้งนี้ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต
ได้ร่วมกับ
สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ประสบอุทกภัย
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเจ้าหน้าที่และเครื่องมืออุปกรณ์
เครื่องสูบน้ำ เร่งระบายน้ำออกจากถนนและพื้นที่ลุ่มต่ำ พร้อมนำเรือท้องแบน
เรือเล็ก รถลากจูง รถแบ็คโฮ รถผลิตน้ำดื่ม รถบรรทุก และรถไฟฟ้าส่องสว่าง
ออกปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย
อีกทั้งนำเครื่องอุปโภคบริโภค ถุงยังชีพ ข้าวกล่อง และน้ำดื่มสะอาด
แจกจ่ายบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย
ตลอดจนเร่งตรวจสอบและสำรวจความเสียหายของพื้นที่ประสบภัย
เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง
สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจาก
อุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่
ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต
สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784
ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
Source : News Center / naewna / VoiceTV ( Image)
by
Boonyisa
30 กรกฎาคม 2556 เวลา 19:12 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น