แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

มองงานเขียน 'คำ ผกา' สะท้อนภาพสตรี-การเมืองไทย

ที่มา ประชาไท


เปิดวงวิจารณ์งานเขียนคำ ผกา นักวิจารณ์ชี้ 'กระทู้ดอกทอง' เสนอทางเลือกใหม่ของความเป็นหญิงในสังคมไทย ในขณะที่ 'ก็ไพร่นี่คะ' สะท้อนแนวคิดหลักของคำ ผกาที่เปลี่ยนจากเฟมินิสต์มาสู่ชาตินิยมทางการเมือง จากสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป
 
เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 56 โครงการปริญญาโท สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักพิมพ์อ่าน และกองทุนนพพร ประชากุล  จัดงานสัมมนาในหัวข้อ "ชาตินิยม สตรีนิยาม ประโลมโลกย์นิยาย ใน ก็ไพร่นี่คะ และกระทู้ดอกทอง" โดยมีวิทยากรได้แก่ เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ สุธิดา วิมุตติโกศล จากภาคภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ม.ธรรมศาสตร์ และเสนาะ เจริญพร จากคณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี โดยร่วมกันวิจารณ์งานเขียนของลักขณา ปันวิชัย ที่ใช้นามปากกา "คำ ผกา" ผ่านแนวคิดชาตินิยมและสตรีนิยม 
 
เวียงรัฐ เนติโพธิ์ วิจารณ์งานเขียน "ก็ไพร่นี่คะ" เล่ม 1 และ 2 ซึ่งเป็นหนังสือรวมบทความของคำ ผกา ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ระหว่างปี 2550-2554 ว่าสะท้อนถึงการเริ่มก่อตัวของความเป็นชาตินิยมทางการเมืองของลักขณา ปันวิชัย โดยเฉพาะในช่วงการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2552 ทำให้เธอค่อยๆ เปลี่ยนจากนักเขียนที่จับเรื่องเพศสภาวะเป็นหลัก หันมาวิจารณ์สถานการณ์ทางการเมืองอย่างจัดจ้าน 
 

"ก็ไพร่นี่คะ" เล่ม 1 และ 2 ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน
 
เวียงรัฐยกตัวอย่างจากบทหนึ่งในหนังสือที่ชื่อว่า "นับแต่นี้ไป ไม่เหมือนเดิม" ซึ่งคำ ผกาได้ไปคุยกับชาวบ้าน จากอำเภอสันคะยอม จ.เชียงใหม่ บ้านเกิดของเธอ และพบว่า มีชาวบ้านธรรมดาๆ จำนวนมากที่ตื่นตัวทางการเมือง แสดงการคัดค้านรัฐประหารและความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ และมองพรรคการเมืองในฐานะผู้ให้บริการทางนโยบาย ต่างกับภาพเก่าๆ ที่คนส่วนมากเชื่อว่าชาวบ้านยังคงซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้ง หรือไม่มีอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้คำ ผกา หันมาเป็นผู้หญิงแถวหน้าที่ต่อสู้เรื่องการเมือง ร่วมกับชาวบ้านธรรมดาๆ โดยใช้ปากกาเป็นอาวุธ วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและศัตรูของประชาธิปไตยผ่านงานเขียน
 
จากชาตินิยมทางวัฒนธรรมสู่ชาตินิยมทางการเมือง
 
อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ อธิบายถึงอุดมการณ์ในงานเขียนของคำ ผกาว่า ก่อนหน้านี้ คำ ผกา มีอุดมการณ์ที่ชัดเจนด้านชาตินิยมทางวัฒนธรรม ซึ่งตั้งคำถามเรื่องชาตินิยมไทย ความเป็นไทย และวัฒนธรรมเชื้อชาตินิยมของไทย ในขณะเดียวกันก็เสนอทางเลือกและให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเชื้อชาติและ ภาษา ความเป็นท้องถิ่น 
 
"พอมองจากตรงนี้ กระทู้ดอกทองจึงเปรียบเหมือนเป็นความพยายาม redefine ความเป็นหญิงในสังคมไทย ไม่ใช่แบบคุณหญิงกีรติ ผู้ชายก็ไม่ใช่แบบในนิยายน้ำเน่าอีกต่อไป คือพยายามโจมตีสิ่งที่มีอยู่แล้วพยายาม struggle ที่จะ redefine แต่การ redefine มันอาจจะยังไม่ชัดเจน มันอาจจะยังเป็นผ้าขาวม้า กางเกงใน ผ้าซิ่น และนมอยู่ ส่วนชุดไทยโดนด่า" เวียงรัฐกล่าว 
 
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2552-2553 ก็ทำให้เธอกลายมาเป็น "นักชาตินิยมทางการเมือง" อย่างเต็มตัว โดยเวียงรัฐอธิบายความหมายของคำนี้ว่า เป็นอุดมการณ์ของชาติที่ตั้งอยู่บนความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมือง ในกรณีของคำ ผกา สามารถกล่าวได้ว่าเป็นความคิดแนวเสรีนิยมแบบกลางๆ ที่ประกอบไปด้วยอุดมการณ์แบบประชาธิปไตย ความเป็นพลเมือง สิทธิ การเลือกตั้ง และความเท่าเทียม ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้รัฐเข้ามามีบทบาทการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ไปจนถึงการขนส่งมวลชน
 
จากตรงนั้นเอง ที่คำผกา เริ่มเห็นศัตรูทางการเมืองของเธอ ซึ่งประกอบไปด้วยฝ่ายอนุรักษ์นิยม พวกขวาจัด โดยเฉพาะ "ผู้ใหญ่" และ "คนดี" ของบ้านเมือง รวมถึงศาสนาที่ล้าหลัง สื่อเนียน สื่อเสี้ยม และความเป็นราชาชาตินิยม 
 

จากซ้ายไปขวา: เสนาะ เจริญพร สุธิดา วิมุตติโกศล และลักขณา ปันวิชัย
 
สิ่งที่อาจดูย้อนแย้งสำหรับคำ ผกา สำหรับหลายๆ คน อาจเป็นเพราะความเป็นหญิงของเธอที่แสดงออกมาผ่านสิ่งพิมพ์ต่างๆ ทั้งปกนิตยสารจีเอ็ม หรือมติชนสุดสัปดาห์ ที่เปิดเผยเรือนร่างอย่างชัดเจน และการแสดงตัวตนของตนเองว่าเป็น "หญิงดอกทองสามานย์ วันๆ เอาแต่อ่านนิยายประโลมโลกย์" มีแต่ความโลกีย์และความชั่วที่ขัดกับหลักพุทธศาสนาหรือแบบฉบับของกุลสตรีไทย แต่กลับมาวิพากษ์วิจารณ์และพูดคุยเรื่องปัญหาการเมืองไทยอย่างถึงพริกถึงขิง  
 
"ที่ว่าย้อนแย้งนั้น ดิฉันมองว่าไม่ย้อนแย้งเพราะเขามีข้อเสนอที่ชัดเจน มีเป้าหมายที่ชัดเจน  แต่ความย้อนแย้งมันเกิดขึ้นเพราะความเป็น extreme แห่งเรือนร่าง และวาจา ด้วยเรือนร่างและวาจา เธออยู่ตรงข้าง extreme แต่ข้อเสนอของเธอมันอยู่เพียง middle of the road ไม่ได้อยู่เป็น extreme เพราะฉะนั้น เราจึงอาจรู้สึกว่ามันเป็น paradox แต่ข้อเสนอของเธอนั้นคงเส้นคงวาที่อยู่ตรงกลาง" เวียงรัฐกล่าว 
 
"ความเป็นเอ็กซ์ตรีมอีกอันหนึ่งคือโครงสร้างของสังคมไทย ที่เธอพูดเองว่าหลายๆ เรื่องตอนนี้เราอยู่ในศตวรรษที่ 19 ศตวรรษที่ 18 บางเรื่อง 15, 14 นู่น ไสยศาสตร์ หรืออะไรก็ตาม มันทำให้ข้อเสนอที่อยู่ตรงกลางมันดูเป็นเอ็กซ์ตรีมไป ดังนั้น ความย้อนแย้งในตัวเองที่มันเกิดขึ้นอย่างบ้าคลั่ง มันเกิดเพราะเราดูจากคำพูด จากเรือนร่าง กับอีกอันหนึ่งเราเอามาเปรียบเทียบกับสังคมไทย แต่จริงๆ แล้วข้อเสนอของเธอเป็นแบบ moderate" 
 
อ่านสตรีไทยใน "กระทู้ดอกทอง"
 
หนังสือ "กระทู้ดอกทอง" เป็นหนังสือรวมเล่มบทความของคำ ผกา ในนิตยสารสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ในช่วงปี 2544-2546 เป็นงานวิจารณ์วรรณกรรมและภาพยนตร์จากมุมมองสตรีนิยม ซึ่งคำ ผกา ได้วิจารณ์และตั้งคำถามกับการเป็นกุลสตรีและนางเอกไทยในอุดมคติภายใต้ อุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ในสังคม ผ่านตัวละครต่างๆ ที่อยู่ในงานวรรณกรรมของไทย อาทิ ข้างหลังภาพ หรือสี่แผ่นดิน เป็นต้น 
 

"กระทู้ดอกทอง" โดยคำ ผกา ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน
 
เสนาะ เจริญพร มองการวิจารณ์วรรณกรรมของคำ ผกา ในหนังสือเล่มนี้ว่า มีการหยิบกรอบคิดที่น่าสนใจมาวิจารณ์ตัวบท อาทิ การเปรียบความสัมพันธ์ของชายและหญิง เสมือนกับเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและพลเมือง ที่ผู้มีอำนาจมักเอาความทรงจำ ความรักใคร่มากล่อมเกลาให้เกิดความเชื่องและสยบยอม อย่างในเรื่อง "นอบ" ที่แต่งโดยศรีบูรพา เมื่อปี 2481 ที่ตัวละครสามีในเรื่องใช้ความทรงจำมากล่อมภรรยาไม่ให้คิดกบฎ เช่นเดียวกับการสร้างอนุสาวรีย์หรือพิธีกรรมที่เอาการเมืองของความทรงจำมา กล่อมเกลาคนในชาติ 
 
ในขณะที่สุธิดา วิมุตติโกศล สรุปภาพผู้หญิงในวรรณกรรมที่อยู่ใน "กระทู้ดอกทอง" ได้เป็นสามแบบใหญ่ๆ ได้แก่ นางเอกสยบยอม อย่างคุณหญิงกีรติจากนวนิยายเรื่องข้างหลังภาพ หรือคุณพลอย จากเรื่องสี่แผ่นดิน มีลักษณะสง่า น่าเทิดทูน บริสุทธิ์ผุดผ่อง ถึงแม้ว่านางเอกจะมีลักษณะแก่นเซี้ยวบ้าง แต่สุดท้ายก็จะถูกพระเอกกำราบลงได้ สตรีลักษณะนี้ จะถูกคำ ผกา วิจารณ์และถอดรื้อไว้เยอะมาก 
 
ส่วนอีกสองแบบ คือนางเอกขบถ อย่างเช่น นางลำยอง ที่มีจุดจบด้วยการเสียชีวิตจากโรคที่สำส่อน แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงแบบนี้ไม่เป็นที่ต้องการ หรือเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อสังคม นางเอกลักษณะนี้จะมีลักษณะตรงข้ามจากนางเอกแม่แบบอย่างชัดเจน และถึงแม้จะมีลักษณะขบถบ้าง ก็จะยังติดอยู่ในอุดมการณ์ที่ชายเป็นใหญ่อยู่ดี ส่วนอีกแบบเป็นผู้หญิงที่ไว้แทนความเป็นชาติของไทย 
 
เสนอทางเลือกให้สตรี ต่างจากขนบประเพณีเดิม
 
สุธิดาสรุปว่า งานเขียนของคำ ผกา ที่วิจารณ์ขนบของสตรีไทยในนวนิยาย เป็นการเสนอและสร้างข้อเสนอ และทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้หญิงไทย ด้วยการขับเน้นขั้วตรงข้ามระหว่างสาวบริสุทธิ์ผุดผ่องและหญิงโสเภณี ซึ่งคำ ผกา ในฐานะตัวละครตัวหนึ่ง จึงต้องถูกสร้างให้มีลักษณะเป็น"ดอกทอง" ไม่มีการศึกษาสูงมากมาย เป็นคนบ้านนอก และเสรีเรื่องเพศ แต่ในขณะเดียวกัน เธอก็วิจารณ์เฟมินิสต์กระแสหลัก ซึ่งชอบมองสตรีว่าเป็นผู้ถูกกระทำเพียงอย่างเดียวด้วย 
 
อาจารย์ด้านวรรณคดีอังกฤษ ได้ฉายภาพสตรีในนิยายไทยที่ผ่านมาให้เห็นว่า ในช่วงพ.ศ. 2470-2490 นางเอกยังเป็นพื้นที่การแข่งขันของตัวละครในนวนิยายว่าผู้หญิงที่ดีต้องมี ลักษณะเป็นอย่างไร ในขณะเดียวกันก็สร้างขึ้นมาพร้อมกับความเป็นชาติของไทย ที่เริ่มมีแบบแผนของกุลสตรีที่ชัดเจนขึ้น ต่อมาในช่วง 2500-2510 ก็เริ่มมีคนอย่างโบตั๋น จากฝั่ง "ดอกทอง" หรือนางเอกที่ไม่ใช่แบบฉบับเข้ามาปะทะกับกุลสตรีไทย ต่อมา 2520-2530 ดอกทองจะเริ่มมีความสับสน ว่าจะแหกกรอบดีหรือไม่ 
 
แต่เมื่อมาถึงปี 2540 จนถึงร่วมสมัยมาทุกวันนี้ นางเอกจะมีความบริสุทธิ์ใสสะอาด ยิ่งกว่าในช่วงเริ่มต้น รวมถึงพล็อตนิยายก็เป็นไปตามกรอบดั้งเดิมมาก ละครเรื่องสุภาพบุรุษจุทาเทพ อาจจะเป็นภาพสะท้อนถึงนางเอกในตอนนี้ได้ดีที่สุด ที่ย้อนกลับไปหาขนบแบบเก่า แต่ในขณะเดียกัน สุธิดาก็ชี้ว่า ยังมีนางเอกแบบในละครเรื่องฮอร์โมน ที่มีแข่งออกมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความเป็นสตรีก็ถูกแข่งขันได้อยู่ตลอดเวลาในสังคม
 
ด้านคำ ผกา กล่าวย้อนไปถึงที่ตีพิมพ์กระทู้ดอกทองในช่วงแรกว่า ตอนนั้นเป็นช่วงหลังที่มีรัฐธรรมนูญ 2540 รู้สึกว่าบรรยากาศทางการเมืองไม่มีปัญหา ตนจึงอยากจะพูดเรื่องที่คนยังไม่พูดคือเรื่อง "จู๋กับจิ๋ม" หรือเรื่องเพศสภาวะ ในขณะที่ในแวดวงนักวิชาการก็เริ่มหยิบเรื่องโพสต์โมเดิร์นมาคุยมาศึกษามาก ขึ้น แต่เมื่อเกิดการรัฐประหาร 2549 ตนจึงรู้สึกว่าจำเป็นต้องหันมาพูดเรื่องปัญหาทางการเมืองที่พื้นฐานแทน เช่น การเลือกตั้ง ส.ส. ความเท่าเทียม เรื่องประชาธิปไตย   
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น