Fri, 2013-07-19 22:51
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มีการเปิดศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาขึ้นอย่างเป็นทางการ และมีปาฐกถาพิเศษโดยศาสตราจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ประธานสมาคมเอเชียศึกษา และอาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสันสหรัฐอเมริกา ในหัวข้อ "สยาม/ไทย ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา : ความรู้เรื่องไทยท่ามกลางภูมิภาค"
โดยบทคัดย่อของปาฐกถาระบุว่า "ความรู้เรื่องไทย ทั้งในทางประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา นโยบายศึกษา และอื่นๆ ในบริบทของภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบริบทโลกเป็นอย่างไร? กรอบการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศไทยปัจจจุบันนี้ถ่วงรั้งอนาคต หรือไม่? เราจะสามารถก้าวข้ามจากชุมชนชาติไปสู่ชุมชนภูมิภาคได้หรือไม่? นักวิชาการจากหรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีคุณูปการอย่างไรต่อเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา? คุณูปการของพวกเขาจะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างอย่างไรกับคุณูปการของนักวิชาการ "ตะวันตก"? ข้าพเจ้าเองจัดวางตนเอง และผู้อื่นจัดวางผลงานของข้าพเจ้าอย่างไร ในบริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา?
ในตอนหนึ่ง ธงชัยกล่าวว่า ความรู้เกี่ยวกับไทย ความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคนี้ ในความเห็นของผม ปัจจัยสำคัญ ลักษณะสำคัญก็คือ "Thai Centrism" (เน้น ไทยเป็นศูนย์กลาง) ความรู้เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นความรู้แบบ "Thai Centric" มากๆ เราไม่รู้จักโลก เราไม่รู้จักเพื่อนบ้านเรา เราไม่รู้จักภูมิภาคนี้ เพราะเราเป็น "Thai Centrism" ความเหนือกว่า ความพิเศษ ความไม่เคยตกเป็นอาณานิคม และความรู้เรื่องไทยก็เช่นกันก็ "Thai Centrism"
คือถ้าคุณเอาตัวออกจากโลกสังคมไทยหน่อย ไปเปรียบเทียบที่อื่น ไปเรียนรู้ที่อื่น ผมก็ไม่เห็นว่าเราจะต้องภูมิใจน้อยกว่านี้ เพราะนี่คือบ้านเรา ความภูมิใจที่เราจะมีต่อสังคมไทยก็คือ เพราะที่นี่เป็นบ้านของเรา ไม่ใช่เพราะเราเป็นเพชรเม็ดงามที่ดีกว่าใครในโลก ผมมีเพื่อนมาจากลักเซมเบิร์ก ก็ไม่เห็นจะต้องภูมิใจลักเซมเบิร์กว่าใครจะดีกว่าใครในโลก เขารู้อยู่ว่าประเทศของเรากระจิดริดนิดเดียว แต่ที่เขารักลักเซมเบิร์กก็เพราะเป็นบ้านเขา เขาอยากกลับบ้าน
"ของเราก็เหมือนกัน เราสามารถภูมิใจเพราะว่าเป็นบ้านเรา เราแคร์ เรารัก โดยที่ไม่ต้องบอกว่าเราเหนือกว่า ไม่ต้องหลอกตัวเองว่าพิเศษ ไม่ต้องหลอกตัวเองว่าเป็น exceptional (ข้อยกเว้น) ไม่เหมือนใครในโลก เพราะเอาเข้าจริงมีหลายอย่างที่พอเราเผยอหัวออกไปนอกกรอบสังคมไทย จะได้รู้จักตัวเองอย่างเปรียบเทียบ รู้จักตัวเองอย่างพอเหมาะพอควร"
สังคมไทยไม่ได้ผลิตพวกเรามาให้รู้โลก รู้รอบ รู้กว้าง ผลผลิตสำคัญของความรู้เรื่องไทยในรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาคือ Thai Centrism ไม่ว่าคุณจะอ้างว่าเพื่อการพัฒนาเติบโต เพื่อยุคสงครามเย็น ต่อต้านคอมมิวนิสต์หรือะไรก็แล้วแต่ อันนั้นไปเถียงกันได้ เราน่าจะตระหนักว่าหมดยุคเหล่านั้นแล้ว เอาเข้าจริง ผมเห็นว่า มองย้อนไปนะ หมดยุคเหล่านั้นไปนานแล้วด้วย
สังคมไทยยังคงผลิตความรู้ชนิดนั้น ทั้งที่เงื่อนไขในสังคมไทยผ่านยุคนั้นไปนานแล้ว การศึกษาโดยรวมไม่ใช่แค่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ใช่แค่ไทยศึกษา โดยให้เน้น Thai Centrism ให้มีลักษณะยกย่องหรือปิดหูปูตาให้เห็นแค่สังคมไทย มันพ้นยุคพ้นสมัยไปเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ประมาณ 30-40 ปีก่อน ปกติการเปลี่ยนแปลงไม่เกิดขึ้นฉับพลันทันที มันใช้เวลา อย่างน้อยที่สุดสังคมไทยต้องตระหนักและเริ่มปรับ
ผมคิดว่านี่เป็นเหตุผลหนึ่ง ผมเห็นว่าเป็นคำถามที่ท้าทายก็แล้วกัน ผมไม่ยืนยัน อาจจะต้องรอการถกเถียง ผมว่านี่อาจจะเป็นเหตุก็ได้ ที่ทำให้การศึกษาไทยล้มเหลว การศึกษาไทยอยู่ในโหมด อยู่ในแบบแผน แนวทาง ที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยมานานแล้วจึงแสนจะน่าเบื่อ เพราะสิ่งที่นักเรียนเรียนในห้องเรียน ที่เขาออกจากห้องเรียนก็เพราะสิ่งที่เรียนในห้องเรียนไม่ Relavant (สัมพันธ์) กับสังคมนี้เลย มันไม่สอดคล้อง เอาเข้าจริงผมไม่แน่ว่าด้วยนะว่าจะทำให้ภูมิใจสักแค่ไหน ทันทีที่เขาออกมาจากห้องเรียนมาอีกรอบ โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว
แต่พอต้องการเรียนรู้จากตัวเอง บ้านเมืองของเรา บ้านของเรา ประเทศของเรา ยังอยู่ในโหมดที่ผูกติดกับไทยศึกษาแบบเก่าๆ ไม่สัมพันธ์กับสังคมนี้เลย ความรู้แบบที่ ต้องการสร้าง อธิบายความชอบธรรม หรือค้ำจุนจารีต ระเบียบสังคม ค้ำจุนการรู้จักที่ต่ำที่สูง ความสามัคคี รู้หน้าที่ ยกตัวอย่างสามคำนี้ เอาเข้าจริงผมว่าล้าสมัยไปเรียบร้อยแล้ว
ไม่ได้แปลว่าผมต้องการความแตกแยก ไม่ได้แปลว่าผมต้องการให้เกิดความก้าวร้าว ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง แต่สามคำนี้ มีไว้ผูกคนติดอยู่กับที่อย่างเดิม มันหมดสมัยไปนานแล้ว ทำไมเราจะให้คนรู้จักความสัมพันธ์ชนิดอื่นไม่ได้หรือ? เราสามารถมีความเคารพต่อกันได้ เราสามารถเคารพผู้ใหญ่ได้ด้วย โดยที่ไม่ต้องมีลักษณะที่ว่ามีความกดดันเรื่องที่ต่ำที่สูง หรืออย่างมี Hierachy (ลำดับชั้น) แบบเดิม เราสามารถเข้าใจความสามัคคีในแง่อื่นได้ไหม แทนที่จะต้องกดปราบ และบังคับ หรือกดดันไม่ให้ถกเถียงกัน เราสามารถส่งเสริมการถกเถียง อย่างศรีวิไล อย่างสันติ ได้ไหม ความสามัคคีชนิดนั้นแทนที่จะต้องเรียกร้องเอกภาพ ภายใต้การนำของผู้ใหญ่เสมอไป หมดสมัยอย่างนั้นไปนานแล้ว
การเรียนรู้เรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเรื่องไทย ขัดฝืนกับโลกที่เป็นอยู่ ชักธงอาเซียนอีกกี่สิบชาติ มันก็ไปไม่รอด เพราะมันไม่สัมพันธ์ มันไม่มีความเกี่ยวพันกับชีวิตของเขา
เราเน้นการรู้จักหน้าที่ เน้นความมีระเบียบวินัยกันมาก จึงเกิดปรากฎการณ์ที่แม้กระทั่งเรื่องทรงผม เครื่องแต่งกาย ขณะที่หาความสัมพันธ์ไม่เจอแล้ว เหลืออย่างเดียวคือสร้างคนให้สยบต่ออำนาจ สังคมไทยในภาวะอย่างนั้นมันหมดไปนานแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น