แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์: เจ้าโลก มหาอำนาจ ระเบียบภูมิภาค และนโยบาย ตปท.ของไทย

ที่มา ประชาไท


ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อภิปรายนโยบายต่างประเทศของรัฐไทย จากยุคอาณานิคมถึงยุคหลังสงครามเย็น ทั้ง “ไผ่ลู่ลม” การทูตนิ่งเงียบของอาเซียน การทูตยุคชาติชาย-ทักษิณ ที่ลดบทบาทข้าราชการ และเน้นความสำคัญเศรษฐกิจมากกว่าความมั่นคง พร้อมวิจารณ์นโยบายต่างประเทศรัฐบาลปัจจุบันที่ยังไม่สร้างสรรค์ และกลับไปฟังข้าราชการมากขึ้น จนแนวอนุรักษ์นิยมกลับมามีบทบาท
เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา มีวงเสวนาที่ Book Re:public ในหัวข้อ “เจ้าโลก มหาอำนาจ ระเบียบภูมิภาค และนโยบายต่างประเทศของไทย” โดยมีวิทยากรคือ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการจากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต
ปวินเริ่มต้นโดยการกล่าวถึงคำศัพท์และแนวคิดที่ใช้ทำความเข้าใจความ สัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้แก่ กระบวนการสร้างระเบียบโลก (world order/system) โดยถ้าหากโลกมีระเบียบ ก็เป็นไปได้ที่โลกจะมีสันติภาพ แต่เมื่อใดที่ระเบียบโลกเกิดปัญหา ก็มักจะนำไปสู่สงคราม โดยการกำหนดระเบียบโลกส่วนใหญ่ได้อิทธิพลมาจากประเทศมหาอำนาจ หรือ Superpower ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างประเทศภายในโลกที่ไม่เท่าเทียมกัน อย่างไทยก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นประเทศขนาดกลาง มีความสามารถทำได้บางอย่าง แต่บางอย่างเราก็ไม่มีศักยภาพ (capability)
ศักยภาพของแต่ละประเทศสัมพันธ์กับผลประโยชน์แห่งชาติ (national interests) โดยการที่จะบรรลุผลประโยชน์แห่งชาติได้จำเป็นต้องดูศักยภาพของประเทศตนเอง จะสามารถทำอะไรในเวทีโลกได้มากน้อยแค่ไหน การกำหนดนโยบายต่างประเทศจึงต้องสอดคล้องกับทั้งระเบียบโลก ศักยภาพของประเทศ และผลประโยชน์แห่งชาติ
นอกจากนั้น การกำหนดนโยบายต่างประเทศยังมีหลายแบบ เช่น การสร้างพันธมิตร (Alliance) ซึ่งไทยเน้นนโยบายนี้มาตลอด ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคือทำให้เราขาดความเป็นตัวเอง ข้อดีอาจได้ผลประโยชน์แห่งชาติ หรือนโยบายแบบใครไปไหนไปด้วย (Bangwagoning) รวมทั้งนโยบายแบบโดดเดี่ยวตนเอง (Isolation)
ปวินกล่าวต่อถึงพัฒนาการของความสัมพันธ์ประเทศตั้งแต่ในช่วงยุคอาณานิคม ซึ่งมหาอำนาจจะอยู่ในยุโรปเป็นหลัก โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร ที่ยิ่งใหญ่จากกองทัพเรือ จนสามารถล่าอาณานิคมได้เกือบครึ่งโลก การตอบสนองต่อมหาอำนาจของแต่ละประเทศก็จะต่างกันไป อย่างพม่าก็เลือกจะต่อสู้กับการยึดครองของอาณานิคม แต่ก็ไม่สามารถต่อสู้กับอังกฤษได้ หรือเวียดนามต่อสู้กับฝรั่งเศส
ขณะที่ไทยตอบสนองแตกต่างออกไป ทำให้เราเป็นประเทศเดียวที่ไม่ตกเป็นอาณานิคม แต่อันนี้ก็ถูกโต้เถียงแล้วในเรื่องการตกเป็นอาณานิคมอย่างไม่เป็นทางการของ ไทย โดยทฤษฎีต่างๆ ที่พยายามอธิบายสาเหตุที่ไทยไม่เคยตกเป็นอาณานิคม เช่น จุดที่ตั้งยุทธศาสตร์ใจกลางของภูมิภาค หรือคำอธิบายเรื่องการมองการณ์ไกลของพระมหากษัตริย์ ทั้งหมดก็กลายเป็น myth ไป
ปวินกล่าวว่านโยบายต่างประเทศของไทยมีลักษณะที่ถูกเรียกว่าเป็นแบบ “ไผ่ลู่ลม” คือลมมาทางไหนก็ไปทางนั้น เช่น อังกฤษมาก็ไปตามอังกฤษ ฝรั่งเศสมาก็ไปตามฝรั่งเศส หรือมีการใช้อังกฤษต่อสู้กับฝรั่งเศส หรือฝรั่งเศสสู้กับอังกฤษ แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จทั้งหมด หรืออาจอธิบายว่าเป็นการทูตแบบสองหน้า (Two-faced diplomacy) ซึ่งต่อหน้าทำแบบหนึ่ง ลับหลังก็ทำแบบหนึ่ง
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ก็สะท้อนภาพของการเอนไปเอนมาของนโยบายของไทย พอญี่ปุ่นเข้ามา เราคิดว่าสู้ญี่ปุ่นไม่ได้ ก็ไปร่วมมือกับญี่ปุ่น แต่พอเห็นว่าญี่ปุ่นกำลังแพ้ ก็หันไปหาอเมริกา โดยการอาศัยจุดยืนของเสรีไทยในการอ้างอิง การฑูตแบบของไทยจะหันไปหันมาแบบนี้ได้ตลอด
จนสมัยสงครามเย็น ซึ่งสหภาพโซเวียตขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ไทยหันไปเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ ในช่วงระหว่างการต่อสู้ระหว่างเวียดนามกับฝรั่งเศส และสหรัฐได้เข้ามาช่วยฝรั่งเศส ขณะเดียวกันสหภาพโซเวียตก็เข้ามาช่วยเวียดนาม ทำให้กลายเป็นสงครามแบบตัวแทน จนเมื่อเวียดนามสามารถเอาชนะทั้งฝรั่งเศสและสหรัฐได้ นำไปสู่ความพยายามที่เวียดนามจะเทคโอเวอร์ของอินโดจีน โดยได้รับการสนับสนุนจากโซเวียต เวียดนามจึงรุกรานกัมพูชาในปี 1979
หลายประเทศเริ่มตระหนักถึงทฤษฎีโดมิโน เมื่อเห็นประเทศข้างเคียงเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้คิดว่าไทยจะเป็นโดมิโนตัวต่อไป และต้องหันไปหาสหรัฐฯ มากขึ้น โดยรัฐบาลในช่วงสงครามเย็นที่อยู่ภายใต้การครอบงำของทหาร ก็ขยายทฤษฎีนี้ทำให้ประชาชนตกอยู่ในความหวาดกลัว ซึ่งส่งผลดีต่อการสร้างระเบียบภายในประเทศ ทำให้ผู้นำสามารถที่จะจูงจมูกได้ สงครามเย็นได้ให้บทบาทอันนี้กับกองทัพ รวมทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไปเชื่อมกับคอมมิวนิสต์ภายในประเทศ ผ่านการวาดภาพลักษณะของคอมมิวนิสต์ว่าเป็นศัตรู เป็นภัยต่อสถาบันกษัตริย์ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ในช่วงเดียวกับที่เวียดนามได้ชัยชนะนั้น จีนกับสหภาพโซเวียตก็แตกคอกัน โดยจีนได้กำหนดนโยบายใหม่ ที่ตบหน้าโซเวียต โดยให้การสนับสนุนกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับเวียดนามในกัมพูชา คือกลุ่มเขมรแดง ซึ่งไทยก็สนับสนุนด้วย นำไปสู่สงครามในกัมพูชา
เป็นเรื่องตลกเหมือนกัน ที่เราวาดภาพให้คอมมิวนิสต์เป็นศัตรูอันดับหนึ่ง แต่หันกลับไปผูกมิตรแบบจีน แต่ไม่เอาคอมมิวนิสต์แบบโซเวียต ขณะเดียวกันก็ไม่เอาคอมมิวนิสต์ในไทย ทำให้เห็นว่าการวาดภาพของคอมมิวนิสต์มันหลวม ทั้งหมดเพื่อนำไปรับใช้ในการสร้างประโยชน์ให้กับผู้นำ
ปี 1975 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้สถาปนาความสัมพันธ์การทูตกับจีน สะท้อนนโยบายไผ่ลู่ลม เช่นเดียวกับสหรัฐ ที่เห็นว่าโซเวียตเป็นภัยมากกว่าจีน ก็หันกลับไปสร้างความสัมพันธ์กับจีนเช่นกัน โดยสหรัฐฯ ก็ยังคงส่งเงินกลับมาสนับสนุนกองทัพไทย สถานการณ์นี้ยาวนานไปถึงช่วงจบสงครามเย็น
นอกจากนั้น ในช่วงนี้ยังมีการทูตแบบพหุพาคี ซึ่งมักจะออกมาแบบเป็นองค์การต่างๆ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อปัญหาสงครามเย็น เช่น ในค่ายคอมมิวนิสต์ มีการรวมกันของโคมินเทิร์น (COMINTERN 1919-1943) หรือกลุ่มที่ไม่ฝักฝ่ายฝ่ายใด (Non-Alignment) คือฝ่ายที่อยากเป็นกลาง แต่ก็ไม่ค่อยประสบสำเร็จเท่าไร ได้แก่ จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย
ส่วนโลกเสรีก็มีความร่วมมือมากมาย ส่วนใหญ่เป็นความพยายามของสหรัฐฯ ในการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศ เช่น ASA (Association of SEA 1961--67) เพื่อต่อต้านจีนและโซเวียต หรือ SEATO (1954-77) ซึ่งตั้งขึ้นเป็นพี่น้องกับ NATO ในยุโรป แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีแค่สองประเทศในภูมิภาคนี้เข้าร่วมคือ ไทย, ฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศอื่นๆ ไม่ได้เข้าร่วมหรือไม่สนับสนุน โดยมององค์กรนี้ด้วยความระแวงสงสัย ว่าตะวันตกจะจูงจมูกและมีวาระชัดเกินไปในการต่อต้านคอมมิวนิสต์
แต่ในช่วงนี้ก็มีการก่อตั้งอาเซียน (ASEAN) ขึ้นในปี 1967 โดยสมาชิกก่อตั้ง 5 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์) เหตุที่องค์การนี้ประสบความสำเร็จส่วนหนึ่ง เพราะไม่มีมหาอำนาจต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง กลายเป็นจุดแข็งของอาเซียนมาถึงทุกวันนี้ จุดมุ่งหมายแม้ไม่ได้พูดชัดเจน แต่ลึกๆ ก็ตั้งขึ้นมาเพี่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ อีกประการหนึ่งคือความสำเร็จในการสร้างศัตรูร่วมกัน นำไปสู่การลดความระแวงสงสัยในประเทศสมาชิกด้วย
ความคิดของอาเซียนนี้เริ่มต้นมาจากประเทศไทย เริ่มจากคุณถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีต่างประเทศ ที่เห็นว่าการที่ไทยจะอยู่รอดได้ ปลอดจากการเข้าแทรกแซงของคอมมิวนิสต์ ก็ต้องรวมตัวกันกับเพื่อนบ้าน แล้วพยายามขายไอเดียนี้ให้กับประเทศอื่น แล้วเขาก็เอาด้วย
ปวินให้ความเห็นว่า ข้อจำกัดของอาเซียนคือมีลักษณะกฎระเบียบหยุมหยิมมากมาย ทุกอย่างต้องใช้ฉันทามติหมด โดยไม่มีระบบโหวต ไม่มีการใช้วีโต้ ภายใต้ฐานคิดว่าเพื่อไม่ให้นำไปสู่ความขัดแย้ง ทำให้อาเซียนเดินไปช้ามาก หรือการใช้วิธีการไม่พูดกันในเรื่องความขัดแย้งต่างๆ (quiet diplomacy) แม้แต่ในเรื่องใหญ่ๆ ซึ่งเป็นมาจนถึงทุกวันนี้
นอกจากนั้นความร่วมมือยังมีลักษณะเป็นไปตามความคุ้นเคยของตัวบุคคล ระหว่างผู้นำ (personal familiarity) ซึ่งก็สร้างปัญหาในเชิงระบบให้กับองค์กร และอันที่สำคัญคือกฎการไม่แทรกแซงกิจการภายในต่อกัน (non-interference) เพราะกลัวประเทศอื่นๆ มายุ่งในประเทศ เราเลยไม่ยุ่งกับคนอื่น ซึ่งกลายไปเป็นบรรทัดฐานของอาเซียน แม้ปัจจุบันจะมีความพยายามปรับปรุงแล้วก็ตาม
เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุด พร้อมการแตกสลายของโซเวียต อิทธิพลของสหรัฐฯ ก็ลดน้อยลงในภูมิภาคนี้ โดยถอนฐานทัพออกไปส่วนใหญ่ เกิดประเทศเอกราชต่างๆ รวมถึงการมาถึงของโลกโลกาภิวัตน์ และการไหลเวียนของข่าวสารต่างๆ
ในช่วงนี้มีทฤษฎีการเมืองระหว่างประเทศที่พยายามอธิบายการเมืองใหม่ใน ช่วงนั้น เช่น เรื่องการปะทะกันระหว่างอารยธรรม (clash of civilizations -Huntington) โดยเสนอว่ายุคหลังสงครามเย็น ความขัดแย้งที่เคยถูกกดเก็บเอาไว้ในช่วงการต่อสู้ทางอุดมการณ์จะโผล่ขึ้นมา อารยธรรมนี้วางอยู่บนเรื่องศาสนา วัฒนธรรม หรือชาติพันธุ์ต่างๆ หรือความคิดจุดจบของประวัติศาสตร์ (The End of History -Fukuyama) ที่เห็นว่าการที่โลกเสรีได้รับชัยชนะ สะท้อนว่าโลกมาสู่จุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ คือพิสูจน์ให้เห็นว่าประชาธิปไตยต่อให้ไม่สมบูรณ์แบบอย่างไร แต่ถือได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดของวิวัฒนาการของระบบการเมืองของโลก ประชาธิปไตยกลายเป็นจุดสิ้นสุดของโลก โดยที่โลกจะมีสันติภาพ ก็ต่อเมื่อประเทศทุกประเทศเป็นประชาธิปไตย
ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังสงครามเย็นถือว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ โดยการสิ้นสุดของความขัดแย้งในกัมพูชา นำไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งทำให้ฮุนเซนได้รับความชอบธรรมจากชัยชนะ ส่วนเวียดนามเริ่มเปิดประเทศมากขึ้น เป็นการปรับตัวได้ค่อนข้างเร็วหลังเห็นการล่มสลายของสหภาพโซเวียต โดยเลือกเปิดเศรษฐกิจเสรี แต่ยังปิดการเมืองไว้ก่อน
ขณะเดียวกัน ก็มีความรู้สึกไม่แน่นอนจากระเบียบโลกที่ยังไม่ชัดเจน และโลกมีลักษณะหลายขั้วมากขึ้น (multi-polar) ซึ่งสร้างตัวเลือกด้านการต่างประเทศให้มากขึ้น มีเสรีในการกำหนดนโยบายต่างประเทศมากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งมหาอำนาจประเทศเดียว รวมทั้งความเป็นโลกาภิวัตน์ในทางเศรษฐกิจมากขึ้น
ในอาเซียนก็มีการกำหนดท่าทีใหม่ มีการรับสมาชิกใหม่ คือ พม่า (1997), กัมพูชา (1999) แม้ทั้งสองประเทศจะยังไม่พร้อมก็ตาม มีการพัฒนาองค์การภายใน มีการวางกรอบความร่วมมือที่แตกย่อยมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังวิกฤติการเงิน (1997) นำไปสู่การสร้างความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค โดยไม่ต้องพึ่งองค์กรต่างๆ หากมีปัญหาด้านการเงิน รวมทั้งการขยายกรอบไปเป็นอาเซียน+3 (เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น)
ส่วนในประเทศไทย ทศวรรษ 1990 มีความเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองภายใน ยุคของเปรมจบลง พลเอกชาติชายเข้ามาพร้อมความคิดใหม่เรื่องการเมืองระหว่างประเทศ มีการจัดตั้งกลุ่มบ้านพิษณุโลก ซึ่งเป็นกลุ่มหัวกะทิในการทำวิสัยทัศน์ด้านการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องพึ่งข้าราชการประจำของกระทรวงต่างประเทศแต่ เพียงอย่างเดียว ซึ่งมีลักษณะยึดติดและเป็นอนุรักษ์นิยม
ชาติชายได้เสนอนโยบายใหม่ที่เปลี่ยนจากเน้นเรื่องความมั่นคงไปเป็นด้าน เศรษฐกิจ คือนโยบายการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า แต่นโยบายนี้ส่งผลกระทบต่อตัวแสดงเก่าๆ โดยเฉพาะทหาร ที่ไม่เหลือบทบาทให้เล่นอีกต่อไป เรื่องนโยบายต่างประเทศจึงน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่รัฐประหาร 2534
หลังยุคชาติชาย ไทยยังมีบทบาทในการตั้ง AFTA (1992) หรือ ARF (1994) ที่ตั้งขึ้นเพื่อดูเรื่องความมั่นคงในภูมิภาค รวมทั้งการเสนอนโยบายเรื่องพม่า Constructive engagement policy คือการเปิดโอกาสให้ประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการเมืองในพม่า วิพากษ์วิจารณ์การเมืองพม่าได้ โดยในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่มี สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ก็พยายามผลักดันเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะเรื่องปัญหาชนกลุ่มน้อย ที่ถูกรัฐบาลพม่าผลักดันให้อพยพเข้ามาในไทย แต่เรื่องนี้ก็ทำให้หลายคนผิดหวังกับคุณสุรินทร์ เมื่อมาเป็นเลขาธิการของอาเซียน แต่ไม่ได้ผลักดันเรื่องพม่าเลย
ในช่วงนี้สหรัฐฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้มาก แต่ไปทุ่มให้ประเทศในตะวันออกกลาง โดยไม่เคยส่งผู้นำระดับสูงมาประชุมในภูมิภาคนี้เลยเป็นเวลาหลายปี ขณะเดียวกันบทบาทของจีนเพิ่มขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและการทหาร ซึ่งปัจจัยนี้เองก็กลับทำให้สหรัฐฯ กลับมาในภูมิภาคนี้อีกครั้งในช่วงโอบามา รวมทั้งอินเดียเองก็เติบโตขึ้น จากนโยบายมองตะวันออก (Look East 1991)
จนหลังศตวรรษใหม่ บริบทของเหตุการณ์ 9/11 และสงครามการก่อการร้าย สหรัฐฯ กลับมาพร้อมการช่วยเหลือทางทหาร มีการจัดการซ้อมรบร่วมกับสหรัฐในไทย (cobra gold) ซึ่งทำให้ไทยได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐด้านการทหาร และต่อสู้กับภัยจากการก่อการร้าย แม้จะเกิดรัฐประหารในไทย และสหรัฐจะงดความร่วมมือต่างๆ หลายด้านหลังรัฐประหาร แต่ก็ยังมีการซ้อมรบร่วมอยู่ ส่วนจีนได้เสนอความร่วมมือด้านการทหารด้วย แม้จะเล็กกว่า รวมทั้งการลงนาม FTA ในปี 2003 โดยไทยเป็นประเทศแรกที่จีนและอินเดียลงนามด้วยภูมิภาคนี้
ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ได้หันมาเน้นความสัมพันธ์ด้านธุรกิจ กลายเป็นการทูตเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับด้านความมั่นคงน้อยลง นั่นเท่ากับบทบาทของกองทัพที่มีต่อนโยบายต่างประเทศน้อยลงเช่นกัน ในช่วงนี้ ทักษิณทำในสิ่งที่ผู้นำไทยไม่เคยทำ การคิดนโยบายใหม่ๆ เช่น การเสนอ ACD รวมประเทศในเอเชียมาไว้ด้วยกัน โดยไทยมีศูนย์กลางสำคัญ แต่ไม่สำเร็จ, จัดตั้งกรอบความร่วมมือ ACMECS หรือยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างลุ่มน้ำอิรวดี แม่โขง และเจ้าพระยา ที่ไทยเข้าไปให้ช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ให้เงินกู้ หรือให้ความช่วยเหลือโครงการต่างๆ
และนโยบายต่างประเทศยังสอดคล้องกับนโยบายประชานิยมในประเทศด้วย โดยการอ้างเรื่องการเปิดตลาดให้กับสินค้า OTOP คือยิงนกนัดเดียวได้นกสองตัว ได้ทั้งในแง่พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ และเสริมผลประโยชน์ของคนท้องถิ่นด้วย แต่ก็มีความเป็นชาตินิยมมากๆ เช่น เรื่องการประกาศเอกราชเมื่อสามารถคืนหนี้ให้กับ IMF
ปวินกล่าวต่อถึงบทบาทของกระทรวงต่างประเทศ ว่าถูกท้าทายมาตลอดเวลาในช่วงที่รัฐบาลมีความเข้มแข็ง ทำให้รัฐบาลมองข้ามกระทรวงไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็มีสิทธิ์จะทำนโยบายเอง ข้าราชการประจำต่างหากที่ต้องทำนโยบายเสริมรัฐบาล แต่ความเป็นจริงก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยกระทรวงก็มีการเมืองภายใน และมีลักษณะความเป็นเจ้าขุนมูลนายมานาน ทำให้ปฏิเสธจะเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในบางเรื่อง รวมทั้งปัญหาการกำหนดนโยบายโดยไม่เข้าใจความเป็นจริงที่อยู่ในท้องถิ่น ไปจนถึงภายใต้ความแตกแยกทางการเมืองแบบนี้ ยิ่งสร้างความแตกแยกภายในระหว่างกลุ่มที่ฝักฝ่ายกลุ่มสีต่างๆ และไม่ให้ความร่วมมือกับฝ่ายตรงข้าม
นอกจากนั้น ความขัดแย้งภายในประเทศยังนำไปสู่ Linkage Politic คือความเกี่ยวโยงระหว่างการเมืองภายในกับการเมืองระหว่างประเทศ โดยใช้การเมืองระหว่างประเทศเพื่อที่จะทำลายคู่ต่อสู้หรือสร้างความชอบธรรม ให้ตัวเองในการเมืองภายใน เช่น การยกเลิกนโยบายต่างประเทศสมัยทักษิณทั้งหมดหลังรัฐประหาร หรือประเด็นเขาพระวิหาร นโยบายต่างประเทศกลายเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้การเมืองภายใน และกำจัดศัตรู, ปฏิเสธการเข้ามาตั้งของ NASA
ปวินทิ้งท้ายว่าในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์นี้ ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลมีนโยบายต่างประเทศหรือไม่ ด้วยทั้งยังไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ เลย และขาดความสนใจในนโยบายต่างประเทศ อาจเนื่องเพราะปัญหาการเมืองภายในเอง นอกจากนั้นยังทำให้กระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทกลับขึ้นมาได้ โดยรัฐบาลหันกลับมาฟังกระทรวงมากขึ้น ทำให้นโยบายอนุรักษ์นิยมกลับมามีอิทธิพลต่อนโยบายต่างประเทศมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น