สำรวจนโยบายอ่อนไหวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ที่เจอทั้งแรงต้านต่อตัวนโยบายเอง
และแรงตรวจสอบที่เข้มข้นทั้งเรื่องงบประมาณ ผลประโยชน์ทับซ้อน
และกระบวนการบริหารเริ่มด้วยนโยบายนิรโทษกรรม
ที่ถึงวันนี้เจอแรงเสียดทานในฝั่งเดียวกันเข้าเต็มๆ
การเมืองเป็นเรื่องกระแส
แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ทานกระแสต้านและการจุดประด็นสารพัดมาโจมตีตั้งแต่วัน
แรกที่เธอเป็นแคนดิเดตนายกจนถึงวันนี้สองปีกว่า ก็นับว่าน่าทึ่งไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันขณะ
จะบอกว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังเจอหมัดหนักรัวๆ จนอาจจะเมาหมัดเข้าแล้วเบาๆ
ก็อาจจะไม่ผิดความจริงนัก และในบรรดาหมัดที่รัวอยู่นี้
หมัดไหนจะเด็ดเป็นหมัดน็อก หมัดไหนปล่อยออกมาชกลมจนคนชกล้มคว่ำลงไปบ้าง
ก็น่ามาพิจารณากัน
ประชาไทรวบรวมประเด็นที่สำคัญในระดับนโยบายของรัฐบาลซึ่งถูกจับตาขยับ
ไปทางไหนก็ติดขัด ทั้งแรงต้านต่อตัวนโยบายเอง
และแรงตรวจสอบที่เข้มข้นทั้งเรื่องงบประมาณ ผลประโยชน์ทับซ้อน
และกระบวนการบริหาร
ประเดิมเรื่องแรกที่กำลังเป็นประเด็นของทางฝั่งรัฐบาลเองและมวลชนที่
หนุนรัฐบาล ก็เห็นจะได้แก่เรื่อง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมและพ.ร.บ.
ปรองดองแห่งชาติ โดยในขณะนี้ มีร่างพ.ร.บ.
ปรองดองรอการพิจารณาอยู่ในรัฐสภาแล้ว 5 ฉบับ ได้แก่
1. ร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ฉบับสนธิ บุญยรัตกลิน
ที่เป็นเหตุให้การประชุมสภาเมื่อปลายเดือนพ.ค.
เกิดความชุลมุนวุ่นวายทั้งในสภาและนอกสภา ร่างพ.ร.บ.
ฉบับนี้นิรโทษแก่กรรมผู้ชุมนุม ผู้สั่งการ เจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการ
ตั้งแต่เหตุการณ์ทางการเมืองปี 2548 ถึงปี 2554
นอกจากนี้ยังเลิกความผิดแก่ผู้ถูกดำเนินทางการเมืองตามประกาศของคปค.
และคืนสิทธิทางการเมืองแก่ส.ส. ที่ถูกตัดสิทธิจากการยุบพรรค
2. ร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ฉบับณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
นิรโทษกรรมผู้ที่ชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 ถึง 2554
รวมถึงผู้ออกคำสั่ง เจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการ
แต่ไม่นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานการก่อการร้ายและความผิดต่อชีวิต
ไม่ว่าจะแกนนำหรือผู้ชุมนุม
นอกจากนี้ยังเลิกความผิดแก่ผู้ถูกดำเนินทางการเมืองตามประกาศของคปค.
และคืนสิทธิทางการเมืองแก่ส.ส. ที่ถูกตัดสิทธิจากการยุบพรรค
3. ร่างพ.ร.บ. ปรองดอง ฉบับที่เสนอโดยสามารถ แก้วมีชัย
ให้นิรโทษกรรมผู้ที่ได้รับความผิดจากการชุมนุมทางการเมือง ระหว่างปี 2548
ถึง 2554 รวมถึงผู้ออกคำสั่ง เจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการ
และยกเลิกความผิดแก่ผู้ถูกดำเนินทางการเมืองตามประกาศของคปค.
และคืนสิทธิทางการเมืองแก่ส.ส. ที่ถูกตัดสิทธิจากการยุบพรรค
4. ร่างพ.ร.บ. ปรองดอง ฉบับที่เสนอโดยนิยม วรปัญญา
นิรโทษกรรมผู้ได้รับความผิดจากการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2549
จนถึงวันที่ร่างพ.ร.บ. ประกาศใช้ รวมถึงผู้ออกคำสั่ง
เจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการ
และยกเลิกความผิดแก่ผู้ถูกดำเนินทางการเมืองตามประกาศของคปค.
และคืนสิทธิทางการเมืองแก่ส.ส. ที่ถูกตัดสิทธิจากการยุบพรรค
สิ่งที่ระบุเพิ่มมาจากร่างอื่นๆ คือนิรโทษกรรมการรัฐประหารโดยคปค. เมื่อปี
2549 ด้วย
5. ร่างพ.ร.บ. ปรองดอง ฉบับร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง
นิรโทษกรรมผู้ได้รับความผิดจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549
จนถึงวันที่ร่างพ.ร.บ.ประกาศใช้ รวมถึงผู้ออกคำสั่ง
เจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการ
และยกเลิกความผิดแก่ผู้ถูกดำเนินทางการเมืองตามประกาศของคปค.
และคืนสิทธิทางการเมืองแก่ส.ส. ที่ถูกตัดสิทธิจากการยุบพรรค
ส่วนร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมอีก 2 ฉบับที่รอการพิจารณาของสภา ได้แก่
ร่างพ.ร.บ. ปรองดองที่เสนอโดยวรชัย เหมะ และอีก 42 ส.ส. เพื่อไทย
ซึ่งนิรโทษกรรมผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐ
ยกเว้นแกนนำหรือผู้ที่ออกคำสั่งในการสลายการชุมนุม และร่างพ.ร.บ.
นิรโทษกรรมที่เสนอโดยนิยม วรปัญญา ส.ส. พรรคเพื่อไทย
มีเนื้อหาคล้ายกับร่างของวรชัย เหมะ
ความพยายามผลักดันร่างของสนธิ บุญยรัตกลิน และเฉลิม อยู่บำรุง
เป็นชนวนให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลหลายกลุ่มออกมาชุมนุม
ตั้งแต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ออกมาชุมนุมในช่วงเดือนพ.ค.
ไปจนถึงกลุ่มเสื้อหลากสี นำโดยนพ. ตุลย์ สิทธิสมวงศ์
และล่าสุดการชุมนุมของกลุ่มหน้ากากขาวที่เริ่มชุมนุมจากในกรุงเทพฯ
ที่ประมาณการณ์ว่ามีผู้เข้าร่วมมากที่สุด 3,000 คน
และพยายามขยายการชุมนุมออกไปยังต่างจังหวัด
ถึงแม้ว่าร่างพ.ร.บ. ปรองดอง ฉบับของร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง
ที่นิรโทษกรรมเหมาเข่ง จะก่อให้เกิดแรงต้านอย่างสูง
ไม่ว่าจะจากฝั่งคนเสื้อแดงเองหรือฝ่ายพันธมิตรฯ และพรรคประชาธิปัตย์
แต่พรรคเพื่อไทยก็ยังยืนยันว่ามีมติสนับสนุนเพียงร่างของส.ส. วรชัย เหมะ
ซึ่งนิรโทษกรรมให้กับประชาชนทุกสีทุกฝ่าย ยกเว้นแกนนำและผู้สั่งการ
ซึ่งวรชัยระบุว่าน่าจะสามารถลดแรงต้านได้มากที่สุดแล้ว อย่างไรก็ตาม
ก็ยังหนีไม่พ้นข้อกังวลของหลายฝ่ายว่า ร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับวรชัย
จะถูกเอาไปหมดเม็ดรวมกับร่างพ.ร.บ. ปรองดอง
ถูกแก้ไขร่างในขั้นตอนแปรบัญญัติเพื่อเปลี่ยนจุดประสงค์ไปจากเดิม
ผลักร่างฉบับญาติผู้สูญเสีย ไม่นิรโทษให้การกระทำเกินกว่าเหตุ
นอกจากร่างนิรโทษกรรมและปรองดองที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีอีกร่างพ.ร.บ.
นิรโทษกรรมอีกฉบับที่ร่างขึ้นโดยญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ความรุนแรงทาง
การเมืองเมื่อ เม.ย.-พ.ค. 53 นำโดยแม่น้องเกด พะเยาว์ อัคฮาด และพ่อน้องเฌอ
สมาพันธ์ ศรีเทพ
โดยมีลักษณะคล้ายกับร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง
ของคณะนิติราษฎร์ ตรงกับมาตรา 291/1, 291/2, 291/3
ที่ระบุให้นิรโทษกรรมการกระทำผิดจากการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.
ความมั่นคง
และการกระทำที่ไม่ได้ร่วมชุมนุมแต่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหลังการรัฐ
ประหาร 2549
สาเหตุที่กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมอีกฉบับขึ้นมา
เนื่องจากระบุว่า
ร่างของวรชัยยังมีความคลุมเครือเรื่องการปฎิบัติการทางทหาร
ว่าจะได้การนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่ ประกอบกับคำให้สัมภาษณ์ของวรชัย
ยิ่งยืนยันว่าร่างดังกล่าวตั้งใจจะนิรโทษเจ้าหน้าที่ทหารทั้งหมด
ทำให้กลุ่มญาติไม่เห็นด้วยและผลักดันร่างฉบับของตนเองออกมา
ร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมของกลุ่มญาติฯ มีใจความหลักๆ
คือนิรโทษกรรมผู้มีความผิดจากการชุมนุมหลังการรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา
โดยเป็นความผิดที่เกิดจากการฝ่าฝืนพ.ร.บ. ความมั่นคงและพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
และการกระทำที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม
แต่เป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
อันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การทางการเมือง
และนิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่ไม่ได้กระทำเกินกว่าเหตุ
ร่างพ.ร.บ. ของญาตินี้ ระบุไม่นิรโทษกรรมให้แก่ผู้สั่งการ
หรือทหารที่ทำเกินกว่าเหตุ ไม่นิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่วางเพลิงเผาทำลาย
หรือปล้นทรัพย์ทรัพย์สินเอกชน
และการกระทำที่ก่อให้เกิดภยันตรายต่อชีวิตประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ
ประเด็นที่สำคัญของร่างนี้ที่กำลังเป็นถกเถียงกันมาก
คือสองประเด็นหลักสำคัญ เรื่องแรก คือการระบุว่าจะไม่นิรโทษกรรมผู้สั่งการ
และเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการที่ทำเกินกว่าเหตุ (มาตรา 4 วรรค 2)
ว่าหากระบุไว้เช่นนี้ การอ้างเรื่องการออกคำสั่งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่อ้างว่าเป็นไปตามหลักสากล
จะสามารถพิสูจน์ได้มากน้อยเพียงใดว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ
และทหารระดับปฏิบัติการ ที่มีพ.ร.ก. ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.
ความมั่นคงมีความคุ้มครองเรื่องการเอาผิด
จะสามารถถูกพิสูจน์ได้ตามกระบวนการยุติธรรมได้มากแค่ไหนว่าเป็นการกระทำที่
เกินกว่าเหตุ
ประเด็นที่สอง คือ มาตรา 3 (4)
ที่ไม่นิรโทษกรรมการกระทำหรือการตระเตรียม
ทั้งผู้ชุมนุมและผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม
ที่มุ่งต่อการประทุษร้ายผู้อื่นโดยใช้อาวุธ
และการกระทำที่มุ่งก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน และการกระทำผิดต่อทรัพย์
เช่น การวางเพลิง ปล้นทรัพย์ ลักทรัพย์อันเป็นของเอกชน
หากพิจารณาตามเงื่อนไขดังกล่าว
ผู้ต้องขังที่ถูกตัดสินจำคุกจากเหตุการณ์ปี 53 และเหตุการณ์อื่นๆ
ที่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองหลังรัฐประหาร 25 คน (ข้อมูลเมื่อวันที่
30 มิ.ย. จากศปช. และไม่รวมผู้ต้องขังคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112)
อาจมีผู้เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมเพียง 3 คนเท่านั้น
ได้แก่คดีมั่วสุมก่อให้เกิดความวุ่นวาย,
ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และกรรโชกทรัพย์
เพราะนักโทษนอกเหนือจากนั้น จะมีคดีจากพ.ร.บ. อาวุธปืนฯ, ปล้นทรัพย์,
มีอาวุธและเครื่องกระสุน, มีวัตถุระเบิด (ระเบิดปิงปอง) ไว้ครอบครอง
ซึ่งอาจเข้าข่ายมาตรา 3 (4) ซึ่งยกเว้นการนิรโทษกรรม
หากพิจารณาจากความผิดต่อทรัพย์สินเอกชน
ในขณะนี้มีผู้ถูกตัดสินจำคุกจากการวางเพลิงเผาทรัพย์ธนาคารกรุงเทพ
สาขาพระโขนง 1 ราย ก็จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม
และจากคดีวางเพลิงเผาทรัพย์ศาลากลางที่จ.อุดรธานีและอุบลราชธานีอีก 4 ราย
แม้ควรจะได้นิรโทษกรรมเนื่องจากเป็นการวางเพลิงเผาทรัพย์สินราชการ
แต่สำหรับผู้ต้องขังในจ.อุบลธานี 2 ราย
อาจได้รับนิรโทษกรรมในข้อหาทำลายทรัพย์สินราชการ
แต่ยังคงได้รับโทษจากข้อหาวางเพลิงทรัพย์สินเอกชน
เนื่องจากมีการเผาทรัพย์สินเอกชนรวมอยู่ด้วย
(ร้านกาแฟและรถตู้บริเวณใกล้เคียงกับศาลากลางจังหวัด 1 คัน)
จากกรณีที่กล่าวมาข้างต้น หากพิจารณาตามร่างของญาติฯ
นักโทษที่ติดคุกจากเหตุการณ์การชุมนุมและที่เกี่ยวข้อง
จะมีโอกาสได้รับนิรโทษกรรม ก็ต่อเมื่อมีการพิจารณาเป็นรายๆ ไปว่า
การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดต่อความมั่นคง
ที่ทำไปโดยมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การทางการเมือง ทั้งนี้
เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ผู้ต้องขัง ม.112 ยังไม่ชัดได้รับนิรโทษหรือไม่
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. นิรโทษกรรมและปรองดองที่กล่าวมาข้างต้น
ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกตัดสินว่าผิดตามประมวล
กฎหมายอาญามาตรา 112
เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับการตีความของศาลว่านับว่าเป็นการแสดงออกหรือการ
กระทำที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหรือไม่
และรัฐบาลเองก็อาจจะเลี่ยงนิรโทษกรรมผู้ต้องขังในคดี ม.112
เนื่องจากอาจเป็นเหตุให้เกิดกระแสต่อต้านสูง
จนอาจไม่สามารถออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับใดได้เลย
ล่าสุดนายวรชัย เหมะ ก็ย้ำว่า
จะพยายามผลักดันให้พรรคเพื่อไทยบรรจุร่างนิรโทษกรรมให้พิจารณาในที่ประชุม
รัฐสภาสมัยสามัญเป็นวาระแรก ก่อนการพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2557
หรือพ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อเอาใจมวลชนคนเสื้อแดง
ในขณะที่ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของญาติ ไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนักจากส.ส.
เพื่อไทย (อ่านข่าว 'จตุพร' เล็งกล่อม 'แม่น้องเกด'
ยุติเสนอร่างก.ม.นิรโทษฯ) แต่พรรคประชาธิปัตย์
กลับออกมาสนับสนุนร่างของญาติ
โดยระบุว่ามีแนวคิดสอดคล้องกับแนวคิดพรรคประชาธิปัตย์
และเชื่อว่าจะนำไปสู่การปรองดองได้
แม้เนื้อหาร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมของญาติฯ จะยังมิได้เป็นร่างสุดท้าย
เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น ก่อนที่จะยื่นให้กับรัฐสภา
แต่การพยายามผลักดันร่างนี้ออกมา
อาจเป็นการสะท้อนความไม่พอใจและไม่ไว้วางใจของคนเสื้อแดงที่มีต่อรัฐบาลและ
นปช. ว่ามีความจริงใจเพียงใดในการเอาผิดทั้งผู้สั่งการ เจ้าหน้าที่ทหาร
รวมถึงการค้นหาความจริงในเหตุการณ์ 2553
และปล่อยตัวนักโทษในคดีการเมืองออกจากคุก
นอกจากแรงเสียดทานที่เกิดจากมวลชนคนเสื้อแดงต่อรัฐบาล-นปช.แล้ว
ประเด็นเรื่องการนิรโทษกรรม
ยังถูกหยิบยกเป็นประเด็นหลักของการขับไล่รัฐบาลของกลุ่ม
"กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ" ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเร็วๆ นี้ พร้อมๆ
กับประเด็นร้อนอย่าง ให้ยุติความไม่จงรักภักดีของทักษิณ ชินวัตร ให้นายกฯ
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม
ไปจนถึงโครงการการจัดการน้ำ และโครงการจำนำข้าว
โดยทางกลุ่มประกาศว่าให้ทำตามข้อเรียกร้องภายใน 7 วัน
มิเช่นนั้นจะปักหลักชุมนุมยาว
คำตอบต่อสถานการณ์ดังกล่าว
อาจตอบได้เมื่อรัฐสภาเปิดสมัยการประชุมในต้นเดือนสิงหาคมนี้
ว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญต่อการพิจารณาต่อร่างใด
และการแปรญัตติต่อร่างนิรโทษกรรมต่างๆ จะออกมาเป็นอย่างไร
น่าจะช่วยให้เห็นแรงเสียดทานที่จะเกิดขึ้นจากหลายฝ่าย
และอนาคตของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต่อไปในอนาคต
Attachment | Size |
---|---|
บ.นิรโทษกรรม โดยญาติวีรชน.pdf | 69.12 KB |
ฉบับนิติราษฎร์.pdf | 61.48 KB |
บ.นิรโทษกรรม โดยนิยม วรปัญญา.pdf | 224.88 KB |
บ.นิรโทษกรรม โดยวรชัย เหมะ.pdf | 234.23 KB |
บ.ปรองดองแห่งชาติ โดยเฉลิม อยู่บำรุง.pdf | 70.79 KB |
บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ โดยสามารถ แก้วมีชัย.pdf | 398.44 KB |
บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ โดยนิยม วรปัญญา.pdf | 192.81 KB |
บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ โดยณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ.pdf | 489.21 KB |
บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ โดย สนธิ บุญรัตนกลิน.pdf | 253.12 KB |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น