เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 ที่โรงแรม โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล
กรุงเทพ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
จัดพิธีลงนามความร่วมมือในการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงาน (code of conduct)
สำหรับการกำกับดูแลเนื้อหาบนสื่อออนไลน์ ระหว่างสพธอ.กับ 7
องค์กรเครือข่ายและผู้ประกอบการ ภายใต้ชื่อกลุ่ม “Making Online Better”
(MOB) (“ทำให้การออนไลน์ดีขึ้น”) หรือ Thai Online Self-regulation
Community (TOSC) (“ชุมชนกำกับดูแลตัวเองออนไลน์ไทย”)
7 องค์กรดังกล่าวได้แก่ สมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ
สมาคมไทยแลนด์พีเคไอ สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย
มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย
สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กูเกิล เอเชียแปซิฟิก
และอีเบย์
ทั้งนี้เอกสารประกอบการแถลงข่าวระบุว่า กลุ่ม TOSC
จะดำเนินการจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงาน
เพื่อให้มีกระบวนการที่ชัดเจนในการจัดการกับเนื้อหาที่อาจกระทบต่อสิทธิของ
ผู้อื่น อันเป็นการผิดต่อกฎหมาย
และอาจทำให้ผู้ให้บริการต้องรับผิดจากการกระทำของบุคคลที่สาม โดย
ขอบเขตเนื้อหาที่จะดูแลในระยะแรก มี 5 ประเด็นคือ สื่อลามก
ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการสื่อลามกเด็กด้วยมาตรการที่รวดเร็ว,
การก่อการร้าย, ยาเสพติด, การหลอกลวง เช่น ฟิชชิ่งและสแปม,
และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยกระบวนการหนึ่งที่จะใช้ในการกำกับดูแลคือ
การแจ้งเพื่อนำเนื้อหาออก (notice & take down)
โดยขั้นตอนการร้องเรียนเพื่อจัดการกับเนื้อหาจะเริ่มจาก
ผู้เสียหายติดต่อไปยังศูนย์รับเรื่องร้องเรียน 1212 –>
ศูนย์ร้องเรียนประสานไปยังผู้ประสานงานของ TOSC –> TOSC
ประสานไปยังผู้เกี่ยวข้อง (สมาชิก) –>
สมาชิกจัดการเนื้อหาตามกระบวนการที่เหมาะสม –>
สมาชิกแจ้งไปยังเจ้าของเนื้อหาเพื่อให้โอกาสในการโต้แย้ง –>
(หากมีการโต้แย้ง) สมาชิกแจ้งการโต้แย้งไปยังผู้แจ้งเรื่อง
(ข้อมูลจากแผ่นพับ
“มาตรฐานจริยธรรมสำหรับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตประเทศไทย”
ที่แจกในงานแถลงข่าว)
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ
นายกสมาคมสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า
ปัญหาส่วนใหญ่ที่ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ชพบคือ
การใช้พื้นที่เพื่อขายของผิดกฎหมาย
ซึ่งในฐานะตัวกลางไม่รู้ว่ามีการขายสินค้าใดบ้างบนเว็บ
หรือสินค้าใดเป็นของต้องห้าม เพราะมีจำนวนมากมาย
ที่ผ่านมาเคยเกือบถูกดำเนินคดีในฐานะตัวกลางผู้ให้บริการด้วย
หากมีข้อกำหนดที่ชัดเจนจากการกำกับกันเอง
จะช่วยให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปได้ง่ายขึ้น
ศรีดา ตันทะอธิพานิช จากมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย
ซึ่งดำเนินงานสายด่วนรับแจ้งเว็บไซต์ไม่เหมาะสมด้วยกล่าวว่า
จากประสบการณ์รับร้องเรียนเรื่องภาพลามกเด็ก
ที่ผ่านมาใช้วิธีติดต่อกับผู้ดูแลเว็บโดยตรง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ
เมื่อแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงไอซีทีหรือตำรวจแล้ว
ไม่เคยได้รับทราบผลการดำเนินการเลย
อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ระบุว่า
ที่ผ่านมามีการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมบนอินเทอร์เน็ต
ซึ่งบางครั้งก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง
ทั้งนี้มีการถกเถียงถึงความเหมาะสมในการบังคับใช้กฎหมาย
ว่าการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐปิดเว็บนั้นละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิด
เห็นหรือไม่ ซึ่งทั้งผู้ใช้งาน เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
เจ้าของเว็บไซต์ มีความเห็นที่ต่างกัน เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้
ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงควรร่วมกันจัดทำเกณฑ์กำกับเนื้อหาบนสื่อออนไลน์
เพื่อให้เกิดความเข้าใจบนพื้นฐานหลักการเดียวกัน
อริยะ พนมยงค์ ผู้จัดการประจำประเทศไทยของกูเกิล ในฐานะตัวแทนจาก
กูเกิล เอเชียแปซิฟิก เห็นว่าสิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
ในต่างประเทศการกำกับดูแลกันเองของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
ก็เป็นความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือ
ความโปร่งใส
สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสพธอ.กล่าวว่า ในฐานะภาครัฐ
มีบทบาทส่งเสริมและสนับสนุน โดยจะพยายามไม่เข้ามาแทรกแซงการทำงาน ในขณะที่
ณัฐวรรธน์ สุขวงศ์ตระกูล ผู้เชี่ยวชาญสำนักกฎหมาย สพธอ.
กล่าวว่ามาตรฐานดังกล่าวจะมีเนื้อหาขนานกับร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความ
ผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างปรับแก้ร่างฯ
โดยมีแนวคิดว่าอาจนำไปใส่ในมาตราเรื่องผู้ให้บริการ
แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปรวมถึงกรอบเวลาที่ชัดเจน
กำพล ศรธนะรัตน์ กรรมการสมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ (TISA)
กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานว่า ด้านหนึ่งจะเป็น fast track
หรือช่องทางด่วนรับแจ้งเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม
ขณะเดียวกันก็จะกำกับดูแลกันเอง
โดยอาจมีเนื้อหาบางแบบที่ระบุชัดในแนวทางว่า
ผู้ให้บริการสามารถพิจารณาเอาออกเองได้โดยที่ไม่ต้องมีคนแจ้ง
ซึ่งจะช่วยจัดระเบียบสังคมได้
ขณะเดียวกัน มีข้อสังเกตจาก จีรนุช เปรมชัยพร
ผู้อำนวยการเว็บไซต์ข่าวประชาไทว่า
การกำกับกันเองย่อมดีกว่าให้คนอื่นมากำกับ แต่มีข้อเป็นห่วงว่า
จะมีมาตรการป้องกันอย่างไร
ไม่ให้การกำกับดูแลกันเองขยายเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเอง
ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งณัฐวรรธน์จากสพธอ.ตอบว่า
ในต่างประเทศก็มีความกังวลในประเด็นดังกล่าวเช่นกัน
ว่าผู้ให้บริการอาจนำเนื้อหาออกทันทีเมื่อได้รับการร้องเรียน
ซึ่งเท่ากับไม่ไตร่ตรองให้ดีก่อนและเป็นการเซ็นเซอร์เนื้อหาให้ภาครัฐ
ส่วนตัวมองว่า ยากที่จะตัดสินและยังมีความเห็นต่างกันอยู่
แต่การจัดทำแนวปฏิบัตินี้จะยืนอยู่บนฐานของกฎหมาย
ซึ่งน่าจะทำให้เส้นแบ่งชัดมากขึ้น แต่ก็รับเป็นข้อห่วงใยไว้
ทั้งนี้กลุ่ม Thai Online Self-regulation Community (TOSC)
นั้นประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ 1 แห่ง บริษัทเอกชน 2 แห่ง
สมาคมผู้ประกอบการและสมาคมวิชาชีพ 4 แห่ง และมูลนิธิเพื่อการพัฒนา 1 แห่ง
จากข้อมูลในเว็บไซต์ของสมาคมและมูลนิธิต่างๆ ดังกล่าวพบว่า
มีกรรมการสมาคมและมูลนิธิจำนวนหนึ่งเป็นบุคลากรจากสพธอ.หรือหน่วยงานบังคับ
ใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือดำรงเป็นกรรมการในหลายสมาคม
หรือเป็นกรรมการไขว้สมาคมกัน
เช่น สมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ (TISA) มีนายกสมาคมคือ ญาณพล
ยั่งยืน (รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ) มีกรรมการสมาคมคือ ชัยชนะ มิตรพันธ์
ผู้ช่วยผู้อำนวยการสพธอ. ในขณะที่สมาคมไทยแลนด์พีเคไอ
มีที่ทำการสมาคมอยู่ที่สพธอ.
อีเมลติดต่อสมาคมเป็นอีเมลภายใต้ชื่อโดเมนของสพธอ. (etda.or.th)
มีนายกสมาคมคือ สุรางคณา วายุภาพ (ผู้อำนวยการสพธอ.) มีอุปนายกสมาคมคนที่ 1
คือ กำพล ศรธนะรัตน์ (กรรมการสมาคม TISA)
และมีกรรมการสมาคมร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยและสมาคมผู้ให้
บริการอินเทอร์เน็ตไทย
จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ซึ่งทำวิจัยเรื่องการกำกับดูแลเนื้อหาอินเทอร์เน็ตและกลไกคุ้มครองเด็กออ
นไลน์ แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า
จากข้อมูลเท่าที่มียังไม่เห็นกฎหมายจัดตั้งรองรับ ดังนั้นสถานะของกลุ่ม
Thailand Online Self-regulation Community (TOSC) นี้น่าจะเป็นองค์กรเอกชน
ที่มีหน่วยงานรัฐให้การสนับสนุน ซึ่งโครงสร้างจะคล้ายกับมูลนิธิ Internet
Watch Foundation (IWF) ของสหราชอาณาจักร ที่ต่างกันบ้างคือในโครงสร้าง IWF
จะมีตำรวจร่วมอยู่ด้วย ทั้งนี้การทำงานของ TOSC ก็คล้ายกับ IWF
คือรับเรื่องร้องเรียนและประสานงานกับผู้ให้บริการการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
(ISP) หรือผู้ให้บริการเนื้อหา ให้จัดการกับเนื้อหาที่ได้รับร้องเรียน
เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ การดูแลกำกับเนื้อหาที่ “ไม่หมาะสม” กันเอง
ซึ่งดูเหมือนจะดี
เพราะเป็นการกันไม่ให้รัฐเข้ามายุ่มย่ามในการแสดงออกมากจนเกินไป
แต่ก็มีด้านที่ต้องระวัง
เพราะเป็นการสถาปนาอำนาจการปิดกั้นเนื้อหาให้กับองค์กรเอกชน
ซึ่งไม่มีอำนาจทางกฎหมายแต่ไปทำหน้าที่ตัดสิน
อีกทั้งไม่สามารถใช้กลไกคานอำนาจและตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่มี
อยู่ในปัจจุบันอย่างศาลปกครองและพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการได้
จึงเป็นห่วงเรื่องการควบคุมการใช้อำนาจและความโปร่งใส
อีกประเด็นคือ ขอบเขตของเนื้อหาที่จะดูแล สิ่งที่ TOSC แตกต่างจาก IWF
ชัดเจน กล่าวคือ IWF จะดูแลเฉพาะภาพโป๊เด็ก (child pornography)
เนื้อหาตามกฎหมายลามกอนาจาร (obscenity law)
และเนื้อหาตามกฎหมายภาพโป๊ขั้นรุนแรง (extreme pornography law) เท่านั้น
ซึ่งทั้งหมดมีความชัดเจนว่าเป็น “เนื้อหาผิดกฎหมาย” แต่ TOSC
ของไทยดูจะมีขอบเขตที่กว้างกว่ามาก เนื่องจากใช้คำว่า “เนื้อหาไม่เหมาะสม”
จุดนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะคำว่า “ไม่เหมาะสม” นั้นไม่ชัดเจน
และอาจทำให้สมาชิก TOSC ต้องพิจารณาเนื้อหาที่เกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด
จอมพลยังได้แสดงความเห็นต่อองค์ประกอบสมาชิกของ TOSC ว่า
จากที่เคยทำวิจัยเรื่องดังกล่าว
มีประสบการณ์ว่าภาคเอกชนบางองค์กรที่เป็นสมาชิก TOSC
มีทัศนคติสนับสนุนการควบคุมเนื้อหาแบบเข้ม
จึงเป็นห่วงว่าเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนจะได้รับผลกระทบ
เขายังตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า
นี่อาจเป็นครั้งแรกที่มีความพยายามดึงเอาสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย
(TISPA) เข้ามาร่วมควบคุมเนื้อหา เพราะเดิม TISPA
ไม่ได้มีหน้าที่ดังกล่าวในกรอบงานขององค์กร
อาจารย์นิติศาสตร์ทิ้งท้ายว่า โครงการดังกล่าวโดยสพธอ.นี้
เป็นความพยายามตั้งองค์กรเอกชนที่มีหน้าที่ควบคุมเนื้อหา
ซึ่งอาจทำให้ประเด็นข้อโต้แย้งเรื่องการริดรอนสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญไม่
เกิดขึ้น เพราะหน่วยงานที่ทำคือเอกชนไม่ใช่รัฐ และรัฐธรรมนูญมาตรา 45
ที่คุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกนั้น
อาจไม่ครอบคลุมถึงกรณีการปิดกั้นเนื้อหาโดยองค์กรเอกชน
เนื่องจากไม่ใช่การใช้อำนาจโดยรัฐ
ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดลิ
นิวส์ว่า ภายใน 2 เดือนนี้
กระทรวงไอซีทีจะร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา
คาดว่าใช้ระยะเวลาอย่างเร็วประมาณ 6 เดือนถึง 2 ปี
ก่อนประกาศลงราชกิจจานุเบกษา โดยกฎหมายฉบับใหม่จะเน้น 2 ข้อหลัก
คือ 1) การปรับปรุงให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ 2) การให้สิทธิการควบคุมกันเอง
โดยเฉพาะผู้ให้บริการมีสิทธิสั่งปิดหรือระงับการให้บริการของผู้ใช้บริการ
“ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม” ได้ โดยไม่ต้องรอถึงกระบวนการทางกฎหมาย
โดยผู้ใช้บริการไม่สามารถฟ้องร้องค่าเสียหายได้ในภายหลัง
อ้างอิง
ข้อมูลจากแผ่นพับ “มาตรฐานจริยธรรมสำหรับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตประเทศไทย”
(สพธอ., 17 ก.ค. 2556 ณ โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพ),
8 องค์กรทำ MOU เล็งสร้างเกณฑ์กำกับกันเองของเนื้อหาออนไลน์ (ประชาไท, 17 ก.ค. 2556),
เฟซบุ๊ก จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน (18 ก.ค. 2556)
‘อนุดิษฐ์’ เตรียมดันพ.ร.บ.คอมฯใหม่เข้าครม. (เดลินิวส์, 18 ก.ค. 2556)
(สพธอ., 17 ก.ค. 2556 ณ โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพ),
8 องค์กรทำ MOU เล็งสร้างเกณฑ์กำกับกันเองของเนื้อหาออนไลน์ (ประชาไท, 17 ก.ค. 2556),
เฟซบุ๊ก จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน (18 ก.ค. 2556)
‘อนุดิษฐ์’ เตรียมดันพ.ร.บ.คอมฯใหม่เข้าครม. (เดลินิวส์, 18 ก.ค. 2556)
ที่มา: https://thainetizen.org/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น