แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกับคนเสื้อแดง

ที่มา Thai E-News

 
Thailand's red shirt protester holds pictures of former Prime Minister Thaksin Shinawatra during a rally at the Democracy Monument in Bangkok September 18, 2011.
พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นนักธุรกิจและนักการเมืองในระบบเลือกตั้งที่ประสบความสำเร็จ แต่เขาไม่ใช่ “นักปฏิวัติสังคม” และพรรคเพื่อไทยก็ไม่ใช่พรรคปฏิวัติประชาธิปไตย คนเสื้อแดง จะต้องคาดหวังจากพ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทยตามสภาพความเป็นจริง ..

โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ฺ
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน"โลกวันนี้วันสุข"
ฉบับวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2556


นับแต่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 มวลชนคนเสื้อแดงได้ตั้งความหวังไว้กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในระดับต่าง ๆ กัน 

นอกจากหวังให้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ นำประโยชน์มาสู่ประเทศชาติและประชาชนชาวรากหญ้าที่เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย คนเสื้อแดงยังหวังว่า พรรคเพื่อไทยจะใช้อำนาจบริหารและเสียงข้างมากในสภาไปดำเนินงานทางประชาธิปไตย เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับการเข่นฆ่าประชาชนเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553 เยียวยาผู้เสียหาย ช่วยเหลือผู้ที่ต้องคดีทั่วประเทศ ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย
                

ที่ผ่านมา รัฐบาลพรรคเพื่อไทยทำตามความคาดหวังของมวลชนคนเสื้อแดงได้เพียงบางส่วน 

แม้จะช่วยเหลือผู้ที่ต้องคดีให้ได้ประกันตัวแล้วเป็นส่วนมาก แต่อีกจำนวนหนึ่งก็ยังถูกจำขังอยู่ แม้จะมีการเยียวยาผู้บาดเจ็บล้มตายจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 แต่การแสวงหาความจริงก็ยังไม่เกิดขึ้น 

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ให้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับด้วยสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ล้มเหลวเมื่อพรรคเพื่อไทยยอมจำนนต่อศาลรัฐธรรมนูญที่อ้างมาตรา 68 เข้ามาก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ
                
ทั้งหมดนี้ ประกอบกับ “แนวทางปรองดอง” ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ท่าทีเอาอกเอาใจและปรนเปรอฝ่ายกองทัพ การผลักดันพระราชบัญญัติปรองดองแห่งชาติฉบับนิรโทษกรรมเหมาเข่ง 

กระทั่ง คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อ 19 พฤษภาคม 2555 ที่ประกาศ “สละเรือไปขึ้นบก”  ทั้งหมดนี้ทำให้มวลชนคนเสื้อแดงจำนวนมากระแวงว่า พรรคเพื่อไทยและอดีตผู้นำพรรคไทยรักไทยจะ “ทอดทิ้ง” ขบวนประชาธิปไตย

แม้ ในระยะหลัง พรรคเพื่อไทยจะแสดงท่าทีกระตือรือร้นมากขึ้น เช่น ปาฐกถาพิเศษของนายกรัฐมนตรีที่ประเทศมองโกเลีย การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราและร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม การประกาศของสส.ฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่แทรกแซงการแก้ไข รัฐธรรมนูญรายมาตรา เป็นต้น แต่ความระแวงของมวลชนเสื้อแดงบางส่วนต่อพรรคเพื่อไทยก็ยังคงอยู่

ความไม่พอใจต่อกรณีข้างต้นของมวลชนเสื้อแดงต่อพรรคเพื่อไทยและต่อ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น มีเหตุผล 

แต่คนเสื้อแดงบางส่วนได้หันไปสู่ด้านที่สุดโต่งถึงกับสรุปว่า พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทยได้หักหลังขบวนประชาธิปไตยไปสยบสมคบกับพวกจารีตนิยมเรียบร้อยแล้ว 

ทว่า ความไม่พอใจส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการตั้งความหวังกับพ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทยเกินกว่าความเป็นจริง

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เป็นนักบริหารที่มีวิสัยทัศน์แหลมคมและกว้างไกล เมื่อเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เป็นนักการเมืองและนักบริหารที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา 

แต่ในทางธุรกิจ เขาเติบโตมาด้วยเครือข่ายผลประโยชน์ต่างตอบแทนอันเหนียวแน่นกับราชการและกลุ่มทุนเก่า แลกเปลี่ยนและเกื้อกูลผลประโยชน์ของทุนจารีตนิยม ในทางการเมือง เขาเป็นนักการเมืองในระบบเลือกตั้งที่ต้องอาศัยกลไกเครือข่ายเงินทุนและกลุ่มก๊วนการเมืองต่าง ๆ เช่นเดียวกับนักการเมืองในระบบเลือกตั้งทั่วทั้งโลก

สถานการณ์นับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา ไม่ใช่สถานการณ์ของการเมืองแบบเลือกตั้งปกติ หากแต่เป็นสถานการณ์ปฏิวัติประชาธิปไตย ที่สองชนชั้น สองแนวทาง ต่อสู้กันเพื่อตัดสินชะตากรรมอนาคตของประเทศไทยว่า จะเป็นประเทศเผด็จการจารีตนิยมที่ล้าหลังหรือจะเป็นประเทศประชาธิปไตยเสรี นิยมที่ก้าวหน้า

คุณสมบัติที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณประสบความสำเร็จทั้งทางธุรกิจและทางการเมืองในระบบเลือกตั้งปกติ มิได้หมายความว่า เขาจะเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แหลมคมและชาญฉลาดภายใต้สถานการณ์ปฏิวัติประชาธิปไตย 

ในทางตรงข้าม ภายใต้สถานการณ์ปฏิวัตินี้ ท่าทีของพ.ต.ท.ทักษิณต่อพวกจารีตนิยมออกจะไร้เดียงสาทางการเมือง ไม่รับรู้บทเรียนทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 ถึงปัจจุบันว่า พวกจารีตนิยมไม่เคยจริงใจกับใคร ไม่เคยต่อรองกับใคร และยิ่งไม่เคยแบ่งอำนาจให้ใครทั้งสิ้น ทั้งเหี้ยมโหดอำมหิตและไม่เคยหยุดการทำลายล้างจนกว่าคนที่เขาเห็นว่า เป็นศัตรู จะสูญสิ้นไปอย่างแท้จริง 

ที่สำคัญ พ.ต.ท.ทักษิณไม่เรียนรู้จากบทเรียนความล้มเหลวของตนเองครั้งแล้วครั้งเล่าในการเจรจาประนีประนอมกับพวกจารีตนิยม และยังคงไว้ซึ่งความเพ้อฝันที่มีต่อชนชั้นจารีตนิยมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เชื่ออย่างว่างเปล่าว่า “ด้วยแรงกดดันอย่างช้า ๆ ฝ่ายจารีตนิยมจะยอมประนีประนอม” และจะสามารถ “อยู่ร่วมกันอย่างสันติ” ได้ในที่สุด

พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นนักธุรกิจและนักการเมืองในระบบเลือกตั้งที่ประสบความสำเร็จ แต่เขาไม่ใช่ “นักปฏิวัติสังคม” และพรรคเพื่อไทยก็ไม่ใช่พรรคปฏิวัติประชาธิปไตย คนเสื้อแดง จะต้องคาดหวังจากพ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทยตามสภาพความเป็นจริง ไม่ใช่จากความปรารถนาส่วนตัว

แต่ ถึงอย่างไร ทั้งพ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทยก็ยังเป็นฝ่ายประชาธิปไตย เพราะผลประโยชน์และความอยู่รอดระยะยาวของพวกเขาผูกติดอยู่กับชัยชนะของฝ่าย ประชาธิปไตย การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพวกเขาตราบปัจจุบัน โดยรวมแล้ว ยังเป็นคุณต่อฝ่ายประชาธิปไตยและมีอิทธิพลไปบั่นทอนพวกจารีตนิยมอย่างมีนัย สำคัญ ขบวนประชาธิปไตยจะไม่มีทางเป็นขบวนอันยิ่งใหญ่ในวันนี้หากปราศจาก พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทย

มวลชนคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งที่ผิดหวังกับ พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทย ได้เสนอแนวทาง “ตั้งพรรคการเมืองของคนเสื้อแดง” ขึ้นมาเพื่อต่อสู้ช่วงชิงประชาธิปไตยแทนพรรคเพื่อไทย แต่นี่เป็นข้อเสนอที่สุดโต่งและไร้เดียงสา 

การ ตั้งพรรคการเมืองตามแนวทาง “พรรคปฏิวัติ” นั้นพ้นสมัยไปแล้วและไม่สอดคล้องกับลักษณะธรรมชาติที่เป็นเสรีนิยมของขบวน ประชาธิปไตยคนเสื้อแดง พรรคปฏิวัติเช่นนั้นมีแต่จะล้มเหลวและถูกปฏิเสธจากคนเสื้อแดงส่วนใหญ่

ส่วนการตั้ง “พรรคการเมืองเลือกตั้ง” ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ก็จะล้มเหลวในลักษณะเดียวกันกับ “พรรคการเมืองใหม่” ของพวกพันธมิตรเสื้อเหลือง เพราะพรรคเลือกตั้งจะต้องมีทั้งเงินทุนและมีบุคลากร ทั้งผู้นำพรรคและแกนนำ ที่สามารถดำเนินงานการเมืองในระบบเลือกตั้งระดับทั่วประเทศให้ได้ไม่แพ้พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์

แนวทางที่ถูกต้องคือ ขบวนคนเสื้อแดงยังจะต้องทำงานร่วมกับพรรคเพื่อไทยต่อไปอย่างใกล้ชิด ทั้งสนับสนุน ทั้งวิจารณ์ไปพร้อมกัน ใช้พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทยให้เป็นประโยชน์ ผลักดันให้พรรคเพื่อไทยดำเนินการต่อสู้ทางประชาธิปไตยอย่างเอาการเอางาน วิจารณ์แนวโน้มอ่อนแอ โลเลของพวกเขาอย่างแข็งขัน ให้พวกเขาเป็นแนวรบสำคัญในรัฐสภาและฝ่ายบริหารภายในระบอบรัฐธรรมนูญ 2550

ขบวนคนเสื้อแดงจะต้องเข้าใจว่า การได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น เป็นภาระหน้าที่หลักของประชาชน ชัยชนะเด็ดขาดเหนือเผด็จการนั้น มิใช่ได้มาด้วยการใช้โวหารแล้วยกมือลงมติผ่านกฎหมายในรัฐสภา หากแต่จะต้องตัดสินในขั้นสุดท้ายด้วยการต่อสู้ของประชาชนบนท้องถนน 

ในการนี้ พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทย คือผู้ร่วมทางประชาธิปไตยที่สำคัญและขาดเสียมิได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น