นักวิชาการเอเชียศึกษา
ชี้ให้เห็นว่าความรับรู้หลายประการที่คนไทยมีต่อประเทศตัวเอง
มีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เนื่องจากการศึกษา
ที่เน้นมองตัวเองเป็นศูนย์กลาง ตัดขาดจากประเทศอื่น
ทำให้มีความรู้ที่จำกัดและคับแคบ จึงจำเป็น ต้องปรับเปลี่ยนการศึกษา
เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เปิดศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาขึ้นอย่างเป็นทางการ และมีปาฐกถาพิเศษ
โดยศาสตราจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ประธานสมาคมเอเชียศึกษา
และอาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน
ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นองค์ปาฐกถา ในหัวข้อ "สยาม/ไทย
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา : ความรู้เรื่องไทยท่ามกลางภูมิภาค"
ซึ่งเป็นการกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของสยามและประเทศไทย
ในความรับรู้ของชาวไทย ซึ่งแตกต่างจากชาวต่างชาติ ที่มองประเทศไทย
ในฐานะส่วนหนึ่งของภูมิภาค
โดย ศาสตราจารย์ธงชัย กล่าวว่า
คนไทยมักมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์-สังคมของตัวเอง
เพียงแค่ว่าเป็นสังคมเกษตรกรรมชนบท
ที่มีความสงบสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
และมีเอกลักษณ์ของตัวเองที่ไม่มีใครเหมือนบนโลก ซึ่งที่ผ่านมา
มีการศึกษาโดยชาวต่างชาติมากมาย ตั้งแต่สมัยยุคล่าอาณานิคม จนถึงปัจจุบัน
ที่ชี้ให้เห็นแล้ว ว่าความรับรู้ดังกล่าวไม่เป็นความจริง
เนื่องจากการศึกษาเหล่านั้น
ได้พิสูจน์แล้วว่า
ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไม่สามารถแยก
ออกจากกันได้ เพราะต่างได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอินเดียและจีน
และหลายสิ่งที่ชาวไทยคิดว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนเอง
กลับเป็นของประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ด้วย
นอกจากนี้ ความรับรู้ที่ว่า
ประเทศไทยไม่เคยเป็นอาณานิคมของประเทศใด ยังไม่เป็นความจริงอีกด้วย
เนื่องจากประเทศไทย อยู่ในฐานะกึ่งอาณานิคมมาโดยตลอดในยุคล่าอาณานิคม
ภายใต้การยินยอมพร้อมใจของผู้ปกครองสยาม
ที่ได้ประโยชน์จากการร่วมมือกับตะวันตกในขณะนั้น
สุดท้ายศาสตราจารย์ธงชัยชี้ให้เห็น
ว่าการมองตัวเองเป็นศูนย์กลางเช่นนี้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทย
มีความรู้ทางประวัติศาสตร์
ทั้งของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่จำกัดและคับแคบ
และยังเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้การศึกษาไทยล้มเหลว และประชากรไม่มีการพัฒนา
เนื่องจากยึดติดว่าตัวเองดีที่สุดแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริง
by
Anuthee
18 กรกฎาคม 2556 เวลา 18:05 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น