แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท คืออะไร

ที่มา Voice TV



การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท วาระ 2 หรือ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท คืออะไร และมีความสำคัญหรือเงื่อนไขอย่างไร

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขน ส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท วาระ 2 หรือ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ในระหว่างวันที่ 19-20 กันยายนนี้

มีสาระสำคัญ คือ การให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยมีโครงการกำหนดชัดเจนในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ มีระยะเวลาทั้งหมด 7 ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ.2557 – 2563

ประกอบไปด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูง 783,230 ล้านบาท   โครงการรถไฟฟ้า 472,448 ล้านบาท  โครงการรถไฟทางคู่ 403,214 ล้านบาท ซึ่งโครงการระบบรางสูงสุดถึง 80 % ตามด้วยโครงการก่อสร้างถนน 4 ช่องทาง สะพานข้ามรถไฟ ถนนเชื่อมประตูการค้า 183,569 ล้านบาท  โครงการมอเตอร์เวย์ 91,820 ล้านบาท  โครงการลำน้ำและชายฝั่ง 29,820 ล้านบาท /นอกจากนั้น ยังมีสถานีขนส่งสินค้า  ด่านศุลกากร และ สำรองเผื่อฉุกเฉิน

โดยมีเป้าหมายหลักของแผนการลงทุน 10 ประการ ทั้งการลดต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP จากปัจจุบันไม่น้อยกว่า 2 % / ลดสัดส่วนผู้เดินทางระหว่างจังหวัดโดยรถยนต์ส่วนบุคคล จาก 59 % เหลือ 40 %  ความเร็วเฉลี่ยของรถไฟขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น สัดส่วนการขนส่งสินค้าทางราง และทางน้ำเพิ่มขึ้น / ลดความสูญเสียจากน้ำมันเชื้อเพลิงไม่น้อยกว่า 1 แสนบาทต่อปี / เพิ่มปริมาณผู้โดยสารรถไฟ  และการลดระยะเวลาการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังเมืองภูมิภาค ด้วยรถไฟความเร็วสูงภายในรัศมี 300 กิโลเมตร รอบกรุงเทพมหานคร ให้เหลือไม่เกิน 90 นาที จากเดิมใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 3 ชั่วโมง

ทั้งนี้ หากพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีผลบังคับใช้จะทำให้มีหลายโครงการสามารถดำเนินการได้ทันที เช่นโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง  สายสีเขียว  และสายสีน้ำเงิน ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โครงการก่อสร้างทางหลวง  และโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.

ขณะที่มีแผนการประกวดราคาในปี 2557 จนถึงปี 2560  ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูง  โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงการก่อสร้างรถไฟสายใหม่  โครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของ รฟท. รวมทั้งโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพ หรือ Mass Rapid Transit และโครงการก่อสร้างรถไฟทางราง

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลจะออกพระราชบัญญัติฉบับนี้ กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่า ไม่ได้ขัดต่อมาตรา 169 ที่กำหนดให้การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้เฉพาะที่อนุญาตไว้ด้วยกฎหมายว่า ด้วยงบประมาณรายจ่าย ว่าด้วยวิธีการงบประมาณ การโอนงบประมาณ หรือ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง

อีกทั้งการที่ออกพระราชบัญญัติ แยกออกจากงบประมาณแผ่นดิน เนื่องจากเป็นแผนการระยะยาว เพื่อให้โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่เป็นภาระในการจัดตั้งงบประมาณผูกผันขนาดใหญ่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน และมีการตรวจสอบที่เข้มข้นกว่าการทำโครงการขนาดใหญ่ตามปกติ

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติฉบับนี้ มีเงื่อนไขที่สำคัญเพิ่มเติม อาทิ การกู้เงินเป็นสกุลเงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศให้ทำในนามรัฐบาลไทย โดยมีมูลค่ารวมกันไม่เกินสองล้านล้านบาท และให้กระทำได้ภายในกำหนดเวลาไม่เกิน วันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยให้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ในการกู้ที่กำหนด

ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารและ จัดการการกู้เงิน การเบิกจ่ายเงินกู้การชำระหนี้ และที่เกี่ยวกับการกู้เงินตามพระราชบัญญัตินี้

ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการ รายงานการเบิกจ่ายเงินกู้ของโครงการและผลการดำเนินโครงการ อย่างต่อเนื่องจนสิ้นสุดโครงการ

และภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ให้คณะรัฐมนตรีรายงานการกู้เงินตามพระราชบัญญัตินี้ที่กระทำในปีงบประมาณที่ ล่วงมาแล้ว ผลการดำเนินงานและการประเมินผลการดำเนินการตามแผนงานในแต่ละยุทธศาสตร์ต่อ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบ

นี่คือ ทั้งหมด ของร่างพระราชบัญญัติเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งมีทั้งหมด 18 มาตรา ที่สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาในวาระที่ 2 ซึ่งจะสามารถผ่านไปสู่การพิจารณาในวาระที่ 3 ก่อนที่จะบังคับใช้กฎหมายได้หรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
19 กันยายน 2556 เวลา 11:21 น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น