แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

รายงานเสวนา “เบื้องหลังรัฐประหาร 6 ตุลา 19 ถึง 19 กันยา 49 สำเนาถูกต้อง”

ที่มา ประชาไท


“จรัล-พนัส-อชิรวิทย์-ศิโรตม์” ร่วมถก ‘ความเหมือน-ความต่าง’ เบื้องหลังรัฐประหาร 6 ตุลา 19 ถึง 19 กันยา 49 ระบุศาลยอมรับ รปห. ผลพวง รปห.2490 ในฐานะ “รัฏฐาธิปัตย์”
ภาพจากเฟซบุ๊ก Watthana Praisonta
 
19 ก.ย.56 อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ แยกคอกวัว คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ จัดเสวนา "เบื้องหลังรัฐประหาร 6 ตุลา 19 ถึง 19 กันยา 49 สำเนาถูกต้อง" โดยมี จรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีต ส.ส.ร.รัฐธรรมนูญ 2540 และ ส.ว.เลือกตั้ง พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช และ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ร่วมเสวนา
ภาพจากเฟซบุ๊ก Watthana Praisonta
จรัล ดิษฐาอภิชัย วิเคราะห์ความเหมือนระหว่างเหตุการณ์รัฐประหาร 6 ต.ค.19 กับ 19 ก.ย.49 ดังนี้
1.     เป็นการรัฐประหารที่เกิดขึ้นหลังการคลื่อนไหวใหญ่ของมวลชนฝ่ายขวา 6 ต.ค.19 นั้นมีการเคลื่อนของกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน นวพล กระทิงแดง ขณะที่ 19 ก.ย.49 นั้นมีการเคลื่อนไหวใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
2.     รัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง อ้างเหตุที่ทำเหมือนกันคือเนื่องจากมีการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์จึงทำการรัฐประหาร
3.     ตั้งชื่อคล้ายกัน กรณี 6 ต.ค. นั้นคณะรัฐประหารใช้ชื่อ “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ขณะที่ 19 ก.ย. นั้นใช้ชื่อ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
ขณะที่ความแตกต่าง จรัล วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์รัฐประหาร 6 ต.ค.19 นั้น เกิดขึ้นหลังจากมีการสังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะที่รัฐประหาร 19 ก.ย. นั้นไม่มีการฆ่าใคร รวมทั้งรัฐประหาร 6 ต.ค.19 สถาปนารัฐบาลขวาจัด โดยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร แต่ 19 ก.ย. นั้นสถาปนาระบอบเผด็จการอ่อนๆ
จรัล กล่าวด้วยว่าคณะรัฐประหารทั้ง 2 ครั้งนั้น มีสถานการณ์คล้ายๆ กันคือความคิดที่ว่าหากไม่ทำการรัฐประหารประเทศไทยก็จะไม่สามารถรักษาสถาบัน พระมหากษัตริย์ โดยกรณี 6 ต.ค.19 นั้นก็กลัวว่าจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์
จรัล วิเคราะห์ว่า การรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 นั้น มีลักษณะพิเศษ คือ
1.     เป็นการรัฐประหารครั้งแรกที่ปัญญาชนชั้นกลางค่อนข้างมากเห็นด้วย
2.     เป็นการรัฐประหารครั้งแรกที่มีผู้ไม่เห็นด้วยออกมาต่อต้านในทันที ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการรัฐประหารครั้งนี้สถาปนาเพียงเผด็จการอ่อนๆ
3.     เป็นรัฐประหารที่ดึงเอาสถาบันกษัตริย์เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ชื่อคณะรัฐประหาร จึงเกิดปัญหาเมื่อมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษจนมีการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลง ชื่อ
ภาพจากเฟซบุ๊ก Watthana Praisonta
ชี้บทเรียน รปห.ที่ผ่านมาทำให้ ปรห.49 วางเงือนไขผ่าน รธน.50
พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช มองว่าทั้ง 2 เหตุการณ์นี้มีจุดเริ่มต้นคลายๆกัน คือสถานการณ์ที่มีสื่อเลือกข้าง เหตุการณ์ 6 ต.ค.นั้นก่อนหน้าก็มีการโหมจากสื่ออย่างวิทยานเกราะ ขณะที่ 19 ก.ย. นั้น ก็มีสื่อเลือกข้างและประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นอำนาจของทหาร ที่อยู่ข้างไหนฝ่ายนั้นก็จะได้เปรียบ
แต่สิ่งที่แตกต่างนั้น 19 ก.ย. ได้มีการศึกษาความบกพร่องของการรัฐประหารครั้งก่อนหน้า จึงมีการวางรากฐานทางกฏหมายโดยผู้มีบทบาทหลักคือนายมีชัย ฤทธิ์ชุพันธ์ โดยการเปลี่ยนแปลงที่กฏหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญ ทีให้รัฐธรรมนูญ 50 นี้บีบรัดฝ่ายประชาธิปไตยจนดิ้นไม่ออก หากไม่ใช้วิธีการ “หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง” ก็จะมีทางแก้ปัญหาการขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยได้เลย ด้วยเหตุนี้แม้เหตุการณ์รัฐประหารทั้ง 2 ครั้งนั้นจะมีจุดเริ่มต้นคลายกัน แต่ลงท้ายต่างกันที่ตัวบทกฏหมายที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐประหาร ก.ย.49 นั้น มันเป็นบ่วงรัดคอฝ่ายประชาธิปไตย จะเอาบ่วงออกได้ต้องเอาหนามบ่งหนาม
“ถ้ากระบวนการยุติธรรมเป็นอิสระจริง รัฐประหารไม่มีวันเกิด ขณะนี้สิ่งที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วสร้างขึ้นมาใหม่ เป็นรัฐธรรมนูญที่ปรับปรุงโดยอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ มันทำให้องค์กรอิสระที่เกิดขึ้นจากอำนาจคณะรัฐประหารนั้นเป็นองค์กรอิสระที่ อิสระเฉพาะกลุ่มคณะบุคคล แต่จองจำสำหรับประชาชนในระบอบประชาธิปไตย”  พล.ต.อ.อชิรวิทย์ กล่าว
ภาพจากเฟซบุ๊ก Watthana Praisonta
ฝ่านต้าน ปชต.ทำตัวเป็นส่วนหนึ่งปชต.
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่สังคมให้ใบอนุญาตฆ่าทั้งเหตุการณ์ 6 ต.ค.19 และ พ.ค.53 โดยที่ผู้ฆ่ารู้สึกว่าผู้ถูกฆ่าควรถูกฆ่านั้นมีสาเหตุว่า
1.     เราถูกสร้างความเข้าใจว่าสังคมต้องมีการยึดโยงกับสถาบันหลักจนเปลี่ยนแปลงไม่ได้
2.     ในการบอกว่าใครคือศัตรูของชาติ รัฐเป็นคนบอกว่าใครเป็นศัตรูของชาติมากเกินไป
เหตุการณ์ปี 19 นั้นมีรากฐานของความเป็นประชาธิปไตยมาก่อนหน้านานแล้ว ตั้งแต่ 2475 และช่วงเกิดเหตุมีคนเชื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมในสังคมไทยแน่ๆ ถึงขนาดที่คนทำรัฐประหารต้องอ้างว่าจะทำรัฐประหารเพื่อสร้างประชาธิปไตยด้วย ในสังคมไทยก่อนหน้าปี 2519 นั้นเป็นช่วงขาขึ้นอย่างต่อเนื่องของประชาธิปไตยในสังคมไทย ในฐานะเป็นอุดมการณ์หลัก แต่มีการถูกเตะถ่วงในบางช่วง แต่ก็ยังเป็นขาขึ้นของประชาธิปไตย สิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 6 ต.ค.19 และ พ.ค.53 นั้น พลังฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยพยายามที่จะทำให้ทิศทางขาขึ้นของประชาธิปไตย หยุดชะงัดลงเบี่ยงเบนไปบ้าง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2519 คือการบอกว่านักศึกษาเป็นศัตรูกับเสรีประชาธิปไตย ในแง่อุดมการณ์นักศึกษาถูกทำให้เป็นศัตรูของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่มีด้านที่ซ้อนกันอยู่คือการบอกว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ และคอมมิวนิสต์เป็นศัตรูกับเสรีประชาธิปไตย
“สิ่งที่ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยประสบความสำเร็จตั้งแต่ปี 2519 ถึง ปี 2553 คือทำให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยไม่เคยเล่นเกมส์เป็นฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยจริงๆ เขาไม่เคยบอกว่าเขาไม่รักประชาธิปไตย เขาบอกว่าเขาเป็นประชาธิปไตย แต่เขาเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยที่ทำให้ประชาธิปไตยดีขึ้น”  ศิโรตม์ กล่าว
“จริงๆ ต้องขอบคุณ 19 ก.ย.49 เพราะว่าในอดีตนักรัฐศาสตร์พูดถึงว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้มีอำนาจสามารถมี อำนาจอยู่ต่อไปได้อย่างต่อเนื่องก็คือต้องไม่ให้สังคมรู้ว่าเขามีอำนาจ รัฐบาลในโลกสมัยใหม่ โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจสูงสุดมีลักษณะอย่างหนึ่งคล้ายๆ กันคือต้องมีอำนาจโดยไม่ให้คนรู้ว่าเขามีอำนาจ และก็จะมีนักรัฐศาสตร์ นักนิติปรัชญาบอกว่าเราจะรู้ว่าใครมีอำนาจที่สุดในสังคม อย่าดูว่าในเวลาปกตินั้นใครเป็นรัฐบาล ใครเป็นรัฐบาลในเวลาปกตินั้นไม่ได้แปลว่าเขามีอำนาจที่สุด แต่ต้องดูในเวลาที่สังคมมันเกิดวิกฤติที่สุด ใครแสดงตัวออกมาว่าให้สังคมไปทางไหนคนนั้นคือคนที่มีอำนาจสูงสุดในสังคม 19 ก.ย.49 ทำให้คนไทยเข้าใจปรากฏการณ์แบบนี้มากขึ้นว่าอำนาจสูงสุดของสังคมไทยอยู่ที่ ไหน” ศิโรตม์ กล่าวทิ้งท้าย
ภาพจากเฟซบุ๊ก Watthana Praisonta
ศาลยอมรับรัฐประหาร ผลพวงรัฐประหาร 2490 ในฐานะ “รัฏฐาธิปัตย์”
พนัส ทัศนียานนท์ มองว่าการรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง ไม่ตรงกันเสียทีเดียว ดังนั้นจึงไม่อาจเรียกว่าสำเนาถูกต้องได้ เพราะ 6 ต.ค.19 นั้นเกิดเหตุการณ์ฆ่าก่อนจึงเกิดการรัฐประหาร ในขณะที่ 19 ก.ย. 49 นั้นเป็นการรัฐประหารก่อน จึงนำมาสู่การฆ่าประชาชน รวมทั้งการรัฐประหารในปี 2519 นั้น เป็นการเกิดในช่วงสงครามเย็น และไทยก็ถูกครอบงำโดยสหรัฐอเมริกา อีกทั้งการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 นั้น ก็มีกลุ่มสนับสนุนรัฐประหารดังกล่าวให้ความชอบธรรมว่าไม่ได้เป็นการรัฐ ประหารในแบบที่เข้าใจกัน แต่เป็นการโค่นล้มเผด็จการ เพราะขณะนั้นทักษิณถูกมองว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา
เรื่องกระบวนการยุติธรรมนั้น ศาลไทยให้การรับรองให้ความเห็นชอบกับการรัฐประหาร เป็นการวางหลักตัดสิน วินิจฉัยตั้งแต่การรัฐประหารปี 2490 ซึ่งศาลไทยก็ตัดสินเดินตามกันมาว่าถ้าการทำรัฐประหารประสบความสำเร็จ คนที่ทำรัฐประหารสามารถยืนอยู่บนอำนาจตัวเองได้ ไม่มีใครต่อต้าน บ้านเมืองสงบราบคาบก็ถือว่าคณะรัฐประหารนั้นเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” คือผู้มีอำนาจสูงสุดในบ้านเมืองการสั่งการสิ่งใดออกมาก็ถือเป็นกฏหมาย ด้วยเหตุอันนี้จึงเข้าใจว่าที่คุณอชิรวิทย์พูดก่อนหน้านั้น คือต้องการให้ศาลมาเปลี่ยนบรรทัดฐานตรงนี้ ซึ่งก็เห็นด้วย ถ้าศาลไทยเชื่อมั่นศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ถ้าจะรอให้ศาลดวงตามองเห็นธรรมทั้งหมดก็อาจจะอีกนาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น