ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเกิดจากปัญหาความยากจน และอื่น ๆ ด้วยเหตุผลด้านสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนทุกคนต้องมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม จะปล่อยให้นอนระเกะระกะโดยขาดการเหลียวแลจากสังคมไม่ได้ และเพื่อสวัสดิภาพของทุกฝ่าย จึงควรให้การช่วยเหลือตั้งแต่การจัดหาที่พักพิงแบบเช่าหรือแบบให้เปล่าชั่ว คราว การเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคม แต่ทั้งนี้ทำได้ยากเพราะงบประมาณของรัฐในด้านสังคมมีจำกัดเพียง 0.44% ของงบประมาณแผ่นดิน ต่ำกว่างบประมาณด้านการทหารถึง 17 เท่าตัว
แม้จากการสำรวจข้อมูลของมูลนิธิอิสรชนพบว่าในปี 2555 มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะไม่มากนัก คือเกือบ 2,846 คนแยกเป็นชาย 1,774 คน และหญิง 1,072 คน แต่หากนับรวมขอทานซึ่งมีทั้งที่เป็นขอทานเดี่ยว สัญชาติไทย และขอทานที่เป็นกระบวนการค้ามนุษย์ทั้งไทยและเทศ ก็คงมีอีกเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้อยู่ในการสำรวจรอบนี้
ในต่างประเทศพบว่า กรณีนครนิวยอร์ก มีประชากรผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ณ เดือนมิถุนายน 2555 อยู่ถึง 44,402 คน หรือประมาณ 0.5% ของประชากรนิวยอร์ก (ทุก ๆ 1 ใน 200 คนของชาวนิวยอร์ก เป็นผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ) ส่วนอินเดีย มีประชากรผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะถึง 78 ล้านคน หรือราว 7% ของประชากรในประเทศดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่า ประเทศที่เจริญทางเศรษฐกิจกว่ามักมีจำนวนประชากรผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ น้อยกว่า
การเกิดขึ้นของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะก็เพราะบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถ อยู่อาศัยในระบบบ้านปกติ เช่น บ้านจัดสรร บ้านเช่า บ้านพักคนงานในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยฐานะที่ยากจนลง ไร้ที่พึ่ง ต่อต้านสังคม วิกลจริต หรืออื่น ๆ ทำให้ต้องมาเป็นผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ซึ่งอาจแยกย่อยเป็นกลุ่มผู้ไร้บ้าน (ควรมีบ้านได้แต่ฐานะยากจนเกินกว่าจะมีบ้านได้หรือเช่าบ้านได้) เยาวชน ผู้ให้บริการทางเพศ คนวิกลจริต หรือผู้ย้ายถิ่นทั้งที่ชั่วคราวหรือ (กึ่ง) ถาวรเป็นต้น
การดำรงอยู่ของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะถือเป็นปัญหาที่กระทบต่อสวัสดิภาพ ของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะและบุคคลอื่น รัฐบาลจึงควรมีมาตรการที่พึงให้ความช่วยเหลือ เช่น
1. การบำบัดต่าง ๆ โดยเฉพาะความหิวโหย ซึ่งถือเป็นการบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้า
2. การให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลของรัฐ แต่ที่ผ่านมาหลายคนไม่มีบัตรประชาชนเพราะหายไป หรือร่างกายไม่สะอาด ได้รับการรังเกียจจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
3. การจัดที่อยู่อาศัยฉุกเฉินให้โดยไม่คิดมูลค่าเป็นการชั่วคราวโดยเฉพาะผู้ที่ควรได้รับการบำบัดเป็นพิเศษเมื่อพบเห็น
4. การมีที่พักอาศัย เป็นเตนท์ หรือเตียงขนาดเล็กให้เช่าหลับนอนราคาถูก โดยตั้งอยู่ใกล้ ๆ เป็นการชั่วคราว และให้อยู่ในระยะเวลาที่สั้นที่สุดจนกว่าจะเข้าสู่สังคมปกติได้ โดยอาจเช่าที่วัด ราชพัสดุ เอกชน หรือขอรับการบริจาคจากเอกชน เพื่อสวัสดิภาพในการอยู่อาศัยยามค่ำคืน สถานที่ตั้งต้องเป็นในเขตเมือง ไม่ใช่ออกไปชานเมือง เพราะคงไม่มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะสามารถเดินทางไปพักผ่อนในยามค่ำคืนได้
5. สำหรับผู้ที่ไม่มีรายได้ ไม่มีอาชีพแต่จำเป็นต้องอยู่อาศัยในที่พักอาศัยให้เช่าข้างต้น ก็ควรมีบริการงานให้ทำเพื่อให้เกิดรายได้ เช่น งานทำความสะอาดสถานที่สาธารณะ งานฝีมือ ฯลฯ เพื่อเป็นค่าที่อยู่อาศัยในยามค่ำคืน
6. การฝึกอาชีพ สำหรับบุคคลปกติแต่ขาดรายได้ โดยไม่เพียงแต่สอนให้มีทักษะอาชีพ แต่ยังควรสอนให้เป็นผู้ประกอผู้ประกอบการที่ดี หรือเป็นลูกจ้างที่ดีในอนาคตด้วยเช่นกัน
7. ในกรณีบุคคลที่ไม่ได้ต้องการมีบ้านเป็นของตนเอง แต่เป็นกลุ่มเยาวชน ผู้ให้บริการทางเพศ คนวิกลจริต ฯลฯ ต้องส่งสถานสงเคราะห์ให้การรักษาจนกว่าจะกลับเข้าสู่สังคมได้ตามปกติสุข
8. การจัดหน่วย ‘ลาดตระเวน’ เพื่อตรวจสอบ ป้องปรามอาชญากรรมในยามค่ำคืนตามย่านชุมชนและสถานีขนส่งประเภทต่าง ๆ
9. การสร้างฐานข้อมูลผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะโดยออกสำรวจตามย่านชุมชนทั่ว กทม.และปริมณฑล โดยในกรณีนครนิวยอร์ก ได้ระดมอาสาสมัครออกสำรวจในยามค่ำคืนหนึ่งพร้อม ๆ กัน เพื่อให้ได้ข้อมูลผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะอย่างครบถ้วน และยังมีการสำรวจถึงจำนวนและสถานที่สาธารณะที่พักอาศัยต่อเนื่องทุกเดือนจน สามารถรู้จักผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะทุกราย
อย่างไรก็ตามโอกาสในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ข้างต้นอาจจำกัด เนื่องจากงบประมาณของประเทศมีจำกัด ในปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ที่กำลังพิจารณาอยู่นี้ งบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเพียง 0.44% ของงบประมาณแผ่นดิน หรือเป็นเงิน 10,516.7 ล้านบาท (เป็นของกรมสวัสดิการสังคมเพียง 6,000 ล้านบาท) และหากเทียบกับงบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่ 180,811.4 ล้าน บาท (7.5% ของงบประมาณแผ่นดิน) นั้น กลับสูงกว่างบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ถึง 17 เท่าตัว
ด้วยงบประมาณที่จำกัดนี้ จึงทำให้สถานสงเคราะห์ มีอยู่อย่างจำกัดมาชั่วนาตาปี โอกาสขยายจึงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่สามารถรองรับความต้องการจำเป็นในการดูแลสวัสดิภาพของประชาชน ไม่สามารถทำงานเชิงรุกเพื่อการป้องปราม รัฐจัดสวัสดิการสังคมผ่านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แต่ เพียงในนาม เพราะเจียดงบประมาณให้น้อยมากนั่นเอง
โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น