กระทรวงพลังงาน ยืนยัน
รัฐได้รับประโยชน์เต็มที่จากสัญญาสัมปทานปิโตรเลียม
พร้อมชี้แจงให้ภาคสังคมเข้าใจ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน
ระบุไทยมีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์
จึงต้องใช้สัมปทานคัดเลือกเอกชนร่วมเสาะหาพลังงาน
ในการเสวนาเรื่อง "สัมปทานปิโตรเลียมของไทย
รัฐได้หรือเสียประโยชน์กันแน่" จัดโดยคณะกรรมาธิการการพลังงาน
สภาผู้แทนราษฏร นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า
พร้อมให้ข้อมูลเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมของภาครัฐ
เพื่อให้เกิดความเข้าใจในภาคประชาชน และฝ่ายนิติบัญญัติ หลังนางสาวรรสนา
โตสิตระกูล สว.กทม. เสนอให้ชี้แจงประเด็นที่
รัฐบาลได้รับประโยชน์จากสัปทานน้อยเกินไป
ทั้งนี้
ยอมรับความต้องการพลังงานของไทยมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง
โดยมีการนำเข้ามูลค่าสูงถึง 2 ล้าน 1 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19
ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 7
โดยทุกรัฐบาลมีความพยายามสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ
ขณะที่การเก็บภาษีธุรกิจปิโตรเลียม
ภาครัฐจะได้รับค่าภาคหลวงร้อยละ 5-15 ภาษีเงินได้ร้อยละ 50
และภาษีผลตอบแทนพิเศษ ร้อยละ 0-75 เชื่อว่า รัฐบาลได้รับรายได้เพียงพอแล้ว
ทั้งรายได้ทางตรงและรายได้ทางอ้อม นอกจากนี้
ยังเกิดการจ้างงานและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง หากปรับภาษีเพิ่มขึ้นมากเกินไป
อาจกระทบการลงทุนขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมของภาคเอกชน
ด้านนางสาวเดือนเด่น นิคมบริรักษ์
ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า
ระบบสัมปทานโดยรัฐเป็นผู้เลือกเอกชน เป็นระบบที่ไม่มีการแข่งขัน ไม่โปร่งใส
ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล ส่งผลให้เกิดการผูกขาดทางการค้า ขาดกลไกทางการตลาด
และควรให้มีการเปิดให้มีเอกชนรายอื่นเข้ามาประมูลแทนระบบการคัดเลือกโดยภาค
รัฐ
ขณะที่ คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต
ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ระบุว่า
ภูมิศาสตร์ทางธรณีวิทยาของประเทศไทยไม่ถือว่าดีนัก
เมื่อเทียบกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย ดังนั้น
ระบบที่จะมาคัดเลือกเอกชนที่จะเข้ามาขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม
จึงต้องเป็นระบบที่ทำให้เอกชนสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
ต่างจากประเทศผู้ส่งออกน้ำมันที่มีความเสี่ยงในการขุดเจาะน้ำมันน้อยกว่า
จึงเหมาะกับระบบการประมูลมากกว่า
by
Thananun
6 กันยายน 2556 เวลา 12:01 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น