“ตั้งวง”กำกับการแสดงและเขียนบทโดยนักสร้างภาพยนตร์ชื่อ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ที่เคยสร้างภาพยนตร์ที่ถือเป็นหนังค่อนข้างแหวกแนวมาแล้วหลายเรื่อง โดยเริ่มเรื่องแรกจาก”สยิว”เมื่อ พ.ศ.2546 ปีต่อมา คงเดชได้รางวัลเขียนบทยอดเยี่ยมจากเรื่อง”เดอะเลตเตอร์จดหมายรัก” ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็กลายเป็นภาพยนตร์โด่งดังประจำปีนั้น และแอน ทองประสม ที่แสดงเป็นนางเอกของเรื่อง ได้รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จากนั้น ใน พ.ศ.2548 คงเดชก็สร้างหนังเรื่อง”เฉิ่ม”ออกแนวตลก หลังจากนี้ เขาก็หันมาเขียนบทภาพยนตร์ได้แก่ “ต้มยำกุ้ง” “หนูหิ่นเดอะมูฟวี่” และ “me-myself ขอให้รักจงเจริญ” แล้วมาสร้างภาพยนตร์เองเรื่อง “กอด” เมื่อ พ.ศ.2551 ซึ่งกลายเป็นหนังดีที่ทำรายได้พอสมควรประจำปีนั้น ต่อมา คงเดชก็หันมาสร้างหนังนอกกระแสเรื่อง “แต่เพียงผู้เดียว” เมื่อ พ.ศ.2555 ซึ่งเป็นหนังที่ได้รางวัล แต่ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ เพราะเป็นหนังประเภท”ดูยาก”
สำหรับภาพยนตร์เรื่อง”ตั้งวง”ที่สร้างในปีนี้ คงเดชได้รับทุนสนับสนุนการสร้างจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สสร.) กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้กลายเป็นหนังที่ได้รับเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือก ภาพยนตร์ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ให้เข้าฉายและร่วมประกวดชิงรางวัลหมีแก้วครั้งที่ 63 ที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี และที่เทศกาลฮ่องกงฟิล์ม เฟสติวัล แต่นี่คงไม่ใช่หลักประกันที่จะทำให้ภาพยนตร์เรื่องทำเงินในตลาดเมืองไทย ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีดารานำที่หล่อสวยมาร่วมแสดงให้เป็นแรงดึงดูดเลย ผู้แสดงแทบทั้งหมดเป็นเยาวชนหน้าใหม่แทบทั้งสิ้น
โดยทั่วไปหนังที่ได้การสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม น่าจะออกมาในลักษณะที่อยู่ภายใต้กรอบประเภทส่งเสริมวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม หรือส่งเสริมความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่เรื่อง”ตั้งวง”ไม่มีลักษณะเช่นนั้นเลย แต่กลับเป็นภาพยนตร์แบบ”รีลริสติก” ที่ตั้งคำถามกับความคิดความเชื่ออันไม่เป็นวิทยาศาสตร์ในสังคมไทยได้อย่าง น่าสนใจ
ในคำอธิบายอันหนึ่งเกี่ยวกับหนัง”ตั้งวง” กล่าวถึงโครงเรื่องย่อว่า เป็นหนังวัยรุ่น–ตลกร้าย ที่เล่าเรื่องของการรำ โดยเน้นไปยังกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นเด็กหนุ่มเกรียนๆ 4 คน คือ ยองและเจ เด็กเรียนประจำโรงเรียน เบสนักเรียนที่เล่นปิงปอง และ เอ็ม เด็กหนุ่มผู้หลงรักการเต้นแบบเกาหลีเป็นชีวิตจิตใจ เนื้อเรื่องได้สร้างประเด็นของเรื่องจากการที่ยองและเจต้องการที่จะชนะเลิศ ในการแข่งขันตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ จึงได้ไปอาศัยไสยศาสตร์ โดยการไปบนไว้กับศาลพ่อปู่ให้ช่วยเหลือ และสัญญาที่จะรำแก้บน ส่วนกรณีของเบส กลายเป็นเมย์ที่เป็นแฟนของเขามาบนจ้าวพ่อปู่เพื่อให้ได้เบสได้รับเลือกเป็น ตัวแทนของโรงเรียน และเอ็มได้มาบนจ้าวพ่อเพื่อให้แฟนที่ทิ้งไปกลับคืนมา เมื่อทุกคนประสบความสำเร็จ จึงต้องเผชิญกับความขัดแย้งที่จะต้องมารำแก้บนต่อศาลจ้าวพ่อ ในที่สุด ก็ต้องไปจ้างพี่นัทสาวประเภทสองที่เป็นนางรำรับจ้างมาสอนรำแก้บน เจได้อธิบายว่า การรำแก้บนของพวกเขาเหมือนการรวมตัวกันของพวกตัวเอกในหนังญี่ปุ่นเพื่อบรรลุ ภารกิจที่ตั้งไว้
จากนั้น เนื้อเรื่องได้สะท้อนไปถึงปัญหาชีวิตและความขัดแย้งในสังคมโดยผ่านตัวละคร แต่ละคนแต่ละตัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการศึกษาผ่านเจและยอง เรื่องปัญหาทางวัฒนธรรมวัยรุ่นที่นิยมเคป๊อปผ่านเอ็ม ปัญหาสตรีวัยรุ่นผ่านเฟื้องแฟนของเอ็ม และปัญหาชีวิตของสตรีเพศที่สามแบบพี่นัทที่มุ่งหวังในชีวิตใหม่กับฝรั่ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เป็นต้น
ฉากที่วิพากษ์ความย้อนแย้งทางความเชื่อในสังคมไทย นอกเหนือจากเรื่องการบนเจ้าเพื่อให้ชนะการตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์แล้ว ก็คือ ฉากที่พ่อแม่ของยองพูดคุยกับลูกเรื่องแก้บน โดยตอนแรกก็อธิบายว่า ไม่ควรไปเชื่อเรื่องแบบนี้ มันงมงาย แต่พอรู้ว่าลูกไปบนไว้แล้วไม่ได้แก้ ก็ตกใจกันใหญ่ ผลักดันให้ไปแก้บนให้ได้ ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าแนวคิดย้อนแย้งในลักษณะนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคม ไทย น่าจะเป็นเพราะในระบบคิดแบบไทยไม่เคยสอนให้มีการสร้างระบบการสงสัย(sceptic) แบบถึงแก่น จึงทำให้ความคิดที่ขัดแย้งกันดำรงอยู่ได้และฝังรากลึกอยู่ในวิถีชีวิตแบบไทย ในลักษณะของ”ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะในทางที่ถูกแล้ว ถ้าเราสงสัยหรือไม่เชื่อต้องอภิปรายให้เห็นหลักเหตุและผล และวิพากษ์ความคิดที่โกหกลวงโลกเช่นนั้นให้เห็นชัด
แต่ในเนื้อเรื่องของ”ตั้งวง”ได้ท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ของจ้าวพ่อปู่เสีย เอง โดยการดำเนินเรื่องให้ศาลพ่อปู่ถูกไฟเผาไหม้หมด แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ปกป้องไม่ได้แม้กระทั่งที่อยู่ของตนเอง แต่ผู้คนก็ยังคงไม่เลิกงมงายในความเชื่อ อุตส่าห์บูรณะศาลของพ่อปู่แล้วก็มากราบไหว้บูชากันใหม่ ซึ่งเป็นการสะท้อนสังคมไทยที่เสพติดการกราบไหว้บูชาสิ่งไร้เหตุผลอยู่ตลอด เวลา
ที่น่าสนใจมากอีกเรื่องหนึ่งนอกเหนือจากเรื่องการรำแก้บน ที่วิพากษ์ในเชิงวัฒนธรรม คงเดชได้บันทึกเหตุการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยเดือนมีนาคม-พฤษภาคม พ.ศ.2553 เอาไว้ในภาพยนตร์ด้วย โดยดำเนินการให้เหตุการณ์ของเรื่องเกิดขึ้นพร้อมกับการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อ แดง และให้เบสนักปิงปอง มีบิดาเป็นคนเสื้อแดงที่เดินทางไปเข้าร่วมการชุมนุมเป็นประจำ ภาพยนตร์ เรื่องนี้ได้เล่าเหตุการณ์ทางการเมืองเรื่องนี้ โดยไม่มีการแสดงท่าทีว่า สนับสนุนข้างรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและกองทัพหรือเลือกข้างคนเสื้อแดง และไม่ได้เสแสร้งนำเสนอเนื้อหาเกรียนทางการเมืองประเภททั้งคนฆ่าและคนถูกฆ่า ให้”มาลืมเรื่องราวแล้วรักกันเถอะ สังคมไทยแตกแยกมามากแล้ว” แต่ มุ่งจะบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นโดยผ่านเด็กวัยรุ่นธรรมดาที่ไม่ได้ติดตาม การเมือง และสร้างฉากให้ตัวละครคือเบสไปตามพ่อในวันที่มีการสลายการชุมนุมของคนเสื้อ แดง เบสจึงได้ร่วมในเหตุการณ์นั้น และรอดชีวิตจากเหตุการณ์ได้อย่างหวุดหวิด เพียงเพราะกระสุนปืนยิงถูกไม้ปิงปองที่พกมาด้วย
ดังนั้น จึงต้องเข้าใจว่าเรื่อง”ตั้งวง”ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายจะเป็นภาพยนตร์การเมือง เพียงแต่ว่าการเล่าเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่เล่าเหตุการณ์ความขัดแย้งใน สังคมไทยกรณีคนเสื้อแดงอย่างชัดเจน และสำหรับผู้ที่เคยเข้าร่วมและผ่านเหตุการณ์นั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็จะถือเป็นการย้อนระลึกเหตุการณ์นั้นได้
สรุปแล้ว ภาพยนตร์เรื่อง”ตั้งวง”จึงเป็นภาพยนตร์ทางสังคมที่ต้องทำให้ผู้ชมกลับมาคิด เป็นการบ้านพอสมควร ในภาวะที่สังคมไทยรุมเร้าด้วยปัญหารอบด้านเช่นนี้ เพียงแต่ไม่แน่ใจว่า ภาพยนตร์ลักษณะนี้จะฉายอยู่ได้สักกี่วัน
ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 428 วันที่ 6 กันยายน 2556
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น