แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เล็งฟัน 2 บิ๊กสรรพากร-กรมศุล พันแจ้งเท็จขอคืนแวต 4 พันล.

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ


updated: 10 ก.ค. 2556 เวลา 10:20:52 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ผลสอบสวน ′ดีเอสไอ′ 49 บริษัทต้องสงสัย แจ้งขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ กว่า 4 พันล้าน ตรวจสอบไม่พบทำธุรกิจจริง แค่เช่าที่เพื่อตั้งบริษัท
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 9 กรกฎาคม ที่สำนักงานท่าเรือกรุงเทพ คลองเตย นายชำนาญ ฉันทวิทย์ ผู้ชำนาญการภาษีอากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เข้าพบนายสัมพันธ์ จารุรัตนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญตรวจสินค้าท่าเรือ เพื่อขอตรวจสอบกระบวนการการขนส่งสินค้าส่งออกภายในการท่าเรือ เนื่องจากได้รับการร้องทุกข์จากกระทรวงการคลังให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดใน การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ จำนวน 49 ราย มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท จากการส่งออกสินค้าประเภทโลหะออกนอกราชอาณาจักร ในปี 2555-2556 โดยกลุ่มบุคคลหรือนิติบุคคลที่กระทำผิดมีพฤติการณ์เป็นทั้งผู้ขาย และผู้ออกใบกำกับภาษีขายให้กับนิติบุคคลในกลุ่มผู้ส่งออกสินค้าประเภทโลหะ อัดแท่งไปต่างประเทศ

นายชำนาญกล่าวว่า วันนี้ดีเอสไอเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร และเจ้าหน้าที่การท่าเรือฯ เพื่อขอตรวจสอบกระบวนการการขนส่งภายในการท่าเรือ ว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง เพื่อหาช่องโหว่หรือจุดบกพร่องทำให้เกิดการฉ้อโกงภาษีขึ้นได้ ตั้งสมมติฐานไว้ 3 ด้าน คือ 1.ความผิดพลาดจากระบบการตรวจสอบสินค้า และการตรวจสอบเอกสาร 2.เกิดความผิดพลาดจากการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 3.เจ้าหน้าที่มีการทุจริตเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

"การแก้ปัญหาจะแก้ด้วยกรมใดกรมหนึ่งไม่ได้ ต้องตั้งคณะทำงานร่วมกัน ทั้งกรมศุลกากร กรมสรรพากร และดีเอสไอ เพื่อตรวจสอบว่ามีกระบวนการใดบกพร่อง และวางระบบป้องกัน ส่วนที่ผ่านมา ต้องดำเนินการสอบสวน หากพบว่าผิดจริงก็ต้องลงโทษตามกฎหมาย" นายสัมพันธ์กล่าว

นายชำนาญกล่าวว่า ในชั้นสืบสวนดีเอสไอพบว่า มีกลุ่มนิติบุคคลที่มีพฤติการณ์ดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 49 ราย และจากการค้นที่ตั้งของนิติบุคลของผู้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม พบว่าส่วนใหญ่จดทะเบียนจัดตั้งในปี 2555 โดยมีชื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นซ้ำๆ กัน และผู้ประกอบการหลายรายใช้ที่ตั้งเดียวกัน โดยใช้อาคารหรือห้องชุดให้เช่า โดยที่ไม่ปรากกฏว่ามีการประกอบกิจการแต่อย่างใด ทั้งนี้ พบว่าการคืนภาษีเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่สรรพากร กรุงเทพมหานคร 22 และสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ

นายพงษ์ศักดิ์ ธนะวัฒนานนท์ นักวิชาการศุลกากร ชำนาญการ กล่าวว่า ในกระบวนการส่งออกภายในการท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมศุลกากรใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมทั้งหมด ว่ามีสินค้าที่ถูกต้องหรือไม่ ก่อนจะอนุมัติให้ผ่านเข้ามาในประเทศได้ ซึ่งต้องมีกระบวนการสำแดง ว่าเป็นสินค้าประเภทใด และเปิดตรวจสอบสินค้าเป็นไปตามกระบวนการทางศุลกากร จากนั้นทางเจ้าหน้าที่จะอนุมัติให้นำสินค้าไปลงเรือ ส่วนเจ้าหน้าที่ควบคุมเรือจะต้องยืนยันมาทางระบบศุลกากร เช่น ชื่อเรือ ชื่อตู้สินค้า ที่นำลงเรือ เพื่อจดบันทึกสถานะว่ามีการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการย้อนไปตรวจสอบว่าที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่มีการ ตรวจสอบผิดพลาดในส่วนใดบ้าง ซึ่งรายละเอียดยังไม่แน่นอน

นางจิตรมณี สุวรรณพูล ที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า จากกรณีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของ 30 บริษัทธุรกิจส่งออกนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าเป็นการทุจริตในขอคืนภาษีหรือไม่ กรมยังตรวจสอบอย่างเข้มงวด แต่ต้องเรียกเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจากทุกหน่วยงาน คาดว่าจะใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสารต่างๆ 2-3 เดือน จึงจะสรุปได้ว่า มีการทุจริตในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ หากพบว่าผิดจริงจะดำเนินคดีร่วมกับดีเอสไอ ทั้งทางแพ่งและอาญา

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า พนักงานสอบสวนเดินทางไปตรวจสอบการส่งออกสินค้า ร่วมถึงพิธีการทางศุลกากร ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมาก นอกจากนี้ยังได้รับทราบข้อมูลจากรายงานการสอบสวนของพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ซึ่งมีข้อมูลเชื่อได้ว่าการขอคืนภาษีจำนวนมากกว่า 4,000 ล้านบาท มีรูปแบบเป็นขบวนการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน มีข้าราชการระดับสูงของกรมสรรพากรและกรมศุลกากร รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ขณะนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงเข้าไปเกี่ยวข้อง ดีเอสไอจะแยกสำนวนส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่วนบริษัทเอกชนจะส่งสำนวนให้อัยการดำเนินตามขั้นตอนปกติ และในวันที่ 10 กรกฎาคม จะแถลงรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว

นายธาริตกล่าวต่อว่า การคืนภาษีให้ประชาชนโดยเร็ว เป็นเรื่องที่ดีถ้าเป็นการคืนภาษีตามปกติไม่มีข้อพิรุธอะไร แต่กรณีดังกล่าวหากตรวจสอบอย่างจริงจัง จะพบข้อพิรุธหลายประเด็นหลายขั้นตอน เดือนเดียวขอคืนเป็น 10 ล้านบาท ทั้งที่บริษัทไม่ได้ใหญ่โต ตอนนี้ดีเอสไอพยายามติดตามเงินให้ได้คืนมาเป็นของแผ่นดินให้ได้มากที่สุด แต่เท่าที่ทราบมีการยักย้ายถ่ายเทไปมากพอสมควร ตัวบุคคลก็หลบหนี ดังนั้น ดีเอสไอจะขอศาลออกหมายจับต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานผลการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีกลุ่มนิติบุคคลมีพฤติการณ์ขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ ระหว่างรอบปี 2555-2556 ซึ่งกระทรวงการคลังพบข้อมูลมีผู้บริหารระดับสูงของกรมสรรพากรมีส่วนเกี่ยว ข้องในการกระทำผิดด้วย และเมื่อดีเอสไอสำรวจสถานประกอบการนิติบุคคลผู้ขอคืนภาษีจำนวน 49 แห่ง ส่วนใหญ่ไม่มีการประกอบกิจการจริงเป็นเพียงการเช่าสถานที่ตั้งบริษัทไว้ และปัจจุบันได้ปิดกิจการแล้ว และจากการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงพบว่าการฉ้อโกงภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนใหญ่ เกิดขึ้นในสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 (สท.22) และสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ โดยมีการฉ้อโกงการขอคืนเงินภาษีในรอบปีดังกล่าว จำนวนกว่า 4,000 ล้านบาท

ผลการสอบสวนยังพบข้อพิรุธว่า ในปี 2555 มีการแก้ไขระเบียบและแนวทางปฏิบัติในเรื่องการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีนัยสำคัญคือ เดิมใช้ถ้อยคำว่า "กลุ่มผู้ประกอบการส่งออกให้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้" แก้ไขเป็น "กลุ่มผู้ประกอบการส่งออกให้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ทันที" และกรณีการตรวจสภาพกิจการตามระเบียบเดิม จะต้องมีการตรวจสภาพสถานประกอบการทุกครั้งที่มีการแจ้งย้ายสถานประกอบการ แต่ตามระเบียบใหม่แก้ไขเป็น หากเป็นรายที่เคยถูกตรวจสภาพกิจการแล้วก็ให้วินิจฉัยการขอคืนได้ มีการสั่งเร่งคืนเงินให้กับกลุ่มผู้กระทำความผิดเร็วกว่าปกติ

ขณะเดียวกันยังพบว่า มีการย้ายบุคลากรมาอยู่ในตำแหน่งพื้นที่ที่สำคัญและเป็นพื้นที่เกิดเหตุ และเมื่อมีการย้ายคนสนิทลงในพื้นที่ใดแล้วพบว่ามีการขอคืนภาษีเป็นจำนวนมาก เช่น กรณี สท.22 เคยอยู่พื้นที่จังหวัดขอนแก่น และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับข้าราชการระดับสูงกรมสรรพากร



ที่มา : นสพ.มติชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น