แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

‘ทักษิณ’ผนึกประมุขหญิงนอกพท. เร่งขับเคลื่อน4วาระการเมืองลับ ช่วย67นักโทษ-ดันงบ4.5ล้านล้าน

ที่มา Thai E-News

 

ที่มา ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ

เปิด ข้อมูลลับผู้มีบารมีฝ่ายหญิงนอกรัฐบาลเหนือพรรคเพื่อไทย เจรจาลึกช่วยนักโทษคดีการเมือง ขอย้ายที่คุมขัง-ขอพระราชทานอภัยโทษ จับตาการขับเคลื่อน4วาระของพ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทย เดินหมาก2ทาง ทั้งใน-นอกสภาฯ ผ่านงบประมาณ4.5ล้านล้าน เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ก่อนเปิดสภาสมัยทั่วไป ในเดือนสิงหาคม 2556
ก่อนครบวาระ 2 ปีของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ก่อนครบวาระการถูกจองจำของนักโทษการเมืองฝ่ายแดงหลัง ที่ร่วมก่อเหตุเมื่อ พฤษภาคม 2553 ครบรอบ 3 ปี
พรรคเพื่อไทยตั้งใจผลักกันให้รัฐบาลเดินหน้า ขับเคลื่อนควบคู่วาระของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 4 เรื่อง
เรื่องแรก เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อคอำนาจองค์กรอิสระ เรื่องที่สอง เดินหน้านิรโทษกรรมนักโทษการเมือง เรื่องที่สามผ่านพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท และเรื่องที่สี่ ผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 วงเงิน 2.5 ล้านล้านบาท
แกนนำของพรรคเพื่อไทย วางสารบัญทั้งสามเรื่อง คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ-ผ่านกฏหมายกู้เงิน-ผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย เป็นความจำเป็นเร่งด่วน และต้องใช้พลังเสียงข้างมากลากให้ได้ภายในปีนี้
มีเพียงประเด็นเดียวที่แม้มีเสียงข้างมาก ก็ขับเคลื่อนช่วยเหลือบนดิน-ในสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ แต่ต้องใช้กำลังภายใน-ใต้ดิน และเสียงผู้มีบารมีนอกสภาผู้แทน เป็นบริการเสริม เพื่อช่วยเหลือ คือพี่น้องเสื้อแดงที่เป็นนักโทษการเมือง อยู่ในคุก 5 แห่ง รวม 33 คน
  
เพราะหากช่วยพี่น้องนักโทษการเมืองเสื้อแดงได้ ก็เท่ากับได้คะแนนนิยมกลุ่มปัญญาชนเสื้อแดง ที่เริ่มแปรพักตร์ กลับคืนมาอยู่ฝ่ายเพื่อไทย..อีกครั้ง
จึงต้องมี “วงเจรจาลับ” ระหว่างผู้มีบารมีฝ่ายหญิง และลูกชายคนโต-คนเดียวของผู้มีบารมีนอกประเทศ ร่วมกับพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขับเคลื่อนช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม นอกเหนือจากการเคลื่อนขบวนเสนอกฏหมายนิรโทษกรรม ในสภาผู้แทนราษฎร
แหล่งข่าวในกระบวนการยุติธรรม อ้างถึงการเจรจาดังกล่าว เป็นผลให้ เกิดการช่วยเหลือนักโทษทั้ง 67 คน ในคดีอาญา กรณีเหตุการณ์ พฤษภาคม 2553 อย่าง “เร่งด่วน” และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้องรายงานสด-ส่งตรงถึงประมุขฝ่ายหญิงผู้มีบารมีนอกพรรคเพื่อไทย ภายใน 72 ชั่วโมงหลังเจรจาลับ
ทางหนึ่งคือย้ายผู้ต้องหาไปอยู่ในที่สะดวกสบายมากขึ้น คือเรือนจำชั่วคราว หลักสี่ กรุงเทพฯ
ทางหนึ่งคือ ขอพระราชทานอภัยโทษ โดยมิให้ล่าช้า
แม้ว่าจะมีชื่อที่ฝ่ายตุลาการภิวัฒน์ จะขอแขวนไว้ไม่รับเจรจามี 3 ชื่อ คือ นายสุรชัย แซ่ด่าน, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และ นางดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ที่มีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112
ทั้ง ๆ ที่คนในพรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาล พยายามแสดงบทบาท ไม่ลงมือช่วยเหลือนักโทษการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม มีแต่เพียงผู้มีบารมีฝ่ายหญิง-ประมุขนอกพรรคเพื่อไทย ที่จับมือกับอดีตเลขาคนสนิทของพ.ต.ท.ทักษิณ ปฏิบัติการลับ ช่วยเหลืออย่างเป็นขั้น เป็นตอน ทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ดังนี้
มีหนังสือราชการ เลขที่ 0101/1115 ลงนามโดยนายปรีชา ธนานันท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ออกจากสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ชั้น 9 ลงวันที่ 4 เมษายน 2556 แจ้งผลการดำเนินการตามที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.แดงทั้งแผ่นดิน) ได้ขอความอนุเคราะห์เพื่อให้ดำเนินการเกี่ยวกับผู้ต้องขังคดีอาญา ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง
ข้อแรก กรณีที่นปช.ขอความอนุเคราะห์ในการย้าย ผู้ต้องขังคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง 10 ราย ไปคุมขังที่เรือนจำชั่วคราว หลักสี่ กรมราชทัณฑ์ได้พิจารณาย้ายผู้ต้องขัง 4 ราย คือ นายพิทยา แน่นอุดร, นายประสิทธิ์ พลอยทับทิม, นายวรกฤติ นันทะมงคลชัย และนายทองสุข หลาสพ ไปยังเรือนจำชั่วคราวหลักสี่แล้ว
ส่วนกรณีของผู้ต้องขังอีก 5 ราย ได้แก่ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, นายธันย์วุฒิ ทวีวรโรดมกุล, นายวันชัย แซ่ตัน, นายยุทธภูมิ มาตรนอก และนางดารณี ชาญเชิงศิลปกุล นั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการ ปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ยังไม่มีความเห็นเกี่ยวกับกรณีการย้ายดังกล่าว ประกอบกับกรมราชทัณฑ์ดำเนินการยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษเด็ดขาดทางการเมือง ที่กระทำความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 3 ราย คือ นักโทษเด็ดขาด นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) ,นักโทษเด็ดขาดชายธันย์ฐวุฒิ ทวีวรโรดมกุล และนักโทษเด็ดขาดชาย วันชัย แซ่ตัน หรือนาย ซิน เชียง ฮอน ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ดังนั้น กรมราชทัณฑ์จึงเห็นควรรอผลฎีกาพระราชทานอภัยโทษดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาย้ายผู้ต้องขังที่กระทำความผิดตามประมวลกฏหมาย อาญามาตรา 112 ต่อไป
ในส่วนของนายรุ่งนิรันดิ์ ปุราสะกา ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม
2556
ประเด็นที่สอง กรณีที่ประธานนปช.ขอให้ดำเนินการประกันตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมือง ซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุดนั้น กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพได้ดำเนินการช่วยเหลือในการยื่นขอประกันตัวผู้ต้อง ขังทางการเมืองซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุดของกลุ่ม นปช.ดังนี้
ผู้ต้องขังขอความช่วยเหลือประกันตัว 67 ประกอบด้วย ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว จำนวน 27 ราย ,คดีเด็ดขาด 5 ราย, คดีชาวกัมพูชา 1 ราย, เสียชีวิต 2 ราย, ถูกคุมขังในคดีอื่น 1 ราย, ยื่นประกันตนเอง 1 ราย, ศาลยกฟ้อง 7 ราย, ยังไม่ถูกคุมขัง 2 ราย, รับสารภาพ 3 ราย, ผู้ต้องขังประสงค์ใช้ทนายของตนเอง 2 ราย (โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพสนับสนุนหลักประกัน) และปัจจุบันอยู่ระหว่างยื่นคำร้อง 16 ราย (ศาลไม่อนุญาต)
ทั้งนี้กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพได้หารือร่วมกับสมาคมทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการเตรียมคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังเพื่อยื่นต่อศาล ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ
ประเด็นที่สาม กรณีขอให้ดำเนินการเร่งรัดกระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษของผู้ต้องขังในคดี ความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 มิให้ล่าช้านั้น กระทรวงยุติธรรมได้แจ้งให้นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ทราบว่า ผู้ต้องขังในคดีความผิดตามประมวลฏหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 3 ราย ได้แก่ นายสุรชัย แซ่ด่าน, นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล และนายวันชัย แซ่ตัน กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการพิจารณา เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทในโอกาสอันสมควร แล้วทุกราย “ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักราชเลขาธิการ”
ต้องติดตามว่า ระหว่างการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ในการผ่านกฏหมายทางการเงิน 2 ฉบับ รวม 4.5 ล้านล้านบาท กับการปฏิบัติการลับ ช่วยเหลือนักโทษการเมืองเสื้อแดง ทางหนึ่งเคลื่อนในสภาผู้แทนราษฎร ทางหนึ่งเคลื่อนผ่านผู้มีบารมีนอกรัฐบาล ทางไหนจะบรรลุเป้าหมายก่อนกัน
ขอบคุณภาพจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

************
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:เปิดคำสัมภาษณ์ "หนุ่ม เรดนนท์" หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ
โดย ทีมข่าว นปช.


"หนุ่ม เรดนนท์" หรือ ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 13 ปี เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2554 ที่ศาลอาญารัชดา ด้วยข้อหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ พรบ.คอมพิวเตอร์  บัดนี้ได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้วเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2556 เวลา 16:15 น. ทางทีมข่าว นปช. จึงได้เดินทางไปสัมภาษณ์

ทีมข่าว นปช : รู้สึกอย่างไรบ้างครับที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้ครับ ?

หนุ่ม เรดนนท์ : ก็ดีใจ.. ดีใจเป็นธรรมดา เพราะมันนานแล้วตั้งสามปี คือถ้าหน่วยงานต่าง ๆ ช่วยกันจริง ๆ มันควรจะได้ออกเร็วกว่านี้ แต่ก็เป็นความผิดของผมด้วยที่เรื่องอภัยโทษช้าไปหน่อย พี่ทำเรื่องช้าไปนิดนึง

ทีมข่าว นปช : ช้าเป็นเพราะไปสู้คดีด้วยหรือเปล่า ?

หนุ่ม เรดนนท์ : ใช่ ก็เพราะไปสู้อุทธรณ์ไง

ทีมข่าว นปช : ประสบการณ์ตอนที่อยู่ในคุกเป็นอย่างไรบ้างครับ ?

หนุ่ม เรดนนท์ :  คือช่วงหลัง ๆ คงไม่ต้องนับหรอกเพราะเราได้รับการดูแลเอาใจใส่จากรัฐบาล จากฝ่ายเรานี่แหละ แต่ไอ้ก่อนหน้านั้นที่พวกเสื้อแดงเข้ามานี่ (ปี 53) พวกเราถูกทำร้าย ถูกกลั่นแกล้ง ช่วงแรกนี่จะเป็นช่วงที่ลำบากมากสำหรับพวกเราทุกคน ทุกแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็จะโดนหนักนิดนึง

ทีมข่าว นปช : แล้วช่วงที่เขามาในคุกแรก ๆ เป็นอย่างไรบ้าง?

หนุ่ม เรดนนท์ :  มันใหม่มากกับการเข้ามาอยู่ในคุกเพราะเราไม่เคย ใจเนี่ย.. ไม่ได้คิดว่าจะอยู่นาน เพราะว่าน่าจะได้รับการประกันตัว ไม่เคยคิดว่าจะต้องอยู่มาจนถึงวันนี้ แต่ว่าด้วยกระบวนการกฎหมาย ด้วยความไม่ยุติธรรมก็ทำให้เราต้องติดอยู่จนถึงวันนี้เลย ประกันตัวก็ไม่เคยได้

ทีมข่าว นปช : ติดมาไม่เคยได้ประกันตัว แล้วก็สู้คดีมา จนในที่สุดก็ขอพระราชทานอภัยโทษเมื่อไหร่ครับ ?

หนุ่ม เรดนนท์ : ใช่ เมื่อตอนที่อากง (อำพล) คือที่ทำให้ตัดสินใจคือนักวิชาการ 10 คน นักวิชาการหลายคนเนี่ย ร่วมกันค้ำประกันอากงบวกด้วยเงินสด จำนวนนึงซึ่งน่าจะ 2 ล้าน 3 ล้าน แล้วทำให้อากงประกันไม่ได้ นั่นตรงนั้นที่คุยกับอากงว่าถ้าครั้งนี้ไม่ผ่าน ก็จะขออภัยโทษ การยื่นประกันครั้งนั้นเป็นตัวที่ทำให้พี่ตัดสินใจ แล้วก็มีผู้หลักผู้ใหญ่เข้ามาคุยกับเราว่า ให้ยุติคดีโดยเร็ว แล้วเขาจะช่วยเรื่องอภัยโทษให้ ช่วงนั้นกระแสอากงกำลังมาแรงมาก

ทีมข่าว นปช : 3 ปีที่อยู่ในคุกได้รับบทเรียนอะไรบ้างครับ ?

หนุ่ม เรดนนท์ : จริงมันมีหลายประเด็น เรื่องความอดทน การคาดหวังอะไรต่าง ๆ มันไม่ใช่ว่าเราคาดหวังว่าจะได้อะไรแล้วเราจะได้ หลายครั้งที่เราคาดหวังว่าเราจะได้ประกันตัว เราก็ไม่ได้ หลายครั้งที่คิดว่า ลูกจะมาเยี่ยมก็มาเยี่ยมไม่ได้ คนที่เรารักก็ไม่มาเยี่ยมเรา หลายคนที่คิดว่าเขาน่าจะห่วงใยเรา ก็ไม่มาห่วงใยเรา ตรงนี้ฝึกให้เรารู้จักว่า ไม่คาดหวังอะไร ปล่อยวาง มันเหมือนถ้าเราไปยึดติด มันไม่ใช่เรื่องธรรมะ แต่เราต้องทำใจแล้วก็อดทนอยู่กับมันให้ได้

ทีมข่าว นปช : เพื่อน ๆ ในคุกเป็นไงบ้าง ?

หนุ่ม เรดนนท์ : เพื่อนในคุกผมว่าก็ไม่ต่างจากเพื่อนข้างนอกหรอก เป็นสังคมขนาดเล็ก ๆ ด้วย

ทีมข่าว นปช : รู้สึกอย่างไรกับคดี 112 ?

หนุ่ม เรดนนท์ : จริง ๆ แล้วเรื่อง 112 ผมต้องแยกแยะระหว่างคนที่มีต้นทุนทางสังคมอย่าง อ.สุรชัย กับ คุณสมยศ กับพวกที่เป็นคดีปลีกย่อย ควรจะแยกกัน อย่างผม อย่างเอกชัย อย่าง ยุทธภูมิ อย่างณัฐก็เหมือนกัน มันควรจะได้รับการผ่อนปรน หรือได้รับการช่วยเหลือมากกว่า มันจะเป็นผลเสียมาก ๆ เลยนะกับการที่เอาคดี 112 ที่เป็นประชาชนธรรมดา ผมว่ามันไม่มีประโยชน์เลยกับการที่เอามากักไว้ คือการปล่อยเราไปคนนึงมันก็ไม่ทำให้เกิดอะไรขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นควรจะแยกแยะ แยกกลุ่มคนตรงนี้ออกมา แล้วก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่โดนคดีแบบนี้ จะทำจริงทุกคน ผมเชื่ออย่างนั้น

ทีมข่าว นปช : เพื่อน ๆ 112 ที่อยู่ในเรือนจำตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ ?

หนุ่ม เรดนนท์ : ทุกคนผมพูดตรง ๆ ว่าได้รับการดูแลอย่างดี กับเจ้าหน้าที่นะ ซึ่งถ้ามี 100 คน ก็จะมีคนสองคนที่ยังมองพวกเราเป็นพวกที่ไม่ดี แต่ว่าจะไม่ค่อยเข้ามาข้องเกี่ยวอะไรกับเรามาก ความดีของรัฐบาลที่เห็นได้ชัด แต่ผมไม่แน่ใจว่ารัฐบาลหรือเปล่า อ.ธิดา หรือว่า หมอเหวง หรือว่าคนที่อยู่ฝ่ายเรา มีความใส่ใจ ซึ่งต่างจากแต่ก่อนมาก

ทีมข่าว นปช : คุณหนุ่มเขียนจดหมายถึง อ.ธิดา หลายครั้ง รู้สึกว่าอาจารย์ให้การช่วยเหลือดีไหม ?

หนุ่ม เรดนนท์ : ผมไม่คาดคิดมาก่อนว่าแกจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่ผมเขียนไป เพราะดูเหมือนว่ามันห่างกันมาก ความรู้สึกเหมือนว่า 112 ไม่มีใครอยากจะสนใจ แต่อาจารย์ก็ยังแวะมา ยังให้กำลังใจแล้วก็ เรารู้ว่าอาจารย์ก็มีปัญหา แต่เราดูตรงที่ว่าอาจารย์มีน้ำใจให้เรามากแค่ไหน ทุกครั้งที่เราร้องขอไป อาจารย์ก็จะมีตอบกลับมา โดยเฉพาะช่วงหลัง ๆ เนี่ยเรารู้สึกว่าอาจารย์ให้เกียรติ์เรานะ จดหมายแต่ละฉบับที่เขียนไปอาจารย์ใส่ใจ และตามเรื่องให้เรา

ทีมข่าว นปช : รู้สึกอย่างไรกับการที่มีนักโทษการเมืองหลงเหลือถูกจองจำอยู่ตามเรือนจำ ?

หนุ่ม เรดนนท์ : ผมบอกได้เลยว่าในช่วงชีวิตนึง ช่วงเวลานึงผมเคยคิดถึงประชาธิปัตย์ ว่าคดีอย่างผมเนี่ย พวกเดียวกันไม่สามารถช่วยได้ ประชาธิปัตย์จะช่วยได้ไหม ประชาธิปัตย์นี่ถ้าฉลาดนิดนึง จริง ๆ แล้วนะจะพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เรื่องพวกนี้คุณเข้ามาช่วยเหลือเขาเลย หาคนมาเยี่ยมเขา แล้วเข้าใจว่าเป็นประชาชนคนเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าแยก แดง เหลือง ไอ้คนที่ติดคุกที่หลักสี่ หรือว่า 112 อย่างผม มันไม่ใช่ว่าจะรักหรือชื่นชอบทักษิณ หรือว่ามีอุดมการณ์ที่แดงจ๋ากันทุกคน มันไม่ใช่ วันนี้คุณช่วยเหลือเขา ความคิดเขาก็อาจจะเปลี่ยนไป ถ้าคุณมองว่าเขาเป็นประชาชนเหมือนกันที่ได้รับความเดือดร้อน ในสมัยตั้งแต่ รศ.130 มาแล้วก็มีการพระราชทานอภัยโทษ และมีการช่วยเหลือนักโทษการเมืองมาตลอด แต่ทำไมยุคนี้ถึงต้องมากักกัน มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย คือถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ปล่อยทั้งหมด อย่างผมได้รับพระราชทานอภัยโทษในวันนี้ ผมก็ดีใจ ใครก็ได้ที่เข้ามาช่วยผม เพราะผมมีลูก คนที่ผมรักอยู่ จะยังไงผมขอบคุณหมดทุกคน ก็คาดหวังว่าจะมีการปล่อยตัวพวกเขาโดยเร็ว โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้านก็อยากให้มีความคิดว่า พวกเขา (นักโทษ) ก็ประชาชนเหมือนกัน

ทีมข่าว นปช : ตอนนี้ก็ออกมาจากคุกแล้ว มีแผนการในการใช้ชีวิตอย่างไร ?

หนุ่ม เรดนนท์ : ยังไม่สามารถวางแผนได้เลย บริษัทที่เคยทำอยู่ มันก็คงกอบกู้ไม่ได้ ธุรกิจที่ผมทำคือ ไอที ซึ่งมันล้าสมัยไปแล้ว แม้แต่มือถือผมยังใช้ไม่เป็นเลยวันนี้ แล้วก็เรื่องสายตาด้วย จะให้ทำคอมพิวเตอร์คงทำไม่ได้ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะทำถ้าขายหรือทำวิชาชีพอื่น แต่คงไม่ใช่ตอนนี้ ก็อยากจะพักยาว ๆ อยากจะใช้เวลา 3 ปีกับลูกเพื่อชดเชยที่เสียไป

ทีมข่าว นปช : อยากจะฝากบอกอะไรกับพี่น้องเสื้อแดงครับ ?

หนุ่ม เรดนนท์ : ในฐานะที่เป็นนักโทษ 112 ไม่อยากให้พวกเสื้อแดงแบ่งแยกว่า อันนี้เป็นนักโทษหลักสี่ อันนี้เป็นนักโทษที่นี่ เราเองก็มีอุดมการณ์เหมือนกัน ออกมาจากจุดเดียวกัน ก็คือไปฟังคนปราศัยบนเวทีมา ผมเองโดนคดี 112 พวกเราหลายคนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพก็โดน 112 ทำไมต้องแบ่งแยกกันด้วย ต้องแบ่งแยกว่า 112 ต้องไม่ไปเยี่ยมนะ หรือว่าดูแลให้มันน้อยหน่อย ไม่ย้ายไปหลักสี่ ผมเข้าใจว่าการสูญเสียจากการชุมนุมในราชประสงค์มันก็หนักหนาสาหัส แต่ว่าพวกที่ติดคุกมันก็คือการติด ก็คือตกนรกทั้งเป็น





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น