แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ปัญหาการบังคับศีลธรรมโดยกฎหมาย: กรณีของจีนและไทย

ที่มา ประชาไท


บทนำ
 
เมื่อเร็วๆนี้ มีข่าวว่า มารดาวัย 77 ปีชาวจีน ได้ยื่นฟ้องบุตรสาว หลังจากเธอปฏิเสธที่จะดูแลมารดาอีกต่อไป โดยศาลเมืองอู๋ซีได้ตัดสินให้ลูกต้องไปเยี่ยมแม่ของเธอทุกๆ 2 เดือนเป็นอย่างน้อย มิฉะนั้นจะต้องจ่ายค่าชดเชย ทั้งนี้ศาลได้ตัดสินให้เป็นไปตากฎหมายใหม่คือกฎหมายการคุ้มครองผู้สูงอายุ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา ผู้เขียนอ่านข่าวนี้แล้วเห็นว่ามีประเด็นเกี่ยวข้องกับปัญหาทางนิติปรัชญา แฝงอยู่จึงอยากตั้งเป็นข้อสังเกตเผื่อว่าอาจเป็นประโยชน์ต่อการอภิปรายถก เถียงต่อไปในสังคมไทย
 
1. ควรหรือไม่ที่จะมีการบังคับทางศีลธรรมโดยกฎหมาย
 
หนึ่งในบรรดาคำถามสำคัญในทางนิติปรัชญาที่ยังโต้เถียงกันอยู่ทุกวันนี้ คือควรหรือไม่ที่รัฐจะบังคับให้ประชาชนในสังคมมีศีลธรรมโดยผ่านทางการคับใช้ กฎหมาย กล่าวอีกนัยหนึ่ง ควรหรือไม่ที่จะให้การกระทำที่ผิดศีลธรรมเป็นความผิดทางอาญาไปด้วย ปัญหานี้เกิดขึ้นมาหลายทศวรรษแล้วที่ประเทศอังกฤษ โดยสมัยก่อน พฤติกรรมรักร่วมเพศ (Homosexuality)  เป็นความผิดอาญา ต่อมาได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา 1 ชุด โดยมี John  Wolfenden เป็นประธาน โดยคณะกรรมาธิการชุดนี้ได้จัดทำรายงานขึ้นมา 1 ฉบับ เป็นที่รู้จักกันดีในนาม Wolfenden  Report โดยเสนอว่าไม่ควรให้พฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นความผิดอาญาอีกต่อไป โดยให้เหตุผลว่าควรแยกเรื่อง “บาป” (sin) ออกจาก “อาชญากรรม” ในเรื่องที่แม้จะไม่ถูกศีลธรรมส่วนตัว แต่ก็ไม่ใช่ธุระของกฎหมาย (not the law’s business)[1]
 
หลังจากที่รายงานฉบับนี้ทำออกมารัฐสภาก็แก้ไขกฎหมายยกเลิกความผิดฐาน รักร่วมเพศในอีกไม่กี่ปีต่อมา หลังไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ได้สร้างประเด็นถกเถียงปัญหาทางนิติปรัชญา จนกลายเป็นวิวาทะระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านรายงานนี้ และเป็นประเด็นใหญ่ที่วงการกฎหมายกฎหมายทั่วโลกต่างพากันให้ความสำคัญโดยผู้ คัดค้านได้แก่ ผู้พิพากษา Patrick  Devlin กับผู้สนับสนุนคือศาสตราจารย์ H.A.L. Hart แห่งมหาวิทยาลัย Oxford ผู้พิพากษา Devlin เห็นว่า รัฐอำนาจที่จะตรากฎหมายบังคับเรื่องศีลธรรม และหน้าที่ของกฎหมายอาญาคือการบังคับเรื่องศีลธรรม[2] นอกจากนี้ สังคมมีสิทธิที่จะปกป้องศีลธรรมของส่วนรวมด้วย หากปล่อยให้มีการกระทำผิดศีลธรรม สังคมนั้นอาจล่มสลายได้ ในขณะที่ ศาสตราจารย์ Hart เห็นด้วยกับนักปรัชญาชาวอังกฤษ  อย่างจอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) ที่เห็นว่า ผู้ปกครองจะเข้ามารุกล้ำหรือจำกัดเสรีภาพของประชาชนได้ต่อเมื่อการกระทำนั้น เป็นภัยหรืออันตรายแก่ผู้อื่น[3] หากการกระทำใดไม่เป็นอันตรายแก่ผู้อื่นแล้ว รัฐไม่ควรตราให้การกระทำนั้นเป็นความผิดอาญาแม้ว่ากระทำนั้นจะไม่ถูกศีลธรรม ก็ตาม นอกจากนี้ Hart ยังให้เหตุผลอีกว่าการมีศีลธรรมนั้นควรเป็นเรื่องของความสมัครใจ การอบรมสั่งสอนมากกว่าการบังคับหรือการลงโทษทางกฎหมายหากละเว้นไม่กระทำ[4]
 
ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับศีลธรรมนั้นจัดว่าเป็นปัญหา หนึ่งที่สำคัญที่สุดในทางนิติปรัชญาและเป็นปัญหาละเอียดอ่อนที่มีทั้งผู้ สนับสนุนและคัดค้าน
 
2. ปัญหาของกฎหมายจีน
 
หลังจากที่จีนเปิดตลาดการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้นเป็นผลให้ ประเทศจีนมีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้านและหนึ่งในนั้นก็คือการเปลี่ยนแปลงทาง สังคมวัฒนธรรม การที่จีนออกกฎหมายบังคับให้ลูกต้องไปเยี่ยมพ่อแม่นั้นเกิดคำถามตามมามากมาย ว่า อะไรคือมูลฐานของกฎหมายฉบับนี้ๆจะมีผลใช้บังคับได้จริงหรือ หากพิจารณาในมุมของ Devlin จีนมีความชอบธรรมที่จะตรากฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้คนจีนมีความกตัญญูรู้คุณของพ่อแม่ หรือให้มีความเคารพนับถือผู้หลักผู้ใหญ่ การปล่อยปละละเลยไม่สนใจปัญหานี้นานๆเข้าอาจทำให้สังคมเสื่อมลง แต่หากพิจารณาในมุมของ Mill และ ศาสตราจารย์ Hart แล้ว กฎหมายฉบับนี้เข้าไปก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของปัจเจกชน อีกทั้งการบังคับให้ปฎิบัติตามกฎหมายก็มิได้แสดงถึงความเป็นผู้มีศีลธรรมแต่ อย่างใด เนื่องจากการไปเยี่ยมพ่อแม่นั้นอาจมิได้มาจากใจที่แท้จริงแต่มาจากความกลัว จากการถูกกฎหมายลงโทษ
 
ปัญหาการบังคับศีลธรรมโดยใช้กฎหมายหรือปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมาย กับศีลธรรมนั้นเป็นปัญหาที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและโต้ แย้งเสมอ และอาจไม่ยุติด้วยการทำประชามติเพราะก็จะมีข้อโต้แย้งเรื่อง “เสียงข้างมากลากไป” อีก
 
3. ปัญหากฎหมายกับศีลธรรมในสังคมไทย
 
หันมาดูกฎหมายไทยบ้าง มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๒ ตามประกาศนี้ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ 4 วัน ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา โดยมีข้อยกเว้นกรณีการขายในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม เพื่อเป็นการส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวในประเทศไทยและกระตุ้นเศรษฐกิจของ ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ประกาศนี้ก็แฝงคำถามที่ชวนสงสัยดังนี้
 
ประการแรก อะไรคือวัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้ ในเบื้องแรกเห็นได้ชัดว่า กฎหมายฉบับนี้มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี เพราะประกาศนี้ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนาพุทธ 4 วัน การห้ามขายเพียง 4 วันใน 1 ปีไม่พอที่จะให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นมาได้ ฉะนั้นประกาศนี้จึงมิได้ออกมาโดยอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลทางสุขภาพ จึงชวนคิดต่อไปว่า หรือว่าประกาศฉบับนี้มีเหตุผลทางศีลธรรมรองรับ กล่าวคือ เพื่อต้องการให้เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี จึงจำเป็นต้องห้ามขายเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ในวันดังกล่าว แต่มีคำถามว่า การจะเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีจำเป็นต้องอาศัยแรงบังคับของกฎหมายเพื่อให้ชาว พุทธต้องไม่ละเมิดศีลข้อที่ 5 สุราเมรัยหรือไม่ การที่ชาวพุทธจะงดเว้นจากการดื่มเหล้าในวันสำคัญทางศาสนาหรือวันอื่นๆก็ตาม ควรมาจากจิตใจมโนธรรมสำนึกของผู้นั้นจะดีกว่า การงดซื้อเหล้าเพราะ “กลัวกฎหมาย” กับการงดซื้อเหล้าเพราะ “กลัวผิดศีลข้อที่ 5” ย่อมสะท้อนพื้นฐานทางจิตใจที่ต่างกันอย่างแน่นอน อีกทั้งการงดซื้อเหล้าเพียงแค่ 4 วันใน 365 วัน ก็มิได้ทำให้เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีขึ้นมาได้
 
ประการที่สอง กฎหมายนี้มีข้อยกเว้นคือให้ขายได้ในโรงแรมโดยให้เหตุผลว่าต้องการกระตุ้น เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวซึ่งดูเหมือนว่ารัฐให้คุณค่า “ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ” มากกว่า “ความเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี” ใช่หรือไม่ และในกรณีที่ทั้งสองอย่างไปด้วยกันไม่ได้ รัฐเลือกสนับสนุนอย่างแรกมากกว่า
 
ประการที่สาม  ประกาศนี้น่าจะสะท้อนความอ่อนแอของวงการพระสงฆ์ ที่ไม่สามารถทำหน้าที่เผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาได้แม้แต่เรื่อง พื้นฐานอย่างศีล 5 จนกระทั่งรัฐต้องยื่นมือเข้ามาบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด แต่กลับกลายเป็นว่า “รัฐ” กำลังทำหน้าที่แทน “พระสงฆ์”
 
นอกจากนี้ สังคมไทยก็ไม่หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องเผชิญปัญหาความสัมพันธ์ระหว่าง กฎหมายกับศีลธรรมว่าควรมีความเกี่ยวข้องกันมากน้อยแค่ไหนเพียงไร ในอนาคตสังคมไทยอาจเผชิญกับปัญหาเรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิต การุณยฆาต (Euthanasia) การเรียกร้องให้มีการยอมรับการสมรสของเพศเดียวกัน (same sex marriage) ควรทำให้การพนัน (การเปิดบ่อนพนัน) เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายหรือไม่ หรือแม้กระทั่งปัญหาว่าการสมรสซ้อน (Bigamy) สมควรเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ซึ่งหลายประเทศถือว่าเป็นความผิดอาญา
 
บทส่งท้าย
 
ทั้งกฎหมายจีนและกฎหมายไทยเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงวิธีคิดเกี่ยว กับการบังคับ “ศีลธรรม” โดยผ่านกลไกของ “กฎหมาย” กล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นการยืมมือกฎหมายบังคับให้ “พลเมือง” เป็น “คนดี”นั่นเอง แต่คำถามมีว่า การบังคับใช้กฎหมายแบบนี้บรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่  แน่นอน กฎหมายย่อมมีพื้นฐานมาจากศีลธรรมและแยกออกจากศีลธรรมไม่ได้ แต่กฎหมายไม่สามารถบังคับให้เป็นคนดี หรือพุทธศาสนาสนิกชนที่ดีได้ ศีลธรรมหรือคุณธรรมเป็นเรื่องของการปลูกฝังอบรมมาตั้งแต่ครอบครัวและใน โรงเรียนมายาวนาน อย่างที่ Immanuel Kant อธิบาย เจตจำนงเสรี (Free will) เป็นรากฐานของศีลธรรมโดยที่ไม่มีปัจจัยภายนอก (ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ) เข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของบุคคลนั้น
 
ประการสุดท้าย น่าคิดว่ากฎหมายจีนฉบับนี้สะท้อนปัญหาอะไร สะท้อนความล้มเหลวของนโยบายให้มีลูกคนเดียว (One child policy) เพราะหากมีลูกหลายคน ก็สามารถแบ่งผลัดหน้าที่ไปเยี่ยมเยียนพ่อแม่ได้ หรือสะท้อนด้านมืดของระบบทุนนิยมที่คนในวัยทำงาน (ถูกบังคับกลายๆ) ต้องมุ่งหาเงินและดาหน้าเข้าสู่เมืองใหญ่ปล่อยให้คนแก่ชราอยู่เฝ้าบ้านเพียง ลำพัง หรือสะท้อนความหมดอิทธิพลของปรัชญาตะวันออกอย่างลัทธิขงจื้อ จึงทำให้เกิดปัญหาเช่นนี้ในสังคมจีน และในอนาคตสังคมไทยจะมีการออกกฎหมายแบบนี้หรือไม่เป็นปัญหาที่น่าคิด
 
วันนี้คุณกลับไปเยี่ยมพ่อแม่แล้วหรือยัง!!!
 

[1] Patrick Devlin, The Enforcement of Morals, (USA: Oxford University Press, 1965), หน้า 3
[2] เพิ่งอ้าง, หน้า 7
[3] John Stuart Mill, On Liberty,  (New York: The Liberal Arts Press,1956), Chapter 1 Introductory
[4] HLA Hart, Law, Liberty and Morality, (USA: A Vintage Book, 1966),หน้า 58

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น