แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

บทวิเคราะห์ Foreign Policy ชี้รปห.อียิปต์เปิดทางกองทัพแทรกแซงรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

ที่มา ประชาไท


หนึ่งในกองบก. Foreign Policy นำเสนอความเห็นเกี่ยวกับการรัฐประหารล่าสุดในอียิปต์ ระบุ "รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย" มีอยู่น้อยครั้งมาก อีกทั้งเตือนว่ากรณีของอียิปต์อาจมีลักษณะแบบเดียวกับตุรกีที่มีกองทัพเข้า มาแทรกแซงรัฐบาลจากการเลือกตั้งเป็นระยะๆ
โจชัว คีธติง หนึ่งในกองบรรณาธิการเว็บไซต์ Foreign Policy เขียนบทความเกี่ยวกับกรณีการรัฐประหารในอียิปต์ครั้งล่าสุด ตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่การรัฐประหารจะเป็นประชาธิปไตย
โดยเมื่อช่วงคืนวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมากองทัพของอียิปต์ได้เข้ามาแทรกแซงความวุ่นวายทางการเมืองที่กำลัง เกิดขึ้นและถอดถอนประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด มอร์ซี ออกจากตำแหน่งหลังจากที่อียิปต์มีการประท้วงอย่างหนัก
ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของมอร์ซีบอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น "การรัฐประหารโดยกองทัพ" และคำจำกัดความดั้งเดิมของการรัฐประหารโดยกองทัพมีอยู่ว่า "เมื่อกองทัพหรือส่วนหนึ่งของกองทัพ ใช้อำนาจต่อต้านให้ผู้นำของรัฐ (apex of the state) และสถาปนาตัวเองขึ้นแทน จากนั้นทุกส่วนในรัฐก็ต้องยอมรับคำสั่งจากรัฐบาลใหม่"
โจชัว กล่าวว่ารัฐประหารในอียิปต์ตรงกับนิยามดั้งเดิมของการรัฐประหาร จากการที่ประธานสภาทหารสูงสุดของอียิปต์ประกาศให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ ปัจจุบันและให้จัดตั้งรัฐบาลผู้เชี่ยวชาญนำโดยผู้พิพากษาสูงสุดจากศาลรัฐ ธรรมนูญ
แล้วผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในอียิปต์จะคิดอย่างไรกับกรณีนี้ โดยพื้นฐานแล้วการรัฐประหารถูกมองว่าเป็นการขัดต่อหลักกระบวนการประชาธิปไตย จากการที่อำนาจการเมืองมาจากปากกระบอกปืนแทนที่จะมาจากคูหาเลือกตั้ง ซึ่งจริงๆ แล้วตามกฏหมายของสหรัฐฯ ระบุว่าทางการไม่สามารถให้ความช่วยเหลือรัฐบาลที่มาจากอำนาจกองทัพได้ แม้ว่ากฏหมายนี้จะค่อนข้างถูกละเลยก็ตาม
โจขัวร์ตั้งคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่การรัฐประหารจะช่วยให้ ประชาธิปไตยก้าวต่อไปข้างหน้าได้ แต่เขาก็อ้างอิงบทความเมื่อปี 2012 ของอาจารย์ด้านกฏหมาย โอซาน วาโรล ที่ตีพิมพ์วารสารกฏหมายนานาชาติมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บทความดังกล่าวนี้ระบุว่าการทำรัฐประหารโดยส่วนใหญ่มีลักษณะที่ไม่เป็น ประชาธิปไตย และทำให้เกิดรัฐบาลที่มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยลง โดยมีเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่เป็น "การรัฐประหารแบบเป็นประขาธิปไตย"
บทความของวาโรลกล่าวถึงกรณีศึกษาสามกรณีที่อ้างว่าเป็น "การรัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย" กรณีแรกคือการรัฐประหารในตุรกีเมื่อปี 1960 ที่กองทัพโค่นล้มอำนาจพรรคเดโมเครติกที่พยายามรักษาอำนาจทางการเมืองโดยมี การปราบปรามสื่อและผู้ต่อต้านทางการเมือง กรณีที่สองคือการรัฐประหารในโปรตุเกสปี 1974 หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าการปฏิวัติดอกคาร์เนชั่น ซึ่งเป็นการโค่นล้ม "ระบอบรัฐใหม่" หรือ Estado Novo จากปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและการรุกรานอาณานิคมแอฟริกา และตัวอย่างกรณีที่สามถือว่าน่าสนใจในบริบทนี้ เพราะวาโรล กล่าวถึง การโค่นล้มฮอสนี มูบารัค อดีตผู้นำอียิปต์ในปี 2011

วาโรลกล่าวว่าหากต้องการให้รัฐประหารมีความเป็นประชาธิปไตย ควรมีลักษณะ 7 ประการดังนี้
1. คือรัฐประหารต้องเป็นการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการหรืออำนาจนิยม
2. กองทัพตอบสนองต่อการต่อต้านรัฐบาลของประชาชนจำนวนมาก และมีการต่อต้านเป็นเวลายาวนาน
3. รัฐบาลเผด็จการหรืออำนาจนิยมที่ถูกต่อต้านตอบสนองการลุกฮือด้วยการปฏิเสธจะลงจากอำนาจ
4. การรัฐประหารมาจากกองทัพที่ได้รับการเคารพนับถือจากภายในชาติ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเป็นเพราะมีการบังคับเกณฑ์ทหาร
5. กองทัพต้องทำการรัฐประหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการหรืออำนาจนิยม
6. กองทัพต้องจัดให้มีการเลือกตั้งที่อิสระและยุติธรรมภายในเวลาไม่นานหลังจากนั้น
7. การรัฐประหารจบลงด้วยการถ่ายโอนอำนาจให้กับผู้นำที่ได้รับเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย

แล้วการรัฐประหารล่าสุดในอียิปต์เป็นเช่นทั้ง 7 ข้อนี้หรือไม่  โจชัวกล่าวว่า ในข้อที่ 6 และ 7 ยังเป็นเรื่องที่ต้องดูกันต่อไป ส่วนข้อที่ 2-5 ดูเหมือนเป็นไปตามนั้น แต่ข้อแรกซึ่งเป็นข้อที่สำคัญที่สุดดูเหมือนจะเป็นการพยายามยัดเยียดไปหน่อย ไปกรณีของอียิปต์ เนื่องจากมอร์ซีเพิ่งได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเมื่อหนึ่งปีที่ ผ่านมา และมีการแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งด้วยการที่กกต.ตัดสิทธิ์ผู้ลงสมัครที่มา จากกลุ่มภราดรภาพมุสลิมออก
แต่ในอีกแง่หนึ่งฝ่ายต่อต้านมอร์ซีก็อาจจะบอกว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิม พยายาม "ทำรัฐประหารตัวเอง" (self-coup) โดยรัฐบาลจากการเลือกตั้งพยายามบ่อนทำลายสถาบันทางการเมืองเพื่อรักษาอำนาจ ของตนเอง ซึ่งในกรณีของมอร์ซีคือการพยายามเพิ่มอำนาจบริหารของตนเองด้วยการออกประกาศ กฤษฎีกาของประธานาธิบดี
ฝ่ายกองทัพของอียิปต์อาจจะอ้างว่าพวกเขาต้องปฏิบัติการเพื่อผ้องกันไม่ ให้เกิดคนปกครองในระบอบอำนาจนิยมที่เข้มแข็งเกินไป โจชัวอ้างว่าในปัจจุบันการรัฐประหาทั่วโลกมักจะนำพาไปสู่กระบวนการที่เป็น ประชาธิปไตยได้เร็วขึ้นเมื่อเทียบกับการรัฐประหารในช่วงสงครามเย็น แต่ก็เป็นไปได้ที่อียิปต์อาจกลับไปเป็นแบบเดียวกับตุรกีที่รัฐบาลมาจากในนาม ของประชาธิปไตย แต่กองทัพมักจะเข้าแทรกแซงโดยอ้างคำว่าเพื่อเข้ามา "ช่วยแก้ไข" เป็นระยะๆ มีหลักฐานบางอย่างแสดงให้เห็นว่ากองทัพอียิปต์มีความสนใจในรูปแบบของตุรกี นับตั้งแต่มีการโค่นล้มมูบารัค
"การกระทำของกองทัพอียิปต์นับจากนี้เป็นต้นไปจนถึงอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า จะเป็นตัวชี้วัดว่าประวัติศาสตร์จะกล่าวถึงเหตุการณ์ในวันที่ 3 ก.ค. อย่างไร"
"และการยอมรับว่า 'การรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตย' มีอยู่จริง ก็เป็นเรื่องอันตรายในแง่ที่ผู้ก่อการรัฐประหารมักจะพยายามอ้างว่าพวกเขาทำ ไปเพื่อปกป้องประชาธิปไตย แม้ว่าพวกเขาจะพยายามรวบรวมอำนาจให้กับตนเองก็ตาม" โจชัวกล่าว
เรียบเรียงจาก
Can a Coup Ever Be Democratic?, Foreign Policy, 03-07-2013

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น