แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เก็บตกความ (สิ้น) หวังนักโทษการเมือง หลัง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสูญหาย-บานปลาย

ที่มา ประชาไท



ชั่วไม่กี่สัปดาห์ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่เป็นความหวังของนักโทษการเมืองในเรือนจำ 20 กว่าชีวิต-ผู้ที่ได้ประกัน รวมถึงผู้ต้องหาอีกนับร้อยชีวิตก็มีอันตกไป เกิดกระแสต่อต้านอย่างหนักหลังพบว่ามีการขยายเวลาให้ครอบคลุมเหตุการณ์และ ความหมายของผู้จะได้รับนิรโทษกรรมออกไปกว้างขวาง ไม่เพียงผู้เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมปี 2553 ที่จะหลุดรอดและเป็นที่ถกเถียงอย่างหนักในหมู่คนเสื้อแดงก่อนร่างนี้จะผ่าน วาระ 1 แต่รวมไปถึงคดีของอดีตนายกฯ  พ.ต.ท.ทักษิณด้วย เพียงเท่านั้นม็อบใหญ่ก็จุดติด การเมืองระส่ำระสายหนัก มีแรงต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและขยายไปถึงการขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เป็นอันปิดฉากการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองอย่างสมบูรณ์ และไม่มีใครนึกออกว่าวาระนี้จะกลับขึ้นมาเป็นประเด็นพิจารณาในสังคมอีกอย่าง ไร เมื่อไร  
“นักโทษการเมืองคือคนที่ออกมาเรียกร้องทางการเมือง เรียกร้องประชาธิปไตย ที่เป็นผลมาจากรัฐประหาร คณะรัฐประหารทำลายนิติรัฐยังนิรโทษกรรมตัวเองได้ พวกผมเป็นแค่ประชาชนตาดำๆ”
“ผมไม่ได้บอกว่าจะเอาสุดซอยหรือไม่สุดซอย แต่หวังว่าอันไหนก็ได้ ซักอันจะผ่าน ก่อน พ.ร.บ.จะจบแบบนี้ ผมตั้งความหวังไว้มาก ไม่คิดว่าจะจบง่ายขนาดนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีความหวังตลอดว่าสักวันหนึ่งจะมีการนิรโทษกรรม ถึงวันนี้ก็ไม่รู้จะไปยังไงต่อ”
“พวกผมมีชีวิต มีเลือดเนื้อ มันเหมือนตายทั้งเป็นในนี้ อยู่กันมากี่ปีแล้ว ครอบครัวจะเป็นยังไง ฐานะยากจนกันทั้งนั้น เงินเยียวยาจากรัฐบาลก็ไม่ได้ มีแต่เงินช่วยเหลือจากเสื้อแดงด้วยกันเอง”
ธีรวัฒน์ สัจจสุวรรณ์ หรือต้า วัย 23 ปี หนึ่งในผู้ต้องขังในเรือนจำหลักสี่ เขาถูกคุมขังมาตั้งแต่อายุ 20 ปีในข้อหาร่วมกันวางเพลิงสถานที่ราชการ (ศาลากลางอุบลฯ) โทษจำคุก 33 ปี 8 เดือน
เขาเป็นลูกคนกลาง เสียพ่อไปตั้งแต่ยังเด็ก มีเพียงแม่รับภาระดูแลครอบครัวลำพัง ปัจจุบันแม่ของเขามีอาชีพเลี้ยงจิ้งหรีดขาย ขณะถูกจับกุมเขาทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารในเมืองอุบลฯ
เขาเล่าว่าแรกเริ่มไม่ใช่คนที่สนใจการเมือง เพียงแต่ดิ้นรนหาเลี้ยงครอบครัว จนเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองมีความขัดแย้งรุนแรง เขารู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม จึงเริ่มศึกษาข้อมูล อ่านข่าวสารต่างๆ มากขึ้น เมื่อมีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ตัวจังหวัดอุบลฯ เขาก็เข้าร่วมบ้างบางครั้ง กระทั่งเกิดเหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค.53
ธีรวัฒน์ เป็นหนึ่งในสี่จำเลยที่โดนโทษสูงสุดในเรือนจำหลักสี่ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ให้ข้อมูลเหตุการณ์ในวันนั้นว่า ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 สื่อต่างๆ แพร่ภาพผู้ชุมนุมในกรุงเทพฯ ถูกยิงบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก จนกระทั่งแกนนำประกาศยุติการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เวลาประมาณ 14.00 น. ที่ศาลากลางจังหวัดอุบล กลุ่มคนเสื้อแดง ประมาณ 600 คน รวมตัวกันบริเวณประตูทางเข้าศาลากลางทั้ง 4 ประตู  ช่วงนั้นมีการนำยางรถยนต์มาจุดไฟเผาจนลุกไหม้ ที่ประตูด้านหน้ามีการ ปราศรัยของแกนนำบนหลังคารถ ประณามการกระทำอันโหดร้ายของรัฐขณะที่ด้านในรั้วศาลากลาง กำลังทหาร ตำรวจ และอป.พร.ประมาณ 200 นาย ประจำการอยู่ เหตุการณ์เริ่มรุนแรงเมื่อทหารด้านในยื่นกระบองออกมาตีคนแก่คนหนึ่ง ทำให้คนเสื้อแดงบางส่วนไม่พอใจ และเขย่ารั้วศาลากลางด้านทิศเหนือจนพัง กลุ่มผู้ชุมนุมพากันเดินเข้าไป บริเวณสนามหญ้า บางคนขว้างก้อนหินใส่ทหาร ขณะนั้นเองก็มีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด มีผู้ชุมนุมล้มลงบาดเจ็บนำส่งโรงพยาบาลรวม 6 คน
เวลาประมาณ 15.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งคาดว่าผู้ถูกยิงเสียชีวิตแล้ว ทำให้เกิดความเกิดแค้น และพยายามจะบุกเข้าไปยังศาลากลางอีกครั้ง  ขณะนั้นก็เกิดเพลิงลุกไหม้บริเวณอาคารสื่อสารด้านทิศเหนือของอาคารศาลากลาง จากนั้นมีควันไฟพวยพุ่งมาจากบริเวณชั้น 2 ของศาลากลางจังหวัด ซึ่งเป็นห้องทำงานของผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ เจ้าหน้าที่หลายคนพยายามนำถังดับเพลิงมาช่วยกันดับไฟ แต่ทหารกลับถอนกำลังออกไป และรถดับเพลิงที่จอดอยู่ 2 คัน อยู่ในสภาพที่ไม่มีน้ำ
หลังเหตุการณ์สงบลง จังหวัดอุบลฯ ประเมินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกว่า 93 ล้านบาท มีการออกหมายจับรวมทั้งสิ้น 242 ราย มีผู้ถูกจับกุม 67 คน อัยการสั่งฟ้องเป็น 16 คดี เฉพาะในคดีที่เกี่ยวข้องกับศาลากลาง มีผู้ถูกจับกุมและตกเป็นจำเลย 32 ราย แบ่งเป็นคดีบุกรุก 9 ราย คดีเผา 21 ราย และเยาวชนถูกฟ้องในคดีเผาเช่นเดียวกันอีก 2 ราย
นอกจากนี้ ศปช.ยังอ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของนายธีรวัฒน์ถึงกระบวนการในชั้นสอบสวนด้วย ว่า เขาถูกจับกุมในเวลาประมาณ 06.00 น. ขณะนอนหลับอยู่ที่บ้าน ตอนแรกตำรวจแจ้งว่าต้องการให้เขามาเป็นพยานในคดีเสื้อแดง แต่เมื่อไปถึงสถานีตำรวจ เขาก็ถูกนำตัวไปกักขัง จากนั้น ตำรวจก็ข่มขู่ ตลอดจนใช้แฟ้มตีศีรษะ เพื่อให้เขารับสารภาพ และเซ็นรับว่าชายชุดดำปิดหน้าในภาพถ่ายเป็นตัวเขา แต่เขาไม่ยอม เพราะไม่ใช่เขา เขายอมรับว่าเขาไปที่ศาลากลาง แต่ไม่ได้แต่งตัวแบบนั้น และได้แต่ยืนดูเหตุการณ์อยู่รอบๆ  ในที่สุด ตำรวจเกลี้ยกล่อมว่าจะกันตัวไว้เป็นพยานแล้วจะปล่อยกลับบ้าน เขาจึงยอมเซ็น แต่แล้วก็โดนตั้งข้อหาร้ายแรง
ตามรายงานของ ศปช. การดำเนินการลักษณะนี้เกิดขึ้นไม่น้อยในช่วงที่เหตุการณ์ยังชุลมุน หลายคนต่างรู้สึกว่าคดีของตนไม่เป็นธรรม การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมนั้นมีอุปสรรคเพราะถูกควบคุมตัวตลอดภายหลัง การจับกุม อีกทั้งยังมีฐานะยากจนไม่สามารถหาทนายที่มีความรู้ความสามารถได้ เว้นแต่จะมีใครหรือฝ่ายใดยื่นมือมาช่วย ซึ่งหลายคดีลูกความกับทนายแทบจะไม่ได้พูดคุยกันก่อนพิจารณาคดี หลังพิจารณาคดีก็ไม่รู้ว่าดำเนินการอะไร ถึงไหน
จากการสอบถามผู้ต้องขังหลายคนต่างมีอารมณ์ร่วมของความผิดหวัง บางคนเผื่อใจไว้บ้าง บางคนไม่ได้เผื่อ
ปีที่แล้ว ธีรวัฒน์เขียนจดหมายออกมานอกเรือนจำ หาอาจารย์ที่เขาเคารพรักคนหนึ่ง
“ใจกะคิดฮอดบ้านหลายๆ  อยากไปเห็นบ้านเฮาแฮว! 
ป่านนี้ข้าวคือสิไกล้ได้เกี่ยวแล้ว อยากเมื่อบ้านไปเกี่ยวสอยแม่เด้  
ลมหนาวมากะสีข้าวม่วนหลาย!  
คั่นลมหนาวมาผมละใจสิขาด  คิดฮอดบ้านหลายๆ  ยามได๋สิได้ออก -_-! 
กะว่าละน้อล่ะอาจารย์การต่อสู้มันก็ต้องมีผู้เสียสละ 
ผมบ่เสียใจดอกอาจารย์ เพราะผมสู้เพื่อพี่น้องเฮาเพื่อความยุติธรรม  
หาเอาความยุติธรรมมาให้พี่น้องคนไทย บ่ให้เขามาเหยียบหัวคนจนคนไทย 
เพื่อให้มีประชาธิปไตยให้ได้ ติดคุกก็ติดได้แต่โต
แต่ใจโบยบินไปได้เรื่อยๆละครับอาจารย์   หาแนวสิเฮ็ดยามออกไป 
แต่ก็บ่ฮู้ครับอาจารย์ว่ามื้อได๋เขาสิปล่อย  -_-!   
จั๋งไดก็สู้อยู่แล้วอาจารย์ ได้ยินขาวว่าอาจารย์ญี่ปุ่นเพิ่งสิย้าย  เพิ่งย้ายไปไสก็ขอให้โชคดี รักษาสุขภาพ
ดูแลตัวเองดีๆ เด้อครับ  ผมกะคิดฮออดอยู่เด้อครับ   :)  !”

ถึงวันนี้ เขาได้แต่บอกว่าอยากให้คนข้างนอกช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ต่อ
“แต่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะไปทางไหนได้อีก”
อาจไม่ใช่แค่เขาที่คิดเช่นนั้น
===========

ปัจจุบัน มีผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำหลักสี่จำนวน 25 คน เป็นชาย 21 คน หญิง 4 คน ก่อนหน้านี้มีผู้ต้องขังทั่วประเทศที่ได้รับการประกันตัวไปเป็นจำนวนมาก

ลำดับ
ชื่อ-นามสกุล
ข้อหา
สถานะทางคดี
อัตราโทษ
1
นายเพชร แสงมณีหรือเฮ่น มณีเพชร
มั่วสุมตั้งแต่10 คนขึ้นไป,วางเพลิงเผาทรัพย์(ธ.กรุงเทพฯสาขาพระโขนง),พรบ.คนเข้าเมือง, พรก.
คดีเด็ดขาด
จำเลยไม่ฏีกา
6 ปี 6 เดือน
2
นายคำหล้า ชมชื่น
ร่วมกันปล้นทรัพย์ของกรมทหารราบที่ 1 รอ.
ศาลอุทธรณ์
10 ปี
3
นายประสงค์ มณีอินทร์
พรบ.อาวุธปืนฯ, พรบ.วิทยุคมนาคม, พรก., ลักทรัพย์, พาอาวุธไปในเมือง
ศาลอุทธรณ์
(ระหว่างฏีกา)
11 ปี 8 เดือน
4
นายโกวิทย์ แย้มประเสริฐ
ศาลอุทธรณ์
(ระหว่างฎีกา)
11 ปี 8 เดือน
5
สต.บัณฑิต สิทธิทุม
ก่อการร้าย,มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน,พาอาวุธไปในเมือง
ศาลอุทธรณ์
(อัยการฏีกา)
38 ปี
6
จ.ส.ต.ปริญญา มณีโคตม์
พรบ.อาวุธปืน,เครื่องกระสุนปืนฯ
ศาลชั้นต้น
10 ปี
7
นางสาวปัทมา มูลมิล
พรก.,ก่อความวุ่นวาย,ร่วมกันบุกรุก,วางเพลิงเผาศาลากลาง,ทำให้เสียทรัพย์
ศาลอุทธรณ์
(ระหว่างฎีกา)
33 ปี 12 เดือน
8
นายธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ
พรก.,ก่อความวุ่นวาย,ร่วมกันบุกรุก,วางเพลิงเผาศาลากลาง,ทำให้เสียทรัพย์
ศาลอุทธรณ์
(ระหว่างฎีกา)
33 ปี 12 เดือน
9
นายสนอง เกตุสุวรรณ์
พรก.,ก่อความวุ่นวาย,ร่วมกันบุกรุก,วางเพลิงเผาศาลากลาง,ทำให้เสียทรัพย์
ศาลอุทธรณ์
(ระหว่างฏีกา)
33 ปี 12 เดือน
10
นายสมศักดิ์ ประสานทรัพย์
พรก.,ก่อความวุ่นวาย,ร่วมกันบุกรุก,วางเพลิงเผาศาลากลาง,ทำให้เสียทรัพย์
ศาลอุทธรณ์
(ระหว่างฎีกา)
33 ปี 12 เดือน
11
นายพรชัย (ไม่ระบุนามสกุล)
จ้างวานปาระเบิดเพลิงธนาคารกรุงเทพ
ศาลอุทธรณ์
(ระหว่างฏีกา)
4 ปี 1 เดือน 15 วัน
12
สุริยา (ไม่ระบุนามสกุล)
 จ้างวานปาระเบิดเพลิงธนาคารกรุงเทพ
(ระหว่างฎีกา)
4 ปี 1 เดือน 15 วัน
13
สกันต์ (ไม่ระบุนามสกุล)
 จ้างวานปาระเบิดเพลิงธนาคารกรุงเทพ
(ระหว่างฏีกา)
4 ปี 1 เดือน 15 วัน
14
นางวรนุช ศรีกันทา
ก่อความวุ่นวาย ขัดขวางเจ้าหน้าที่
ศาลฎีกา
1 ปี
15
นายเอกชัย มูลเกษ
พรบ.อาวุธปืนฯ
ศาลอุทธรณ์
(จำเลยไม่ฏีกา)
 5 ปี 4 เดือน
16
นายเอนก สิงขุนทด
พรบ.อาวุธปืน, พาอาวุธไปในเมือง
ศาลอุทธรณ์
(อัยการฏีกา)
 5 ปี
17
นายชาตรี ศรีจินดา
ชิงทรัพย์
ศาลอุทธรณ์
(ระหว่างฏีกา)
 15 ปี
18
นายจีระวัฒน์ จันทร์เพ็ง
คดีวางระเบิด
ศาลชั้นต้น
ระหว่างอุทธรณ์
 9 ปี
19
ณัทกร ชัยธรดำรงสุข
มีระเบิดขวด ประทัดยักษ์
คดีเด็ดขาด
จำเลยไม่ฎีกา
 6 เดือน
20
อุไร  (ไม่ระบุนามสกุล)
พ.ร.บ.อาวุธปืน
คดีเด็ดขาด
จำเลยไม่ฎีกา
1 ปี 4  เดือน
21
เดชพล พุทธจง
จ้างวานวางระเบิดหน้าพรรคภูมิใจไทย
ศาลชั้นต้น
(ระหว่างอุทธรณ์)
6 ปี 8 เดือน
22
กำพล คำคง
 จ้างวานวางระเบิดหน้าพรรคภูมิใจไทย
ศาลชั้นต้น
(ระหว่างอุทธรณ์)
6 ปี 8 เดือน
23
กอบชัย บุญปลอด
จ้างวานวางระเบิดหน้าพรรคภูมิใจไทย
ศาลชั้นต้น
(ระหว่างอุทธรณ์)
6 ปี 8 เดือน
24
เรณู (ไม่ระบุนามสกุล)
ละเมิดอำนาจศาล (วันพิพากษาวาสนา เพิ่มลาภ)
ศาลฏีกา
1 เดือน
25
ฐิติรัตน์ (ไม่ระบุนามสกุล)
ละเมิดอำนาจศาล (วันพิพากษา วาสนา เพิ่มลาภ)
ศาลฎีกา
1 เดือน

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล และศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.)
หมายเหตุ ประชาไทแก้ไขข้อมูลในตาราง 21.40 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น