เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สื่อต่างประเทศยังคงติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในเมืองไทยอย่างใกล้ชิด สำนักข่าวเอพีและเอเอฟพี รายงานสถานการณ์ต่อเนื่องเป็นระยะๆ โดยทางเอเอฟพีรายงานว่า ทางผู้จัดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลประเมินว่า จำนวนผู้ที่เดินทางมาชุมนุมมีไม่น้อยกว่า 1 แสนคน ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า ผู้ชุมนุมที่ราชดำเนินมีอย่างน้อยที่สุด 30,000 คน และคาดว่าจะมีการเคลื่อนขบวนไปปิดล้อมทำเนียบและรัฐสภาในวันที่ 25 พฤศจิกายน ในเวลาเดียวกันก็มีกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลอีกนับหมื่นคนปักหลักชุมนุมอยู่ที่สนามฟุตบอลชานเมืองด้วยเช่นเดียวกัน
เอเอฟพีระบุว่าการชุมถือเป็นการชุมนุมประท้วงที่มีนัยทางการเมืองสำคัญที่สุดนับตั้งแต่การประท้วงนองเลือดเมื่อปี2553ที่ผ่านมา และการที่ม็อบทั้งสองส่วนยืนยันจะปักหลักชุมนุมยืดเยื้อส่งผลให้เกิดความตึงเครียดทวีขึ้นตามลำดับ
หนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์นำเสนอรายงานพิเศษจากกรุงเทพฯ โดย โธมัส มาเรสก้า ในวันเดียวกันนี้ ระบุว่า จากการชุมนุมประท้วงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ยืดเยื้อนานหลายสัปดาห์กลายเป็นการชุมนุมเพื่อพยายามโค่นล้มรัฐบาลไปในที่สุด คาดหวังว่า จะมีผู้เข้าร่วมในการชุมนุมมากพอที่จะทำให้ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เข้าร่วมอยู่ในขบวนการต่อต้านรัฐบาลตามไปด้วย
มาเรสก้า รายงานไว้ด้วยว่า การชุมนุมทางการเมืองระลอกหลังสุด เริ่มส่งผลกระทบในทางเศรษฐกิจแล้ว โดยสภาหอการค้าไทยแสดงความวิตกออกมาอย่างเปิดเผยว่า การชุมนุมยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือจากนั้นยังมีหลายประเทศออกประกาศเตือนนักท่องเที่ยวสัญชาติตนให้ระมัดระวัง หรือเลี่ยงการเดินทางเข้ามายังประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ทั้งสหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, เยอรมนี,ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น
ในตอนท้ายของรายงาน มาเรสก้า ระบุว่า แม้การชุมนุมประท้วงทางการเมืองในครั้งนี้อาจลงเอยด้วยการที่สามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้สำเร็จ แต่ก็ยังมีคำถามอยู่อย่างต่อเนื่องต่อไปว่าประเทศไทยจะสามารถหลีกเลี่ยงวัฏจักรของการเมืองด้วยการประท้วงบนท้องถนนได้อย่างไร
ที่มา นสพ.มติชน
updated: 25 พ.ย. 2556 เวลา 12:00:39 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น