ที่มา มติชน
เหมือนกับความขัดแย้งระหว่างสมาชิกรัฐสภา
312 คน
กับศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นเรื่องอันดำเนินไปตามวิถีแห่งความเป็นประชาธิปไตย
แต่ที่ไม่ควรมองข้าม
คือ กรอบแห่งความขัดแย้ง
หากดำรงอยู่เพียงในทาง "ความคิด"
เป็นเพียงวิวาทะอันบ่งชี้ถึงความแตกต่าง
ก็อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา
ธรรมดาอย่างปกติอันดำรงอยู่ในระบอบประชาธิปไตย
กระนั้นความขัดแย้งอันสำแดงออกมาในห้วง
1-2 เดือนที่ผ่านมา มิได้จำกัดเพียงในกรอบทางความคิด หากแต่ได้ล่วงเข้าไปในกรอบแห่ง
"การเมือง"
เป็นการเมืองของการไม่ยอมรับ
ปริมณฑลทาง "การเมือง"
มีจุดต่างอย่างมีนัยสำคัญกับปริมณฑลทาง "ความคิด"
ตรงที่เมื่อเข้าสู่กรอบทางการเมืองหมายถึง "ปฏิบัติการ"
ปฏิบัติการผ่าน
"แถลงการณ์" ปฏิบัติการผ่าน
"อารยะขัดขืน"
ท่าทีของประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะประธานรัฐสภา
ท่าทีของประธานวุฒิสภาในฐานะรองประธานรัฐสภานับว่าแจ่มชัด
โดยการไม่ส่งคำชี้แจงไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
นี่มิใช่ "เรื่องเล็ก" หากเป็น
"เรื่องใหญ่"
พลันที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาเมื่อวันที่ 20
พฤศจิกายน สั่งการให้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ
ส.ว.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
นั่นเท่ากับทำให้ร่างแก้ไขกลายเป็น
"โมฆะ"
แม้จะเป็นการเสนอผ่านกระบวนการอันมาตรา 291
ของรัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้ แม้จะเป็นการดำเนินการตามระเบียบทั้ง 3
วาระ
นี่เท่ากับเป็นการสไตรก์แบ๊กโดย
"ศาลรัฐธรรมนูญ"
ความขัดแย้งนี้มิได้เป็นเรื่องระหว่างสมาชิกรัฐสภาในเชิงปัจเจกภาพกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในเชิงปัจเจกภาพ
ตรงกันข้าม
ดำเนินไปในลักษณะ "สถาบัน"
นั่นก็คือ
สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างสถาบันนิติบัญญัติกับสถาบันศาลรัฐธรรมนูญ
ท่าทีของพรรคเพื่อไทยเด่นชัดอย่างยิ่งแล้วว่ายืนอยู่ฝ่ายใด
อาจเป็นเพราะภายในจำนวน
312 สมาชิกรัฐสภา มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยจำนวนมากที่สุด
อาจเป็นเพราะการดำรงอยู่ของประธานรัฐสภาเป็นการดำรงอยู่บนพื้นฐานการสนับสนุนของพรรคเพื่อไทยจึงจำเป็นต้องแสดงจุดยืน
เป็น
"ความพร้อม" ในการ "ปะทะ"
และขัดแย้ง
การเคลื่อนไหวภายหลังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่
20 สิงหาคม
จึงเป็นการเคลื่อนไหวอันสะท้อนความขัดแย้งใหญ่ที่ดำรงอยู่ภายในสังคมไทย
1
มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย
1
มีทั้งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย
ฝ่ายที่เห็นด้วยก็สดุดีความล้ำเลิศของคำวินิจฉัยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
"เสียงข้างมาก" อันมีต่อ "เสียงข้างมาก"
อันดำรงอยู่ในรัฐสภา
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็หงุดหงิด
ไม่พอใจ
ฝ่ายที่เห็นด้วยก็แสดงความพร้อมอย่างเต็มเปี่ยมในการขยายผลของคำวินิจฉัยด้วยการนำเรื่องไปยื่นต่อคณะกรรมการ
ป.ป.ช.
ถอดถอนประธานรัฐสภา
ถอดถอนรองประธานรัฐสภา
บทบาทขององค์กรอิสระอย่าง "ศาลรัฐธรรมนูญ"
ได้แสดงออกมาแล้ว จากนี้เป็นบทบาทขององค์กรอิสระอย่าง "ป.ป.ช."
ว่าจะดำเนินไปอย่างไร
เป็นเรื่องที่ "สังคม"
จับตาติดตามอย่างใกล้ชิด
ไม่มีการถามว่าจะใช้หลักกฎหมายใดในการพิจารณาอีกแล้ว
หากแต่มีการถามว่ารากที่มาขององค์กรอิสระเป็นอย่างไร
โอนเอียงไปในกลุ่มทางการเมืองใด
"ธง" ของ "คำวินิจฉัย" รู้ๆ
กันอยู่
จากนี้จึงเห็นได้ถึงสภาวะแห่งความคลางแคลงใจอันดำรงอยู่ภายในความคิด
ภายในการเมือง
เป็นการดำรงอยู่ของความขัดแย้งระหว่าง "เครือข่ายรัฐประหาร"
กับ "เครือข่าย" อันเป็นเหยื่อของรัฐประหารนับแต่เดือนกันยายน 2549
เป็นต้นมา
ทั้งหมดนี้คือ "สงคราม" ระหว่าง 2 "เครือข่าย"
ทางการเมือง
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน หน้า 3 ประจำวันที่ 23 พฤศจิกายน 2556
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น