แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ชวนกลับไปดูหนังเรื่อง The Mist แล้วย้อนกลับมาดูม็อบสุเทพกับปรากฏการณ์การหายไปของเหตุผล

ที่มา ประชาไท



ในปี 2007 ภาพยนตร์เรื่อง The Mist (กำกับโดย Frank Darabont) ได้ออกฉายในโรงภาพยนตร์ต่างๆ ทั่วโลก โดยตาม "ภาพ" หรือหน้าหนังแล้ว มันเป็นภาพยนตร์สัตว์ประหลาดต่างมิติที่มารุกรานโลก แต่เอาเข้าจริงๆ มีฉากสัตว์ประหลาดไม่ถึงครึ่งเรื่องหรอก ในหนังเกือบสองชั่วโมงมีฉากสัตว์ประหลาดออกมาคงสัก 30 นาทีได้ (อย่างมาก 40 นาที) และผมเองคิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มี "ประเด็น" (message) หลักที่คนละเรื่องกับสัตว์ประหลาดเลย เพียงแค่เล่าประเด็นนั้นผ่านการอุบัติขึ้นของสัตว์ประหลาดก็เท่านั้น และตัวประเด็นหลักที่ว่านี้เองที่ผมคิดว่ามันตรงกับสถานการณ์การเมืองไทยใน ปัจจุบันเป็นอย่างมาก

ทีนี้เราวกกลับมาถึงอีกเรื่องหนึ่งที่เราจะพูด ถึงกันแบบย่อๆ เล็กน้อย นั่นก็คือม็อบที่ราชดำเนินซึ่งนำโดยคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับทางพรรคเพื่อไทย และรัฐบาล โดยได้เริ่มออกมานำการเมืองตามท้องถนนจากการประท้วงเพื่อต้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย จากนั้นเมื่อรัฐบาลถอยกรูดอย่างสุดซอยแล้วก็เปลี่ยนเป้าหมายกระทันหันมาเป็น คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นเรื่องที่มาของ สว. และก็ยกระดับไปเรื่อย จนสุดท้ายได้ยกระดับอย่างสุดซอยมาที่การล้มระบอบทักษิณ โดยประกาศก้องว่ารัฐบาลล่าออก หรือยุบสภาก็จะไม่เลิก แล้วก็เที่ยวเข้ายึดสถานที่ราชการ และกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ กันอย่างครึ้กครื้นไปทั่ว

เมื่อพูดภาพคร่าวๆ กันแล้วก็มาเข้าเรื่องกัน ผมเชื่อว่าหลายท่านคงเคยชมภาพยนตร์เรื่อง V for Vendetta ที่ถูกนำมาตีความแบบแปลกๆ จนกลายเป็นหน้ากากขาวในไทยไปเสียแล้ว (แต่จะตีความอย่างไรก็เป็นสิทธิของท่าน) ทีนี้หากเราดูเรื่อง V for Vendetta เราจะพบว่ามันเป็นภาพยนตร์ที่ในทางหนึ่งพูดถึงเรื่องการรวมมวลชนบนฐานของการ ปลุกให้ตื่นจากภาวะที่ถูกทำให้คุ้นชินกับการ "หยุดคิด หยุดมีเหตุผล หยุดวิพากษ์วิจารณ์" มาให้กล้าคิด และคิดเป็น แล้วก็รวมมวลชนขึ้นมาจากจุดนั้น แต่ตรงกันข้ามกัน ในภาพยนตร์เรื่อง The Mist มันเป็นการพูดถึงการรวบรวมมวลชนจากภาวะอันจำเพาะประการหนึ่ง นั่นก็คือ "ภาวะความกลัว/หลอนอันไม่อาจก้าวข้ามได้" ในภาพยนตร์จะแสดงภาพให้เราเห็นอย่างชัดเจนของการสลัดทิ้งการใช้วิธีการคิดบน ฐานของเหตุและผล แล้วก่อสร้างฝูงชนขึ้นมาจากฐานของความไร้เหตุผล

ใน เรื่อง The Mist เราจะพบตัวละครอย่างคุณนายคาร์โมดี้ (รับบทโดย Marcia Gay Harden) ที่เป็นตัวแทนของความคลุ้มคลั่ง บ้าศาสนา และในตอนต้นเรื่องเป็นที่ "น่าเย้ยหยัน" จากทุกคน และฝ่ายพระเอกที่ชื่อเดวิด เดย์ตั้น (รับบทโดย Thomas Jane) ที่เป็นตัวแทนของการใช้เหตุผลเข้าแก้สถานการณ์ ยอมรับความจริง และหาทางรับมืออย่างเป็นระบบ และจริงๆ แล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีการจิกกัดกลุ่มชนชั้นการศึกษาสูงที่มองข้ามปัญหา ตรงหน้า แล้วไปอุปโลกสร้างปัญหาขึ้นในหัวตัวเอง ซึ่งสุดท้ายก็ไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาอะไรในโลกจริงได้ ด้วยตัวละครอย่างเบร้นท์ นอร์ตั้น (รับบทโดย Andre Braugher) แต่นั่นไม่ใช่สาระหลักที่เราจะพูดถึงในครั้งนี้ ก็ขอละไว้ก่อน กลับเข้ามาสู่การเผชิญหน้ากันของคุณนายคาร์โมดี้ และคุณเดวิด พระเอกของเรื่องดีกว่า

ในตอนแรกของภาวะ "วิกฤต" อันมาจากหมอกหนาทึบ ที่ซุกซ่อนสัตว์ประหลาดจากต่างมิติเอาไว้นั้น ได้สร้างความกลัวและหลอนประสาทฝูงชนซึ่งหลบภัยในซุปเปอร์มาร์เก็ตขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆ และด้วยความที่มันเป็นหมอกนี้เอง ทำให้มันมีลักษณะความน่ากลัวที่พิเศษยิ่งขึ้นไปอีก (อาจจะน่ากลัวกว่าตัวสัตว์ประหลาดเองเสียอีก) นั่นคือ มันมีความสามารถในการ "บดบัง หรือถอดถอนความสามารถในการมองเห็น" ออกไป นั่นหมายความว่า ต่อสายตาของฝูงชนผู้สังเกตการณ์แล้ว ภัยคุกคามที่กำลังก่อตัวขึ้นนั้น ได้กลายเป็นภัยที่ "ไม่มีจุดสิ้นสุด" เพราะไม่รู้ว่ามันจะมาเมื่อไหร่ มีลักษณะอย่างไร มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน หรือแม้แต่ว่ามันอยู่ตรงไหนกันแน่ ภาวะของการเป็นหมอก (Mist) ที่บดบังการรับรู้นี่เองที่เปิดโอกาสให้ "การบอกเล่า ตีความ" สถานการณ์แบบใดๆ ก็ตามที่ "ตอบภาพสถานการณ์เฉพาะหน้าในสายตาผู้สังเกตการณ์" ได้ก่อน ได้เร็วกว่าคำอธิบายอื่นๆ ก็จะได้รับ "สิทธิเหนือการตีความ/ให้คุณค่า/สร้างความหมาย" ต่อภัยที่อยู่ตรงหน้าต่อไปในทันที

นั่นหมายความว่า ในสภาวะที่เต็มไปด้วยภัยคุกคามในสายตาของผู้สังเกตการณ์ (ฝูงชนในร้านซูเปอร์มาร์เก็ต) ภัยหลอกหลอนอันมิอาจก้าวข้ามนี้ ได้กลายมาเป็นพลังอันสำคัญในการทำลายความคิดที่จะคิด และการใช้เหตุผลลง ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อฝ่ายคุณนายคาร์โมดี้พูดเพ้อตามตำราศาสนาโลกเก่าของเธอออกมาแล้วดัน มาสอดรับกับสถานการณ์เข้า เธอจึงได้กลายเป็นผู้ได้รับสมบูรณาญาสิทธิ์ในการตีความและให้ความหมายต่อ "ภัย" ที่อยู่ตรงหน้าไปโดยปริยาย เธอเปลี่ยนสถานะจากผู้ซึ่งทุกคนต่างเย้ยหยัน มาเป็นที่นับถือ ความบ้าดั้งเดิมของเธอที่ก็ยังคงรูปเดิมอยู่ และค่อยๆ ทวีขึ้นเรื่อยๆ นั้น ก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ การเปลี่ยนจากการรังเกียจความบ้า มาเป็นน้อมรับและบูชามันนี้เอง ทำให้กลุ่มของเดวิดถูกดึงคนไปเรื่อยๆ จากที่เดิมคุณนายคาร์โมดี้เป็นชายขอบก็ถูกทำให้กลายเป็นอำนาจนำไปเสีย และผู้ซึ่งเคยเป็นผู้นำเดิมก็ตกมาอยู่ในสถานะของการเป็นชายขอบไป ความบ้าของคุณนายคาร์โมดี้จะได้ถูกวางอยู่ในฐานะอันศักด์สิทธิ์ และตัวคุณนายเองก็ตอบสนองต่อสถานะนั้นด้วยการสวมบทบาท "ผู้บำเพ็ญตนเพื่อโลกและผู้ชนของตน" (Martyrdom)

"การโดน หลอกหลอนที่ไม่อาจจะก้าวข้ามได้ ได้ทำให้คนบ้ากลายเป็นคนไม่บ้า และทำให้คนไม่บ้าในหมู่คนบ้าดำรงสถานะในการเป็นคนบ้าไปแทน ความบ้าและไม่บ้าจึงกลับตาลปัตรกันในทางสถานะ แม้ในความเป็นจริงความบ้ากับความไม่บ้านั้นจะไม่ได้สลับที่ด้วยก็ตาม"


*คุณนายคาร์โมดี้ ในภาพยนตร์ The Mist (2007)
อย่างไรก็ดีสภาพของ "สังคมคนบ้า ที่คนไม่บ้าต้องกลายเป็นคนบ้า" นี้ มีแนวโน้มที่จะรุกราน และผลิตเพิ่มความบ้าของตนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามมา เพราะผู้นำของกลุ่มจำเป็นจะต้องตอบสนองต่อความกลัวของฝูงชนในอาณัติของตน ตลอดเวลา เพื่อรักษา "สถานภาพเหนือสมบูรณาญาสิทธิ์" ในการตีความและให้ความหมายต่อภัยได้ เพราะฉะนั้นการ "ยกระดับ" จึงต้องเกิดขึ้นตลอดเวลา และนั่นหมายความถึงระดับความบ้าที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ จนในเรื่อง The Mist นี้เราจะพบจุดแตกหักที่ฝ่าย "คนบ้าที่กลายเป็นไม่บ้า" ซึ่งนำโดยคุณนายคาร์โมดี้นั้น ได้เข้าพยายามจะนำตัวลูกชายของเดวิดไป บวงสรวง เป็นของเซ่นต่อ "มัจจุราช" (Death) ที่อยู่เบื้องหน้า และฝูงชนในอาณัติของเธอก็ขยับตามคำสั่งนี้ โดยไม่สนใจในเหตุผลอะไรทั้งสิ้นอีกต่อไป เป็นภาพของการปฏิเสธการใช้เหตุผลอย่างสมบูรณ์ (Total rejection on rationality) ที่แสดงออกมาในภาพยนตร์เรื่องนี้

อย่างไรก็ดี มีสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าเราควรจะขบคิดและเข้าใจด้วยนั่นคือ การมองเห็นภาพแบบที่ผมกล่าวถึงไปนั้น เป็นภาพที่ได้จากเราในฐานะผู้สังเกตการณ์ "ภายนอก" หรือในฐานะบุคคลที่สาม มองกลับเข้าไปอีกทีหนึ่ง นั่นหมายความว่าหากถามคุณนายคาร์โมดี้และตัวฝูงชนเองว่า ณ จุดๆ นั้นคิดว่าตัวเองบ้าหรือไม่ พวกเขาก็จะมองไม่เห็นความบ้าของตน นั่นเพราะตัวเราไม่ได้ไปอยู่ต่อหน้า หรือรับรู้ว่าหมอกนั้นมันคือ "ภัย" จริงๆ อย่างตัวละครในภาพยนตร์ นั่นหมายความว่าการจะเห็นได้ว่า "ความบ้ามันคือความบ้า" (ไม่ใช่ "ความบ้าคือความไม่บ้า") นั้นจะต้องเป็นการเห็นที่เกิดจากการดึงตัวเองออกมา หรือก้าวข้ามสิ่งที่เรียกว่าเป็นภัยนั้นให้ได้เสียก่อนนั่นเอง จากนั้นเรื่องก็ดำเนินไปจนจบ ด้วยฉากจบที่สุดแสนจะทรงพลัง (ทรงพลังที่สุดเรื่องหนึ่งในบรรดาภาพยนตร์ที่ผมเคยชมมา)

ทีนี้ลองนำ ประเด็นหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้มาเป็นเลนส์เพื่อใช้มองกรณีคุณสุเทพ และม็อบที่ราชดำเนินกันดู อย่างที่เราทราบกันดีว่าม็อบนี้เริ่มต้นจากการต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย ที่พวกเขาอ้างว่าจะช่วยนำตัวคุณทักษิณกลับเข้ามาประเทศไทย อย่างไร้มลทินใดๆ แน่นอนว่าตัว พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวมันมีปัญหาในตัวมันเองสูง ซึ่งมีจุดที่จะถกเถียงกันได้อีกมาก ซึ่งคงต้องพักไว้ในโอกาสต่อไป แต่การเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้เอง ที่ไปจุดติดภาพของสิ่งที่เรียกว่าเป็น "ภัย" ขึ้นมา และคุณสุเทพ และพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะที่ก่นด่าคุณทักษิณมาตลอดอย่างไม่เคยเหนื่อยหน่าย จึงได้ผงาดขึ้นมาในฐานะผู้ซึ่งอธิบาย "ภัย" ที่เรียกว่าทักษิณนี้ก่อนใครเพื่อน และดำรงบทบาทเช่นเดียวกับคุณนายคาร์โมดี้ในเรื่อง The Mist ไป และแน่ นอนสิ่งที่สวมบทบาทของ "ภัยในม่านหมอก" นั้นก็คือ "ระบอบทักษิณ" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยลักษณะเฉพาะที่คล้ายคลึงกันที่ว่า ไม่รู้ว่ามันคืออะไร อยู่ที่ไหน ขอบเขตมากน้อยเพียงไร และจะทำร้ายเราเมื่อไหร่ ฉะนั้นตัวคำว่า "ระบอบ" ในที่นี้จึงทำหน้าที่แทนหมอกหนา ที่ปิดบังสิ่งที่ผู้ชุมนุมมองว่าเป็นภัยตรงหน้า นั่นก็คือ "ทักษิณ" อย่างหมดจด เมื่อตัวภัยเองโดนบดบังไว้ เหมือนตัวของสัตว์ประหลาดในม่านหมอกทึบ คุณสุเทพซึ่งถือครองสมบูรณาญาสิทธิ์ในการให้ความหมายต่อภัยอันไม่อาจก้าว ข้ามดังกล่าวนี้จึงสามารถสร้างเรื่องราวขึ้นมาตอบสนองความกลัวของฝูงชน โดยไม่ต้องอาศัยเหตุผลอีกต่อไป เพราะสิ่งที่เรียกว่าเหตุผล มันสูญสลายไปพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของม่านหมอกที่บดบังตัวปัญหาที่แท้จริงไปแล้ว

และก็ ดังเช่นคุณนายคาร์โมดิก คุณสุเทพเองก็เริ่มนำตัวเองเข้าสู่บทบาทของการเป็นผู้แสวงบุญ (Martyr) ที่พร้อมจะสละตนเพื่อโลกและผู้ร่วมชุมนุม โดยประกาศที่จะผูกคอตายหากภารกิจโค่นล้มภัยอันยิ่งใหญ่นี้ไม่ลุล่วงถึงเป้า หมาย และเร็วๆ นี้เองก็ได้ประกาศอีกว่าหากมีใครมาฆ่าตนก็ให้ฝังอยู่ ณ จุดนั้น แล้วให้ดำเนินการชุมนุมต่อต้านต่อไป ช่างเป็นการเสียสละอย่างยิ่งใหญ่เสียจริง (หากไม่นับว่าการยกระดับนี่ เสมือนหนึ่งเป็นการยกขื่อติดบ่วงให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ให้พ้นจากคอตัวเองนั่นเอง) แน่นอนการยกระดับขึ้นเรื่อยๆ นั้นก็ไม่ได้แตกต่างอะไรจากภาพที่เกิดกับกลุ่มคุณนายคาร์โมดี้เลยแม้แต่น้อย ตอนนี้การบุกเข้ายึดกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ รวมถึงทางด่วนหลายสายก็ไม่ได้ต่างจากการที่คุณนายคาร์โมดี้พยายามจะชิงตัว ลูกชายของเดวิดมาสังเวยนั่นเอง

แน่นอนครับว่าสิ่งเหล่านี้ตัวผู้ ชุมนุมเองไม่ได้เห็น ไม่ได้คิดแบบนี้ เพราะพวกเขารู้สึกว่า ณ ขณะนี้กำลังเผชิญกับภัยใหญ่มหึมาตรงหน้าจริงๆ ซึ่งมันใหญ่มากพอที่เค้าจะยอมแลกความสามารถในการใช้เหตุผลออกไปเพื่อกำจัด มัน แต่เชื่อเถอะครับว่านั่นคือความบ้า และความหลงผิด ลองคิดกันเอาง่ายๆ เถิดว่า หากเอาพฤติกรรมที่คุณสุเทพกำลังทำอยู่นี่ (ยกระดับแล้ว ยกระดับอีก โดยหาเหตุผลในการยกระดับไม่เจอแล้ว) ไปวางไว้บนช่วงเวลาอื่น โดยเป็นช่วงที่ยังไม่เกิด "ผีทักษิณ" ขึ้นมา เช่น หากท่านนำ เหตุการณ์เดียวกันนี้ไปไว้ในสักปี 2543 ท่านที่ไปชุมนุมจะไม่สามารถมองตัวคุณสุเทพเป็นฮีโร่ได้อย่างในขณะนี้เลย แต่จะบอกได้เพียงภาพเดียวว่าคุณสุเทพกำลังบ้า แต่ในขณะนี้คุณกำลังทำพฤติกรรมที่โดยปกติคุณเองก็ว่ามันบ้า โดยหลงคิดว่ามันไม่บ้า แล้วผลักใสให้คนอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำบ้าๆ ตามพวกคุณนั้น ตกอยู่ในสถานะของคนบ้าแทนไปเสีย

หากผ่านไปอีกสักสิบหรือ ยี่สิบปี แล้วคุณสามารถมองก้าวข้ามภัยที่เรียกว่าทักษิณได้แล้ว หรือ "ม่านหมอก" ได้หายไปแล้ว เห็นตัวตนของ "ภัยแจ่มชัดเต็มสองตา" แล้ว คุณจะหวนกลับมาละอายต่อสิ่งที่กำลังทำอยู่ ณ ตอนนี้มากๆ ครับ

... ขอให้ลองคิดให้ดีนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น