แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

2475 กับสถาบันกษัตริย์

ที่มา ประชาไท


การปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475 คือความพยายามในการดึงอำนาจการปกครองประเทศจากกษัตริย์มาเป็นของราษฎร เอกสารร่วมสมัยที่ผู้อ่านจะได้พบด้านล่างนี้ คือตัวอย่างรูปธรรมของความพยายามดังกล่าวใน 3 ปริมณฑล ได้แก่ (1) การบริหารจัดการราชสำนัก (2) การเมืองเรื่องวัฒนธรรม และ (3) การจัดการทรัพย์สินกษัตริย์ รายละเอียดและการคลี่คลายของแต่ละประเด็น เป็นเรื่องที่ยังรอการวิเคราะห์อภิปรายต่อไป
                หมายเหตุ: การสะกดเป็นไปตามต้นฉบับ และเอกสารไม่ได้เรียงตามลำดับเวลา

(เอกสารชิ้นที่ 1)
ด่วน
ที่ ว.๗๑๐๑/๒๔๘๔                                                                                                              กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
                                                                                ๘ กันยายน ๒๔๘๔
เรื่อง ให้ปรับปรุงระเบียบการต่างๆ
จาก เลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ถึง นายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งบังคับบัญชาสำนักพระราชวัง
                ด้วยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้สำนักพระราชวังพิจารณาปรับปรุง ระเบียบการต่างๆ เกี่ยวกับงานพระราชพิธี งานเฝ้า การเลี้ยง ฯลฯ โดยให้อนุโลมปฏิบัติอย่างเดียวกับใน Court ของอังกฤษให้มากที่สุดเท่าจะทำได้ แล้วให้ส่งมายังกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาให้ ทันใช้ในวันเฉลิมพระชนม์พรรษาปีนี้
                จึ่งเรียนมาเพื่อดำเนินการต่อไป.
                                                                                ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
                                                                                            ทวี [ลายมือชื่อ]
                                                                                               ๘ ก.ย. ๘๔
                                                                                         (นายทวี บุณยเกตุ)


(เอกสารชิ้นที่ 2)
สำเนารายงานประชุมคณะรัฐมนตรี
ครั้งที่ ๑๓/๒๔๘๑
วันจันทร์ ที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๘๑
ฯลฯ                                                        ฯลฯ                                                                        ฯลฯ
เรื่องจร
                ๑๘. เรื่องงานปีใหม่ (เนื่องจากรายงานประชุมครั้งที่ ๔/๒๔๘๑ ตอนที่ ๒ ข้อ ๔๒)
                นายนาวาอากาศเอก พระเวชยันตรังสฤษฏ์ .- ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้มอบหมายงานรื่นเริงปีใหม่ให้กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าหน้าที่ ส่วนการจะแบ่งหรือโอนให้จังหวัดหรือเทศบาลเพียงใดนั้น ให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาดำเนินการต่อไป บัดนี้ได้ประชุมผู้แทนกระทรวงต่างๆ ไปแล้ว สำหรับหน้าที่กระทรวงเกษตราธิการได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พิธีแรกนาขวัญหากจะงด จะทำแต่เพียงแจกพันธ์ข้าว
                หลวงประดิษฐมนูธรรม .- พิธีแรกนาควรทำไปตามเดิมก่อน เพราะจะเกี่ยวกับขวัญของประชาชน
                นายพันตรี หลวงเชวงศักดิ์สงคราม .- เรื่องแรกนานั้น เดิมก็พิจารณากันว่าจะเลิก เพราะกระทรวงเกษตราธิการเป็นเจ้าหน้าที่อ้างว่า เป็นเจ้าหน้าที่ทางวิทยาศาสตร์ เหตุไรจะให้มาทำพิธีไสยศาสตร์ เมื่อโอนงานแรกนาให้รวมกับงานปีใหม่ ข้าหลวงประจำจังหวัดก็ต้องไปทำพิธีไสยศาสตร์ บัดนี้จะโอนงานปีใหม่ให้เทศบาล จะให้เทศบาลไปทำพิธีไสยศาสตร์อย่างไรได้
                นายนาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ .- การแรกนาเวลานี้จะเอาขวัญอะไรไม่ได้แล้ว เพราะเราทำพิธีเดือนห้า ซึ่งเป็นการแผลงอยู่แล้ว ถ้าจะทำพิธีแรกนาให้ถูกต้อง ก็ต้องทำในเดือนพฤษภาคม และจะใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์อย่างไรก็ได้
                นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม .- พิธีแรกนาแสดงว่าจะเริ่มทำนา รัฐบาลควรแจกพันธ์ข้าวให้แก่ราษฎร ส่วนพิธีไสยศาสตร์ เช่น มีพระยาแรกนาสรวมชะฎานั้นควรเลิกเสียได้
                หลวงวิจิตรวาทการ .- พิธีแรกนาแต่เดิม พระมหากษัตริย์ทรงกระทำด้วยพระองค์ เป็นการแสดงว่าสยามเราการทำนาเป็นสำคัญ และเพื่อให้ชาวนาเห็นความสำคัญแห่งการทำนา พระมหากษัตริย์ไปทรงไถนา ประเพณีนี้เป็นของไทย ถ้าเลิกเสียทีเดียวก็เป็นของน่าเสียดาย ส่วนวิธีการจะลดให้น้อยลงก็ได้ เช่น เลิกการใส่ชะฎา
                นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม .- การที่เราร่นมาทำการแรกนาในเดือนเมษายนนั้น เพราะดินฟ้าอากาศไม่คงที่ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งการที่เราจะรอไปทำในเดือนพฤษภาคม เผอิญมีฝนตกมาก่อน ราษฎรก็ไม่ลงมือทำนากัน เราจึงเริ่มทำเสียก่อนแต่ต้นปี
                นายพันเอก หลวงสฤษยุทธศิลป์ .- เจ้าหน้าที่ส่วนมากยืนยันว่า ให้มีการแรกนา ข้าพเจ้าก็เลยตกลงไปว่า ให้มีแต่การทำพิธีเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่เป็นการแสดงเผยแพร่ให้ราษฎรได้รับความรู้ สำหรับการแจกพันธ์ข้าวนั้น ในพระนครไม่ได้ประโยชน์ เพราะผู้ที่มารับแจกไม่ใช่ชาวนา ฉะนั้น จะคงให้แจกต่อไปหรือไม่
                นายนาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ .- ควรแจกต่อไปพอเป็นพิธี
                หลวงเดชสหกรณ์ .- ถ้าแจกพันธ์ผักเป็นประโยชน์ดี
                หลวงวิจิตรวาทการ .- สำหรับพิธีแรกนานั้นขอรับไปตรวจเรื่องเดิมก่อน
                ที่ประชุมตกลงว่าพิธีแรกนานั้นไม่เลิก แต่ให้ทำให้ผลทั้งทางวิทยาศาสตร์ และทางขวัญของประชาชน สำหรับการทำพิธีเพียงใดนั้น ให้กระทรวงเกษตราธิการติดต่อกับหลวงวิจิตรวาทการด้วย.
                นายนาวาอากาศเอก พระเวชยันตรังสฤษฎ์ .- ในการทำพิธีแรกนากับการแสดงพืชและสัตว์นี้ สำหรับจังหวัดพระนครจะต้องใช้เงินอีกมาก เงินรายได้สลากกินแบ่งจะให้ได้ก็เพียง ๖๐๐ บาท จะต้องหาเงินมาเพิ่มอีก ๑๑,๐๐๐ บาท
                หลวงเดชสหกรณ์ .- เงินค่าใช้สอยของกระทรวงเกษตราธิการมีเหลือพอโอนมาใช้ได้ แต่จำนวนเงินที่ขอเพิ่มนี้ถ้าเห็นว่ามากไปก็ตัดลงได้บ้าง
                หลวงประดิษฐมนูธรรม .- ถ้าเงินค่าใช้จ่ายไม่พอจะโอนค่าใช้สอยมาก็ไม่ขัดข้อง
                นายนาวาอากาศเอก พระเวชยันตรังสฤษฎ์ .- ขอโอนสัก ๑๐,๐๐๐ บาทก็พอ
                หลวงประดิษฐมนูธรรม .- งานควรให้มี ๓ วัน
                นายพันเอก หลวงเสรีเริงฤทธิ์ .- งานนี้ควรจัดให้มโหฬาร มีการแจกพันธ์ข้าวด้วย
                นายนาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ .- เห็นด้วยว่าฉะเพาะส่วนกลางควรมีงาน ๓ วัน ส่วนทางภูมิภาคแล้วแต่เจ้าหน้าที่จะพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควร
                ที่ประชุมตกลงเห็นชอบด้วยในการที่จะจัดให้มีงานนี้ ๓ วัน และอนุมัติให้กระทรวงเกษตราธิการโอนเงินค่าใช้สอยมาใช้ในการนี้ได้ ๑๐,๐๐๐ บาท.


(เอกสารชิ้นที่ 3)
รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี
ครั้งที่ ๒/๒๔๘๒
วันเสาร์ที่ ๘ เมษายน ๒๔๘๒
                ๔๒. เรื่องทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปตกอยู่ในมือคนอื่น
                นายนาวาอากาศเอก หลวงกาจสงคราม : ด้วยตามที่คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้กระทรวงการคลังดำเนินการรับมอบทรัพย์สิน ฝ่ายพระมหากษัตริย์จากสำนักพระราชวังนั้น กระทรวงการคลังได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ซึ่งมีข้าพเจ้าเป็นประธานกรรมการ บัดนี้คณะกรรมการได้ตรวจพบหลักฐานว่ามีทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ตกอยู่ใน มือคนอื่นโดยมิชอบ ฉะนั้นจึ่งขอเสนอคณะรัฐมนตรีว่าจะควรดำเนินการต่อไปประการใด และขออนุมัติให้นายพันตรี ขุนนิรันดรชัย กรรมการผู้หนึ่งเข้ามาชี้แจงเพื่อประกอบการพิจารณา
                ที่ประชุมตกลงอนุมัติ
                นายพันตรี ขุนนิรันดรชัย เข้ามาในที่ประชุม
                ขุนสมาหารหิตะคดี : ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นกรรมการรับมอบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ผู้หนึ่ง ขอชี้แจงเรื่องเท่าที่ได้ทราบไว้ด้วย คือ เมื่อครั้งรัชชกาลที่ ๕ ทรงได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาราชการคลังให้ทรงนำเงินไปฝากไว้ในยุโรป ๒ แสนปอนด์ ต่อมาเงินรายนี้แยกไปฝากไว้ที่อเมริกา ๑ แสนปอนด์ คงฝากอยู่ที่อังกฤษ ๑ แสนปอนด์ คณะกรรมการฯ ได้เชิญพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์มาสอบถาม พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ทรงรับว่าเงินรายนี้มีจริง เงินที่รัชชกาลที่ ๕ ฝากไว้นั้นฝากไว้ในนาม King of Siam
                นายนาวาอากาศเอก หลวงกาจสงคราม : ปัญหามีว่าทรัพย์ที่ฝากไว้นี้เป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ หรือทรัพย์สินส่วนพระองค์ เพราะเดิมปนกันอยู่ เราเพิ่งมาแยก เมื่อรัชชกาลที่ ๖ มีการเก็บภาษีมฤดก ได้มีประกาศฉะบับหนึ่งว่าทรัพย์สินที่อยู่นอกราชอาณาจักร์เป็นทรัพย์สินฝ่าย พระมหากษัตริย์ และเมื่อมาถึงรัชชกาลที่ ๗ ก็ทรงสนับสนุนว่าทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไม่ควรฟุ่มเฟือย ส่วนหนึ่งเอาไปใช้ อีกส่วนหนึ่งขึ้นบัญชี ๒ ไว้ไม่ให้จ่าย ทรัพย์รายที่ว่านี้จึ่งควรเป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ต่อมาเมื่อเปลี่ยนการปกครองแล้วรัชชกาลที่ ๗ ได้ทรงเปลี่ยนนามเจ้าของเงินฝากรายนี้เป็น King Prajadhipok
                นายพันตรี ขุนนิรันดรชัย : เมื่อ ร.ศ. ๑๑๙ ในรัชชกาลที่ ๕ ที่ปรึกษาราชการคลังให้ความเห็นว่ามีเงินในพระคลังข้างที่ ๒๐ ล้านบาทเศษ ควรจัดหาผลประโยชน์ แม้สยามจะถูกย่ำยี กษัตริย์ก็จะไม่ทรงเดือดร้อน และเห็นว่าที่ดินฝั่งตะวันตกเจริญต่อไปคงมีสะพานข้าม ควรซื้อที่ดินรายนี้ไว้ รัชชกาลที่ ๕ จึ่งทรงนำเงินไปฝากธนาคารไว้เพื่อซื้อที่ดิน ในสมัยนั้นหลักฐานปรากฏว่าฝากไว้ ๒ แสนปอนด์ ในธนาคารในลอนดอน เมื่อรัชชกาลที่ ๕ สวรรคคตอังกฤษจะเก็บภาษีมฤดก รัชชกาลที่ ๖ ได้มีพระราชหัตถเลขาไปยังเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี อัครราชทูต ณ กรุงลอนดอนให้เป็นทนายความแทนรัชชกาลที่ ๖ ต่อมาเงินรายนี้เพิ่มพูลขึ้นเกินกว่า ๒ แสนปอนด์ เมื่อ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๗๕ เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์กราบบังคมทูลรัชชกาลที่ ๗ ให้ทรงเปลี่ยนนามผู้ฝากจาก King of Siam เป็นของสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระนางรำไพพรรณี เงินรายนี้ก็ไม่พบปะอีกเลย
                หลวงประดิษฐมนูธรรม : เงินรายนี้เป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ก่อนออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ อำนาจของพระมหากษัตริย์จะสั่งเปลี่ยนบัญชีได้เพียงใด เราจะมีอำนาจเรียกเงินรายนี้ได้เพียงอย่างไร ควรให้อธิบดีกรมอัยยการปรึกษาหารือกับหลวงกาจสงคราม ประธานกรรมการรับมอบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์
                หลวงกาจสงคราม : ยังมีแหวนฝังเพ็ชร์ดำอีกที่สมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเอาไป
                นายพันตรี ขุนนิรันดรชัย : เรื่องแหวนนี้ได้เชิญเจ้าพระยารามราฆพมาสอบถามได้ความว่า เมื่อรัชชกาลที่ ๖ สวรรคคตสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เรียกแหวนฝังเพ็ชร์สีดำจากเจ้าพระยารามราฆพไป นอกจากนี้ยังมีแหวนอื่นอีก ๓ วงที่เจ้าพระยารามราฆพถวายไปพร้อมกัน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ก็รับสั่งว่าทรงเคยเห็นสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงแหวนเพ็ชร์ดำอยู่
                ที่ประชุมตกลงให้ส่งเรื่องเงินและสิ่งของอันเป็น ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งตกไปอยู่ในมือคนอื่นโดยมิชอบนี้ให้คณะ กรรมการรับมอบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์พิจารณาต่อไป โดยให้เชิญอธิบดีกรมอัยการมาร่วมในการพิจารณาด้วย
                นายพันตรี ขุนนิรันดรชัย ออกจากที่ประชุม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น