แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ปาฐกถา เกษียร เตชะพีระ: โจทย์ใหม่ เหลือง-แดง และการเมืองแบบศีลธรรม

ที่มา ประชาไท



26 มิ.ย.56 ที่ห้องสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ มีพิธีมอบรางวัลกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2555 แก่ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยรางวัลดังกล่าวมีการมอบเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนแห่งการสถาปนา มหาวิทยาลัย และจะมีปาฐกถาจากกีรตยาจารย์ ในปีนี้มีขึ้นในหัวข้อ โจทย์การเมืองไทยที่เปลี่ยนไปสองทศวรรษจากพฤษภาฯ 2535 ถึงปัจจุบัน
เกษียร กล่าวว่าปาฐกถานี้จะนำเสนอว่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โจทย์การเมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างไร มีความพยายามหาคำตอบอย่างไรบ้าง หรือไม่หา ไม่เห็นโจทย์นั้นอย่างไรบ้าง โดยแบ่งหัวข้อออกเป็น 4 ข้อหลัก คือ  1.บริบทความคิดการเมืองหลังพฤษภา 35 -45 อะไรคือโจทย์หลัก ความพยายามหาคำตอบเป็นอย่างไร 2) อะไรคือโจทย์ใหญ่ทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือกลุ่มเสื้อเหลือง 3)อะไรคือโจทย์ใหญ่ทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงและแนวร่วม 4) ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและศีลธรรม
เขาอธิบายด้วยว่า การพูดครั้งนี้ไม่ใช่ original research แต่เป็นการนำข้อค้นพบทางวิชาการที่ค่อนข้างใหม่ในช่วง 2-3 ปีนี้จำนวนหนึ่งนำมาสังเคราะห์ โดยชิ้นที่สำคัญ คือ 1. งานศึกษา ความคิดทางสังคมการเมืองของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล โดย พัชราภา ตันตราจิน อาจายร์จากม.บูรพา เนื่องจากเห็นว่า ความคิดของเสกสรรค์สะท้อนโจทย์การเมืองในทศวรรษหลัง 2535 ได้ดีที่สุด 2) วิทยานิพนธ์ของ อุเชนทร์ เชียงเสน เรื่อง ประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชน : ความคิดและปฏิบัติการของนักกิจกรรมทางการเมืองปัจจุบัน โดยเน้นที่ระบบคิด วิธีคิดของกลุ่มคนที่เรียกว่า พธม.  3) งานวิจัยชื่อ ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย เป็นการวิจัยที่เกิดขึ้นหลังเห็นความขัดแย้งทางเมืองอย่างดุดเดือนในช่วง หลัง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เรียกว่า คนเสื้อแดง อาจารย์จากหลายสถาบันได้มารวมกันเป็นทีมวิจัยเพื่อวิเคราะห์ว่า ภูมิทัศน์ของการเมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างไร 4) งานนักวิชาการชาวออสเตรเลีย Andrew Walker ในงานชื่อว่า Thailand’s Political Peasants : Power in the Modern Rural Economy
โดยสรุป เกษียรกล่าวถึงโจทย์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากพรรคไทยรักไทยเข้ามา เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองไทย โดยเริ่มนโยบายที่ให้ประโยชน์รูปธรรมกับประชาชนรากหญ้า หลังจากเกิดรัฐประหารและเกิดการเมืองสองขั้วอย่างชัดเจน ฝ่ายเสื้อเหลืองชูปัญหาใหญ่ของทุน แต่คำตอบของกลุ่มนี้ยังคงวนไปที่เผด็จการทหาร พระบารมี ขณะที่เสื้อแดงไม่ให้ความสำคัญของปัญหาทุน ทั้งที่เป็นปัญหาที่สำคัญและเป็นเนื้อเดียวกับการเมืองมากขึ้น กลุ่มวิชาการที่มีอิทธิพลต่อขบวนการเสื้อแดงอย่างนิติราษฎร์เองก็ไม่ได้ให้ ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม แนวทางของกลุ่มเสื้อเหลืองก็เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าไม่ใช่คำตอบ นอกจากไม่แก้ไขปัญหาเก่ายังสร้างปัญหาใหม่ เพราะการในสถานการณ์ที่ชนบทเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก (ไม่โง่ ไม่จน ไม่เจ็บ) เราไม่สามารถหดประชาธิปไตยให้เล็กลงได้ มีแต่ต้องขยายออก หากหดหรือลดทอนอำนาจผู้เลือกตั้งก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง นอกจากนี้เขายังพูดถึงข้อถกเถียงร่วมสมัยเกี่ยวกับการเมืองกับศีลธรรมด้วย โดยให้ความเห็นว่า ทั้งสองสิ่งเป็นไปด้วยกันได้ในเงื่อนไขของสังคมเปิด และการยอมรับความหลากหลายของแนวคิดทางศีลธรรม เพื่อสร้างสังคมการเมืองที่แข็งแรง แต่สังคมการเมืองไทยดูเหมือนไม่อยู่ในสภาพเช่นนั้น

สำหรับรายละเอียดของปาฐกถา มีดังนี้

2535-2545: ปัญหาอยู่ที่นักเลือกตั้ง คำตอบอยู่ที่ภาคประชาชน

วิกฤตในทางการเมืองและเศรษฐกิจไทยช่วงนั้น คือ วิกฤตรัฐประหาร รสช.-การลุกฮือในปี 2535 กับวิกฤติต้มย้ำกุ้ง
ในแง่ของวิกฤตทางการเมือง ข้อวิเคราะห์ของคนจำนวนมากชี้ไปทางเดียวกันว่า มูลเหตุของปัญหาคือ นักเลือกตั้ง ระบอบเลือกตั้งธิปไตย หรือการเสื่อมรูป กลายรูปของระบอบประชาธิปไตยที่ไปเน้นที่อำนาจของคนที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วไปตัดองค์ประกอบอื่นของระบอบเสรีประชาธิปไตยทิ้งไป ทำให้การเมืองมีปัญหา คอรัปชั่น การฉวยใช้อำนาจ คำตอบที่ได้ช่วงนั้นคือ การเมืองภาคประชาชน หรือการเมืองที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีโอกาสตัดสินใจมากขึ้นแทนที่จะพึ่งพา แต่นักการเมือง
ในแง่ของวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง มีการวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงบทบาทเจ้าของเงินกู้อย่างไอเอ็มเอฟ และสังคมชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า วิกฤตนี้เกิดขึ้นเพราะไทยเข้าสู่ระเบียบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์แบบไม่ พร้อม ขาดประสบการณ์ คำตอบสำหรับยุคสมัยนั้นก็หันไปพึ่งเศรษฐกิจแบบอื่น ในนามเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจพอเพียง
รัฐบาลที่กินได้สมัยทักษิณ และความเสื่อมของรัฐชาติในระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์
ในช่วงท้ายของทศวรรษนี้ รัฐบาลทักษิณได้ทำให้ภูมิทัศน์การเมืองเศรษฐกิจเปลี่ยน ในแง่การเมือง รัฐบาลทักษิณดำเนินนโยบายให้ความสำคัญกับระบบตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ดำเนินนโยบายบางอย่างที่สนองตอบต่อผลประโยชน์รูปธรรมโดยเฉพาะของชนบท อย่างไม่เคยมีมาก่อน คำตอบใหม่ของรัฐบาลทักษิณที่เสนอ คือ รัฐบาลแบบตัวแทนที่กินได้  ใน แง่เศรษฐกิจ มุ่งเปิดนโยบายประชานิยมจำนวนมาก นำโอกาสและทุนไปถึงประชาชนรากหญ้า ผลักดันพวกเขาเข้าไปต่อสู้ในตลาดทุนนิยม ซึ่งก็สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน แสดงออกโดยการชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นของพรรคไทยรักไทย
เมื่อพ้นระยะนั้น มีความขัดแย้งที่นำไปสู่การรัฐประหาร แบ่งเป็นฝักฝ่ายเสื้อเหลือง เสื้อแดง หากนำงานของเสกสรรค์มาวาง  โดยเฉพาะงานวิจัยที่ได้ทุนปรีดี พนมยงค์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย ตีพิมพ์ปี 2548 จะพบว่ามีเรื่องสำคัญในงานของเขาที่คนไม่ค่อยมองหรือให้ความสำคัญนัก คือ การพูดถึงปัญหาหลักของการเมืองเศรษฐกิจไทยว่ามาจากอำนาจทุน ซึ่งมีที่มาจากทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ทำให้อำนาจอธิปไตยของรัฐชาติทั้งหลายเสื่อมโทรมลง มีข้อกำหนดนโยบายหลายอย่างที่รัฐชาติไม่สามารถควบคุมได้เหมือนแต่ก่อน ผลดังกล่าวทำให้หลักการสำคัญ 2 อย่างทางการเมืองเสื่อมไปด้วย คือ Political Consensus ความเห็นพ้องต้องกันในหมู่ประชาชนในสังคมอย่างกว้างขวาง และหลัก Political Consent ฉันทานุมัติที่คนทั้งหลายยอมรับรัฐบาลให้ปกครอง
ในสภาพที่สังคมมีความเห็นพ้องต้องกันทางการเมืองน้อยลง ความยอมรับทางการเมืองก็เสื่อม ปรากฏการณ์หน้ากากขาว ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่เขาแสดงออกมาว่าไม่อยากให้รัฐบาลปกครองอย่างชัดเจน อาการเหล่านี้นำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองเรื้อรัง รัฐบาลไม่มั่นคงเสียที เพราะรัฐภายใต้ทุนนิยมโลกาภิวัตน์แบบนี้จะขาดพร่องความชอบธรรมทางการเมือง ขาดพร่องฉันทามติภาคส่วนต่างๆ เดินแนวนี้อาจมีกลุ่มคนเห็นด้วย แต่ก็มีคนเสียประโยชน์ที่คัดค้าน

อะไรคือโจทย์ใหญ่ของเสื้อเหลือง – เสื้อแดง

ปัญหาอำนาจทุนที่นำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองภายใต้ระบบทุนนิยม โลกาภิวัตน์นั้น หากดูข้อเสนอทางหลักการ น้ำเสียงของบรรดาผู้นำ ปัญญาชน ผู้เข้าไปเกี่ยวพันกับพันธมิตรฯ จะเห็นว่าเขาเห็นปัญหาอำนาจทุนชัดเจน แต่ฝั่ง นปช.และเสื้อแดงไม่ให้น้ำหนักกับปัญหาอำนาจทุนเท่าไรนัก ที่ชัดเจนที่สุด คือกลุ่มนิติราษฎร์
ปัญหาอำนาจทุน เหลืองเห็น-แดงไม่เห็น
“ในความเห็นของผม นิติราษฎร์คือกลุ่มปัญญาชนที่ใกล้ชิด และมีอิทธิพลอย่างชัดเจนมากในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง ก่อนหน้านั้นความเข้าใจของผมคือ กลุ่มเสื้อแดงเหมือนลูกกำพร้า อาจมีแนวร่วมนักธุรกิจ แนวร่วมนักการเมือง มีมวลชนเยอะ แต่ไม่ค่อยมีปัญญาชนที่ไปสนับสนุน ให้ความคิด แนะนำให้คำปรึกษากับขบวนการเสื้อแดงสักเท่าไร การเกิดขึ้นของนิติราษฎร์เข้าไปอุดช่องว่างตรงนี้ เล่นบทบาทเหมือนเสนาธิการทางปัญหาของขบวนการเสื้อแดง มีข้อคิด ข้อวิเคราะห์ เช่น การยกเลิกผลพวงรัฐประหาร การแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 แต่ข้อเสนอประดามีของคณะนิติราษฎร์มันจบแค่มิถุนายน ถึง ธันวาคม 2475 เป็นข้อเสนอที่พัวพันกับปัญหาอำนาจรัฐและเครือข่ายอำมาตย์ ..... แต่ข้อเสนอของนิติราษฎร์ยังไม่ถึงช่วงที่อาจารย์ปรีดี เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจด้วยซ้ำ ซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปเศรษฐกิจสยามขนานใหญ่ กำเนิดมาจากวิกฤตการตกต่ำของทุนนิยมทั่วโลกอย่างหนักเมื่อปี  ค.ศ.1925 ปัญหานี้ไม่ปรากฏในครรลองความสนใจ การวิเคราะห์ปัญหาของนิติราษฎร์เลย ทำให้มีช่องโหว่ที่น่าสนใจในเรื่องอำนาจทุน ทั้งที่อำนาจทุนเริ่มสำคัญขึ้นเรื่อยๆ และเป็นเนื้อเดียวกับอำนาจรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ”
ขณะที่แดงไม่ให้ความสำคัญ แต่ฝ่ายเหลืองเห็นว่าปัญหาของทุนเป็นเรื่องสำคัญ สังเกตดูคำอภิปรายของกลุ่มสยามประชาภิวัตน์ นักวิชาการที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของ พธม. แต่วิธีแก้ปัญหาของกลุ่มนี้ในที่สุดก็วนกลับไปที่อำนาจเผด็จการทหาร หรือไม่ก็เสนอให้มีอำนาจพิเศษ วิธีพิเศษ พึ่งพระบารมี วิธีดังกล่าวชัดเจนมากจากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่ามันไม่เวิร์ค นอกจากจะไม่แก้ปัญหาเก่าแล้วยังเพิ่มปัญหาใหม่ด้วย
ชนบทเปลี่ยน ไม่จน ไม่โง่ ไม่รอคอย
ในแง่กลับกันอะไรคือโจทย์ใหญ่ทางการเมืองของฝ่ายเสื้อแดง มีงานวิชาการจำนวนมากพยายามจะตอบ ซึ่งล้วนมองทิศทาง ชูประเด็นปัญหาใหม่ขึ้นมาใกล้เคียงกันว่า โจทย์ใหม่ทางการเมืองนี้ชัดเจนมากหลังรัฐประหาร และเกิดมีขบวนการเสื้อแดงปรากฏขึ้นมา ซึ่งสะท้อนว่า ชนบทกำลังเปลี่ยนอย่างสำคัญ และมุมมองต่อชนบทกำลังเปลี่ยน
ภาพเดิมชนบทคือสังคมการเกษตร ชาวนายากจน อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ขาดความรู้ ขายเสียง ทางออกจากเรื่องเหล่านี้ก็ยึดการเมืองภาคประชาชนเป็นทางออก เช่น การเคลื่อนไหวแบบสมัชชาคนจน และเศรษฐกิจพอเพียง แต่หลังรัฐประหาร 2549 งานวิชาการหลายชิ้นวาดภาพชนบทใหม่ คือ ไม่ใช่สังคมการเกษตรเป็นส่วนใหญ่อีกต่อไป  มีคนเลิกเป็นเกษตรมากขึ้นเรื่อยๆ , ส่วนใหญ่ของชาวนาเป็นผู้มีรายได้ปานกลาง อาจไม่เท่าชนชั้นกลางในกรุงเทพ แต่ไม่ได้ยากจนไม่พอกิน และมีความหวังว่าจะดีขึ้น แต่ปัญหาหลักคือยังมีผลิตภาพต่ำ ยากที่จะสร้างความมั่งคั่งทางรายได้ได้ การพยุงฐานะของพวกเขากระทำผ่านเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ซึ่งมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ  ไม่ว่าจะผ่านการกระจายอำนาจ งบ อปท. เงินช่วยเหลือฉุกเฉินต่างๆ  โครงการกระตุ้น-เสริมราคาพืชผลเกษตร หรือเรียกว่ามี  inverse resource flow จากเมืองย้อนสู่ชนบทผ่านงบประมาณของรัฐ ซึ่งดำเนินการเป็นมาระยะยาวนาน ดังนั้น ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องความยากจน แต่เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างชนบทกับเมือง หรือชนบทภูมิภาคต่างๆ
ข้อเสนอมุมมองใหม่ก็คือ สังคมชนไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์แบบเดิม ชาวนาไม่ได้แผ่หลารอคอย แต่ชาวนาฉลาดในการดึงอำนาจภายนอก ไม่ว่ารัฐ ทุน หรือวาทกรรมชุมชน มาตะล่อมใช้สนองผลประโยชน์ตัวเอง ดูดดึงเอาทรัพยากรเหล่านี้มาเพิ่มผลิตภาพตนเอง แล้วรู้จักใช้เงื่อนไขภายนอกให้เป็นประโยชน์กับตัว ไม่ได้เป็นเบี้ยล่างตลอด
หากจะบอกว่าชาวนาขาดความรู้ การศึกษา ภาพตอนนี้ก็เปลี่ยนไป มีชาวนาพันธุ์ใหม่ หรือ post-peasant บางคนเรียก cosmopolitan ผู้รอบรู้โลก บางคนเรียก extra local president ผู้เป็นสมาชิกหมู่บ้านที่ทำมาหากินในกรุงเทพฯ จังหวัดใหญ่หรือต่างประเทศ
หากจะบอกว่าชาวชนบทซื้อเสียง ภาพนี้ไม่ใช่ไม่จริง งานล่าสุดของประจักษ์ ก้องกีรติ ชี้ว่า เรื่องซื้อสิทธิขายเสียงทำกันทุกพรรค แต่ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาด สังคมการเมืองชนบทสามารถต่อรอง ตะล่อมอำนาจภายนอก และขัดแย้งตรวจสอบกันเองภายในตามธรรมนูญชนบท (วัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่น) เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการซื้อขายในร้านสะดวกซื้อ แต่มีกระบวนการที่เงินต้องไหลเข้าไปในพื้นที่สังคมการเมืองหนึ่งที่มี กฎเกณฑ์ของมัน แล้วชาวชนบทก็ต่อรองเพื่อเอาอำนาจภายนอกมาเพิ่มผลิตภาพของตัว
“มันแปลว่าเขาไม่มีศีลธรรมทางการเมือง เลยอย่างนั้นหรือ ไม่ใช่ เขาเลือก การซื้อต้องมีมารยาท การซื้อต้องมีวัฒนธรรม เขาเลือกระหว่างคนที่ซื้อแล้วหายหัวไปเลย กับคนที่ซื้อแล้วมาดูแลใส่ใจ ในทางกลับกัน อาจมองว่ามันไม่ใช่พื้นที่ว่างเปล่าที่ให้คุณไปช้อปปิ้งแล้วได้คะแนนเสียงมา เป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมการเมืองของตัวเองและสนองตอบ ตอบโต้กับการซื้อสิทธิขายเสียงเหล่านั้นได้”  
แล้วการเมืองภาคประชาชนเป็นทางออกหรือไม่ คำตอบอยู่ที่การเลือกตั้งระดับต่างๆ มากว่าที่เป็นทางหลักในการต่อรองช่วงชิงกดดันเอาทรัพยากรมา ขณะที่การเมืองภาคประชาชนเป็นส่วนน้อยเท่านั้น การม็อบ การชุมนุมต่อรองยังใช่กันอยู่บ้าง
ส่วนเศรษฐกิจหลักที่เขาต้องการก็เป็นเศรษฐกิจการค้า ที่ดึงดูดปัจจัยภายนอกเอามาเพิ่มผลิตภาพเพื่อประคองฐานะคนชั้นกลางของเขาให้ อยู่ได้และเติบโตขึ้นได้
“ข้อเสนอเสื้อแดงคือ เพื่อจะต้อนรับความเปลี่ยนแปลงในชนบทเหล่านี้ ต้อนรับคนเป็นแสนเป็นล้านที่หลุดจากการเป็นชาวนาแบบเดิม ทางเดียวที่จะอยู่กับเขาได้ในทางการเมืองคือ ต้องขยายประชาธิปไตย ถ้าจะซื้อสันติสุขทางการเมืองจากชนบทที่เปลี่ยนไปแล้วนี้ ไม่มีทางเลือกอื่น คุณหดปชต.ไม่ได้ มีแต่ต้องขยายตัวขึ้น เมื่อไรที่หดปชต. ยกเลิกการเลือกตั้ง ยกเลิกอำนาจของคนที่เขาเลือก เมื่อนั้นมีความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง”
จุดอับตันของของเสื้อแดง “ความหวังใหม่”
นักคิดปัญญาชนที่เข้าไปศึกษาเรื่องราวเหล่านี้จำนวนมากก็หวังว่าความ เปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นฐานใหม่ทางประชาธิปไตย แต่โดยส่วนตัวยังเห็นว่ามี 2 ปัญหาหลักที่เป็นจุดอับตัน คือปัญหาทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมการเมือง
ทางเศรษฐกิจ จะเห็นว่าภาวะที่รัฐอุดหนุนชาวนาที่ผลิตภาพต่ำแต่เป็นประชากรส่วนใหญ่ในชนบท นั้นยั่งยืนได้ยาก เพราะมีขีดจำกัดทางการคลัง โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาเป็นคนชั้นกลางแล้วและไม่ยอมถอยกลับด้วย ปัญหาที่กำลังเกิดจากนโยบายจำนำข้าวสะท้อนสิ่งนี้ นโยบายนี้มีความเสี่ยงทางการคลังสูง แต่ไม่ทำก็ไม่ได้ หากไม่ทำคนเหล่านี้จะไม่สามารถประคองสถานะคนชั้นกลางได้ จึงต้องทำไปเรื่อยๆ แต่การจะเปลี่ยนให้หลุดพ้นจากภาวะนี้ต้องพลิกเปลี่ยน เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ให้พวกเขาออกจากภาคการเกษตร ไปทำงานแบบใหม่
“นี่คือฐานคิดที่มาของโครงการพัฒนาโครง สร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท มันต้องอาศัยการทุ่มทุนขนานใหญ่ไปผลักให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจ ให้ชาวนาหลุดออกมาจากภาวะผลิตภาพต่ำ พึ่งพาการอุดหนุนจากรัฐ ทั้งหมดนี้ถูกกำหนดจากชนบทที่เปลี่ยนแล้วต้องหาทางไป”
ทางด้านวัฒนธรรมการเมือง จะเห็นว่าไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การเมืองแบบไม่มีสมอง แต่เขามีค่านิยมธรรมนูญชนบทอยู่ แต่ก็ยังมีลักษณะคับแคบ ยึดผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง และเป็นค่านิยมที่แตกต่างกับค่านิยมสังคมเมือง ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนค่านิยมเหล่านี้ ค่านิยมเหล่านี้ไม่คลี่คลายขยายตัว ก็ยากที่จะสร้างสังคมการเมืองร่วมกัน  ยกตัวอย่างท่าทีที่ชัดเจนในสังคมการเมืองชนบทในภาคเหนือ เขาไม่คิดว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนสำคัญเท่าไร เช่น เรื่องฆ่าตัดตอน เขาแคร์ว่ามันแก้ปัญหาได้บ้างมากกว่า ค่านิยมแบบนี้มีเหตุผลของตัวเอง แต่เข้ากันได้ยากกับแนวคิดแบบที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับศีลธรรม

ในท่ามกลางคำตอบทั้งหลายในช่วงหลังนั้น คำตอบหนึ่งที่มักได้ยินอยู่เสมอคือ การเมืองต้องมีศีลธรรม คำพูดแบบนี้ทั้งออกมาจากข้าราชการ ผู้ใหญ่ในสังคมการเมือง แต่ในเวอร์ชั่นที่เป็นวิชาการที่สุดคือ งานของสมบัติ จันทรวงศ์ ซึ่งทำวิจัยให้ สกว. เรื่อง วิกฤตความแตกแยกของธรรมวิทยาของพลเมือง การศึกษาการประกาศธรรมของประกาสกร่วมสมัย โดยสรุปคือ สมบัติฟังพวกที่วิจารณ์การเมืองประชาธิปไตยเก่าๆ แบบไทยๆ ขณะที่พยายามเสนอประชาธิปไตยแบบใหม่แบบพวกเสื้อแดงแล้วรู้สึกไม่เห็นด้วย เพราะไม่มีเรื่องศีลธรรม  หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นการเอานักวิชาการอย่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ธงชัย วิจิจจะกูล เกษียร เตชะพีระ ไปชำแหละว่าพวกไม่คิดถึงศีลธรรมมีปัญหาอย่างไรบ้าง
นักวิชาการเสื้อแดงแยกศีลธรรมออกจากการเมือง ถูกต้องหรือไม่
ข้อเสนอหลักในบทคัดย่อ คือ “ผู้เขียนใช้กรอบแนคิดเรื่องธรรมวิทยาแห่งพลเมือง ของ Robert Bellah เพื่อศึกษาความคิดซึ่งอยู่เบื้องหลังความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันระหว่าง เสื้อเหลือง เสื้อแดง โดยพบว่า อุดมการณ์ของพวกเสื้อแดงหลักๆ แล้วเป็นผลผลิตทางความคิดของนักประวัติศาสตร์ ซึ่งปฏิเสธค่านิยมแบบจารีตของไทยทั้งที่เป็นค่านิยมทางศีลธรรมและการเมือง ที่ผูกโยงอย่างใกล้ชิดกับพุทธศาสนาและระบบกษัตริย์ เหล่าประกาศกของธรรมวิทยาแห่งพลเมืองใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักประวัติศาสตร์ อาชีพชั้นนำของไทย เลือกที่จะทดแทนสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวระบบอบทางประชาธิปไตยที่เน้นความเท่า เทียมกัน ซึ่งก็ต้องอาศัยการดำรงอยู่ของมวลหมาประชาชนผู้ล่วงรู้แจ้งและความแน่นอนว่า จะต้องเกิดขึ้นและความใฝ่ฝันในความเสมอภาค (ทั้งในแง่ของผลประโยชน์และสิ่งอื่นใด) อันถือได้ว่าเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของการเป็นพลเมืองที่ดี แต่เป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะเห็นว่าธรรมวิทยาแห่งพลเมืองที่ปราศจากเนื้อหา ทางศาสนาหรือจริยธรรมเลย จะสามารถยึดโยประชาชาติใดให้อยู่ด้วยกันได้เป็นเวลาที่นานพอ สังคมในอุดมคติที่ไม่ต้องการสำนึกทางศีลธรรมนี้อาจเกิดขึ้นได้จริง แต่จะเหมาะหรือไม่กับการพัฒนาจิตวิญญาณของมนุษย์เป็นเรื่องที่ยังต้องการคำ ตอบ”
โดยสรุปคือ ข้อเสนอของปัญญาชนฝั่งเสื้อแดงขาดมิติทางศีลธรรม และค่อนข้างต่อต้าน แยกศีลธรรมออกจากการเมือง ลักษณะนี้จะเป็นสิ่งที่เหมาะหรือไม่ เป็นโจทย์ที่น่าสนใจและน่าขบคิด  อยากเสนอว่า สังคมการเมืองที่ยึดลัทธิศีลธรรมเป็นเจ้าเรือนมีปัญหาของมันอยู่ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ปาฐกถาของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่โรงเรียนนายเรืออากาศ ก่อนเกิดรัฐประหารไม่นาน ที่ระบุว่า ชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครมีสิทธิ์ยึดถือเป็นของตนเองได้ เชื่อว่า พระสยามเทวาธิราชย์ จะปกป้องคนดี สาปแช่งคนทรยศให้พินาศ นับเป็นกามองประเด็นความดี ความชั่วเป็นแก่นกลาง  หรือการที่มีพระเทศนาเกี่ยวกับ “คนชั่วที่แอบอ้างเป็นคนไทย”  นี่เป็นประโยคที่เกิดขึ้นซึ่งสะท้อนทั้ง เรื่องศีลธรรม การเมือง ชาตินิยม วัฒนธรรม และกฎหมายความเป็นพลเมืองและเอกลักษณ์ชาติด้วย
การเมืองกับศีลธรรมไปด้วยกันได้ (ในสังคมเปิด)
โดยส่วนตัว คิดว่าการเมืองกับศีลธรรมควรไปด้วยกัน และไปด้วยกันได้ ในเงื่อนไขบางอย่าง เงื่อนไขที่จำเป็นคือ free market place of moral idea มีตลาดความคิดทางศีลธรรมที่เปิดกว้างให้ถกเถียงกันได้เรื่องศีลธรรมแลหลัก ที่ควรทำไม่ควรทำทางการเมือง ถ้ามีแบบนี้สังคมการเมืองจะมีสุขภาพดี แต่ถ้าไปเป็นแบบเอาลัทธิศีลธรรมเป็นเจ้าเรือน เอาเรื่องนี้ไปคลุมการเมืองทั้งหมดโดยเอาตัวเองเป็นที่ตั้งจะเป็นปัญหา เพราะไม่ว่าจะชอบหรือชัง โลกสมัยใหม่มีความหลากหลายทางศีลธรรมและศาสนาอย่างไม่อาจหดลดได้ ไม่สามารถยึดเอาศีลธรรมแบบเดียว ศาสนาหนึ่งใดเป็นหลักแล้วบังคับทั้งหมดได้ เราจึงต้องเริ่มต้นจากความเป็นจริงที่ยอมรับความหลากหลาย อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยมีขีดจำกัดจำนวนมากที่ทำให้การถกเถียงในสังคมไทยก็ไม่มีเสรีภาพ เพียงพอ ยกตัวอย่าง รายการ Devas cafe ของคำ ผกา ที่วิจารณ์ศาสนาแล้วถูกกดดันหนักให้ต้องสารภาพปากพร้อมยุติรายการ 1 เดือน  เมื่อไม่มีพื้นที่เปิด จึงยากมากที่จะเอาศีลธรรมมาผูกการเมืองแล้วจะไม่เป็นการกดขี่หรือกีดกันคน อื่น อีกประการคือ การที่ชนชั้นนำทางการเมืองมักแสดงจริตว่าตนเป็นคนมีศีลธรรม แต่ข้างหลังเละ ยิ่งบ่อนทำลายเรื่องนี้  แล้วยังทำให้เกิด ผู้ใหญ่ ซึ่งมีฐานะพิเศษที่จะบอกให้รู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี โดยไม่มีการตรวจสอบ
“ในทางปรัชญา ผมเชื่อว่ามีความขัดแย้งขั้นมูลฐานอยู่ระหว่าง หลักเป้าหมายที่ดีที่ถูกต้อง ย่อมให้ความชอบธรรมกับวิธีการใด ๆ ก็ได้ หรือ The end justifies the means. ในทางการเมือง กับ หลักเอกภาพทางศีลธรรมของเป้าหมายกับวิธีการ หรือ the moral unity of means and end หลักสองอันนี้มีความขัดแย้งแตกต่างกันลึกๆ และการพยายามจะผูกการเมืองเข้ากับศีลธรรมมันอิหลักอิเหลื่อมากเพราะหลักการ สองอันนี้”  


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น