แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การปลูกพืชเศรษฐกิจกับการปรับความสัมพันธ์ใหม่ภายในชุมชนชนบท

ที่มา ประชาไท


 
ภายใต้ระบบการผลิตแบบดั้งเดิม ความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชนดำรงอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมแบบ หนึ่ง แต่เมื่อเปลี่ยนมาปลูกพืชพาณิชย์ ทำให้ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนไป ส่งผลให้ความสัมพันธ์ภายในชุมชนปรับเปลี่ยนไปด้วย พืชพาณิชย์ไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ การมีรายได้และทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และหอมแดงทำ ให้กลุ่มคนที่เคยมีฐานะยากจนมีโอกาสขยับฐานะทางสังคมขึ้น พร้อม ๆ กับเกณฑ์ในการจัดช่วงชั้นคนรวย-คนจนในชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไป
 
 
ชนชั้นทางสังคมในระบบการผลิตแบบเดิม
 
ในอดีตชุมชนก่อวิละ(นามสมมติ) คล้ายกับชุมชนปาเกอะญออีกจำนวนมากที่ฐานะทางเศรษฐกิจชี้วัดจากการปลูกได้ ข้าวพอกินตลอดทั้งปี ครัวเรือนที่นับว่ามีฐานะดีมักเป็นครัวเรือนที่มีนาจำนวนมากจึงมีผลผลิตข้าว ค่อนข้างแน่นอนสม่ำเสมอและมีอัตราผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่สูง ส่วนครัวเรือนที่ยากจนมักเป็นครัวเรือนที่มีนาน้อยหรือไม่มีเลย อาศัยผลผลิตข้าวจากการทำไร่เป็นหลักซึ่งต้องเผชิญกับความผันผวนของดินฟ้า อากาศโรคและแมลงที่ทำให้ผลผลิตข้าวแต่ละปีไม่แน่นอน
 
ที่ตั้งของชุมชนอยู่ในหุบเขาซึ่งที่ดินมีความลาดชันสูง ระบบการผลิตหลักของชุมชนบ้านก่อวิละจึงเป็นการทำไร่ มีเพียงไม่กี่ครัวเรือนที่สามารถบุกเบิกพื้นที่ลาดชันให้เป็นนาขั้นบันได ประกอบกับมีแรงงานไม่พอและไม่มีเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการปรับ ที่ดินและพัฒนาระบบชลประทานพื้นบ้าน (เหมืองฝาย) ทำให้การเบิกนามีข้อจำกัด
 
การทำไร่ของบ้านก่อวิละ เป็น “ไร่หมุนเวียน” คือเพาะปลูกข้าวไร่ผสมผสานกับพืชอาหารต่าง ๆ โดยอาศัยน้ำฝน มีการหมุนเวียนเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกในแต่ละปี ไม่ทำการผลิตซ้ำที่ดินเดิมจนกว่าที่ดินแปลงนั้น ๆ จะได้พักตัวเพื่อฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์เสียก่อนเป็นเวลา 5-7 ปี แล้วจึงค่อยหมุนเวียนกลับมาใช้ที่ดินทำการเพาะปลูกอีกครั้งหนึ่ง
 
จารีตประเพณีมีความสำคัญในการกำกับควบคุมวิถีชีวิตความเป็นอยู่  การจัดสรรทรัพยากร ซึ่งสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจในขณะนั้น งานศึกษาหลายชิ้นรวมทั้งการบอกเล่าของผู้อาวุโสในชุมชนสอดคล้องกันในทำนอง ที่ว่าระบบการจัดสรรที่ดินยึดหลักสิทธิการใช้ กล่าวคือเฉพาะผู้ทำไร่ในปีนั้นจึงจะมีสิทธิในที่ดินและพืชผลในที่เพาะปลูก แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินผืนนั้นตลอดไป เพราะเมื่อสิ้นสุดช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวจะนับว่าที่ดินเป็นของส่วนรวมที่ ครัวเรือนอื่น ๆ จะเข้ามาเก็บหาผลผลิตการเกษตรหรือผลผลิตจากธรรมชาติในที่ดินได้  และเมื่อผ่านไป 5-7 ปีจนถึงรอบเวลาที่สามารถใช้ที่ดินเพาะปลูกได้อีกครั้ง หากครัวเรือนเดิมไม่เข้าไปเพาะปลูกก็จะต้องยอมให้ครัวเรือนอื่นเข้าไปใช้ ที่ดิน การวางเงื่อนไขแบบนี้ช่วยกระจายโอกาสให้สมาชิกชุมชนสามารถเข้าถึงที่ดินได้ พอสมควร
 
สำหรับการทำนา พื้นที่นามักเป็นที่ดินที่อยู่บริเวณหุบเขา อยู่ใกล้หรือติดกับลำห้วย ต้องมีการปรับที่ดินให้เป็นขั้นบันได และขุดลำเหมืองเพื่อส่งน้ำเข้าสู่แปลงนาที่อยู่ด้านบนสุดให้น้ำไหลลงผ่านลง มาแปลงนาที่อยู่ถัดไปในด้านล่าง การบุกเบิกพื้นที่ลาดชันให้เป็นนาขั้นบันไดเป็นงานหนักที่ต้องอาศัยแรงงาน จำนวนมาก ความยากลำบากในการบุกเบิกที่นาทำให้ชาวบ้านมีหลักคิดเกี่ยวกับสิทธิเหนือ ที่ดินต่างออกไปจากที่ดินที่ใช้ทำไร่ กล่าวคือ ชาวบ้านจะยอมรับให้ผู้ลงทุนลงแรงเบิกนาครอบครองที่ดินแบบเบ็ดเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าทำประโยชน์ การซื้อ-ขาย หรือให้ผู้อื่นมาเช่าทำประโยชน์ และโดยส่วนใหญ่เจ้าของนาก็มักจะทำการผลิตในที่ดินต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ไม่จำเป็นต้องปล่อยให้ที่ดินหมุนเวียนเพื่อพักตัวเหมือนการทำไร่
 
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าผู้มีนามักถูกจัดว่าเป็นผู้มีความมั่งคงทาง เศรษฐกิจ เพราะมีความมั่นคงทางอาหาร นอกจากนั้นการทำนายังมีแรงกดดันในการใช้ที่ดินน้อยกว่าการทำไร่  ด้วยสภาพที่ดินที่มีการปรับเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัด และการเพาะปลูกในที่ดินเดิมอย่างต่อเนื่องทำให้โดยทั่วไปแล้วเจ้าหน้าที่รัฐ จะเข้าใจได้โดยง่ายว่าที่นาเป็น “พื้นที่การเกษตร” และยอมรับสิทธิของชาวบ้านในที่ดินนั้นแม้ว่าชาวบ้านจะไม่มีเอกสารสิทธิตาม กฎหมายก็ตาม ต่างการแผ้วถางที่ดินเพื่อทำไร่หมุนเวียนที่มักถูกเข้าใจว่าเป็นการตัดไม้ ทำลายป่า ผู้ทำไร่ในพื้นที่สูงที่ทำไร่หมุนเวียนจึงถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไล่จับและ ดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก
 
 
การปลูกพืชเศรษฐกิจกับการปรับเปลี่ยนฐานะ
 
ด้วยแรงกดดันจากนโยบายการอนุรักษ์ของรัฐทำให้ชาวบ้านก่อวิละจำเป็นต้อง ลดรอบการหมุนเวียนที่ดินเพื่อทำไร่จนกระทั่งครัวเรือนหนึ่ง ๆ ต้องทำไร่ซ้ำในที่ดินเดิมทุกปี  ความต้องการของตลาดยังเป็นแรงผลักให้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในชุมชนขยาย ตัวอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกันกับในชุมชนบนพื้นที่สูงอีกหลายแห่งของอำเภอแม่ แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ระบบการผลิตที่เปลี่ยนไปทำให้ระบบสิทธิและการจัดสรรการใช้ที่ดินของชุมชน เปลี่ยนไปด้วย ที่ไร่แทบทุกแห่งกลายเป็น “ไร่ถาวร” ที่ไม่มีการเปลี่ยนมือหรือหมุนเวียนให้ครัวเรือนอื่น ๆ เข้ามาใช้อีกต่อไป 
 
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้ว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้ชาวบ้านบ้านก่อวิละมีรายได้มากขึ้น หลายครัวเรือนสามารถสะสมทุนและมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ชาวบ้านปลูกข้าวโพดบนที่ดินที่เคยทำไร่หมุนเวียน และแม้กระทั่งในที่ดินที่เคยทำนา การมีฐานะทางเศรษฐกิจดีย่อมส่งผลต่อสถานภาพทางสังคม และอำนาจในการออกสิทธิออกเสียงในเรื่องต่าง ๆ ภายในชุมชน
 
ภายใต้ระบบการผลิตแบบเดิมที่เน้นการปลูกข้าวให้พอกินตลอดทั้งปี ผู้มีฐานะดีซึ่งปลูกข้าวได้มากเป็นครัวเรือนที่ได้รับมรดกที่นามาจาก บรรพบุรุษจำกัดอยู่เพียงไม่กี่กลุ่มตระกูลเท่านั้น  ในบ้านก่อวิละมีนา 283 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 9.6 ของพื้นที่ทำกินทั้งหมดในชุมชน โดยมีเพียง 44 ครัวเรือนที่มีที่นา จากประชากรทั้งหมด 70 ครัวเรือน ในจำนวนนี้ถือครองที่นาขนาดแตกต่างกันไปซึ่งทำให้มีฐานะต่างกันไปอีกด้วย หากยึดตามระบบการผลิตและจารีตประเพณีแบบเดิม เป็นการยากที่ครัวเรือนนอกกลุ่มตระกูลเหล่านี้จะขยับตัวเองให้มีฐานะดีขึ้น มาได้ เพราะบรรพบุรุษไม่ได้บุกเบิกนาเอาไว้ ครั้นคนรุ่นปัจจุบันอยากจะเบิกที่นาเพิ่มก็ทำไม่ได้เนื่องจากที่ดินที่เหมาะ สมจะเบิกนาได้ถูกครอบครองและเบิกนาไปแล้วโดยกลุ่มตระกูลดังกล่าว
 
อย่างไรก็ตามการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และหอมแดงเชิงพาณิชย์และระบบ เศรษฐกิจแบบใหม่ทำให้ฐานะและช่วงชั้นภายในชุมชนมีการขยับสับเปลี่ยนไม่ผูก ขาดอยู่กับคนที่มีนาอีกต่อไป ตัวชี้วัดฐานะทางเศรษฐกิจซึ่งหมายถึงรวมสิ่งสะท้อนชนชั้นภายในชุมชนไม่ใช่ ที่นาเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังรวมถึงการมีรายได้ มีทรัพย์สินต่าง ๆ ทั้งเครื่องจักรกลและเครื่องมือในการเกษตร ยานพาหนะ รวมไปถึงที่ดินที่มีการซื้อเพิ่มเติมนอกเขตชุมชน[1]ที่ ทำให้ชาวบ้านสามารถทำการผลิตและหารายได้ (เช่นจากการรับจ้าง) เพื่อสะสมทุนได้เพิ่มขึ้น  ในสภาวะนี้ผู้ที่เคยจัดว่ามีฐานะยากจนเพราะไม่มีที่นามีโอกาสขยับฐานะทาง เศรษฐกิจขึ้นไปด้วยรายได้จากการปลูกพืชเศรษฐกิจ และฐานะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปย่อมส่งผลถึงสิทธิเสียงหรือความสัมพันธ์เชิง อำนาจระหว่างครัวเรือนเหล่านั้นกับครัวเรือนอื่น ๆ ในชุมชน
 
ทุกวันนี้รายได้หลักของชาวบ้านก่อวิละมาจากข้าวโพดเลี้ยวสัตว์และหอม แดง เมื่อนำรายได้จากการปลูกข้าวโพดปีการผลิต 2552 รวมกับรายได้จากการปลูกหอมแดงปีการผลิต 2553 พบว่า ครัวเรือนมีรายได้จากข้าวโพดและหอมแดงเฉลี่ยปีละ 118,786 บาท แต่เกือบทุกครัวเรือนมีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ 85,891 บาท คิดเป็นรายได้สุทธิเฉลี่ยครัวเรือนละ 32,895 บาท นอกเหนือจากตัวเลขนี้แล้ว ชาวบ้านยังมีรายได้จากช่องทางอื่น ๆ อีก ได้แก่ หนึ่ง รายได้จากพืชเกษตรอื่นรวมถึงรายได้ที่เกี่ยวเนื่องจากการเกษตร เช่น รายได้จากการรับจ้างโม่ข้าวโพด รายได้จากการรับจ้างขนส่งผลผลิตทางการเกษตร รายได้จากการรับจ้างแรงงาน เป็นต้น สอง รายได้จากการค้าขาย เช่น การค้าวัว หมู แพะหรือของป่า รวมถึงครัวเรือนที่เปิดเป็นร้านค้าของชำ และ สาม รายได้จากเงินเดือนประจำตำแหน่ง เช่นกรณีผู้ใหญ่บ้าน และนักการเมืองท้องถิ่น เป็นต้น  
 
เมื่อนำข้อมูลรายได้สุทธิมาวิเคราะห์ร่วมกับความสามารถในการสะสมทุนโดย พิจารณาจากการครอบครองทรัพย์สินที่เป็นรถยนต์ และที่ดินนอกเขตชุมชนที่ชาวบ้านซื้อเพิ่มเติม สามารถจัดกลุ่มฐานะทางเศรษฐกิจของชาวบ้านก่อวิละได้ 4 กลุ่ม หนึ่ง กลุ่มครัวเรือนร่ำรวย มี 14 ครัวเรือน มีรายได้สุทธิต่อปีไม่เกินสองแสนบาท บางครัวเรือนมีรายได้ค่อนข้างน้อย แต่มีที่ดิน และรถยนต์ ซึ่งรวมถึงรถโม่ข้าวโพด บางครัวเรือนเป็นเจ้าของร้านค้าของชำ ในจำนวนนี้มี 2 รายไม่มีที่นา สอง กลุ่มครัวเรือนที่มีฐานะค่อนข้างรวย มี 25 ครัวเรือน มีรายได้ต่อปีไม่เกินหนึ่งแสนบาท บางครัวเรือนจะมีรายได้มากแต่ไม่มีความสามารถในการสะสมทุน ขณะที่บางครัวเรือนแม้ว่าจะมีรายได้น้อยแต่มีความสามารถในการสะสมทุน สาม กลุ่มครัวเรือนที่มีฐานะปานกลาง มี 26 ครัวเรือน มีช่วงของรายได้สุทธิต่อปี ค่อนข้างกว้างคือตั้งแต่ติดลบไปจนถึงห้าหมื่นบาท ครัวเรือนที่มีหนี้สินส่วนใหญ่มาจากการซื้อรถยนต์ ในจำนวนนี้เป็นครัวเรือนที่มีนาถึง 17 ครัวเรือน สี่ กลุ่มครัวเรือนที่มีฐานะยากจน มี 5 ครัวเรือน ทั้งหมดมีรายได้สุทธิติดลบ ยอดติดลบมากที่สุดคือ  -50,000 บาทต่อปี  ในจำนวนนี้มีครัวเรือนที่มีนาอยู่ 1 ครัวเรือน  
 
จากการแบ่งกลุ่มฐานะข้างต้น จะเห็นได้ว่าจำนวนครัวเรือนที่มีฐานะร่ำรวยและค่อนข้างร่ำรวย ไม่ได้มีเฉพาะผู้มีนาอีกแล้ว แต่เกลี่ยไปยังคนกลุ่มอื่นในชุมชน และปรากฏว่าครัวเรือนที่ไม่มีนาก็สามารถจัดอยู่ในสองกลุ่มนี้ได้เพราะมีราย ได้และสะสมทุนจากการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ขณะที่ผู้มีนาอาจจัดเป็นผู้มีฐานะยากจนไปได้เช่นกัน ดังปรากฏว่าในกลุ่มครัวเรือนที่มีฐานะปานกลางและกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนมีนา ถึง 18 ครัวเรือน กระนั้นก็ตาม มีแนวโน้มว่าครัวเรือนฐานะดีโดยส่วนใหญ่ยังเป็นครัวเรือนที่มีนา ทั้งนี้เพราะการทำนาช่วยให้พวกเขาไม่ต้องกังวลเรื่องความมั่งคงทางอาหาร จึงสามารถใช้ที่นาปลูกข้าวได้พอกินตลอดทั้งปี จึงสามารถใช้ที่ไร่ปลูกข้าวโพดได้อย่างเต็มที่ ทั้งยังมีการปลูกข้าวโพดในที่นา หรือทำหอมแดงในบริเวณที่นาในช่วงฤดูแล้งซึ่งมีระบบเหมืองฝายอยู่แล้ว ส่วนครัวเรือนที่ไม่มีนายังจำเป็นต้องแบ่งที่ไร่ที่ส่วนหนึ่งปลูกข้าวไว้กิน
 
ระบบการผลิตใหม่ เศรษฐกิจใหม่ ฐานะใหม่
 
การปลูกข้าวโพดและพืชเชิงพาณิชย์ ทำให้ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป จนส่งผลต่อการจัดช่วงชั้นใหม่ภายในชุมชน ซึ่งอำนาจทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นย่อมหมายถึงฐานะทางสังคม หรืออำนาจทางการเมืองในการแสดงความเห็นในเรื่องต่าง ๆ ภายในชุมชนที่มากขึ้นด้วย เช่น ในด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและในด้านการพัฒนาชุมชน ความเกี่ยวโยงระหว่างอำนาจทางเศรษฐกิจกับอำนาจทางการเมืองในแง่นี้เป็น เรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากนัก อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ผู้เขียนจะยังไม่ขยายความถึงประเด็นนี้ เพียงแต่อยากชี้ให้เห็นว่าการทำความเข้าใจเหตุผลในการเพาะปลูกพืชพาณิชย์ของ ชาวบ้านไม่อาจตัดตอนพิจารณาเฉพาะในเรื่องผลตอบแทนเชิงรายได้เพียงอย่าง เดียว   
 
นอกจากอำนาจต่อรองในบรรดาสมาชิกในชุมชนแล้ว การสะสมทุนจากการปลูกพืชเศรษฐกิจยังทำให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงที่เคยแลดูเป็น “ชาวเขา” ยากจนและด้อยอำนาจสามารถขยับตนเองให้มีฐานะทางสังคมดีขึ้นท่ามกลางความ สัมพันธ์กับชาวบ้านพื้นราบอีกด้วย  ตัวอย่างเช่น การปลูกพืชเกษตรจนกระทั่งสามารถสะสมทุนมาซื้อรถยนต์ซึ่งจัดว่าเป็นเครื่อง มือการเกษตรแบบหนึ่งทำให้ชาวบ้านมีอำนาจต่อรองในระบบตลาดได้มากขึ้น เพราะผู้มีรถยนต์สามารถเลือกแหล่งจำหน่ายผลผลิตการเกษตรด้วยตนเองในช่วงที่ บรรทุกผลผลิตไปตระเวนเสนอขายและเช็คราคายังแหล่งรับซื้อต่าง ๆ แต่ผู้ที่ไม่มีรถยนต์จะต้องอาศัยว่าจ้างรถยนต์ของเพื่อนบ้านซึ่งเจ้าของรถ มักเป็นผู้ให้คำแนะนำหรือเลือกแหล่งจำหน่ายผลิตให้ด้วย การติดต่อขายผลผลผลิตกับแหล่งรับซื้อเป็นการสร้างความรู้จักมักคุ้นกันแบบ หนึ่งระหว่างเกษตรกรกับผู้รับซื้อซึ่งเป็นคนพื้นราบที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ในอำเภอแม่แจ่ม ความสัมพันธ์ทางการค้าสามารถทำให้เกษตรกร “กว้างขวาง” มากขึ้นและนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมและการเมืองในลักษณะอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากเรื่องการค้าขายข้าวโพดเพียงอย่างเดียว ในที่นี้ผู้เขียนจะยังไม่กล่าวถึงประเด็นนี้เพียงต้องการจะชี้ให้เห็นถึง ช่องทางบางประการที่ทำให้เกษตรกรสามารถขยับทั้งฐานะทางเศรษฐกิจและฐานะทาง สังคมจากการปลูกพืชเชิงพาณิชย์
 
บทความนี้ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนหรือแสดงความเห็นใด ๆ ต่อการปลูกพืชพาณิชย์ของชาวบ้านบนพื้นที่สูง เพียงแต่ต้องการสร้างความเข้าใจถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ส่งผลให้การเพาะปลูกพืชพาณิชย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นในพื้นที่สูง ผู้เขียนไม่ได้ปฏิเสธว่าผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมีส่วนสำคัญที่ทำให้ เกษตรกรเลือกปลูกพืชเหล่านั้น แต่เงื่อนไขทางเศรษฐกิจย่อมเกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ทางสังคมและการ เมืองอย่างแยกไม่ออก 
 
ในกรณีของบ้านก่อวิละจะเห็นได้ว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และหอมแดง ไม่เพียงทำให้คนที่เคยมีฐานะยากจนในชุมชนสามารถขยับฐานะทางเศรษฐกิจให้ดี ขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น แต่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่มาพร้อมกับการปลูกพืชพาณิชย์ยังทำให้นิยามหรือตัว ชี้วัดความรวย-จนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไป นั่นหมายความว่าความสัมพันธ์เชิงอำนาจในบรรดาสมาชิกชุมชน และระหว่างสมาชิกกับคนภายนอกชุมชนย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วย  
 
 

[1] ชาวบ้านก่อวิละ 17 ครัวเรือน ซื้อที่ดินรวมทั้งสิ้น 23 แปลง คิดเป็นเนื้อที่รวม 157 ไร่ เป็นจำนวนเงิน 1,121,800 บาท มีหนึ่งราย ซื้อที่ดินไว้มากสุดจำนวน 5 แปลง รวมเนื้อที่ 44.5 ไร่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น