แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การอวดอุตตริมนุสธรรมกับลัทธิบูชาตัวบุคคลในสังคมไทย

ที่มา ประชาไท


ดูรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” นำเสนอคลิปหลวงปู่เณรคำนิมิต (ฝัน) เห็นเทวดาแล้วมีคำถามทำนองว่า เข้าข่ายต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่ ผมเองเห็นว่าเป็นเรื่องดีที่สื่อหลัก สื่อรองจะนำเสนอปัญหา ตรวจสอบการกระทำของพระให้มากขึ้น เพราะพระก็คือบุคคลสาธารณะที่ต้องถูกวิจารณ์ตรวจสอบเหมือนบุคคลสาธารณะอื่นๆ
 
แต่ผมมีข้อสังเกตว่า หากเป็นเรื่องฉาวของพระเล็กพระน้อย หรือพระชื่อดังที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจคณะสงฆ์ หรืออำนาจจารีต สื่อก็จะนำเสนอข่าวอย่างเจาะลึกและต่อเนื่องมากเป็นพิเศษ ทั้งที่จริงๆแล้ว พฤติกรรมที่ถูกตั้งคำถามในเรื่องอวดอุตตริมนุสสธรรมของพระชื่อดังเป็นปัญหา มานานแล้ว แต่ก่อนหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ประกาศตนว่า “บรรลุเป็นพระอรหันต์” ก็ไม่เคยเห็นสื่อหลักนำเสนอปัญหานี้ 
 
ปัญหาวัตถุมงคลพาณิชย์ เช่นการปลุกเสกวัตถุมงคลก็มีอยู่ทั่วไป แม้แต่วัดของสมเด็จพระสังฆราชเอง แต่วัดที่ห่างจากศูนย์กลางอำนาจเท่านั้นที่ถูกวิจารณ์
 
เรื่องที่ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการอวดอุตตริมนุนสธรรมในเชิงอ้าง “ญาณวิเศษ” หยั่งรู้อดีตชาติ และรู้ว่าใครตายแล้วไปเกิดเป็นอะไรที่ไหน เช่นกรณีหลวงพ่อฤาษีลิงดำ กรณีเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย หรือแม้แต่กรณีพระผู้ใหญ่ที่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์และเป็นกรรมการมหา เถรสมาคมถูกอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ทำหนังสือร้องเรียนเรื่องต้องอาบัติปาราชิก ก็ไม่เห็นสื่อหลักสนใจจะเสนอข่าวเชิงวิเคราะห์เจาะลึกแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่อาจารย์สุลักษณ์ก็พูดปัญหานี้ต่อสาธารณะบ่อยมาก และตัวอาจารย์สุลักษณ์เองก็ไม่ใช่บุคคลลึกลับที่สื่อจะไปสัมภาษณ์สอบถามข้อ เท็จจริงไม่ได้
 
 
การอวดอุตตริมนุสสธรรมคืออะไร
 
การอวดอุตตริมนุสสธรรมไม่ใช่ปัญหาเรื่องมุมมอง เรื่องของความคิดเห็น หรือเป็นเรื่องที่ “แล้วแต่ใครจะตีความ” แต่เป็นเรื่องที่พระภิกษุในนิกายเถรวาทต้องปฏิบัติตามวินัยสงฆ์นิกายเถรวาท ที่บัญญัติไว้ในวินัยปิฎกอย่างชัดเจนว่า “ภิกษุอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน ต้องอาบัติปาราชิก” และ “ถ้าบอกอุตตริมนุสสธรรมที่มีในตนแก่อนุปสัมบัน (บุคคลที่ไม่ใช่ภิกษุและภิกษุณี) ต้องอาบัติปาจิตตีย์” หมายความว่า การอวดอุตตริมนุสสธรรมแก่ฆราวาสนั้น “ผิดวินัยสงฆ์” อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ 
 
ถ้าสิ่งที่อวดนั้นไม่จริง เช่น บอกเล่า ประกาศ หรือแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ เพื่อให้ผู้คนรู้ว่าตนเองบรรลุโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี หรืออรหันต์ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมดนั้น หรือเพื่อให้รู้ว่าตนเองมีคุณวิเศษต่างๆ เช่นสามารถระลึกชาติได้ รู้ว่าใครตายแล้วไปเกิดเป็นอะไรที่ไหน ภาษาทางศาสนาคือการอวดว่าตนเองมีวิชชา 3 อภิญญา 6 สมาบัติ 8 เป็นต้น ซึ่งตนเองไม่ได้บรรลุหรือไม่ได้มีคุณวิเศษต่างๆเหล่านี้จริง ย่อมต้องอาบัติปาราชิก 
 
แต่ถึงแม้จะบรรลุจริง มีคุณสมบัติเหล่านั้นจริง หากบอกแก่ฆราวาส (รวมทั้งสามเณรด้วย เพราะสามเณรและฆราวาสคือ “อนุปสัมบัน”) ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์ อาบัติปาราชิกมีโทษหนักคือขาดจากความเป็นพระ อาบัติปาจิตตีย์มีโทษอย่างกลาง ปลงอาบัติได้ด้วยการสารภาพผิดแก่พระภิกษุด้วยกันโดยให้สัญญาว่าจะไม่ทำเช่น นั้นอีก (หมายความว่าอาบัติต่ำกว่าปาราชิกลงมา พุทธะให้สังฆะใช้วัฒนธรรมการยอมรับ หรือสำนึกผิด การว่ากล่าวตักเตือนกันอย่างกัลยาณมิตรในการแก้ปัญหา แต่ถ้าต้องอาบัติปาราชิกก็ขาดจากความเป็นพระต้อง “สละสมณเพศ” ไปเป็นเพศฆราวาสก็ยังศึกษาปฏิบัติธรรมได้ แต่เป็นพระไม่ได้ แม้ต้องอาบัติปาราชิกแล้วไม่ยอมรับผิด ไม่ยอมสึก ก็ถือว่าขาดคุณสมบัติของพระไปแล้ว)
 
ปัญหามีว่า สำหรับผู้ที่ศรัทธาในพระชื่อดังรูปนั้นๆ เขาอาจเชื่อว่าพระรูปนั้นๆ มีญาณวิเศษจริง และหากเขาจะเชื่อจะทำบุญกับพระเช่นนั้นก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร เป็นเสรีภาพของเขา ใช่ครับหากมองจากมุมของผู้ศรัทธาย่อมเป็นเสรีภาพ แต่ถ้ามองจากหลักการพุทธศาสนาคัมภีร์ก็อธิบายว่า “พระที่บรรลุโสดาบันขึ้นไปมีคุณสมบัติที่แน่นอนคือ มีศีลบริสุทธิ์ โดยธรรมชาติหรือปกติวิสัยของพระเช่นนี้จะไม่ละเมิดวินัยสงฆ์”
 
ฉะนั้น การที่พระที่เชื่อกันว่าเป็นพระอริยะเป็นพระอรหันต์อวดอุตตริมนุสสธรรมบ่อยๆ แสดงตนหยั่งรู้การเวียนว่ายตายเกิดของบุคคลต่างๆอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องโดย ไม่ฟังเสียงท้วงติงจากการอ้างอิงวินัยสงฆ์ตรวจสอบเลยนั้น ก็แสดงว่าพระที่อ้างว่าเป็นพระอริยะเป็นพระอรหันต์นั้นทำผิดวินัยสงฆ์เป็น อาจิณ ถ้าทำผิดวินัยเป็นอาจิณก็ไม่ใช่พระอริยะจริง ไม่ใช่พระอรหันต์จริง
 
 
เหตุผลที่ห้ามพระอวดอุตตริมนุสธรรม
 
ในวินัยปิฎกกล่าวถึงสาเหตุที่พุทธะบัญญัติวินัยสงฆ์ห้ามภิกษุอวดอุตตริ มนุสสธรรมว่า เกิดจากกรณีภิกษุมากรูปที่จำพรรษาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา ในวัชชีชนบท สมัยนั้นเกิดปัญหาทุพภิกขภัย พระภิกษุบิณฑบาตไม่พอฉัน พระเหล่านั้นจึงออกอุบายสรรเสริญคุณวิเศษของกันและกันให้ญาติโยมฟังว่า พระรูปนั้นรูปนี้บรรลุมรรคผลขั้นนั้นขั้นนี้ มีคุณวิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ จนญาติโยมเลื่อมใสเลือกสรรอาหารที่ดีที่สุด แม้จะหามาได้ยากมาก แต่ก็ไม่ยอมบริโภคเอง พากันนำไปถวายพระที่ถูกยกย่องว่าเป็นพระอริยะ เป็นอรหันต์ มีคุณวิเศษต่างๆ 
 
ต่อมาเมื่อพุทธะทราบเรื่อง จึงสอบถามภิกษุเหล่านั้นว่ามีคุณวิเศษต่างๆ จริงตามที่อวดชาวบ้านหรือไม่ ภิกษุเหล่านั้นตอบว่าไม่มี พุทธะจึงจึงตำหนิการกระทำของภิกษุเหล่านั้น และบัญญัติวินัยว่า “ภิกษุอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตนต้องอาบัติปาราชิก” และหากบอกอุตตริมนุสสธรรมที่มีในตนแก่อนุปสัมบัน (สามเณรและฆราวาส ยกเว้นภิกษุกับภิกษุณี) ต้องอาบัติปาจิตตีย์
 
เหตุผลที่พุทธะบัญญัติวินัยสงฆ์ข้อนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้พระสงฆ์ใช้ วิธีการหลอกลวงหากินกับชาวบ้าน หรือมุ่งแสวงหาลาภสักการะ หรือผลประโยชน์จากชาวบ้าน พุทธะกล่าวเปรียบเทียบการอวดอุตตริมนุสสธรรมเพื่อทำการตลาดเรียกความศรัทธา เลื่อมใสจากชาวบ้านว่าเป็นการกระทำเยี่ยง “ยอดมหาโจร” 
 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง
นี้จัดเป็นยอดมหาโจร ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ
พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้น ฉันก้อนข้าวของชาว
แว่นแคว้น ด้วยอาการแห่งคนขโมย (วินัยปิฎก เล่ม 1 ข้อ 230)
 
(ภาษาคัมภีร์เป็นภาษาในบริบทวัฒนธรรมอินเดียโบราณที่เชื่ออยู่ก่อนว่า มีโลกต่างๆ หลายโลก แม้ในปัจจุบันคนอินเดียก็ยังเชื่อเช่นนั้น มีผู้ลองคำนวณว่าเทพเจ้าที่คนอินเดียนับถือมีประมาณสามแสนองค์ – ดู กฤษณมูรติ.ศาสนาแบ่งแยกมนุษย์, หน้า 7)
 
 
การอวดอุตตริมนุสสธรรมกับลัทธิบูชาตัวบุคคล
 
ที่จริงการอวดอุตตริมุสธรรม ถ้าพูดในภาษาปัจจุบันก็คือการโฆษณาชวนเชื่อเกินความเป็นจริง หรือการโกหกหลอกลวงนั่นเอง พุทธะไม่ต้องการให้สาวกของท่านทำแบบนั้น เพราะไม่เป็นที่ตั้งแห่ง “ความเลื่อมใส” 
 
เป็นที่ตั้งแห่ง “ความเลื่อมใส” แต่เดิมนั้นหมายความว่า พระอริยะหรือพระอรหันต์มีสถานะเป็น “คุรุทางธรรม” มีชีวิตเรียบง่ายไม่เกี่ยวข้องกับลาภสักการะ หรือยศถาบรรดาศักดิ์ ส่วนผู้ที่แสวงหาพระอริยะหรือพระอรหันต์นั้นก็ไม่ใช่ผู้ที่มุ่งการบริจาค ทรัพย์ทำบุญกับพระอริยะหรือพระอรหันต์ แต่คือผู้ที่แสวงหากัลยาณมิตรทางปัญญาที่จะแลกเปลี่ยนสนทนา หรือให้คำอธิบายที่ทำให้เข้าใจความทุกข์และทางพ้นทุกข์ได้ เช่น การแสวงหาพระอรหันต์ของ อุปติสสะ (สารีบุตร) กับโกลิต (โมคคัลลานะ) ก็แสวงหาเพื่อจะได้ฟังธรรม พอฟังธรรมเสร็จก็บรรลุธรรมหรือรู้แจ้งธรรม หรือการแสวงหาพุทธะของพาหิยะเมื่อพบพุทธะกำลังเดนบิณฑบาตบนถนนก็เร่งเร้าให้ ท่านแสดงธรรมให้ฟัง จนกลายมาเป็นเค้าเรื่องให้นักเขียนฝรั่งไปแต่งนิยาย “กามนิต-วาสิฏฐี” เป็นต้น
 
แม้พุทธะก็นิยามตัวท่านเองว่าเป็นกัลยาณมิตรทางปัญญาของผู้คนเท่านั้น เป็นมนุษย์ธรรมดา ไม่ได้เป็น ”อภิมนุษย์” หรือผู้วิเศษอะไร หลายๆ เรื่องพุทธะก็สอนสาวกของท่านไม่ได้ พระชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะขัดแย้งกัน แบ่งออกเป็นสองฝ่าย พุทธะไปเทศนาให้ปรองดองกันถึงสามวาระพระภิกษุเหล่านั้นก็ไม่เชื่อฟัง พระเทวทัตซึ่งเป็นญาติกันก็ไม่เชื่อฟังท่าน อดีตอำมาตย์คนสนิทที่มาบวชพระก็ไม่เชื่อฟังท่านเป็นต้น
 
ต่อมาหลังสมัยพุทธกาล เมื่อพุทธศาสนาอยู่ในบริบทการแข่งขันช่วงชิงศาสนิกกับต่างศาสนามากขึ้น การโปรโมทความเป็นอภิมนุษย์ ความเป็นส้พพัญญูเชิงมีอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์ของพุทธะและพระอรหันต์จึงมีมาก ขึ้นในคัมภีร์ชั้นหลังๆ 
 
ในขณะเดียวกันก็มีการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องอานิสงส์การทำบุญ (ซึ่งแต่เดิมหมายถึงทำเพื่อสละความเห็นแก่ตัว และให้เห็นแก่ส่วนรวม) อย่างวิจิตรพิสดารมากขึ้น เช่น สร้างโบสถ์วิหารแล้วตายไปจะเกิดเป็นเทพบุตรมีนางฟ้าห้าร้อยเป็นบริวาร หรืออย่างปัจจุบันโฆษณาชวนเชื่อว่าบริจาคมากรวยมาก ทำบุญแล้วเกิดมารวย สวย หล่อ ถวายกระเป๋าหลุยส์ วิตตอง ชาติหน้าจะมีกระเป๋าหลุยส์ วิตตอง ใช้อีก ฯลฯ
 
กล่าวโดยรวดรัด การอวดอุตตริหรืออวดคุณวิเศษเกินจริงได้กลายเป็น “วัฒนธรรม” ไปแล้วเมื่อพุทธศาสนารวมเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐ หรือกลายเป็น “ศาสนาแห่งรัฐ” พุทธศาสนาเช่นนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือสร้าง “ลัทธิบูชาตัวบุคคลเหนือหลักการ” ขึ้นมาที่ชัดเจน คือ
 
สร้างลัทธิบูชาชนชั้นปกครองให้เป็นพระโพธิสัตว์หรือแม้กระทั่งเป็นพระ พุทธเจ้า เช่น เรียกกษัตริย์ว่า “พระพุทธเจ้าหลวง” เป็นต้น คำราชาศัพท์ที่ว่า “ข้าพระพุทธเจ้า” ก็แปล่า “ข้าของพระพุทธเจ้า (ที่เป็นกษัตริย์)”
 
สร้างลัทธิบูชาตัวบุคคลที่เป็นพระสงฆ์ด้วยการโปรโมทความเป็นพระอริยะ พระอรหันต์ โปรโมทความเป็น “เนื้อนาบุญ” ที่มีอานุภาพดลบันดาลความมั่งคั่งร่ำรวย อำนาจวาสนาทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้บริจาคทำบุญตั้งความปรารถนา 
 
ลัทธิบูชาตัวบุคคลดังกล่าวทำให้สถานะของบุคคลที่ถูกยกย่องอยู่ เหนือหลักการที่ถูกต้อง เช่น ทำให้สถานะที่ตรวจสอบไม่ได้ของชนชั้นปกครองอยู่เหนือหลักการประชาธิปไตย และทำให้พระสงฆ์ที่ถูกโปรโมทว่าเป็นอริยะ อรหันต์ อยู่เหนือหลักการพระธรรมวินัย
 
เวลามีใครอ้างอิงหลักการประชาธิปไตยเรียกร้องสิทธิตรวจสอบชนชั้นปกครอง ก็จะถูกต่อต้านโดยผู้คนจำนวนมากที่ถูกปลูกฝังกล่อมเกลาให้เชื่ออย่างฝังหัว ในลัทธิบูชาชนชั้นปกครอง และเวลามีใครอ้างหลักการพระธรรมวินัยตรวจสอบพระชื่อดังที่อวดอุตตริมนุ สสธรรม ก็จะมีบรรดาผู้ศรัทธาจำนวนมากออกมาคัดค้าน เพราะเชื่อในความดีของตัวบุคคลเหนือความเชื่อในหลักการ
 
ปัญหาปรากฏการณ์พระชื่อดังอวดอุตตริมนุสสธรรมที่เกิดมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีคำตอบว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด จึงสะท้อนให้เห็นปัญหาในระดับรากฐานของสังคมไทยคือ ปัญหาการใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือสร้าง “ลัทธิบูชาตัวบุคคลเหนือหลักการ” เพื่อปกป้องสถานะ อำนาจ ผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองและพระสงฆ์เอง
 
อันเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกมายาวนานจนเป็นอุปสรรคที่ยากยิ่ง ต่อการสร้างวัฒนธรรมเคารพหลักการประชาธิปไตย และหลักการพระธรรมวินัยอย่างสอดคล้องกับโลกสมัยใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น