แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สุรพศ ทวีศักดิ์: ลัทธิบูชาตัวบุคคลในพุทธศาสนาแห่งรัฐ

ที่มา ประชาไท


 

“ ท่านพุทธทาสก็คิดว่า

ทุกคนมีเสรีภาพตีความพระไตรปิฎก

และปฏิบัติธรรมหรือแปลความหมายของธรรม

ที่เป็นพุทธวัจนะมาสู่ชีวิตตนเองได้โดยตรง

ไม่จำเป็นต้องผ่านพระสงฆ์ หรือองค์กรสงฆ์ ”

 
 
(จากแฟ้มภาพกลุ่มพุทธทาสศึกษา)
 
 
 
พักเรื่อง “พุทธศาสนากับประชาธิปไตย ตอนที่ 15” เอาไว้ก่อน ขอแวะพูดถึงเรื่องฮ็อตในวงการสงฆ์ที่กลายเป็นประเด็นวิจารณ์กันอื้ออึงในโซ เชียลมีเดียและในสื่อหลักกว่าสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เช่นเรื่องพระนำรถโบราณราคาแพงมาจอดโชว์ที่วัดโดยอ้างว่าเป็น “กุสโลบายละความโลภ” พระนั่งเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวใช้กระเป๋าหลุยส์ วิตตอง  พระนักปฏิบัติชื่อดังที่สึกกะทันหันและจดทะเบียนสมรสกับสาวไฮโซหลังสึกเพียง ไม่กี่วัน เป็นต้น
 
ที่จริงแล้วเรื่องราวในข่าวเป็นเพียงปัญหาปลายเหตุ หากคิดว่านั่นจะทำให้พุทธศาสนาเสื่อม ก็ต้องถามว่าพุทธศาสนาที่มั่นคงมีหน้าตาเป็นอย่างไร เท่าที่เห็นพูดกันอยู่ในปัจจุบันเวลาพูดถึงความมั่นคงของพุทธศาสนา หากเป็นมุมมองจากสถาบันสงฆ์ และชาวพุทธที่ถูกกล่อมเกลามาภายใต้วัฒนธรรมการศึกษาทางพุทธศาสนา ประเพณีพิธีกรรมแบบ “พุทธศาสนาแห่งรัฐ” หมายถึงพุทธศาสนาที่ผ่านการเผยแผ่ขององค์กรปกครองสงฆ์ที่ขึ้นต่ออำนาจรัฐ ความมั่นคงของพุทธศาสนาย่อมหมายถึงความมั่นคงของสถาบันสงฆ์ที่ขึ้นต่ออำนาจ รัฐ
 
แต่ถามว่า ความมั่นคงของพุทธศาสนาแห่งรัฐดังกล่าวสอดคล้องกับความงอกงามของพุทธศาสนา เชิงเนื้อหาสาระที่ไปกันได้กับคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่มีความเสมอภาค และเสรีภาพแบบโลกสมัยใหม่หรือไม่?
 
คำตอบคือ “ไม่” เพราะสังฆะที่พุทธะก่อตั้งขึ้นมีความเสมอภาค เสรีภาพ ภราดรภาพ ปกครองตนเองอย่างเป็นอิสระจากการแทรกแซงของอำนาจรัฐ สังฆะดังกล่าวจึงเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้เพื่อแปลความหมายของธรรมะมาสู่การ จัดระเบียบชุมชนให้อยู่ร่วมกันอย่างเคารพความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ และมีความเป็นพี่เป็นน้อง ช่วยเหลือสนับสนุนกันและกันในการศึกษาธรรมเพื่อให้แต่ละคนมีเสรีภาพในการ แสดงออก และมีเสรีภาพด้านในตามศักยภาพแห่งตน
 
แต่องค์กรสงฆ์ปัจจุบันเป็นระบบอำนาจนิยมชนชั้น เปรียบเทียบก็คือ ในอดีตพุทธะและสมาชิกแห่งสังฆะมาจากวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร เมื่อเข้ามาอยู่ในระบบสังฆะ วรรณะนั้นๆ ก็ถูกยกเลิกไปกลายเป็นสมาชิกแห่งสังฆะที่มีความเสมอภาค เช่นมีไตรจีวร อัฐบริขารเท่ากัน แสดงความเคารพกันตามอาวุโสทางพรรษา แต่มีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ว่ากล่าวตักเตือนกันภายใต้วัฒนธรรมความเป็น พี่เป็นน้องที่มีป้าหมายคืออิสรภาพทางจิตวิญญาณร่วมกัน ทว่าองค์กรสงฆ์ปัจจุบัน พระสงฆ์มาจากลูกชาวบ้านแล้วไต่เต่าไปสู่ชนชั้นทางสมณศักดิ์และอำนาจ ซึ่งในที่สุดก็มักเป็นที่มาของผลประโยชน์ทางวัตถุเงินทอง
 
ที่สำคัญบทบาทของพุทธศาสนาแห่งรัฐคือการสถาปนาสถานะศักดิ์สิทธิ์ของชน ชั้นปกครอง จะเห็นว่าระบอบราชาธิปไตยของทุกประเทศในเอเชียอาคเนย์ ล้วนแต่อ้างพุทธศาสนายกย่องกษัตริย์ให้เป็นเทพยดา เป็นพระโพธิสัตว์ ในธิเบตถือว่าทะไลลามะเป็นพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ กัมพูชากษัตริย์เป็นอวตารของพระนารายณ์
 
สำหรับไทยนั้นกษัตริย์เป็นทั้งพ่อปกครองลูก เป็นสมมติเทพ เทวราชา ธรรมราชา เป็นอวตารของพระนารายณ์ เป็นพระโพธิสัตว์ กระทั่งเป็นพระพุทธเจ้า ดังหลักฐานที่ชัดเจนคือคำราชาศัพท์ที่ใช้มาถึงปัจจุบัน “ข้าพระพุทธเจ้า” ก็หมายความว่าพสกนิกรคือ “ข้าของพระพุทธเจ้า (ที่เป็นกษัตริย์)” นั่นเอง
 
นอกจากนี้ พุทธศาสนาแห่งรัฐยังสถาปนาสถานะศักดิ์สิทธิ์ของพระสงฆ์ว่าเป็น “เนื้อนาบุญ” ที่มีอานุภาพดลบันดาลให้ผู้บริจาคทำบูญได้ทุกสิ่งที่ปรารถนา ทั้งทรัพย์สิน เงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์ ความสำเร็จในชีวิต การงาน ความรัก การแก้กรรม ไปจนถึงได้สวรรค์ นิพพาน เป็นต้นตามที่ผู้บริจาคทำบุญตั้งจิตอธิษฐาน
 
พุทธศาสนาแห่งรัฐจึงสร้าง “อภิมนุษย์ทางโลก” คือชนชั้นปกครองในระบบเก่า และ “อภิมนุษย์ทางธรรม” คือพระสงฆ์ผู้มีคุณวิเศษต่างๆ เป็นพระอริยะ อรหันต์ แต่มีข้อน่าสังเกตว่าในประวัติศาสตร์พุทธศาสนานั้น ปรากฏรายชื่อพระอรหันต์เฉพาะในสมัยพุทธกาล มาถึงยุคพระเจ้าอโศก ในไทยตั้งแต่ยุคสุโขทัยเป็นต้นมาไม่ปรากฏรายชื่อพระอรหันต์เลย เพิ่งมาปรากฏรายชื่อพระอรหันต์มากเป็นพิเศษตั้งแต่ยุคพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นต้นมา ซึ่งพระอรหันต์ก็มักเป็นพระในนิกายธรรมยุตที่เจ้าเป็นผู้สถาปนาขึ้น
 
นี่หมายความว่า พุทธศาสนาแห่งรัฐได้สร้าง “ลัทธิบูชาตัวบุคคล” ขึ้นมาครอบงำจิตสำนึกของผู้คน แต่พุทธะไม่ได้สอนให้บูชาตัวบุคคล ให้เราเคารพตนเอง เชื่อมั่นในสติปัญญาของตนเอง พึ่งตนเองได้ ปกครองตนเองได้และให้เคารพหลักการคือ “ธรรมวินัย”  ก่อนปรินิพพานพุทธะมอบ “ธรรมวินัย” ให้เป็นศาสดาของชาวพุทธ ซึ่งหมายความว่าให้ชาวพุทธยึดถือหลักการยึดธรรมวินัยเป็นหลักในการฝึกตน เพื่อความงอกงามทางปัญญาและกรุณา เพื่อความมีมโนธรรมสำนึกต่อส่วนรวมและมีอิสรภาพด้านใน ไม่ตกเป็นทาสของการครอบงำใดๆ
 
ถึงตรงนี้ ผมนึกถึงท่านพุทธทาสภิกขุซึ่งก็เหมือนกับมาร์ติน ลูเธอร์ ที่เป็นนักคิดสำคัญในการปฏิรูปศาสนาในนิกายโปรเตสแตนท์ โดยเขากลับไปหาพระคัมภีร์ ยืนยันว่าชาวคริสต์ทุกคนมีเสรีภาพตีความคัมภีร์ เข้าใจพระคัมภีร์ และเข้าถึงพระเจ้าได้โดยตรงไม่จำเป็นต้องผ่าน "สื่อกลาง" คืออำนาจศาสนจักร และนักบวช ท่านพุทธทาสก็คิดทำนองเดียวกันว่าทุกคนมีเสรีภาพตีความพระไตรปิฎก และปฏิบัติธรรมหรือแปลความหมายของธรรมที่เป็นพุทธวัจนะมาสู่ชีวิตตนเองได้ โดยตรง ไม่จำเป็นต้องผ่านพระสงฆ์ หรือองค์กรสงฆ์ ดังที่ท่านบรรยายเรื่อง "บวชอยู่ที่บ้าน" เป็นต้น
 
เมื่อได้เถียงกับเพื่อนที่บวชเรียนมาสายพระ เขาอ้างว่า "ถวายเครื่องบินเจ็ต รถโรลสรอยซ์ แก่พระทุกวันนี้เป็นเรื่องจิ๊บๆ ในสมัยพุทธกาลเขาสร้างวัดถวายพระพุทธเจ้า เป็นห้าร้อยกว่าล้าน พันล้าน..." ผมฟังแล้วก็รู้ว่านี่คือปัญหาการศึกษาพุทธศาสนาแบบ "ท่องจำตามคัมภีร์อรรถกถา" ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่แต่งขึ้นหลังพุทธกาลราว 1,000 ปี (พระพุทธโฆษาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์อรรถกถาเกิด พ.ศ.956 การศึกษาคณะสงฆ์ไทยเดินตามคัมภีร์ของพระพุทธโฆษาจารย์เป็นส่วนมาก)
 
แต่ท่านพุทธทาสปฏิเสธระบบการศึกษาพุทธศาสนาแห่งรัฐ แล้วกลับไปหาคัมภีร์อย่างวิพากษ์ ท่านปฏิเสธอรรถกถา ปฏิเสธอภิธรรม ยืนยันวินัยปิฎก กับสุตตันตปิฎก แต่เน้นการนำเสนอคำสอนในพระสูตรหรือสุตตันตปิฎก 
 
ถามว่า ทำไม "คำบรรยายธรรม" ของท่านพุทธทาสเป็นเหตุเป็นผล มีความสอดคล้องทางตรรกะในตัวเองสูงมาก คำตอบก็เพราะนั่นคือคำบรรยายที่ถอดความมาจากพระสูตรอันเป็นคำสอนที่เชื่อกัน ว่าน่าจะตรงตามที่พุทธะสอนมากที่สุด
 
แต่การศึกษา การสอน ประเพณีพิธีกรรมของพุทธศาสนาแห่งรัฐที่ยึดติดคัมภีร์อรรถกถา และอ้างอิงเนื้อหาในคัมภีร์อรรถกถามาสร้างลัทธิบูชาตัวบุคคลคือต้นเหตุของ วัฒนธรรมโปรโมทพระอริยะ พระอรหันต์ และการแข่งขันทำการตลดาขายบุญในปัจจุบัน
 
ต้องปฏิรูปพุทธศาสนาขนานใหญ่ โดยทำให้พุทธศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ จึงจะสามารถเลิกลัทธิบูชาตัวบุคคลไปสู่วัฒนธรรมการเคารพหลักการธรรมวินัย อย่างสอดคล้องกับวัฒนธรรมเคารพหลักการประชาธิปไตยได้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น