แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

นักปรัชญาชายขอบ: พื้นที่ทางสังคมของพุทธศาสนาไทยๆ

ที่มา ประชาไท


ถามว่าตัวคำสอนพุทธศาสนามีมิติทางสังคม คือมีมโนทัศน์ (Concepts) คำอธิบายเกี่ยวกับสังคมการเมืองที่ดี ที่ควรจะเป็นหรือไม่ หรือว่าคำสอนของพุทธศาสนามีเพียงมิติปัจเจก คือมีมโนทัศน์ คำอธิบายเกี่ยวกับความหลุดพ้นทางจิตวิญญาณหรือการมีชีวิตที่ดีส่วนบุคคลเท่า นั้น
 
คำตอบคือ คำสอนพุทธศาสนามีมิติทางสังคมแน่นอน และเมื่อว่าเฉพาะสังคมไทย อิทธิพลของการแปรมิติทางสังคมของพุทธศาสนา เช่น คำสอนเรื่องทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร ราชสังคหวัตถุ เป็นต้น มาเป็นปรัชญาการเมืองการปกครอง และสถาปนาสถานะความเป็นเทพ เป็นพระโพธิสัตว์ หรือกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้าของชนชั้นปกครองในระบอบราชาธิปไตยนั่นเอง ที่สถาปนาพุทธศาสนาให้เป็น “ศาสนาแห่งรัฐ” ปลูกฝังความทรงจำและสำนึกร่วมทางประวัติศาสตร์ว่า พุทธศาสนากับชนชั้นปกครองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความมั่นคงของพุทธศาสนากับความมั่นคงของรัฐ (ชนชั้นปกครอง) ไม่อาจแยกขาดจากกันได้ ความทรงจำและสำนึกร่วมนี้พัฒนามาถึงขีดสุดในนามของอุดมการณ์จงรักภักดีต่อ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์”
 
มองจากความทรงจำและสำนึกร่วมทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว จะเห็นได้ชัดว่า “พื้นที่ทางสังคม” ของพุทธศาสนาครอบคลุมกว้างขวางและลึกซึ้งมาก ในเชิงนามธรรมเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์รัฐ ซึ่งกำหนดให้พุทธศาสนามีบทบาทหลักในการปลูกฝังความเชื่อที่ค้ำจุนสถานะ อำนาจ ของชนชั้นปกครอง ในเชิงรูปธรรมอุดมการณ์ดังกล่าวได้กำหนดโครงสร้างสถาบันสงฆ์ที่ขึ้นต่ออำนาจ รัฐ และกำหนดเนื้อหาคำสอนของพุทธศาสนาส่วนไหนบ้างที่ควรนำมาศึกษา สั่งสอน เผยแผ่ แปรเป็นพิธีกรรม ในการอบรมปลูกฝังกล่อมเกลาศีลธรรมจรรยาของคนในชาติ กำหนดกรอบในการตีความ การกำกับควบคุมความหมายของธรรมวินัยอย่างไร ควรจัดให้มีการเรียนวิชาพุทธศาสนาในโรงเรียน สวดมนต์หน้าเสาธงอย่างไร เป็นต้น
 
นอกจากพื้นที่ทางสังคมของพุทธศาสนาจะแสดงออกผ่านอุดมการณ์รัฐ ผ่านบทบาทของสถาบันสงฆ์ และการศึกษาแบบทางการแล้ว พุทธศาสนาไทยๆ ยังเข้าไปแสดงบทบาทในพื้นที่ชีวิตส่วนตัวของปัจเจกบุคคลและพื้นที่ทางสังคม แทบทุกพื้นที่ เป็นบทบาทของ “ตำรวจทางศีลธรรม” คอยจ้องมอง จับผิด หรือตัดสินถูก ผิด ควร ไม่ควร มิบังควร ไปจนถึงประณาม สาปแช่ง
 
เช่น ไปตัดสินว่าคนที่เกิดมาเป็นเพศที่สามที่สี่เป็นเพราะ “บาป” ในชาติก่อน เนื่องจากชาติที่แล้วประพฤติผิดศีลข้อสาม ผิดลูกผิดเมียคนอื่น กรรมเลยตามสนองให้เกิดมาผิดเพศในชาตินี้ กระทั่งคนที่มีองคชาติเล็ก กลาง ใหญ่ ก็เกิดจากกรรมเก่าในอดีตชาติ ไปจนถึงคอยกำกับจิตใจคนว่าคิดอย่างนี้อย่างนั้นบาป ไม่บาป โดยเฉพาะคิดเกี่ยวกับเรื่องด้านลบของบุคคลที่ถูกยกย่องศรัทธาว่ามีคุณธรรม สูงส่ง เป็นพระเป็นพระเป็นเจ้า แม้แต่คิดก็บาปแล้ว ไม่ควรคิด อย่าว่าแต่จะตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์เลย
 
พุทธศาสนาไทยๆ เข้าไปยุ่มย่ามในพื้นที่ทางสังคมเต็มไปหมด เช่น ละครหลังข่าวจบ มีพระเซเลบไปเทศนาสอนว่าละครเรื่องนี้สอนธรรมะอะไร เพราะเป็นห่วงว่าชาวบ้านเขาคิดเองไม่เป็น เข้าไปในพื้นที่ทางการเมืองแต่เป็นการอ้างศีลธรรม อ้างคำพระประณามนักการเมือง กดเหยียดประชาชนว่าไม่มีศักยภาพจะใช้อำนาจอย่างมีศีลธรรม แต่สรรเสริญคุณธรรมของชนชั้นปกครองในระบบเก่า อ้างศีลธรรมสนับสนุนการรักษากฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ในสถานการณ์ที่รัฐบาลใช้ กำลังทหารและกระสุนจริงสลายการชุมนุม พระบางรูปเทศนาสนับสนุนความรุนแรงในการปราบปรามนักศึกษาประชาชนที่เรียกร้อง ประชาธิปไตย
 
นอกจากนี้พุทธศาสนาไทยๆ ยังเข้าไปละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในพื้นที่สื่อสาธารณะ เช่น กรณีที่พระสงฆ์และชาวพุทธบางกลุ่มกดดันให้รายการ “คิดเล่นเห็นต่าง” ทาง Voice TV ออกมาขอโทษกรณีวิจารณ์การสวดมนต์ข้ามปี เป็นเหตุให้รายการดังกล่าวงดพูดเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาไปเลย ผมพูดเรื่องนี้บ่อยเพราะถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นเรื่องที่ทำกันในนามปกป้องพุทธศาสนาสร้าง “ตราบาป” ละเมิดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพของสื่อสาธารณะในโลกสมัยใหม่
 
นอกจากบทบาท “ตำรวจทางศีลธรรม” ที่คอยปลูกฝังควบคุมกำกับจิตสำนึกความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และแทรกแซงจับผิดเข้าไปในพื้นที่ชีวิตส่วนตัว พื้นทางสังคมการเมืองดังกล่าวแล้ว บทบาทนำในทางส่งเสริมเสรีภาพ ความเป็นธรรม สันติภาพของพุทธศาสนาไทยๆ แทบไม่ปรากฏเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่รัฐใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนในประเทศ หรือเรื่องชาวพุทธด้วยกันเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงกับคนในศาสนาอื่น ก็ไม่เห็นองค์กรปกครองสงฆ์ไทยแสดงท่าทีอะไรเลย (หากจะมีก็เป็นเรื่องของพระหรือชาวพุทธรายบุคคล)
 
เพราะการที่พุทธศาสนาไทยแสดงบทบาทตำรวจทางศีลธรรมก้าวล้ำเข้าไปใน พื้นที่ชีวิตและพื้นที่ทางสังคมในแทบทุกมิติ และเข้าไปในท่วงทำนองควบคุมกำกับด้วยมาตรฐานถูก ผิด ควร ไม่ควร มิบังควรอย่างคลุมเครือหรืออย่างลดทอนเสรีภาพและความเป็นมนุษย์อย่างโลกย์ๆ หรือความเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพและความเท่าเทียมในความหมายของโลกสมัยใหม่ ดังกล่าว จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกโชเชียลมีเดีย
 
เฟซบุ๊ก คือพื้นที่หนึ่งที่บรรดาผู้แสดงความเห็นทางการเมือง ศาสนา และเรื่องอื่นๆ ต้องการสิทธิแสดงออกบนพื้นฐานของหลักการสากล คือ “freedom of speech” ลำพังการถูกจำกัดสิทธิโดยกฎหมายที่คลุมเครืออย่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ ม.112 ก็เป็นเรื่องที่หนักหน่วงอยู่แล้ว พวกเขาจึงไม่ต้องการ “ตำรวจทางศีลธรรม” ไปอ้างคำพระ อ้างคำสอนศาสนาจับผิด หรืออบรมสั่งสอนศีลธรรมว่าด้วยท่วงทีวาจาอะไรต่ออะไรอีกแล้ว ฉะนั้น ในโลกเฟซบุ๊กจึงมีคนจำนวนหนึ่งสร้างเพจล้อเลียนศาสนา ศีลธรรมจรรยา พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ขนบจารีตแบบไทยๆ กระทั่งเสนอให้ “ยกเลิกความเป็นไทย” หรือพุทธศาสนาไทยๆ ที่ชอบทำหน้าที่ตำรวจทางศีลธรรมด้วยการอ้างบรรทัดฐานที่คลุมเครือมาทับซ้อน แทรกแซง ลดทอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามมาตรฐานสากล ที่เป็นมาตรฐานการแสดงออกในเรื่องสาธารณะอย่างโลกย์ๆ
 
เพราะพวกเขาต้องการชีวิตทางสังคมการเมืองอย่างโลกย์ๆ ไม่ใช่สังคมการเมืองของผู้ทรงศีลธรรมสูงส่งที่นิยมใช้ศีลธรรมแต่งหน้าให้ตัว เองดูดี หรืออ้างศีลธรรมบังหน้า กระทั่ง “บังตา” ไม่ให้เห็นโครงสร้างอันอยุติธรรมและรุนแรง และประวัติศาสตร์ความโหดร้ายป่าเถื่อนที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาครั้งแล้ว ครั้งเล่า!
 
น่าสงสัยเหลือเกินว่า บรรดาตำรวจทางศีลธรรมเขาเคยสำเหนียกบ้างหรือเปล่าว่า สำหรับคนที่ยืนยันเสรีภาพและความเท่าเทียมในการแสดงออกเชิงสาธารณะนั้น พวกเขาอาจรู้สึกเฉยๆ กับคำด่าหยาบๆ คายๆ อาจมองสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องไร้สาระเกินกว่าจะใส่ใจ
 
แต่พวกเขาอาจรับไม่ได้ เจ็บปวด หรือกระทั่งรังเกียจการใช้ภาษาศีลธรรมทางศาสนา การอ้างคำพระมาจับผิด หรือตัดสินท่าที ท่วงทีวาจาที่พวกเขาแสดงออก โดยละเลย “เนื้อหา” หรือประเด็นความคิดที่พวกเขาเสนอ
 
เพราะตราบใดที่การแสดงออกของพวกเขาไม่ละเมิดเสรีภาพและศักดิ์ศรีความ เป็นมนุษย์ของคนอื่น ยังอยู่ในกรอบของ freedom of speech ศีลธรรมทางศาสนาที่ว่าด้วยเรื่องควร ไม่ควร มิบังควรในการพูด ควรพูดน้อย พูดมาก มีประโยชน์ไม่มีประโยชน์ ฯลฯ ก็ไม่ควรเข้าไปพิพากษาตัดสินพวกเขา ศีลธรรมทางศาสนาแบบสร้างจินตภาพ“บุคคลที่ดีงามด้วยกาย วาจา ใจ” ควรเป็นเรื่องรสนิยมของปัจเจกบุคคลเท่านั้น ใครทำได้ปฏิบัติได้ก็เป็นเรื่องความดีส่วนตัวของบุคคลนั้น ไม่ควรเอามาตรฐานที่ตัวเองทำได้ (?) ไปตัดสินคนอื่น
 
หรือหากจะใช้ศีลธรรมทางศาสนามาตั้งคำถาม ก็ควรใช้กับบรรดาคนที่อ้างศาสนาอ้างศีลธรรม อ้างการปล่อยวาง เสียสละ เมตตา ฯลฯ สั่งสอนคนอื่นๆ มากกว่าว่าทำไมพวกเขาเหล่านั้นถึงไม่ยอมปล่อยวางสถานะ อำนาจ ระบบ จารีตเก่าที่ไม่สมสมัย ทำไมจึงยังอยากขยายอำนาจ สะสมความมั่งคั่งจากทรัพย์บริจาค อ้างเป็นพระอรหันต์จนร่ำรวยถอยรถเบนซ์ 10 คัน ในเวลา 3 ปี คิดเป็นเงิน 100 ล้าน แถมมีบ้านเดี่ยวในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแน่นอนไม่มีแต่หลวงปู่เณรคำรูปเดียวนี้แน่ๆ
 
น่าเสียดายที่ศีลธรรมแบบพุทธศาสนาแห่งรัฐ หรือพุทธศาสนาไทยๆ ยิ่งขยายพื้นที่ทางสังคมออกไปมากเท่าไร ยิ่งส่งผลกระทบในทางลบต่อพื้นที่เสรีภาพและความเท่าเทียมมากขึ้นทุกที แทนที่จะขยายออกไปเพื่อสนับสนุนเสรีภาพและความเท่าเทียม เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่า 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น