จากนั้นทางสังคมออนไลน์ของ กลุ่มคนเสื้อแดงได้เข้าไปในเฟซบุ๊กของคุณปาริชาติ ที่ใช้ชื่อว่า “ปาริชาติ บุญสร้อย” เพื่อต่อว่าในทำนองที่ว่าทรยศคนเสื้อแดง รับเงินประชาธิปัตย์มาเพื่อใส่ร้ายป้ายสีคนเสื้อแดง พร้อมกับตั้งข้อสังเกตกันว่าคุณปาริชาติไม่ได้เป็นเสื้อแดงกลับใจจริง เพราะล่าสุดวันที่ 12 พฤศจิกายน เธอยังเพิ่งโพสต์ข้อความด่าการชุมนุมของพรรคประชาธิปัตย์อย่างหยาบคาย แต่เพราะรับเงินมาจึงยอมทรยศคนเสื้อแดง และยังนำรูปมาเปิดเผยว่า เธอเพิ่งซื้อรถป้ายแดง ซื้อบ้านใหม่ จึงไม่น่าจะจนมากตามที่อ้าง
รายงาน ข่าวเปิดเผยว่า นางสาวปาริชาติได้แต่งงาน และอยู่กับสามีที่ชื่อว่าพูนทรัพย์ บุญสร้อย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และสามีก็เป็นคนเสื้อแดง แต่คุณปาริชาติมีความรู้สึกว่าตัวเองถูกหลอกจึงได้นำเอาเอกสารคำฟ้อง รวมถึงคำพิพากษา เพื่อขอเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จากนั้น แกนนำเวทีราชดำเนินได้เข้าไปคุยด้วย และคุณปาริชาติ ก็สมัครใจที่จะขึ้นเวทีเพื่อเปิดเผยข้อมูล
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวบนเวทีของคุณปาริชาติก็อาจจะมีปัญหาในเชิงข้อเท็จจริง เพราะอย่างน้อยเรื่องที่เธอพูดจาสุ่มเสี่ยงว่าคนเสื้อแดงต่อต้านสถาบันพระ มหากษัตริย์ ก็เป็นการเข้าทางพรรคประชาธิปัตย์ และฝ่ายสลิ่มที่มุ่งใส่ร้ายปักปรำว่าเสื้อแดงเป็นขบวนการล้มเจ้า และพรรคเพื่อไทยมีแผนอันตรายต่อชาติบ้านเมือง และอีกกรณีหนึ่งก็คือเรื่องที่เธอเปิดเผยว่าคุณจตุพรเป็นคนจ้างเธอด้วยเงิน 1.5 ล้านบาท ให้เผาศาลากลาง คงเป็นไปไม่ได้ที่คุณจตุพรจะมาจ้างผู้หญิงให้เป็นผู้ลงมือเผาเช่นนั้น ยิ่งกว่านั้นในเวลาที่เกิดเหตุ คุณจตุพรก็อยู่ในที่ชุมนุมราชประสงค์ตลอดเวลา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ขอนแก่นเลย
แต่อีกด้านหนึ่งที่เป็น ข้อเท็จจริงก็คือ เธอถูกดำเนินคดีเป็นจำเลยที่ 7 ในข้อหาเผาธนาคารกรุงเทพฯ สาขาขอนแก่น ถูกศาลตัดสินจำคุก 1 ปี และต้องรับผิดชอบในค่าเสียหาย 5.3 ล้านบาท และหลังจากออกจากคุกก็เคยเดินทางไปร่วมปฏิญญาหน้าศาล รวมทั้งร่วมในงานรับขวัญนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ที่ถูกปล่อยตัวจากคุก ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าคุณปาริชาติเป็นผู้ที่เคยร่วมในขบวนการเสื้อแดงและได้รับผล กระทบจากสถานการณ์การกวาดล้างปราบปรามเมื่อ พ.ศ.2553 แต่กระนั้น สถานะของคุณปาริชาติหลังจากนี้คงจะลำบากพอสมควร เพราะฝ่ายสลิ่มและประชาธิปัตย์ก็คงไว้ใจได้ไม่สนิท ขณะที่ฝ่ายคน เสื้อแดง ก็ด่าว่า เธอทรยศหักหลังใส่ร้ายคนเสื้อแดง
กรณีที่เกิดขึ้นนี้ได้ สะท้อนลักษณะพิเศษอย่างยิ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลัง พ.ศ.2549 นั่นก็คือ เป็นการเคลื่อนไหวเปิดเผยที่มีวัฒนธรรมองค์กรแบบองค์กรมวลชน เพราะในด้านหนึ่งต้องยอมรับว่า การเป็นคนเสื้อแดงในทางปฏิบัติก็ง่ายดาย เพียงแต่สวมเสื้อแดงแล้วเข้าร่วมการชุมนุมของ นปช.(แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) หรือการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงอื่น ไม่มีการลงทะเบียนสมาชิกหรือเข้าองค์กรจัดตั้ง คนเสื้อแดงจึงเป็นองค์กรแบบกว้างมีลักษณะร้อยพ่อพันแม่ ความพยายามในการแยกว่าใครเป็นแดงแท้หรือแดงเทียมก็ปราศจากความหมาย เพราะเป็นเรื่องอัตวิสัยอย่างยิ่ง เคยมีความพยายามอยู่บ้างที่จะกลั่นกรองคนเสื้อแดง เช่น การลงทะเบียนสมาชิก นปช. แต่ก็ยังเป็นการเปิดกว้างสำหรับใครก็ได้นั่นเอง
สิ่งที่ยึดความ เป็นคนเสื้อแดงคือลักษณะทางความคิด ซึ่งถือกันว่า มีจุดร่วมอยู่ 2 ประการ คือ ประการแรก ความนิยมต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรืออย่างน้อยก็เป็นคนไม่เกลียดทักษิณ ประการต่อมา ก็คือ การมีแนวคิดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คัดค้านอำนาจนอกระบบ ดังนั้น คนเสื้อแดงจึงมีแนวโน้มอย่างมากที่จะสนับสนุนพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และไม่นิยมพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะหลังจากการสังหารหมู่ประชาชนคนเสื้อแดงเมื่อ พ.ศ.2553 ซึ่งทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคฆาตกรที่น่าขยะแขยงอย่างยิ่ง
ลักษณะ การเป็นองค์กรมวลชนเป็นทั้งข้อเด่นและข้อด้อยในตัวเอง ข้อเด่นก็คือ ทำให้ขบวนการเสื้อแดงไม่เกิดการผูกขาด ง่ายต่อการขยายตัว และรับคนใหม่เข้าร่วม ขบวนการเสื้อแดงจึงกลายเป็นขบวนการที่โตเร็ว มีคนเข้าร่วมมากและมีพลัง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เกิดข้ออ่อน คือ การคัดกรองในเชิงคุณภาพทำได้ยาก และทำให้เกิดความแตกต่างหลากหลายทางความคิด สร้างเอกภาพไม่ได้ การทะเลาะกันเองในหมู่คนเสื้อแดงกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา และเรื่องที่ติดตามมาคือ การที่จะมีคนออกจากการเป็นคนเสื้อแดง แล้วไปอยู่ฝ่ายตรงข้างอย่างกรณีคุณปาริชาติ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องยากเย็นอะไร
กรณี ของคุณปาริชาติได้สะท้อนให้เห็นปัญหาอีกด้านหนึ่งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์และ พรรคเพื่อไทย นั่นคือ ความล่าช้าในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์คนเสื้อแดงที่ต้องคดี ปล่อยชะตากรรมของคนเหล่านี้ให้อยู่ในเงื้อมมือทมิฬของฝ่ายตุลาการ ทำให้คนเหล่านี้ได้รับความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตอย่างหนัก และที่ร้ายแรงยิ่งกว่าการไม่ช่วยเหลือคนเสื้อแดง ก็คือความพยายามของพรรคเพื่อไทยในการช่วยเหลือนิรโทษกรรมฆาตกร ซึ่งเป็นสิ่งที่เกินกว่าที่จะยอมรับได้ พรรคเพื่อไทยจึงควรที่จะสรุปบทเรียนเรื่องนี้อย่างเป็นจริง ควรแสดงความจริงใจมากขึ้นในการช่วยเหลือนักโทษการเมือง ตั้งใจทำงาน และเลิกหาทางนิรโทษกรรมฆาตกร จึงอาจจะฟื้นคืนความเชื่อถือในระยะยาวได้
สำหรับ กรณีของคุณปาริชาติ คงไม่จำเป็นต้องไปโจมตีเล่นงานเธอให้มากเกินไป ควรตอบแทนเธอด้วยความไม่โกรธ และเห็นใจในชะตากรรมของเธอ ที่มีทางเลือกอันจำกัด ถือว่าการเป็นหรือเลิกเป็นคนเสื้อแดง เป็นเรื่องตามใจสมัคร ส่วนข้อมูลที่เธอเปิดเผยจะเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ ก็เป็นความรับผิดชอบของเธอเอง
ที่มา: โลกวันนี้ ฉบับ 439 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2556
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น