นับแต่มีการต่อต้านรัฐบาลทักษิณเรื่อยมาจนถึงการรัฐประหาร
กรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยถูกตั้งคำถามไม่น้อย
ถึงบทบาทหน้าที่ในการปกป้องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
ประชาไทสัมภาษณ์ ศราวุฒิ ประทุมราช
ซึ่งวิพากษ์การทำงานของกรรมการสิทธิรวมถึงที่มาซึ่งเขาเห็นว่าไม่เป็น
ประชาธิปไตยและต้องแก้ไข
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก่อตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.
2540 ซึ่งเป็นผลจากการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนส่วนหนึ่ง
ในช่วงนั้นศราวุฒิ ประทุมราช
ก็อยู่ในเครือข่ายที่ร่วมผลักดันโครงสร้างกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้น
และยังได้ทำงานร่วมกับคณะกรรมการฯ ทั้งชุดแรกและชุดปัจจุบัน
ในฐานะอนุกรรมการด้านสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง
แน่นอนว่า
ในห้วงเวลานับแต่มีการต่อต้านรัฐบาลทักษิณเรื่อยมาจนถึงการรัฐประหาร
กรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยนั้นถูกตั้งคำถามไม่น้อย
ถึงบทบาทหน้าที่ในการปกป้องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในฐานะที่เป็น
ส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน
ที่ผ่านมา ประชาไทได้สัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการสิทธิทั้งชุดแรก คือ
จรัล ดิษฐาอภิชัย และกรรมการสิทธิชุดปัจจุบันคือ
น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เพื่อทบทวนประสบการณ์ และเงื่อนไขข้อจำกัดของการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการสิทธิมาแล้ว
เพื่อสะท้อนเสียงจากคนทำงานภาคประชาสังคม
ที่ได้รู้เห็นและมีส่วนร่วมในการทำงานกับกรรมการสิทธิ
ครั้งนี้ประชาไทคุยกับศราวุฒิในฐานะคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน
ที่ติดตามมาตั้งแต่ต้น จนถึงวันนี้ เขาได้กรรมการสิทธิที่เขาคาดหวังหรือไม่
และมองการทำงานของกรรมการสิทธิอย่างไร
ศราวุฒิ ประทุมราช ผู้อำนวยการสถาบันหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน
และอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กสม.
ประชาไท: ทำไมตอนนั้น (รณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญ 2540) จึงมีแนวคิดเรื่องการก่อตั้งกรรมการสิทธิ
ศราวุฒิ: ช่วงเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว
เมืองไทยขาดองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ถ้าเกิดการละเมิดสิทธิโดยรัฐหรือโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
กระบวนการที่ใช้อยู่ตามปกติก็มีสองส่วนคือ กลไกของฝ่ายบริหารเอง เช่น
ถ้าตำรวจละเมิดก็ไปร้องเรียนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
หรืออย่างมากก็ไปฟ้องศาล แต่ถามว่ากระบวนการพวกนี้ใช้เวลาไหม- ใช้เวลานาน
อีกกลไกหนึ่งก็คือไปที่สภาผู้แทน กรรมาธิการสามัญ ซึ่งก็ไม่มีอำนาจอะไร
ทำได้เพียงเรียกคนนั้นคนนี้มาชี้แจง แล้วก็ทำรายงานต่อสภา
สภาก็ทำการตรวจสอบกับรัฐบาลในการอภิปรายหรือในการตั้งกระทู้ถาม
กระบวนการพวกนี้ไม่ได้ให้คุณให้โทษได้โดยตรง
อาจจะทำให้เสียหน้าแต่ก็ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ
แล้วก็ถ้าจะฟ้องศาลคุณก็ต้องมีทุนทรัพย์พอสมควร ต้องมีทนายความ
จะไปพึ่งสภาทนายความก็ได้ แต่ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ทำคดีได้ยาก
ก็เลยมีการศึกษาดูว่าในต่างประเทศเขามีกลไกอะไรที่พอจะเป็นหน่วยงานที่อิสระ
ไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหาร ไม่ขึ้นกับศาล ทำหน้าที่กึ่งตุลาการ
ก็ได้เจอหลักการเกี่ยวกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เกิดขึ้นจากหลักการ
ปารีส
ระบุเอาไว้ว่ากลไกหรือองค์กรสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติที่รัฐต้องสนับสนุน
ให้มีขึ้นมา และทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐ และเอกชนด้วย
ก็มีการผลักดันให้มีกรรมการสิทธิฯ บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2540
และในรัฐธรรมนูญก็เขียนว่าการจะตั้งหน่วยงานให้เป็นไปตามกฎหมาย
ก็มีการร่างพ.ร.บ. กรรมการสิทธิฯ จนกระทั่งมีคณะกรรมการสิทธิฯ เมื่อปี 2544
เป็นกรรมการสิทธิฯ ชุดแรก
ตามหลักการแล้ว กรรมการสิทธิมีอำนาจหน้าที่อยู่สองสามประการ
หน้าที่หลักคือตรวจสอบ
แต่ประเด็นของการตรวจสอบไม่ใช่หน้าที่ที่จะลงโทษหรือเอาใครเข้าคุก
เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะดำเนินการทางอาญา หรือทางแพ่งอะไรก็ตาม
แต่เป็นการไปแนะนำให้หน่วยงานนั้นปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับหลักสิทธิ
มนุษยชน ถ้าทำอะไรไม่ได้ก็ต้องให้มีการชดเชย
สร้างหลักประกันให้ไม่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีก
ทำรายงานให้รัฐบาลสั่งการเพราะรัฐบาลเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยงานต่างๆ เช่น
ถ้ากระทรวงผิด นายกฯ มีคำสั่ง แต่ถ้านายกฯ ไม่สั่ง
ก็ต้องฟ้องสภาเพื่อให้ประชาชนจับตาดูว่าคุณจะทำแบบนี้อีกไม่ได้
ประการที่สองคือ การให้ความรู้ให้การศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนต่อสาธารณะ
ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ที่จะทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจกันในเรื่องของ
สิทธิมนุษยชนว่าจะอยู่กันอย่างไรที่จะไม่ไปละเมิด ไม่ไปเบียดเบียน
อยู่บนหลักของความเสมอภาค เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ประการที่สาม ที่เป็นเรื่องสำคัญคือบทบาทของกรรมการสิทธิที่จะต้องประสานงานกับ องค์การ หน่วยงาน ที่สอดคล้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
ตัวบุคคลที่เป็นกรรมการสิทธิต้องเป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน
ประชาไท: แล้วพอมีกรรมการสิทธิฯ ชุดแรก คุณมีข้อสังเกตอย่างไร
ศราวุฒิ: เราก็ได้คนที่หลากหลาย
เนื่องจากว่ามี 11 คนในชุดแรก กรรมการสิทธิฯ
ชุดแรกอาจจะดีหน่อยในแง่ที่ได้คนที่มีพื้นฐานทางด้านสิทธิมนุษยชนมาก่อนแต่
ก็จะถูกจำกัดลงด้วยความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เป็นความเข้าใจเฉพาะด้าน
ที่ตัวเองถนัด เช่น มาจากองค์กรทำงานด้านสตรี เด็ก มีทนายความ นักวิชาการ
ความหลากหลายเยอะ ทำให้การประสานงานขัดข้องกันอยู่ เนื่องจากทั้ง 11
คนไม่เคยทำงานด้วยกันมาก่อน ต่างก็เป็นอิสระจากกัน
ประชาไท: กลายเป็นว่ามีความรู้เฉพาะด้าน แต่ไม่สามารถมองภาพรวมร่วมกัน
ศราวุฒิ:
ไม่สามารถมองภาพรวมและทำงานไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างเป็นเอกภาพ
ซึ่งเราก็ไม่ได้คาดหวังว่ากรรมการทุกคนจะต้องมีภาพรวม หรือทำงานโดยรวมได้
แต่ว่าจะต้องไม่ยึดติดอยู่กับประเด็นของตัวเอง
แต่เนื่องจากที่มาของกรรมการสิทธิฯ ในชุดแรก ภาคประชาชนไปผลักดันไว้เยอะ
ทำให้การนำเสนอตัวบุคคลที่จะให้วุฒิสภาเป็นคนคัดเลือกก็ผลักดันเฉพาะเครือ
ข่ายที่ตัวเองทำงานอยู่ด้วย โดยเราก็ไม่ได้มอง
คือเราเข้าใจว่าถ้าคนเหล่านี้เข้าไปจะทำให้เกิดพัฒนาการดีขึ้น
ไม่มากก็น้อย ก็เลยเสนอเป็นด้านๆ ไป
แต่ไม่สามารถผลักดันให้กลไกสิทธิมนุษยชนมีความเปลี่ยนแปลงในระดับที่มีนัยยะ
สำคัญหรือจับต้องได้
แต่ก็ต้องถือว่าเป็นองค์กรที่เป็นโมเดลนะ เพราะว่าที่มาของกรรมการสิทธิฯ
เมืองไทยไม่ได้ มาจากการคัดเลือกของรัฐ แต่มาจากคณะกรรมการสรรหา
ก็ถือว่าเป็นประโยชน์
แต่พอปี 2550 กรรมการสรรหามาจากภาคศาล มาจากองค์กรอิสระอื่นๆ
เพราะฉะนั้นความจำกัดของผู้พิพากษา
การดีไซน์ให้ผู้พิพากษาเป็นคนคัดเลือกองค์กรอิสระ
ผมถือว่าเป็นความล้มเหลวของสังคมไทยนะ เพราะผู้พิพากษาไม่ได้รู้ทุกเรื่อง
และอาจจะเป็นการเลือกข้างทางการเมือง เพราะที่มาของรัฐธรรมนูญ 2550
ก็อย่างที่ทราบกันว่าเกิดขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและต้องการ
กำจัดระบอบทักษิณหรืออะไรก็ตามแต่จะเรียก
ก็คือต้องการที่จะเอาคนที่ไม่สนับสนุนส่งเสริม
หรืออยูในแวดวงของทักษิณเข้ามาทำงาน
เพราะฉะนั้นกรรมการสิทธิฯ ชุดใหม่นี่ก็เป็นข้าราชการเก่าทั้งหมด
หรือเป็นคนที่ใกล้ชิดกับแวดวงราชการเพราะฉะนั้นก็จะไม่เข้าใจองค์ประกอบของ
การทำงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาสังคม หรือประชาชน
องค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนก็อาจจะมีไม่มากนัก
มีอยู่บางส่วนแต่จะไม่กว้างขวางรอบด้านเหมือนกับกรรมการชุดแรก
แต่เนื่องจากสถาบันนี้มันต้องดำรงอยู่ และมีอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ
และต้องเป็นที่พึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่ากรรมการสิทธิฯ รุ่นต่อๆ ไป
จะต้องเกิดความเปลี่ยนแปลง เริ่มจากที่มา ที่ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญก่อน
ประชาไท: นี่คือการเสนอว่าถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญต้องแก้ส่วนของกรรมการสิทธิด้วย
ศราวุฒิ:
ต้องแก้ไขในส่วนที่เป็นกรรมการสรรหาในทุกองค์กรอิสระ
เพราะมาจากที่เดียวกันหมดเลย 7 คน ตัวแทนศาลฎีกา ตัวแทนศาลปกครอง
ตัวแทนศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมคิดว่าไม่เป็นประชาธิปไตย
และผมก็คิดว่าศาลเองก็ไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยวกับนักการเมืองในลักษณะก้าว
ก่ายฝ่ายนิติบัญญัติแบบนี้
คือเรื่องนี้มันควรจะเป็นเรื่องของสภาที่จะคัดเลือกคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่
ในการดูภาพรวมของสิทธิมนุษยชน
ประชาไท: ส่วนที่เป็นสำนักงานกรรมการสิทธิ น่าจะมีความต่อเนื่องกว่าตัวกรรมการ ส่วนนี้คุณมองเห็นพัฒนาการไหม
ศราวุฒิ:
ส่วนนี้เป็นปัญหาอยู่เหมือนกัน
เนื่องจากว่าการออกแบบให้องค์กรนี้ไปขึ้นกับรัฐสภาในยุคแรก
สำนักงานเป็นอิสระแต่ขึ้นกับเลขาธิการรัฐสภา
ก็เลยทำให้เจ้าหน้าที่ของกรรมการสิทธิเป็นข้าราชการในสังกัดรัฐสภา
ซึ่งการเป็นข้าราชการรัฐสภาเป็นข้าราชการที่ทำงานเกื้อหนุนฝ่ายนิติบัญญัติ
มีกองการประชุม มีกองการเจ้าหน้าที่
มีบุคลาการจดรายงานการประชุมที่เก่งมากแล้วก็ทำงานสนับสนุนกรรมาธิการชุด
ต่างๆ แต่ทีนี้พอมาเป็นเจ้าหน้าที่ของกรรมการสิทธิฯ
ก็เป็นเพียงแต่ลอกกรอบที่มาของข้าราชการว่าแยกจาก ก.พ. ให้ขึ้นกับ ก.พ.ร.
คือข้าราชการรัฐสภา
ในส่วนของการบังคับบัญชาตามกฎหมายให้เลขาธิการสำนักงานกรรมการสิทธิฯ
ขึ้นกับประธานกรรมการสิทธิ ฉะนั้นกรรมการจะมี 11 คนหรือมี 7 คนก็ตามแต่
แต่ประธานกรรมการสิทธิฯ เท่านั้นที่จะสั่งเลขาธิการได้
โดยสายงานที่ติดยึดมาจาก ก.พ.ร. คือเลขาธิการขึ้นกับประธาน
เมื่อกฎหมายเขียนเช่นนั้นว่าเลขาธิการขึ้นต่อประธาน ก็ขึ้นกับประธานคนเดียว
ใครจะมาสั่งผมไม่ได้นอกจากประธานสั่ง
มันก็เลยเกิดความอิหลักอิเหลื่อว่าจริงๆ
แล้วเลขาธิการควรจะทำงานสนับสนุนกรรมการ
เหมือนกับที่ข้าราชการรัฐสภาทำงานสนับสนุนการทำงานของกรรมาธิการหรือเปล่า
กรณีของรัฐภาเขาไม่มีปัญหาในการทำงานสนับสนุน
ในการจดการประชุมก็มีประสิทธิภาพมาก
แต่พอมาถึงกรรมการสิทธิฯ
เนื่องจากเป็นองค์กรใหม่รับคนมาจากภาครัฐก็จะมีความหลากหลาย
การทำงานก็ไม่เคยทำร่วมกันมาก่อนต้องมาสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่
แต่ก็ติดกับวัฒนธรรมเดิมขององค์กรตัวเอง ปัดแข้งปัดขากัน พวกใครพวกมัน
ซึ่งผมว่านี่เป็นข้ออ่อนนะ
คือข้าราชการเข้ามาปุ๊บก็ได้เลื่อนหนึ่งขั้นจากตำแหน่งตัวเอง
และก็ก้าวหน้าตามแท่งที่กรรมการสิทธิฯ จัดแบ่งระเบียบภายในของเขาไว้
ทีนี้ตัวข้าราชการเองควรจะมีการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่ด้วย
แต่กรรมการเองอาจจะไม่มีใครที่เชี่ยวชาญในเรื่องของการบริหารงาน
ไม่มีการสานต่อการทำงานก็เลยเหมือนกับกลายเป็นใช้อนุกรรมการซึ่งก็ยอมรับว่า
การทำงานในกรรมการสิทธิมนุษยชนจำนวน 7 คนหรือ 11
คนนั้นไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ก็ต้องมีอนุกรรมการที่มาจากคนที่หลากหลาย
แต่อนุกรรมการนี้ก็เกิดช่องว่างว่ากรรมการคนนั้นๆ
รู้จักใครก็เชิญคนนั้นมาเป็นอนุกรรมการ
ถามว่าเขามีความเชี่ยวชาญเขียนรายงานตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพไหมก็
ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ถ้าอนุกรรมการนั้นเกี่ยวข้องกับภาครัฐเยอะ
การวินิจฉัยก็มักจะแคบว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพราะว่าต้องตั้งคำถาม
ก่อนว่าอะไรคือเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดจากหลักเกณฑ์อะไร
ละเมิดรัฐธรรมนูญหรือละเมิดหลักการกฎหมายระหว่างประเทศอะไร อย่างไร
แล้วถาละเมิดอย่างนี้ กรรมการสิทธิฯ มีความเห็นอย่างไร
แล้วพอมีความเห็นให้ดำเนินการแก้ไขหน่วยงานของรัฐก็อาจจะไม่ทำตามก็ได้
เพราะไม่ใช่สายบังคับบัญชา
ผมว่านี่เป็นภาพรวมที่เป็นข้ออ่อนของกรรมการซึ่งผมเชื่อว่ากรรมการสิทธิฯ
มีข้ออ่อนเรื่องเจ้าหน้าที่ของตัวเองที่ไม่มีการพัฒนาองค์ความรู้ เช่น
การอบรม สั่งสมประสบการณ์ หรือไปเรียนจากต่างประเทศเพื่อจะกลับมาพัฒนางาน
มัวแต่มาทะเลาะกันภายในสำนักงาน ภายในระหว่างการสั่งการ ระหว่างกรรมการ
ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้ามากนะ
ประชาชนไม่มีที่พึ่งเลยถ้าหน่วยงานทีทำงานเป็นความหวังปัดแข้งปัดขากันเอง
ประชาไท: การทำงานของกรรมการสิทธิฯ ที่ต่อเนื่องมาสิบกว่าปีแล้ว อะไรที่ท้าทายกรรมการสิทธิที่สุด
ศราวุฒิ: จริงๆ
แล้วสถาบันนี้ควรจะทำหน้าที่เป็นหลักของสังคม เป็นหลักเสาหนึ่งได้นะ
คือสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตยซึ่งมีสามส่วนใหญ่ๆ
คือหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย ซึ่งต้องไปพร้อมๆ กัน
หลักนิติธรรมนั้นเป็นรากฐานของสิทธิมนุษยชนและเป็นรากฐานของระบอบ
ประชาธิปไตย ฉะนั้นถ้ามันไปด้วยกันได้
รัฐที่ฟังเสียงขององค์กรอิสระเพื่อแก้ไขปัญหามันจะส่งเสริมประชาธิปไตยใน
ระยะยาว
แต่ถ้าเกิดองค์กรอิสระเลือกข้างหนึ่งซึ่งเอียง ไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม
นิติรัฐ ก็จะไม่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ
และรวมไปถึงเรื่องไม่มีธรรมาภิบาลระยะยาวด้วย
ผมเชื่อว่ามันจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย นี่ตอนนี้บ้านเรา 4-5
ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ข้าราชการต่างๆ องค์กรอิสระต่างๆ
เลือกข้าง ซึ่งมันไม่ควรจะเลือก เราควรจะเลือกประเด็นความสนใจทางการเมือง
พรรคการเมืองเรื่องแบบนี้เลือกได้อิสระ
แต่เมื่อคุณทำงานในอาชีพที่ให้คุณให้โทษแล้วเลือกข้างไม่ได้
ข้างที่เลือกได้คือหลักการพื้นฐานและกลไกด้านสิทธิมนุษยชน
ทีนี้กรรมการสิทธิชุดใหม่นี้เองก็บางคนเลือกข้างชัดเจนว่าจะไม่เอาข้าง
รัฐบาล เพราะฉะนั้นก็จะไม่ตรวจสอบรายงานที่เกี่ยวกับเรื่องสลายการชุมนุม
ไม่กล้าฟันธง
ผมก็ยังไม่แน่ใจนะว่าการไม่กล้าฟันธงเพราะกลัวปัญหาทางการเมือง
หรือเป็นเพราะไม่มีองค์ความรู้เพียงพอที่จะเขียนรายงาน
ถ้าเกิดเขียนรายงานวินิจฉัยแล้วมันอิหลักอิเหลื่อกับความถูกต้องกับคนที่เรา
เลือกเชียร์
แล้วตรวจสอบแล้วจะเจอข้อเท็จจริงมากมายว่าคำสั่งนั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
นี่เป็นปัญหาที่ต้องก้าวข้ามพ้นให้ได้
ถ้าก้าวไม่พ้นประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิทางการเมือง กรรมการสิทธิฯ
อยู่ไม่ได้
ประชาไท: คุณมองว่ากรรมการสิทธิฯ ล้มเหลวในประเด็นสิทธิทางการเมืองใช่ไหม
ศราวุฒิ: ถือว่าล้มเหลวก็คงจะได้
เพราะว่าในบางเรื่องไม่มีแอคชั่น ไม่มีความเห็นที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ
อย่างความเห็นเรื่องมาตรา 112 กรรมการสิทธิฯ
ก็ต้องพูดออกมาให้ชัดเจนว่ามองอย่างไร แต่เนื่องจากตัวเองเกร็ง
กลัวว่าจะไปขัดกับความเชื่อความจงรักภักดีของตัวเองก็เลยไม่กล้าออกมาเป็น
คณะที่จะฟันธง
นอกจากหมอนิรันดร์ที่ออกมาพูดหรือไปประกันนักโทษการเมืองบางคน
แต่ก็ไม่มีน้ำหนัก เพราะไม่ใช่องค์คณะของกรรมการสิทธิฯ ทั้งหมด
อนุกรรมการที่ทำเรื่องกระบวนการยุติธรรมไม่มีผลงานอะไรเลยในปีนี้ที่จะ
เสนอแนะแก้ไขปัญหาเรื่องกรอบในการใช้หลักนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรม
เรื่องเด็ก เรื่องผู้หญิงก็ไม่เด่นชัด
เรื่องความหลากหลายทางเพศอาจจะมีความเคลื่อนไหวแต่เป็นเพราะว่าเครือข่ายของ
กลุ่มนี้เขาเข้มแข็งมาอยู่แล้ว ไม่ได้เข้มแข็งเพราะกรรมการ
ส่วนประเด็นสิทธิอื่นๆ เรื่องทรัพยากรทางทะเล ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม
ผมคิดว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ยังจับจุดไม่ถูกว่าจะออกไปตรงไหนเพราะว่าคนที่
มาร้องเรียนส่วนใหญ่ก็เป็นเครือข่ายของเอ็นจีโอในเรื่องนั้นๆ
ผมคิดว่าเป็นข้ออ่อนเหมือนกันที่มีเพียงกลุ่มเดียวที่เชี่ยวชาญหรือแอคทีฟใน
เรื่องนี้ ตัวชาวบ้านถ้าไม่มีเอ็นจีโอหรือคนที่ไปทำงานในพื้นที่
เขาก็อาจจะไม่มีช่องทางที่จะมาร้องเรียนกรรมการสิทธิฯ ได้
ซึ่งก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นข้ออ่อนของกรรมการสิทธิฯ
ประชาไท: คุณเข้าไปทำหน้าที่อนุกรรมการฯ ในฐานะที่เป็นคนทำงานภาคประชาสังคม และได้เข้าไปร่วมงานบ้างในฐานะอนุกรรมการ พบปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง
ศราวุฒิ: กลไกการตรวจสอบมีปัญหาอยู่
คือแม้ว่ากรรมการสิทธิฯ จะสามารถมอบหมายให้อนุกรรมการฯ
เป็นเจ้าพนักงานตรวจสอบตามกฎหมายได้
แต่ความสามารถของคนที่ไปตรวจสอบนั้นผมคิดว่าเป็นปัญหาเหมือนกัน
คือเป็นบุคลากรที่ไม่ได้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบบางเรื่องซึ่งผมคิดว่า...คือ
บางคณะบางอนุฯ เขามีผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ ซึ่งเชี่ยวชาญจริง
แต่ถามว่าจะตรวจสอบรัฐหรือเปล่าก็อีกเรื่อง ซึ่งผมเห็นว่าอนุฯ
เรื่องกระบวนการยุติธรรมนั้นไม่ตรวจสอบรัฐ
เช่นมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาก็บอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การละเมิดสิทธิ
คือพิจารณาเหมือนกับว่าตัวเองเคยเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งนั้นของรัฐมาก่อน
ก็เห็นใจพวกเดียวกัน
ซึ่งผมว่ามันไม่ถูกเพราะคุณสวมหมวกเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต้องฟันธง
แต่การจะอธิบายว่าเรื่องนี้ละเมิดหรือไม่ละเมิดไม่ได้เป็นการทำลายสี
หรือเหล่าของตัวเองหรือภาคที่ตัวเองทำงานอยู่
แต่มันคือการสร้างหลักประกันให้แก่ประชาชนและสร้างมาตรฐานของการปฏิบัติใน
หลักการเรื่องสิทธิมนุษยชน
ประชาไท: กรรมการสิทธิเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมมากแค่ไหน
ศราวุฒิ: ก็เปิดอยู่นะ
แต่ผมคิดว่ามันยังไม่หลากหลายมาก คือวนเวียนกันอยู่ไม่กี่กลุ่ม
คือถ้าเป็นเอ็นจีโอใหม่ๆ ที่มีประเด็นใหม่ๆ
อย่างเรื่องคอมพิวเตอร์ผมก็ยังไม่รู้ว่าจะมีการเชิญใครเข้ามาเป็นอนุกรรมการ
ในการตรวจสอบประเด็นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
นอกจากอาจารย์มหาวิยาลัยที่สอนเรื่องกฎหมายกระทำความผิดเกี่ยวกับ
คอมพิวเตอร์ซึ่งอาจารย์พวกนี้ก็จะมีภาระงานเยอะมากอยู่แล้ว
เอ็นจีโอที่ทำงานด้านเสรีภาพเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ก็อาจจะถูกมองว่าเลือกข้าง
เลยไม่ได้รับเชิญเข้ามาเป็นอนุกรรมการ ผมคิดว่านี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องทบทวน
ผมยังมีปัญหาอีกว่าบางเรื่องเอ็นจีโอบางกลุ่มทำงานเรื่องภาคใต้แต่เข้าไป
เป็นอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่รัฐในภาคใต้
มันก็มีผลประโยชน์ทับซ้อน นี่พูดตรงไปตรงมา
เพราะคุณร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่แล้ว แต่คุณใช้ขาของกรรมการสิทธิฯ
ในการลงไปตรวจสอบแล้วเอาข้อมูล แต่ถามว่าข้อมูลแบบนั้นจำเป็นต่อสาธารณะไหม
ก็จำเป็น คือโดยหลักถ้าเราคิดว่ากรรมการสิทธิฯ
เป็นประโยชน์และมาพึ่งเอ็นจีโอเหล่านี้เพื่อขอข้อมูลซึ่งกรรมการสิทธิฯ
อาจจะไม่ต้องพึ่งเอ็นจีโอก็ได้
ทำหน้าที่ตัวเองได้โดยตรงเพียงแต่ว่าเจ้าหน้าที่ของกรรมการสิทธิฯ
จะต้องมีความสามารถบางอย่างที่มีประสบการณ์ที่เอ็นจีโอทำอยู่แล้งลงไปทำ
ซึ่งผมก็คิดว่ามีเจ้าหน้าที่ของกรรมการสิทธิฯ
หลายคนที่มีความสามารถทำงานได้ แต่หลายส่วนก็กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา
แล้วบางส่วนอยู่ในช่วงปัดแข้งปัดขากันแล้วไม่สนใจที่จะทำงาน (หัวเราะ)
ผมก็คิดว่านี่เป็นข้อที่น่าเสียดายอย่างยิ่งนะ ทำงานมาแปดปี สิบปี
ไม่มีโอกาสพัฒนาองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนเลย
กรรมการก็ไม่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งผมคิดว่าน่าเสียดาย
และคิดว่ารุ่นต่อๆ
ไปก็ต้องหาคนที่มีวิสัยทัศน์ในด้านการบริหารเข้ามาดูแลเฉพาะเรื่องบุคลาการ
ประชาไท: กรรมการสิทธิฯ ในฝันของคุณ ถ้าแก้รัฐธรรมนูญได้ ตัวองค์กรควรจะเป็นอย่างไร ทั้งที่มา ทั้งรูปแบบ
ศราวุฒิ: รูปแบบโอเคแล้ว
แต่ว่าการเชื่อมโยงระหว่างการบริหารงานระหว่างกรรมการกับเลขาฯ
ต้องมีการเขียนอย่างไรที่จะไม่ให้เลขาฯ ฟังเฉพาะประธานอย่างเดียว
เลขาธิการอาจจะมาจากภาคเอกชนที่ไม่ใช่ภาครัฐ เจ้าหน้าที่ของกรรมการสิทธิฯ
โอนมาจากภาคเอกชนได้ คือรับใครก็ได้
แต่มีประสบการณ์เพื่อให้สามารถมีความหลากหลายในมุมมองการทำงานไม่ติดกรอบ
ระบบราชการ แยกออกจากระบบรัฐสภามาทำหน้าที่องค์กรอิสระ แต่ยึดโยงกับระเบียบ
ก.พ.หรืออะไรก็ตามที่พออนุโลมได้
ดึงคนที่มาจากระบบราชการเก่ามาพัฒนาสำนักงาน
แล้วเขียนไปเลยว่าการได้มาของเลขาธิการและบุคลากรมาจากความหลากหลาย
มีสวัสดิการ งบประมาณ เงินเดือน
ที่มาของกรรมการ ผมคิดว่าย้อนกลับไปใช้แบบปี 2540
ก็จะดีกว่าในแง่ความหลากหลาย
แล้วคนเหล่านี้ก็จะสมัครเข้ามาแล้วให้วุฒิสภาเป็นคนคัดเลือกและถอดถอนได้