หลังจากเดินทางมาสอนหนังสือที่ชายแดนภาคเหนือได้เกือบหนึ่งปี
ผมห่างเหินกับการติดตามสถานการณ์ทางภาคใต้ไปมาก
แต่ความรุนแรงในภาคใต้ในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมานี้ได้กระตุ้นให้ผมอยาก
ติดตามข่าวสารมากขึ้น
โดยเฉพาะสถานการณ์หลังจากครูชลธีเสียชีวิตและหลังเหตุการณ์ “ผู้ก่อการ”
บุกตีค่ายนาวิกโยธินที่ จ.นราธิวาส
หลังจากติดตามข่าวได้สักพัก
ผมพลันรู้สึกผิดที่รู้ทราบความเคลื่อนไหวต่างๆ
น้อยมากและสถานการณ์มันต่างไปจากความคุ้นเคยของผมไปพอสมควร
ผมมีเพื่อนสนิทหลายคนที่นั่น
ขณะที่ตัวเองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางอุตสาหกรรมงาน
วิจัยในภาคใต้
คงมีแต่การตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ความรุนแรงนี่แหละที่จะเป็นการชดเชยอะไรได้
บ้าง
ข้อแรก
ผมเห็นด้วยกับการตั้งข้อสังเกตเรื่องการสู้รบใน 3
จังหวัดชายแดนภาคใตในระยะหลังของ อ.เกษียร (ซึ่งปรากฏในสเตตัสของเขา)
โดยเฉพาะแง่มุมที่ว่าในระยะหลังปีกทางทหารของผู้ก่อการมีพลังเหนือกว่าปีก
การเมือง
รวมไปถึงการพยายามเสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาด้วยแนวทางการเมืองมากกว่าการทหาร
แต่อย่างไรก็ตามความเห็นที่ว่า
มวลชนในพื้นที่เริ่มตีตัวออกห่างผู้ก่อการนั้นออกจะสำเร็จรูปไปสักนิด
ทั้งนี้ ผมมิได้หมายความว่ามวลชนและผู้ก่อการมีความเป็นเนื้อเดียว
กัน แต่ ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผู้ก่อการกับ "มวลชน" นั้น
ค่อนข้างสลับซับซ้อน
เพราะมวลชนไม่จำเป็นต้องเห็นร่วมกับผู้ก่อการเสมอไปในทุกเรื่อง
หากคือกลุ่มคนที่พร้อมรู้สึกร่วมในบางเรื่อง
และพลังของความรู้สึกนี่แหละที่ประมาทไม่ได้
ข้อสอง สืบเนื่องจากข้อแรก
พลังของความรู้สึกหรือพลังทางอารมณ์ อาทิ คับแค้น อับอาย ไม่เท่าเทียม
ความรู้สึกต่อความอยุติธรรม รวมไปถึง Islamic sentiment และAnti-Islamic
sentiment
ล้วนส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนความแตกต่างทางศาสนาและชาติพันธุ์ให้มีความ
ชอบธรรมในการกระทำความรุนแรง
สนับสนุนหรือต่อต้านการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อการได้ เช่น
ไม่เห็นด้วยที่ผู้ก่อการวางระเบิดทำลายชีวิตผู้บริสุทธิ์
แต่รู้สึกคับแค้นที่เห็นเพื่อนมุสลิมถูกทหารเข่นฆ่า
สถานะภาพของคำว่ามวลชนจึงเป็นเส้นแบ่งเบาบาง
แต่ความบางนั้นส่งผลให้เกิดความรุนแรงที่ยากคาดเดา เราจึงไม่น่าจะ
สร้างกรอบกว้างๆ เพียงแค่ปีกการเมืองและปีกทหาร
เพราะเหมือนจะเป็นการอภิปรายขั้นพื้นฐาน
ในช่วงสามถึงสี่ปีแรกของเหตุการณ์ความรุนแรงนับจากปี 2547
ข้อสาม ผมคิดว่าความรุนแรงในระยะหลังนี้สะท้อนข้อ
จำกัดการพยายามทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ระยะสั้นในภาคใต้หรือความเปลี่ยน
แปลงตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาเป็นอย่างมาก เรารู้น้อยเกินไป
ท่ามกลางการตอกย้ำหรือพยายามอธิบายในกลุ่มคำสำคัญที่จำกัด เช่น
ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างปาตานีกับรัฐไทย อัตลักษณ์มลายู
(ผมก็อยู่กลุ่มนี้) ชีวิตในความรุนแรง การปรับตัว การแก้ไขความรุนแรง
กลุ่มขบวนการ การสร้างสันติสุข เป็นต้น
ความเปลี่ยนแปลงที่ยังเป็นปริศนาคือความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างรัฐไทย คนในท้องถิ่น และ “กลุ่มผู้ก่อการ” (ซึ่งยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอีกมากเรื่องนิยามและความหมาย) แต่เราอาจเรียกได้ว่าในรอบเกือบทศวรรษมานี้แทบไม่มีการพยายายามทำความเข้าใจว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวมีความคลี่คลายและแปรผันอย่างไร
ผมคิดว่าจากเหตุการณ์ความรุนแรงในระยะหลัง
พวกเราน่าจะกลับไปเริ่มต้นวิเคราะห์จากงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ
ดร.อนุสรณ์ อุณโณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้มากขึ้น
โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจอธิปัตย์ของรัฐไทย
อำนาจอธิปัตย์ของรัฐปาตานี และบรรดากลุ่มคนที่อยู่ท่ามกลางอำนาจทั้งสอง
ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเชิญชวนกันจัดเวทีโดยเชิญ อ.อนุสรณ์
มาวิเคราะห์ปัญหานี้กันดีกว่า
ข้อสี่ กรณีความตายของคุณมะรอโซก็เป็นตัวอย่างที่
แสดงให้เห็นว่าพลังของความรู้สึกและนิยามความหมายของคำว่ามวลชนนั้นเบาบาง
เพียงไร ด้านหนึ่งวิธีการเล่าเรื่องของ Patani Forum สะท้อน
ถึงวิธีการเล่าเรื่อง "ฮีโร่" ท้องถิ่นที่ต่อสู้กับรัฐที่ไม่เป็นธรรม
พล็อตแบบนี้เป็นสิ่งที่ชาวบ้านเล่าและส่งต่อกันมาหลายรุ่น คำถามคือ
ทำไมการเล่าพล็อตที่ซ้ำไปซ้ำมาแบบนี้ยังคงมีพลัง
จากประสบการณ์ภาคสนามที่ผ่านมานานแล้วของผม
ก็มักปรากฏการเล่าเรื่องฮีโร่แบบนี้ในแทบทุกท้องถิ่น
ทั้งฮีโร่ที่มีชื่อเสียงและไร้นาม
ข้อห้า
กรณีความตายของคุณมะรอโซรวมไปถึงคนที่เสียชีวิตอีกนับสิบนั้น
นับเป็นความตายที่เกี่ยวพันกับตัวแทนอำนาจและสัญลักษณ์ทางอำนาจของรัฐ
ไทยอย่างเลี่ยงมิได้ อาทิ ครู และค่ายทหาร
ไม่แปลกที่สื่อกระแสหลักและนักวิเคราะห์จะมุ่งกระแสข่าวยืนยันถึงสถานะภาพ
ของผู้ก่อการ แต่การหลงลืมพลังของความรู้สึกที่เป็นภูมิหลัง
ก็จะรังแต่เอาไฟไปสุมไฟ มิใช่การดำเนินการภายใต้แนวทางการเมืองที่ดี ศอ
บต.และรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร
จะสามารถห่วงใยความรู้สึกและดูแลชีวิตของพ่อแม่หรือลูกเมียของบุคคลที่ตนเอง
เชื่อว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" ได้เท่าเทียมกับ “คนไทยทั่วๆไป” ได้ไหม
หรือจะเดินตามเกมส์ของทหารคือตาต่อตาฟันตาฟัน
ข้อหก กรณีใบปลิวที่ออกมาก่อนหน้านี้
ผมคิดว่ามันมีความชัดเจนมาก คือการสื่อสารกับชาตินิยมไทย
ซึ่งมันมีความซับซ้อนในตัวเอง กล่าวคือ
เมื่อก่อนใบปลิวของกลุ่มก่อการมักเขียนเป็นภาษายาวีซึ่งเน้นสื่อสารและปลุก
เร้าคนที่อยู่ในศาสนาและชาติพันธุ์เดียวกัน ใบปลิวที่เน้นการสื่อ
สารเป็นภาษาไทยนั้นมิได้ต้องการสื่อกับคนไทยพุทธเพียงอย่างเดียว
แต่เป็นการเตือนและตั้งคำถามต่อบรรดาคนมลายูมุสลิมที่มีสำนึกชาตินิยมไทยว่า
คุณคือใครด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในบรรทัดสุดท้ายซึ่งผมคิดว่าเป็นถ้อยคำที่แหลมคมและเปราะบางมาก
สุดท้ายผมนึกถึงฉากที่นายกยิ่งลักษณ์สวมผ้าคลุมผมสีแดงเดินลงจาก
เครื่องบินโดยมีบรรดาสตรีมุสลิมยืนต้อนรับ
เธอเดินพบปะกับบรรดาสตรีมุสลิมและถูกเรียกในภาษาอาหรับว่า ยามีล่ะห์
(แปลว่าสวยงาม) ภาพเหตุการณ์เหล่านี้มีพลังมาก
เป็นการแสดงออกทางการเมืองที่เหนือชั้น
เพราะมันสลายคำว่าการเมืองในความหมายของการแสแสร้งไปสู่การเปิดใจยอมรับ
ทำไม นักการเมืองและทีมงานจึงคิดเรื่องนี้ขึ้นได้ตอนหาเสียง
แต่ในสถานการณ์ความขัดแย้งและรุนแรง
แผนดำเนินการทางการเมืองกลับถอยร่นเข้าคลอง หรือว่าจริงๆ แล้วเรื่องนี้
รัฐบาลไม่มีอารมณ์และไม่มีพลังทางความรู้สึก
ผ้าคลุมผมของยิ่งลักษณ์ก็ช่างคล้ายคลึงกับพวงดอกไม้ของ อองซาน
ซูจี ผมภาวนาว่าอย่าได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ทางการเมืองเพียงอย่างเดียวเลย
เพราะยามที่ อองซาน ซูจี เหน็บพวงดอกไม้สวยงามไว้ที่มวยผม
ดอกหญ้าไร้นามยังคงย่อยยับไปเรื่อยๆ
ยามที่ยิ่งลักษณ์มิได้ชายตามองผ้าคลุมผืนนั้นอีกแล้ว ใต้ผ้ายังคงปรากฏน้ำตา
รอยเลือด และความคั่งแค้นอยู่ภายใน
หมายเหตุ: ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ เป็นนักวิจัยในโครงการกลุ่มวิจัยความขัดแย้งและพหุวัฒนธรรม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
และอาจารย์ประจำ สาขาวิชาชาติพันธุ์ศึกษา วิทยาลัยนานาชาติภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น