แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สัมมนาทิศทางไฟฟ้าไทย นักวิชาการชี้ PDP ต้องมาจากข้อสรุปในทางสาธารณะ

ที่มา ประชาไท


คณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา จัดงานสัมมนา "แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย PDP 2010 (ฉบับที่ 3) กับทิศทางไฟฟ้าไทย" นักวิชาการชี้การทำแผน PDP ต้องมาจากข้อสรุปในทางสาธารณะ ไม่ใช่รวบรัดเหมือนที่เคยทำมา
 
 
20 ก.พ. 56 - ที่สโมสรทหารบก คณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา ได้จัดงานสัมมนาเรื่อง "แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย PDP 2010 (ฉบับที่ 3) กับทิศทางไฟฟ้าไทย" 
 
โดยนายวิบูลย์ คูหิรัญ ส.ว.สรรหา ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา ด้านพลังงานไฟฟ้า ได้ปฐกถาพิเศษ "บทบาทนิติบัญญัติกับทิศทางไฟฟ้าของไทย" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ....
 
"ที่ผ่านมาเรามีการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าทุกประเภทมาโดยตลอด แม้แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทั้งที่จริงแล้วจะเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2511 ที่อ่าวไทย แต่ก็ถูกต่อต้านจนเลิกไป ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ต่อต้านกันตลอด ที่พอจะสร้างได้ก็ใช้เชื้อเพลิงก๊าซเป็นส่วนใหญ่ โดยจะสร้างตามแนวท่อที่มีอยู่ ทำให้เกิดผลเสียอยู่เหมือนกัน เนื่องจากโรงไฟฟ้าจะกระจุกตัวตามแนวท่อ ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาก๊าซจากพม่าขาดก็จะเกิดปัญหาขึ้นเพราะโรงไฟฟ้ากระจุกตัวตาม ส่วนพลังน้ำผลิตได้ 2% กว่า พลังงานไฟฟ้าจากลาว 4%  แต่ที่ใช้ก๊าซสูงถึง 68% ลิกไนต์ ถ่านหิน 20% พลังน้ำ 8% เชื้อเพลิงอื่นเล็กน้อย
 
ทางออกขณะนี้ การจะต้องเร่งทำตามแผน PDP 2010 (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ตามแผนนี้จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าชนิดต่างๆ เนื่องจากเราเห็นว่าที่ผ่านมาใช้ก๊าซมากเกินไป เวลาเกิดปัญหาจะลุกลามทั่วไปหมด เราจึงคิดว่าน่าจะต้องเร่งสร้างโรงไฟฟ้าประเภทอื่นเช่น ถ่านหิน ซึ่ง กฟผ.ก็มีโครงการจะสร้างที่กระบี่ 4,000 เมกกะวัตต์ และอีกส่วนคือ พลังงาน เราน่าจะต้องเร่งรัดรัฐบาลให้ช่วยอย่างจริงจังในการเจรจาสร้างเขื่อนที่พม่า เพราะรัฐบาลพม่าการเจรจาจะยาก หากจะให้ กฟผ.เจรจาแต่ผู้เดียวความหนักแน่นจะน้อยไปหน่อย ควรให้รัฐบาลเป็นผู้ประสานอย่างจริงจังโดยที่ท่านซางกับฮัตจีรวมกันแล้วกว่า แปดพันเม็กกะวัตต์ ซึ่งจะลดการใช้แก๊ซในประเทศได้ รวมทั้งการสร้างเขื่อนในลาว ซึ่งรัฐบาลจะต้องเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านให้เร็วที่สุด รวมถึงการเจรจากับชาวบ้านในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศ ถึงแม้ว่าในช่วงแรกๆ ของไทยเทคโนโลยียังไม่ดีนัก แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีเรื่องสิ่งแวดล้อมมีมาตรฐานดีขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลจะต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชน
 
ทั้งนี้ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางด้านถ่านหินน่าจะไม่มีปัญหา แต่ที่เรายังคงเป็นห่วงก็คือเรื่องระบบขนส่ง ซึ่งเท่าที่เราไปดูมาบตาพุดใช้ระบบปิด ไม่มีมลพิษ จะเห็นว่ามีการแก้ไขตลอด ซึ่งก็วางใจได้ระดับหนึ่ง อีกส่วนที่น่าต้องเตรียมการคือ การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตามแผนต้องมี 2 โรง ต้องเตรียมการโดยเฉพาะกฎระเบียบ กฎหมายต่างๆ ที่จะมาควบคุมมาตรฐานในการก่อสร้าง วิธีการควบคุมตรวจสอบการดำเนินการ ทาง กฟผ.ตอนนี้ได้รับความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกาอยู่ เพียงแต่ว่ากฎหมายยังไม่ได้ออก คงต้องรีบออกให้เป็นไปตามมาตรฐานให้ได้ 
 
ปัญหาทั้งหมดควรต้องเร่งด้านนิติบัญญัติที่จะต้องมาช่วยแก้ไข เช่น การเร่งการออก พ.ร.บ.เพื่อรองรับรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 67 วรรค 2 ในมาตรานี้จะระบุว่าในการจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าหรืออุตสาหกรรมระดับใหญ่ต้องมี การศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมและทำประชาพิจารณ์ แต่ในขณะนี้ไม่มี พ.ร.บ.มารองรับมาตรานี้ มีแต่เพียงกฎระเบียบของกระทรวง ควรเร่งออกเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้ชัดเจน ถ้ามีออกมาแล้วเมื่อจะก่อสร้างโรงไฟฟ้า ถ้าทำอีไอเอ ประชาพิจารณ์แล้ว ถ้ามันดีกว่ากฎหมายกำหนด ประชาชนก็น่าจะยอมรับได้ การต่อต้านก็น่าจะเบาบางลง
 
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า มักมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสถานที่ ที่ตั้ง ทางนิติบัญญัติได้มีส่วนในการพิจารณาปัญหา เห็นว่า พ.ร.บ.ประกอบกิจการการพลังงาน ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการรอนสิทธิเพื่อนำมาสร้างเขื่อน สายส่ง สถานีย่อย แต่ไม่มีเรื่องโรงไฟฟ้าอยู่ในนั้น เพราะปี 2550 ที่ออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ มี IPP แล้ว กฟผ.เปิดประมูลให้เอกชน การมารอนสิทธิทำไม่ได้ เราเสนอว่าควรหาทางเพิ่มเติม พ.ร.บ.นี้ หรือสร้าง พ.ร.บ.ใหม่เพื่อรองรับ ให้ครอบคลุมเพื่อจะรอนสิทธิเพื่อสร้างโรงไฟฟ้า หรืออาจรวมใน พ.ร.บ.ว่าด้วยนิคมอุตสาหกรรมทั้งหลาย ว่าจะให้เป็นจุดสร้าง แม้แต่ IPP ก็อาจให้ กฟผ. และกระทรวงพลังงานรอนสิทธิ แล้ว IPP เป็นผู้เช่า 
 
อีกประเด็นคือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขณะนี้เรามีกฎหมายที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์เฉพาะด้านสันติเท่านั้น ไม่มีเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้า เรานำเสนอไปว่า น่าจะต้องเร่งทำกฎหมายนี้ออกมาเพื่อที่จะมีมาตรฐานในการควบคุม ถ้ามีกฎหมายแล้วน่าจะเป็นทางออกช่วยให้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป ได้ 
 
นอกจากนี้ในแผน PDP มีเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน เราทำแต่เฉพาะแต่หน่วยงานด้านพลังงานอย่างเดียว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายยังไม่มีกฎระเบียบ เช่น ผังเมือง หรือ นิคมอุตสาหกรรม น่าจะต้องมีกฎระเบียบที่ออกมาช่วยให้การอนุรักษ์พลังงานเป็นไปตามเป้าหมายใน แผน" 
 
รองปลัด ก.พลังงาน ชี้วิกฤตที่จะเกิดใน เม.ย. เกิดจากพึ่งก๊าซมากเกินไป
 
ด้านนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวถึงกรณีวิกฤตภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานที่อาจเกิดในเดือนเมษายน 2556 นี้ที่จะเป็นช่วงพีคของการใช้ไฟฟ้า เหตุเนื่องมาจากก่อนปีใหม่ ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทยมาเลเซีย แปลง B17 ผลิตก๊าซได้สูงสุด 330 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน มีเรือสินค้าใหญ่ทอดสมอ สมอเกี่ยวกับท่อขนก๊าซธรรมชาติเหลว หรือน้ำมันเบา ระหว่างแท่นผลิตไปยังเรือกักเก็บ ท่อจึงรั่ว มาตรฐานความปลอดภัยของการผลิตก๊าซเจอสภาพนี้ต้องหยุดทันที เรือที่เก็บก็เต็มด้วยจึงต้องหยุดผลิต จะหาใครซ่อมก็ลำบากคนหยุดกันหมด ใช้เวลาซ่อม ก๊าซหายไปจากระบบ 350 ล้านลูกบากศ์ฟุต พอดี B17  ส่งมาไทยทั้งหมด
 
พื้นที่ร่วมไทยมาเลย์ ผลิตก๊าซได้ 1,200 ล้านลูกบากศ์ฟุตต่อวัน มาไทย 800 (จะนะ 120 , เอ็นจีวี 5, ที่เหลือขึ้นมาที่ระยองหมด เป็นก๊าซผลิตไฟฟ้าและแอลพีจี) ส่วนแหล่งยาดานา ผลิต 600 ล้านลูกบากศ์ฟุตต่อวัน ทำการผลิตมาสิบกว่าปีแล้ว จำเป็นต้องปิดซ่อมเพราะตรวจสอบแล้วว่าพื้นทะเลที่แท่นผลิตตั้งอยู่มีการทรุด ตัว เขาแจ้งจะหยุดตั้งแต่เดือนมีนา เราขอให้ประวิงเวลา มาได้นานสุด 4 เม.ย. ทั้งนี้ก๊าซยาดานามีความร้อนสูง ถ้าเอามาเข้าผลิตไฟฟ้าของไทยจะเกิดอาการเครื่องน๊อค ต้องผสมกับความร้อนต่ำที่เยตากุน ทำให้เยตากุนหยุดผลิตไปด้วย รวมแล้ว 1,100 ล้านลูกบากศ์ฟุตต่อวัน เท่ากับ 1 ใน 4 ของความต้องการใช้ก๊าซที่เราคาดว่าจะใช้ในเดือนนั้น โชคดีว่าแหล่งก๊าซ JDA ซ่อมท่อเสร็จแล้ว กลับมาผลิตแล้ว 
 
ทั้งนี้เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมเมื่อปีที่แล้ว (2555) ในภาวะการฟื้นตัวจากภาวะอุทกภัยเมื่อปี 2554 มียอดการใช้ไฟฟ้าพีคถึง 26,161 MW ทั้งที่เคยคาดว่าจะพีค 25,000 MWเท่านั้น ดังนั้นเรื่องไฟฟ้าที่คนเราสุขสบายมาตลอด ไม่เคยเห็นไฟฟ้าดับ ก็เลยนึกว่ามันจะต้องติดเสมอไป กว่าจะได้ไฟฟ้ามาต้องวางแผน ลงทุน ป้องกัน ฯลฯ ฉะนั้น กระทรวงพลังงานได้ออกมากระตุกความคิดแจ้งข่าว เป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ 
 
โดยอุทธาหรณ์วิกฤตไฟฟ้า อยากเน้นว่า วิกฤตที่จะเกิดใน เม.ย. ไม่ใช่เกิดจากการที่เรามีกำลังผลิตไม่พอ แต่เกิดจากเรามีความเสี่ยงเรื่องเชื้อเพลิงที่อาจไม่มาให้โรงไฟฟ้าใช้ เหตุเพราะโรงไฟฟ้าหลักของประเทศใช้ก๊าซธรรมชาติ พึ่งพาก๊าซมากเกินไป 
 
อภิปรายทิศทางไฟฟ้าไทย นักวิชาการชี้ PDP ต้องมาจากข้อสรุปในทางสาธารณะ
 
ในช่วงการอภิปราย "ทิศทางการกำหนดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย" ซึ่งผู้นำการอภิปรายประกอบไปด้วย นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน, นายมงคล สกุลแก้ว รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต, ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
 
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวถึงอุปสรรคหนึ่งในการเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานนั่นก็คือการต้านของภาค ประชาชนในการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ๆ เสมอใจระบุว่าในเรื่องของการประท้วงของชาวบ้านในที่ต่างๆ สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ๆ นั้น ตนเองสนับสนุนด้วยซ้ำให้ชาวบ้านฟ้องศาลปกครองควบคู่กันไปด้วย เพราะจะทำให้หน่วยงานที่จะเดินหน้าสร้างในที่ต่างๆ ต่อมีข้อกำหนดด้านกฎหมายที่ชัดเจน ว่าสิ่งไหนทำได้หรือทำไม่ได้
 
ส่วนเรื่องพลังงานทดแทนและการประหยัดพลังงานนั้น ก็เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องดำเนินการอยู่แล้ว รวมถึงต่างประเทศเองก็มีการนำเรื่องเหล่านี้ใส่ไปในข้อกีดกันทางการค้าบ้าง แล้ว
 
ด้านความท้าทายเรื่องการวางแผนด้านพลังงานนั้น สะท้อนให้เห็นว่าทุกวันนี้เราต้องมี PDP เพราะหน่วยงานด้านการผลิตไฟฟ้าของไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งถามว่าเรากล้าไหมที่จะเปลี่ยนให้หน่วยงานรับผิดชอบด้านการผลิตไฟฟ้าแปร รูปไปเป็นเอกชนเลย รวมทั้งเราต้องมองถึงเรื่อง ASEAN Power Grid ส่วนอนาคตด้านพลังงานของประเทศก็ต้องทำให้เกิดการสะท้อนราคาด้านต้นทุนที่ แท้จริง รวมทั้งสนับสนุนตลาดเสรีในด้านพลังงาน
 
นายมงคล สกุลแก้ว รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ระบุว่าปัจจุบันเราทำสัญญาซื้อไฟจากลาวจำนวนมาก ซึ่งในสัญญาระบุว่าการเชื่อมโยงสายส่งมาที่ กฟผ.นั้นต้องขายให้ กฟผ.ผู้เดียว ทางกายภาพก็ส่งให้คนอื่นไม่ได้ จึงไม่มีความเสี่ยงมากนัก และในสัญญาระบุไว้ด้วยว่ารัฐบาลลาวจะไม่แทรกแซงด้วย ซึ่งความมั่นคงด้านพลังงานของไทยก็ต้องพึ่งพาต่างประเทศ หากเชื้อเพลิงไม่เพียงพอก็ต้องนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศแบบนี้ 
 
และเมื่อเทียบเรื่องเชื้อเพลิงแล้ว เมื่อเทียบถ่านหินกับก๊าซเป็นตัวเลือก พบว่าถ่านหินมีปริมาณสำรองในโลกสูงมาก ราคาไม่เคลื่อนไหวมากไม่เหมือนก๊าซ และถ่านหินก็มีความเสี่ยงต่ำ แต่ปัจจุบันไทยกลับผูกเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานไว้กับก๊าซแทน
 
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการแผน PDP นั้นถูกล๊อคไว้ในหลายมิติซึ่งน่าเห็นใจ ทั้งนี้เมื่อพูดถึงการวางแผน ประเด็นสำคัญ 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือเรื่องความพอเพียงและมั่นคง ซึ่งต้องมีการสร้างสมดุลย์ในสองเรื่องนี้
 
ส่วนเรื่องแผน PDP ปัจจุบันของไทย นั้นมีการพยากรณ์โหลด ซึ่งยังคงใช้ระบบ End Use Model อยู่ ทำให้ผลการพยากรณ์ในปีท้ายๆ มักจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง แต่เมื่อมองในความเป็นจริงตามสถิติ 20 ปีก่อนพบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยเป็นแบบ Linear มาตลอด ซึ่ง ศ.ดร.บัณฑิต มองว่าการพยาการณ์ความต้องการการใช้ไฟฟ้าแบบนี้จะได้ผลลัพธ์สูงเกินจริงไป หรือไม่ โดยเฉพาะปีท้ายๆ ของแผน PDP
 
ในเรื่องการกระจายด้านเชื้อเพลิงก็พบว่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของ ประเทศยังกระจุกตัวที่การใช้ก๊าซมากเกินไป รวมถึงเรื่องกำลังการผลิตสำรองซึ่งถ้ามีมากเกินไปก็จะทำให้ต้นทุนในการผลิต ไฟฟ้าสูงขึ้น ทั้งนี้การสำรองการผลิตไว้ปริมาณมากๆ นั้นก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชนิดเดียวมากเกินไปอีก ด้วย ซึ่งหากมีการกระจายเชื้อเพลิงให้มีหลายประเภทมากขึ้นก็จะสามารถแก้ปัญหา เหล่านี้ได้ ส่วนเรื่องพลังงานนิวเคลียร์นั้นก็คงที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยยากมากขึ้น หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น ส่วนถ่านหินที่มีเทคโนโลยีที่สะอาดมากขึ้น แต่คนก็ยังติดกับภาพในอดีตที่ถ่านหินเคยสร้างปัญหาไว้ ซึ่งตอนนี้ก็คงจะต้องเพิ่มปริมาณการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศมากขึ้น โดยปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 15%
 
นอกจากนี้ ศ.ดร.บัณฑิต ยังได้ระบุว่าสิ่งที่แผน PDP ขาดไปอีกหนึ่งอย่างก็คือ การพูดถึงเรื่องระบบสายส่งไว้อย่างละเอียดด้วย ส่วนเรื่องการรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนนั้น การจัดทำแผน PDP ในแต่ละครั้งที่ทำมาก็ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ใช้กระบวนการรวบรัดเกินไป ซึ่งในอนาคตจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลและเปิดรับฟังให้มากกว่านี้
 
นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กระบวนการจัดทำแผน PDP นั้นเกิดมานานมากแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 หรือก่อนหน้านั้น แผน PDP มันเป็น State Center Approach ที่ยึดแนวทางของรัฐบาลเป็นหลัก แต่ท่าในขณะนี้สังคมเราซับซ้อนมากขึ้น มีความห่วงและความคาดหวังแตกต่างกันมากขึ้น จำเป็นที่กรบะวนการต้องเปลี่ยนจากเดิมเป็น Society Center Approach ซึ่งเป็นการวางแผนที่ได้ “ข้อสรุปในทางสาธารณะ” จากที่ตอนนี้เราได้เพียง “มติ” ของหน่วยงาน
 
ทั้งนี้ปัจจุบันการตัดสินใจว่าจะใช้โรงไฟฟ้าอะไรบ้างเท่าไรนั้น รวบรัดมาก ในการ Revision ครั้งที่ 3 นี้เราใช้เวลาเพียง 9 วัน จัดเวทีรับฟังครั้งเดียว สะท้อนว่าตัดสินใจมาก่อนล่วงหน้า แล้วก็ประกาศ พร้อมปกป้องสิ่งที่ประกาศไป นำมาสู่ความขัดแย้ง การเชิญประชุมก็ประกาศสาธารณล่วงหน้า 5-6 วัน ช่องทางหลังจัดเวทีก็ไม่มี ควรต้องมีช่วง Public Input ที่จะมาปรับแผน และควรมีทางเลือก การเปรียบเทียบทางเลือกอย่างจริงจัง
 
โดยเดชรัตน์ มองว่าจากนี้ไปการทำ PDP จะต้องตอบโจทย์ทางวิชาการ ดังนี้ 
 
1.การจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้า ไม่ใช่เรื่องพยากรณ์ ซึ่งเป็นความต้องการปกติ แต่หลังจากนั้นมีมาตรการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟได้หรือไม่ ซึ่งในต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกในการวางแผน PDP เรามีแผนอนุรักษ์พลังงานในปี 2554 เราควรเอาเรื่องนี้มาอย่างเป็นระบบมากขึ้น 
 
2.ระบบสายส่ง เรามีพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเยอะในแต่ละพื้นที่ แต่เกิดคอขวดในระบบสายส่ง ในแง่มุมของพลังงานหมุนเวียน บางจังหวัดไม่สามารถผลิตได้เต็มที่ (บางจังหวัดผลิตได้ 40% ของที่ใช้) ควรมีการอภิปรายกันว่าจะลงทุนตรงจุดไหนอย่างไร และจะมากน้อยแค่ไหนเพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียน 
 
3.ต้องทำแผน PDP ย่อยในรายภูมิภาค เพราะประชาชนจำนวนมากไม่เข้าใจชัดเจนว่า การมีโรงไฟฟ้า ฟอสซิลก็ตาม หมุนเวียนก็ตาม มันมีความจำเป็นอย่างไร ทุกภาคควรมีส่วนรับผิดชอบในการผลิตเหมือนกัน จะไม่เกิดความรู้สึกนั้นถ้าไม่ย่อยแผนให้ใกล้ตัว ตอนนี้ทดลองทำที่ภาคใต้ และพยายามย่อยไประดับจังหวัด มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเท่าไร มาจากไหนได้บ้าง ในทางปฏิบัติอาจไม่ใช่ส่วนหลักของ PDP แต่จะเป็นหัวใจในการแสวงหาการยอมรับร่วมกัน 
 
4.การจัดทำ PDP ควรทำในลักษณะแผนการจัดการความเสี่ยง ควรมีการยกความเป็นไปได้ในเรื่องความเสี่ยงมาให้หมด เช่น ท่อก๊าซ 2 ท่อหยุดพร้อมกัน จะรับมืออย่างไร น้ำท่วมราชบุรี เกิดเหตุการณ์วุ่นวายในภาคตะวันออก เศรษฐกิจซบเซายาวนาน ฯลฯ ซึ่งควรยกเป็นหนึ่งบทของการทำแผน PDP เลย 
 
5.หลังทำแผน PDP ต่อไปควรมี Monitoring and Accountability หลังทำแผนเสร็จไป อะไรจะเกิดขึ้นบ้างภายในสิ้นปีนี้ เราแทบไม่รู้เลย ทำได้จริงไหม สมมติฐานต่างๆ ที่พูดไว้มันเป็นไปตามนั้นหรือไม่ ควรออกรายงานเป็นรายปีของการติดตาม PDP ซึ่งจะเป็นตัวบอกว่าควรจะปรับแผนหรือยัง ปรับเล็กหรือปรับใหญ่ อาจบอกว่าทำอยู่แล้ว แต่ไม่มีการสื่อสารกับสาธารณะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น