22 ก.พ.56 ที่ห้องพิจารณาคดี 802 ศาลอาญา รัชดา นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนอาวุโส มาเบิกความเป็นพยานจำเลย ในคดีที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ฟ้อง นายเอกชัย (สงวนนามสกุล) อายุ 36 ปี ในความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 54 ขายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 เนื่องจากขายซีดีสารคดีเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของสำนักข่าว ABC ประเทศออสเตรเลียและขายสำเนาเอกสารวิกิลีกส์ฉบับแปลภาษาไทย โดยนัดนี้เป็นนัดสุดท้าย และศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 28 มี.ค.56 เวลา 9.00 น.
ก่อนการสืบพยาน ศาลได้อ่านวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัย ว่า มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาขัดหรือแย้งกับ มาตรา 8, 29 และมาตรา 45 ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าไม่ขัดแย้ง (อ่านรายละเอียดในไฟล์แนบ – คำร้องที่สอง ต่อจากคำร้องของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข)
สุลักษณ์ เบิกความถึงสำนักข่าว ABC ของออสเตรเลียว่า เทียบเท่ากับสำนักข่าว BBC ของอังกฤษ ที่ได้รับความเชื่อถือทั่วโลก ให้ความเป็นธรรมในการเสนอข่าว สำนักข่าวนี้เคยมาสัมภาษณ์เขาหลายครั้ง รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ด้วย สำหรับสารคดีในคดีความนี้เคยดูแล้วและยังมีส่วนให้สัมภาษณ์ในสารคดีชิ้นนี้ ด้วย
ทนายถามว่าเห็นอย่างไรที่สารคดีเปิดด้วยการเกริ่นถึงปัญหาการใช้กฎหมาย มาตรา 112 และกระบวนการยุติธรรม สุลักษณ์กล่าวว่า มาตรา 112 ไม่เอื้ออาทรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสชัดเจนเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.48 ว่าใครฟ้องคดีหมิ่นฯ เท่ากับเป็นการทำลายพระองค์ท่านและบั่นทอนสถาบัน ส่วนที่วิพากษ์กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในชั้นตำรวจนั้นเห็นว่า ตำรวจไม่ใช่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์แต่มักรังแกราษฎร์ ตั้งแต่ยุคทักษิณ ชินวัตร เป็นใหญ่ตำรวจฟังทักษิณมากกว่ารัฐบาลอื่น
“สมัยทักษิณ ผมเคยถูกจับคดีหมิ่น ถึง 3 ครั้ง 2 คดี ซึ่งไม่มีมูลทั้งสิ้น อัยการไม่ฟ้องเลย” สุลักษณ์กล่าวและว่าเขาถูกทรมานด้วยการบุกจับกุมที่บ้านกลางคืนแล้วนำตัวไป ยังจังหวัดขอนแก่น กว่าจะได้รับการประกันตัวก็ 02.00 น.
ทนายถามว่า ในระยะหลังผลคำพิพากษาเกี่ยวกับคดี 112 ส่งผลดีหรือผลร้ายต่อสถาบัน สุลักษณ์กล่าวว่า ผลทุกคดีเป็นการทำร้ายพระองค์ท่าน ที่ผ่านมารัฐสภาเคยเชิญให้ไปพูดเรื่องนี้ให้ฟัง ก็ได้ให้คำแนะนำไปว่า หากจงรักภักดีอย่างแท้จริงก็ควรจะต้องเลิก หรือลดหย่อนผ่อนโทษกฎหมายนี้ โทษขั้นสูง 3 ปี หรือ 7 ปีก็เพียงพอแล้ว แต่รัฐสภาก็ไม่ทำ เพราะเป็นเครื่องมือของทักษิณ เหตุที่ควรยกเลิกเพราะคดีนี้ใครฟ้องก็ได้ ตำรวจไม่ทำคดีก็เดือดร้อน
ในส่วนบทบาทของสื่อมวลชนไทย สุลักษณ์กล่าวว่า ส่วนใหญ่ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม
“พูดถึงสถาบันก็หัวหดกันหมด สถาบันมีไว้ให้เรารัก วิพากษ์วิจารณ์ เคารพ ไม่ใช่แหยไปหมด” เขากล่าว
ส่วนกรณีที่สารคดีนี้ดูเหมือนพยายามอธิบายว่ากษัตริย์อาจมีส่วนเข้าแทรก แซงการเมือง สุลักษณ์ ให้ความเห็นว่า สถาบันมีบทบาทสำคัญในการแทรกแซงการเมือง โดยจะแทรกแซงในสิ่งที่เป็นคุณงามความดี เพื่อความยุติธรรม เพราะสถาบันนั้นอยู่สูงส่งกว่าการเมือง หากแทรกแซงด้วยพระมหากรุณาธิคุณก็มีสิทธิจะแทรกแซง ยกตัวอย่าง กรณีพฤษภาคม 2535 ก็ถือว่าลงมาแทรกแซงเพื่อยุติความรุนแรง ไม่เช่นนั้นคงฆ่ากันเป็นเบือ การแทรกแซงของกษัตริย์ต้องมีตลอดไป แต่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ กษัตริย์ต้องเตือนรัฐบาล อุดหนุนรัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำในทางสาธารณะ นี่คือ บทบาทของกษัตริย์
หากถามว่าประชาชนทั่วไปจะวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ได้ไหม เห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทุกคนต้องมีสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ และทุกคนควรได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ แม้แต่พระพุทธเจ้ายังตรัสว่า พระองค์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเขียนตั้งแต่ก่อนจะมีรัฐธรรมนูญด้วย ซ้ำว่า พระองค์ถูกวิจารณ์ได้ หากมีใครวิจารณ์โง่ๆ ก็จะมีคนด่าเอง แต่หากวิจารณ์ถูกต้องก็จะได้ปรับปรุง ดังนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบัน ทุกคนอ้างความจงรักภักดี แต่ไม่มีใครทำตามพระราชดำรัสเลย
การที่เขาให้สัมภาษณ์ ABC นั้นก็ได้ยกตัวอย่างไปว่า กษัตริย์ไทยองค์ปัจจุบันเปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาพสกนิกร ต้นไม้ใหญ่อาจมีเพลี้ย กาฝาก เราต้องไม่ตัดต้นไม้ใหญ่ แต่ต้องตัดกาฝาก ฉันใดก็ฉันนั้น สถาบันกษัตริย์อยู่มานานก็ต้องมีเพลี้ยมากิน ยกย่องสรรเสริญเกินเลยโดยอ้างความจงรักภักดี เราต้องเอาสิ่งเหล่านี้ออกไป และเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องกล้าพูด กล้าเขียน กล้าวิจารณ์ แต่สื่อมวลชนกระแสหลักของไทยกลับไม่กล้าทำเลย
ส่วนเนื้อหาที่มีปัญหาในช่วงท้ายคลิปนั้น สุลักษณ์สรุปความได้ว่า พระบรมโอรสาธิราช เป็นรัชทายาทในรัชกาลปัจจุบัน พระองค์ทรงไปศึกษาต่อต่างประเทศทั้งในอังกฤษและออสเตรเลีย ทำให้ทรงมีแนวคิดสมัยใหม่ ก้าวหน้า และทรงมีน้ำพระหฤทัยที่กว้างขวาง เขาไม่เห็นว่าภาพที่ปรากฏจะทำให้พระองค์เสื่อมเสียแต่อย่างใด และเมื่อเทียบกับกษัตริย์ของประเทศอื่นๆ ก็เคยมีกรณีคล้ายคลึงกัน ไม่ว่ากรณี ดัชเชสออฟเคมบริดจ์ หรือ เจ้าชายแฮรี่แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อออกสู่สาธารณะย่อมต้องมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ในสังคมประชาธิปไตยจะให้คนเห็นเหมือนกันหมดเป็นไปไม่ได้ แต่จะเห็นได้ว่าเจ้านายในยุคสมัยใหม่ล้วนใจกว้างเพื่อเดินต่อไปข้างหน้า
สุลักษณ์กล่าวด้วยว่า เมื่อดูภาพรวมของสารคดีชิ้นนี้โดยไม่แยกเป็นส่วนๆ จะเห็นได้ว่าฝรั่งตั้งใจให้คนนอกประเทศเข้าใจเรื่องราชวงศ์ไทย และเป็นความตั้งใจดี แต่อาจจะมีข้อผิดพลาดบ้าง โง่บ้าง แต่ก็ไม่มีอะไรเสียหาย การคบกับฝรั่งต้องใจกว้าง
“เราต้องเชื่อมั่นในตัวเรา เชื่อมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าเขาจะทำออกมายังไง เราก็ยังจงรักภักดีวันยันค่ำ” สุลักษณ์กล่าวและว่าหากมีคนนำซีดีนี้ไปเผยแพร่ก็คงเพราะเขาเห็นว่าฝรั่งพูด แบบนี้และต้องการให้เพื่อนร่วมชาติรู้ว่าฝรั่งมองอย่างไร โลกในยุคนี้เป็นยุคที่ปิดกั้นไม่ได้แล้ว แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไปเชื่อฝรั่งทั้งหมด
สุลักษณ์เบิกความด้วยว่า การที่คนออกมาแสดงความเห็นนั้น ถ้าในทางวิพากษ์วิจารณ์ควรยอมรับ ไม่ใช่อะไรก็เล่นงานตลอดเวลา หากศาลเข้าใจเรื่องที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสก็ย่อมไม่ตีความกฎหมายแต่ เพียงตัวบท ความยุติธรรมยังต้องประกอบไปด้วยการุณยธรรมด้วย เพื่อประคับประคองให้สถาบันอยู่ยืนยาวต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายสุลักษณ์ถือเป็นพยานปากสุดท้าย แม้ฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องให้ศาลออกหมายเรียกพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี มาเบิกความเนื่องจากถูกระบุถึงในเอกสาร wikileaks ด้วยนั้น ศาลไม่อนุญาตโดยให้เหตุผลว่าไม่มีหลักฐานว่าทั้ง 2 พูดกับนายอีริค จี จอน เอกอัคราชทูตของสหรัฐอเมริกาจริง อย่างไรก็ตาม ทนายได้ยื่นคัดค้านไว้และศาลได้บันทึกไว้ในสำนวน
Attachment | Size |
---|---|
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณี มาตรา 112 | 776.42 KB |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น