ที่มา ข่าวสด
20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
หมายเหตุ : ภายหลังจาก "ข่าวสดออนไลน์" ขออนุญาตนำบทความเรื่อง โต้ข้อหา ‘อยากดัง’ ภาค 2 ของ "วีรพัฒน์ ปริยวงศ์" นักกฎหมายอิสระจากสำนักฮาร์วาร์ด มาเผยแพร่ในเว็บข่าวสด ใช้ชื่อว่า "วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายหนุ่ม โต้ข้อกล่าวหา "อยากดัง-โกหกลวงโลก" (17 ก.พ.56) ปรากฎว่าได้รับทราบข้อมูลจาก "กานดา นาคน้อย" ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยคอนเน็ตทิคัต สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มนักวิชาการที่มองต่างมุมบางประเด็นกับวีรพัฒน์และถูก พาดพิงในบทความ โต้ข้อหา ‘อยากดัง’ ภาค 2 ว่าพร้อมให้สัมภาษณ์แจกแจงในประเด็นทางวิชาการที่เห็นต่าง
กานดา นาคน้อย และ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ |
กานดา นาคน้อย : มี ภาษาอังกฤษเรียกว่า independent scholar คำว่า independent คืออิสระ ในที่นี้คือไม่มีสังกัด นักวิชาการอิสระคือนักเขียนฟรีแลนซ์ที่เขียนเรื่องจริง (non-fiction) สรรพากรสหรัฐฯ ถือว่าเป็นนักธุรกิจส่วนตัว (self-employed) ประเภทเดียวกับที่ปรึกษาธุรกิจอิสระ (independent business consultant)
ไม่มีบรรทัดฐานชัดเจนว่าอะไรเป็นตัววัดความเป็นนักวิชาการของนักวิชาการ อิสระ ทำให้นักวิชาการอิสระบางส่วนอ้างอิงมหาลัยเพื่อนิยามความเป็นนักวิชาการ เช่น ตีพิมพ์หนังสือกับสำนักพิมพ์มหาลัย อ้างอิงถึงประสบการณ์การสอนในตำแหน่งอาจารย์และอาจารย์พิเศษ อ้างอิงถึงวิทยานิพนธ์ในอดีต ที่อ้างอิงถึงผลงานวิจัยในวารสารวิชาการในอดีตนั้นเป็นส่วนน้อย
ส่วนใหญ่นักวิชาการอิสระตีพิมพ์ในนิตยสารเขียนพ็อคเก็ตบุ๊ค เป็นวิทยากรสัมมนานอกมหาลัย ออกทีวีหรือเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ สื่ออเมริกันเรียกนักวิชาการอิสระที่ออกทีวีว่าผู้เชี่ยวชาญ (expert) เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาชีพที่ไม่เขียนหนังสือก็ออกทีวีได้ เช่น อดีตนักบินให้ความคิดเห็นต่อกรณีเครื่องบินตก
อย่างไรก็ดี ความคิดเห็นของนักวิชาการอิสระในสื่อมวลชนไม่ใช่บรรทัดฐานอ้างอิง เนื่องจากไม่มีบรรทัดฐานชัดเจนว่าอะไรเป็นตัววัดความเป็นนักวิชาการของนัก วิชาการอิสระนั่นเอง
ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดระหว่างนักวิชาการอิสระที่สหรัฐฯ และไทยอยู่ที่อิทธิพลต่อนโยบายสาธารณะ
นักวิชาการอิสระที่สหรัฐฯ ไม่มีบทบาทผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้วยสถานะนักวิชาการ
นักวิชาการที่ผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะคือนักวิชาการในระบบ
ถ้านักวิชาการอิสระอยากมีบทบาทขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ต้องเปลี่ยนสถานะเพื่อเข้ากระบวนการเมืองอย่างเปิดเผย มี 4 ทาง
(1) กลายเป็นนักการเมืองมืออาชีพ
(2) อาศัยนักการเมืองเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง (political appointee)
(3) ทำงานกับเอ็นจีโอ
(4) เข้าร่วมกลุ่มต่างๆ เช่น Occupy Wall Street
ในทางปฎิบัติ ทางที่ 1 และ 2 เป็นทางสายหลัก แต่ที่เมืองไทยทางสายหลักสำหรับนักวิชาการอิสระที่อยากขับเคลื่อนนโยบาย สาธารณะคือเอ็นจีโอ เพราะเอ็นจีโอไทยส่วนใหญ่คือผู้รับเหมารับโปรเจ็คมาจากรัฐบาล มีไม่มากที่เป็นเอ็นจีโอที่เป็นอิสระจากรัฐบาลแบบในต่างประเทศ
ข่าวสดออนไลน์ : เหตุใดนักวิชาการบางกลุ่มจึงมองการกำกับสถานะ อ.วีรพัฒน์ (โดยสื่อมวลชน) ว่า "นักวิชาการอิสระ" เป็นเรื่องน่าขำ น่าเย้ยหยัน ขบขัน
กานดา : ดิฉันตอบแทนคนอื่นไม่ได้ สำหรับดิฉัน ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง มากกว่าขบขัน การกำกับสถานะว่า “นักวิชาการอิสระ” ทำให้สังคมเข้าใจผิดว่าเป็น “อิสระจากการเลือกข้าง” และ “เป็นกลาง” ด้วยนัยยะทางจริยธรรมของคำว่า “อิสระ”
ต่างจากคำว่า independent ซึ่งแปลว่า “ไร้สังกัด” ที่ไม่มีความหมายด้านจริยธรรม น่าห่วงเพราะเขาเสนอตัวเข้ามามีส่วนร่วมร่างพรบ.นิรโทษกรรม ทั้งๆที่จุดยืนไม่เคยชัดเจน เป็นกลางหรือเปล่าก็ยังเป็นปริศนา
ที่สำคัญที่สุดคือวิธีที่นำเสนอความเป็นนักวิชาการ ทำให้เกิดข้อกังขาว่าควรได้รับความไว้วางใจถึงขั้นเป็นมันสมองในการเจรจา ร่างพรบ.นิรโทษกรรมหรือไม่? มีคุณสมบัติเพียงพอที่สังคมควรไว้วางใจให้ “ขับเคลื่อนประเทศ” หรือไม่ ?
นี่คือปัญหาระดับชาติ ปัญหาระดับชาติเป็นปัญหาที่ต้องการคนที่มีทั้งความรู้และประสบการณ์โชกโชน เข้ามาแก้ปัญหา ต้องคิดเป็นระบบและต้องมีวุฒิภาวะ คนไทยได้บทเรียนแล้วว่าความอ่อนด้อยประสบการณ์ของอดีตนายกฯ บางคนได้ทำให้ประเทศเสียหายมากขนาดไหน
ดิฉันคิดว่ามี 2 สาเหตุที่สื่อมวลชนให้พื้นที่เขามาก โดยไม่ตั้งคำถามจริงจัง
(1) จบโทจากมหาลัยฮาร์วาร์ด ฮาร์วาร์ดคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับคนไทย
(2) หลังรัฐประหารประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหารเลิกเชื่อใจนักวิชาการในระบบ เพราะอาจารย์มหา’ลัยและผู้บริหารมหา’ลัย รวมทั้งนักวิชาการอาวุโสที่ทีดีอาร์ไอสนับสนุนรัฐประหาร ฝ่ายปฎิรูปเลยหันไปหานักวิชาการอิสระ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็สรรหานักวิชาการอิสระมาแข่งหลังรัฐประหาร สังคมเลยตอบรับนักวิชาการอิสระสุดตัว ความล้มเหลวของนโยบายด้านการศึกษาก็เป็นปัจจัยที่ทำให้คนสิ้นหวังกับนัก วิชาการในระบบ
ข่าวสดออนไลน์ : ประเด็นข้อโต้แย้งระหว่างนักวิชาการที่ผลิตงานผ่านสถาบันการศึกษา กับ กลุ่มที่นำเสนอผ่านสื่ออย่างเดียว แต่ไม่มีผลงานวิชาการชัดเจนแตกต่างกันอย่างไร
กานดา : ความแตกต่างที่สำคัญอยู่ที่การควบคุมคุณภาพและบรรทัดฐานที่ใช้วัดคุณภาพงาน วิชาการ อย่างที่อธิบายไปแล้วว่ากลุ่มที่นำเสนอผ่านสื่ออย่างเดียวก็ยังไม่รู้ว่าตัว เองจะเอาอะไรเป็นบรรทัดฐาน ก็ยังต้องหันมาอ้างอิงด้วยบรรทัดฐานของงานวิชาการในสถานศึกษา สังคมอเมริกันจึงไม่ให้ราคากับกลุ่มที่นำเสนอผ่านสื่ออย่างเดียวมากมายนัก พื้นที่นักวิชาการอิสระในสื่อมวลชนก็ขยายตัวยากเนื่องจากสื่อมวลชนที่ทุน หนาไม่เล่นด้วย
สื่อมวลชนทุนหนา ยอมลงทุนจ้างนักวิชาการที่มีผลงานวิจัยเป็นชิ้นเป็นอันด้วยราคาที่สูงกว่าเพื่อเรียกเรตติ้ง
การควบคุมคุณภาพงานวิชาการในสถาบันการศึกษามีหลายขั้นตอนและอาศัยการตรวจสอบข้ามสถาบันและข้ามประเทศ
ขั้นแรกคือการตอบคำถามที่งานสัมมนา สัมมนาเสร็จก็ต้องมาแก้และเขียนใหม่ ทำแบบนี้หลายหนแล้วส่งไปขอตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ
ขั้นนี้ก็จะโดนตรวจสอบโดยนักวิชาการข้ามสถาบันจนแน่ใจว่า(1) เป็นของใหม่ไม่ได้ลอกความคิดใครมา (2) วีธีคิดสมเหตุสมผล (3) ถ้าเสนอข้อมูลประกอบข้อมูลก็ต้องสมเหตุสมผลด้วย
หลังจากผ่านด่านตีพิมพ์ไปแล้วมีคนมาอ่านเจอแล้วพิสูจน์ได้ว่าผิดหรือข้อมูล ไม่ถูกต้องหรือลอกใครมาก็เรื่องใหญ่ ทางวารสารจะประกาศให้ชุมชนวิชาการรับรู้ว่างานชิ้นนั้นจะโดนลบไปจากสารบบจะ ได้ไม่มีใครนำไปอ้างอิงต่อไป
ถ้าสอบสวนพบว่าผิดโดยเจตนาเช่น สร้างข้อมูลเท็จ เจ้าของบทความต้องลาออก มีการลงโทษกันจริงๆ ด้วยเหตุนี้งานวิชาการในวารสารวิชาการจึงได้รับการยอมรับว่าเป็นมาตรฐานอ้าง อิง
ข่าวสดออนไลน์ : งานวิชาการของอาจารย์วีรพัฒน์ที่โดนกล่าวหาว่าผลิตอย่างลวกๆ นั้น มีในประเด็นใดบ้างผิดจากข้อเท็จจริงเรื่องใด แนวคิดบรรเทาความขัดแย้งและนิรโทษกรรม ที่เสนอมีจุดด้อยตรงไหน ขาดหลักการอะไร
กานดา : ผิดจากข้อเท็จจริงตั้งแต่เรียกว่า “งานวิชาการ”
งานวิชาการคือ scholarly work
งานเขียนของเขาคือความคิดเห็นหรือข้อเสนอ เรียกว่า op-ed article
แม้แต่ข้อเสนอเรื่องพรบ.นิรโทษกรรมก็เป็น op-ed article ผสมการให้ข่าว ผู้อ่านบทความส่วนใหญ่ไม่ใช่นักวิชาการจะติจะชมก็บ่งบอกคุณภาพไม่ได้เพราะ ผู้อ่านไม่รู้ว่างานวิชาการคืออะไรงานวิชาชีพต้องอาศัยประสบการณ์ ถ้าไม่ใช่คนในวิชาชีพก็ตรวจคุณภาพไม่ได้ ให้ดิฉันตรวจว่าภาพศิลปะแบบไหนสร้างสรรค์ก็ตรวจไม่ได้เพราะไม่ใช่ศิลปิน
“ลวกๆ” หมายความว่าข้อเสนอพรบ.นิรโทษกรรมที่เขาเสนอมา คือ การบ้านที่ตอบโจทย์ไม่เสร็จ แต่เอาไปนำเสนอ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชาติและความทุกข์ของนักโทษการเมือง
(1)ข้อเสนอทางวิชาการที่ดีต้องมีบรรทัดฐานหรือตัววัดผลที่ประเมินได้ แต่ข้อเสนอของเขาเลื่อนลอยและไม่เจาะจงกลุ่มเป้าหมาย และไม่มีกลไกอันนำไปสู่เป้าหมาย ประเมินไม่ได้ว่าอย่างไรเรียกว่าบรรลุเป้าหมาย สาระมีแค่ว่าชวนไปตั้งคณะกรรมการคุยกันก่อนแล้วค่อยว่ากันใหม่
(2) พรบ.ฉบับแรกที่เสนอมาไม่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของกลุ่ม 29 มกราฯ ฉบับที่สองก็กำกวม ไม่รู้ว่าจะครอบคลุมคดีอะไรบ้าง ไม่มีหลักประกันว่าจะสอดคล้องกับเป้าหมายเดียวกับกลุ่ม 29 มกราฯ
(3) ทำให้กระบวนการนิรโทษกรรมล่าช้า โดยดึงให้ตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งๆ ที่อำนาจการออกพรบ.อยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ เขาเสนอตัวเป็นคนกลาง ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น ไม่มีเขากระบวนการนิรโทษกรรมก็ดำเนินต่อไปได้ ทำให้กระบวนการล่าช้าก็ยิ่งเพิ่มทุกข์ให้นักโทษการเมือง ไม่ช่วยบรรเทาทุกข์
(4) คนได้ประโยชน์จากข้อเสนอเขาที่สุดคือตัวเขาเอง ถ้าผลักดันสำเร็จก็จะได้แสดงบทบาทผู้นำการผลักดันนิรโทษกรรมแทนกลุ่ม 29 มกรา ทั้งๆที่กลุ่ม 29 มกราทำงานด้านนี้มานานกว่าเขามาก กลุ่ม 29 มกรามีความจริงใจให้นักโทษการเมืองและไว้ใจได้มากกว่า
(5) ย่อหน้าสุดท้ายของบทความ เขาโจมตีคนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเขาว่า “และสุดท้าย คนที่น่าเศร้าใจแทนที่สุด ก็คือคนที่นำ ‘ความเป็นธรรม’ มาใช้ต่อว่าด่าทอผู้อื่นเพื่อสนองความหมั่นไส้ริษยา โดยไม่รู้ตัวเลยว่า ตนกำลังต่ออายุความทุกข์ของผู้ที่อยู่ในคุก เพื่อปลุกเร้าความสนุกปากสะใจของตนไปอีกวัน” ดิฉันอ่านแล้วคิดว่าคนคนนั้นคือเขาเอง ถ้าเขาอยากเสนอข้อเสนอที่มีหลักการจริงๆ เสนอเสร็จก็จบ ไม่ควรเขียนทำนองว่าใครไม่เห็นด้วยกับผมเป็นคนเลวและริษยาผม คนรับฟังข้อเสนอมีสิทธิ์ตั้งคำถามและสงสัย คนมีคำถามไม่ใช่คนใจแคบ คนไม่เห็นด้วยไม่ใช่คนใจแคบ
(6) ดิฉันถามเขาสั้นๆ ว่าข้อเสนอของเขาทั้งหมดจะทำให้นักโทษการเมืองออกจากคุกได้กี่คน?
เขาตอบมายาวแต่สรุปสาระได้ว่าต้องไปตั้งคณะกรรมการคุยกันก่อน
คำถามว่า “กี่คน” มันมีคำตอบชัดเจนนะคะ 1) ตอบเป็นตัวเลข 2) ถ้าไม่ตอบเป็นตัวเลขก็แปลว่าไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่ยอมตอบ
ข่าวสดออนไลน์ : มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า นักกฎหมายหนุ่มผู้นี้โกหก-ปั้นน้ำเป็นตัว ถ้ามี ปรากฎในประเด็นวิชาการใดๆ บ้าง?
กานดา : ที่ชัดเจนคือการอ้างอิงนักวิชาการต่างประเทศเพื่อสร้างความ ชอบธรรม และการอ้างอิงดังกล่าวขัดกับความเป็นจริง ดูจากบทสัมภาษณ์เขาที่ประชาชาติธุรกิจรายงานนะคะ
"สื่อโซเชี่ยลมีเดียมันเกิดขึ้นมา มันเป็นโอกาสทำให้ประชาธิปไตยมันเคลื่อนไปได้ มันทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่าย แล้วนักวิชาการคือแหล่งข้อมูล ถ้าคุณติดว่า ต้องไปกราบไหว้เชิญถึงจะมา ต้องทำงานวิจัย 500 หน้าถึงจะทำ แต่การเขียนความเห็นทางวิชาการ 2-3 หน้าที่เข้าใจง่ายๆ ไม่ทำ ผมว่าคุณต้องคิดใหม่"
"นักวิชาการต่างประเทศ อย่างอเมริกานิยมเขียนบทความรายวัน คล้ายๆ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตอนผมอยู่ฮาวาร์ด อาจารย์เขาไม่นั่งทำวิจัยกันเป็นเดือน แล้วเขียน 500 หน้า แต่เขาเขียนบทความ 2-3 แผ่นลงหนังสือพิมพ์ อาทิตย์ละครั้งสองครั้ง เพราะนั่นคือการขับเคลื่อนสังคมที่ดีที่สุด สื่อสารให้เข้าใจง่าย และต้องทันสมัย ไม่ใช่เรื่องนี้เขาเลิกเถียงกันไปนานแล้ว แต่คุณยังนั่งทำวิจัยถามว่าประชาชนนั่งอ่านทั้ง 500 หน้าไหม"
"ผมใช้เวลาเขียนบทความลงเฟซบุ๊ก ลงอะไรที่อ่านสั้นๆ ง่ายๆ แต่มีสาระแน่น ผมอยากให้นักวิชาการท่านที่พอจะทำได้ทำบทบาทนี้มากขึ้น แทนที่คุณจะไปเขียนตำราไปเขียนวารสาร เขียนงานวิจัยให้กับรัฐ คุณมาเขียนสัก 2 แผ่น ลงสื่อช่วยกันคิดประเด็นที่ขับเคลื่อนสังคม แต่เมืองไทยนักวิชาการด้านกฎหมายไม่ค่อยมีออกมา มีบ้างก็ต้องรอประเด็นบิ๊กๆ เหมือนกับตัวเองแบบ...ต้องคู่ควร แต่ประเด็นรายวันไม่คู่ควรหรือ ต้องแบบรัฐประหารแล้ว ตัวเองต้องออกมา แต่ผมมองว่ากฎหมายอยู่ทุกที่ทุกมุม ดังนั้น นาซ่า ค้าข้าว โอลิมปิก ไอบ้า ผมเขียนเลย"
ทั้งนี้ ที่จริงแล้วนักวิชาการต่างประเทศอย่างอเมริกาใช้เวลาทำวิจัยเป็นเดือนๆ เป็นปีๆ เขียนกันเป็นร้อยๆ หน้า บางคนเขียนเป็นพันๆ หน้า ถึงจะแน่ใจว่าความคิดตกผลึกและสะสม “ประสบการณ์” มากพอที่พร้อมจะขับเคลื่อนสังคม ถึงเขียนบทความลงนสพ. “ควบคู่” ไปกับงานวิชาการ ไม่ใช่“แทนที่” งานวิชาการ ถ้าไม่มีประสบการณ์ไม่มีใครสนใจรับฟัง การขับเคลื่อนสังคมไม่ใช่เรื่องง่าย มีความรู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีประสบการณ์และเครือข่ายทางสังคม ต้องใช้เวลา ไม่เกี่ยวว่าอายุมากอายุน้อย
ว่าตามสามัญสำนึกแล้วเขาอยู่ฮาร์วาร์ดในฐานะนักเรียน แต่พูดถึงเรื่องของอาจารย์ คนฟังน่าจะฉุกใจคิดว่า “รู้ได้ยังไง”
คนไม่เคยเป็นอาจารย์ก็รู้ได้ ถ้าใส่ใจหาข้อมูล แค่เข้าเว็บไซต์อาจารย์ก็จะเห็นประวัติอาจารย์ที่ลิสต์ว่าอาจารย์เขียนอะไร กันบ้าง เดี๋ยวนี้มีอินเตอร์เน็ตก็เช็คข้อมูลได้ง่าย ใครก็เช็คได้ค่ะ แค่เข้ากูเกิลหา Harvard Law School หาลิงค์ไปที่คณาจารย์ Faculty คลิกที่ Faculty Directory ก็จะเจอชื่ออาจารย์เรียงอยู่มากมาย คลิกคนแรกก็จะเห็นเลยว่าตีพิมพ์อะไรบ้าง
ก็ดีที่สื่อตั้งคำถามแล้วสัมภาษณ์เขา การที่เขาเขียนสารพัดเรื่องไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือเขาทำให้คนเข้าใจผิดว่าวิธีการเขียนของเขาคือวิธีการที่นักวิชาการ ต่างประเทศอย่างอเมริกาเขียนกัน
จริงๆถ้าอยากเขียนก็เขียนไปไม่อยากทำวิจัยเป็นเดือนเป็นปี ไม่เขียน 500 หน้าก็ไม่มีใครว่า ถือเป็นทางเลือกส่วนตัว แต่เมื่อเขาเลือกทำอาชีพนอกมหา’ลัยแล้วก็ต้องยอมรับว่าคนเราทำไม่ได้ ทุกอย่าง สิ่งที่เขาต้องการทำคือหน้าที่สื่อมวลชน ถ้าอาจารย์มหา’ลัยมาตามเรื่องสารพัดเรื่องตามกระแสรายวันก็ไม่มีสมาธิไปคิด ให้เป็นระบบให้ตกผลึก
จะตกผลึกก็ต้องคิดเรื่องเดียวเป็นเวลานานๆต้องใช้เวลา
กานดา : ดิฉันอ่านใจใครไม่ได้ แต่คนอื่นริษยาหรือไม่ก็ไม่เกี่ยว ถ้าอยากเป็นนักวิชาการต้องตอบคำถามให้ตรงประเด็นเหมือนในงานสัมมนา
อย่าไปคิดว่าคนอื่นถามเพราะริษยาคนเรามีเป้าหมายชีวิตไม่เหมือนกัน
ต่อให้เราคิดว่าเราประสบความสำเร็จอย่างไรก็ไม่จำเป็นว่าคนอื่นอยากได้อยาก มีจนต้องอิจฉาริษยาเรา การที่คนอื่นไม่ได้ทำอย่างเราไม่ได้หมายความว่าเขาทำไม่ได้ แต่หมายความว่าเขาเลือกทำอย่างอื่น หรืออาจจะไม่มีโอกาสเท่าเรา
ดิฉันไม่ได้ติดตามว่ามีใครอีกบ้างนอกจาก อ.เกษียร และ อ.พวงทอง ที่วิพากษ์ข้อเสนอพรบ.นิรโทษกรรมในที่สาธารณะ
คิดว่าต้องวิพากษ์เพราะพาเข้ารกเข้าพงที่ตัดสินใจตอบคำถามประเด็นนัก วิชาการอิสระ และพรบ.นิรโทษกรรม เพราะการโต้ตอบกับเขาบนเฟซบุ๊คกลายเป็นข่าวที่ข่าวสดไปแล้ว
เรื่องแนวคิดที่น่ากลัวที่สุดของเขาขอไม่ตอบนะคะ เขายังอายุน้อย เหตุการณ์นี้อาจจะเป็นบทเรียนให้เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
ขอพูดเรื่องความน่ากลัวของนักวิชาการอิสระโดยรวม ไม่เจาะจงถึงเขานะคะ
ดิฉันกับเพื่อนอาจารย์คนไทยที่อยู่ต่างประเทศคุยกันมาหลายปีแล้วเรื่อง ปัญหาของนักวิชาการอิสระที่เมืองไทย รู้อยู่ว่ามีหลายคนหลอกลวงสังคมเพื่อหาผลประโยชน์ บางคนก็แก่แล้วหยุดไม่ได้แล้ว หาประโยชน์ได้อีกไม่นานคงตายไป
ส่วนที่ยังอายุน้อยเดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยออกมาแสดงบทบาทในฐานะนักวิชาการเท่า แต่ก่อนเนื่องจากพวกเราบอกเขาทางอ้อมให้หยุด ปัญหาหลายอย่างที่เมืองไทยแก้ไม่ได้เพราะ “คนพูดไม่รู้ คนรู้ไม่พูด” จะแก้ได้ก็ต่อเมื่อคนรู้ลุกขึ้นมาพูด แล้วคนไม่รู้จะโดนกดดันให้เปลี่ยนพฤติกรรม ปัญหาจะลดลง
ตั้งแต่รัฐประหารครั้งล่าสุด นักวิชาการอิสระมีบทบาททำให้ความขัดแย้งทางการเมืองขยายตัวนะคะ ประชาชนสิ้นหวังกับนักวิชาการในมหา’ลัย
นักวิชาการทีดีอาร์ไอออกมาฝ่ายปฎิรูปก็ร้องยี้
นิติราษฎร์ออกมาฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ร้องยี้
สังคมไทยหลังรัฐประหารต้องการคนใหม่ที่“อิสระ” และทั้งสองฝ่ายไม่ร้องยี้ เป็นสภาวะที่สังคมตอบรับนักวิชาการอิสระมาก เปิดโอกาสให้นักวิชาการอิสระร่วมมือกับนักการเมืองเพื่อผลประโยชน์ได้
จริงๆแล้วมีอาจารย์ผู้น้อยมากมายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารแต่ไม่กล้า แสดงออก สังคมไทยกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน ผ่านไปอีกสิบปีคนรุ่นเก่าจะล้มหายตายจากไปเยอะ คนรุ่นใหม่ก็จะแสดงออกได้มากขึ้นค่ะ นักวิชาการรุ่นใหม่ก็ต้องสร้างเครือข่ายนักวิชาการ สร้างความโปร่งใสสถาบันการศึกษา
ตอนนี้เพื่อนอาจารย์กลุ่มหนึ่งกำลังทำเว็บไซต์ฐานข้อมูลผลงานวิชาการของนัก เศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ เพื่อให้สังคมและสื่อมวลชนเข้าถึงและเข้าใจว่างานวิชาการสาขาเศรษฐศาสตร์คือ อะไรและเกี่ยวข้องกับสังคมอย่างไร ถ้าสนใจก็ติดต่อสอบถามเป็นรายบุคคลได้ นี่เป็นวิธีหนึ่งที่นักวิชาการที่สหรัฐฯและยุโรปทำให้วงการวิชาการโปร่งใส
นอกจากนี้ก็มีสมาคมวิชาชีพข้ามสถาบัน เวลาสมาคมวิชาชีพจัดสัมมนาประจำปีสื่อมวลชนก็เข้าร่วมสังเกตุการณ์และฟังการบรรยายได้
สุดท้ายนี้ดิฉันอยากขอร้องให้สื่อมวลชนระมัดระวังและหยุดส่งเสริมมายาคติ ของคำว่า“อิสระ” บุคคลสาธารณะทุกคนต้องโดนตรวจสอบอย่างโปร่งใส
ไม่มีใครควรเป็นอิสระจากการตรวจสอบ
แม้แต่องค์กรอิสระที่ตั้งหน้าตั้งตาตรวจสอบคนอื่น ก็ต้องโดนตรวจสอบเหมือนกัน
----------
กานดา นาคน้อย เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยคอนเน็ตทิคัต http://www.econ.uconn.edu/faculty/naknoi/ และนักวิจัยสถาบันวิจัยราคาสินค้านานาชาติแห่งมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ http://www.vanderbilt.edu/econ/cipr/ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในอดีต, เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเพอร์ดู นักวิชาการพิเศษของธนาคารกลางสหรัฐฯและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาธนาคารโลก และที่ปรึกษาธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย จบปริญญาตรีโทและเอกเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮิโตซึบาชิ มหาวิทยาลัยโตเกียว และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ตามลำดับ
เฟซบุ๊ก : http://www.facebook.com/knaknoi?fref=ts
----------
หมายเหตุ : ผู้สนใจสามารถคลิกอ่านบทความและคำชี้แจงเรื่อง โต้ข้อหา ‘อยากดัง’ ภาค 2 รวมถึงคำอธิบายทางวิชาการอื่นๆ ที่ผ่านมาของ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ได้ที่เฟซบุ๊กส่วนตัวของวีรพัฒน์ http://www.facebook.com/verapat?fref=ts หรือคลิกอ่าน วีรพัฒน์ปริยวงศ์ นักกฎหมายหนุ่ม โต้ข้อกล่าวหา "อยากดัง-โกหกลวงโลก" ได้ที่นี่
และสำหรับวันพรุ่งนี้ 21 ก.พ. 56 ต้นฉบับอธิบายแนวคิดเรื่อง นิรโทษกรรม-บรรเทาความขัดแย้ง ของวีรพัฒน์ ได้ส่งมาถึง "ข่าวสดออนไลน์" เรียบร้อยแล้ว พร้อมนำเสนอต่อเนื่องกันไป ด้วยหวังว่าจะเป็นช่องทางในการถกเถียง-หารือ-พูดคุยอย่างสร้างสรรค์ เพื่อช่วยกันผ่าทางตันหาทางออกให้กับสังคมไทยแม้ว่าจะเป็นเพียงก้าวแรกๆ ก็ตาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น