แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ใบตองแห้ง:แดงกัดกัน

ที่มา Thai E-News




โดย ใบตองแห้ง


อ่านบทวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องความ ขัดแย้งระหว่าง ขวัญชัย ไพรพนา กับแกนนำ นปช. โดยเฉพาะ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ แล้ว ก็ขำ คือขำสื่อต่างๆ ที่ตีปีกดีใจว่า “แดงกัดกัน” และจะนำไปสู่ความพินาศเป็นแน่แท้

              ความขัดแย้งในขบวนการประชาชนที่ก่อตัวขึ้นหลวมๆ อย่างเสื้อเหลือง เสื้อแดง เป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายตัวเองได้เป็นรัฐบาล มีอำนาจแล้วไม่สามารถทำตามความเรียกร้องต้องการ พันธมิตรก็เปิดศึกกับประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองใหม่กัดกันเอง แต่จะบอกว่ามวลชนพันธมิตรแตกสลายกลับบ้านใครบ้านมันก็คงไม่ใช่ ยังแปรรูปไปเป็นกลุ่มต่างๆ ใครเป่านกหวีดปรี๊ดก็ออกมา อย่างเมื่อครั้งม็อบแช่แข็ง


              ขบวนเสื้อเหลืองเสื้อแดงเกิดจากความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ในสังคมไทย ระหว่างอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เชื่อว่าอำนาจต้องมาจากการเลือกตั้ง กับอุดมการณ์ต่อต้านคอร์รัปชั่น ที่เชื่อว่าเลือกตั้งมีแต่โกง ทั้งสองฝ่ายปลุกระดมมวลชนผ่านสื่อใหม่ ทีวีดาวเทียม วิทยุชุมชน พอเป่านกหวีดปี๊ดๆ ก็มีคนมาเป็นหมื่นๆ แล้วค่อยจับกลุ่มกัน แกนนำรุ่นแรกๆ ก็คือ “ดาราทีวี” ไม่ว่าสนธิ ลิ้ม, ณัฐวุฒิ, จตุพร ขวัญชัย ก็มาจากนักจัดรายการวิทยุ แกนนำท้องถิ่นมักเป็นดีเจวิทยุชุมชน ตัวอย่างเช่น “โกตี๋” แดงลำลูกกา ผู้ไม่เคยแคร์แกนนำหน้าไหน


              การเคลื่อนไหวต้องใช้เงิน อย่างน้อยก็จัดเวที จัดรถ เลี้ยงอาหาร เสื้อเหลืองเบื้องหน้าตั้งกล่องบริจาค อาศัยมวลชนเป็นคนชั้นกลางไปถึงไฮโซ แต่ก็มีกลุ่มทุนสนับสนุนอยู่ข้างหลัง เสื้อแดงอาภัพหน่อย อาศัยท่อน้ำเลี้ยง “นายใหญ่” เป็นหลัก แกนนำที่มีเสียงดังจึงได้แก่ผู้ที่ต่อสายตรง แต่ “นายใหญ่” ก็ต่อหลายสาย ช่วงเลือกตั้งยังโทรข้ามโลกคุยกับแกนนำระดับจังหวัดอำเภอด้วยซ้ำ


              เสื้อแดงหลายพื้นที่มีนักการเมืองสนับสนุน แต่ไม่ใช่ “ขึ้นต่อ” เพราะนักการเมืองทุนท้องถิ่นทำ งานมวลชนไม่เป็น อีกทั้งมวลชนก็ต่างคนต่างมา มีอิสระสูง บางอำเภอมีเสื้อแดง 3-4 กลุ่ม ไม่มีใครขึ้นต่อใคร ส.ส.เพื่อไทยบางเขต มวลชนด่าเช็ดเวลาเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายไม่เคยเห็นหัว แต่เสื้อแดงไม่มีตัว จำเป็นต้องเลือก



              คำพูดที่ว่า เสื้อแดงอีสาน 20 จังหวัดขึ้นต่อขวัญชัย จึงเป็นแค่ราคาคุย แม้แต่ในอุดรบ้านตัวเอง ยังโดนหมู่บ้านเสื้อแดงตลบหลัง แต่แน่นอน เมื่อใดที่ขวัญชัยระดมมวลชนเคลื่อนไหวในประเด็นที่มวลชนเห็นด้วย จัดเวทีจัดรถรับส่ง คนก็มาล้นหลาม แต่สมมุติขวัญชัยจัดม็อบเรียกร้องให้นิรโทษกรรมปี 2558 จะหาคนได้ถึง 200 หรือเปล่าก็ไม่รู้

              แกนนำ นปช.ก็ใช่ว่าจะสั่งมวลชนได้ ความขัดแย้งที่น่าจับตากว่ากรณีขวัญ ชัย คือ แนวร่วม 29 มกรา ซึ่งมานอกโผ จน นปช.เสียหน้า ว่ากันว่า ทั้งขอร้อง ล็อบบี้ ไม่ให้มวลชนมา อ้างว่ากระทบรัฐบาล ก็ยังมีคนไปกลับนับรวมเหยียบหมื่น แกนนำที่มาเรียกตามภาษา บก.ลายจุดว่า “แกนนอน” คือพวกแกนระดับอำเภอ ตำบล ที่เชื่อมถึงกันหมด

              นปช.มีปัญหาการนำ เพราะรัฐบาลเพื่อไทยไม่สามารถ แก้ไขรัฐธรรมนูญ นิรโทษกรรม ดำเนินคดีพฤษภา 53 (ซึ่งทหารตกหายไปเฉย เหลือแต่อภิสิทธิ์ สุเทพ เป็นจำเลย) โดนมวลชนด่าขรมว่า “เพื่อถอย” นปช.ก็ไม่รู้จะอยู่ตรงไหน เพราะเอาขาเข้าไปผูกกับรัฐบาล หันรีหันขวางก็โดนด่าไปด้วย

              อย่างไรก็ดี ในภาพรวมทั้งหมด ไม่ใช่ว่าเสื้อแดง นปช. พรรคเพื่อไทย กำลังจะแตกหักกัน แต่นี่คือขั้นตอนที่มวลชนเสื้อแดงกำลังเรียกหาอำนาจในการควบคุมตรวจสอบ รัฐบาลที่ตัวเองเลือกมา เลือกตั้งครั้งหน้าเสื้อแดงก็จะยังเลือกเพื่อไทย แต่จะขอมีส่วนร่วมและมีข้อต่อรองมากขึ้น


            
  การนำในเสื้อแดงก็เริ่มพัฒนา ไปเป็น “การนำทางเลือก” ถ้าเป็นการหย่อนบัตร ก็เลือกเพื่อไทย ถ้าจัดเวที ก็ฟังณัฐวุฒิ จตุพร แต่ถ้าเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ หลักประชาธิปไตย การนำทางความคิด เริ่มคล้อยมาทางนักวิชาการ เช่น นิติราษฎร์ มากกว่าฟังนักการเมือง


         
     ถามว่าเสื้อแดงจะสูญสลายไหม ต้องย้อนดูว่า เสื้อแดงมาจากไหน อ.เกษียร เตชะพีระ ชี้ว่า ชนบทไทยเปลี่ยนไปแล้ว คนที่เลิกทำอาชีพเกษตรกรมีมากขึ้น กลายเป็นคนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายช่วยให้ลืมตาอ้าปาก ถีบตัวสร้างฐานะ 


            มีทักษิณหรือไม่มี ก็มีคนเหล่านี้ ที่จะลุกขึ้นมาเรียกหาอำนาจทางการเมืองอยู่แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น