ในรายการเสวนาเรื่อง “การเมือง ความยุติธรรม และ สถาบันกษัตริย์”
ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สมศักดิ์
เจียมธีรสกุล ได้กล่าวถึงการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครตอนหนึ่งว่า
เขาจะไม่เลือกคุณพงศพัศ พงษ์เจริญ ตราบเท่าที่พรรคเพื่อไทย
ยังไม่อาจสัญญาได้ด้วยซ้ำว่า จะช่วยปล่อยพี่น้องประชาชนเสื้อแดงออกจากคุก
โดยความหมายของสมศักดิ์ก็คือ
พรรคเพื่อไทยไม่อาจจะเรียกร้องการสนับสนุนจากประชาชนเพียงข้างเดียว
โดยไม่ช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชน
ซึ่งถ้าพรรคเพื่อไทยที่ประชาชนเลือกไปบริหารประเทศแล้ว
เอาแต่ประนีประนอมกับชนชั้นนำแบบจารีตประเพณี โดยวางเฉยต่อประชาชน
ประชาชนก็มีสิทธิถอนการสนับสนุนได้
ในกรณีนี้ ผมเองก็เห็นพ้องกับคุณสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ในประเด็นที่ว่า
รัฐบาลพรรคเพื่อไทยช่วยเหลือพี่น้องคนเสื้อแดงที่ยังคงติดคุกน้อยเกินไป
ยอมจำนนต่อศาลและผ่อนปรนต่อฝ่ายอำมาตย์มากเกินไป ถ้าหากมีสิทธิที่จะเลือก
ผมก็คงจะเลือกคุณโสภณ พรโชคชัย เบอร์ 4 แทนที่จะเลือกคุณพงศทัต
แต่น่าเสียดายว่าผมไม่มีสิทธิในการเลือก เพราะทะเบียนบ้านอยู่สามพราน
นครปฐม เพื่อนผมบางคนไม่มีสิทธิเลือกเพราะทะเบียนบ้านอยู่นนทบุรีบ้าง
ปากน้ำบ้าง พวกเราเลยกลายเป็นพวกไม่อินกับการเลือกตั้ง กทม.
และอิจฉาชาวกรุงเทพฯที่มีโอกาสสนุกอย่างนี้
ที่ชวนแลกเปลี่ยนในเรื่องนี้
เพราะสถานการณ์การเลือกตั้งในกทม.กำลังเข้มข้น ก่อนการลงคะแนนในวันที่ 3
มีนาคม โดยคุ่แข่งขันหลักคือ พล.ต.อ.พงศพัศ เบอร์ 9 จากพรรคเพื่อไทย กับ
ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร เบอร์ 16 จากพรรคประชาธิปัตย์ พวกปีกขวาจัด เช่น
ฝ่ายหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ พยายามจะผลักดันให้เลือก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์
เตมียาเวศ เบอร์ 11 โดยหวังกันว่า ถ้าพลังเงียบออกมาลงคะแนนเสียงกันมาก
พลังเหล่านี้จะปฏิเสธพรรคการเมือง และหันมาเลือก คุณเสรีพิศุทธิ์
ซื่งอ้างกันมีพร้อมทั้งความซื่อสัตย์ และกล้าทำประเภท“จัดหนักได้ทุกเรื่อง”
แต่น่าเสียดายว่า พลังเงียบในกรุงเทพฯนั้นเป็นพลังเงียบตลอดกาล
ไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์ต่อการเปลี่ยนแปลง โอกาสที่คุณเสรีพิศุทธิ์
หรือผู้สมัครคนอื่นจะชนะการเลือกตั้งจึงแทบจะไม่มีเลย
มาถึงขณะนี้ น่าจะเป็นที่ชัดเจนว่า พล.ต.อ.พงศพัศ มีความนิยมที่นำหน้า
ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ทั้งนี้เนื่องจาก
ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ได้โอกาสบริหารงานมาแล้ว 4 ปี แต่ก็เป็นที่ประเมินกันว่า
ไม่มีผลงานใดที่น่าประทับใจ และยังมีข้อผิดพลาดมากมายที่เห็นชัดเจน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาน้ำท่วมฝั่งธนบุรี เรื่องสนามฟุตซอล
เรื่องอุโมงค์ยักษ์ และเรื่องอื่น ขณะที่ คุณพงศพัศมีความสดใหม่ ไร้ข้ออ่อน
ภาพลักษณ์ดี ประนีประนอม จึงเป็นตัวเลือกอันมีข้อเด่นอย่างมาก
ดังนั้น ปัญหาจึงเกิดแก่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์
เพราะจะหาเสียงโดยใช้ผลงานอันโดดเด่นก็ไม่มี
นโยบายใหม่ที่จับใจประชาชนก็ไม่มี ตัวบุคคลก็น่าประทับใจน้อยกว่า
พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มผู้สนับสนุนจึงต้องออกมาสร้างคะแนนนิยมด้วยเหตุผล
แปลก เช่นที่ พล.ต.อ.วสิษฐ์ เดชกุญชร อธิบายว่า
การเลือกตั้งกทม.เป็นสงครามชิงเมืองไทย ถ้าไม่เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์
จะเสียกรุงเทพมหานครแก่ข้าศึก ส่วนชัย ราชวัตร ก็ยืนยันเช่นเดียวกันว่า
การเลือกตั้ง กทม.เป็นสงครามชิงประเทศ ต้องเลือก เบอร์ 16
เพราะเกลียด”พรรคเผาไทย”เป็นพิเศษ คำของ ชัย ราชวัตร คือ
“เป็นตายร้ายดียังไง ต้องต่อต้านไม่ให้พวกมึงมายึดกรุงเทพฯของเรา”
และอาจเป็นด้วยเหตุผลลักษณะนี้ พรรคประชาธิปัตย์จึงหาเสียงโค้งสุดท้าย
โดยนำเอาเรื่อง “เผาบ้านเผาเมือง”มาเป็นประเด็น หวังให้ประชาชนชาว
กทม.รังเกียจพรรคเพื่อไทย และทำลายคะแนนเสียงของฝ่าย พล.ต.อ.พงศพัศ
ซึ่งจะทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์มีโอกาสมากขึ้น
คงต้องอธิบายก่อนว่า
การสร้างกระแสต่อต้านพรรคเพื่อไทยในลักษณะเช่นนี้ล้วนไม่ถูกต้อง
เพราะพรรคเพื่อไทยก็เป็นพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย
ส่งผู้สมัครให้ประชาชนเลือกตัดสินใจ ไม่ใช่ข้าศึกที่ไหน
ไม่มีใครไปชิงประเทศไทยจากคุณวสิษฐ์ เดชกุญชร
เรื่อง”เผาบ้านเผาเมือง”ก็เป็นวาทกรรมลวง ในกรณีของการเผาเซ็นทรัลเวิร์ล
ก็ไม่มีหลักฐานชัดเจนที่จะเชื่อมโยงได้ว่า ประชาชนเสื้อแดงเป็นคนทำ
ยิ่งกว่านั้น
กระแสการเผาสถานที่ราชการก็เป็นส่วนหนึ่งในการตอบโต้การเข่นฆ่าสังหาร
ประชาชนของฝ่ายรัฐบาลประชาธิปัตย์ ประเด็นในลักษณะเช่นนี้
จึงไม่ควรนำมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง กทม.
และยิ่งเป็นการชี้ถึงความน่าสงสารและจนแต้มของฝ่ายประชาธิปัตย์
อย่างไรก็ตาม สำหรับผมยังยืนยันเช่นเดิมว่า
ไม่สามารถชื่นชมการเลือกตั้ง กทม.ได้
เพราะยังหาเหตุผลอันชอบธรรมมาอธิบายไม่ได้ว่า
เหตุใดประชาชนกรุงเทพมหานครจึงเหมาะสมที่จะเป็นประชาชนกลุ่มเดียว
ที่มีสิทธิในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการของตน ทำไมชาวนครปฐม นนทบุรี
เชียงใหม่ นครราชสีมา ชลบุรี หนองคาย ปัตตานี และเมืองอื่นอีก 76 จังหวัด
จึงไม่สามารถมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าการจังหวัดของตนบ้าง สมมติว่า
ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ชนะเลือกตั้งใน กทม. ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่แย่
แต่ก็ยังดีที่ประชาชนมีสิทธิได้เลือก
ขณะที่จังหวัดอื่นอยู่ใต้ผู้ว่าการที่กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้ง
การแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดไปบริหารท้องถิ่นนั้น
ส่วนหนึ่งเป็นผลงานการปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5
ที่สร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง
ตามแบบการปกครองของบริติชอินเดีย ดังนั้น
จึงตั้งขุนนางจากส่วนกลางไปเป็นผู้ว่าการมณฑล และจังหวัดทั่วประเทศ
เพื่อสะดวกแก่การควบคุม ต่อมา เมื่อเกิดการปฏิวัติ
2475รัฐบาลใหม่พยายามดำเนินการให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตั้งให้มี
เทศบาล และปรับการบริหารมณฑลและจังหวัดแบบเดิม มาเป็นการบริหารส่วนภูมิภาค
แต่เมื่อเวลาผ่านไป การบริหารส่วนภูมิภาคเข้าครอบงำการบริหารท้องถิ่น
อำนาจการบริหารจึงกลายเป็นของผู้ว่าราชการจังหวัดมากขึ้น
โดยเฉพาะในสมัยเผด็จการทหารครองเมือง
จนระบอบเผด็จการพังทลายเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516
ชาวกรุงเทพมหานครจึงได้มีโอกาสเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดครั้งแรก โดย
ธรรมนูญ เทียนเงิน จากพรรคประชาธิปัตย์ ชนะเลือกตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม
พ.ศ.2518 อย่างไรก็ตาม เมื่อเผด็จการกลับคืนมา สิทธิในการเลือกตั้งผู้ว่า
กทม.ก็ถูกยึดไปอีกครั้ง โดยรัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งผู้ว่า กทม.
จนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2528 การเลือกตั้งผู้ว่า
กทม.ได้ถูกรื้อฟื้นมาอีกครั้ง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งไม่สังกัดพรรค
ชนะเลือกตั้งครั้งนั้น ด้วยการหาเสียงแบบสมถะ หลังจากนั้น ประชาชนชาว
กทม.ก็ได้สิทธิในการเลือกตั้งผู้ว่าเสมอมาจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 10 โดยที่จังหวัดอื่นไม่ได้รับสิทธิเช่นนี้
ก่อนหน้านี้ เคยมีพรรคความหวังใหม่ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
ที่เคยหาเสียงด้วยนโยบายที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าการทั่วประเทศ
แต่ถูกต่อต้านอย่างหนักจากมหาดไทยและกำนันผู้ใหญ่บ้าน จนไม่อาจดำเนินการได้
และที่สำคัญคือ พรรคไทยรักไทย ไม่เคยมีนโยบายลักษณะนี้เลย เมื่อ
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2544
กลับคิดที่จะใช้นโยบายผู้ว่าซีอีโอ กับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด
โดยไม่สนใจว่า จะมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่
การผลักดันเรื่องนี้ในฝ่ายพรรคเพื่อไทยจึงไม่เคยเกิดขึ้น
เมื่อมาถึงขณะนี้ จึงน่าจะเป็นเวลาที่มี่การทบทวนว่า
ถึงเวลาแล้วยังที่ประเทศไทย จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าการทุกจังหวัด
ประชาชนต่างจังหวัดจะได้มีโอกาสสนุกเช่นคนกรุงเทพบ้าง ที่จะลุ้นว่า
เขาจะได้ผู้สมัครคนไหนพรรคใด มาบริหารเมืองของเขา
ซึ่งจะสอดคล้องกับหลักการในการกระจายอำนาจสู่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
ในปัจจุบัน การบริหารท้องถิ่น ก็มีหลายรูปแบบ ทั้ง
องค์การบริหารส่วนจังหวัด( อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)
จึงควรที่จะจัดการให้เป็นระบบ โดยการยกเลิกการบริหารส่วนภูมิภาคเสีย
แล้วยกฐานะการบริหารส่วนท้องถิ่น
โดยให้ประชาชนเลือกผู้ว่าการจังหวัดของเขาโดยตรง
ประชาชนชาวจังหวัดอื่นจะได้เลิกมองชาวกรุงเทพฯด้วยความอิจฉา
ด้วยการดำเนินการเช่นนี้ ประเทศไทยก็จะก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นอย่างทั่วถึง โดยไม่ต้องไปสู้กับข้าศึกที่ไหน
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 400 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2556
หมายเหตุ:จากบทความเดิมชื่อ "ผมไม่อินกับเลือกตั้ง กทม."
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น