แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ชาวสวนยางพาราอีสาน (1): การทดลองและการจัดการความเสี่ยง

ที่มา ประชาไท


บทความชิ้นที่สองในชุดบทความ พืชเศรษฐกิจกับความเปลี่ยนแปลงของชุมชนอีสาน โดย พฤกษ์ เถาถวิล จะทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต  ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมไทย ในการศึกษาชุดความรู้นี้ ทางประชาไทจะทยอยนำเสนอบทวิเคราะห์ที่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นข้างต้น ได้แก่
1.ยางพารา กับการจัดการแรงงาน
2.มันสำปะหลัง กับการจัดการที่ดิน
3.ปาล์มน้ำมัน กับการจัดการเงินทุน
4.ข้าว กับการหวนกลับมาเป็นเกษตรกร
5.สรุป ปัญหาเชิงโครงสร้าง การปรับตัว โอกาส และความเสี่ยงของเกษตรกร

อนึ่ง ภายในไตรมาสที่สองของปี  2556 ประชาไท จะทยอยนำเสนอบทความที่จะพยายามทำความเข้าใจวิถีชีวิตและความสัมพันธ์การผลิต ของชนบทไทยในปัจจุบัน 4ประเด็นคือเกษตรอินทรีย์, ชุมชนชนบทกับการทำเกษตรพันธสัญญากรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภาคเหนือ,ชุมชนชนบท กับการทำนาปรังในภาคกลางและพืชเศรษฐกิจในภาคอีสาน ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้
 
ในตอนที่ผ่านมาผู้เขียนได้กล่าวถึงปรากฏการณ์การขยายตัวจากของสวนยางพารา และการที่ยางพาราได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับต้นๆของภาคอีสาน และได้เสนอว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวถูก “มอง” ด้วยสายตาแตกต่างกัน ที่อาจแบ่งได้เป็น 2 ขั้ว  คือฝ่ายหนึ่งเห็นว่ายางพาราเป็นพืชที่มีอนาคตและเป็นโอกาสอันดีของชาวอีสาน  แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็มองด้วยความวิตกกังวลว่า การทำสวนยางพาราต้องลงทุนสูง และมีความเสี่ยงสูงที่จะนำไปสู่หนี้สิน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหาร   
จากมุมมองของ “คนนอก” ที่กล่าวมา จึงน่าสงสัยว่า แล้วเกษตรกรคิดอย่างไร บทความนี้ผู้เขียนจะทำความเข้าใจการทำสวนยางพาราจากมุมมองของเกษตรกร หรืออาจจะเรียกว่ามุมมองของ “คนใน”  โดยจะหยิบยืมส่วนหนึ่งของบทวิเคราะห์ของ Andrew Walker ในบทความเมื่อไม่นานนี้ของเขา[1] คือการพิจารณาว่าการตัดสินใจของเกษตรกรทางการผลิตเป็นเรื่อง “การทดลอง” (experimental orientation) ดังที่บทความซึ่งศึกษาเกษตรกรในหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ในการตัดสินใจเข้าสู่การผลิตพืชแบบพันธะสัญญากับบริษัทการเกษตร  Walker เห็นว่าการเลือกตัดสินใจปลูกพืชของเกษตรกร เป็นเรื่องการทดลอง หมายถึง มันมีฐานมาจากประสบการณ์ในอดีต การประเมินทางเลือกในปัจจุบัน แล้วก็ “ลองทำดู”  และการทำดูก็เป็นไปพร้อมๆกับการต่อรองกับตลาด (เช่นเจ้าที่ดิน พ่อค้าคนกลาง นายทุนเงินกู้ นายหน้าบริษัทส่งเสริมการผลิต)  ภายใต้บรรทัดฐานเชิงคุณค่าในสังคมวัฒนธรรมของพวกเขา
จากแนวคิดเรื่องการทดลอง ผู้เขียนจะนำมาใช้พรรณนาวิเคราะห์ข้อมูลในหมู่บ้านศึกษาของตัวเอง แต่จะนำแนวคิดการทดลองมาผนวกกับ “การจัดการความเสี่ยง”  เพราะผู้เขียนเห็นว่าในหมู่บ้านแห่งนี้ ชาวสวนยางได้แสดงให้เห็นการจัดการความเสี่ยงในการผลิตอย่างชัดเจน สำหรับการจัดการความเสี่ยงผู้เขียนให้นิยามว่า “การตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายของการผลิต และการหาหนทางหลบเลี่ยงความเสี่ยง หรือบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดจากความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด ”
 บทความนี้อาศัยข้อมูลจากการวิจัยของผู้เขียน[2] ที่เก็บข้อมูลภาคสนามที่หมู่บ้านศรีเจริญ ใน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อปี 2553 หมู่บ้านแห่งนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ คือประมาณร้อยละ 45 มีอาชีพทำสวนยางพารา พื้นที่สวนยางพาราคิดเป็นจำนวนประมาณร้อยละ 80 ของที่ดินทำกินของหมู่บ้าน[3] .

การตัดสินใจ
เราอาจเริ่มต้นเรื่องชาวสวนยางพาราอีสานด้วยคำถามว่า อะไรคือเหตุผลของการตัดสินใจหันมาลงทุนลงแรงทำสวนยางพารา ซึ่งคนส่วนหนึ่งอาจมีคำตอบตามที่เชื่อกันมาว่า การตัดสินใจปลูกพืชของเกษตรกรมักเป็นไปตามกระแสนิยม ประกอบกับแรงส่งจากการสนับสนุนของรัฐ และเทคนิคการขายของบริษัทการเกษตรเป็นแรงดึงดูด คำตอบนี้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น เมื่อเห็นว่าในที่สุดแล้วเกษตรกรผู้ไม่ประสีประสา และมักตกเป็นเหยื่อ ก็ต้องมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขเรื่องหนี้สินและราคาพืชผล ครั้งแล้วครั้งเล่า             
แต่ข้อมูลในหมู่บ้านกรณีศึกษาพบว่ามีเหตุผลซับซ้อนกว่านั้นมาก ผู้เขียนพบว่า การตัดสินใจปลูกพืชเป็นกระบวนการไตร่ตรอง และพยายามหาทางเลือกในการดำรงชีวิตเท่าที่จะทำได้  โดยปกติการตัดสินใจปลูกพืชที่ไม่คุ้นเคย  เกษตรกรใช้ประสบการณ์จากการปลูกพืชที่ผ่านมา มาพิจารณาความเหมาะสมที่จะปลูกพืชชนิดใหม่  ดังที่ชาวบ้านแห่งนี้ได้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลังมาก่อน พืชทั้งสองเคยเป็นแหล่งรายได้ที่ดี แต่นานวันเข้าก็พบว่าปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ราคาผลผลิตไม่แน่นอน ดินเสื่อมความสมบูรณ์ และต้องอยู่ภายใต้การพึ่งพาเถ้าแก่รับซื้อผลผลิตที่มีไม่กี่เจ้า สถานการณ์ที่ชาวบ้านสรุปตรงกันก็คือ การฝากชีวิตไว้กับพืชชนิดเดิมไม่ค่อยมีอนาคต ท่ามกลางทางเลือกที่มีไม่มากนัก การมีพืชชนิดใหม่อย่างยางพารา จึงถูกพิจารณาว่า เป็นทางเลือกที่เหมาะสมหรือไม่  
ดังนั้นในช่วงต้นศตวรรษ 2530 เมื่อทางการเริ่มเข้ามาส่งเสริมการปลูกยางพารา จึงไม่มีผู้หันมาปลูกยางกันมากอย่างที่คิด แต่ชาวบ้านต่างประเมินและเลือกหนทางเลี้ยงครอบครัวแตกต่างกันออกไป บางคนยังปลูกข้าวโพดและมันสำปะหลังสืบมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุผลที่ว่า “ได้ค่าตอบแทนน้อยลง แต่คุ้ยเคยและได้เงินเร็วกว่า” บางคนหันมาปลูกพืชสวนครัวหรือพืชสวนชนิดอื่นๆเสริม บางคนหันมาทดลองปลูกยางพาราในพื้นที่ส่วนหนึ่ง เพราะ “ลองเบิงก่อน”  ในขณะที่หลายครอบครัวก็ใช้วิธีการเหมือนชาวบ้านทั่วไปในอีสานคือ หันไปพึ่งพารายได้จากนอกภาคเกษตรด้วยอาชีพที่หลากหลาย ทั้งในท้องถิ่นหรือย้ายไปทำงานต่างถิ่น อย่างไรก็ตาม ในต้นทศวรรษ 2540 ชาวบ้านได้หันมาปลูกยางพารากันมากขึ้น จนกระทั่งยางพาราได้กลายเป็นอาชีพหลักของหมู่บ้าน
              
การจัดการทรัพยากรการผลิต  
การทำสวนยางพาราให้ประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ             
อาจประมวลปัญหาหรือ “โจทย์” ของการทำสวนยางพารา ตามมุมมองของชาวบ้าน ได้หลายประการดังนี้ หนึ่ง ยางพาราเป็นพืชสวน ใช้เวลาหลังจากปลูกปีแรกถึงปีที่ 7-8 จึงจะเริ่มให้ผลผลิต ลักษณะเช่นนี้หมายความว่าการทำสวนยางต้องใช้เงินทุนสูง ทั้งในช่วงปีแรก และใช้ต่อเนื่องมาหลังจากนั้น ความกังวลก็คือ ในระหว่างรอผลผลิตจะมีรายได้จากที่ใดมาเลี้ยงดูครอบครัว สอง ยางพาราเป็นพืชยืนต้น ที่ดินเพาะปลูกต้องมีความมั่นคงในการถือครอง ควรเป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ที่มั่นคง อีกทั้งจะต้องมีที่ดินในเนื้อที่มากพอที่จะให้ผลตอบแทนในระดับที่คุ้มกับการ ลงทุน สาม ยางพาราต้องใช้แรงงานสูงและใช้แรงงานแบบสม่ำเสมอเกือบทั้งปี นับจากปีแรกที่ได้ปลูกต้นยางจนถึงกรีดยางและแปรรูปยาง ดังที่ทราบกันดีว่า ชาวสวนยางปักษ์ใต้และภาคตะวันออกต้องจ้างแรงงานจากอีสานไปกรีดยาง เพราะขาดแคลนแรงงาน สี่ เมื่อได้ผลผลิตแล้วจะนำไปขายที่ใด การขนส่งยางไปขายที่ไกลๆเป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิต  
โจทย์ทั้งหมดนี้อาจแปลความหมายได้ว่า เกษตรกรต้องมีความสามารถในการจัดการทรัพยากรการผลิต 4 ประการ คือ ความรู้ ที่ดิน เงินทุน และแรงงาน ในหมู่บ้านแห่งนี้พบว่า โดยทั่วไปชาวบ้านมีแบบแผนการจัดการทรัพยากรการผลิตแต่ละประเภทตามลักษณะดัง ต่อไปนี้           
ความรู้  ความรู้เป็นสิ่งสำคัญของการผลิต ในฐานะที่ทำไร่ข้าวโพดและมันสำปะหลังมาก่อน จึงกล่าวได้ว่าชาวบ้านศรีเจริญ มีทักษะและความรู้ทางการเกษตรเป็นพื้นฐาน สำหรับยางพาราซึ่งเป็นพืชชนิดใหม่ แหล่งความรู้มาจากการสนับสนุนของหน่วยงานรัฐ ได้แก่เกษตรอำเภอ และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวยยางพารา (สกย.) สำหรับเงื่อนไขพิเศษของหมู่บ้านนี้ ต้องยกให้เป็นคุณูปการของทรัพยากรบุคคลคนสำคัญ ที่เป็นนักบุกเบิกและทดลอง และกลายเป็นแหล่งความรู้ของชาวบ้านคนอื่นๆ คือ  “พ่อใหญ่ทอง”
นายทองเป็นบรรพบุรุษรุ่นบุกเบิกของหมู่บ้าน เป็นบุคคลแรกที่ปลูกเริ่มปลูกข้าวโพด เมื่อเกษตรอำเภอได้เข้ามาส่งเสริมครั้งแรกในทศวรรษ 2510 จากนั้นได้ทดลองปลูกพืชหลากหลายชนิด แม้กระทั่งที่ไม่น่าจะปลูกได้ในท้องถิ่น เช่น กาแฟ มะขามหวาน เงาะ ทุเรียน มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและไม่สำเร็จ ในวัยหนุ่มด้วยความอยากเรียนรู้ได้ไปรับจ้างกรีดยางที่ภาคใต้ และเมื่อเข้าบั่นปลายชีวิตในช่วงปี 2530 เมื่อทางการมาสนับสนุนให้ทำสวนยาง ท่านเป็นคนแรกที่ได้ทำสวนยางพารา และประสบความสำเร็จสามารถกรีดยางขายได้เป็นคนแรก จากนั้นชาวบ้านคนอื่นๆจึงได้ทดลองทำตาม  
ที่ดิน  เมื่อมีความรู้ความมั่นใจพอจะลงมือทำสวนยางพารา ปัจจัยต่อมาคือการมีที่ดินที่เหมาะสม และดังได้กล่าวมาแล้วว่า การทำสวนยางพาราเป็นการลงทุนระยะยาว มีความเสี่ยง และชาวบ้านก็ต้องคำนึงถึงการประคับประคองครอบครัวในระยะเฉพาะหน้าด้วย ดังนั้น เกษตรกรแต่ละครัวเรือนจะคำนึงถึงปริมาณที่ดินที่มี  ที่ตั้ง และความมั่นคงในการถือครอง[4] และหารูปแบบการผลิตที่เหมาะสม
ในหมู่บ้านแห่งนี้พบว่า ได้เกิดแบบแผนการจัดการที่ดินเพื่อลดความเสี่ยง ที่อาจเรียกว่า กระบวนการจัดสรรที่ดินครัวเรือนเพื่อลดความเสี่ยง หรือ “เฮ็ดเป็นส่วนๆ”  คือชาวบ้านจะวางแผนการผลิตเหนือที่ดินทำกินทั้งหมด โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ แล้วจะใช้ที่ดินสำหรับทำสวนยางพาราที่ละส่วน ในขณะที่ที่ดินส่วนอื่นๆก็ยังปลูกพืชที่จะให้ผลตอบแทนในระยะสั้น (ผักสวนครัว ข้าวโพด มันสำปะหลัง) ต่อไป การเพิ่มพื้นที่สวนยางพาราจะค่อยๆเพิ่มไปตามกำลัง หลายครอบครัวไม่ได้ใช้พื้นที่ทั้งหมดสำหรับทำสวนยาง แต่จะเหลือไว้ปลูกพืชอื่นๆเพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาพืชชนิดเดียว และแต่ละครัวเรือนจะมีสูตรการจัดสรรที่ดินในแบบที่แตกต่างกัน นอกจากนี้หากเราสังเกตจะเห็นอีกว่า ในแปลงสวนยางพาราที่เริ่มต้น ก็จะใช้ที่ว่างระหว่างแถวปลูกพืชระยะสั้น เรียกว่า ปลูกพืชแซมยาง  เป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดผลตอบแทนในขณะที่รอคอยผลผลิตจากยาง การปลูกพืชแซมยางทำได้จนกระทั่งยางเติบโตถึงปีที่ 5-6  ทั้งหมดนี้ทำให้ภูมิทัศน์สวนยางพาราในอีสานหลายพื้นที่ มีความแตกต่างจากสวนยางพาราในภาคใต้ ที่เป็นแปลงใหญ่ติดต่อกัน แต่ในอีสานจะเป็นแปลงย่อยๆ สลับหรือแซมไปด้วยพืชชนิดอื่น ซึ่งเป็นวิธีจัดการความเสี่ยงในการผลิตรูปแบบหนึ่ง
เงินทุน สิ่งที่เรียกว่าทุน อาจรวมเอาปัจจัยหลายประเภท เช่น ที่ดิน เงินสด ทรัพย์สิน ความรู้  เครือข่ายทางสังคม ฯลฯ แต่ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะเงินทุน โดยปกติชาวบ้านไม่ได้แยกเงินทุนอย่างชัดเจน ระหว่างทุนในการผลิต กับเงินใช้จ่ายเลี้ยงดูครอบครัวประจำวัน ดังได้กล่าวแล้วว่าชาวบ้านจะปลูกพืชระยะสั้นไปด้วยเพื่อให้มีเงินทุนหนุน เวียน ในระหว่างที่ยางพารายังไม่ให้ผลตอบแทน ผู้เขียนพบว่า ชาวบ้านหลายครอบครัวมองว่ายางพาราเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต (ในขณะที่ปัจจุบันก็พึ่งพาพืชระยะสั้น และรายได้จากทางอื่นๆไปด้วย) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งยางพาราเป็น “เงินออม” หรือชาวบ้านบางคนเรียกว่าเป็น “ออมสิน” ที่จะได้เก็บกินเก็บใช้ในอนาคต โดยนัยนี้จึงหมายความว่า ชาวบ้านได้วางทางเลือกทางเศรษฐกิจไว้หลายทาง ไม่ได้ทุ่มไปที่ยางพารา หรือรายได้จากทางใดทางหนึ่งเพียงอย่างเดียว  
สำหรับเงินทุนที่ใช้ในการทำสวนยางพาราของชาวบ้านศรีเจริญ มีแหล่งเงินสินเชื่อจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์  นอกจากนั้นยังได้รับทุนจากหน่วยงานรัฐในหลายวาระโอกาส เช่น จาก สกย. ในรูปปุ๋ย โครงการสินเชื่อพิเศษ ในปี 2543 – 2549 มีโครงการส่งเสริมการปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ สนับสนุนต้นกล้ายางพารา และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ  ในช่วงเดียวกันนี้มีกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งได้กลายเป็นแหล่งเงินกู้สำคัญที่ช่วยประคับประคองครัวเรือนฐานะปานกลาง และยากจน ที่ต้องการจะทำสวนยางพาราให้สามารถทำได้  
แรงงาน เป็นตัวแปรสำคัญ เมื่อชาวบ้านปลูกพืชชนิดอื่น พร้อมกับการทำสวนยางพารา ทำให้มีความต้องการแรงงานสูงขึ้น ยิ่งสวนยางพาราขยายตัวมากขึ้น ความต้องการแรงงานยิ่งมากขึ้น ทำให้แรงงานเข้าสู่ภาวะใกล้ขาดแคลนหรือขาดแคลนในบางโอกาส โดยปกติชาวบ้านจะใช้แรงงานของครัวเรือนเป็นหลัก มีการแลกเปลี่ยนแรงงานระหว่างเครือญาติบ้าง แต่ทำได้จำกัด ในการผลิตที่เกินกำลังจะจ้างแรงงานมาช่วยเท่าที่จำเป็น สภาวะแรงงานเข้าใกล้ขาดแคลน เป็นปัญหาของผู้จ้างงานที่เผชิญกับค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น แต่สำหรับแรงงานรับจ้าง (ส่วนใหญ่เป็นคนมีที่ดินทำกินน้อยหรือไม่มี) นี่คือโอกาสอันดี  
จากประสบการณ์ของชาวสวนยางในพื้นที่นี้พบว่า พื้นที่ทำสวนยางพาราประมาณ 20 ไร่ จะเหมาะสมกับครัวเรือนที่มีแรงงาน 3 คน (พ่อ-แม่-ลูก) เพื่อจะรับมือกับงานประจำวันในการกรีดยาง และแปรรูปยางเป็นแผ่น  นั่นหมายความว่า หากจะทำการผลิตในพื้นที่มากขึ้นก็จะต้องจ้างแรงงานมาช่วย ซึ่งเจ้าของสวนต้องคำนวณว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ สำหรับค่าจ้างแรงงานสวนยางในพื้นที่นี้ ในช่วงปี 2553   ราคาอยู่ในช่วง 180-250 บาท/วัน วิธีการจ้างแรงงานแบบหนึ่งที่พัฒนาขึ้นมา (ในทำนองเดียวกับในภาคใต้) คือ การจ่ายค่าแรงเป็นส่วนแบ่งผลผลิตในอัตรา 60 : 40 หมายถึงเมื่อกรีดยางและเก็บน้ำยางได้แล้ว เจ้าของสวนจะได้ผลผลิตร้อยละ 60 ส่วนแรงงานจะได้ผลผลิตร้อยละ 40 เป็นค่าตอบแทน สำหรับเจ้าของสวนการจ้างแรงงานแบบนี้ถือเป็นการจ่ายค่าจ้างที่สูง  แต่นายจ้างก็ไม่มีทางเลือกอื่น สถานการณ์นี้แสดงให้เห็นภาวะขาดแคลนแรงงาน และการที่แรงงานเป็นต้นทุนการการผลิตที่สำคัญในพื้นที่นี้  
 ความขาดแคลนแรงงานนำไปสู่การหาทางออก ที่ชาวสวนคิดคำนวณแล้วว่าเป็นทางที่พอรับได้ คือเปลี่ยนจากการขายยางแผ่น มาขายยางก้อน ในการทำยางแผ่น ชาวสวนจะต้องรวบรวมน้ำยาง ที่ได้จากการกรีดยางในแต่ละวัน มาผ่านกรรมวิธีที่ต้องใช้เวลาและแรงงานมาก แต่การทำยางก้อน เมื่อได้น้ำยางในถ้วยที่ติดอยู่ที่ต้นยางแล้ว หยดกรดชนิดหนึ่งลงไป ยางจะจับเป็นก้อน แล้วรวบรวมก้อนยางขายได้เลย ซึ่งเป็นการประหยัดแรงงาน แต่ราคายางก้อนจะต่ำกว่าราคายางแผ่นประมาณ 1/3 ถึง 1/4 เท่า แม้จะน้อยกว่าแต่ชาวสวนในพื้นที่นี้ส่วนใหญ่ก็พากันขายยางก้อน เพราะคิดแล้วว่าเป็นทางออกที่ดีกว่า จึงอาจเรียกได้แนวทางนี้คือการทดลองและหาทางเลือกอีกหนทางหนึ่ง
ทรัพยากรการผลิตทั้ง 4 ประเภท คือปัจจัยที่เกษตรกรต้องบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ จะเห็นว่าทรัพยากรทั้ง 4 ประเภท สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก และยังแปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไข ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆด้วย ในทางปฏิบัติครัวเรือนเกษตรกรมีความสามารถไม่เท่ากันในการจัดการทรัพยากร  ผู้เขียนพบว่า ความสามารถแปรตามฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ทั้งนี้ฐานะทางเศรษฐกิจมีพื้นฐานมาจากจำนวนการถือครองที่ดินที่ได้สะสมมา ก่อน ครัวเรือนฐานะเศรษฐกิจต่างกัน[5] มีความสามารถจัดการทรัพยากรการผลิตเพื่อทำสวนยางพาราแตกต่างกันดังนี้
ครัวเรือนร่ำรวย ซึ่งในหมู่บ้านนี้ได้แก่กลุ่มที่มีที่ดินมากกว่า 20 ไร่ ขึ้นไป กลุ่มนี้มีทางเลือกมากกว่าในการจัดสรรที่ดินเข้าสู่สวนยาง บางครอบครัวทำสวนยางในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 80   ของที่ทำกิน ขณะที่ครอบครัวอื่นๆมีขนาดการทำสวนยางแตกต่างกันไป ในกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากกว่า เนื่องจากสามารถใช้ที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมได้มากกว่า มีทางเลือกในการใช้แรงงานมากกว่า บางครัวเรือนใช้แรงงานของตน บางครัวเรือนจ้างชั่วคราว บางครัวเรือนจ้างแบบแบ่งส่วนผลผลิต กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ปรับตัวเข้าสู่สวนยางพาราได้ราบรื่น มีความเสี่ยงและความกดดันจากการปรับเปลี่ยนการผลิตน้อย สวนยางพาราสามารถเป็นอาชีพหลักของครอบครัว และสามารถสร้างสมฐานะให้ร่ำรวยขึ้นอีก
ครัวเรือนปานกลาง ได้แก่กลุ่มมีที่ดินมากกว่า 10- 20 ไร่  กลุ่มนี้มีข้อจำกัดในการจัดสรรที่ดินเข้าสู่สวนยางพารา  หลายครอบครัวต้องปลูกพืชแซมยางในช่วงการปรับเปลี่ยนการผลิต การเข้าถึงสินเชื่อทำได้จำกัด เพราะมีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่มาก กลุ่มนี้จะถูกบีบคั้นจากการต้องหารายได้เลี้ยงครอบครัวก่อนที่ยางจะให้ผล ผลิต นับจากช่วงปี 2543 กองทุนหมู่บ้านกลายเป็นที่พึ่งสำคัญของคนกลุ่มนี้ การใช้แรงงาน จะอาศัยแรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก มีการจ้างงานเท่าที่จำเป็น กลุ่มนี้ค่อนข้างมีความเคร่งเครียดและคร่ำเคร่งทำงานหนัก แต่หากสามารถทำสวนยางในขนาด 20 ไร่ได้ ก็สามารถถีบตัวไปสู่การมีรายได้ที่มั่นคงมากกว่าเดิม
ครัวเรือนยากจน ได้แก่ผู้มีที่ดินมากว่า 0 ไร่ – 10 ไร่  กลุ่มนี้มีข้อจำกัดมากในการจัดสรรที่ดินเข้าสู่สวนยางพารา  พบว่าผู้ที่ตัดสินใจทำสวนยาง ส่วนใหญ่จะใช้ที่ดินประมาณ 4- 5 ไร่ เพื่อทำสวนยาง ในขณะที่จัดสรรที่ดินส่วนหนึ่งไว้ปลูกพืชระยะสั้น  โดยหวังว่าในอนาคตสวนยางจะเป็นรายได้เสริมทางหนึ่งของครอบครัว กลุ่มนี้เข้าถึงสินเชื่อได้น้อย พึ่งพาแหล่งเงินสินเชื่อระยะสั้นหลายแหล่ง รวมทั้งกองทุนหมู่บ้าน ที่มีความสำคัญต่อพวกเขามาก  ใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก หากมีโอกาสก็จะไปรับจ้างแรงงาน  กลุ่มนี้มีความคร่ำเคร่งและต้องทำงานหนักมากที่สุด แต่หากสามารถทำสวนยางพาราได้สำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมาย  จะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
การปรับเปลี่ยนการผลิตเข้าสู่สวนยางของเกษตรกรดังกล่าวมานี้ ต้องเน้นด้วยว่าความสำเร็จเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขสำคัญ  คือราคาพาราอยู่ในช่วง “ขาขึ้น”[6] และพวกเขาก็ยังเผชิญความเสี่ยงสูงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง (จะกล่าวถึงตอนหน้า) เราอาจเปรียบเทียบแบบแผนการจัดการทรัพยากรการผลิตเพื่อทำสวนยางพาราของ เกษตรกรทั้งสามกลุ่มได้ดังตารางต่อไปนี้

แบบแผนการจัดการทรัพยากรการผลิตเพื่อทำสวนยางพาราของเกษตรกร
จำแนกตามระดับการถือครองที่ดิน/ฐานะเศรษฐกิจ
การถือครองที่ดิน/ระดับฐานะ
การจัดการที่ดิน
การจัดการเงินทุน
การจัดการแรงงาน
ผลที่เกิดขึ้น
ที่ดินมาก/ฐานะรวย
(ที่ดินมากกว่า 20ไร่)
การจัดสรรที่ดินเข้าสู่สวนยาง และปลูกพืชแซมยางได้ดี

สามารถเข้าถึงเชื่อได้ดีกว่าและ
ในวงเงินสูง (เนื่องจากมีที่ดินเป็นหลักหลักทรัพย์ค้ำประกันจำนวนมาก)
ใช้แรงงานในครัวเรือน แต่ก็สามารถจ้างแรงงานมาช่วยหากจำเป็น บางกรณีจ้างแรงงานประจำ ทำให้มีความมั่นคงด้านแรงงาน
ปรับตัวเข้าสู่สวนยางได้อย่างราบรื่น  ความเสี่ยงและความตึงตัวด้านการลงทุนน้อย ไม่คร่ำเคร่งทำงานหนักมาก สร้างสมฐานะได้ดี ยึดสวนยางพาราเป็นอาชีพหลักได้สบายๆ
ที่ดินปานกลาง/ฐานะปานกลาง
(ที่ดินมากกว่า 10 ไร่ – 20 ไร่)
การจัดสรรที่ดินเข้าสู่สวนยางพาราและการปลูกพืชแซมยางทำได้ค่อนข้างจำกัด

สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ค่อนข้างจำกัดและในวงเงินจำกัด เพราะมีหลักทรัพย์ที่ดินจำกัด พึ่งพาแหล่งสินเชื่อชุมชน เช่นกองทุนหมู่บ้านสูง
ใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก
และจ้างแรงงานชั่วคราวเท่าที่จำเป็น
ปรับตัวเข้าสู่สวนยางพาราได้อย่างค่อนข้างลำบาก มีความตึงตัวและความเสี่ยงในการจัดการเงินทุนสูง ต้องทำงานหนักทั้งในการทำสวนยางและหารายได้ด้วยหนทางอื่นๆ
ที่ดินน้อย/ฐานะยากจน
(ที่ดินมากกว่า 0  ไร่ -10 ไร่
การจัดสรรที่ดินเข้าสู่สวนยางพาราและปลูกพืชแซมยางยางพาราทำได้น้อยหรือไม่ได้เลย เพราะมีที่ดินน้อย
เข้าถึงสถาบันสินเชื่อได้จำกัด
และในวงเงินน้อย พึ่งพาแหล่งสินเชื่อชุมชนมากและหลายแหล่ง โดยเฉพาะกองทุนหมู่บ้าน
ใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก ไม่มีการจ้างแรงงานเลย
ปรับตัวเข้าสู่สวนยางพาราได้ยากลำบาก  มีความตึงตัวและความเสี่ยงด้านการลงทุนสูง ต้องทำงานหนักทั้งในสวนยางและเพื่อหารายได้จากงานอื่นๆ  สวนยางพารามีฐานะเป็นรายได้เสริมของครัวเรือน
 
ความรู้สึกนึกคิด
นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมชนบทท่านหนึ่งเสนอว่า ที่ผ่านมาการศึกษาสังคมชนบทหรือสังคมเกษตรกรรมในประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทย  มักให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์เรื่อง “การผลิต” เป็นหลัก สิ่งที่ควรปรับปรุงก็คือ การให้ความสำคัญกับการเข้าใจสังคมชนบทผ่านแง่มุมของ “การบริโภค” เพื่อจะสามารถเข้าใจชนบทท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างซับซ้อนได้มาก ขึ้น
 การวิเคราะห์การบริโภค จะนำไปสู่ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งคือเรื่อง “ความหมาย”  ชนบทเกี่ยวข้องกับเรื่องความหมายอย่างน้อยในสองแง่มุม ในแง่มุมหนึ่งชนบทเป็นพื้นที่ที่ “ถูกบริโภค” กล่าวคือ ชนบทคือพื้นที่ที่ถูกให้ความหมาย เพื่อสนองจินตนาการหรือเป้าหมายทางการเมืองบางประการของชนชั้นนำ ดังที่ชนบทไทยถูกให้ความหมายว่า เป็นรากฐานของสังคมไทย มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เคยอิสระจากรัฐและตลาด มีความสามารถในการพึ่งตัวเอง มีความสุขได้ท่ามกลางความพอเพียง  ฯลฯ ชนบทยังถูกบริโภคอีกหลากหลายแบบ เช่นในยุคการท่องเที่ยว ชนบทถูกนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้า ความเป็นชนบท “ดั้งเดิม”  ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาเพื่อตอบสนองตลาดการท่องเที่ยว ฯลฯ [7]
แต่ชนบทไม่ได้ถูกบริโภคเท่านั้น ในอีกแง่มุมหนึ่งชาวชนบทก็เป็น “ผู้บริโภค” ความหมายด้วย ในภาวะที่ชนบทไม่เคยแยกขาดจากรัฐและตลาด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ ที่มีทั้งการย้ายถิ่นไปมาของคนชนบท และการติดต่อสัมพันธ์หรือรับข่าวสารอย่างเข้มข้น จึงทำให้ชาวชนบทบริโภคความหมายอย่างกว้างขวาง เกิดเป็นความรู้สึกนึกคิด ความใฝ่ฝัน ความคาดหวัง และบรรทัดฐานทางสังคมแบบใหม่ๆ[8]  ในแง่มุมที่สองนี้เอง ที่ผู้เขียนเห็นว่าช่วยทำให้เข้าใจชาวสวนยางบ้านศรีเจริญได้ดีขึ้น
ในระหว่างทำวิจัยภาคสนาม เมื่อผู้เขียนถามชาวบ้านว่า ทำไมจึงทำสวนยาง หลายคนตอบอย่างไม่ลังเลว่า “อยากเป็นเถ้าแก่” ในหมู่บ้านนี้มีเถ้าแก่สวนยางหลายคนเป็นตัวอย่างให้เห็น สัญลักษณ์ของเถ้าแก่สวนยางคือ รถปิคอัพรุ่นใหม่ล่าสุดคันโต  การเปลี่ยนบ้านให้เป็นบ้านคอนกรีตทันสมัย การมีเครื่องเสียงร้องคาราโอเกะดังๆ และสามารถจัดงานเลี้ยงในโอกาสสำคัญได้อย่างเอิกเกริก  ความอยากเป็นเถ้าแก่อาจเป็นเหตุผลที่ “ไม่ค่อยมีเหตุผล” ในสายตาชาวเมือง แต่สำหรับชาวบ้านจำนวนมาก ปฏิเสธได้ยากว่านี่คือแรงผลักดันสำคัญ
ในทางวิชาการการ ความอยากมีชีวิตทันสมัยไม่ใช่ปัญหาในตัวมันเอง  แต่ที่สงสัยกันมานานก็คือ เหตุใด เมื่อชาวบ้านได้กำไรจากการผลิต จึงไม่นำเงินนั้นไปลงทุนให้การผลิตก้าวหน้าขึ้น เช่นซื้อเครื่องจักรเครื่องยนต์ ปรับปรุงที่ดินหรือสถานประกอบการ แต่กลับนำเงินไปทุ่มกับสิ่งของฟุ่มเฟือย
การเก็บข้อมูลภาคสนามทำให้พบว่า ในความจริงชาวบ้านมีความพยายามค้นคิดทดลองอย่างมาก ในการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต แต่สิ่งที่ไม่อนุญาตให้ทำได้ก็คือ ข้อจำกัดจากราคาพืชผลการเกษตร ในกรณียางพารา ชาวบ้านตระหนักดีว่าราคายางมีขึ้นมีลง ซึ่งเป็นไปนอกเหนือการควบคุมของพวกเขา การลงทุนในสวนยางมากเกินไปทั้งที่ไม่มีหลักประกันด้านราคาจึงเป็นเรื่องไร้ เหตุผล ยังไม่รวมถึงถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขอื่นๆ คือหมู่บ้านนี้ไม่สามารถขยายที่ดินทำกินได้อีกแล้ว จะซื้อที่ดินเพื่อนบ้านก็ไม่มีใครขาย และที่สำคัญคือเรื่องแรงงานซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมากของการผลิต เมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ได้รับ 
เมื่อไม่สามารถจะลงทุนทางการผลิตทางการเกษตรได้ สิ่งที่ดูจะมีเหตุผลและสัมผัสได้ก็คือการลงทุนกับการบริโภค การบริโภคที่ดี ไม่เพียงนำความสุขสบายมาให้ แต่เป็นการแสดงถึงการเป็นผู้มี “บารมี” และการมีบารมีก็หมายถึงการมีโอกาสที่ดีในชีวิต เช่นได้เป็นเอเย่นต์ขายปัจจัยการเกษตร เป็นหัวคะแนน เป็นนักการเมืองท้องถิ่น ฯลฯ เรื่องที่เป็นไปในทำนองเดียวกันที่เห็นได้ชัดอย่างมากคือ การลงทุนกับการศึกษาของบุตรหลาน ดังที่ชาวบ้านแทบทุกครัวเรือนที่มีเงิน จะส่งเสียให้ลูกเรียนชั้นสูงที่สุดในสถาบันที่ดีที่สุด เพื่ออนาคตที่ดีข้างหน้า ซึ่งอยู่ไกลจากภาคเกษตรออกไป ดังที่พวกเขามักกล่าวว่า ไม่มีใครอยากมีอนาคตเป็นชาวไร่ชาวสวนต่อไป
ดังนั้นผู้เขียนเสนอว่า ชาวบ้านไม่ได้แยกมิติทางการผลิตและการบริโภคจากกัน แต่ทั้งสองรวมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตครอบครัว เป็นการลงทุนเพื่อฝ่าฟันอุปสรรคในชีวิตประจำวัน การคิดคำนวณถึงอนาคต และเป็นปฏิบัติการทดลอง และจัดการความเสี่ยง ท่ามกลางข้อจำกัดต่างๆ  เราอาจเข้าใจเรื่องนี้ได้มากขึ้นจากการแสดงออกทางการเมืองของพวกเขา
ดังได้กล่าวมาแต่ต้นแล้วว่า การขยายตัวอย่างก้าวกระโดดของสวนยางพาราในหมู่บ้านแห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อมี โครงการส่งเสริมการปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ และโครงการกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อครัวเรือนฐานะปานกลางและยากจน โครงการทั้งสองนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และยังมีเรื่องปัจจัยภายนอกที่ไม่เกี่ยวกับพรรคไทยรักไทยโดยตรง แต่ชาวบ้านก็รู้สึกว่าเป็นผลงานของรัฐบาลก็คือ ในระหว่างทศวรรษ 2540 เป็นช่วงที่ยางพาราราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้ทำให้เศรษฐกิจของชาวบ้านดีขึ้นกว่าเดิมมาก จึงไม่น่าประหลาดใจที่จะพบว่า เกือบทั้งหมู่บ้านเป็นผู้นิยมพรรคไทยรักไทย
ในช่วงที่ผู้เขียนเก็บข้อมูลระหว่างปี 2553 เป็นช่วงเดียวกันกับการชุมนุมที่กรุงเทพฯ มีชาวบ้านในหมู่บ้านจำนวนหนึ่งภูมิใจแสดงตนว่าเป็นคนเสื้อแดง อีกจำนวนหนึ่งลงทุนลงแรงไปร่วมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในการชุมนุมที่กรุงเทพฯ  อะไรคือแรงผลักดันนี้ ? กล่าวให้ง่ายที่สุด ในความรู้สึกนึกคิดของพวกเขา เรื่องสวนยางกับการชุมนุมทางการเมือง ได้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน การแสดงออกทางการเมืองในครั้งนี้ อาจมองได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการ “ทดลอง” (ในแง่มุมของ “การต่อรอง” ตามที่ Walker เสนอ) และการจัดการความเสี่ยง เพราะที่ผ่านมาไม่มีพรรคการเมืองพรรคใดให้โอกาสที่ดีในการทำมาหากิน ดังที่ได้รับจากพรรคนี้มาก่อน การไปร่วมชุมนุมจึงเป็นทั้งการปกป้อง พร้อมกันนั้นก็สร้างข้อผูกมัดเพื่อต่อรองต่อกับพรรคการเมืองที่ตนสนับสนุน
ขณะเดียวกันในอีกมิติหนึ่งการแสดงออกทางการเมือง ก็เป็นการบริโภคความหมายด้วย เพราะการเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหว  ทำให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของคนกลุ่ม เดียวกันที่ถูกละเลย กล่าวให้กว้างออกไปอีก ความหมายใหม่ทางการเมืองนี้ ยังสอดคล้องกับสำนึกความเป็นเกษตรกรยุคใหม่ ที่อยากจะก้าวหน้า ทันสมัย ร่ำรวย มีปากมีเสียง มีคนนับหน้าถือตา เหมือนกับที่คนกลุ่มอื่นๆในสังคมเป็น.
บทความนี้พยายามให้แนวคิดและข้อมูล เพื่อช่วยทำความเข้าใจอาชีพและความรู้สึกนึกคิดของชาวสวนยางพาราอีสาน ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมชนบท คาดว่าบทความจะช่วยลดช่องว่างของความเข้าใจที่มีต่อชาวชนบท ซึ่งช่องว่างดังกล่าวกลายเป็นเงื่อนไขของปัญหาทางการเมืองและปัญหาการพัฒนา ที่ท้าทายเราอย่างแหลมคมในปัจจุบัน.  




[1] Walker, Andrew. 2009.  “ “Now the company have come” : Local values and contract farming in northern Thailand” in Caouette , D. and S. Turner. (eds.) Agrarian angst and rural resistance in contemporary Southeast Asia . UK. : Routledge.
[2] พฤกษ์ เถาถวิล และนิตยา บุญมาก. 2554. “การปรับเปลี่ยนการผลิตเข้าสู่สวนยางพาราของเกษตรกรในตะวันออกเฉียงเหนือ  : นโยบายรัฐ ตลาด และกลยุทธ์การผลิตของครัวเรือน” ใน วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เสรีนิยมใหม่ในเศรษฐกิจอีสาน.ฉบับพิเศษ (1)
[3] ประชากรบ้านศรีเจริญในปัจจุบัน (2553) มี 134 ครัวเรือน แบ่งสัดส่วนอาชีพหลักได้ดังนี้
สวนยางพารา         60           ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ       45            ของครัวเรือนทั้งหมด
รับจ้างทั่วไป          27            ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ       20            ของครัวเรือนทั้งหมด
ข้าราชการ              15            ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ       11            ของครัวเรือนทั้งหมด
สวนทั่วไป             14            ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ       10            ของครัวเรือนทั้งหมด
บ้านเช่า                   11            ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ       8              ของครัวเรือนทั้งหมด
ค้าขาย                     7              ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ       6              ของครัวเรือนทั้งหมด
    การจำแนกกลุ่มผู้ทำสวนยางตามจำนวนเนื้อที่ จากจำนวนทั้งหมด 60 ครัวเรือน  (พ.ศ. 2553 )
0 – 10     ไร่                           19            ครัวเรือน
มากกว่า 10 ไร่  – 20ไร่         26            ครัวเรือน
มากกว่า 20 ไร่                        5              ครัวเรือน
[4] หมู่บ้านนี้ที่ดินส่วนใหญ่ มี นส.3 และ นส.4 (โฉนด) ที่ดินส่วนหนึ่งเป็นที่ สปก.
[5] การแบ่งกลุ่มฐานะทางเศรษฐกิจใช้จำนวนการถือครองที่ดินเป็นเกณฑ์ เพราะถือว่าที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของเกษตรกร  เนื่องจากในหมู่บ้านนี้จำนวนการถือครองที่ดินค่อนข้างคงตัวนับจากต้นทศวรรษ ที่ 2530 หรือในทศวรรษที่เริ่มทำสวนยางพารา  เพื่อลดความซับซ้อนจนเกินไปของการเคราะห์ผู้เขียนจะถือว่า โครงสร้างการถือครองที่ดินนับจากทศวรรษ 2530 จนถึงปัจจุบัน มีค่าคงตัว ซึ่งทำให้แบ่งกลุ่มทางเศรษฐกิจตามจำนวนการถือครองที่ดินได้ดังนี้
ระดับชั้นทางเศรษฐกิจ
การถือครองที่ดิน (ไร่)
จำนวน (ครัวเรือน)
เกษตรกรรวย
เกษตรกรปานกลาง
เกษตรกรยากจน
เกษตรกรไร้ที่ดิน (จนมาก)

>  20
> 10  -  20
> 0 -10 ไร่
ไม่มีที่ดินทำกินเลย
10
67
50
7
รวม  134

[6]  ราคายางในทศวรรษ 2540 เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เช่นราคายางแผ่น กิโลกรัมละ 40-50 บาท สูงขึ้นในระดับร้อยบาทหรือสูงกว่านั้น  ดูสถิติราคายางเวปไซต์สถาบันวิจัยการยางกรมวิชาการเกษตร  http://www.rubberthai.com/statistic/stat_index.htm
[7] Rigg, Jonathan and Mark Ritchie 2002. “Production, consumption and imagination in rural Thailand” . in Journal of Rural Studies 18 : 359-371.
[8] อานันท์  กาญจนพันธุ์ 2554. “ชนบทอีสานปรับโครงสร้าง ชาวบ้านปรับอะไร”  ใน วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เสรีนิยมใหม่ในเศรษฐกิจอีสาน. ฉบับพิเศษ (1)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น