แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

คลอดโรดแมปสันติภาพใต้ วางต้นร่าง5ข้อ วอนทุกฝ่ายเดินหน้า

ที่มา ประชาไท


ประชาสังคมชายแดนใต้ระดมสมอง เสนอ สังคมปรารถนาสันติภาพ เน้นการมีส่วนร่วม ยอมรับสถานะคู่เจรจา เปิดพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย ให้สังคมเรียนรู้และหนุนเสริม พร้อมข้อเรียกร้องต่อรัฐ-ขบวนการ-ประชาชนและสื่อ ลุยวางกรอบเวลาจากพูดคุยสู่โต๊ะเจรจา แนะตั้งที่ปรึกษาทีมเจรจา-กรรมการสอบละเมิดกฎ จี้ BRN เปิดช่องให้ประชาชนบอกความต้องการ
10 มิถุนายน 2556 ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ร่วมกับสภาประชาสังคมชายแดนใต้ และภาคีเครือข่ายประชาสังคมชายแดนใต้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำร่าง แผนที่นำทาง หรือ โรดแมป(Road Map)สันติภาพโดยภาคประชาสังคม ที่ห้องมะเดื่อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี มีตัวแทนเครือข่ายประชาสังคมในพื้นที่เข้าร่วมกว่า 100 คน
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นกระบวนการพิจารณาร่างโรดแมป สันติภาพโดยภาคประชาสังคมชายแดนใต้/ปาตานี โดยเป็นการระดมความคิดเห็นต่อข้อเสนอในการจัดทำร่างโรดแมปดังกล่าว อันเป็นข้อเสนอเบื้องต้นที่ได้จากการระดมเครือข่ายประชาสังคมชายแดนใต้กว่า 25 คน เมื่อวันที่ 4 และ 8 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวถึงความเป็นมาของร่างโรดแมปดังกล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกันมาก่อนหน้านี้ว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการสันติภาพมีความ ยั่งยืน เพราะประชาชนมีความคาดหวังกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่เกิดขึ้นเป็นอย่าง มาก โดยที่ผ่านมามีการพูดคุยกันของเครือข่ายประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่ถึง กรอบแนวคิดของการมีโรดแมปของกระบวนการสันติภาพว่า ควรจะเป็นอย่างไร เนื่องจากเกินครึ่งของกระบวนการสันติภาพทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จล้วนมีโร ดแมปทั้งสิ้น

5 ข้อเบื้องต้นก่อนลงสู่ร่างโรดแมปสันติภาพ
สำหรับข้อเสนอเบื้องต้นที่มีการนำเสนอในการประชุมครั้งนี้ มี 5 ข้อ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันระดมความเห็นและปรับปรุงเพิ่มเติมก่อน จะร่างเป็นโรดแมป ดังนี้
ข้อแรก ด้วยความมุ่งมั่นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่ปรารถนาให้การเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับ ขบวนการ BRN และกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐกลุ่มอื่นๆ เกิดประโยชน์สูงสุด
ข้อที่สอง เป็นการเสนอหลักการแก้ปัญหาในแนวทางสันติวิธี 5 ข้อ ได้แก่ 1.กระบวนการสันติภาพต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและสังคม สาธารณะ 2.ทุกฝ่ายต้องยอมรับสถานะของคู่เจรจาอย่างเท่าเทียมกัน 3.เสนอการเปิดพื้นที่ปลอดภัยในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ 4.ภาคประชาสังคมจะเป็นฝ่ายเชื่อมประสานกับทุกฝ่ายพร้อมสร้างตัวชี้วัดในการ ลดความรุนแรง และ 5.ให้สังคมเรียนรู้และหนุนเสริมกระบวนการพูดคุยและการเจรจา

ข้อเสนอต่อรัฐ ขบวนการ ประชาชนและสื่อ
ข้อที่สาม เป็นข้อเสนอเพื่อให้การพูดคุยสามารถเดินหน้าจนบรรลุเป้าหมาย โดยมีข้อเสนอต่อฝ่ายต่างๆ คือ
ข้อเสนอต่อขบวนการ BRN ว่าต้องสื่อสารและเปิดพื้นที่ทำความเข้าใจให้รัฐและประชาชนในเรื่องความไม่ เป็นธรรมที่ฝ่ายขบวนการเสนอ และต้องการให้มีสำนักงานของ BRN ในการติดต่อประสานงานทั้งในและนอกประเทศ
ข้อเสนอต่อรัฐไทย ให้ตั้งอนุกรรมการเพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อเสนอของ BRN พร้อมกับเปิดพื้นที่/สร้างพื้นที่ในการสร้างบรรยากาศให้เป็นรูปธรรมในทุกระดับ
ข้อเสนอต่ออประชาชน คือ เรียนรู้ ติดตาม ตรวจสอบและการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการสร้างสันติภาพด้วยตัวเอง และเปิดพื้นที่การพูดคุยและเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมด้วยเครื่องมือที่ สร้างสรรค์
ข้อเสนอต่อสื่อ เสนอให้สื่อต้องมีองค์ความรู้ในกระบวนการสันติภาพภาคใต้ เพื่อให้การรายงานข่าวเป็นการหนุนเสริมกระบวนการพูดคุย/การเจรจา รวมทั้งการรายงานข่าวที่สอดรับกับกระบวนการสันติภาพที่ดำเนินการอยู่
ข้อที่สี่ เป็นข้อเสนอต่อบทบาทของภาคประชาสังคมกับการสนับสนุนและหนุนเสริมกระบวนการ สันติภาพ โดยบางส่วนของข้อเสนอในส่วนนี้ เช่น เสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมสันติภาพ พัฒนาทักษะการทำงานของแต่ละองค์กรให้เชื่อมโยงกับกระบวนการสันติภาพ ติดตามและประเมินผลกระบวนการสันติภาพให้เป็นรูปธรรม องค์กร/ภาคประชาสังคมต้องกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัดและสร้างความเชื่อมั่นแก่เครือข่ายในการสร้างสภาวะผู้นำในกิจกรรม สันติภาพและการเชื่อมโยงกับสาธารณะ อีกทั้งการสร้างกระบวนการวิพากษ์ตนเองอย่างสร้างสรรค์ เป็นต้น

วางกรอบเวลา จากระยะการพูดคุยสู่ขั้นตอนการเจรจา
ข้อที่ห้า ข้อเสนอกรอบเวลา 3 ปี นับจากเดือนกรกฎาคม 2556 ถึงเดือนพฤษภาคม 2559 เพื่อให้การพูดคุย/เจรจาสันติภาพเป็นไปในทางลึกและกว้าง โดยแบ่งระยะเวลาเป็น 3 ช่วง คือ 2 ปีแรกเป็นระยะของกระบวนการพูดคุย และการยกระดับไปสู่การเจรจา
ทั้งนี้ที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีในกระบวนการนี้ โดยในช่วง 6 เดือน – 1 ปีแรก เป็นระยะของการสร้างความเข้าใจกระบวนการ ประเด็นการเจรจา การตอบคำถาม 5 ข้อของขบวนการ BRN การขยายความ “ความไม่เป็นธรรม” ที่ BRN เรียกร้อง และการเปิดพื้นที่ ขยายพื้นที่และเปิดเวทีพูดคุยกระบวนการสันติภาพที่ประชาชนสามารถนำเสนอ ประเด็นและความคิดเห็นต่อรัฐและต่อโต๊ะเจรจา

ตั้งที่ปรึกษาคณะเจรจา-กรรมการตรวจสอบละเมิดกฎ
ในระยะของการยกระดับสู่การเจรจา ได้มีข้อเสนอให้กำหนดกลไกคณะทำงาน กลไกที่ปรึกษาโดยตั้งคณะที่ปรึกษาร่วมอย่างเป็นทางการต่อกลุ่มที่ดำเนินการ เจรจาทั้งสองฝ่าย พร้อมกับหารือข้อตกลงหรือประเด็นเจรจา
ในส่วนขั้นตอนการเจรจาที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อง 2 ปีนั้น ได้มีข้อเสนอให้มีคณะทำงานย่อยในแต่ละประเด็นที่มีการเจรจาเพื่อนำไปการ บรรลุข้อตกลง เช่น การลดความรุนแรง เกิดข้อตกลงหยุดยิง การสร้างความเป็นธรรม การปฏิรูปฝ่ายความมั่นคง การเมืองและสิทธิทางการเมือง เป็นต้น
ทั้งนี้อาจจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนแปลงในประเด็นการศึกษา ภาษา อัตลักษณ์ จนนำไปสู่การได้กรอบข้อตกลงสันติภาพที่ครอบคลุมทุกประเด็นสำคัญ
ในช่วงเวลา 1 ปีหลังมีกรอบข้อตกลงเจรจา ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการละเมิดกฎการเจรจา การปฏิบัติและติดตามให้ข้อตกลงสันติภาพเป็นรูปธรรม และเกิดพื้นที่ปลอดภัยจากฝ่ายคู่ขัดแย้งทุกพื้นที่

สร้างหลักประกันความปลอดภัยในการแสดงความเห็น
ส่วนในการเปิดเวทีระดมความเห็นและปรับเพิ่มข้อเสนอดังกล่าว มีการแบ่งกลุ่มย่อยผู้เข้าร่วมออกเป็น 6 กลุ่ม เพื่อให้เกิดความหลากหลายและการร่วมกันคิดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีข้อสรุปว่า ทุกกลุ่มเห็นพ้องต้องกันในแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี และต้องการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประชาชนทั้งประเทศ
ส่วนประเด็นการเปิดพื้นที่ปลอดภัยในการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วม ในการพูดคุยเพื่อสันติภาพนั้น มีการนำเสนอและแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง โดยต้องการให้มีหลักประกันในความปลอดภัยจากการแสดงความคิดเห็นสาธารณะ โดยเชื่อว่าการเปิดพื้นที่ปลอดภัย จะทำให้ประชาชนกล้าแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ในข้อเท็จจริงที่เกิด ขึ้นได้

ให้ BRN เปิดช่องทางให้ประชาชนสื่อถึงความต้องการ
ขณะที่ ข้อเสนอที่ให้ BRN จัดให้มีสำนักงานในการติดต่อประสานงาน มีการถกเถียงถึงความเป็นไปได้หรือไม่ โดยส่วนใหญ่เห็นว่า สิ่งที่สำคัญกว่าการมีสำนักงานคือการมีช่องทางการสื่อสารที่ประชาชนหรือฝ่าย ต่างๆ สามารถที่จะสื่อสารความต้องการสู่ขบวนการได้อย่างง่ายและเปิดกว้าง
ข้อเสนอในประเด็นที่เกี่ยวกับบทบาทของภาคประชาสังคมกับการหนุนเสริม สันติภาพนั้นมีหลากหลายตั้งแต่ต้องการให้ข้อเสนอของภาพประชาสังคมเป็นนโยบาย ที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ การผนึกกำลังขององค์กรประชาสังคมในพื้นที่ให้เข้มแข็งและต้องการให้องค์กรมี การรณรงค์อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การมีแถลงการณ์แสดงเจตจำนง เป็นต้น
ส่วนข้อเสนออื่นๆ เช่น สื่อต้องนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือน เป็นกลางและรอบด้าน อีกทั้งข้อเสนอต่อมาเลเซียที่ต้องมีความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์และต้องการให้มาเลเซียมีบทบาทเป็นตัวกลาง(mediator) ในกระบวนการเจรจา

หวังเป็นโรดแมปจากข้างล่างเสนอต่อทุกฝ่าย
ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เป็นความคิดเห็นและข้อเสนอที่ขึ้นมาจากข้างล่าง โดยจะมีคณะทำงานรวบรวมความเห็นและข้อเสนอข้างต้น เพื่อนำไปปรับแก้ตามที่ประชุมได้ให้ความเห็น และจะนำเสนอโรดแมปฉบับนี้ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเจรจา อีกทั้งจะเสนอต่อประชาชนในพื้นที่ องค์กรประชาสังคม รวมทั้งจะเสนอต่อฝ่ายขบวนการที่เห็นต่างจากรัฐด้วย และเชื่อว่าเนื้อหาข้อเสนอที่ได้ในครั้งจะสามารถสื่อสารถึงทุกฝ่ายได้
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งได้เข้าร่วมการประชุมในช่วงบ่าย กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้เห็นการระดมความเห็นของภาคประชาสังคมในพื้นที่ที่มีต่อ กระบวนการสันติภาพ ซึ่งจากที่ตนได้รับรู้จากประชาชนโดยเฉพาะจากผู้นำชุมชนในพื้นที่นั้น ทุกคนคาดหวังว่าการพูดคุยสันติภาพจะต้องประสบความสำเร็จ และประชาชนในพื้นที่ต้องการความสงบต้องการให้ยุติความรุนแรงโดยเร็ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น