แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประชาชนบราซิลปีนหลังคารัฐสภา ขณะการประท้วงรัฐบาลลามไปหลายเมือง

ที่มา ประชาไท

การประท้วงล่าสุดในบราซิลลามไปยังเมืองสำคัญอย่าง ริโอ เดอ จาเนโร, บราซิลเลีย, เซา เปาโล ซึ่งผู้ชุมนุมแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลในหลายๆ เรื่องทั้งเรื่องค่าครองชีพ เรื่องการทุจริต เรื่องการใช้งบประมาณไปกับฟุตบอลโลก 2014 มากกว่าการพัฒนาการศึกษาหรือระบบสาธารณสุข
18 มิ.ย. 2013 ประชาชนราว 200,000 คน ในบราซิลออกมาเดินขบวนบนท้องถนนตามเมืองสำคัญหลายเมือง เพื่อประท้วงเรื่องการขึ้นค่าระบบขนส่งมวลชนและค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2014 ซึ่งถือว่าเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดของบราซิลในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา
สำนักข่าว BBC รายงานว่าการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดมีขึ้นในเมือง ริโอ เดอ จาเนโร ที่มีประชาชนราว 100,000 คนออกมาเดินขบวนประท้วงอย่างสงบ ขณะที่ในกรุงบราซิลเลีย มีประชาชนบางส่วนที่ชุมนุมอยู่รอบอาคารรัฐสภาได้ฝ่าหน่วยรักษาความปลอดภัยและปีนขึ้นไปบนหลังคา ขณะที่ในเมือง เซา เปาโล มีประชาชนชุมนุมกว่า 65,000 คน
กระแสการประท้วงรอบล่าสุดในบราซิลเริ่มต้นขึ้นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาจากการที่ประชาชนในเซา เปาโล ออกมาประท้วงการขึ้นราคาค่าโดยสารรถประจำทางจาก 3 เรียล (ราว 42 บาท) เป็น 3.20 เรียล (ราว 45 บาท) ซึ่งทางการบราซิลออกมาชี้แจงในกรณีนี้ว่าการขึ้นค่าโดยสารไม่ได้ขึ้นสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ โดยที่เพิ่มขึ้นจากราคา 3 เรียลของเดือน ม.ค. 2011 เพียงร้อยละ 15.5 เท่านั้น
จนกระทั่งต่อมาการประท้วงเริ่มขยายประเด็นจากเรื่องค่าครองชีพมาเป็นเรื่องความไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุม มาจนถึงเรื่องความไม่พอใจต่อรัฐบาล
"หลายปีมาแล้วที่รัฐบาลหล่อเลี้ยงการทุจริต ประชาชนกำลังประท้วงต่อต้านระบบ" กราเซียล่า คาคาดอร์ กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ
ขณะที่บางคนก็ไม่พอใจที่มีการนำเงินไปใช้กับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2014 และโอลิมปิกปี 2016 แทนที่จะใช้เงินไปกับการพัฒนาด้านการศึกษาและการสาธารณสุข
"พวกเราไม่มีโรงเรียนดีๆ ให้กับเด็กๆ โรงพยาบาลของพวกเราอยู่ในสภาพย่ำแย่ การทุจริตมีอยู่มาก การประท้วงในครั้งนี้จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ และเพื่อเป็นการปลุกให้นักการเมืองของเราเห็นว่าพวกเราไม่ทนอีกต่อไปแล้ว" มาเรีย คลอเดีย คาร์โดโซ ผู้ประท้วงอีกรายกล่าว
ขณะที่ช่างภาพอายุ 26 ปีที่เข้าร่วมชุมนุมบอกว่าบราซิลเป็นประเทศที่มีศักยภาพมาก แต่เงินตรากลับไม่ไปถึงผู้คนที่ต้องการมันมากที่สุด
เว็บบล็อกข่าวพลเมือง ไอรีพอร์ทของ CNN ของผู้ใช้ชื่อ philipviana ได้กล่าวถึงสาเหตุที่บราซิลมีการชุมนุมใหญ่ว่าประชาชนบราซิลไม่พอใจที่แม้ว่าจะเป็นประเทศที่เก็บภาษีแพงที่สุดในกลุ่มประเทศโลกที่สาม แต่ก็มีค่าครองชีพสูงและมีระบบบริการสาธารณะที่ไม่ได้คุณภาพ นอกจากนี้ยังเกิดความรู้สึกไร้อำนาจเนื่องจากมีการทุจริต การที่ผู้นำมาเฟียยังมีอำนาจโดยไม่ได้ถูกลงโทษ ทำให้อำนาจศาลถูกลบล้างโดยอำนาจฝ่ายบริหาร
การประท้วงตั้งแต่ช่วงต้นเดือนดำเนินมาจนกระทั่งถึงวันที่ 13 มิ.ย. 2013 เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุมรวมถึงผู้สื้อข่าวหลายคน ทำให้กลุ่มสิทธิพลเมืองหลายกลุ่มรวมถึงองค์กรนิรโทษกรรมสากลและสหพันธ์นักข่าวของบราซิลกล่าววิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเจ้าหน้าที่
จูเลีย คาร์เนโร ผู้สื่อข่าว BBC รายงานจากบราซิลว่า ผู้ประท้วงได้พากันขานคำขวัญต่างๆ เช่น "ประชาชนตื่นแล้ว"
ขณะที่การประท้วงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่พยายามเข้าไปเกี่ยวข้องหลังจากมีการเจรจาระหว่างแกนนำการชุมนุมกับหัวหน้าหน่วยรักษาความสงบ โดยบรรลุข้อตกลงกันว่าตำรวจจะไม่ใช้ปืนยิงกระสุนยาง
แต่ถึงแม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในริโอ เดอ จาเนโร จะประท้วงอย่างสงบ แต่ก็มีกลุ่มเล็กๆ ที่ใช้ก้อนหินขว้างปาตำรวจและวางเพลิงรถยนต์รวมถึงทำลายอาคารที่ประชุม ทำให้ตำรวจใช้แก็สน้ำตา, สเปรย์พริกไทย และกระสุนยางในการสลายกลุ่มดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ปะทะกันกับตำรวจในเบลโล โฮริซอง ที่มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลคอนเฟเดอเรชันส์คัพ ซึ่งเป็นการแข่งอุ่นเครื่องก่อนเวิร์ลคัพ
ในกรุงบราซิลเลีย มีประชาชนมากกว่า 200 คนปีนขึ้นไปบนหลังคาของอาคารรัฐสภา แต่หลังจากตำรวจเข้าเจรจาพวกเขาก็ยอมลงมา และต่อมาก็มีกลุ่มเยาวชนทำโซ่มนุษย์รอบอาคาร

"การปฏิวัติน้ำส้มสายชู"
ในสื่อโซเชียลมีเดีย ก็มีภาพของคนเรียงตัวกันเป็นรูปสัญลักษณ์สันติภาพ และมีข้อความให้กำลังใจจากตุรกีซึ่งเป็นอีกประเทศที่กำลังมีการประท้วงอย่างหนัก
การประท้วงระลอกล่าสุดมีการตั้งชื่อว่า "การปฏิวัติน้ำส้มสายชู" หลังจากที่มีผู้ประท้วงราว 60 คนถูกจับจากการที่พวกเขาพกน้ำส้มสายชูเพื่อนำมาป้องกันแก็สน้ำตาและสเปรย์พริกไทย บ้างก็เรียกว่า "ฤดูใบไม้ร่วงในบราซิล" (Outono Brasileiro) ซึ่งเป็นการล้อเลียนชื่อปรากฏการณ์ "ผลิบานในอาหรับ" (Arab Spring) แต่อีกส่วนหนึ่งก็ตั้งชื่อจริงจังว่า'พริมาเวรา' (Primavera) ซึ่งหมายถึงฤดูใบไม้ผลิ
ประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟ กล่าวว่าการประท้วงอย่างสงบเป็นเรื่องที่มีความชอบธรรม และเป็นธรรมดาที่คนหนุ่มสาวจะออกมาประท้วง แต่ทางด้านรัฐมนตรีกระทรวงการกีฬา อัลโด เรเบโล เตือนผู้ชุมนุมว่าทางการจะไม่ยอมให้พวกเขาก่อกวนการแข่งขันฟุตบอลไม่ว่าจะเป็นการแข่งคอนเฟเดอเรชันส์คัพ หรือการแข่งเวิร์ลคัพ
"รัฐบาลมีหน้าที่และเกียรติยศที่ค้องปกป้องงานแข่งระดับโลกทั้งสองงานนี้ไว้ และจะทำตามหน้าที่นั้น โดยการรักษาความปลอดภัยและความสมบูรณ์แบบให้กับแฟนบอลและนักท่องเที่ยว" อัลโด เรเบโล กล่าว
ขณะที่ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ นาวี พิลเลย์ เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ในความสงบ โดยบอกให้เจ้าหน้าที่ทางการบราซิลใช้ความอดกลั้นในการควบคุมการประท้วงที่แพร่ไปทั่วประเทศ และขอให้ฝ่ายผู้ชุมนุมไม่ใช้ความรุนแรงในการเรียกร้อง และบอกอีกว่าทางองค์กรของยูเอ็นมีความเป็นห่วงไม่อยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังกับผู้ชุมนุมเหมือนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

เรียบเรียงจาก
Brazil protests spread in Sao Paulo, Brasilia and Rio, BBC, 18-06-2013 http://www.bbc.co.uk/news/world-latin-america-22946736

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/2013_Brazilian_protests
Brazil Protests Go Viral As Masses Take to Street, 18-06-2013 http://blogs.wsj.com/dispatch/2013/06/18/brazil-protests-go-viral-as-masses-take-to-street-2
What's REALLY behind the Brazilian riots?, CNN iReport, 14-06-2013  http://ireport.cnn.com/docs/DOC-988431

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น