แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รายงาน Red Research(1): ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย เสื้อแดงคือใคร?

ที่มา ประชาไท



ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ หากกล่าวถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องกล่าวถึง “คนเสื้อแดง” ด้วยจำนวนอันมหาศาลและการเคลื่อนไหวต่อเนื่องยาวนานตลอดหลายปี
ใบหน้าหยาบกร้านมากมายของคนชนบทและคนจนเมืองในเสื้อสีแดงฉาน นั่งตากแดดตากฝนหน้าเวทีปราศรัย หรือขบวนมอเตอร์ไซด์-รถกระบะที่เคลื่อนขบวนยาวเหยียดพร้อมธงแดงไปในที่ต่างๆ ดูจะเป็นภาพประทับใหญ่ที่สุดสำหรับสังคมและสื่อมวลชน อันที่จริงคนเหล่านี้ถูกตราหน้าว่าเป็นมวลชนที่ใช้เงินซื้อได้ด้วยซ้ำในช่วง แรกๆ ของการเคลื่อนไหว เมื่อเวลาผ่านไปข้อหานี้ก็เริ่มเบาบางลง แต่ยังคงหลงเหลือภาพของความ “โง่ จน เจ็บ” และเพิ่มภาพ “ความรุนแรง” เข้าไปอีกหลังเหตุการณ์ปะทะทหารและควันไฟกลางเมืองเมื่อสามปีก่อน
นอกเหนือไปจากนี้ ดูเหมือน “เรา” ก็ไม่รู้จักอะไรพวกเขามากนัก
คำถามนี้คุกรุ่นอยู่ในวงวิชาการบางส่วน แต่ความรุนแรงเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 นั้นเองที่เป็นแรงขับสำคัญให้เกิดโครงการวิจัยเพื่อสำรวจ agent ทางการเมืองกลุ่มนี้  คณาจารย์หลากหลายสาขาวิชา หลายสถาบัน ร่วมกันสำรวจในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจากสายมานุษยวิทยา พวกเขาตั้งโจทย์ในการศึกษาการก่อตัวและพลวัตรของคนเสื้อแดงทั้งในพื้นที่ อีสาน เหนือ กลาง รวมไปถึงภาคใต้ซึ่งค่อนข้างมีลักษณะเฉพาะ
 ประชาไทพูดคุยกับทีมวิจัยหลายคน หนึ่งในนั้นคือ ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ซึ่งจะเริ่มต้นเล่าภาพรวมและข้อค้นพบหลักๆ ในงานชิ้นนี้  โดยเฉพาะข้อโต้แย้งกับคำอธิบายหลักทางวิชาการตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ว่าด้วย “สองนครา ประชาธิปไตย”

ยุกติกล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ ชื่อ “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” เริ่มดำเนินการกันหลังเหตุการณ์ พ.ค.53 ไม่นาน โดยตั้งโจทย์เรื่อง “การก่อตัวของชนชั้นใหม่”  เนื่องจากเวลานั้นเสื้อแดงโดนโจมตีมาก แต่ไม่ใครพยายามอธิบาย แต่ภายหลังมีการเปลี่ยนชื่อ เพื่อให้โจทย์กว้างขึ้น ไม่เพียงแต่ตอบคำถามว่าเสื้อแดงคือใคร  เพราะทีมวิจัยพบว่ายังไม่เพียงพอ จึงตั้ง theme ใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม
“เราดูว่าคำอธิบายภาพของสังคมตอนนี้ตันอยู่ตรงไหน ก็พบว่าอยู่ที่คำอธิบายของอาจารย์อเนก เหล่าธรรมทัศน์เรื่องสองนคราประชาธิปไตย ที่บอกว่าคนต่างจังหวัดเลือกรัฐบาล คนกรุงเทพล้มรัฐบาล เราคิดว่า คำอธิบายนี้ไม่เพียงพอ หรือแม้จะมีคำอธิบายอื่นก็ไม่พ้นไปจากสองนคราเท่าไร”
อย่างไรก็ตาม งานชิ้นนี้ไม่ได้ศึกษาเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ศึกษาคนเสื้อเหลืองด้วย แม้ว่าในหลายปีที่ผ่านมาพลังของเสื้อเหลืองจะลดน้อยลงแล้วก็ตาม ทีมวิจัยก็ยังได้สัมภาษณ์แกนหลักของพรรคการเมืองใหม่ รวมถึงการเก็บข้อมูลกลุ่มคนต่างๆ ด้วย
งานวิจัยชิ้นนี้แบ่งการวิธีการศึกษาออกเป็น 3 ระดับ คือ
1. ทำ Survey Research เพื่อหาภาพกว้างตามที่ตั้งสมมติฐานไว้
2. ทำ Focus Group สัมภาษณ์คนกลุ่มต่างๆ ที่สุ่มมาจากทั่วประเทศ เพื่อหาภาพรวมเชิงลึกว่าเดิม เพราะได้นำหลายพื้นที่มาเปรียบเทียบกัน
3. ทำวิจัยแบบมานุษยวิทยาเชิงลึกในหมูบ้าน โดยไม่เลือกหมูบ้านที่ประกาศตัวว่าเป็นเสื้อแดง แต่ไปพื้นที่ที่คลุมเครือ
สำหรับรายละเอียดนั้น การ Survey จะแบ่งคำถามเป็นสองชุด ชุดที่หนึ่ง เพื่อ หาคำตอบว่า ใครคือคนเสื้อเหลือง ใครคือคนเสื้อแดง โดยให้ผู้ตอบเลือกเองว่าจะเป็นอะไร แล้วดูข้อมูลทางประชากร เช่น อาชีพ รายได้ ที่อยู่อาศัย ชุดที่สอง หาคำตอบเรื่องทัศนคติทางการเมือง โดยนำวาทกรรมทางการเมืองที่กลุ่มสีเสื้อต่างๆ พูดถึงมาให้ตอบว่าเห็นด้วยกับข้อความต่างๆ หรือไม่ เช่น ประชาธิปไตยคืออะไร เสียงข้างมาก การเลือกตั้ง ไม่สองมาตรฐาน หรืออื่นๆ ซึ่งก็ได้คำตอบสอดคล้องกับคำถามในเชิงเศรษฐกิจพอสมควร เช่น เรื่องระดับรายได้ คนที่ระบุว่าตัวเองเป็นเสื้อเหลืองจะมีรายได้สูงกว่าเสื้อแดง ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง ขณะที่เสื้อแดงก็ไม่ใช่คนจน ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางระดับล่าง  ประกอบอาชีพอิสระเสียมาก ซึ่งหมายถึงไม่มีเงินเดือนประจำ มีความมั่นคงในชีวิตน้อยกว่า
“ที่น่าสนใจก็คือมีคนเกลียดทักษิณมากๆ และรักทักษิณมากๆ อยู่น้อย เพียงร้อยละ 1-2  นอกจากนี้ยังมีคำถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ว่าควรมีบทบาททางการเมืองหรือ ไม่ ก็มีคนตอบแบบเหวี่ยงออกไปไม่มากเลย เอาเข้าจริงคนสองกลุ่มนี้ก็มีความคิดร่วมกัน อย่างน้อยก็เอาประชาธิปไตยเหมือนกัน เอาการเลือกตั้งเหมือนกัน และไม่มีใครปฏิเสธการมีอยู่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”

เมื่อถามถึงการศึกษาในเชิงมานุษยวิทยาว่า มีข้อค้นพบอะไรเกี่ยวกับคนเสื้อแดงที่น่าสนใจ เขากล่าวว่า เรื่องที่น่าตื่นเต้นคือเรื่อผู้ประกอบการ เพราะแทนที่จะเป็นคนจีนแต่กลับพบว่ามีผู้ประกอบการที่เป็นคนอีสานมากขึ้น เรียกว่า “เจ๊กหายไปแต่ลาวมากขึ้น” เป็นผู้ประกอบการที่เติบโตในท้องถิ่นชนบท ข้อค้นพบนี้บอกว่า การกระจุกตัวของทุนในท้องถิ่นไม่ได้เป็นแบบเดิมอีกต่อไป เพราะมีโครงการทางเศรษฐกิจที่ลงไปในชนบทมากขึ้น คนชนบทก็กู้เงินหมื่นจากธนาคารไปลงทุนทำไร่ได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งนายทุน แต่สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตัวเองได้
“พอเป็นอิสระทางเศรษฐกิจ ก็นำมาซึ่งอิสระทางการเมือง การตัดสินใจทางการเมือง จินตนาการทางการเมืองก็ไม่ได้อยู่แค่ในพื้นที่เล็กๆ อีกต่อไป แต่พวกเขาจะมองอนาคตที่ไกลขึ้น มองภาพของสังคมที่กว้างขึ้น ผลก็คือระบบอุปถัมภ์เบาบางลง”
ระบบอุปถัมภ์เบาบางลง นั่นคือข้อสรุปแรกที่ดูชนกับคำอธิบายหลักของสังคม
เขากล่าวต่อว่า สิ่งที่ตื่นเต้นอย่างต่อมาคือ ภาคการเกษตรไทยก็เป็นหลังให้คนพึ่งอยู่ได้ แต่ไม่ใช่เต็มร้อย เพราะยังมีความเคลื่อนไหวในสังคมสูงมาก คนที่อยู่ในภาคการเกษตรก็มีหลายอาชีพ แม้ไม่ได้เป็นภาคหลักแต่ก็ยังมีชีวิตชีวาอยู่ ถือว่าภาคอุตสาหกรรมและเกษตรก็ไม่ได้แยกจากกันอย่างสิ้นเชิง
ส่วนสิ่งที่พบจากการทำโฟกัสกรุ๊ปคือ การได้เห็นความตื่นตัวทางการงานเมืองกระจายไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะกับกลุ่มนายทุนน้อย ซึ่งจะมีเวลาติดตามข่าวสารจนเห็นโลกต่างไปจากเกษตรกรที่ไม่มีเวลากับเรื่อง นี้ แต่ก็เป็นกลุ่มที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง หากแต่รับรู้เรื่องราวจากสื่อ
“นั่นหมายความว่าสังคมที่เปลี่ยนไปได้สร้างคนรุ่นใหม่ๆให้พร้อมเข้าสู่ การเมืองแล้ว คนจึงรู้จักประชาธิปไตยมากขึ้น รู้จักสิทธิทางการเมืองมากขึ้น ไม่ได้กระจุกตัวอยู่กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นี่เป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น และมาจากการกระจายอำนาจทางการเมืองของการเมืองท้องถิ่น ชาวบ้านจะหวงแหนตัวแทนที่ได้เลือกตั้งขึ้นมา นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ 2540 ยังสร้างพรรคการเมืองที่เข้มแข็งขึ้นมา พรรคการเมืองก็มีนโยบายที่ทำให้คนรู้สึกว่าเสียงของเขามีความหมายและมีผล จริง”
อีกคำอธิบายที่สำคัญคือเรื่อง “การซื้อเสียง”
ยุติตอบคำถามนี้ว่า หากมองในระดับใหญ่ การซื้อเสียงในอดีตเป็นเพราะการจำกัดโครงสร้างอำนาจของนักการเมือง การซื้อเสียงเกิดจากระบบอำนาจนิยม ไม่ใช่เพราะนักการเมืองชั่ว ชาวบ้านโง่ เมื่ออำนาจอยู่กับคนแค่บางกลุ่ม ประชาชนก็ไม่มีส่วนกำหนด พรรคการเมืองก็ไม่สามารถขายนโยบายของตัวเองได้ ดังนั้น โครงสร้างการเมืองต่างหากที่ทำให้เกิดการซื้อเสียง
แน่นอนว่าปัจจุบันก็ยังมีการซื้อเสียงอยู่ แต่ถามว่าทำอย่างไรบ้างเพื่อไม่ให้เงินสูญเปล่า ไม่ใช่ซื้อไปแล้วประชาชนไม่เลือก ก่อนอื่นเขาจะดูเครือข่ายว่าใครบ้างจะเลือก ใครไม่เลือกแน่ๆ และใครอาจจะเลือกหรืออาจจะไม่เลือก วิธีการซื้อก็คือ กลุ่มที่เลือกแน่ๆ ก็ให้บ้าง กลุ่มที่ไม่เลือกแน่ๆ ก็อย่าไปเสียงเงินฟรี กลุ่มที่ก้ำกึ่งนี่เองที่จะได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ทั้งนี้คนก็มองการเลือกตั้งแต่ละระดับต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกใครมาทำอะไร นักการเมืองระดับ อบต. อบจ. และสส. ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มเดียวกัน เรียกว่าจะอาศัยกระแสพรรคเดียวกันมาลงการเมืองท้องถิ่นไม่ได้ง่ายๆ ชาวบ้านไม่ได้หวังการพัฒนาจาก ส.ส. แต่หวังจากนักการเมืองท้องถิ่น


 
เขากล่าวด้วยว่า สำหรับภาคใต้เป็นโจทย์ที่เป็น “ยาขม” ของงานวิจัย คือ เป็นภาคที่คิดว่ามีพรรคการเมืองเป็นของตัวเอง ในขณะที่พรรคอื่นๆ ก่อนไทยรักไทยนั้นไม่เคยเป็น จะพูดว่าประชาชนตื่นตัวทางการเมืองมาก่อนแล้วก็ได้ อย่างไรก็ตาม ภาคใต้มีสภาพภูมิศาสตร์สองแบบคือ ชายทะเลกับที่ไกลทะเลไปจนถึงอยู่ในเมือง เศรษฐกิจชายทะเลย่ำแย่มากเพราะระบบนิเวศเปลี่ยนจากการทำนากุ้ง ในขณะที่พวกทำสวนยางสวนปาล์มก็แย่ลงด้วย แต่ก็ยังนิยมพรรคประชาธิปัตย์เพราะคิดว่าจะพึ่งได้ นักการเมืองพรรคนี้เองก็มีทั้งคนใต้และคนกรุงเทพ คนใต้ยังให้ความเชื่อมั่นกับ “ชวน หลีกภัย” เพราะนำนายชวนไปโยงกับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์และคิดว่า “มั่นคง” ทว่าเมื่อถามก็ตอบไม่ได้ว่าจะได้อะไรจากพรรคประชาธิปัตย์ ฉะนั้นอุดมการณ์จึงมีส่วนสำคัญในภาคใต้
เขาเล่าว่า ข้อค้นพบอีกอย่างที่ได้มาโดยไม่ได้ตั้งใจศึกษาคือ การจัดกลุ่มคน คนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยแต่ไม่ใช่เสื้อแดง มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของเสื้อแดงทั้งหมด คนเลือกเพื่อไทยไม่จำเป็นต้องบอกว่าตัวเองเป็นเสื้อแดง และอาจไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเสื้อแดง ส่วนคนเสื้อแดงก็ยังเป็นคนละกลุ่มกับ นปช.ก็มาก มีแดงอิสระ แดงวิจารณ์พรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่เป็น นปช.ก็ไม่จำเป็นต้องเป็น นปช.เนื้อเดียวกับในกรุงเทพฯ
“ขบวนการเสื้อแดงจึงไม่ใช่องค์กรจัดตั้งที่ชัดเจน มีการบังคับบัญชาจากพรรค คนมักจะคิดว่าจัดการทั้งหมดได้แค่ทักษิณกดปุ่มเดียว ข้อพิสูจน์ที่สำคัญก็คือเรื่อง 112 จะเห็นว่ามวลชนเดินคนละทางกับพรรค ต่อมาคือเรื่องสถาบันกษัตริย์ ก็มีคนที่คิดแล้วก็แสดงความคิดเห็นของตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องจำเอาคำหรือวาทกรรมของใครมา แต่เรื่องแบบนี้ก็พูดไม่ได้ในงานวิจัย”
หากพูดกันนอกเหนือเนื้อหาที่ปรากฏในงานวิจัย แต่จากการสัมผัสกับชาวบ้านตัวเป็นๆ คำถามหนึ่งท้าทายมากคือมุมมองต่อสถาบันกษัตริย์และข้อหา “แดงล้มเจ้า”
ยุกติตอบว่าเขาไม่พบคนที่มีแนวคิดสุดโต่งในเรื่องนี้ หากสังคมเปิดให้เลือกระหว่างสาธารรัฐกับราชอาณาจักร  พวกเลือกสาธารณรัฐย่อมแพ้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม พบว่ามีคนที่วิพากษ์วิจารณ์บทบาทสถาบันกษัตริย์ แต่ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกันระดับหนึ่งจึงกล้าพูดกัน และพบว่าคนกลุ่มที่จะมีบทบาทขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เป็นชนชั้น กลางในเขตเมืองของแต่ละจังหวัด ซึ่งไม่ต่างจากคนที่มีความคิดก้าวหน้าในกรุงเทพ เพราะพูดภาษาเดียวกัน เสพข่าวสารเดียวกับคนกรุงเทพ สื่อก็ถ่ายเทกันไปมาจนแทบไม่มีพรมแดน
สำหรับ “การเมือง” ของผู้วิจัยเองที่หลายคนอาจถูกมองว่า “แดง” และอาจศึกษาโดยมีเป้าหมายสร้างความชอบธรรมให้คนเสื้อแดง
“คำถามนี้ คิดว่าไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง เพราะทีมวิจัยก็วิพากษ์เรื่องนี้กันมากอยู่แล้ว แต่บางคนเอง เดิมทีก็ไม่ได้ชอบคนเสื้อแดง พอหลังพฤษภาคม 2553 จึงหันมาสนใจเสื้อแดงมากขึ้น ในภาพรวมถ้าคนมองว่าเป็นแบบนั้นก็มีส่วน ที่ผ่านมางานอื่นๆ ให้ภาพลบกับคนเสื้อแดงมาก และงานวิจัยนี้ก็มีส่วนที่จะไปปะทะกับงานวิจัยเฉดสีอื่นๆ เหมือนกัน”
สำหรับคำถามที่ว่า การศึกษานี้เป็นการโรแมนติไซด์ชาวบ้านหรือไม่ ยุกติตอบว่า “งาน วิจัยทางมานุษยวิทยามีความเป็นไปได้ที่นักวิจัยจะเข้าข้างชาวบ้าน เพราะเราอยากจะพูดแทนเขา แต่ต้องไม่ให้การตีความของนักวิจัยไปทับคำพูดของชาวบ้านมากเกินไป เราจึงพยายามจะให้เขาพูดออกมาจากปากมากที่สุด แต่ชาวบ้านก็พูดหลายแบบ เริ่มแรกจะพูดแบบหนึ่ง เมื่อถามไปเรื่อยๆ ก็จะพูดอีกแบบ เราก็จะต้องพูดถึงสิ่งที่เขาเป็นด้วย จึงไม่ง่ายที่จะบอกว่าเราคล้อยตามเขาตลอด แต่ความสำเร็จของงานก็ต้องขึ้นอยู่กับสังคม ว่ามองงานนี้อย่างไร รับได้หรือไม่ได้ เอียงเกินไปหรือไม่”
ข้อพิสูจน์เล็กๆ ของความไม่โรแมนติกในหมู่คนเสื้อแดงคือการที่ผู้วิจัยก็ยอมรับว่า มีกลุ่มที่มีอิทธิพลที่นิยมใช้ความรุนแรง ปิดกั้นสิทธิ์ของคนอื่น หรือเป็นนักการเมืองแบบฉวยโอกาส ไม่มีอุดมการณ์จริงๆ ในขบวนการเช่นกัน
“แต่ขบวนการในภาพรวมก็ไม่ได้มีทิศทางที่จะเป็นแบบนั้น เพราะหากจะพูดกันจริงๆ สิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่ทุกที่ในโลก”
ท้ายที่สุด เขากล่าวว่า สมรภูมิการต่อสู้อันดุเดือดชนิดแทบจะอยู่ร่วมกันไม่ได้นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัด สังคมนอกกรุงเทพฯ ไม่ได้แตกและแยกมากเท่าในโซเชียลมีเดีย
“การอยู่ร่วมกันไม่เป็นปัญหา ในชนบทคนเป็นญาติกัน กลุ่มต่างๆ มันซ้อนทับกันตลอดเวลา แต่ก็อยู่ด้วยกันได้ เพราะมีกลไกจัดการไม่เหมือนคนในเมือง ความแตกแยกรุนแรงจริงๆ แล้วอาจมีอยู่มากชนชั้นกลางระดับบนในกรุงเทพมากกว่า”
นี่เป็นมุมมองหนึ่งเกี่ยวกับ “คนเสื้อแดง” จากงานวิจัยที่ “แหลม” ในทางการเมืองที่สุดชิ้นหนึ่ง (จนสถานศึกษาที่ให้ทุนไม่ขอเปิดเผยตัว) เป็นงานที่ดำเนินการเก็บข้อมูลมาเกือบ 3 ปี มีการสอบทานระหว่างทางจากนักวิชาการทั้งที่เรียกว่า “เหลือง” และ “แดง” อยู่หลายยก ไม่ว่าใครจะมองเห็นอย่างไร อย่างน้อยๆ ก็นับเป็นการอัพเดทภูมิทัศน์การเมืองไทย ขยายการรับรู้ของเราให้กว้างกว่าภาพที่เห็นในทีวี และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะให้เราได้เถียงกันต่อ

ติดตามเรื่องราวของ ภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้ในตอนหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น