แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รายงานเสวนา: งบฯ แผ่นดิน เอาไปไหน? วราเทพ VS ปรีดิยาธร

ที่มา ประชาไท




13 มิ.ย.56  Thaipublica จัดเสวนาพิเศษเรื่อง “งบฯแผ่นดิน เงินของเราเขาเอาไปทำอะไร?” โดยมีวิทยากร ได้แก่
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน
วราเทพ รัตนากร กล่าว ถึงแนวคิดในการจัดทำงบประมาณปี 2557 ว่าต่างจากปีอื่นๆ เนื่องจากมีการประชุมร่วมส่วนราชการเพื่อทำยุทธศาสตร์ประเทศ เพื่อที่จะหลุดพ้นรายได้ปานกลาง ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยวางทิศทางของโครงสร้างงบประมาณว่าจะลดการขาดดุลลงเรื่อยๆ สู่งบสมดุลในปี 2560 ดังจะเห็นว่าปี 55 ขาดดุล 4 แสนล้าน, ปี 56 ขาดดุล 3 แสนล้าน, ปี 57 ขาดดุล 2.5 แสนล้าน แต่ก็มีงบลงทุนนอกงบประมาณคือ เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน (2 ล้านล้าน) และบริหารจัดการน้ำ (3.5 แสนล้าน) อย่างไรก็ดี หากพิจารณาตัวงบประมาณปี 2557 (2.52 ล้านล้าน) จะเห็นว่ามีสัดส่วนเรื่องการศึกษา จริยธรรม คุณภาพชีวิต และความเท่าเทียม ถึง 33% หรือ 8.4 แสนล้าน ไม่ใช่จะเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียว


ที่มา: พาวเวอร์พ้อยท์วิทยากร (วรเทพ รัตนากร)
 
จากนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้สอบถามนายวราเทพถึงหลักการวินัยการคลังว่าจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร เนื่องจากเป็นรัฐบาลแรกในประวัติศาสตร์ที่กู้นอกงบประมาณจำนวนมหาศาล
“นี่เป็นการแหกวินัยการคลังครั้งใหญ่ที่สุด แม้มันจะมีอะไรดีที่ช่วยประเทศชาติ แต่ก็มีอะไรที่อันตรายเหมือนกัน” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวและแสดงความเห็นเสริมว่าควรตั้งบประมาณปกติจะเหมาะสม กว่า โดยตั้งงบขาดดุลสูงก็ได้ เพราะเมื่อทำไปได้ระยะหนึ่งรัฐบาลจะรู้ว่าต้องหยุดก่อนเพื่อไม่ให้ประเทศเซ แต่เมื่อรัฐบาลเพื่อไทยเริ่มกู้นอกงบประมาณ รัฐบาลอื่นๆ ก็จะดำเนินรอยตาม ดังนั้น จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีกระบวนการสร้างหนี้ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ จนประเทศเสียหาย
นายวราเทพ ตอบว่า ต้องแยกแยะงบที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน งบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านเป็นเหตุจำเป็นเนื่องจากเป็นอุทกภัยใหญ่ที่กระทบภาพรวมความเชื่อมั่น ของนักลงทุน หากไม่มีแผนชัดเจนจะดึงความมั่นใจกลับมาไม่ได้ จึงต้องดำเนินการเร่งด่วนทำให้ต้องดำเนินการนอกงบประมาณ ส่วนงบโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านนั้น ก็เป็นงบลงทุนระยะ 7 ปี ซึ่งไม่สามารถนำใส่งบปกติได้ เนื่องจาก 1.การลงทุนนี้เป็นแผนเปลี่ยนระบบขนส่งทั้งประเทศ แผนที่ชัดเจนจะส่งผลต่อความมั่นใจของเอกชน รวมถึงเอกชนที่จะมาร่วมงานด้วย การนำใส่งบปกติอาจไม่สามารถเสนอได้ตรงตามเวลา การทำเป็นงบผูกพันอาจมีปัญหาในเรื่องสัญญา และที่ผ่านมาไม่สามารถใส่แผนงานขนาดใหญ่เป็นแสนล้านได้ในงบปรกติ จะมีปัญหาการกระจุกตัวของงบที่ลงทุนแต่โครงสร้างพื้นฐาน ไม่กระจายสู่ด้านสังคมอื่นๆ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นการกู้นอกงบประมาณแต่ก็มีระบบตรวจสอบไม่ต่างกัน ไม่สามารถลบเลี่ยงมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างได้
ส่วนว่ารัฐบาลอื่นจะดำเนินรอยตามและจะเกิดความเสียหายหรือไม่นั้นต้องดู เหตุผลในการดำเนินการว่ามีเพียงพอไหม และดูว่าระบบการคลังไปได้หรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะมีใครดันทุรังจนเกิดความเสียหายได้ สำหรับหลักประกันในเรื่องนี้ หากจะออกเป็นกฎหมายก็ไม่ยั่งยืนเท่าการสร้างการตระหนักรู้ของสังคม รวมถึงบทบาทราชการที่จะไม่โอนเอียงตามฝ่ายการเมืองทั้งหมด เพราะถึงที่สุดออกกฎหมายก็ยังแก้ไขได้


ที่มา: พาวเวอร์พ้อทย์วิทยากร (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล)
 
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร นำ เสนอในเวที โดยจำแนกรายละเอียดโครงการต่างๆ ในพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านว่า เห็นด้วยในส่วนอื่นๆ ทั้งหมดว่าเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของ ประเทศและควรจะดำเนินการตั้งนานแล้ว แต่หากดูในรายละเอียดด้านต่างๆ ยังพบว่ารัฐบาลไม่ได้ใส่ในส่วนของ ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า หรือ container yard ซึ่งควรจะมีอีกหลายจุด
อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.ปรีดิยาธร แสดงความเห็นในส่วนโครงการที่ไม่เห็นด้วยว่า มี 4 โครงการย่อยในกลุ่มรถไฟความเร็วสูงที่ไม่คุ้มทุน คือ กรุงเทพ-เชียงใหม่ กรุงเทพ-หนองคาย กรุงเทพ-ปดังเบซาร์ และกรุงเทพ-พัทยา-ระยอง เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงนั้นขนส่งคนเป็นหลักไม่ใช่ขนส่งสินค้า และงบลงทุนกลุ่มนี้ใช้เงินถึง 7.8 แสนล้านบาท คำนวณแล้วว่าหากจะคุ้มทุนต้องเก็บค่าโดยสารแพงกว่าสายการบินต้นทุนต่ำในขณะ ที่ใช้เวลาเดินทางนานกว่า หากทำแล้วร้างใครจะรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลอยากจะทดลองก็ควรทดลองสาย กรุงเทพ-พัทยา-ระยอง ก่อนเพราะด้านตะวันออกไม่มีสายการบินต้นทุนต่ำ คนที่มีกำลังจ่ายยังไม่มีทางเลือก
“มันไม่มีทางคุ้มค่า ท้าได้เลย ถ้ามีเงินถุงเงินถังไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่ ก็ต้องนึกถึงความคุ้มค่าด้วย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว


ที่มา: พาวเวอร์พ้อยท์วิทยากร (สมชัย จิตสุชน)
สมชัย จิตสุชน กล่าว ว่า การทำให้งบสมดุล ดูเหมือนเป็นการทำให้เกิดภาพพจน์ที่ดีเพื่อสนับสนุนการกู้ 2 ล้านล้าน ซึ่งสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี (สปน.) ก็คำนวณมาแล้วว่าหนี้สามธารณะจะยังคงไม่เกิน 50% แต่สิ่งที่ยังขาดและไม่มีการเปิดเผยข้อมูล แม้แต่ในชั้นกรรมาธิการก็คือ เราต้องเสียอะไรบ้างกับการได้รถไฟความเร็วสูง งบประมาณด้านอื่นๆ มีปัญหาหรือไม่ เช่น กรณีของงบสาธารณสุขอย่าง 30 บาท ก็ถูกแช่เข็งอย่างน้อย 2 ปี นอกจากนี้เรื่องของความคุ้มค่าก็ถูกตั้งคำถามมาก การศึกษาความเป็นไปได้โครงการ (FS-feasibility study) ก็ไม่ชัดเจน อีกทั้งยังทำผิดหลักการโดยให้ประเทศจีนกับญี่ปุ่นเป็นผู้ศึกษา ทั้งที่สองประเทศนี้อาจเป็นผู้ลงทุนด้วย การทำการศึกษาเรื่องนี้ต้องทำโดยผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย
พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ กล่าว ถึงภาพรวมหนี้สาธารณะว่า หากดูตั้งแต่ปี 2539 ถึงปัจจุบันจะพบว่า ก่อนวิกฤตปี 2540 นั้นหนี้สาธารณะของประเทศไม่เกิน 15% แต่เมื่อปี 2543 หนี้กระโดดขึ้นเป็นกว่า 60% เนื่องจากกองทุนฟื้นฟูแล้วจึงค่อยๆ ลดระดับลง จากนั้นในปี 2551 เกิดวิกฤต Hamburger การปิดสนามบิน ฯ ทำให้มีการออก พ.ร.บ.กู้ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นที่มาของโครงการไทยเข้มแข็ง จากนั้นหนี้สาธารณะก็เพิ่ม ในปี 51 จาก 37% เป็น 45% ในปี 2552
“ในฐานะที่ดูแลด้านรายจ่ายและหนี้สินของประเทศ ขอยืนยันว่าการดำเนินการทั้งหมดจะไม่ทำให้เราหลุดกรอบความยั่งยืนทางการ คลัง” หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สินกล่าว พร้อมอธิบายถึงเหตุผลว่า เพราะ 1.หนี้ต่อจีดีพีไม่เกิน 50% 2.รายจ่ายชำระเงินต้นรวมดอกเบี้ย ไม่เกิน 15% ขณะนี้ลดลงเหลือ 7-8% เพราะโอนหนี้ให้กองทุนฟื้นฟูฯ จัดการ 3.งบลงทุนต่องบรวม ตั้งเป้าไม่เกิน 25% ไม่ว่าจะเป็นงบในงบประมาณหรือนอกงบประมาณ 4.โครงการต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่นั้นเหมาะสม เพราะเรายังมี fiscal space หรือช่องว่างให้นโยบายทางการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจได้อยู่ เนื่องจากระดับหนี้สาธารณะของเรานั้นไม่สูง เพียงแค่ 46.5% ขณะที่สหรัฐอเมริกาอยู่ที่กว่า 100%  สภาพคล่องในตลาดการเงินก็ยังมีมาก อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ที่ 4% กว่าเท่านั้น ดังนั้น รัฐบาลจึงยังมีช่องว่างในการใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกระยะ
ที่มา: พาวเวอร์พ้อยท์วิทยากร (พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น