แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รายงานเสวนา"อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของมาตรา 112 กับสิทธิการประกันตัว"

ที่มา ประชาไท


ธงชัยชี้การไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหา112 "ไร้เหตุผลสิ้นดี" วสันต์ พานิช ทนายสิทธิระบุศาลไม่มีหลักการในการประกันตัวผู้ต้องหา หนุ่มเรดนนท์ เล่าผู้คุมแดน8 ไฟเขียวถูกรุมทำร้ายในคุก เจ็บปวดกับ นปช. ผิดหวังกับทนายจากพรรคเพื่อไทย
(14 ก.ค.56) ที่โรงแรมกานต์มณีพาเลซ หลังการแถลงข่าวความคืบหน้าในการยื่นประกันตัว สมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ ที่ถูกตัดสินจำคุกด้วยมาตรา 112 ครั้งที่ 15  มีการจัดเวทีเสวนา เรื่อง "อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของมาตรา 112 กับสิทธิการประกันตัว"
 
 
ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เมื่อพยายามตอบคำถามว่า ทำไมศาลจึงไม่ให้ประกันตัวในกรณีสมยศและคนอื่นๆ พบว่าทุกคำอธิบายล้วนมีจุดโหว่ หาคำตอบที่แน่นอนไม่ได้ จนได้คำตอบว่าไม่มีเหตุผลสิ้นดี  
 
ธงชัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ มาตรา 112 จะถูกใช้ในกรณีดูหมิ่น ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงโดยตรง ไม่รวมถึงการกระทำในลักษณะจะทำลายล้างสถาบัน ซึ่งจัดอยู่ในความผิดฐานกบฏ ทำให้ความผิดต่อมาตรา 112 มีโทษไม่สูงมาก แต่นับแต่สงครามเย็นเป็นต้นมา มาตรา 112 ถูกใช้ในข้อหาที่ใหญ่โตรุนแรงขึ้น โดยถูกขยายความเป็นเรื่องความมั่นคง เนื่องจากสังคมไทยมองคอมมิวนิสต์ว่าเป็นลัทธิที่จะทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เมื่อมองเช่นนั้น 112 จึงถูกผนวกเข้ากับความเข้าใจผิดดังกล่าว ว่าการหมิ่นกษัตริย์เพราะเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่จะทำให้เกิดการทำร้าย ทำอันตรายต่อสถาบันกษัตริย์ดุจเดียวกับคอมมิวนิสต์ 
 
ดังนั้น แม้มาตรา 112 จะมีอดีตมายาวนาน แต่ก็เกิดลักษณะของ "112 ใหม่" ภายใต้บริบทใหม่ และถูกใช้เป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูความมั่นคงของชาติ โดยมีข้อสังเกตว่าระยะที่ใช้ 112 ในแง่กำจัดศัตรูอย่างเข้มข้น บ่อยครั้งและมีโทษรุนแรง มักควบคู่กับระยะที่เคลมว่าเกิดความเป็นภัยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ควบกับ การเป็นภัยต่อชาติ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าการขอประกันตัวในคดี 112 ทั้งหลายในภาวะเช่นนี้ ไม่ได้ประกันเพราะถูกถือเป็นความผิดรุนแรง วาดภาพราวกับจะทำลายชาติ 
 
กรณีที่จะการได้รับการประกันตัว ตั้งข้อสังเกตว่า คนที่มีชื่อเสียง มีสถานะทางสังคมจะได้รับการประกันตัว เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ โดยมักมีการทึกทักเอาว่าคนเหล่านี้จะไม่หลบหนี ซึ่งเป็นเรื่องไร้สาระทั้งสิ้น ทั้งที่ถามว่า อากงหรือนักโทษ 112 จะหนีไปไหน ชีวิตของพวกเขาส่วนใหญ่อยู่ตรงนี้ กลับไม่ได้รับการประกันตัว
 
ธงชัย กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน งานวิจารณ์กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะศาล ยังมีไม่เยอะ ทั้งนี้ ผู้พิพากษาจำนวนมากเข้าใจกันว่าตนเองทำงานใต้พระปรมาภิไธย เขาอยากเข้าใจพวกเขาว่าเข้าใจคำนี้ว่าอย่างไร พร้อมชี้ว่า ถ้าพวกเขารู้สึกเดือดร้อน โดยเอาตัวเองเข้าไปแทนกับกษัตริย์ นับว่าเป็นอันตราย เพราะ หนึ่ง ศาลกับเจ้าจะเทียบกันได้อย่างไร สอง เท่ากับศาลเป็นคู่ความเสียเอง จึงไม่สมควรจะตัดสินคดีเอง
 
ธงชัย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ มาตรา 112 กลายเป็นเลนส์หนึ่งที่ชาวโลกใช้ในการมองประเทศไทย การตีความ ให้ฟ้องเปรอะไปหมด โทษที่หนักรุนแรง การไม่ให้ประกัน เป็นเรื่องไร้เหตุผล และหากตัดสินผิด หรือตัดสินไม่ดี เช่น กรณีอากง ไทยจะเสียภาพพจน์อย่างยิ่ง เพราะไม่มีสถานทูตไหนแก้ต่างแทนได้ เสียหายต่อทั้งประเทศและสถาบันกษัตริย์เอง 
 
"นี่เป็นผลดีต่อสถาบันกษัตริย์หรือไม่ รอยัลลิสต์ไม่ใช่คนโง่ แต่ทำไมไม่คิดเรื่องนี้ก็ไม่ทราบ" ธงชัย กล่าว
 
 
 
วสันต์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนานักกฎหมายและ สิทธิมนุษยชน และทนายความของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ชี้ว่า การให้ประกันตัวในคดีอาญาที่ผ่านมาไม่รู้ว่าหลักการอยู่ตรงไหน โดยยกตัวอย่างคดีอุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่คนที่ถูกกล่าวหาว่าอุ้มทนายสมชายได้รับการประกันตัว ต่อมา หลังมีคำตัดสินลงโทษ ปรากฏว่ามีการร้องขอให้ศาลสั่งเป็นบุคคลสาบสูญ โดยอ้างเหตุโคลนถล่มที่อุตรดิตถ์ 
 
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่อีสาน เยาวชนคนหนึ่งถูกฆ่าแขวนคออำพรางคดี สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ชันสูตรพบว่า ถูกซ้อมทรมานจนตาย แล้วเอามาแขวนคอ มีการส่งฟ้อง ศาลตัดสินลงโทษผู้ต้องหาทั้งประหารชีวิตและจำคุกหลายสิบปี แต่พวกเขาก็ได้ประกัน และยังรับราชการตามปกติ สรุปแล้ว การประกันตัวหรือไม่ ไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่รู้จะให้เหตุผลอย่างไร หาทฤษฎีมาสรุปไม่ได้  
 
การได้รับการประกันตัวเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และเป็นสิทธิตามกติการะหว่างประเทศ ซึ่งในรัฐธรรมนูญระบุว่า รัฐต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี นอกจากนี้ยังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2552 ซึ่งระบุว่า เมื่อรัฐธรรมนูญออกมาคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแล้ว ใช้บังคับได้เลยโดยไม่ต้องมีกฎหมายลูกรองรับ โดยตนเองเคยร้องต่อศาล กรณีลูกความถูกจับกุม โดยได้ยื่นขอปล่อยตัว ว่าควบคุมตัวโดยไม่ชอบและขอให้ผู้คุมตัวชดใช้ค่าเสียหาย โดยได้อ้างคำวินิจฉัยดังกล่าว ผลคือ ศาลสั่งปล่อยตัวและให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหายด้วย
 
 
 
ธันย์ฐวุฒิ หรือ หนุ่ม เรดนนท์ อดีตผู้ต้องขัง112 ซึ่งเพิ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา เล่าว่า ในคดีของตนเองนั้น สู้เรื่องการประกันตัวมาโดยตลอด ตั้งแต่ชั้นฝากขัง ซึ่งยื่นประกันตัว 2 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ช่วงแรกที่เข้าไปในคุก ก็ยังมีความหวังอยู่ โดยหลังขึ้นศาลมีการสั่งฟ้องสืบพยาน ได้ยื่นประกันตัว ราว 8 ครั้ง ขณะนั้น ยังคิดว่าน่าจะได้ประกันตัวออกไป ไม่เคยมีอคติกับศาลหรือระบบยุติธรรมไทย จนกระทั่งอากงถูกตัดสินจำคุก มีนักวิชาการยื่นประกันตัว และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ทำให้ตัดสินใจว่าจะไม่ขอสู้แล้ว 
 
จากการได้พบผู้คนจำนวนมากในเรือนจำ ทำให้เห็นว่าชาวบ้านหาเช้ากินค่ำมักไม่ได้ประกันตัว ขณะที่คนมีฐานะทางเศรษฐกิจดีล้วนได้ประกัน จึงไม่สามารถหามาตรฐานใดๆ ได้ในระบบยุติธรรมของประเทศ ส่วนกรณีมาตรา 112 นั้น มาตรฐานเกือบจะเท่ากัน คือไม่เคยได้รับการประกันตัวเลย
 
หนุ่ม เรดนนท์ กล่าวว่า สำหรับนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น จะได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี จากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์บางคน รวมถึงผู้ต้องขังด้วยกัน ตั้งแต่การถูกเขม่นไปจนการรุมทำร้าย
 
เขาเล่าว่า หลังเข้าไปในเรือนจำได้สองอาทิตย์ จะมีการแยกแดน นักโทษคดีหมิ่นฯ จะถูกจัดอยู่ในแดน8 ซึ่งเป็นแดนของนักโทษคดีความมั่นคง คดีที่มีโทษสูง หรือมีประวัติร้ายแรง โดยในวันที่เขาเดินเข้าแดนแปด ก็ถูกรุมสกรัมจากนักโทษด้วยกัน ขณะที่เจ้าหน้าที่บางคนก็แสดงความอาฆาตเขาอย่างชัดเจนต่อหน้านักโทษคนอื่นๆ ซึ่งเขามองว่า นี่คือไฟเขียวให้นักโทษทุกคนทำอะไรกับเขาก็ได้ ทำ ให้เขาไม่สามารถเดินไปไหนได้อย่างเป็นสุข และแม้ข่าวนี้จะหลุดออกไปสู่ภายนอกเนื่องจากเขาแจ้งผ่านผู้มาเยี่ยม แต่สุดท้ายเขาก็ต้องทำรายงานว่าเป็นความเข้าใจผิดกัน ต้องยอม เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นพวกบ้าง
 
นอกจากนี้ ยังมีกรณีของสุริยันต์ นักโทษคดีหมิ่นฯ ที่โทรศัพท์ขู่วางระเบิด รพ.ศิริราช ที่โดนบ้องหู จนหูดับไปเป็นเดือน เลือดออกทางตา ตัวมีรอยช้ำเต็มไปหมด แม้ว่าเขาจะแนะนำให้ไปหาหมอ บันทึกอาการป่วยไว้ แต่สุริยันต์กลัว จึงไม่ไป กรณีของอากง ที่แม้ไม่ถูกทำร้าย แต่ถูกบังคับให้ทำงานหนัก จนนักโทษคนอื่นต้องแอบมาช่วยทำ ทั้งนี้ หลังอากงเสียชีวิต นักโทษคดี 112 ถูกย้ายไปแดนหนึ่งทั้งหมด และได้รับการปฏิบัติที่ดีขึ้น โดยสรุปแล้ว เปรียบเทียบกันสองรัฐบาล นักโทษคดีหมิ่นฯ ได้รับการปฏิบัติที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง
 
นอกจากนี้ หนุ่ม เรดนนท์ กล่าวด้วยว่า ถึงวันนี้เขาก็ยังไม่มี ความสุขกับแนวทางของ นปช. เลย เจ็บปวดทุกครั้งที่เห็นแกนนำออกโทรทัศน์แล้วบอกว่าจะระดมมวลชนออกมาอีก อยากบอกว่าถ้าไม่พร้อมก็อย่าเพิ่งทำ ถามว่ามีทนายให้เขาหรือยัง กองทุนยุติธรรมช่วยเหลือได้จริงหรือ พร้อมเล่าว่า ขณะอยู่ในคุก พวกเขาได้แต่มองมวลชนที่มาเยี่ยมแกนนำ ขณะที่พวกเขาไม่มีใครมาเยี่ยมเลย พรรคเพื่อไทยเคยเข้ามาครั้งหนึ่งหลังสลายการชุมนุม ให้เงินช่วยเหลือคนละ 2,000 บาท กับข้าว ของใช้ นปช. เข้ามา 4 ครั้ง จนตอนหลัง เขาริเริ่มโครงการของขวัญสีแดง เพื่อส่งกำลังใจให้ผู้ต้องขังที่ยังเหลืออยู่ จนตอนหลังจึงเริ่มได้รับความช่วยเหลือ แต่นั่นก็หมายถึงว่าเขาต้องทำก่อน จึงจะมีคนเข้ามาดูแล
 
ด้านความไม่พร้อมของทนายความ หนุ่ม เรดนนท์กล่าวว่า นักโทษหลายคนได้ทนายความที่ไม่ใส่ใจในคดีเลย ไม่เคยเข้ามาถาม กรณีของตัวเอง พรรคเพื่อไทยส่งทนายมาให้ แต่ได้เห็นหน้ากันในศาลตอนที่นัดพร้อมแล้ว สุดท้ายเขาจึงขอเปลี่ยนทนายเป็น อานนท์ นำภา ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือในหลายๆ เรื่อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น