แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ทีดีอาร์ไอ: ปัญหาการคอร์รัปชั่นในประเทศไทย

ที่มา ประชาไท


ในปัจจุบัน การคอร์รัปชั่นเป็นภัยคุกคามอย่างหนึ่งของมนุษย์ มันไม่เพียงทำลายทั้งชีวิตความเป็นอยู่และชุมชนของผู้คน แต่มันยังทำให้ประชาชนเกิดความเจ็บแค้น ซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่ไม่มีเสถียรภาพและเต็มไปด้วยความขัดแย้งรุนแรง
จากการจัดทำดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index) ไม่มีประเทศใดในโลกที่ขาวสะอาดหมดจด และสองในสามของประเทศในโลกได้คะแนนความโปร่งใสน้อยกว่า 50 (จากคะแนนเต็ม 100) อันบ่งชี้ว่าการคอร์รัปชั่นกำลังเป็นปัญหาร้ายแรง
ประเทศไทยก็หนีปัญหาดังกล่าวไม่พ้น และดูเหมือนว่าสภาพปัญหาจะหนักหน่วงรุนแรงขึ้นทุกวัน โดยจากการสำรวจ Global Corruption Barometer 2013 พบว่านักลงทุนจากต่างประเทศกังวลกับปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทยมากที่สุด ขณะที่คนไทยหนึ่งในหกคนยอมรับว่าเคยจ่ายสินบน  [1]
ขณะเดียวกัน การคอร์รัปชั่นก็ส่งผลเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย โดยมีการคาดการณ์ว่าการคอร์รัปชั่นสร้างความเสียหายให้กับประเทศราว 1 แสนล้านบาทต่อปี และมันยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศสูญเสียการลงทุนจากต่างประเทศราว 6,000 ล้านบาทในช่วงปี 2550-2555  [2]

สถานการณ์การคอร์รัปชั่นในประเทศไทย

การคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาเรื้อรังในระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย แม้จะมีความพยายามลดความรุนแรงของปัญหา แต่ก็ยังไม่มีมาตรการใดที่แก้ไขปัญหาได้จริง  จากการจัดทำดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index) โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International) เมื่อปี 2555 ประเทศไทยได้คะแนนความโปร่งใสเพียง 37 จากคะแนนเต็ม 100 ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 88 จาก 174 ประเทศที่ทำการสำรวจ
นับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นในปี 2538 คะแนนความโปร่งใสของประเทศไทยแทบไม่ดีขึ้น โดยในปี 2538 ประเทศไทยได้คะแนนความโปร่งใสเพียง 2.79 จากคะแนนเต็ม 10 ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.33 ในปี 2539 และค่อนข้างคงที่ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา  เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียน คะแนนความโปร่งใสของไทยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ และต่ำกว่ามาเลเซียเล็กน้อย ขณะที่สิงคโปร์ได้คะแนนความโปร่งใสสูงกว่าไทยมาโดยตลอด
ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ ประเทศที่สามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศกำลังพัฒนาขั้นสูง (graduated developing economies) เช่น เกาหลีใต้และไต้หวัน ต่างก็มีพัฒนาการด้านความโปร่งใสอย่างเห็นได้ชัด โดยเกาหลีใต้ได้คะแนนความโปร่งใสเพิ่มขึ้นจาก 4.29 ในปี 2538 เป็น 5.6 ในปี 2555 ส่วนไต้หวันได้คะแนนความโปร่งใสเพิ่มขึ้นจาก 5.08 ในปี 2538 เป็น 6.1 ในปี 2555 [3]

ภาพที่ 1 ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ
ในช่วงปี 2538-2555
* ปี 2555 เป็นปีแรกที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศปรับคะแนนเต็มจาก 10 เป็น 100
บทความนี้จึงแปลงคะแนนในปีดังกล่าวเป็นคะแนนเต็ม 10 เพื่อเปรียบเทียบกับปีอื่นๆ
ที่มา: Transparency International (1995-2012)

คอร์รัปชั่นกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

รายงานดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ (Index of Economic Freedom) ซึ่งจัดทำโดย Heritage Foundation (2013) ระบุว่าหลักนิติรัฐ (rules of law) มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนหลักนิติรัฐ คือตัวชี้วัดด้านเสรีภาพจากการคอร์รัปชั่น (freedom from corruption) ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index)
ผลจากแบบจำลองพบว่าตัวชี้วัดด้านเสรีภาพจากการคอร์รัปชั่นนี้มีความ สัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว (GDP per capita) [4] รายงานฉบับดังกล่าวสรุปว่า ในกรณีของประเทศกำลังพัฒนา หลักนิติรัฐเป็นเสรีภาพทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในการวางรากฐานเพื่อสร้าง ความเติบโตทางเศรษฐกิจ  ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจอยู่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยรวมทั้งโลกเล็ก น้อย (ดูภาพที่ 2) แต่ตัวชี้วัดด้านเสรีภาพจากการคอร์รัปชั่นกลับอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรวมทั้ง โลกมาโดยตลอด (ดูภาพที่ 3) การคอร์รัปชั่นจึงเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

ภาพที่ 2 ดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจของไทย (2004-2013)
ที่มา: Heritage Foundation (2013)

ภาพที่ 3 ตัวชี้วัดด้านเสรีภาพจากการคอร์รัปชั่นของไทย (2004-2013)
ที่มา: Heritage Foundation (2013)

คอร์รัปชั่นกับการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

ปัญหาการคอร์รัปชั่นส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศเช่นกัน โดย World Economic Forum ได้จัดทำ The Global Competitiveness Report 2013-2014 ซึ่งสำรวจความเห็นของนักธุรกิจทั่วโลกเกี่ยวกับปัญหาในการประกอบธุรกิจใน ประเทศต่างๆ  จากการสำรวจความเห็นเกี่ยวกับปัญหาในประเทศไทย พบว่าร้อยละ 20.2 ของนักธุรกิจมีความเห็นว่าการคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาสำคัญอันดับแรก รองลงมาคือความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลและความไม่ต่อเนื่องของนโยบาย โดยตัวชี้วัดต่างๆ ที่เกี่ยวกับปัญหาการคอร์รัปชั่นของไทยนั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลกแทบ ทั้งสิ้น (ดูตารางที่ 1)
ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 37 จากทั้งหมด 148 ประเทศ ใน The Global Competitiveness Index 2013-2014 (ได้ 4.5 คะแนนจากคะแนนเต็ม 7 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากข้อมูลของปี 2011-2012 และ 2012-2013) โดยรายงานระบุว่าบริการสุขภาพและการศึกษา ซึ่งเป็นสองเสาหลักของความสามารถในการแข่งขัน จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการแพร่เชื้อเอชไอวีสูงที่สุดภาย นอกแอฟริกา ขณะที่จำนวนผู้ได้รับการศึกษาระดับสูงและคุณภาพของการศึกษาระดับสูงก็ยังคง อยู่ในระดับต่ำ 

ตารางที่ 1 ตัวชี้วัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการคอร์รัปชั่น
ใน The Global Competitiveness Report 2013-2014
ตัวชี้วัด คะแนนเฉลี่ยรวมทั้งโลก
(คะแนนเต็ม 7)
คะแนนของไทย
(คะแนนเต็ม 7)
ลำดับที่
(จาก 148 ประเทศ)
งบประมาณภาครัฐที่เบี่ยงเบนไปยังเอกชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ อันเนื่องมาจากการคอร์รัปชั่น 3.5 2.7 101
มาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง 3.1 2.0 127
รายจ่ายที่ไม่ปกติและการติดสินบน 4.1 3.8 77
การเอื้อประโยชน์แก่เอกชนที่มีสายสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐ 3.2 2.8 93
ประสิทธิภาพของการใช้จ่ายภาครัฐ 3.2 2.7 107
ความโปร่งใสของผู้กำหนดนโยบายภาครัฐ 4.2 3.9 93
ความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4.3 3.5 109
ที่มา: World Economic Forum (2013)

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการ “คู่มือประชาชนรู้ทันคอร์รัปชั่นและการแสวงหาผลประโยชน์” โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย คณะผู้วิจัยประกอบด้วย ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผศ. ปกป้อง จันวิทย์ คุณอิสร์กุล อุณหเกตุ คุณศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ คุณกิตติพงศ์ สนธิสัมพันธ์ และคุณสาโรช ศรีใส สนับสนุนการวิจัยโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
เปิดอ่านต้นฉบับได้ที่ : http://tdri.or.th/tdri-insight/corruption-problem-in-thailand/

อ้างอิง:
  1. “Graft scares away foreign investors,” Bangkok Post, 12 October 2013, www.bangkokpost.com.
  2. Ibid.
  3. ปี 2555 เป็นปีแรกที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศปรับคะแนนเต็มจาก 10 เป็น 100 บทความนี้จึงแปลงคะแนนในปีดังกล่าวเป็นคะแนนเต็ม 10 เพื่อเปรียบเทียบกับปีอื่นๆ
  4. ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (coefficient of correlation) ระหว่างตัวชี้วัดด้านเสรีภาพจากการคอร์รัปชั่นกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน ประเทศต่อหัวที่ปรับด้วยอํานาจซื้อแล้ว (Purchasing Power Parity: PPP) เท่ากับ 0.80 โดยมีค่า R2 เท่ากับ 0.64

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น